แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มันก็นำมาซึ่งอริยมรรคองค์ที่ 2 ที่ชื่อว่าสัมมาสังกัปปะ สัมมาสังกัปปะแปลว่าความปรารถนาถูกต้อง ความตั้งใจถูกต้อง คือปรารถนาที่จะกระทำตามความเห็นนั้น ความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วนั้น ที่เป็นสัมมาแล้วนั้น ตั้งใจที่จะกระทำตามนั้น นี้เป็นสัมมาสังกัปปะ อาจจะพูดได้ว่าสัมมาสังกัปปะก็เป็นความต้องการจะว่าเป็นความอยากก็ได้ แต่มันเป็นความอยากความต้องการที่ต่างกับตัณหา ไม่เหมือนกับตัณหา ตัณหาหมายถึงความต้องการตามอำนาจของกิเลส ตามความโลภ ความโกรธ ความหลง พอโลภขึ้นมาก็จะเอาให้ได้ พอโกรธขึ้นมาก็จะทำให้ได้ พอหลงขึ้นมาก็วนเวียนหาหนทางออกก็ไม่ค่อยจะพบ เพราะฉะนั้นมันคนละอย่าง การกระทำด้วยความต้องการตามอำนาจของกิเลส ผลก็คือทุกข์ เพราะชีวิตมีปัญหายิ่งขึ้น แต่การที่จะกระทำตามของสัมมาสังกัปปะเป็นความต้องการที่กระทำด้วยสติปัญญา สติปัญญาที่ขัดเกลาแล้ว ขัดเกลาอยู่ภายใน ศึกษาทำความเข้าใจจนแจ่มแจ้งอยู่ภายใน มันจึงตั้งใจ ตั้งใจและปรารถนาที่จะปฏิบัติตามนี้ เดินตามทางหนทางนี้ สัญญาใจเอาไว้ ตั้งสัจจะเอาไว้ในใจ จะยากเย็นแสนเข็นลำบากเลือดตาแทบกระเด็นเพียงใดก็ตาม จะไม่หยุดการปฏิบัติ เราจะทำต่อไป เมื่อเรารู้แล้วว่าการปฏิบัติในหนทางเช่นนี้มีแต่จะยิ่งเบาลง เบาจากภาระหนักที่แบกเอาไว้ แบกไว้เพราะความยึดมั่นถือมั่น จะรู้จักวางสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นนั้นลงโดยไม่ต้องบังคับให้มันวาง เราตั้งใจเอาไว้ว่าจะต้องทำให้ได้ ฉะนั้นนี้คือสัมมาสังกัปปะ และอริยมรรคสององค์นี้ เป็นความคิดความเห็นความตั้งใจที่มีอยู่ภายในแต่ยังไม่ลงมือทำนะคะ เมื่อสององค์นี้ยังไม่ได้มีการลงมือทำแต่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องและตั้งใจอย่างถูกต้อง ท่านจึงเรียกว่ารวมกันเป็นองค์แห่งปัญญา สัมมาทิฐิและสัมมาสังกัปปะเป็นองค์แห่งปัญญา และเป็นปัญญาที่ถูกต้อง เป็นปัญญาที่เป็น wisdom เป็น wisdom ที่เกิดจากการใคร่ครวญดูแล้วและเห็นว่าใช่และก็ตั้งใจทำ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ไม่ใช่ปรัชญาที่จะพูดกันไปเรื่อยไม่รู้จบเพราะเหตุนี้จึงเป็นอย่างนี้และก็ต้องอย่างนั้นตามทิฐิของแต่ละคน พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา เพราะเหตุว่าเมื่อจะกระทำการสิ่งใดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงชี้แนะให้รู้จักใช้ปัญญาใคร่ครวญเสียก่อนก่อนที่จะตัดสินใจทำ ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือ ใคร่ครวญเสียก่อนให้ถูกต้องว่ามันมีเหตุอะไรจึงจะต้องทำอย่างนี้ เพื่อผลอะไร ทำแล้วผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร มีปัญหาไหม มีความทุกข์ไหม ใคร่ครวญให้ถูกต้องเรียกว่ากวาดหามองหนทางนั้นให้กระจ่างเสียก่อน ก่อนที่จะลงมือทำ ไม่ใช่หลับหูหลับตาทำตามเค้าไป ตามค่านิยม หรือว่าตามเพื่อน หรือว่าตามความกลัวด้วยอำนาจอย่างใดอย่างหนี่ง ซึ่งนั้นไม่ใช่สัมมาทิฐิ แล้วสัมมาสังกัปปะก็จะไม่เกิดจะเกิดแต่ตัณหาที่ตามมา ถ้าเป็นมิจฉาทิฐิแล้วนะคะจะมีตัณหาตามมา แต่ถ้าเป็นสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ ความต้องการด้วยสติปัญญาจะเกิดตามมา นี้ก็พูดถึงว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา พระองค์จึงทรงแนะมนุษย์ทั้งหลายว่าเมื่อจะทำการสิ่งใดต้องใช้ปัญญา เป็นปัญญาใคร่ครวญที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ องค์ต่อไปก็คือ สัมมาวาจา เมื่อเข้าใจมีความเห็นถูกต้อง มีความปรารถนาถูกต้องอย่างนี้แล้ว ภายในเกิดขึ้นไปภายในมันก็จะกระตุ้นให้วาจาคือคำพูด จะพูดจาอะไร มันก็จะอยู่ในวงในเรื่องของจะชำระจิต ทำชีวิตให้เย็น ให้ชีวิตนี้มีปัญหาน้อยลงมากขึ้นๆ จะพูดจาปรึกษากันในเรื่องของวิธีการปฏิบัติธรรม หรือในเรื่องของกฎไตรลักษณ์ ในเรื่องของกฎอิทัปปัจจยตา ในเรื่องของความทุกข์ ในเรื่องของเหตุแห่งทุกข์ จะพูดจาปรึกษาสนทนากันในเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อช่วยส่งเสริมการปฏิบัติซึ่งกันและกันอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นสัมมาวาจาเพราะเป็นวาจาที่ไม่เพ้อเจ้อ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ส่อเสียด ไม่เบียดเบียนด้วยประการทั้งปวง เป็นวาจาที่จะส่งเสริมการกระทำให้เกิดความถูกต้องยิ่งขึ้น เป็นวาจาที่จะนำพาชีวิตนี้ไปสู่ความถูกต้องยิ่งขึ้น ถ้าพูดกันคุยกันในลักษณะอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นสัมมาวาจาของกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน แต่ถ้าหากการพูดเป็นอย่างอื่น แม้ว่าจะเป็นเพื่อนรัก สนิทชิดชอบกันเพียงใดก็ตาม แต่คำพูดเช่นนั้นเหมือนกับเป็นคำพูดของศัตรูมากกว่า เพราะไม่ได้ส่งเสริมให้เดินในหนทางที่ถูกต้อง แต่กลับจะดึงให้ออกนอกหนทางธรรม เพราะฉะนั้นสัมมาวาจาก็จะเป็นไปตามสัมมาทิฐิที่เกิดขึ้นและสัมมาสังกัปปะที่ตั้งใจไว้
ทีนี้พอสัมมาวาจาเกิดขึ้นแล้วสัมมากัมมันตะก็จะตามมา กัมมันตะคือการกระทำ กัมมันตะไม่ได้หมายถึงการทำงานเท่านั้น แต่หมายถึงการกระทำที่ถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้องคือการกระทำแล้วไม่เกิดปัญหา โปรดใช่อันนี้เป็นเกณฑ์เสมอ ทำแล้วไม่เกิดปัญหาตามมา คือไม่เกิดความทุกข์ตามมา ฉะนั้นสัมมากัมมันตะในที่นี้ที่เราพูดตามสัมมาทิฐิที่ว่าไว้แล้ว สัมมากัมมันตะก็จะมีแต่การกระทำที่จะขวนขวายปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นๆ จนสามารถขัดเกลาจิตให้เบาบางจากความยึดมั่นถือมั่นให้ยิ่งขึ้น ตัณหากิเลสรบกวนน้อยลงๆๆ นี้เราเรียกว่าสัมมากัมมันตะตามสัมมาทิฐิที่ตั้งเอาไว้แต่ต้นในเรื่องของการปฏิบัติธรรม ฉะนั้นการกระทำอันใดที่เป็นไปในทางที่จะบันทอนการปฏิบัติ อันนั้นก็ไม่ใช่สัมมากัมมันตะ ถ้าเป็นสัมมากัมมันตะแล้วจะมีแต่ทำให้การปฏิบัติเข้าอยู่ในหนทางยิ่งขึ้น
ทีนี้พอมีสัมมากัมมันตะคือการกระทำเกิดขึ้นแล้ว องค์ที่ 5 ต่อไปก็คือ สัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะในที่นี้ไม่ได้หมายแต่เพียงว่าการประกอบอาชีพ หรือการทำงาน ทำมาหากินเท่านั้นนะคะ สัมมาอาชีวะกินความกว้างหมายถึงการดำรงตน หรือดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง การดำรงชีวิตอย่างถูกต้องเริ่มตั้งแต่ประกอบอาชีพการงานที่สุจริต ไม่เบียดเบียนคดโกงผู้อื่น ทำการงานแล้วไม่มีปัญหา การดำรงตนที่ถูกต้องนอกจากการทำงาน ต่อไปก็คือ การรู้จักรักษาตนให้อยู่ในหนทางที่ถูกต้อง ไม่ตกไปเป็นทาสของอบายมุขหรือว่าสิ่งยั่วยวนที่จะพาให้หลงทางต่างๆ นานา ที่เราได้พูดกันแล้วนอกจากนั้นก็รวมความไปถึงการรู้จักคบบัณฑิตเป็นมิตร บัณฑิตคือผู้รอบรู้ คือคนฉลาดที่จะแนะนำให้สู่หนทางที่ถูกต้องของชีวิต มีการกระทำที่ถูกต้องยิ่งขึ้น นี้คือบัณฑิตที่แท้จริง ถ้าหากว่ารู้จักคบบัณฑิตเป็นมิตรหรือเป็นกัลยาณมิตรก็จะได้รับการส่งเสริม กระตุ้นเร่งเร้าในการปฏิบัติธรรมให้มีกำลังที่จะเดินไปยิ่งขึ้นๆ และแน่นอนจะหลีกเลี่ยงการที่จะคบคนพาล คือคนปัญญาอ่อน ปัญญาข้างในที่อ่อนเพราะเป็นคนอ่อนแอ ก็จะพาให้หลงทาง ลุ่มหลงไปในทางที่ผิด นี้คือสัมมาอาชีวะมีความหมายในทางนี้ ฉะนั้น สามองค์นี้ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สามองค์นี้รวมอยู่ในเรื่องของศีล ทำไมถึงวัดรวมอยู่ในเรื่องของศีลทุกท่านคงเห็นชัดแล้วว่า สัมมาวาจาเกี่ยวกับคำพูด สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะเกี่ยวกับเรื่องของภายนอกคือการดำรงตนการกระทำ เป็นเรื่องของภายนอกที่จะรักษาความเป็นปกติความถูกต้องเอาไว้ให้ได้ จึงรวมอยู่ในคำว่าศีล ศีลคือความเป็นปกติ ปกติข้างนอกที่จะรักษากายให้ปกติ รักษาวาจาให้ปกติ เพราะฉะนั้นผู้ใดปฏิบัติสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะได้อย่างถูกต้องอย่างสม่ำเสมอนั้นคือการมีศีล เป็นการปฏิบัติที่มีศีลอยู่ในตัวเอง อาจจะบอกว่าโดยไม่ต้องรับศีลก็ได้ เพราะมันจะอยู่ในหนทางแห่งการไม่เบียดเบียนผู้อื่น การที่มารับศีลเอาไว้ก็เพื่อที่จะเป็นกรอบที่จะคอยกระตุ้นคอยบอกหรือจะคอยบังคับว่าอย่ากระทำการใดที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น
ที่นี้จากนั้น องค์ที่ 6 คือสัมมาวายามะ สัมมาวายามะ คือความพากเพียรที่ถูกต้อง เราก็มีความพากเพียรกันทุกคน แต่ความพากเพียรที่เป็นมิจฉาก็มีเช่น เพียรดื่ม เพียรเล่นไพ่ เพียรเล่นม้า เพียรเสพต่างๆ เพียรคิดเบียดเบียนคนอื่น เพียรจี้ เพียรปล้น นั้นก็ใช้ความเพียรเหมือนกันพวกทำแบบนี้ไม่ใช่ไม่เพียร แต่เป็นความเพียรที่เป็นมิจฉา เพราะมันจะลงเอยด้วยการก่อให้เกิดปัญหาตามมาตลอดเวลา นอนสะดุ้งอยู่ตลอดเวลาไม่ได้เป็นสุขเลย คือไม่ได้มีความสุขสงบเย็นเลย มันเป็นความเพียรที่เป็นมิจฉา เพราะฉะนั้นสัมมาวายามะความพากเพียรที่ถูกต้อง ก็เป็นความพากเพียรที่จะกระทำตามสัมมาทิฐิที่ตั้งเอาไว้แล้ว ตามสัมมาสังกัปปะที่ตั้งเอาไว้แล้ว ตามปัญญาที่เห็นถูกต้องแล้วนั้นเองไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางไปจากหนทางนี้เลย กำลังความสามารถมีอยู่เพียงใดกำลังกายกำลังใจมีอยู่เพียงใดกำลังสติปัญญามีอยู่เพียงใด จะทุ่มเทลงไปกับเพื่อการปฏิบัติยิ่งขึ้นๆ ให้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นสัมมาวายามะอย่างนี้จะต้องประกอบไปด้วย