แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีค่ะ
เราน่าจะคุยกันต่อถึงเรื่องที่ว่าสิ่งที่จะมาเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถจะพัฒนาจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิได้ เราพูดกันคราวที่แล้วว่าเพราะการตกเป็นทาสของวัตถุนิยมนั้นอย่างหนึ่ง แล้วก็เพราะตกเป็นทาสหรือหลงผิดอยู่ในความเป็นมายาของสิ่งต่างๆ ที่นี้ก็อยากจะพูดถึงอีกสักอย่างหนึ่ง นั่นก็คือความเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง เราจะลองนึกบ้างไหมว่ามันเป็นเพราะความรักตัวเอง อันที่จริงความรักตัวเองฟังดูก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีและอันที่จริงจะว่าเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ คือมันมีทั้งสองอย่าง
ถ้าหากว่าผู้ใดรักตัวเองแล้วก็พยายามที่จะรักษาตัวเองนี้ทั้งกายและใจ กายก็รักษาให้มีสุขภาพแข็งแรงเพื่อว่าจะได้มีความกระปรี้กระเปร่ามีความเฉียบคม แล้วก็มีความสามารถในการทำงานให้ลุล่วงตามที่ต้องการและก็รักษาใจให้ใจนั้นอยู่ในความพอดีไม่ให้มากเกินไปไม่ให้น้อยเกินไปจนจิตใจเกิดความเหนื่อย ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นความรักที่ดีเป็นความรักที่ถูกต้อง แต่ทีนี้การรักตัวเองซึ่งน่าจะดีแล้วทำไมถึงกลายเป็นโทษขึ้นมาได้ เคยรู้สึกบ้างหรือไม่คะว่าความรักตัวเองที่ทำให้เกิดเป็นโทษขึ้นมานี้มันจะเป็นโทษเมื่อไร
ผู้ร่วมสนทนา : เมื่อหลงตัวเองหรือเปล่าครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เมื่อหลงตัวเอง เช่นอย่างไรคะที่เขาหลงตัวเอง
ผู้ร่วมสนทนา : อย่างเพลงที่เขาร้อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพลงที่เขาหลงตัวเอง หลงในอะไรของตัวเอง คนเราที่จะหลงตัวเองหลงในอะไรของตัวเอง
ผู้ร่วมสนทนา : หลงในความหล่อ ความสวย ชื่อเสียง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หลงในความหล่อ ความเก่ง ความสวย ความดี ความฉลาด ความเป็นผู้มีความรู้ มีตำแหน่ง มีอำนาจ นั่นคือหลงสิ่งที่อยากจะบอกว่าประดับประดาตัวเองอยู่ในสิ่งเราไปหามาตกแต่งร่างกาย จนกระทั่งเรารู้สึกว่าตัวของเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไปจริงๆ แล้วก็มีความหลง แล้วถ้าเราหลงในความเก่ง ในความวิเศษของเรามันไม่ดีหรือคะ
ผู้ร่วมสนทนา : หลงมากไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันมากเกินไปมันเลยไม่ดี
ผู้ร่วมสนทนา : มากเกินไปเขาหาว่าเว่อร์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : การที่เราจะบอกว่ามากเกินไปเราเอาอะไรเป็นเครื่องวัด อย่างใครที่รู้สึกว่าหลงตัวเอง หลงในความสวย ในความเก่ง ในความฉลาด ในความวิเศษต่างๆ ของตัวเองเอาอะไรเป็นเครื่องวัดที่ว่าจะมากเกินไป อาจจะดูได้จากใจของตัวเอง กับดูได้จากปฏิกิริยาที่เกิดจากคนอื่นใช่ไหมคะ 2 ทาง ถ้าดูจากปฏิกิริยาที่เกิดจากคนอื่นก็คือ เป็นอย่างไร
ผู้ร่วมสนทนา : เพื่อนฝูงหมั่นไส้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ความหมั่นไส้ ความรำคาญ ความทนไม่ได้ เมื่อใดที่เรารู้สึกว่าผู้คนที่เราเกี่ยวข้องเขามีความทนไม่ได้ เขามีความรำคาญ เขามีความเบื่อหน่าย เขาอยากจะวิ่งหนี นี่แสดงว่าเราคงได้รักตัวเองจนมากเกินต้องการไปแล้ว ทีนี้ในฝ่ายตัวเราๆ จะรู้ได้อย่างไรว่ามากเกินไปเราจะรู้สึกได้อย่างไร นั่นก็คือรู้สึกได้ว่าเมื่อเราเมื่อใดก็ตาม ที่ใดก็ตาม พออยากจะพูดๆ ถึงแต่ใคร
ผู้ร่วมสนทนา : ตัวเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อยากจะพูดถึงแต่เรื่องของตัวเองใช่หรือไม่คะ อยากจะพูดถึงตัวเองความเก่งของตัวเองความดีของตัวเอง ความวิเศษต่างๆ หรือจะพูดถึงความด้อยของตัวเองก็พูดอย่างด้อยชนิดยกให้มันดีนิดๆ อะไรทำนองอย่างนั้นนะคะ เพราะฉะนั้นก็พูดได้ว่าความรักตัวเองเกินไปขึ้นมาเมื่อไร มันมีตัวเองออกมาเป็นจุดศูนย์กลางของความสนใจเสมอไปเลย
เพราะฉะนั้นเมื่อใดที่มีความรู้สึกในเรื่องของตัวเองเป็นจุดสนใจอยู่เสมออย่างเช่นนี้แล้ว การกระทำอะไรต่ออะไรต่างๆ มันก็ย่อมจะทำออกมาจากความต้องการของตัวเองใช่หรือไม่ พอออกมาจากความต้องการของตัวเองอันนั้นมันจะค่อนข้างเป็นความรู้สึกที่ท่านบอกว่าเป็นความเห็นแก่ตัว มันมาจากความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเอง
สิ่งนี้แหละเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้ไม่สามารถจะพัฒนาจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิได้ เพราะพอจะพัฒนาจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิขึ้นมาทีไรมันก็มีความเป็นตัวเองมาเป็นอุปสรรคมาคอยกั้นให้ไปไม่ถึง เพราะต้องนึกถึงตัวเองก่อนตลอดเวลา ฉะนั้นนี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากเอาไว้ว่าถ้าจะพัฒนาจิตให้เป็นสัมมาทิฏฐิจริงๆ แล้ว ต้องพยายามที่จะเรียนรู้ในเรื่องของชีวิตนี้คือ
ผู้ร่วมสนทนา : ขันธ์ 5
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ขันธ์ 5 ที่ส่วนๆ ดูเอาไว้แล้วชีวิตนี้มันเกิดดับมันเป็นขันธ์ 5 ที่เกิดและดับตามอะไรคะ
ผู้ร่วมสนทนา : อิทัปปัจจยตา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ตามอิทัปปัจจยตา คือตามเหตุตามปัจจัยที่เกิดขึ้น ถ้าเรานึกได้อย่างนี้อยู่เสมอแล้ว ความรักหรือความหลงที่จะมีให้แก่ตัวเองนี้ก็จะลดน้อยลงเพราะรู้แล้วว่าไม่มีตัวเองจริงๆ ที่ให้เรารักเราหลงใช่หรือไม่คะ มันจะมีแต่สิ่งที่เราควรจะกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น
เราจะมีโอกาสพัฒนาจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิอย่างนี้ให้เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีใด ก็ลองนึกดูเหมือนอย่างเช่น กิจกรรมที่เราผ่าน หรือว่าเหตุการณ์ที่เราผ่านพบในชีวิตประจำวัน เราจะพบอะไรเป็นสิ่งที่ชวนให้เราสะกิดใจแล้วเป็นข้อสอนใจตัวเองน่าจะหยิบเอามาทันที หรือแม้แต่สิ่งที่อ่านจากหนังสืออย่างเช่น ตัวครูเองไปอ่านจากเรื่อง ตลิ่งสูงซุงหนักที่ได้รับรางวัลซีไรท์
ผู้ร่วมสนทนา : ของนิคม รายยวา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อ่านแล้วใช่หรือไม่คะ จำได้ใช่หรือไม่ แล้วเห็นตรงนี้หรือเปล่า ตัวละครสำคัญๆ ติดใจอยู่ที่ใคร ติดใจอยู่ที่ไหน
ผู้ร่วมสนทนา : คนเลี้ยงช้าง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไปติดใจตัวละครที่มีบทบาทสำคัญอย่างเช่นเป็นตัวเอกเหมือนอย่างนายคำงาย หรือตัวที่บงการชีวิตของใครๆ ทั้งหลายอย่างตัวพ่อเลี้ยง ในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องความรักตัวเองของแต่ละคนๆ เป็นอย่างยิ่งเลย อย่างถ้าเราจะดูว่าทำไมคำงายกับพลายสุดถึงต้องตายคาตลิ่งสูงนั่นเพราะอะไร
ผู้ร่วมสนทนา : รักตัวเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพราะความรักตัวเองของพวกเพื่อนฝูงนั่นแหละ ทั้ง ๆ ที่เป็นเพื่อนสนิทอย่างนายบุญฮาม ต้องการที่จะทำงานของตัวเองให้เสร็จต้องการให้พลายสุดไปขนซุงท่อนใหญ่ที่สุดเพื่อจะเอามาแกะช้าง ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นตลิ่งไม่ค่อยจะแข็งแรง ดินก็ซุยแล้วพลายสุดก็ทำงานอย่างเต็ม แล้วก็เหน็ดเหนื่อยเหลือเกินแล้วมันลากจนกระทั่งสุดกำลังลากไม่ทันใจยังเอาตะขอไปทิ่มไปแทงที่สะโพกของมันกระแทกเข้าไปแรงๆ พอมันเจ็บเข้าคิดว่ามันจะต้องลากจนถึงที่สุด มันก็ลากจนถึงที่สุดแต่มันไม่ไหวผลที่สุดต้องจมลงมาถูกดินทับทั้งคนทั้งช้างตายกันไปหมด
นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวความรักตัวเอง จะเอาแต่งานของตัวเองให้ได้อย่างเดียวจนลืมนึกว่า ได้ทำลายชีวิตทั้งชีวิตของเพื่อนและของช้างอย่างน่าสงสารที่สุด แล้วที่จะมองเห็นอย่างนี้เป็นสัมมาทิฏฐิหรือไม่
ผู้ร่วมสนทนา : ไม่เป็นแล้วครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่เป็นสัมมาทิฏฐิแน่นอนเป็นจิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างยิ่ง แล้วก็ยิ่งกว่านั้นคนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างยิ่งใหญ่ในเรื่องนี้จะเลิศว่าเป็นใคร มิจฉาทิฏฐิอย่างยิ่งใหญ่ในเรื่องนี้เราไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่านายคนนี้ชื่ออะไร ตัวพ่อเลี้ยงนั้น นั่นตัวมิจฉาทิฏฐิอย่างยิ่งเห็นหรือไม่ ต้องการช้างที่คำงายแกะเอาไว้แล้วก็รับว่าจะแลกกับพลายสุด แล้วก็จะแถมเงินให้ด้วย พอรู้ข่าวว่าพลายสุดตายพร้อมคำงายเท่านั้น นายพ่อเลี้ยงนี่ส่งคนไปขนเอาช้างไม้ที่คำงายเขาแกะมาเป็นเวลาตั้งหลายปีด้วยความอุตสาหะเอามาเป็นของตัวทันที แล้วยังมีหน้าบอกว่าดีนะที่บอกว่าแลกเอาไว้แล้วโดยที่ภรรยาของคำงายก็ยังอยู่แต่ไม่ได้อะไรเลยสักนิดเดียว นี่แสดงถึงความรักตัวเองที่เกินต้องการหรือเกินความพอดีจนเป็นความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นทำให้จิตใจนั้นเหี้ยมโหด แล้วก็ทารุณ แล้วก็ใจดำ ไม่มีความที่จะเห็นใจกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเลย
ผู้ร่วมสนทนา : แล้วพ่อเลี้ยงที่ดีไม่มีบ้างหรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็คงมีไม่ใช่ไม่มี แต่เผอิญพ่อเลี้ยงที่เขานำมากล่าวไว้ในเรื่องนี้หาดีไม่ได้ ไม่รู้จะบอกว่าดีที่ตรงไหน เพราะตั้งแต่โผล่ออกมามีแต่ความเห็นแก่ตัวที่จะเอาให้ได้ตลอดไป คือพ่อเลี้ยงที่ดีก็มีที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าคนเป็นพ่อเลี้ยงแล้วไม่ดี แต่พูดถึงพ่อเลี้ยงที่มาปรากฏบทบาทอยู่ในเรื่อง ตลิ่งสูงซุงหนัก เรียกว่าเป็นพ่อเลี้ยงที่เห็นแก่ตัว เป็นพ่อเลี้ยงที่ปราศจากหิริโอตัปปะ ไม่มีความละอาย ไม่มีความเกรงกลัวอะไรต่อบาปเลยสักอย่างเดียว แต่เสร็จแล้วพออ่านไปมีอยู่ประโยคหนึ่งของเด็กเล็กๆ คนหนึ่งในเรื่องนั้นที่เตือนให้สะกิดใจทั้ง ๆ ที่เด็กคนนั้นถ้าจะไปถามว่า รู้หรือเปล่าว่าธรรมคืออย่างไร หนูน้อยนี่คงตอบไม่ได้ คือเจ้าหนูน้อยลูกของคำงายนั่นแหละ จำได้หรือไม่ว่าคำงายเขาบอกว่าอยากจะพาลูกชายน้อยขึ้นขี่ช้าง ขี่คอช้างเพราะพ่อเป็นควาญช้าง แล้วพลายสุดนี่ก็เป็นช้างตัวใหญ่เรียกว่า สง่างามเขาเรียกกันว่า พ่อสุดสง่า แล้วเสร็จแล้ววันหนึ่งก็ถูกพวกคนร้ายมาแอบเลื่อยเอางาไปก็เลยกลายเป็น ความสง่าก็หายไปก็เลยกลายเป็นพลายที่ไม่ค่อยมีความสง่าเพราะว่ามีแต่งวงเพราะว่าขาดงา
คำงายก็บอกว่าจะพาลูกชายขึ้นไปขี่ช้างเสร็จแล้วก็ไม่มีเวลาพาลูกขึ้นคอช้างสักที ลูกชายก็อยากจะขึ้นคอช้างผลที่สุดก็ไปหาลูกเป็ดมาเลี้ยงจำได้หรือไม่นึกออกหรือไม่ ใครก็ถามว่านี่หนูเลี้ยงเป็ดทำไม เขาก็บอกว่าเขาจะเลี้ยงเป็ดเพื่อให้ลูกเป็ดโต พอลูกเป็ดโตเขาจะขายลูกเป็ดแล้วก็ไปซื้อหมูเอาลูกหมูมาเลี้ยงพอเลี้ยงลูกหมูไปจนหมูโตก็จะขายหมูที่โตแล้วๆ ก็ไปซื้อลูกควายมาเลี้ยงพอเลี้ยงลูกควายจนเป็นควายโตใหญ่ก็ขายควาย ตอนนี้จะได้เงินมาซื้อช้างสักที พอฟังแล้วน่าเอ็นดูหรือไม่ ในความน่าเอ็นดูมันมีธรรมอะไรอยู่บ้าง ลองนึกดูสิคะมีธรรมอะไรอยู่บ้าง อันนี้เป็นจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิหรือไม่
ผู้ร่วมสนทนา : เป็นครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เด็กชายน้อยคนนี้มีจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ อาจจะบอกว่าเป็นจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นในน้ำในเนื้อของเขาในธรรมชาติของเขาเอง เขารู้จักว่าหากเขาอยากได้ช้าง แทนที่เขาไปคิดขโมยเงินพ่อหรือไปยุให้พ่อขโมยช้างให้ขี่หน่อยเถอะ เด็กน้อยคนนี้ไม่ได้นึกอย่างนั้นเลย แต่แอนี่คิดว่าทำอย่างไร เราถึงจะได้ช้างแล้วช้างเป็นของเราด้วย สติปัญญาน้อยๆ ของเขา เขาเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงเป็ด นึกดูลูกเป็ดตัวเล็กนิดเดียวกว่าจะมีโอกาสไปได้ซื้อช้างนี่มันนานเท่าไร แต่ว่านายแอน้อยไม่มีวันที่จะเสียความสนใจหรือเสียกำลังใจเลย เขาเชื่อว่าวันหนึ่งเขาจะต้องทำได้ก็ค่อยๆ เลี้ยงไปเถอะ ถึงแม้ว่าผลที่สุดอายุเขาสั้นเสียก่อนเขาไม่ทันได้ แต่เขาก็ยังมีเจตนาคือมีทิฏฐิที่ถูกต้องเพราะฉะนั้นในนี้เราเห็นธรรมอะไรบ้าง ลองนึกดูสิ อันแรกที่สุดเลยทีเดียวเรานึกถึงพุทธภาษิตที่พูดกันว่า อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ แปลว่าอะไรนะคะ
ผู้ร่วมสนทนา : ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แอ นี่พยายามเป็น ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หรือไม่คะ
ผู้ร่วมสนทนา : พยายามทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพราะฉะนั้นอันนี้ที่บอกว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ หมายความว่าอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า ให้ยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนนี้ว่าเป็นของฉัน แต่ให้รู้จักใช้ตัวตนคือร่างกายที่ธรรมชาติให้มาให้เกิดประโยชน์ ใช้มันให้เกิดประโยชน์ให้ได้ มันมีแขน มีขา มีอวัยวะที่จะทำอะไร จะวิ่งได้ จะเดินได้ จะทำงานทำการได้ใช้มันให้เต็มที่ให้ตัวของตัวเป็นที่พึ่งของตัวเอง ถ้าไปถามแอ เขาคงไม่รู้หรอกว่า ความสำคัญของชีวิตอยู่ที่ตรงไหนเด็กน้อยคนนี้คงตอบไม่ได้ แต่ที่เขาพูดมาและที่เขาทำอยู่นี่ เขาแสดงหรือไม่คะว่าความสำคัญของชีวิตอยู่ที่ตรงไหน เราพูดกันมาตั้งหลายครั้งแล้ว
ผู้ร่วมสนทนา : อยู่ที่การกระทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อยู่ที่การกระทำ นี่ อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ อย่างถูกต้องในทางธรรม และเขาแสดงให้เห็นอย่างถูกต้องแล้วว่า การกระทำของคนนี่แหละสำคัญอยากจะได้อะไรก็จงกระทำ ที่นี้กระทำอย่างไรถึงจะได้โดยไม่ต้องทุกข์ คืออย่างแอนี่จะทุกข์หรือไม่ลองนึกดู เราก็เลี้ยงเป็ดของเราไปเป็ดโตเมื่อไรเราก็ขายแล้วไปซื้อหมู แล้วก็เลี้ยงหมูไปหมูโตเมื่อไรก็ไปซื้อควาย เลี้ยงควายไปควายโตเมื่อไรก็ขาย ตอนนี้แหละเราจะได้ช้างสมกับที่เราต้องการ ร้อนหรือไม่ ร้อนรนหรือไม่ เราคิดว่าเขาไม่ร้อนรนก็เขารู้แล้วนี่ว่าลูกเป็ดไม่ได้โตภายในวันเดียว ยิ่งหมู่ยิ่งควายไม่โตในวันเดียว ต้องใช้เวลาเป็นหลายๆ ปี แต่เขาก็พร้อมที่จะคอยและการที่จะคอยนั้นเขาประกอบเหตุปัจจัยไว้ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
ผู้ร่วมสนทนา : ถูกต้อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : พยายามประกอบเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง ด้วยความโลภหรือเปล่า ด้วยความโกรธหรือไม่ ด้วยความหลงหรือไม่ นี่ก็แปลกนะเด็กคนนี้ต้องเรียกว่ามีน้ำมีเนื้อของความเป็นธรรมอยู่ในตัว มันเป็นธรรมชาติอยู่ในตัวเขา ไม่ต้องมีใครสอนซึ่งผู้ใหญ่อย่างพ่อเลี้ยงน่าจะมาเรียนธรรมนะ
ผู้ร่วมสนทนา : เรากลับเป็นพ่อเลี้ยงส่วนใหญ่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ดีแล้วที่รู้ว่าเราก็มีจิตใจอย่างนั้น เราก็รีบเรียนเสียจากแอนี่แหละ เพราะฉะนั้นเขาไม่ได้บอกนะแต่จากวิธีที่เขาทำเท่ากับเขาแสดงให้เราเห็นแล้วว่า ความสำคัญของชีวิตอยู่ที่การกระทำนะ และถ้าหากอยากให้ผลของการกระทำเป็นอย่างไรก็จงประกอบการกระทำนั้นให้ถูกต้อง แล้วผลก็จะถูกต้องเองไม่เห็นจะต้องร้องห่มร้องไห้อ้อนวอนขอพ่อทุกวันๆ ให้น่ารำคาญเลย เราทำของเราอย่างนี้วันหนึ่งเราก็ได้เอง อย่างนี้เรียกว่าเป็นทางสุดโต่งหรือเปล่า ไม่ทางสุดโต่ง ถ้าจะไปถามว่า แอรู้จักหรือไม่ว่าสัมมาทิฏฐินี่คืออะไร
ผู้ร่วมสนทนา : แอ คงตอบไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ตอบไม่ได้ ไม่รู้ อริยมรรคมีองค์ 8 ละรู้จักหรือไม่ ไม่รู้อีกเหมือนกัน อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่วิธีการดำเนินชีวิตน้อยๆ ของเขา อย่างที่เขาเล่าให้ฟังหรือที่เขาบอกว่าใครถามอย่างนี้ มันมีอริยมรรคอยู่หรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา : มีค่ะ ทางสายกลาง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันมีอริยมรรคองค์ 8 อยู่ในทางสายกลาง เพราะเขาจะค่อยๆ ทำไปด้วยจิตที่เริ่มต้นด้วยอะไรเห็นหรือไม่คะ ว่าเขาเริ่มต้นด้วยอะไร
ผู้ร่วมสนทนา : ลูกเป็ด
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ เขามีสัมมาทิฏฐิว่า การที่จะมีช้างไม่ใช่อยู่ดีๆ เราจะไปหาช้างได้มา แล้วเขาก็คงคิดว่า เขาไม่เก่งพอที่จะเป็นควาญจะออกไปจับช้างป่าเอามาเป็นของตัวเอง เขาก็คิดด้วยวิธีง่ายๆ ว่า ลองคิดหาเงินสิอยากได้ช้างก็ต้องหาเงินสิจะได้ไปซื้อช้าง ทีนี้ในสติปัญญาของเขาในวัยของเขาจะไปหาเงินด้วยวิธีไหน เล่าเรียนมาก็ไม่มากอยู่ชั้นประถมเท่านั้นเอง เริ่มเลี้ยงเป็ดตามสติปัญญาของเราตามประสาของเรา นี่เรียกว่าเขามีจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ คือเขามีความคิดที่เป็นสัมมาทิฏฐิคือคิดถูกต้อง เพราะฉะนั้นพูดก็ถูกต้องและกระทำก็ถูกต้องอย่างนี้ได้รับคำสรรเสริญเยินยอยกย่องนับถือหรือไม่
แน่นอนที่สุดแม้จะเป็นเด็กชีวิตของเขานี่ก็มีทางดำเนินอยู่อย่างที่เรียกว่าทางสายกลาง หรือ เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ประกอบการกระทำที่ถูกต้องอยู่ทุกขณะๆ เป็นลำดับไป เพราะฉะนั้นชีวิตของเขาก็ย่อมจะเดินไปสู่ความสำเร็จตามจุดประสงค์หรือตามความมุ่งหมายของเขาสักวันหนึ่ง ถ้าเผอิญมันไม่มีเหตุปัจจัยเป็นตัวแปรมาทำให้เขาต้องไปจมน้ำตายเสียก่อนเพราะไปเล่นน้ำแล้วไปเป็นตะคริวในน้ำแล้วพ่อแม่ก็ไปช่วยไม่ทัน แอก็เลยสิ้นใจตายไปเสียก่อนที่จะได้ขายเป็ดขายหมูขายควายสมความปรารถนา
ผู้ร่วมสนทนา : ทางกลับกันพูดถึงคนฉลาดแกมโกงนิดหน่อย ซื้อหวยวันละเล็กวันละน้อยไป ไม่ได้โลภมากนะครับ ซื้อหวยวันละ 10 บาท 20 บาทเท่านั้นเองนะครับ ค่อยๆ ซื้อไปค่อยๆ เก็บเงินไป อย่างนี้เราจะตอบว่าเขาเป็นสัมมาทิฏฐิหรือไม่ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ขอถามหน่อยว่า ซื้อหวยแล้วต้องถูกทุกทีใช่หรือไม่ ต้องได้เงินกลับมาทุกทีใช่หรือไม่
ผู้ร่วมสนทนา : เปล่าครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ซื้อลอตเตอรี่ 10 บาท หรือ ใบละ 20 แล้วก็ไม่รู้ พอซื้อแล้วต้องถูกทันทีไม่เคยถูกลอตเตอรี่กิน มีถูกลอตเตอรี่กินบ้างหรือไม่ การจะเริ่มต้นด้วยวิธีนี้เป็นมิจฉาหรือสัมมา มิจฉาแน่ๆ ใช่หรือไม่คะ เพราะเมื่อเราซื้อลอตเตอรี่เราก็มีหวังถูกลอตเตอรี่กิน แต่ว่าการเลี้ยงเป็ดของเขานี่เขาไม่มีวันที่จะสูญเสียถ้าหากเขาเลี้ยงอย่างถูกต้อง เขาดูแลมันอย่างดีด้วยความเอาใจใส่ อย่างนี้เราก็ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าเผอิญจะเกิดโรคระบาดโรคห่าอะไรที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับสัตว์มันก็เป็นเหตุปัจจัย ถ้ารู้จักที่จะป้องกันแก้ไขหายามาป้องกันได้ทันท่วงทีลูกเป็ดของเขาก็อาจจะไม่เป็นอะไรก็ได้
อย่างนี้เรียกว่ามันไม่ใช่ทางเสี่ยงอย่างชนิดที่ว่าเสียมากกว่าได้มันมีโอกาสที่จะได้มากกว่าเสีย นอกจากนั้นการเลี้ยงสัตว์อย่างที่แอทำ มันก็เป็นความสุขอยู่ในตัวเพราะอะไร เพราะเหตุที่ได้อยู่กับสิ่งที่เป็นธรรมชาติได้อยู่กับสิ่งที่มีชีวิตได้ให้ความรักความเมตตากรุณาต่อมันก็ทำให้จิตใจของเขาอ่อนโยนลง และไม่แน่ในจิตใจที่เขาอ่อนโยนอย่างนี้พอถึงเวลาลูกเป็ดโตเต็มที่จริงๆ แออาจจะไม่กล้าขายก็ได้อาจจะเปลี่ยนใจก็ได้ว่าไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปซื้อช้างเราเลี้ยงลูกเป็ดมันก็น่ารักแล้วได้กินไข่มันก็ดีอาจจะเป็นอย่างนั้นไปก็ได้ แต่นี่มันก็มีแต่ทำให้จิตใจนั้นมีความอ่อนโยนมีความเมตตากรุณามีน้ำใจแม้แต่กับสัตว์เลี้ยงที่มีชีวิต และจะทำให้ชีวิตนี้มีความสุขเย็นและกลายเป็นคนที่รู้จักรักเพื่อนมนุษย์มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันยิ่งขึ้น
ฉะนั้นถ้าจะพูดแล้วว่าการที่เราจะฝึกจิตให้เป็นสัมมาทิฏฐิ เราอาจจะทำได้จากสิ่งต่างๆ ที่เราพบ ที่เราได้อ่าน จากภาพยนตร์ที่เราได้ดู จากโทรทัศน์ที่เราได้ดู จากหนังสือที่เราได้อ่าน เราเห็นตัวอย่างตรงไหนมันมีธรรมอยู่ตรงนั้นทั้งสิ้น คือจะเป็นเรื่องของธรรมที่จะอธิบายให้เราฟังว่า ปัญหาหรือสิ่งที่เป็นอุปสรรคแก่ชีวิตนี้มันเกิดขึ้นเพราะความเห็นแก่ตัว ก็เพราะความรักตัวเองกลัวว่าตัวเองจะไม่ได้อย่างที่ตัวเองต้องการได้ จะไม่เป็นอย่างที่ต้องการเป็น จะไม่มีอย่างที่ต้องการมีเหมือนคนอื่นเขา หรือมากกว่าคนอื่นเขา
อันนี้ทำให้เกิดความกลัวว่าชีวิตจะไม่เป็นอย่างนั้นเพราะฉะนั้นก็เลยไปกระตุ้นความโลภ ไปกระตุ้นตัณหาความอยาก ความต้องการให้มีมากขึ้น ก็ต้องตะเกียกตะกายไขว่ขว้าจะต้องเอาให้ได้จะต้องมีให้ได้ มันก็เลยกลายเป็นความเบียดเบียนคนอื่น เพราะฉะนั้นก็เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของเด็กชายแอคนหนึ่งในเรื่อง ตลิ่งสูงซุงหนัก เพียงประโยคเดียวที่เขาพูดเท่านี้ก็ให้ธรรมแก่เรา
ถ้าหากว่าเราจะรู้จักใคร่ครวญแล้วก็ดูธรรมที่เกิดขึ้นในใจอยู่ทุกขณะ การพัฒนาจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิก็คงจะไม่เหลือบ่ากว่าแรงใช่หรือไม่คะ คงจะไม่เกินความสามารถที่จะทำได้ ถ้าหากว่าเราสนใจที่จะทำก็หวังว่าคงจะลองดูนะคะ ในชีวิตที่เราผ่านมาทุกวันนี้ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นเครื่องมืออุปกรณ์การศึกษาที่ธรรมชาติให้มา เมื่อสิ่งใดที่ผ่านมาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเปิดรับก็รู้จักกลั่นกรองเลือกสิ่งที่จะช่วยให้เกิดสัมมาทิฏฐิก็ย่อมจะเกิดประโยชน์แก่ชีวิต
ธรรมสวัสดีนะคะ