แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมสวัสดีค่ะท่านผู้ชม เมื่อคราวที่แล้ว ดิฉันได้พูดถึงเรื่อง ปัจจัยที่จะส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาของเกี้ยว เด็กหญิงอายุ ๑๐ ขวบ ในเรื่อง บ้านพิลึก ของ ว. วินิจฉัยกุล แล้วดิฉันได้กล่าวว่า ประการแรกที่สังเกตเห็นได้ก็คือ บุคลิกที่มีความมั่นคงแล้วก็แน่ใจถูกต้องของสมาชิกในครอบครัว ก็คือพ่อ แม่ แล้วก็พี่สาว ได้กล่าวว่าพ่อนั้นเป็นผู้ที่สมแก่การเป็นหัวหน้าครอบครัวที่รู้ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดสมควรกระทำสิ่งใดจึงจะเกิดประโยชน์ พ่อจะทำไปตามนั้นแล้วก็ส่งเสริมกระตุ้น แนะนำให้ลูกได้ดำเนินตาม แม่ก็เช่นเดียวกัน ในการที่แม่นุ่งผ้าโจงกระเบน หรือว่าขี่จักรยานไปตลาด หรือว่าอยากจะนุ่งผ้าซิ่นไปงานโรงเรียน แม่ก็ไม่เห็นแปลก ใครคนอื่นๆ จะแต่งกระโปรง จะแต่งตัวตามแฟชั่นอย่างไรก็เป็นเรื่องของคนอื่น สิ่งใดที่แม่เห็นว่าเหมาะสมถูกต้องแก่สถานะของแม่ แม่ก็กระทำ นี่ก็เป็นบุคลิกที่แสดงถึงความมั่นใจให้เกี้ยวที่เกิดความลังเลนั้น ก็ค่อยๆ เกิดความแน่ใจขึ้นว่าควรจะทำอย่างไร ส่วนพี่สาวแก้วนั้น ก็แสดงความสุข ความพอใจกับการดำเนินชีวิตในครอบครัวของตน คือของพ่อและแม่ แล้วก็แน่ใจในความถูกต้อง แก้วไม่เห็นแปลกอะไรเลยในการที่เราจะปลูกมะระเอาไว้ที่ริมรั้ว แล้วมะระเมื่อมันออกลูกงามๆ ต้มกับกระดูกหมูแล้วแก้วก็ชอบ แล้วก็อร่อย ไม่มีความรู้สึกสักนิดว่าเป็นสิ่งที่เป็นความพิลึก
นอกจากนี้ ปัจจัยต่อไปก็คือวิธีการอบรมลูกของพ่อและแม่ ที่จะสอนให้ลูกรู้จักช่วยตัวเองและช่วยผู้อื่น เมื่อเด็กหญิงสองคนนี้กลับมาบ้าน สิ่งแรกที่ต้องช่วยทำก็คือดูว่างานบ้านที่ยังเหลืออยู่นั้น มีอะไรบ้าง การเก็บผ้า การพับผ้า การรีดผ้า การทำสวน การถอนหญ้า อะไรต่างๆเหล่านี้ เป็นทั้งงานแล้วก็เป็นความสนุก ความพอใจ เป็นงานอดิเรกไปในตัวด้วย เพราะฉะนั้น เด็กหญิงสองคนนี่จึงรู้ว่า หน้าที่ของลูกที่ดีที่จะทำให้พ่อแม่สบายใจได้คืออย่างไร เขาฝึกทำมาตั้งแต่ยังเล็กๆ ยังเด็กๆ แล้วก็แน่นอนว่า เมื่อเขาเติบโตไป เป็นนักเรียนที่โรงเรียน เขาก็ปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นศิษย์ที่ดี แล้วไม่ว่าจะไปอยุ่ที่ไหน การที่จะรู้สึกรับผิดชอบในหน้าที่ของตนก็ติดตามตัวไปเป็นนิสัย นี่เป็นประการที่สองที่ ถึงแม้เกี้ยว จะลังเลสงสัย แต่จากการอบรมของพ่อแม่ที่เป็นเช่นนี้โดยสม่ำเสมอ มันก็เป็นเสมือนหนึ่งกรอบที่เกี้ยวจะทะลุออกไปจากกรอบอย่างเร็วและรุนแรงจึงเป็นไปได้ยาก แต่จะค่อยๆ มองดูแล้วก็ใคร่ครวญ ก็เลยกลายเป็นคนมีเหตุผล ช่างสังเกตไปเองในตัว
ปัจจัยประการที่สาม ก็คือการสร้างบรรยากาศของความรัก ความอบอุ่น สมานสามัคคีกลมเกลียวกันระหว่างพ่อแม่ลูก แม้ว่าจะอายุต่างกัน พ่ออายุระดับหนึ่ง แม่ก็ระดับหนึ่ง แก้วก็ระดับหนึ่ง คือว่าเรื่องของอายุไม่มีปัญหา ไม่เป็นปัญหาเลยสำหรับครอบครัวของเกี้ยว แก้วแล้วก็พ่อแม่ สามารถจะมีความเข้าใจต่อกัน มีความเห็นใจต่อกันแล้วก็พูดกันได้โดยที่ไม่ต้องเกิดการโต้เถียงกัน
ปัจจัยที่สี่ก็คือการให้ความเคารพต่อความรู้สึกของลูกในฐานะลูกก็เป็นคนเหมือนกัน ไม่ใช่ลูกเป็นเด็กเล็กๆ ที่ฉันเลี้ยงมาตั้งแต่เป็นทารก เพราะฉะนั้นจะต้องทำอย่างนี้ตามที่ฉันบอกเสมอไป พ่อแม่ของเกี้ยวและแก้วไม่เป็นอย่างนั้น เราจะมองเห็นที่ดิฉันพูดว่าการให้ความเคารพนี่ ดิฉันมองจากที่ว่าเวลาที่เกี้ยว บอกว่าลูกจะต้องขอออกจากโรงเรียนเพราะทนไม่ได้ เนื่องจากว่าเพื่อนๆ ทั้งห้องพากันหัวเราะไปหมดทั้งห้องเลย เมื่อเด็กหญิงญี่ปุ่นเมื่อกลับไปบ้านเมืองของเขาแล้ว ก็เขียนจดหมายมาชมเชยถึงความสนุกสนาน ความสบาย ความอบอุ่นที่เขาได้รับในระหว่างที่เขาอยู่กับครอบครัวของเกี้ยว แล้วเขาลงท้ายในจดหมายนั้นว่า เขาชอบมากเลยธรรมชาติของบ้านเมืองไทย แล้วก็คนไทยเด็กไทยก็ชอบอย่างนี้ แล้วก็แม้แต่ควาย เด็กก็ชอบที่จะไปถ่ายรูปคู่กับควาย อันที่จริงก็คือ พอออกไปเที่ยวที่พ่อแม่ของเกี้ยวพาไป พอเห็นควายเข้าก็ชอบอกชอบใจ แล้วก็ขอเลือกควายตัวที่โตที่สุด ที่ลำสันที่สุดก็ไปยืนถ่ายรูปคู่กับควายตัวนั้น เป็นของธรรมดาแท้ๆ แต่เด็กๆ เพื่อนๆ หัวเราะกันครืนเชียวว่าความเป็นอยู่ของบ้านของเกี้ยวนี่มันช่างแปลกจริงๆ ใครๆ เขาก็ชอบอะไรอย่างอื่น แต่ว่านี่ทำไมถึงจะมาชอบเรื่องของควาย เกี้ยวก็เลยเกิดความละอาย แล้วก็ความรู้สึกที่ไม่แน่ใจว่าบ้านเราพิลึกหรือ มันเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด จนเกี้ยวไม่สบายต้องไปนอนห้องพยาบาล และเมื่อพ่อแม่มารับจะกลับบ้าน พ่อแม่ก็ถามว่าลูกต้องกา ทำอะไร ตอนนี้ลูกคิดจะทำอะไร เกี้ยวก็ตอบพ่อแม่ทันทีว่าลูกขอลาออกจากโรงเรียนนี้ จะไม่มาอีกเพราะทนไม่ได้ที่จะเห็นเพื่อนๆ หัวเราะเยาะอย่างนี้ พ่อก็ตอบว่าตกลง แม่ก็ตกลงแต่ว่าต้องขอเวลาไปพูดกับคุณครูสักนิดนึง ทำให้เกี้ยวสบายใจมาก ฉะนั้น ดิฉันว่าเป็นความเคารพต่อความรู้สึกของลูกที่พ่อแม่มีให้ แล้วก็บางทีอาจจะน้อยนะคะที่พ่อแม่จะมีให้กับลูก ส่วนมากมักจะนึกว่าฉันเลี้ยงมา ฉันดูแลมา ฉันเสียสละทุกอย่างเพื่อลูก เพราะฉะนั้น ลูกต้องทำตามฉัน ความรู้สึกที่ว่าลูกต้องทำตามฉันนี่แหล่ะ กลับกลายเป็นการสร้างช่องว่างให้เกิดขึ้นระหว่างพ่อแม่กับลูก ช่องว่างเกิดขึ้นตรงนี้ไม่ใช่ตรงอื่น แต่ช่องว่างระหว่างพ่อแม่กับเกี้ยวไม่มีเพราะอะไร ก็เพราะเหตุว่าพ่อแม่ทั้งสองคนนี้ ให้ความรู้สึก ให้ความเคารพต่อความรู้สึกของลูก และที่จริง ถึงแม้บางทีในใจก็อาจจะยังเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องลาออกแต่ก็ให้ความเคารพต่อความรู้สึก แล้วก็คิดแก้ไขปัญหานั้นด้วยสติปัญญา เพื่อจะเกิดความถูกต้องหรือเข้าสู่ความถูกต้องต่อไป
ปัจจัยที่ห้า ซึ่งดิฉันรู้สึกว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากก็คือการให้การศึกษาอบรมที่ถูกต้องจากทางโรงเรียน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือว่าปัจจัยของความร่วมมือระหว่างบ้านกับโรงเรียน ที่สมคล้อยไปในทำนองเดียวกันเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งทีเดียวที่จะทำให้เด็กเองไม่เกิดความสับสน ไม่เกิดความสับสนที่ได้รับการศึกษาอบรมจากทางบ้านอย่างหนึ่ง พอไปทางโรงเรียนก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างหนึ่ง หรือบางทีก็เคยได้รับกล่าวเป็นเชิงร้องทุกข์บรรดาครูอาจารย์ว่าที่โรงเรียนสอนอย่างนี้เวลาอยู่โรงเรียนก็ดี แต่พอเวลากลับไปบ้านเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น นี่เพราะมันมีช่องว่างระหว่างบ้านกับโรงเรียน แต่เกี้ยวก็นับว่าเป็นเด็กโชคดีมากที่ช่องว่างระหว่างบ้านกับโรงเรียนไม่มี แต่ทว่าทั้งบ้านกับโรงเรียนกลับให้ความร่วมมือในการอบรมสั่งสอนเด็กเป็นไปในทำนองเดียวกัน
และปัจจัยประการที่เจ็ด ก็คือบุคลิกส่วนตัวหรือบุคลิกเฉพาะตัวของเกี้ยวเอง เป็นเด็กที่มีพื้นนิสัยเป็นคนมีเหตุผล เป็นคนช่างสังเกต เป็นคนรู้จักใคร่ครวญและก็หนักแน่นพอสมควร ไม่หุนหันพลันแล่น ไม่สนใจตัวเองเป็นใหญ่ซึ่งอันนี้ก็เนื่องมาจากการอบรมทั้งจากทางบ้านและทางโรงเรียนนั่นเองจึงทำให้เกี้ยวนั้นเป็นเด็กที่มีเหตุผล รู้จักใคร่ครวญ ช่างสังเกต หนักแน่นพอ ไม่มายื่นคำขาดกับพ่อแม่ว่าต้องเลิกใช้จักรยานนะ แล้วก็ต้องเลิกนุ่งผ้าซิ่น ต้องเลิกนุ่งผ้าโจงกระเบน ต้องเลิกปลูกผัก ต้องมีโทรทัศน์ ต้องมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่เหมือนคนอื่นเขานไม่มายื่นคำขาด แต่ว่าใคร่ครวญดูด้วยเหตุผลว่า มันถูกหรือผิด
ดิฉันคิดว่าสิ่งที่เกี้ยวเอามาเป็นประเด็นในใจว่ามันถูกหรือผิดที่ใครๆเขาว่าเราพิลึกนี่ ก็คงจะนึกว่าถึงแม้ใครเขาจะว่าเราพิลึกเพียงใดก็ตาม แต่ว่าเราอยู่ในโลก คือเราอยู่ในบ้านของเราด้วยความผาสุกระหว่างพ่อแม่ลูก เรามีความรัก มีความอบอุ่น มีความเข้าใจต่อกัน แล้วคำพูดของคนอื่นจะมีความหมายอะไร ทำไมเราถึงจะยอมให้คำพูดของคนอื่นๆ มามีอิทธิพลแล้วก็ทำลายความรัก ความอบอุ่นที่เรามีกันอยู่ในครอบครัวของเราเสียละ ดิฉันคิดว่าความสุขอันเกิดจากความรัก ความอบอุ่นของพ่อแม่ที่ให้แก่ลูก แล้วลูกก็มีให้แก่พ่อแม่มันเป็นความรักที่เหนียวแน่นยั่งยืน มันจึงเป็นสายใยที่ทำให้ลูกจะไม่มายื่นคำขาดกับพ่อแม่ว่าต้องอย่างนั้น อย่างนี้ตามใจของหนูหรือตามใจของผม แต่ว่าจะมีการใคร่ครวญคิด แล้วก็ดูว่าอะไรดีที่สุดจึงจะสมควรทำ โดยคำว่าดีที่สุดก็มีความหมายว่าถูกต้องที่สุดนั่นเอง
และปัจจัยสำคัญอันสุดท้ายที่ดิฉันเห็นว่าสำคัญที่สุดก็คือคำว่า ตัวอย่าง ทั้งพ่อแม่ทั้งครูที่โรงเรียนเมื่อสอนอย่างใด อบรมอย่างไรแล้ว ก็ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น ท่านผู้ชมคงเคยคิดบ้างไหมคะว่าเด็กๆ ของเราเดี๋ยวนี้ว้าเหว่ที่สุด ทั้งเด็กและทั้งเยาวชน แม้แต่คนหนุ่มคนสาว ว้าเหว่ที่สุด ว้าเหว่ตรงไหน ว้าเหว่ตรงที่ว่าเมื่อหันไปทางไหนก็ตาม ไม่รู้ว่าอะไรคือความถูกต้อง อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง เขาได้ยินได้ฟังมาเสมอ ได้อ่านมามากว่าอย่างนี้แหละคือถูกต้อง อย่างนี้แหละดี แต่เมื่อหันมองไปรอบๆ ตัว มองดูผู้ใหญ่ มองดูคนอื่นๆ ที่ประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในสังคมของเราทุกวันนี้ มันไม่เห็นเหมือนเลยนี่กับที่เราเคยได้ยินมา หรือเราเคยได้อ่าน ได้รับการอบรมมา ก็เลยทำให้เกิดความลังเลสงสัย จุดนี้แหล่ะคือจุดความว้าเหว่ที่ทำให้เด็กๆ เยาวชนของเรา วิ่งออกไปจากบ้าน หนีออกไปจากบ้านเพื่อไปแสวงหาว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง และจุดที่ทำให้เกิดความว้าเหว่ ความลังเลสงสัยก็คือตัวอย่าง ขาดตัวอย่าง ฉะนั้นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ดิฉันคิดว่าเราต้องการมากในปัจจุบันนี้ก็คือ ตัวอย่าง เราขาดตัวอย่างที่จะเป็นตัวอย่างของความถูกต้อง เหมือนดังที่ได้ว่าเอาไว้กล่าวไว้ บอกไว้ สอนไว้ แต่พ่อแม่ของเกี้ยวและแก้วนั้น เมื่อพูดอย่างใด สอนอย่างใด ประพฤติเช่นนั้น ปฏิบัติเช่นนั้น ความลังเลสงสัยจึงไม่เกิดขึ้นเกิด ถึงแม้เกิดขึ้นก็จางคลายหายไปได้ในที่สุด แล้วลูกก็กลับมาสู่ความถูกต้องนั้นได้โดยง่าย ไม่หลง ไม่หลงทางนะคะ เข้ามาสู่สิ่งที่ถูกทาง และทางโรงเรียนครูอาจารย์ก็เป็นตัวอย่างที่สำคัญได้ เป็นตัวอย่างที่เดินตามได้ในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ดิฉันคิดว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากนะคะ เมื่ออ่านเรื่องของบ้านพิลึกจนจบแล้ว และเราก็ได้วิเคราะห์มาในแง่ของการเขียนบ้างเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องของการดำเนินเรื่อง แล้วก็ในแง่ของการนำข้อธรรมะเข้ามาศึกษาจากวรรณกรรมเรื่องนี้ เมื่อสรุปแล้วมีสิ่งใดที่เป็นข้อคิดที่สำคัญที่รับจากวรรณกรรมเรื่องนี้บ้าง
ในทัศนะที่ดิฉันเท่าที่มองดูจากหนังสือนี้นะคะ ก็มองเห็นว่าสิ่งที่เราจะหยิบประเด็นขึ้นมาพูดหรือมาสำนึกเอาไว้เป็นข้อคิด อันแรกที่สุดก็คือ ผลของการที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัตถุนิยมนั้นดีเช่นนี้ ประหยัดเช่นนี้นะ เป็นสุขเช่นนี้นะ ช่วยแก้ไข ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขัดแย้งขึ้นในจิต เหมือนอย่างเช่นครอบครัวของบ้านพิลึกบ้านนี้แหละ ถ้าหากว่าเราจะต้องพิลึกกันอย่างแบบบ้านของเด็กหญิงเกี้ยวในเรื่องบ้านพิลึก ดิฉันก็รู้สึกว่าเป็นความพิลึกที่น่าจะดำเนินตาม มันเกิดผลดีเพียงไร มันเกิดผลร้ายเพียงใด ดิฉันเชื่อแล้วว่าท่านผู้ชม ทั้งผู้ใหญ่และหนุ่มสาวเข้าใจดี ทราบดีด้วยตนเองว่า ผลร้ายของการที่ปล่อยใจให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัตถุนิยมนั้น ช่างกัดกร่อน ทำลายความรู้สึกของเรามากมายเพียงใด คือทำร้ายความรู้สึกนั้นให้เร่าร้อนอยู่เสมอ เร่าร้อนตามความอยากที่จะเหมือนคนอื่น อยากได้อะไรให้เหมือนคนอื่น เมื่อไม่ได้อย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนั้น ไม่มีอย่างนั้นก็เกิดความทุกข์ขึ้น แต่ทว่าเมื่อเราไม่ตกไปอยู่ภายใต้อำนาจของวัตถุนิยมอย่างเดียวเท่านั้น เราหมดปัญหาไปเกือบค่อนชีวิตเลยนะคะ
และข้อคิดข้อที่ ๒ ก็คือความเป็นตัวของตัวเองที่ถูกต้อง เราพูดกันอยู่เสมอว่าเธออย่ามาบอกฉันเลย ฉันเป็นตัวของฉันเสมอ ไม่ต้องมาเตือนหรอก ฉันเป็นตัวของฉันเสมอ ความเป็นตัวของฉันน่ะมันคืออย่างไรกันแน่ ถ้าจะไปถามความเป็นตัวของฉันนี่ก็คือ ที่บอกความเป็นตัวของตัวเอง เป็นตัวเป็นตนของฉันก็คือจะเอาอย่างใจฉัน ถ้าจะใช้คำว่าธรรมะก็คือหมายความว่ามีความเป็นอัตตา อัตตาคือตัวเอง เอาตัวเองขึ้นมาเป็นที่ตั้ง ถ้าหากว่าเอาตัวเองขึ้นมาเป็นที่ตั้ง ทุกคนก็มีตัวกันทั้งนั้น เรานั่งอยู่ในห้องนี่ ๒๐ คน เราก็มี ๒๐ อัตตา มากไปกว่านั้นเป็นร้อยอัตตา พันอัตตา หมื่นอัตตา ล้านอัตตา ไม่รู้กี่ร้อยล้านกี่พันล้านในโลกนี้ เพราะฉะนั้นท่านผู้ชมก็คงจะมองเห็นแล้วว่า ถ้าทุกคนจะเป็นตัวของตัวเองโดยถืออัตตาคือความต้องการตามใจชอบของตนเองเป็นประมาณ โลกเรานี้จะมีกลียุคมากน้อยเพียงใด แล้วก็ถ้าดูซ้ำลงไปอีกเราก็จะเห็นเดี๋ยวนี้แหล่ะ ที่เรายุ่ง เราร้อน เราเบียดเบียนกัน เราหาความสุขสงบไม่ได้ เราอภัยกันไม่ได้ เราหันหน้าเข้าหากันไม่ได้เพราะอะไร เพราะทุกคนก็ต่างจะเอาความเป็นตัวของตัวเองโดยอยู่บนพื้นฐานของอัตตาของตนเป็นสำคัญ แต่ข้อคิดที่ดิฉันมองจากบ้านพิลึกนี่ ก็มองเห็นว่าความเป็นตัวของตัวเองที่ถูกต้องนั้นก็คือ สมาชิกของบ้านพิลึกนี้สามารถที่จะเข้าใจและรู้จักว่าความหมายอันถูกต้องของความเป็นตัวเองที่ถูกต้องนั้นคืออะไร คืออย่างไร นั่นก็คือจะต้องเกี่ยวข้องไปถึงความเข้าใจของคำว่าเกียรติ
เกียรติของคน ศักดิ์ศรีของคนส่วนมากก็จะบอกว่า นี่เธออย่าลบหลู่ศักดิ์ศรีของฉันสิ ศักดิ์ศรีของฉันอยู่ตรงไหน เกียรติของฉันอยู่ตรงไหน ส่วนมากก็มักจะไปนึกว่าเกียรติหรือศักดิ์ศรีก็คือหมายถึงปริญญา หมายถึงตำแหน่งการงาน หมายถึงทรัพย์สินเงินทอง บริวารแวดล้อม อะไรต่างๆ เหล่านั้นคือเกียรติและศักดิ์ศรี ความเป็นจริงแล้วมันหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเหตุว่าเราจะพบท่านผู้มีเกียรติ ท่านผู้มีมีศักดิ์ศรีโดยนัยยะดังที่กล่าวแล้วนี้มากมายเลยทีเดียวที่หามีความสุขเหมือนอย่างกับสมาชิกบ้านพิลึกที่ไม่ได้บอกเลยว่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรีอะไรทำนองนั้นอย่างใดแต่ทุกคนก็มีความสุข
นอกจากนี้ความเป็นตัวเอง ความเป็นตัวของตัวเองที่ถูกต้องจะต้องเข้าใจคำอีกคำหนึ่งคือคำว่าความเจริญ ความเจริญที่ถูกต้องคืออะไร เรามักจะเข้าใจกันว่าความเจริญที่ถูกต้องก็คือผู้ที่มีการศึกษาสูง ที่จบปริญญาโท ปริญญาเอกนั่นเป็นผู้เจริญแล้ว จริงหรือเปล่า ดิฉันขอทิ้งไว้ให้ท่านผู้ชมได้โปรดใคร่ครวญเอง หรือผู้ที่มีตำแหน่งการงานสูงอยู่ในระดับใดก็ตาม เอาให้สูงที่สุดเท่าที่เราจะคิดเอา แล้วก็บอกว่านี่แหล่ะคือผู้เจริญ หรือว่าเจริญด้วยตึกรามบ้านช่อง อาคารมากมาย นี่คือผู้เจริญ หรือความเจริญ จริงไหม ดิฉันก็ขอตอบเสียว่า ดิฉันอยากจะถือเอาว่าความเจริญที่ถูกต้องนั้นน่ะคือผู้ที่มีจิตเจริญ เพราะถ้าหากว่ามันเจริญที่จิตแล้วละก็ สิ่งอื่นๆ มันต้องเจริญตามไปทั้งหมด เพราะการกระทำทุกอย่างที่เกิดขึ้นนี้ต้องเนื่องมาจากจิตหรือใจเป็นผู้บงการทั้งสิ้น ฉะนั้นความเจริญที่เราควรจะสร้างสรรค์และพัฒนาไปให้มากคือความเจริญที่จิต ซึ่งดิฉันอยากจะใช้คำว่าจิตเจริญนะคะ
นอกจากนี้ข้อคิดข้อที่ ๓ ก็คือว่าวัฒนธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่ซื้อขายกันได้ ทำไมถึงไม่ใช่สิ่งที่ซื้อขายกันได้ก็เพราะวัฒนธรรมที่แท้จริงนั้น มันมิใช่เป็นวัตถุสิ่งของแต่มันอยู่ที่เราเรียกว่า น้ำใจไทย ใครจะซื้อน้ำใจกันได้บ้าง นอกจากน้ำใจจะซื้อน้ำใจ น้ำใจจะซื้อน้ำใจเท่านั้น นี่เป็นวัฒนธรรมไทยคือความมีน้ำใจ เราไม่เคยแล้งน้ำใจเลย และอีกอย่างหนึ่งวัฒนธรรมไทยที่เราจะมองเห็นนั้นก็คือความพอดี ความกลมกลืนในทุกสิ่งทุกอย่าง ขอให้ลองมองดูเถอะนะคะ ถ้าเราจะมองดูจากวัตถุเช่นรำไทย ดนตรีไทยมีความกลมกลืนเพียงใด อาหารไทยมีความกลมกลืนเพียงใด เพราะความพอดีหรือความพอเหมาะพอเจาะ ความกลมกลืนนี้ถ้าพูดตามทางธรรมะก็คือมัชฌิมาปฏิปทา ยังมีอีกเยอะเลยค่ะข้อคิดจากบ้านพิลึกที่เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ นี่นะคะ ยังมีอีกเยอะที่เดียวถ้าหากว่าเราจะคิด แต่นี่เป็นเพียงตัวอย่างว่าถ้าเราจะอ่านวรรณกรรมโดยนำธรรมะเข้ามาศึกษา เราจะดูหรือเราจะเห็นธรรมะจากหนังสือ จากวรรณกรรมนั้นได้เพียงใด สำหรับวันนี้ก็ ธรรมสวัสดีนะคะ