แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ: ไปที่บ้านธรรมะบารมีของท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง ไปฟังหลักธรรมที่ดีจากท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง กันต่อนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ที่เราเคยได้ยินตั้งแต่เด็กๆ นะว่าคนเราจะต้องพึ่งพาอาศัยกัน หรือว่าทุกอย่างหรือทุกสรรพสิ่งในโลกมันต้องพึ่งพาอาศัยกัน พูดง่ายๆ ว่าเมื่อก่อนนี้ได้ยินก็ได้ยิน และเราเคยพูด และฟังไป แต่ใจมันไม่รู้สึก ไม่รู้สึกว่ามันพึ่งพาอาศัยกัน แต่มาตอนนี้ ก็บอกได้จริงๆ ว่า มันมีความรู้สึกว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว แม้แต่จะเป็นก้อนหินดินทราย หรือจะเป็นพืชพรรณธัญญาหาร เป็นต้นหมากรากไม้ หรือจะเป็นสัตว์ หรือจะเป็นผู้คน มันล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาอาศัยกันทั้งนั้น ที่ท่านบอกว่า อ้าวดูตัวเองสิว่าสิ่งที่เราเป็นตัวเราอยู่ขณะนี้ มันเป็นไปด้วยตัวเราหรือเปล่า แต่ก่อนเราก็ดู เออๆ ค่ะๆ ไปอย่างนั้น ตามทฤษฎี แต่เดี๋ยวนี้พอมามองดูทั้งตัวเรา เรามองเห็นเลยว่า ตัวเราที่อยู่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันต้องอาศัยกันทั้งนั้น ดูตั้งแต่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม มันเกิดความรู้สึกขึ้นในใจจริงๆ ว่าเป็นอย่างนี้จริงๆ ไม่ใช่พูดตามทฤษฎี หรือพูดให้เพราะๆ นอกจากนั้นแล้วภายนอกก็ยังต้องอาศัย อาศัยผู้นั้นผู้นี้ไปเรื่อยๆ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามเหตุตามปัจจัย ตามกำลัง ก็เลยรู้สึกว่า เออจริงๆ นะโลกนี้เป็นโลกนี้ที่ต้องอยู่ด้วยความเอื้อเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันพึ่งพาอาศัยกัน ใครที่จะคิดมาว่าตัวเรานี่อยู่คนเดียวได้ ไม่ต้องอาศัยใครก็ได้ นั่นเป็นความเข้าใจผิดจริงๆ มันไม่สามารถที่จะอยู่ได้โดยที่ไม่อาศัยใคร มันจำเป็นที่จะต้องอาศัยใคร พอนึกขึ้นมาว่า มันต้องอาศัยซึ่งกันและกัน มันก็เลยนึกไปถึงว่า แม้แต่คนที่เราไม่ชอบ หรือบางทีจะเรียกว่าไม่ใช่มิตร หรือถึงกับเป็นศัตรู แม้แต่คนที่เป็นศัตรู ก็ต้องอาศัย เราก็ต้องอาศัยเขา แล้วเราก็ได้ประโยชน์จากเขาด้วย ได้ประโยชน์จากเขาได้อย่างไร ได้ประโยชน์จากเขาในฐานะที่เป็นบทเรียน เป็นบทเรียนให้กับเรา เป็นบทเรียนในทางธรรมะ ที่จะทำให้เรามองเห็นว่า สิ่งที่เรามีรู้สึกอะไรกับเขาในทางที่ไม่ดีก็ตาม ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรต่อกันก็ตาม อันนี้นี่มันเกิดจากกิเลสอะไร กิเลสอันนี้ไม่ต้องไปดูของเขา ดูของเรา มันเกิดจากกิเลสอะไรของเรา แล้วก็เราจะแก้กิเลสตัวนี้ได้ด้วยธรรมะข้อใด นั่นก็คือ ความเมตตากรุณาที่เพิ่มให้มากขึ้น มีความเมตตากรุณาต่อเขาให้มากขึ้น แล้วก็ให้เป็นความเมตตากรุณาที่จริงใจ ที่ไม่อยากได้อะไรจากเขา แต่ว่าสามารถจะให้อะไรได้ก็ให้ นี่ถ้าหากว่าเรามามองดูว่าคนเราต้องอยู่อย่างชนิดต้องอาศัยซึ่งกันและกัน แม้แต่ศัตรูเขาก็ยังเป็นที่พึ่งของเราได้ จะใช้คำว่าที่พึ่งก็ใช้ได้ คือเป็นที่พึ่งที่จะให้เราได้ข้อคิดในการที่จะมาแก้ไขปรับปรุงตัวเราให้ยิ่งขึ้นไปอีก
ทีนี้จากการที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกันนี่ ก็จะเห็นว่าทุกคนและทุกอย่างเป็นมิตรกันไปหมด มันไม่มีอะไรที่จะมาควรแบ่งแยก ว่าคนนั้นเป็นศัตรู คนนี้เป็นคนที่จะเข้ากันไม่ได้ คนนั้นเป็นคนที่รสนิยมต่างกัน หรือคนนี้เป็นคนที่ทิฏฐิคนละอย่างกับของฉัน มันไม่มีอะไรต่างกัน มันมีอะไรที่เหมือนๆ กัน เพียงแต่ว่า เขาจะรู้หรือไม่รู้นั่นก็เรื่องของเขา แต่ถ้าเรารู้เราก็แก้ที่เรา เราไม่ต้องหวังที่จะแก้ที่เขา เพราะว่า ตัวเราเองก็ยังเอาตัวไม่ค่อยจะรอดใช่ไหม เราจะไปหวังแก้คนอื่นเขาได้ยังไง งั้นแก้ตัวเรานี่แหละ ปมมันอยู่ตรงไหนที่เกิดขึ้นที่ตัวเรา แก้ที่ตัวเรา แก้ด้วยการยอมรับ แล้วพอมันเกิดการยอมรับ มันก็มีความสุข มีความสุขเกิดขึ้นในใจ และความเป็นความอิสระก็เกิดขึ้นในใจ และความที่ว่าฉันไม่อยากพึ่งพาอาศัยใคร ไม่ต้องพูด มันเกิดความรู้สึกว่ามันไปได้ มันไปได้ขึ้นมาเอง แต่ว่ามันก็มีการพึ่งพาอาศัยกันในที พูดอย่างนี้จะเข้าใจหรือเปล่าก็ไม่ทราบ โดยไม่ต้องไปออกปาก ไม่ต้องไปเรียกร้อง มันเป็นไปเองตามในทีของมัน ตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็มันก็มองเห็นชัดอีกว่าที่ว่า โลกรอดได้เพราะกตัญญู ก็ได้ยินท่านผู่ใหญ่ท่านพูดกันมาหลายท่าน แม้แต่ท่านอาจาร์ยสวนโมกข์ ท่านก็พูด โลกรอดได้เพราะกตัญญู จริงๆ นะ แล้วก็หันมาดูตัวเรา เรานี้เป็นคนกตัญญูหรือเปล่า ดูไปดูมาบางทีอกตัญญูก็มี คือเราควรที่จะได้รู้พระคุณของท่านผู้มีพระคุณนี่ให้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วก็ได้มีการกตเวที คือแสดงความตอบแทนพระคุณ บางครั้งบางคราวก็หลงลืมไปโดยไม่ได้ตั้งใจ แล้วบางครั้งบางคราวก็กลับไม่นึกถึงความสำคัญของความกตัญญู ทั้งๆ ที่ก็อาจเคยได้สอนเรื่องของความกตัญญูมาบ้าง แต่เดี๋ยวนี้มันมีความรู้สึกว่าความกตัญญูเป็นสิ่งที่งดงาม งดงามมากทีเดียว ผู้ใดที่มีความกตัญญูอยู่ในจิตของตน แล้วเป็นความกตัญญูที่บริสุทธิ์ใจ จริงใจ และก็ตรงไปตรงมา หายาก บุคคลอย่างนี้หายาก และถ้าผู้ใดมีมันเป็นความงดงามของผู้นั้นเองโดยเฉพาะเลย เราจะทำได้แค่ไหน เราก็พยายาม พยายามทำเท่าที่สามารถจะทำได้ และความกตัญญูนี้เป็นสิ่งหล่อเลี้ยง หล่อเลี้ยงชีวิต หล่อเลี้ยงจิตใจของมนุษย์ ที่จะให้อยู่ร่วมกันด้วยความอบอุ่น ด้วยความผาสุข มันมีความรู้สึกว่าเหมือนกับว่ามันไม่เดียวดาย อันนี้แหละ ไม่เดียวดาย ไม่เปล่าเปลี่ยว เพราะว่ามีที่พึ่ง คนนั้นก็พึ่งได้ คนนี้ก็พึ่งได้ เราทำดีกับเขานิดๆ หน่อยๆ ช่วยเหลือเขาบ้าง สิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วก็แต่ละคนก็มีความรู้สึกซึ่งกันและกัน และก็ตอบแทนกันด้วยความจริงใจ ความจริงใจ ความบริสุทธิ์ใจ อันนี้แหละ ที่มันจะทำให้ความกตัญญญูมีค่าขึ้นมา มีค่าโดดเด่นขึ้นมาว่า มันเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความปราราถนาดี ด้วยความอยากจะช่วย อยากจะเอาใจใส่ และมันก็มีความเสียสละอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้นก็ทำให้เห็นว่า ที่ท่านพูดกันว่า โลกรอดได้เพราะกตัญญู นั้นจริงๆ จริงๆ อย่างนั้น มันจะรอดได้ รอดจากอะไร รอดจากความขัดแย้ง รอดจากสิ่งที่เขาเรียกว่า มิคสัญญี มันไม่เกิดมิคสัญญีในครอบครัว หรือว่าในชุมชน หรือในสังคม หรือในหมู่เพื่อนฝูงที่เกี่ยวข้องกัน เพราะมันมีความกตัญญูต่อกันและกันแม้แต่จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่มองข้ามไป อันนี้แหละที่มันจะทำให้โลกรอดได้ คือจะอยู่ร่วมกันได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ต้องขัดแย้ง ไม่ต้องแก่งแย่ง ไม่ต้องชิงดีชิงเด่น ไม่ต้องเปรียบเทียบซึ่งกันและกัน แต่มันจะมีเพียงแต่ว่า มีเขาอยู่ รู้คุณเขา เขาก็จะได้ช่วยให้ความเป็นอยู่ของแต่ละคน ละคน คนละไม้คนละมือ มันอยู่ร่วมกันไปได้ด้วยความสุข ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็น่าเป็นห่วงสังคม เราจะเห็นว่าสังคมปัจจุบันนี้คิดถึงเรื่องความความกตัญญูนี้น้อยมากเลย ไม่ค่อยเห็นความความกตัญญูนี้เป็นที่สิ่งสำคัญ เป็นที่สิ่งสำคัญ เป็นสิ่งที่จะค้ำจุนโลก ที่ท่านบอกว่าจะค้ำจุนโลกให้ยั่งยืนอยู่ได้ ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข หรืออยู่เย็นเป็นสุขอย่างทั่วหน้ากัน เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยเห็น เรามองเห็นแต่เรื่องของการแก้แค้น แก้แค้นเพื่อที่จะเอาคืน เพื่อจะทำให้สาสมให้สะใจ อันนี้เพิ่มมากขึ้น ก็ไม่รู้ว่าในขณะที่มีการพูดกันถึงเรื่องของธรรมะ พูดถึงเรื่องของศาสนาต่างๆ นี่นะ แต่ทำไมอารมณ์ของความเคืองแค้นอาฆาตพยาบาทถึงมีมากต่อกัน ทำไมถึงไม่มองเห็นว่าเราควรจะต้องมีความกตัญญูต่อกันแม้แต่ผู้ที่เขาเป็นศัตรูต่อเรานี่ เขาเป็นผู้ที่ให้บทเรียนแก่เราอย่างดีที่เดียวนะ อย่างน้อยๆ ก็ให้ความแข็งแกร่ง ให้ความแข็งแกร่งแก่จิตใจของเรา ให้ความมานะพากเพียรพยายามที่เราจะบากบั่นต่อสู้ต่อไป ต่อสู้ขวากหนามหรืออุปสรรคที่มาขวางกั้นนี่ ให้เราข้ามไปได้ เพื่อที่จะก้าวจากบันไดนี้ขึ้นไปสู่บันไดขั้นต่อไป ตามลำดับ ทำไมเราไม่มองเสียในแง่นี้ ถ้าต่างคนต่างพยายามมองในแง่นี้ ก็จะรู้สึกว่า เออชีวิตนี้มันไม่สูญเปล่า มันมีความหมายไปทุกอย่าง อะไรที่ผ่านที่เกี่ยวข้อง มันมีความหมายไปทั้งนั้น มันล้วนแล้วแต่เป็นความหมายที่ให้กำลังใจแก่มนุษย์เรา ให้ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ให้มีกำลังใจที่จะทำสิ่งที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์ ให้ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ทุกขณะ ถ้าเรามองกันอย่างนี้ มันก็ทะเลาะกันไม่ได้ โกรธกันไม่ได้ เกลียดกันไม่ได้ มันก็มีแต่การให้อภัยกัน การให้อภัยกัน รักใคร่กัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน