แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทีนี้ธรรมะที่จะกำกับใจของผู้ที่สนใจในการพัฒนาสังคมก็ขอเสนออริยมรรคมีองค์ 8 เริ่มต้นด้วยสัมมาฐิตินี่สำคัญมากเลย ฆราวาสธรรม 4 สัจจะ ในการที่จะทำงานอย่างนี้ ตลอดจนทมะ ขันติ จาคะและที่สำคัญที่สุดอิทธิบาท 4 อิทธิบาท 4 ท่านบอกว่าเป็นบาทฐานของความสำเร็จในการทำงานทุกอย่างเลย อิทธิบาทคือบาทฐานของความสำเร็จมี 4 ประการ ฉันทะ ความพอใจ ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งนั้นถ้ามีความพอใจนี่มีกำลังใจใช่ไหมคะ ถึงแม้จะมีอุปสรรคมันก็หาหนทางที่จะแหวกว่ายให้พ้นอุปสรรคนั้นได้ ฉะนั้นฉันทะต้องมาก่อน มีความรักมีความพอใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่น มีความรู้สึกว่าอดไม่ได้ทนไม่ได้ที่จะเห็นความทุกข์ยากลำเค็ญของผู้อื่นที่อยู่ในวิสัยที่จะช่วยเหลือได้ ก็มีความฉันทะคือมีความพอใจที่จะช่วย วิริยะความพากเพียรทุ่มเทลงไปทุกอย่างทุกประการเต็มกำลังความสามารถ ข้อที่ 3 จิตตะ จดจ่อ จิตใจจดจ่ออยู่ในเรื่องที่เรากำลังกระทำเพื่อที่จะพัฒนาช่วยเหลือสังคม ไม่หนีไปหาความสะดวกสบายที่เมื่อเวลาโอกาสเผลอจิตมันเกิดขึ้น ไม่เห็นแก่ความสะดวกสบาย ไม่เห็นแก่ความสะดวกสบายของฝ่ายตัว และข้อสุดท้ายวิมังสา วิมังสาก็หมายความว่าพยายามที่จะใคร่ครวญเพื่อที่จะหาหนทางแก้ไขอุปสรรค แล้วก็พัฒนางานที่ทำนั้นให้เจริญก้าวหน้าให้เกิดผลมีประสิทธิภาพประสิทธิผลยิ่งขึ้นอย่างทั่วถึง มีหนทางใดจะแก้ไขปรับปรุงทำให้ดีขึ้นพยายามกระทำทุกทาง นี่คืออิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ซึ่งเป็นคุณธรรมที่สำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์มีความสำเร็จในกิจการงานนั้น จะช้าก็สำเร็จเพราะอิทธิบาทนี้จะไม่ยอมหยุดเลยยังคงกระทำอย่างเดินหน้าต่อไป
แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นคุณธรรมที่สำคัญมากก็คือหิริโอตัปปะสำหรับผู้ที่จะทำงานให้แก่สังคม เพราะเมื่อกระทำงานแล้วมีผลงานปรากฎ คือการทำงานเพื่อพัฒนาสังคมเพื่อผู้อื่นประกอบเหตุปัจจัยที่ถูกต้อง ผลมันก็ตามมา ตัวเองก็มีความชื่นชมพอใจความนิยมยกย่องจากผู้อื่นที่ได้รับความช่วยเหลือได้รับน้ำใจ มันก็ตามมาเองโดยอัตโนมัติ เห็นไหมคะถ้าทำถูกต้องผลมันมาเองโดยไม่ต้องหวัง ทีนี้ก็ระวังที่พอได้รับความยกย่องนับถือ ทีแรกก็ยังเฉยอยู่ได้ พอมามาก ๆ เข้ามันก็ทำให้เกิดความพอใจยินดีในความนิยมยกย่องชมเชยหรือจะติดตามด้วยลาภยศสรรเสริญสุขอะไรต่อมาก็ตาม ผลที่สุดก็ค่อย ๆ มีความรู้สึกว่าสิ่งที่ทำนี่ฉันทำ เป็นความสามารถของฉัน ฉันรับผิดชอบ ฉะนั้นผลทั้งหลายเป็นของฉันคนเดียว ตอนนี้พัฒนาหรือเปล่า ไม่ได้พัฒนาแล้วกลับกลายเป็นตัวอย่างแห่งความเห็นแก่ตัว ต้องหยุด ที่จะหันมาพัฒนาใจของตนเสียใหม่เพื่อให้มั่นคงเข้มแข็งเพื่อทำการพัฒนาเช่นนี้ได้ต่อไป ฉะนั้นหิริโอตัปปะนี่แหละจะเป็นคุณธรรมที่กำกับใจของผู้ที่ทำงานเพื่อผู้อื่นให้สามารถรักษาความมั่นคงความสม่ำเสมอของการทำงานนั้น ให้ได้รับผลอย่างน่าพอใจ คือด้วยความถูกต้องเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงเรื่อย ๆ หิริก็คือความละอาย ความละอายต่อการที่จะกระทำสิ่งที่ผิดแม้ไม่มีผู้ใดเห็น อยู่คนเดียวก็ไม่กล้าทำ โอตัปปะก็คือความกลัวบาป พูดง่าย ๆ ว่าหิรินั้นมีความละอาย อาจจะเปรียบเหมือนกับ ขอโทษ คนที่ไม่กล้าเปลื้องผ้าต่อหน้าที่สาธารณะ นั่นน่ะความอาย อายอย่างนั้นอายจากใจไม่กล้าที่จะทำอย่างนั้น ที่บอกว่าความละอายต่อบาปหรือความละอายต่อการทำชั่วมันยังไงก็อยากจะเปรียบอย่างนี้ เหมือนความละอายที่ไม่กล้าเปลื้องผ้าต่อที่สาธารณะ นั่นคือสิ่งที่เป็นคุณธรรมอยู่ในใจ ส่วนโอตัปปะนั้น ความกลัว กลัวอะไร กลัวเหมือนกับกลัวงูพิษไม่กล้าเข้าใกล้งูพิษ เพราะรู้ว่างูพิษมันมีพิษ มันขบกัดให้สาหัสหรือถึงตายจึงไม่กล้า นี่คือหิริโอตัปปะที่ท่านบอกว่าเป็นเทวธรรม ท่านเปรียบเทียบว่าเป็นเทวธรรม เทวธรรมก็คือธรรมะของเทวดา มนุษย์คนใดที่สามารถรักษาหิริโอตัปปะให้เป็นคุณธรรมประจำใจเสมอ บุคคลผู้นั้นก็เหมือนกับเป็นเทวดานางฟ้าอยู่บนพื้นโลก นี่เป็นคำอุปมาอุปไมยนะคะ นั่นก็คือเป็นบุคคลที่น่ารักน่าบูชาไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือเป็นชาย ฉะนั้นหิริโอตัปปะจึงเป็นคุณธรรมที่จะทำให้มนุษย์รักษาจริยธรรมและคุณธรรมของตนเองและของสังคมไว้ได้ แล้วก็พร้อมที่จะยืนหยัดเพื่อป้องกันรักษาด้วยความละอาย อีกทั้งจะเป็นตัวอย่างซึ่งหาได้ยาก
ฉะนั้นธรรมะกำกับใจก็อยากจะเสนอ 4 อย่าง อริยมรรคมีองค์ 8 ฆราวาสธรรม 4 อิทธิบาท 4 และหิริโอตัปปะ นี่ก็อธิบายโดยย่อนะคะว่าสิ่งที่เรียกว่าสัปปุริสธรรม 7 คืออะไร และถ้าเราจะนำสัปปุริสธรรม 7 เข้ามาใช้ในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงานนั้นจะนำเข้ามาใคร่ครวญอย่างไร ก็ยกตัวอย่างให้ฟัง 2 ตัวอย่าง