แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
แม้จะเปลี่ยนอิริยาบถ จากนั่งเป็นยืน ก็คงรักษาจิตให้อยู่กับลมหายใจให้ตลอดทุกขณะอย่างต่อเนื่อง แม้จะเดินก็กำหนดจิตให้สัมผัสอยู่กับลมหายใจทุกขณะที่เดิน จะเข้าห้องน้ำก็กำหนดจิต ให้รู้อยู่กับลมหายใจทุกขณะ เมื่อเข้าที่พักก็กำหนดจิต รู้อยู่กับลมหายใจทุกขณะ ก่อนที่จะล้มตัวลงนอนก็กำหนดจิตให้รู้อยู่กับลมหายใจทุกขณะ รักษาลมหายใจไว้เป็นเพื่อน ไม่ให้ห่างใจ เมื่อลงนอน ก็กำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจ ดึงจิตที่ชอบคิดเวลานอน ดึงมันมาอยู่กับลมหายใจ ให้มันนิ่ง ให้มันสงบ ไม่ให้วุ่นวาย เพื่อที่จะได้หลับสบายไปพร้อมกับลมหายใจ
การหลับพร้อมกับลมหายใจ ด้วยการรู้ลมหายใจอยู่ทุกขณะ นั่นคือการหลับอย่างมีสติ การหลับอย่างมีสติ จะทำให้หลับได้สบาย หลับได้เร็ว หลับโดยไม่ต้องฝันร้าย ไม่ต้องดิ้น ไม่ต้องทุรนทุรายในขณะหลับ แล้วจะลืมตาตื่นตอนเช้าด้วยความแจ่มใส ด้วยความรู้ตัว ทั่วพร้อม เมื่อลืมตาในตอนเช้ายังไม่ต้องรีบลุกทันที สิ่งที่ต้องทำเป็นสิ่งแรก คือกำหนดจิต รู้ลมหายใจก่อน กำหนดจิตตามลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออกให้ตลอดสาย แล้วจะรู้สึกได้เองว่า จิตกำลังตื่น ตื่นขึ้นอย่างแจ่มใส ไม่เฉพาะแต่ตาที่ลืม ถ้าลืมแต่ตาจิตจะยังงัวเงีย ฉะนั้นการรู้ลมหายใจเป็นสิ่งแรก นั่นคือการเตรียมจิตให้ตื่น ด้วยสติ ด้วยความแจ่มใส ค่อยๆ ลุกขึ้น ก็คงกำหนดรู้ลมหายใจอยู่ จะเก็บอุปกรณ์เครื่องนอนก็รู้ลมหายใจทุกขณะ เมื่อลุกขึ้นก็รู้ลมหายใจให้ทุกขณะ ไม่ปล่อย อยู่กับลมหายใจให้ตลอดสาย ผลักจิตให้อยู่ข้างในให้ตลอด เมื่อเดินไปล้างหน้า แปรงฟัน ก็รู้ลมหายใจทุกขณะ จะเดินกลับมาที่พัก มาที่กลด ก็ให้รู้ลมหายใจทุกขณะ เมื่อพร้อมที่จะเดินมาที่ศาลาแห่งนี้ ก็เดินมาด้วยความรู้ สัมผัสอยู่กับลมหายใจทุกขณะ นี่คือชีวิตของผู้มีสติ ชีวิตของผู้ปฏิบัติธรรม หากกระทำได้เช่นนี้ คุ้มค่า คุ้มค่าแก่การที่อุตส่าห์สละเวลามา วางภาระข้างนอก เพื่อมาฝึกปฏิบัติอบรมจิต คุ้มค่า อย่าท้อถอย อย่ากลัวว่าจะทำไม่ได้ จงลงมือทำ กำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจแต่อย่างเดียว แล้วความสงบจะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องหวัง ไม่ต้องอยาก แต่ความสงบจะเกิดขึ้นเอง ตามเหตุปัจจัยของการกระทำที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง ขอให้ผู้ปฏิบัติจงมีลมหายใจเป็นเพื่อนอยู่ทุกขณะ ทั้งกลางวันและกลางคืน แล้วชีวิตนี้จะปลอดภัย ปลอดภัยจากปัญหา ปลอดภัยจากความทุกข์ นั่งกายตรง แต่อย่าให้ถึงกับแข็ง เพราะจะเกร็งเกินไป ให้สบายๆ เป็นธรรมชาติ แต่มีความสำรวมอยู่ในนั้น การสำรวมกายจะช่วยสะท้อนให้เกิดการสำรวมจิต คือการสำรวมข้างในแต่ไม่เกร็ง ไม่เครียด ให้เป็นธรรมชาติ กำหนดจิตจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ การกำหนดจิตก็คือการกำหนดสติ กำหนดความรู้สึกด้วยสติ จดจ่อไปที่ลมหายใจ หายใจตามปกติ หายใจตามธรรมชาติที่หายใจอยู่ธรรมดาทุกวันก่อน หายใจให้สบายๆ เพื่อดูว่าลมหายใจนี้ยังผ่านเข้าออก สะดวก คล่องแคล่ว ไม่มีอะไรติดขัด ฉะนั้นจงกำหนดจิตอยู่กับลมหายใจธรรมดาปกติ แล้วตามรู้ลมหายใจที่ผ่านเข้า ผ่านออก ให้ตลอดสาย ตามรู้มันให้ตลอดสายสัมผัสความเคลื่อนไหวของลมหายใจนั้น ด้วยความรู้สึกสบายๆ ต่อไปนี้ค่อยๆ ขยายผ่อนลมหายใจปกตินั้นให้ยาวออกไปทีละน้อย แล้วกำหนดจิตตามลมหายใจยาว ตามด้วยความรู้สึกที่ประกอบด้วยสติ ตามรู้ลมหายใจยาวด้วยจิตที่ว่องไว ด้วยความรู้สึกที่ว่องไว แจ่มใส
เรากำลังปฏิบัติขั้นที่ 1 ของอานาปานสติ คือการตามลมหายใจเพื่อทำความรู้จักกับลมหายใจยาว เจาะจงตามลมหายใจยาว ตามด้วยความรู้สึก เมื่อหายใจยาวเข้า ก็รู้ว่ายาว ยาวออก ก็รู้ว่ายาว ให้รู้ด้วยว่าเป็นยาวอย่างไหน ด้วยการเปลี่ยนลมหายใจ หายใจยาวแรงบ้าง ยาวธรรมดาบ้าง ยาวลึกบ้าง ลองตามลมหายใจยาว 3 อย่างนี้ เปลี่ยนไปยาวต่างๆ ตามด้วยความรู้สึก อย่าให้ขาดตอน ถ้ารู้สึกเหนื่อยกับการหายใจยาว ก็เปลี่ยนเป็นหายใจธรรมดา แต่คงตามลมหายใจธรรมดานั้นอยู่ ให้รู้ตลอดสาย พักสักนิดนึงพอหายเหนื่อย แล้วกลับไปหายใจยาวอีก ยาวธรรมดาบ้าง ยาวลึกบ้าง ยาวแรงบ้าง ขณะนี้เรากำลังปฏิบัติขั้นที่ 1 คือการตามลมหายใจยาว เริ่มให้รู้ว่า กำลังหายใจยาวอย่างไหน กำหนดจิตตามด้วยความรู้สึก สัมผัสความเคลื่อนไหวของมัน ให้รู้ว่ากำลังหายใจยาวอย่างไหน เปลี่ยนหายใจยาวชนิดต่างๆ อย่าหายใจยาวอย่างเดียว อย่าหายใจยาวชนิดเดียว ยาวแรงบ้าง ยาวลึกบ้าง ยาวธรรมดาบ้าง แล้วค่อยๆ หายใจยาวเบาๆ บ้าง จากยาวธรรมดานั้น ค่อยๆ ควบคุมให้มันหายใจยาว ธรรมดาอย่างช้าๆ เบาๆ ลองเปลี่ยนสลับกันไปเรื่อยๆ เมื่อผู้ปฏิบัติใดรู้สึกว่าสามารถตามลมหายใจยาวชนิดต่างๆ ได้ โดยไม่ติดขัด คือตามได้อย่างสบายๆ เป็นธรรมชาติ ไม่รู้สึกอึดอัด ไม่รู้สึกเกร็ง ไม่รู้สึกเครียด ก็ค่อยๆ เพิ่มการสัมผัสกับลมหายใจยาวแต่ละชนิดนั้นว่า มันปรุงแต่งกายอย่างไร เมื่อหายใจยาวแรง ปรุงแต่งกายอย่างไร สบายหรือไม่สบายอย่างไร กำหนดรู้ด้วยสติ ยาวช้าๆ เบาๆ ปรุงแต่งกายอย่างไร กำหนดรู้ด้วยสติ
แต่ถ้าผู้ปฏิบัติใดมาลองกำหนดรู้ว่าลมหายใจยาวแต่ละอย่างปรุงแต่งกายอย่างไร แล้วเกิดรู้สึกอึดอัด ตามลมหายใจยาวไม่สะดวก ก็หยุดการสังเกตุ ไม่ต้องสังเกตุ เอาแต่เพียงตามลมหายใจยาวแต่ละอย่างให้รู้ว่านี้กำลังหายใจยาวอย่างไหน ตามด้วยความรู้สึก รู้สึกด้วยสติ ตามรู้ลมหายใจยาวให้ตลอดสาย ยังไม่ต้องกังวลกับความสงบ ไม่สงบไม่เป็นไร แต่ดึงจิตให้อยู่กับลมหายใจยาว เพราะเรากำลังทำความรู้จักกับลมหายใจยาว เรากำลังศึกษามัน ยังไม่ต้องการความสงบในขณะนี้ ถ้าตามลมหายใจยาวได้ ก็ดี ทำต่อไป ถ้าตามลมหายใจยาวไม่ได้ ดึงจิตมาไม่ได้ ก็เช่นนั้นเอง การปฏิบัติ บางทีก็ได้ บางทีก็ไม่ได้อย่างใจ เป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ตั้งต้นใหม่ ค่อยๆ ดึงจิต กลับมาอยู่ที่ลมหายใจช้าๆ ดึงมาอย่างอ่อนโยน ไม่อึดอัดไม่รำคาญ เห็นเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง หากมีสิ่งใดมารบกวนจิต จะใช้ลมหายใจยาวอย่างไหนขับไล่มันไป ก็จงใช้ อย่ายอมให้จิตตกอยู่ในความง่วงหรือความคิดหรือความรู้สึกหรือความจำ ไล่มันออกไป ขณะนี้มีนิวรณ์ตัวใด กำลังมารบกวนจิตบ้างไหม ผู้ปฏิบัติใดที่จดจ่อจิตหรือความรู้สึกอยู่ที่ลมหายใจไม่ได้ จงรู้ ว่าขณะนี้ กำลังถูกรบกวนด้วยนิวรณ์