แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สักแต่ว่ารูป ความเป็นจริงมันเป็นเพียงเท่านี้ แล้วจิตก็ไม่ไปชอบหรือไม่เกลียด เฉยๆ แล้วก็สักแต่ว่ารูป เพราะได้ฝึกในการเห็นความจริงของธรรมชาติว่าแล้วว่า อ๋อ มันสักแต่ว่าเท่านั้นเอง มันเป็นไปตามธรรมชาติเท่านั้นเอง ก็ไม่เกิดการวิวาทบาดหมางอะไรขึ้น แล้วหูได้ยินเสียง เสียงชอบ เสียงดัง เสียงไม่ดัง ก็ไม่ชอบ หรือว่าชอบ เฉยๆ อีกเหมือนกัน ท่านบอกว่าให้สามารถควบคุม ตาที่เห็นรูป หูที่ได้ยินเสียง จมูกที่ได้กลิ่น ลิ้นที่ได้ลิ้มรส พอตักก๋วยเตี๋ยวใส่ปาก ไม่อร่อยเลย อ๋อ มันก็ไม่อร่อย เมื่อวานนี้มันอร่อย วันนี้ไม่อร่อย พรุ่งนี้อาจจะอร่อยก็ได้ มันไม่แน่ มันเปลี่ยนได้ แต่ไม่ใช่พอไม่อร่อยก็อยากจะยกจานเทราดหน้าคนที่ทำมาให้เรากิน อย่างนี้เรียกว่าเราไม่ได้คุมผัสสะ แต่ถ้าคุม อ๋อ ไม่อร่อยก็กินไปก่อน แล้วก็พรุ่งนี้บอกเขาใหม่ว่าต้องทำอย่างนั้นนะ จะได้อร่อย แล้วก็คอยบอก คอยระวังเพราะว่ามันอาจจะได้กินดีไปตลอดทุกวันก็ได้ นี่ท่านเรียกว่าเป็น ก ข ก กา ของพุทธศาสนา ถ้าใครสามารถ ระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ควบคุมมันเอาไว้ได้ทุกเวลาแล้ว ท่านผู้นั้นจะไม่มีวันตกมหาสมุทร ท่านเรียก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ เป็นมหาสมุทร มหาสมุทรแห่งความทุกข์ ที่มันจะพาคนที่ไม่รู้จักสามารถควบคุมได้นี่ให้ตกลงไปสู่ความทุกข์ นี่ก็เป็นสิ่งที่เราควรจะเพิ่ม เพิ่มอะไรบ้าง ก็คือเพิ่มการศึกษาธรรมชาติ ให้เห็นความเป็นจริงของธรรมชาติ แล้วก็มีการปฏิบัติที่เป็นการลดกิเลสแล้วเพิ่มโพธิ ด้วยการปฏิบัติหน้าที่เพื่อหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้อง แล้วก็ฝึกจิตให้มีการปฏิบัติที่เป็นทางสายกลาง แล้วก็ควบคุมผัสสะที่ ก ข ก กา นี่พูดอย่างรวดเร็วนะคะ แต่ถ้าไม่ชัดเจนก็ยินดีที่จะตอบคำถาม
ทีนี้อุปสรรคของการปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร อุปสรรคของการปฏิบัติธรรมก็เกิดขึ้นจาก พวกเราไม่เห็นความทุกข์ ไม่เห็นอะไรเป็นความทุกข์ เห็นทุกอย่างเป็นความสุขไปหมด หลายคนจะบอก ฉันไม่มีอะไรเป็นทุกข์ ฉันสุขทั้งนั้น ถ้าตราบใดที่ยังเห็นว่า ทุกอย่างเป็นความสุข เมื่อนั้นก็จะเห็นว่าธรรมะไม่สำคัญ แต่เมื่อใดที่มองเห็นว่า ทุกอย่างที่เราเรียกว่าความสุขนั้น แท้ที่จริงมันมีความทุกข์แฝงอยู่ทั้งนั้น เพียงแต่ตอนนั้นนี่ มันเป็นความทุกข์ที่ละเอียด เราก็ว่ามันเป็นความสุข เหมือนอย่างเช่นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือผู้ที่มีอำนาจวาสนาในตอนใดตอนหนึ่ง หรือผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย ก็สามารถใช้ทรัพย์สินเงินทองนั้นตามใจต้องการได้ ก็มีความสุข แต่หารู้ไม่ว่า มันเป็นความทุกข์ที่ละเอียด เพราะเมื่อมันหมดไปเมื่อไหร่ ความทุกข์เกิดถ้าไม่สามารถจะควบคุมใจให้หมดตัวฉันออกไปได้ ถ้าตัวฉันยังอยู่ ตัวฉันก็อยากต่อไป มันจึงเป็นแต่เพียงความทุกข์ที่ละเอียดเท่านั้น ในอริยสัจจ์4 ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่า อันแรกคือทุกข์ แล้วอันที่สองสมุทัย อันที่สามนิโรธ อันที่สี่มรรค ท่านก็บอกว่าในเรื่องของทุกข์นี้ ควรที่จะได้ศึกษา ให้กำหนด ให้รู้จักว่าความทุกข์นี้คืออย่างไร มันมีลักษณะอย่างไร ถ้าหากว่าทุกท่านนะคะ จะลองเฝ้าดูจิตว่า ในจิตที่เกิดความทุกข์แต่ละครั้งนี่ ทุกข์มันเหมือนกันไหม ทุกข์เพราะราคะกับทุกข์เพราะโทสะเหมือนกันไหม ทุกข์เพราะโลภะกับทุกข์เพราะโทสะเหมือนกันไหม ทุกข์เพราะโทสะกับทุกข์เพราะโมหะเหมือนกันไหม จะเห็นว่ามันไม่เหมือนกัน เป็นสิ่งที่ควรจะกำหนดรู้ ถ้ากำหนดรู้แล้ว เห็นความทุกข์แล้ว จะเห็นว่าธรรมะเป็นสิ่งจำเป็น และดิฉันมีความรู้สึกว่า ชีวิตในโลกปัจจุบันนี่ ธรรมะมีความจำเป็นมาก ในความสับสน ที่เรากำลังสับสนอยู่ทุกวัน และอาจจะสับสนยิ่งขึ้นๆ ธรรมะเป็นหนทางแก้ เป็นหนทางแก้ที่จะทำให้สังคมที่กำลังอยู่ภายในภาวะวิกฤตินี่ อยู่กันด้วยความสงบราบรื่น แล้วก็เป็นสุข ร่มเย็นมากขึ้น ถ้าเราไม่หันหาธรรมะ จะไม่มีหนทางเลย เมื่อปีที่แล้วนะคะ ปลายปีที่แล้ว ทางทบวงเขาส่งบัณฑิตไปสัมมนาที่สวนโมกข์ แล้วก็เผอิญต้องไปเป็นวิทยากรของกลุ่มหนึ่ง แล้วฟังบัณฑิตเขาพูดน่าสนใจ หัวข้อของการประชุมกลุ่มอันนั้นก็พูดถึงเรื่องจริยธรรมของบัณฑิตในสถาบันอุดมศึกษา ก็พูดกันว่าทำอย่างไรเราจะถึงสามารถพัฒนาจริยธรรม ให้แก่บัณฑิต คือนิสิตนักศึกษา ในระดับสถาบันอุดมศึกษาได้ เขาก็บอกว่า ไม่มี ในระดับอุดมศึกษานี่ จริยธรรมถูกทอดทิ้ง เห็นเป็นความไม่จำเป็น เห็นไปว่าวิชาการอย่างเดียวจำเป็น แล้วเขาก็อภิปรายกัน มีบัณฑิตจากหลายสาขา ทุกสาขา แม้แต่ธรณีวิทยานะคะ ยังอุตส่าห์บอกว่า ทุกวิชา ทุกสาขาที่เรียนจบมาจากมหาวิทยาลัย อาจารย์สอนแต่เพียงให้มีความสำเร็จในชีวิตเท่านั้น ให้มีความสำเร็จในอาชีพของตน แต่ไม่ได้เคยบอกเลยว่า ในความสำเร็จนั้น ควรจะสำเร็จอย่างไร มันจึงจะเกิดความเป็นธรรมและเป็นความเป็นสุขโดยทั่วหน้า มันมีแต่เรื่องของการเบียดเบียนกันทั้งนั้น แม้แต่ธรณีวิทยา เขาก็ยังชี้แจงมาบอกว่า นี่แหละมันมีความเบียดเบียนกัน โดยไม่รู้ว่าการกระทำเช่นนี้ มันจะทำให้เกิดความทุกข์แก่ผู้อื่นอย่างไร ยิ่งในสาขาธุรกิจ ยิ่งเห็นได้ง่ายขึ้น อาจารย์จะสอนแต่เพียงว่า อย่างนี้นะ กลเม็ดอย่างนี้นะ จะทำให้ได้กำไรมาก จะทำให้ได้ลูกค้ามาก แต่จะทำให้เกิดการเบียดเบียนกันอย่างไร ไม่ได้คิด
เขาก็เสนอแนะไปยังทบวงนะคะ แต่จะเป็นผลหรือไม่ก็ไม่ทราบ ก็เสนอแนะไปว่าในระดับสถาบันอุดมศึกษานี้ ควรจะมีการสอนจริยธรรม คือจริยศึกษาในระดับอุดมศึกษา แล้วที่วิทยาลัยอัสสัมชัญนี่ เขามีบอกว่า ในวิทยาลัยของเขา เขามีการสอนวิชาจริยศึกษา และวิชาจริยศึกษานี้ เกรดที่เขาให้คือ P กับ F เท่านั้น และยังมีบังคับอีกด้วยว่า ถ้าหากว่าสอบวิชาอื่นได้ทุกวิชา แต่ถ้ามา F วิชานี้ ก็ F หมด แต่ถ้าหากว่า P วิชานี้ ก็ถึงจะถือว่าผ่านมาเป็นบัณฑิต แล้วก็จะเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ สมกับความเป็นบัณฑิต คือจะสามารถอยู่ได้อย่างบัณฑิต แล้วก็สามารถทำงานได้อย่างบัณฑิต ไม่เป็นบัณฑิตจอมปลอม ดิฉันก็ขอฝากไว้ด้วยนะคะในเรื่องของจริยศึกษานี่ เขาได้ลองคิดไหม ลองคิดบ้างหรือเปล่า ในฐานะที่เราเป็นครูอาจารย์ ที่เป็นผู้ที่จะต้องปลูกฝังเยาวชนของชาติให้ได้เป็นกำลังของชาติบ้านเมืองต่อไป เราก็มองเห็นแล้วว่าวิกฤตกาลของสังคมเวลานี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เกิดขึ้นเพราะคนเราขาดคุณธรรม มากยิ่งขึ้นทุกทีๆ มันจึงมีการแก่งแย่งกัน จนน่าเกลียดและน่ากลัว เปรียบๆ ไปแล้ว ก็ไม่ผิดอะไรกับสัตว์โลกอื่นๆ เลย ถ้าเราไม่แก้ด้วยจริยศึกษา ไม่แก้ด้วยจริยธรรม เราจะเอาอะไรมาแก้ วิทยาการในทางเทคโนโลยี เวลานี้เรียกว่าเจริญก้าวหน้าที่สุด แล้วช่วยไหมที่จะให้คนเป็นสุข ช่วยไหมที่จะให้คนอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข หรือช่วยทำให้คนนี่ยิ่งตกลงจมไปเป็นทาสของเทคโนโลยีเหล่านั้น หาคิดไม่ว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นน่ะ มันคือความสะดวกเท่านั้น มันช่วยให้ความสะดวกสบายแก่ชีวิต แต่มันไม่ได้ช่วยให้ความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ได้ช่วยให้ความเยือกเย็นสงบใจเกิดขึ้นแก่จิตของมนุษย์ เราจะใช้อย่างไร เราจะทำอย่างไร เราจึงจะสามารถใช้เทคโนโลยีนั้นให้เป็นประโยชน์อันแท้จริง ช่วยยังความสงบสุข พร้อมด้วยความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์ในโลกนี้ ถ้าไม่ใช้จริยศึกษา เราจะมีอะไรอย่างอื่นที่จะแก้ไข มีอีกนิดนึงนะคะที่อยากจะขอเรียนก็คือว่าสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษานี่ เขามีการที่จะพัฒนาการสอนจริยศึกษาในระดับประถม แล้วก็เขาได้ไปขอกราบเรียนคำแนะนำจากท่านอาจารย์พุทธทาสนี่ว่า ควรจะสอนโดยนำอะไรมาเป็นหลัก ท่านก็แนะนำว่าให้ใช้อริยมรรคมีองค์แปดเป็นหลักในการสอนจริยศึกษา บางคนก็มีความสงสัยจะสอนได้อย่างไร ถ้าพูดถึงเรื่องอริยมรรคมีองค์แปดนี่ มันค่อนข้างจะไกลจากตัวเราเหลือเกิน เราสอนกันแต่เบญศีลเบญจธรรม หรือมงคลสามสิบแปด แต่อริยมรรคมีองค์แปดนี่ ที่สอนเรื่องการเดินทางสายกลาง นี่พูดโดยง่ายที่สุด สอนเรื่องการเดินทางสายกลาง ทำจิตให้ตรงกลาง เท่านั้นเอง และท่านก็สอน ท่านก็แนะนำอีกด้วยว่า ควรที่จะให้มีเป้าหมายในการสอน ว่าเราจะสอนเด็ก สอนจริยธรรมแก่เด็กนี่ ให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นคนอย่างไร เท่าที่เราพูดกันมา เขาบอกให้เป็นคนดี แต่ดีอย่างไร เราไม่มีดีที่แน่นอน เพราะฉะนั้นท่านก็เลยให้คำแนะนำ โดยดูจากหลักฐานของต่างประเทศ ในเอ็นไซโคพีเดียเขาก็พูดถึงว่า คนที่จะเป็นเพอร์เฟ็กเทดแมน จะต้องเป็นคนที่สมบูรณ์ ด้วยการทำหน้าที่ของตัวครบทุกอย่าง อย่างที่ดิฉันได้กล่าวมาแล้วเมื่อกี้นี้ว่า หน้าที่ที่มนุษย์จะหลีกพ้นไม่ได้เลย พอเกิดมาต้องเป็นลูก ต้องเป็นศิษย์ ต้องเป็นเพื่อน ต้องเป็นพลเมือง ต้องเป็นสาวกที่ดี ถ้าเป็นสิ่งเหล่านี้ที่ดีได้แล้วล่ะก็ แน่นอนที่สุด คนๆ นั้นจะเป็นมนุษย์ที่เต็ม คือเป็นมนุษย์ที่ค่อยๆ หมดปัญหาของชีวิต แล้วความทุกข์นั้นจะค่อยๆ คลายไปเรื่อยๆ ตามลำดับ ในขณะนี้ประถมศึกษากำลังมีการปรับปรุงในการสอนจริยศึกษาที่มุ่งให้มีการปฏิบัติมากขึ้น มีรายละเอียดเยอะนะคะ แต่นี่ขอพูดโดยย่อที่สุดเพียงเท่านี้ ก็อยากจะขอเรียนว่า ถ้าหากว่ามัธยมศึกษามีการรับช่วงจากประถมศึกษา และอุดมศึกษารับช่วงจากมัธยมศึกษาโดยต่อเนื่องกัน ขอได้โปรดวาดภาพลองคิดดูว่า บัณฑิตที่ออกไปนั้นจะเป็นบัณฑิตที่สมควรแก่ความเป็นบัณฑิตเพียงใด นี่เพราะเราขาด เราไม่มีจริยศึกษาเลย อาจารย์ก็มุ่งเข้ามาเพื่อให้วิชา มีหน้าที่ให้วิชาการ ให้วิชาการเสร็จออกไป ลูกศิษย์จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็มาเพื่อการค้าวิชาการ คือขอให้ได้ปริญญาไป ได้ไปแล้วจะทำอะไรก็ไม่คิดว่าจะสามารถทำให้เกิดประโยชน์อันแท้จริง เพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้หรือไม่ ดิฉันจึงขอฝากอันนี้ไว้นะคะ
ทีนี้อุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมข้อที่ 1 คือไม่เห็นความทุกข์ ข้อที่ 2 ก็คือ ติดอยู่กับไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์นี่คือศาสตร์ของผู้หลับ ไสย แปลว่าผู้หลับ ไสยศาสตร์ก็คือศาสตร์ของผู้หลับ ผู้หลับคืออย่างไร ก็คือผู้ที่หวังพึ่งแต่สิ่งข้างนอก เครื่องราง ของขลัง น้ำมนต์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อะไรต่ออะไรต่าง ๆ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พอมีทุกข์ขึ้นมาต้องวิ่งไปบนบานสานกล่าว แล้วลองคิดดูสิว่า เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นนี่ เราสามารถจะไปยังทุกที่ทุกแห่งที่เราต้องการไปเพื่อให้ช่วยเหลือได้หรือไม่ ทำไมเราถึงไม่หันมานับถือ หรือปฏิบัติตนอย่างเป็นพุทธศาสนิกชน คือนับถือเคารพอย่างพุทธศาสตร์ โดยหาที่พึ่งข้างใน โดยดูความจริงของธรรมชาติ จนกระทั่งเรารู้ว่า ถ้าเรารู้ความจริงของธรรมชาติ เราลดเราคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวฉันได้ ความสุขจะเกิดขึ้น และความสุขที่เกิดขึ้นเช่นนี้ก็จะทำให้เราเป็นผู้ที่มั่นคงในทุกกรณี ฉะนั้นถ้าหากว่าหันมาศึกษาพุทธศาสนา หรือหันมาศึกษาธรรมะอย่างพุทธศาสน์ ก็จะช่วยให้มองเห็นว่าการปฏิบัติธรรมเป็นประโยชน์ และอุปสรรคในการปฏิบัติธรรมก็จะหมดไป ข้อที่ 3 ที่เป็นข้อสำคัญมากนะคะ ก็คือขาดความพากเพียร ขาดความพากเพียรที่จะทำที่จะปฏิบัติ หลายคนมีความรู้ มีความเข้าใจ แต่ไม่สามารถจะบังคับตัวให้ปฏิบัติธรรม คือมีธรรมอยู่ในจิต ด้วยการดูธรรมชาติ ให้เห็นความเป็นจริงของธรรมชาติได้อย่างสม่ำเสมอ เหล่านี้จึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้ธรรมะในชีวิตประจำวันนั้นเกิดขึ้นได้ยาก แล้วเมื่อเกิดขึ้นไม่ได้ เราก็คงวนว่าย แล้วก็ตกจมอยู่ในความทุกข์ ความทุกข์อันนี้คือความเกิดที่อยู่ในจิต เมื่อเกิดทุกข์เมื่อใด อันนั้นแหละเราเรียกว่าตายเมื่อนั้น ตายแล้วก็เกิด ตายแล้วก็เกิด ด้วยการวนเวียนอยู่กับการเกิดดับของจิตเท่านั้นเอง ดิฉันจึงหวังว่า เพื่อนอาจารย์ และข้าราชการที่นี่ทุกท่านนะคะ จะได้ลองใช้เวลาใคร่ครวญในสิ่งที่ดิฉันพูด ดิฉันไม่ขอให้เชื่อ ไม่ขอให้เชื่อถือนะคะ แต่ขอให้ลองใคร่ครวญดูว่ามันเป็นสิ่งที่จะเป็นไปได้ไหม เป็นสิ่งที่ถ้าเราปฏิบัติแล้ว ใครเป็นผู้ได้รับ นอกจากตัวเองจะเป็นผู้ได้รับแล้ว จะยังช่วยให้สังคมที่เราเป็นสมาชิกอยู่นั้น มีความสุขด้วยหรือไม่ จึงขอแต่เพียงว่าให้ลองใคร่ครวญดู และถ้าท่านผู้ใดสามารถที่จะยังความสุขสงบให้เกิดขึ้นในจิตได้ ดิฉันก็ไม่มีอะไรอื่นนอกจากขออนุโมทนาอย่างยิ่งที่ท่านสามารถเดินตามรอยของพระศาสดาหรือพระพุทธองค์ได้สมกับได้นามว่าเราเป็นพุทธบริษัทอย่างแท้จริง
ท่านผู้ใดมีปัญหาที่จะเรียนถามอาจารย์ไหมคะ ขอเชิญได้ค่ะ
คำถาม: ผมได้ฟังมาด้วยความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่ามีศรัทธามาตั้งแต่ตอนต้นแล้ว แต่มีความรู้สึกว่าสิ่งที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายมาในวันนี้อยู่ในระดับสูงคือพูดถึงความจริงในลักษณะครอบคลุม เฉพาะในส่วนตัวผมเอง ผมเป็นอาจารย์ นี้ก็เห็นว่าท่านอาจารย์ได้เคยผ่านงานหน้าที่ในฐานะเป็นอาจารย์แล้วก็งานอื่นๆ มาอีกมากจนท้ายที่สุดได้ไปศึกษาธรรมะ อยากจะขอให้อาจารย์กรุณาเอาธรรมะสำหรับอาจารย์เข้ามาขยายเป็นพิเศษ โดยโยงถึงชีวิตในรามคำแหงที่อาจารย์ในรามคำแหงนี่เอง เพราะอาจารย์ก็รู้จักชีวิตนี้เป็นอย่างดีเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ผมจะไม่ถือว่าเป็นสัจจะสูงส่งอะไร แต่ผมถือว่าเป็นข้อแนะนำจากอาจารย์
ตอบ: อันที่จริงคำถามที่อาจารย์ถามมานะคะ เป็นสิ่งที่ดิฉันได้พูดแล้วทั้งนั้น และไม่ว่าพุทธบริษัทนี่ ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพใดนะคะ ถ้าหากว่าปฏิบัติอย่างเดียวกันด้วยการปฏิบัติที่จิต ที่จะให้จิตของตนนี่ อยู่ในความเป็นกลางได้ ไม่เหวี่ยงซ้าย เหวี่ยงขวาเท่านั้น ใครเขาจะเหวี่ยงให้เขาเหวี่ยงไป ให้เขาคลุกดิน คลุกฝุ่นเป็นหนุมานไป เราไม่ไปคลุกกับเขาด้วย แล้วก็เมื่อเขาลุกไม่ขึ้น เรายื่นมือไปจูงให้เขาลุกขึ้น พยุงให้เขาลุกขึ้นได้ เท่านี้ก็เป็นพุทธบริษัทที่หาได้ยากยิ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรือเป็นอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นอาจารย์นี่ยิ่งดีเพราะอะไร เพราะจะสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์ได้ ถ้าหากว่าจะถามว่าในฐานะที่ดิฉันเป็นอาจารย์มาแล้ว ดิฉันนำธรรมะเข้ามาประยุกต์อย่างไร ก็ขอบอกว่า ก็อย่างที่อาจารย์ได้รู้จักนะคะ ดิฉันก็ได้ผ่านสิ่งที่เขาเรียกว่าดีมาก ก็ผ่านมาแล้ว เกียรติยศชื่อเสียงก็ผ่านมาแล้ว อะไรก็ผ่านมาแล้ว แล้วทำไมดิฉันถึงไม่อยู่กับสิ่งเหล่านี้ ทำไมดิฉันถึงได้เดินทางต่อไปอีก ทำไมดิฉันจึงไม่หยุดที่จุดนั้น นั่นก็เห็นจะเป็นเพราะว่าดิฉันได้มาเห็นความทุกข์ เห็นความทุกข์ในสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ประจักษ์แล้วว่าสิ่งเหล่านั้น หาใช่สิ่งที่ดีจริงไม่ มันไม่มีอะไรที่อยู่จริงสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นเกียรติยศ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งนั้น มันผ่านมา แล้วมันก็ผ่านไป เพราะความรู้สึกในใจของเรา ของคนเรานี่ ไปยึดเอาไว้ พออะไรดีก็ยึดอยู่นั่น แหม นี่เขาไม่รู้จักฉันเหรอ ว่าฉันเป็นใคร ฉันมาแล้วทำไมไม่ต้อนรับ ตัวฉันนี่ ดิฉันมองเห็นความทุกข์ของตัวฉัน เมื่อก่อนนี้ ดิฉันไม่ค่อยจะคุ้นกับคำสอนท่านอาจารย์สักเท่าไหร่ สอนว่าตัวกู ของกู ดิฉันเห็นว่าแหมคำพูดนี้มันกระด้าง ไม่น่าฟัง แต่พอไปปฏิบัติเข้า ดิฉันค่อยเห็นซาบซึ้งว่า ความยึดมั่นในตัวฉันนี่ เราว่าเราไม่มี แต่แท้ที่จริงไปดูเถอะ มันแฝงอยู่อย่างลึกซึ้งเหลือเกิน ขัดเกลาไม่ค่อยออกได้ง่ายๆ อย่างที่ดิฉันมาพูดนี่ ไม่ได้หมายความว่าดิฉันหมดตัวฉันแล้ว ตัวฉันก็ยังมีอยู่ แต่ดีขึ้นที่ดิฉันจะรู้ทัน อ้อ นี่ไง กำลังขึ้นมาแล้ว แล้วเราก็หยุดมันได้ แต่เมื่อก่อนดิฉันไม่รู้ทัน ขอให้คิดเถอะว่า ถ้าเราทะเลาะกับใครเมื่อไหร่ นั่นแหละตัวฉันที่ทะเลาะกับเขา เราจะผิดหรือจะถูกก็ตาม แต่ตัวฉันไปทะเลาะกับเขาแล้ว มีรูปในโรงมหรสพทางวิญญาณรูปหนึ่งนะคะ เป็นรูปตุ๊กแกสองตัวเกาะอยู่บนเพดานแล้วก็มีไม้กวาดอยู่ด้วย ทำไมเขาถึงชอบเอาตุ๊กแกเข้ามาแทนตัวฉัน ได้เคยสังเกตไหมคะ สัตว์ประเภทจิ้งจกตุ๊กแกนี่เป็นยังไง เป็นสัตว์ตีนเหนียวใช่ไหม มันเกาะอะไรแล้วมันไม่ค่อยยอมปล่อยง่ายๆ เขาจึงเอา ผู้ที่เขียนก็คืออิมานูเอล เชอร์แมน อิมานูเอล เชอร์แมนนี่เป็นศิลปินชาวอเมริกัน เคยทำงานอยู่ที่ฮอลลิวูดนะคะ แล้วเขาเกิดสนใจในพระพุทธศาสนา เขาก็บวชเป็นโยคี คือว่าเอาไว้ผมยาวหน่อย แล้วก็นุ่งขาวห่มขาว แล้วก็มาเมืองไทย ก็ตั้งใจจะไปนมัสการท่านอาจารย์ แต่อย่างไรก็ไม่ทราบ ก็เลยไปตกอยู่ที่เกาะพงัน แล้วก็เป็นไข้ แล้วก็ตายที่เกาะพงันนั่น หลังจากที่เขาตายแล้ว ก็มีผู้ที่ดูว่า เขามีสมบัติอะไรบ้าง ก็พบภาพต่างๆ ที่เขาเขียนเอาไว้นะคะ เป็นภาพปริศนาธรรมทั้งนั้น อยู่ในกล่องเก่าๆ ก็นำมาถวายท่านอาจารย์ พอท่านเห็นเข้า ท่านก็เห็นว่าเป็นภาพที่มีค่ามากที่สุดเลย ใครจะเอาเงินมาเป็นหมื่นเป็นแสน ท่านอาจารย์ไม่ยอมให้ แล้วท่านดูภาพเหล่านั้น ท่านก็เขียนคำอธิบายภาพออกมาเป็นร้อยกรอง แล้วก็ปิดเอาไว้ แล้วภาพอันนี้ อิมานูแอล เชอร์แมน เขียนเป็น คือถ้าเกี่ยวกับอัตตานะคะ อัตตาตัวเราเมื่อไหร่เขาจะใช้ภาพตุ๊กแก ตุ๊กแกหรือว่าจิ้งจกก็แล้วแต่ เพราะเป็นสัตว์ที่เหนียวแน่น มันไม่ค่อยยอมปล่อยตัวมัน เหมือนอย่าง เราปล่อยแล้ว ฉันปลงแล้ว ฉันไม่เอาอะไรแล้ว หยุดคิดช้าๆ จริงหรือเปล่า จริงหรือเปล่า ถามว่าอ้าว แล้วทำไมฉันยังทุกข์อยู่ล่ะ ฉันยังทุกข์อยู่เพราะตัวฉันยังอยู่ ฉันไม่ทุกข์เมื่อไหร่ ตัวฉันมันก็ไม่ทุกข์ ตัวฉันมันก็ไม่มี เพราะฉะนั้นอันนี้ แล้วเขาก็มีรูปไม้กวาดเอาไว้ ไม้กวาดก็คือว่า ถ้าไม่อยากทุกข์ อยากให้ตัวฉันหมดก็ต้องใช้ไม้กวาด กวาดมันออกไปเสีย กวาดมันออกไปเสียแล้วจิตนี่จะได้สว่าง สะอาด สงบขึ้น มีคำถามอีกไหมคะ เชิญค่ะ
คำถาม: ขออภัยด้วยนะครับ ถ้าหากว่าผมถามแล้วมันค่อนข้างจะซับซ้อนไปหน่อย คือว่าสมมติว่าเรานี่ เห็นคนอื่นเขาทำความผิดอยู่ ผมถือว่าในฐานะพุทธบริษัทนี่เราก็อาจจะไม่ต้องไปบอกเขา แต่ในฐานะอาจารย์นี่ ผมคิดว่าเราสมควรที่จะไปยุ่ง กับเขา ผมไม่ทราบว่าอาจารย์คิดว่าอย่างไรถ้าเกิดเราจะไปยุ่งเกี่ยวกับเขานี่ จะเป็นการก้าวก่ายหน้าที่หรือเปล่า เพราะถ้าเราเป็นอาจารย์แล้วเราไม่ไปยุ่งเกี่ยวหรือว่าไม่แนะนำเขานี่ มันจะผิดหน้าที่หรือเปล่า ผมยังสงสัยว่าเราจะถือตามสังคมที่เราอยู่ ผมก็คิดว่ามันจะต้องเกี่ยวข้องแน่ แต่ถ้าจะถือตามพุทธบริษัท สังคมนี้คงจะไม่โสภาแน่ ผมอยากจะให้อาจารย์อธิบายว่า เราควรจะอยู่ในสังคมหรือว่าควรจะให้พุทธบริษัทเข้ามาเกี่ยวข้อง
ตอบ: อยู่ในสังคมค่ะ และที่อาจารย์พูดว่าต้องเกี่ยวข้องนี่นะคะ ก็เป็นความถูกต้องค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธบริษัทที่ดีนี่ จะต้องเป็นกัลยาณมิตรที่ดีของเพื่อนฝูง หรือของลูกศิษย์ หรือของคนที่อยู่ด้วยกันทั้งในครอบครัวและทั้งในที่ทำงาน เพราะฉะนั้นที่อาจารย์ถามมานี่ ต้องเกี่ยวข้อง ถ้าหากว่าเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องเกี่ยวข้อง แต่ก่อนที่จะเกี่ยวข้องนี่ ควรจะวางใจไว้อย่างไร การเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น มันจึงจะไม่ก่อให้เกิด กรณีโต้แย้ง ขัดเคือง ทะเลาะวิวาทกันอย่างปราศจากความเป็นธรรม นั่นก็คือว่าก่อนที่จะเกี่ยวข้อง รู้แล้วว่า สิ่งที่เราจะไปเกี่ยวข้องนั้น เรามีความรู้พอ มีความเข้าใจพอ สามารถที่จะแนะนำให้เกิดความถูกต้องได้ แล้วก็วางใจให้เป็นกลาง เมื่อจะเกิดการขัดแย้ง โต้เถียง วิวาท เราก็จะอธิบาย จะแนะนำ จะชี้แจงด้วยความใจเย็น ความเป็นพุทธบริษัทที่ดีนะคะ ไม่ได้หมายความว่างอมืองอเท้า อันนี้ขอทำความเข้าใจ ทุกท่านโปรดทราบ ถ้าหากว่าการเป็นพุทธบริษัทที่ดี การงอมืองอเท้าแล้ว พวกเราทั้งหลายนี่จะไม่มีโชคดี จะได้รับฟังคำสอนของพระพุทธองค์ เพราะเมื่อพระองค์ตรัสรู้เมื่อพระชนม์มายุ 35 พรรษา ก็ได้เคยทรงคิดแล้วว่า จะไม่สอน จะหยุด จะไม่สอน เพราะอะไร เพราะว่า การสอนเรื่องนี้นี่ เรื่องของสิ่งที่เป็นนามธรรมที่มองไม่เห็นนี่ มันเป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่งที่มนุษย์จะเข้าใจ ที่คนทั้งหลายจะเข้าใจ แต่แล้วก็ทรงย้อนคิดมาว่า ถึงแม้คนส่วนมากจะไม่เข้าใจ ก็อาจจะมีคนบางคนสามารถเข้าใจได้ ท่านจึงทรงอุตสาหะ วิริยะ ใช้เวลาถึง 45 พรรษา ทรงเดินทางด้วยเท้านะคะ สมัยก่อนโน้น อินเดียสมัยพุทธกาล ไม่มีรถ มีม้า มีอะไรเหมือนอย่างเรามีเดี๋ยวนี้ ทรงเดินทางด้วยเท้าจากเมืองนี้ไปเมืองโน้น เมืองโน้นไปตลอดเวลา และใช้เวลาถึง 45 พรรษานี่ ตรากตรำพระวรกาย เพื่อที่จะทรงแนะนำ ตักเตือน เหมือนอย่างคราวหนึ่งคงจะเคยได้ยินในพุทธประวัติที่อ่านนะคะ ที่พี่น้องคือญาติวงศ์ของท่านนี่ ในฝ่ายกบิลพัสดุ์ และก็ในฝ่ายอีกเมืองหนึ่งนี่จะทะเลาะกัน ทะเลาะโกรธเคืองกันเพราะเหตุว่า มีการหมิ่นประมาทกัน แล้วก็จะยกทัพไปรบกัน ซึ่งพระองค์ทรงทราบทีเดียวว่า จะเป็นการนองเลือดอย่างมหาศาล ก็เสด็จไปห้าม เสด็จไปห้ามในเวลาที่จะยกทัพไปสองครั้ง ครั้งที่หนึ่งไปห้าม หยุด ครั้งที่สองไปห้าม หยุด แล้วพอครั้งที่สาม ทรงมองเห็นแล้วว่าไม่มีประโยชน์ ที่จะไปห้าม เพราะห้ามเขาแล้ว เขาก็ยังคงจะทำอีก ได้ทรงแสดง ได้ทรงแนะนำอย่างดีที่สุดแล้ว เท่าที่พระองค์จะทรงทำได้ แบบนี้มันเป็นเหตุปัจจัยที่เขาประกอบขึ้นเช่นนี้ ก็คงจะมีผลไปเช่นนี้ พระองค์ก็ทรงปล่อย ฉะนั้นก็คือหมายความว่า การเป็นพุทธบริษัทที่ดีนั้น สิ่งใดถูกจะต้องทำ ทำเพื่ออะไร เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม อย่างที่ดิฉันพูดว่าเป็นความถูกต้อง ความถูกต้องที่เป็นคุณประโยชน์แก่ทุกฝ่ายรวมทั้งตัวเราเองด้วย ข้อสำคัญที่สุด เมื่อเราไปพูด ไปแนะนำ ไปบอกแล้ว ใจเราเป็นทุกข์หรือเปล่า ถ้าใจเราเป็นทุกข์ ไม่ถูกต้อง หากไปพูด ไปบอกแล้ว พอใจ ภูมิใจ ว่าได้ทำหน้าที่แล้ว อันนี้เป็นความถูกต้องตามหน้าที่ของพุทธบริษัท ที่สวนโมกข์นะคะ มีพวกฝรั่งไปอยู่เยอะเชียวค่ะ มาจากที่ต่างๆ กัน เรียกว่าทั่วโลก จากประเทศนั้นประเทศนี้ เยอรมัน ออสเตรเลียนี่มีมาก แล้วก็ดิฉันก็ต้องไปเกี่ยวข้องกับพวกฝรั่งนี้บ้าง คำถามที่ได้รับจากพวกฝรั่งก็คือว่า เขาสนใจ แล้วเขาก็เห็นด้วย เขาก็ทำตามด้วยกับการปฏิบัติธรรม แต่เขาข้องใจว่า เมื่อเขากลับไปสู่สังคมเขาแล้วนี่ เขาทำยังไง เขาถึงจะดำรงชีวิตอย่างเพื่อนฝูง คนธรรมดาในสังคมอย่างเขาได้ เขานี้เป็นคนแปลกประหลาดหรือเมื่อมาปฏิบัติธรรม ดิฉันบอกว่าเปล่าเลย เขากลับไปสังคมเขาแล้วนี่ เขาอยากจะไปดำรงชีวิตอย่างเดิม ไปเล่นกีฬา ไปเที่ยว ไปดูหนัง ดูละคร ไปทำอะไรอย่างเดิม ทำได้ทุกอย่าง แต่เดี๋ยวนี้ เขาจะทำได้ดีกว่าแต่ก่อน เพราะอะไร เพราะเขาได้มาศึกษาการปฏิบัติธรรม เขารู้จักวิธีที่จะพัฒนาจิตของเขา ให้เป็นผู้มีสติ พร้อมด้วยปัญญา ฉะนั้นเมื่อเขาจะทำสิ่งใดต่อจากนี้ เขาจะทำได้ดีกว่า เพระเขาจะรู้ว่าเขากำลังทำอะไร และจะไม่ทำด้วยความหลงใหลเหมือนอย่างแต่ก่อน และก็รู้สึกว่าเขาก็พอใจ เดี๋ยวนี้ยังมีมามากๆ ตลอดเวลา ทีละหลายๆ สิบคน มีคำถามอะไรอีกไหมคะ ถ้ามีก็เชิญค่ะ
ดิฉันในนามของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และท่านผู้ฟังในที่นี้ ขอกราบขอบพระคุณท่านอุบาสิการัญจวน อินทรกำแหง ที่กรุณามาให้ความรู้ทางธรรม ในหัวข้อเรื่องธรรมะกับชีวิตประจำวันในวันนี้ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ