แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีค่ะ รายการธรรมสนทนาในวันนี้นะคะ ก็คิดว่าเราน่าจะพูดกันอีกในเรื่องเกี่ยวกับพุทธธรรมกับสังคม เพราะว่าถ้าหากเราอยากจะให้สังคมอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข เห็นจะขาดซึ่งพุทธธรรมไม่ได้เลย เพราะอันที่จริงแล้วพุทธธรรมกับชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อชีวิตกับพุทธธรรมแยกกันไม่ได้ พุทธธรรมกับสังคมก็แยกกันไม่ได้เหมือนกัน ก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พุทธธรรมคือสังคม และสังคมนั้นถ้าจะต้องการเป็นสังคมของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็จำจะต้องอยู่ด้วยพุทธธรรม ถ้าสมมติว่าเรามีความปรารถนาตรงกันนะคะ สิ่งแรกที่เราควรจะทำก็ต้องพยายามปรับทัศนคติหรือทิฏฐิบางอย่างที่อาจจะยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้อง หรือเข้าใจเขวเกี่ยวกับเรื่องของพุทธศาสนาและธรรมะ เข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องด้วยการทำความเข้าใจกับคำบางคำ ที่จะทำให้เราเกิดความเข้าใจผิด และก็เลยไปเห็นว่าศาสนาหรือธรรมะเป็นสิ่งมอมเมาหรือเป็นยาเสพติด ทั้งๆ ที่จริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้นเลยดังที่เราได้เคยพูดกันมาแล้ว แล้วก็ เราก็ได้หยิบเอาคำบางคำที่อาจจะทำให้เข้าใจเขวหรือเข้าใจผิดได้ เช่น “ศรัทธา” ถ้าจะมีศรัทธาที่ถูกต้องก็ต้องพยายามพัฒนาให้เป็นศรัทธาที่เป็นพุทธศาสตร์ ไม่ใช่เป็นศรัทธาที่เป็นไสยศาสตร์ หรือคำว่า “กรรม” ก็ไม่ใช่กรรมที่ถูกลิขิตแล้วโดยผู้หนึ่งผู้ใด ถ้าหากว่าจะมีการลิขิต ก็คือลิขิตด้วยการกระทำของตนเองนั่นเอง ฉะนั้น ต้องการกรรมอย่างใด ต้องการกรรมขาวก็จงกระทำสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเผลอไปกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มันจะกลายเป็นกรรมดำไปทันที ทั้งๆ ที่จะพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม เพราะฉะนั้น กรรมจึงเป็นสิ่งที่หมายถึงการกระทำ ถ้าเราเข้าใจตามนี้ เชื่อว่าทุกคนจะต้องขวนขวายขมีขมันกระทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะไม่มีใครที่อยากจะได้รับสิ่งที่ไม่พอตาพอใจ ใช่ไหมคะ ทีนี้นอกจากคำว่าศรัทธา นอกจากคำว่ากรรม ยังมีคำอะไรอื่นอีกไหมคะที่เราน่าจะนำมาพูดกัน
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : คำว่า บุญกับบาป ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เช่นคำว่าบุญ คำว่าบาป เข้าใจว่าอย่างไรคะ คำว่าบุญ พอพูดถึงบุญ พูดถึงบาป เข้าใจว่าอย่างไรคะ
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ถ้าทำความดีก็ได้บุญ ทำความชั่วก็เป็นบาป
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าทำความดีก็ได้บุญ ถ้าทำความชั่วก็เป็นบาป นี่เราก็มักจะเข้าใจกันอย่างนี้นะคะ ซึ่งก็ไม่ผิดนะคะ แต่ทีนี้ถ้าเราจะดูลงไปอีกทีให้ชัดว่า แล้วความหมายของคำว่าบุญก็ดี ความหมายของคำว่าบาปก็ดี หมายความว่าอะไร เพราะเราอาจจะตีความต่างๆ กันก็ได้ ก็อยากจะขอให้ย้อนนึกมาดูว่า เมื่อเราบอกว่า เราทำดีเราก็ได้บุญ สิ่งที่เรียกว่าบุญนั้น มันหมายถึงอะไร
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ความสบายใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ความสบายใจ เพราะพอเราทำอะไรที่เรารู้สึกว่ามันดี ใจมันพอง มันสบาย มันอิ่มเอิบ เพราะว่าเราได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ ว่าอย่างนั้นนะคะ ใจมันก็สบาย ฉะนั้น ถ้าเราจะแปลความหมายของคำว่าบุญ อย่างชาวบ้าน อย่างเราๆนี่ เราก็อาจจะแปลได้ว่า เมื่อกระทำสิ่งใดแล้วใจสบาย แต่สบายนี้เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นนะคะ ไม่ใช่สบายเพราะได้เปรียบเขา ถ้าสบายเพราะได้เปรียบเขานี่ มันไม่สบายจริง เพราะมันมีความกระเพื่อม ด้วยความตื่นเต้น ด้วยความทรนง ด้วยความยโส แหมเรานี้ฉลาดเอาเปรียบเขาได้ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ความสบายที่เป็นปกติ ที่เยือกเย็น ที่ราบเรียบ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น เช่นนั้น มันไม่ใช่บุญ มันเป็นบาปซ้อนอยู่ในนั้นโดยไม่รู้ตัวเลย เพราะฉะนั้น ความสบายใจอย่างที่เราพูดว่าเป็นบุญนั้นก็คือ เมื่อทำแล้วการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่เรารู้สึกเกิดประโยชน์ เราก็สบายใจ นี่มันก็เป็นบุญ เพราะฉะนั้น บาปล่ะคะ
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : บาปคือกระกระทำที่ไม่ถูกต้อง แล้วเมื่อไม่ถูกต้องจะเกิดความไม่สบายใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั้นล่ะค่ะ พูดง่ายๆ นะคะ ซึ่งดิฉันคิดว่าท่านผู้ชมก็คงจะเห็นว่า ถ้าเราเข้าใจความหมายของบุญและบาปเช่นนี้ จะทำให้เราเห็นชัดนะว่า เรื่องบุญเรื่องบาปนี่เราสามารถจะทำได้และละเว้นได้โดยไม่ยากเลย ใช่ไหมคะ เพราะถ้ากระทำสิ่งใดไป ใจไม่สบาย นี่เป็นบาปแล้ว เพราะว่าบาปนั่นคือการกระทำที่ไม่ถูกต้อง มันจึงทำให้เกิดความติดขัดขึ้นมาในใจ มันอึดอัด มันขัดข้อง บางทีมันก็หม่นหมอง มันรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ชอบใจ เป็นทุกข์ ว่าอย่างนั้นเถอะ แต่พอเราทำอะไรที่มันเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ที่เกิดประโยชน์ มันสบายขึ้นมาทีเดียว
ผู้ดำเนินรายการ : แล้วบางคน อย่างเราถือศีลห้ากันนี่นะครับ ที่บอกว่าถ้าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้วเป็นบาป บางท่านก็บอกว่ากินไก่กินหมูที่เขาฆ่ามาจะบาปไหม ตั้งคำถามต่างๆ นานากันไป อย่างนี้อาจารย์ถือว่าบาป บาปไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือ ถ้าพูดถึงเรื่องศีล ตอนแรกพูดถึงเรื่องศีลใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าเราได้สมาทานศีลแล้ว เข้าใจคำว่าสมาทานใช่ไหมคะ สมาทานนี้คือรับมาถือไว้ด้วยความถูกต้อง คำว่าถูกต้อง เพราะเราเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร เรารู้ว่าศีลคืออะไร รับศีลเพื่ออะไร และการปฏิบัติในการรับศีลที่ถูกต้องควรจะกระทำอย่างไร นี่เรียกว่าพอเรารู้ถูกต้องหมดทุกอย่าง เราก็สมาทานรับเอาศีลนั้นมา จะเป็นศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือว่าอย่างพระภิกษุท่านศีล ๒๒๗ ก็แล้วแต่ พอเราสมาทานแล้วเราก็รับศีลนั้นมา แล้วเราก็ปฏิบัติอย่างถูกต้อง เราก็มีความสบายใจ คือเมื่อรับไว้ เราก็รักษาไว้ด้วยดี ก็มีความสบายใจ อันนั้นก็เป็นบุญ แต่ถ้าหากว่าเกิดความคิดว่า การที่จะกินสิ่งที่มีชีวิต แต่ว่าถูกคนอื่นเขาได้ฆ่ามาก่อนแล้วจะผิดหรือไม่ นั่นมันเป็นวิจิกิจฉาที่เราเกิดขึ้นเองในใจนะคะ เพราะท่านก็บอกแล้วว่าการที่จะผิดศีลนั้นน่ะ มันจะต้องประกอบด้วยเจตนา มีหลายอย่างนะคะ แต่สำคัญที่สุดคือเจตนา ถ้าจะพูดไปเจตนาของเรา เริ่มต้นเราไม่ได้ตั้งใจจะกินไก่ หรือกินหมู หรือกินปลา แต่เราประสงค์ที่จะต้องกินอาหาร เมื่อเกิดมาเป็นคน เป็นสิ่งมีชีวิต แม้แต่กับสัตว์ก็ตาม มันจะต้องกินอาหาร และอาหารที่กินเข้าไปก็ด้วยความมุ่งหวังว่าจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง คือให้ประโยชน์แก่ทางร่างกาย นี่เราจะกินอาหาร แต่เผอิญได้อาหารนั้นมาจากที่เขาประกอบให้ อาจจะมาจากหมู จากปลา จากไก่ หรือจากเป็ด หรือจากอะไรก็ตาม โดยเราไม่ได้เจตนาแต่เป็นสิ่งที่นำให้มา ก็ถือเป็นอาหาร และจะต้องไปคิดถึงเรื่องศีลทำไมให้ลำบากใจไปเปล่าๆ มันก็ไม่จำเป็นใช่ไหมคะ เพราะไม่ได้มีเจตนากับสิ่งเหล่านั้นเลย แต่ถ้าเราเจตนา เรามองเห็นไปนั่งอยู่ริมน้ำ แหม ปลาช่อนที่มันว่ายผ่านไปมานั้นมันอ้วน แหมมันน่ากินและดูมันเชื่องเหลือเกิน ก็หาวิธีจับเจ้าปลาช่อนตัวนั้นมาได้ พอได้ก็ทุบหัวลงหม้อแกงไปเลย นี่ละไม่ต้องถามแล้ว แน่นอนที่สุด แน่ๆ เพราะมันครบเลยใช่ไหมคะ พอคิด แล้วกระทำด้วยความตั้งใจ และสัตว์นั้นก็ถึงแก่ชีวิตมาเป็นอาหารของเรา อย่างนี้ไม่ต้องสงสัย แน่นอน และเรากระทำไป ถ้าเราได้เคยสมาทานศีลมาแล้วเราก็รู้อยู่แก่ใจว่า นี่เรากำลังทำไม่ถูกนะ เรานี่เอาชีวิตเขาด้วยความโลภ ด้วยความอยาก ด้วยกิเลสของความอยาก ไม่สามารถจะเอาชนะมันได้ ใจเราสบายไหม ไม่สบายเลย นี่มันก็บอกอยู่ในใจด้วย นี่กำลังกระทำบาปแล้ว มันเป็นกรรมดำที่เกิดขึ้นในใจ
เพราะฉะนั้น เรื่องบุญเรื่องบาปนี้นะคะ ถ้าเรานึกถึงความหมายของมัน อย่างง่ายๆ อย่างนี้ บางทีจะทำให้เราสามารถกระทำสิ่งที่เป็นบุญได้มากเข้า ถี่เข้า บ่อยเข้า เพราะมันง่าย ละเว้นการกระทำที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น มันก็เป็นบุญแล้ว มันเกิดประโยชน์มันก็เป็นบุญแล้ว และก็ละเว้นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เราก็ไม่ต้องกระทำบาป ไม่ทำสิ่งที่เรียกว่าบาป ฉะนั้น การทำบุญเพื่ออะไร มันน่าจะเพื่อความสบายใจ ใช่ไหมคะ เพราะสิ่งที่เราตะเกียกตะกายกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อให้เราสบายใจ ทำไมเราจึงไม่หาความสบายใจด้วยการกระทำที่ถูกต้องล่ะคะ โดยมีความหมายให้ชัดเจนนะคะว่า การกระทำที่ถูกต้องนั้นคือเมื่อกระทำแล้วเกิดประโยชน์ ประโยชน์แก่ตน ประโยชน์แก่ท่าน ไม่ใช่เกิดประโยชน์แต่แก่ตนฝ่ายเดียว ถ้าเกิดประโยชน์แก่ตนฝ่ายเดียว ก็เห็นจะยังไม่เป็นบุญแท้อีกเหมือนกัน เพราะมันอาจจะมีการเบียดเบียนอยู่ในนั้นโดยไม่รู้ตัว
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : แล้วอย่างที่ว่า ทำดีได้ขึ้นสวรรค์ ทำชั่วตกนรก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ทำดีได้ขึ้นสวรรค์ ทำชั่วตกนรก มันก็ต่อเนื่องกันล่ะค่ะ ต่อเนื่องจากบุญจากบาปที่เราพูดมาแล้วนี่นะคะ ก็ต้องนึกว่า ทำไมคนจึงอยากขึ้นสวรรค์ เพราะคิดว่าสถานที่ ที่สมมติเรียกกันว่าสวรรค์ สมมติว่าอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบนี่นะคะ ที่เราสมมติเรียกกันว่าสวรรค์นี่เป็นไง เป็นสถานที่ที่เป็นอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ : สบาย น่าอยู่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สบาย เป็นสุข อยู่แล้วเราก็คงสบาย นี่ก็อยู่ในความสบายนี่นะคะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเรียกว่าสวรรค์นั่นก็คือหมายถึงความสบาย สถานที่ที่จะให้ความสบายแก่เรา เราคิดว่ามันเป็นสุข เราจึงจะอยากไปสวรรค์ ทำดีขึ้นสวรรค์ นั่นก็คือทำดีแล้วมันก็มีความสบาย เมื่อเรามีความสบายเกิดขึ้นในใจ มันก็เหมือนกับว่ามีสวรรค์อยู่ในใจ ใช่ไหมคะ อย่างที่โบราณท่านบอกว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ เราก็ได้ยินมาตั้งแต่เราเล็กๆ นี่แหละเป็นคำชี้แจง หรือว่าตักเตือนบอกให้เราทั้งหลายรู้ว่า ว่าทำดีแล้วไม่ต้องแสวงหาสวรรค์ที่ไหน สวรรค์เกิดเอง และก็เมื่อทำชั่วก็ไม่ต้องแสวงหานรกที่ไหน นรกเกิดเอง เกิดที่ไหน ที่ใจ เมื่อใจนั้นมีลักษณะที่เป็นอย่างไรคะ ที่เราเรียกว่าใจเป็นนรกน่ะ
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ร้อน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ร้อน ร้อนเร่า แผดเผาไหม้เกรียมอยู่ในใจ นั่นแหละใจเป็นนรกแล้ว ท่านจึงเปรียบอย่างภาพที่เราเห็นเกี่ยวกับนรกนะคะ ที่มีคนตกกระทะทองแดง ตกหม้อนรก หรือว่าอยู่ในท่ามกลางกองไฟเผา อะไรต่ออะไรต่างๆ นั่นคือการอุปมาให้มองเห็นความร้อนของจิตที่กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งรู้ว่ามันเป็นบาป มันเป็นการการเบียดเบียนตนเอง เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น มันร้อนเร่าแผดเผา เหมือนหนึ่งตกกระทะทองแดง หรือว่าถูกต้มอยู่ในหม้อร้อน หรือว่าถูกโยนลงไปในกองไฟ มันอยู่ในลักษณะเดียวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราพยายามที่จะเข้าใจในความหมายของบุญก็ดี บาปก็ดี สวรรค์ก็ดี นรกก็ดี ในความหมายที่ถูกต้องอย่างนี้ ก็ดูไม่ไกลใช่ไหมคะ สวรรค์ก็ไม่ไกล นรกก็ไม่ไกลอีกเหมือนกัน มันอยู่ริมๆ มันอยู่ตรงนี้ ใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าเราก้าวพลาดนิดเดียว ลงนรก ก้าวถูก ขยับให้ถูกต้องอีกนิดเดียวขึ้นสวรรค์ สวรรค์กับนรกก็อยู่ที่ตรงนี้เอง อันนี้ที่ดิฉันพูดอย่างนี้ก็หมายความว่า ดิฉันพูดจากสิ่งที่มันมองเห็นได้และก็พิสูจน์ได้ และเราเองจะเห็นด้วยกันทุกคน ไม่ต้องฟังเขาว่า ไม่ต้องฟังเขาบอกว่าอยู่ที่ไหนนะคะ แต่เราจะสามารถพิสูจน์ได้เองทุกคน เพราะฉะนั้น ก็เชื่อว่าท่านผู้ชมก็คงจะมองเห็นว่า ถ้าเราฝึกจิตของเรา ปรับทิฏฐิ ทัศนคติให้เข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับความหมายของบุญของบาป ของนรกของสวรรค์ เราคงจะมีกำลังใจที่จะสร้างสวรรค์ให้เกิดขึ้นในใจอยู่ทุกขณะ และสังคมนี้ก็เป็นสังคมของชาวสวรรค์นั้นเอง แต่ก็ยังคงอยู่กันบนพื้นดินนี่แหละ แต่พื้นดินนี้ก็กลายเป็นโลกสวรรค์ และเราทำได้ใช่ไหมคะ ถ้าเพียงแต่ว่าเราต้องการจะทำให้จริงๆ
ผู้ดำเนินรายการ : สงสัยอีกข้อ เรื่องเกิดเรื่องตาย คนเราเกิดมาจากไหน ตายแล้วไปไหน มันมีอีกแล้ว แต่ว่าเป็นปัญหาที่พูดกันไม่รู้จบเหมือนกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ เรื่องการเกิดเรื่องการตายนี่นะคะ โดยมากถ้าหากว่า เวลามีใครเกิดใหม่ในครอบครัว เราก็ไปแสดงความยินดีกัน ทำขวัญกันใหญ่เลยใช่ไหม พอเกิดใหม่ปู่ย่าตาทวดก็ต้องทำขวัญลูกหลานเหลนที่เกิดมาใหม่นั่น เพราะถือว่ามีชีวิตใหม่เกิดขึ้น ถ้าพูดในทางธรรมแล้วล่ะก็ อันที่จริงจะว่าน่าจะยินดีก็ยินดี จะว่าไม่น่ายินดีก็ไม่น่ายินดี ทำไมถึงไม่น่ายินดี ถ้าหากว่าชีวิตที่เกิดมาใหม่นั้นน่ะ เผอิญไม่ได้รับการแนะนำอบรมให้ถูกต้อง พอเขาเกิดมาเขารู้ความ เขาก็จะต้อง เดี๋ยวก็อยู่นรก เดี๋ยวก็อยู่สวรรค์ เดี๋ยวก็อยู่นรก เดี๋ยวก็อยู่สวรรค์ เรียกว่าสลับร้อนสลับหนาวตลอดเวลา แล้วถ้าหากว่าไม่มีใครจูงออกมา ก็จะมีแต่วันอยู่ในความมืด ในความมืดก็คือหมายความว่าตกจมอยู่ในความทุกข์ ใจจะเป็นนรกตลอดเวลา แล้วจะไปยินดีอะไรกับชีวิตที่เกิดมาแล้วต้องประสบกับสภาวะของความเป็นนรกอยู่ในใจตลอดเวลา ก็ไม่น่ายินดีใช่ไหมคะ ที่บอกว่าจะยินดีก็ได้ ถ้าเผอิญชีวิตนั้นเกิดในครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิก็คือมีทิฏฐิที่ถูกต้องอย่างที่เราพูดกันแล้ว รู้ว่ากรรมเกิดจากการกระทำไม่ใช่เกิดจากอื่น การกระทำของตนเอง แล้วก็รู้ด้วยว่า เมื่อเป็นการกระทำของตนเองก็ไม่มีผู้อื่นจะทำให้ได้ ต้องทำเอง ก็ฝึกใจที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นได้ ถ้าอย่างนี้มันก็น่ายินดีที่เขาได้เกิดมาในครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฏฐิ
เพราะฉะนั้น ชีวิตไหนที่เกิดมาในครอบครัวสัมมาทิฏฐินี่เราพูดได้ว่าเขามีบุญ ถ้าจะพูดความหมายคำว่าบุญอย่างชาวบ้านนะคะ เขามีบุญ คือเรียกว่าเขาโชคดีเหลือเกินที่ได้เกิดมาในครอบครัวสัมมาทิฏฐิ แล้วก็ตรงกันข้าม ถ้าชีวิตใหม่ชีวิตใดไปเกิดในครอบครัวที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็ตกนรกตลอดเวลา จริงๆ น่าสงสาร นี่ก็อีกเหมือนกันนะคะ ความมีบุญที่แท้จริงนี่ คือการเกิดในครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่ใช่เกิดในครอบครัวที่มีเงินมีทองมากมาย หรือว่ามีอำนาจวาสนาบารมีมากกว่าผู้อื่นเขา ไม่ใช่เช่นนั้นเลย แต่เพราะมีสัมมาทิฏฐิ ฉะนั้นพอถึงเวลาตาย เราไปแสดงความเสียใจกัน เสียใจเป็นใหญ่เป็นโตที่ว่าต้องตายทั้งที่ความตายมันก็เป็นธรรมดา อย่างที่เราว่ากันมาแล้วใช่ไหมคะ ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ทำไมจะต้องเสียใจกันมากมาย ทำไมจึงไม่หันมาดูว่า เออเราควรจะช่วยจัดการให้การตายนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อยอย่างไร เราก็มาช่วยกัน ฉะนั้นส่วนใหญ่เราก็จะยินดีเมื่อเกิดการเกิด เมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้นใหม่ และก็เสียใจเมื่อมีสมาชิกจากไป นี่เรามองดูที่ไหน
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : เอาจิตเราไปผูก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เอาจิตเราไปผูก หรือว่าการเกิดขึ้นหรือการจากไปนี่ ที่อะไร ที่ร่างกายนี้ใช่ไหมคะ คือมีร่างกายนี้ใหม่ขึ้นมา แล้วก็ร่างกายนี้อีกร่างกายหนึ่งหายไป คือตายไป นี่เรามองดูที่รูป หรือที่ร่างกาย เราไม่ได้มองดูที่อื่น แท้ที่จริงนี่อันนั้นมันเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติของโลก ชีวิตที่เกิดมาและก็ชีวิตที่ตายไป พูดง่ายๆ ว่าสังขารเกิด สังขารตายนี้นะ มันเป็นธรรมดา มันเป็นกรรม เป็นธรรมดาของโลก แต่สิ่งที่เกิดแล้วก็ตายอยู่ตลอดเวลา เรามองไม่ค่อยเห็นนั่นคือการเกิดที่จิต การเกิดของความเป็นตัวฉันขึ้นทุกเวลา เพราะว่าอันนี้พูดถึงว่าอะไรที่จะทำให้เกิดความทุกข์ สาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ นั่นก็คือความเกิดตัวฉัน ใช่ไหมคะ การเกิดของความรู้สึกเป็นตัวฉัน ใช่หรือเปล่า
ผู้ดำเนินรายการ : ...ของฉัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : พอมีตัวฉันเข้า ก็มีของฉัน แล้วพอมีของฉันเข้า มันทำให้ใจฉันเป็นอย่างไร
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : เป็นทุกข์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เป็นทุกข์เพราะ
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ... เป็นของเรา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เป็นของเรา
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ไม่ได้ก็จะเกิดความไม่สบายใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วก็ห่วง กังวล เคร่งเครียด
ผู้ดำเนินรายการ : อยากจะได้อีก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : พะวงหน้าพะวงหลัง เพราะฉะนั้น นี่แหละการเกิดอันนี้ การเกิดของความรู้สึกเป็นฉัน เป็นตัวฉัน ไม่มีใครระวังกันเลย และก็ไม่มีใครรู้สึกด้วยว่า การเกิดอย่างนี้ล่ะที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งเลยแก่ชีวิตของเรา เพราะเป็นการเกิดที่ ถ้าหากว่าฉันทำอะไรล่ะก็ ฉันมักอดไม่ได้ที่จะมุ่งประโยชน์ของตัวฉัน ใช่ไหมคะ พอมุ่งประโยชน์ของตัวฉันเข้า ความที่จะเป็นกระทำที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ก็เป็นไปไม่ได้ มันจะมีแต่ประโยชน์ของฉัน ทีนี้พอไม่ได้ประโยชน์ของฉัน ในขณะที่มุ่งอยู่อย่างนั้น ใจสบายไหม ใจก็ไม่สบาย คิดหาอุบาย คิดหาวิธีต่างๆ นานา ทำอย่างไรจึงจะได้อย่างที่ฉันต้องการ อย่างที่ใจฉันต้องการ แล้วก็พอทำลงไปแล้วไม่ได้ผลอย่างนั้น ก็เป็นความมทุกข์อีก อีกเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น อันนี้การเกิดการตายในทางพุทธที่เราควรระมัดระวัง ควรคิดกันให้มากๆ คือการเกิดขึ้นของความเป็นตัวฉัน ที่ท่านใช้คำว่า “อัตตา” การเกิดขึ้นของอัตตา สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ท่านสอนให้เห็นความทุกข์ของการยึดมั่นถือมั่นของการมีในอัตตา พอมีอัตตาขึ้นมาแล้ว เราจะไม่สามารถไปถึง “อนัตตา” ได้เลย เพราะเราจะยึดอยู่กับตัวนี้อยู่ตลอดเวลา และเมื่อยึดอยู่ตลอดเวลา มันก็มีแต่การเกิดๆๆๆ เป็นของฉัน มันไม่มีการตาย ตายในที่นี้ตายอะไร ตายจากความยึดมั่นถือมั่น ตายจากกิเลส ถ้าตายได้อย่างนี้เป็นการตายที่เป็นบุญ ทำไมถึงเป็นบุญล่ะคะ ก็เพราะเป็นการตายจากความทุกข์ เป็นการตายจากกิเลส มันก็เป็นการตายจากความทุกข์
เพราะฉะนั้น การเกิดและการตายที่ถูกต้องในเรื่องของพระพุทธศาสนาที่เราควรจะทำความเข้าใจและควรระมัดระวัง และควรพยายามปฏิบัติให้ได้คือ การอย่าให้เกิดความรู้สึกเป็น “อัตตา” ตัวฉันขึ้นมา ควรที่จะพยายามให้ พัฒนาให้จิตนี้ มีความตายมากขึ้นๆ คือตายเสียจากกิเลส ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวฉัน แล้วทีนี้ความสุขอันแท้จริงจะเกิดขึ้น ความทุกข์จะปราศจากไป
สำหรับวันนี้ รู้สึกเวลาเราจะหมดเสียแล้วนะคะ ก็ขอให้ธรรมสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ชมทุกท่านค่ะ ธรรมสวัสดีนะคะ