แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะ สวัสดีค่ะ
คราวที่แล้วเราก็พูดกันถึงเรื่องของ ความเห็นแก่ตัว ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเป็นตน และก็ความสำคัญมั่นหมายอันนั้นว่าเป็นตัวเป็นตนนี้มาจากอะไร เราก็ยกตัวอย่างกันหลายเรื่อง เช่น เรื่องที่ว่ามาจากประสบการณ์บ้าง มาจากความรู้บ้าง มาจากรสนิยมบ้าง มาจากความเคยชินที่เคยทำอะไรซ้ำๆ กันบ้าง พอสรุปบ่อยๆ เข้าก็เลยเกิดเป็นรูปเป็นร่าง เพราะว่ามันมีความสำคัญมั่นหมาย มีมานะ ที่สำคัญมั่นหมายว่า นี่แหล่ะคือเรา นี่แหล่ะคือฉัน เป็นเราเป็นอย่างนั้น เราเป็นฉันเป็นอย่างนั้น เป็นต้น แล้วก็ด้วยความไม่รู้ก็เลยทำให้ความรู้สึกสำคัญมั่นหมายอย่างนี้มันมีความเห็นแก่ตัวที่ซ่อนอยู่ แล้วก็เลยทำให้ชีวิตนี้มีปัญหา เพราะความเห็นแก่ตัว
ใครจะเข้าใจเรื่องของว่า เห็นแก่ตัวเป็นอย่างไร อย่างคราวที่แล้วบอกว่า ให้ลองไปนึกดูซิว่า ที่เป็นตัวตน ที่เป็นฉันเป็นยังไงมีจริงมั้ย ถ้ามีจริงมันเป็นยังไง ถ้าไม่มีจริงมันมาจากไหน และความเห็นแก่ตัวนี้มันคืออะไร อย่างไร วันนี้พอจะมองเห็นกันบ้างหรือยัง ความเห็นแก่ตัวมันคืออะไรยังไง? เรามีความรู้สึกว่าเราไม่ได้ขอใครกิน เราไม่ได้รบกวนใคร เพราะฉะนั้นอย่างนี้เราไม่ต้องเกี่ยวข้องกับใครก็ได้ อยู่คนเดียวก็ได้ อย่างนี้เป็นความเห็นแก่ตัวมั้ย รู้สึกว่าเห็นแก่ตัวมั้ย เห็นยังไง
ผู้ร่วมรายการ: ก็อยู่ในสังคมก็ต้องช่วยเหลือกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็เขาไม่ได้เบียดเบียนใคร ไม่ได้รบกวนใคร หรือว่าเขาเห็นแก่ตัว
ผู้ร่วมรายการ: เอาตัวรอดคนเดียวอยู่ได้ยังไงครับในโลกนี้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ทำไมอยู่ไม่ได้
ผู้ร่วมรายการ: อย่างนี้เห็นแก่ตัวใหญ่เลย ใครที่ว่าอยู่คนเดียวได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วทำไมจะอยู่ไม่ได้
ผู้ร่วมรายการ: คนในสังคมก็ควรจะแลกเปลี่ยนประโยชน์หรือความสามารถต่อกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อันนี้ก็น่าฟัง คือถ้าเขามีคุณสมบัติ เขามีความสามารถอะไรในตัวเองที่น่าจะมาช่วยคนอื่นได้ แต่ถ้าไปมัวอยู่เสียคนเดียว เลยไม่ได้เอาสิ่งนั้นที่ตัวเองมีดีไปช่วยเหลือคนอื่นให้เกิดประโยชน์ นี่ก็เรียกเป็นความเห็นแก่ตัว และอีกอย่างหนึ่งที่ อย่างที่จะเลิศว่า คนเราอยู่คนเดียวในโลกได้ไหม ถึงแม้ว่าจะบอกว่าฉันมีเงิน อยู่คนเดียวในโลกได้ ถ้ายกโลกให้ทั้งโลกได้มั้ย อยู่คนเดียวได้มั้ย อยู่ไม่ได้ เราจะปลูกข้าวกินเอง ปลูกผักกินเอง และก็ทำอะไรมิต่ออะไรทุกอย่าง ทอเสื้อทอผ้า ปลูกฝ้าย เอามาเป็นของเราเองหมดทุกอย่างไหวมั้ย ไฟฟ้าก็จะติดเอง น้ำประปาก็จะติดเอง ขุดคู ขุดคลอง อะไรต่ออะไรเองไหวมั้ย.. นี่เราอยู่คนเดียวเราไม่ได้รบกวนใครเลย แต่เราไหวไหม ทำได้ไหม ไม่ได้ เขายกโลกให้ทั้งโลกก็อยู่ไม่ได้ เพราะเหงา ยกเว้นในอีกกรณีนึง แต่นี่โดยธรรมดาทั่วไป เราอยู่ได้มั้ยในโลกนี้คนเดียว ?
ผู้ร่วมรายการ: หมายถึงเขาไม่คบค้าสมาคมกับผู้อื่นใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ถ้าความหมายอย่างนี้ หมายความว่าไม่คบค้าสมาคมกับคนอื่น การไม่คบค้าสมาคมกับคนอื่นเพราะอะไรลองนึกดู ซิ
ผู้ร่วมรายการ: ต้องมานั่งรอคนนู้นคนนี้ มีปัญหาคือรอไม่ได้ ตัวเองทำไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : รอไม่ได้ คอยไม่ได้ กลัวว่าจะไปคบกับคนอื่นแล้วล่ะก็ เราจะต้องไปยุ่ง มีปัญหาเกี่ยวข้องกับคนอื่น ก็เลยรู้สึกว่า อยู่คนเดียวดีกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับใคร เห็นแก่ตัวมั้ย ก็ลองนึกดู การที่เขาบอกว่าเขาคอยไม่ได้ ถ้าไปเกี่ยวข้องกับคนอื่นแล้วมีปัญหา เดี๋ยวมันจะต้องเกี่ยวพันกัน นั่นแหล่ะ เพราะอะไร ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจเขาที่เขาไม่อยากทำอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะเขาเห็นแก่ตัว เพราะบางทีเขาอาจจะมีความรู้สึกว่า ในความเป็นตัวเขานี่มันดีกว่าคนอื่น มันไม่ก่อเรื่องวุ่น เรามีอะไรดีกว่าคนอื่น เราไม่จำเป็นต้องไปคบค้าสมาคมกับใครๆ เราก็สามารถจะช่วยตัวเราได้ นี่เป็นความรู้สึกที่มี “อัสสมิมานะ” สำคัญตัวว่า เรานี้เป็นคนที่พึ่งตัวเองได้แล้ว เราเป็นอะไร เราเป็นคนที่พึ่งตัวเองได้ เราเป็นคนที่ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่อยากให้คนอื่นมาพึ่งเรา นี่มันเป็นความเห็นแก่ตัวที่อยู่ในตัวโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นคนบางคนจะบอกว่า ฉันต้องการอยู่สงบ ก็ต้องมาดูว่าความต้องการอยู่สงบนั้นมันเป็นไปในลักษณะไหนและอย่างไร
ฉะนั้นความเห็นแก่ตัวนี่มันจึงเป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจของมนุษย์ง่ายๆ และก็บางๆ เบาๆ มองดูเหมือนจะไม่มี ที่จริงซ่อนอยู่
ผู้ร่วมรายการ: เรามีของอยู่ ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร มีคนมาขอยืม เราก็กลัวว่าของนั้นจะเสียหาย มันมีความเห็นแก่ตัวแฝงอยู่เหมือนกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันนี้ก็ต้องดู ต้องดูเป็นกรณี คำว่าเป็นกรณีก็คือว่า คือของอะไร แล้วมันเหมาะสมกับโอกาสที่จะถูกขอยืมหรือยัง คนที่ขอยืมนั้นเป็นใคร คนที่จะขอยืมจะยืมไปเพื่ออะไร มันต้องดูเหตุปัจจัยหลายอย่าง ถ้าสมมติเหตุปัจจัยมันเหมาะสม คนขอยืมนี่เขารู้จักใช้ของ เพราะของที่เขาขอยืมนี่จะเอาไปเพื่อประโยชน์ และเราก็รู้ว่าเขาจะนำไปทำประโยขน์ได้จริงๆ แต่ที่เราจะไม่ให้เขายืม เพราะเรามีความกลัว กลัวของ ของ ของเราจะเสีย อันนี้ล่ะคือ ความเห็นแก่ตัว
แต่ถ้าหากคนที่มาขอยืมนี่เรารู้ว่า คนนี้เป็นคนมักง่าย เผลอพลั้งที่สุด เอาอะไรไปก็ทำแตกทำเสียทำหาย แล้วก็เอาไปเพื่อจะขอยืมเอาไปอวดคนอื่นเขา ไม่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ถ้าเหตุปัจจัยอย่างนี้ ก็ไม่สมควรที่จะให้ และเราจะว่าว่าเขาไม่ให้ว่าเห็นแก่ตัวก็ไม่ไช่ แต่เขามีวิจารณญาณ เขามีความรู้ว่าอะไรถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ฉะนั้นจะพูดโดยรวมๆ ว่า ถ้าไม่ให้ใครขอยืมของแล้วเป็นความเห็นแก่ตัวทั้งหมดไม่ได้ ต้องดูจากเหตุปัจจัย ของการที่จะขอยืมและถูกขอยืมนั้นเป็นกรณีๆ ไป
ผู้ร่วมรายการ: อะไรจะตัดสินว่า อันนี้เป็นการใช่วิจารณญาณ ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เรื่องการใช้วิจารณญาณที่ถูกต้องหรือไม่เนี่ยนะคะ ก็ต้องดูว่า วิจารณญาณอันนี้ก็จะต้องเกิดจากการที่ดูจุดมุ่งหมายของการที่จะใช้สิ่งนี้ว่าเพื่ออะไร ถ้าจุดมุ่งหมายของเราว่าของสิ่งนี้มีเพื่อประโยชน์ เพื่อประโยชน์ที่จะได้ใช้ร่วมกันให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมเกิดประโยชน์แก่งานไม่ใช่เพื่อแก่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เมื่อเรามองดูเหตุปัจจัยทั้งหลายประกอบกันถูกต้องแล้วตามที่ว่า นี่คือวิจารณญาณที่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้นผู้ที่จะมีวิจารณญาณในการตัดสินอย่างถูกต้อง อย่างนี้ก็ต้องรู้ว่าอะไรคืออะไร ขั้นแรกต้องรู้เสียก่อนว่าของที่ตัวเองมีอยู่คืออะไร มีคุณค่าอะไร มีประโยชน์อย่างไรและก็จะไปใช้เพื่อโอกาสอะไร แล้วก็ดูคนที่จะมาขอยืม ฉะนั้นจึงจะต้องมีความรู้อย่างทั่วถึง และขณะเดียวกันคนที่จะมีความรู้อย่างทั่วถึง และก็ใช้วิจารณญาณได้ถูกต้อง เป็นคนมั่นคงมีสติมีสมาธิ สติคือความระลึกรู้ที่ถูกต้องอยู่เสมอว่าไอ้ของที่จะใช้อะไรอย่างไร มีสมาธิคือความมั่นคงเมื่อตัดสินว่าถูก ก็ถูก ตัดสินว่าให้ก็ให้ แต่ไม่ใช่ยึดมั่น แต่มันมีเหตุปัจจัยที่จะประกอบเหตุผลว่าเป็นอย่างนี้ ๆ โดยถือหลักสำคัญว่า เกิดประโยชน์หรือไม่เกิดประโยชน์
ผู้ร่วมรายการ: วิจารณญาณเราถูกต้องแล้ว แต่คนที่ยืมเขาหาว่าเราเห็นแก่ตัวจังเลย แค่นี้ก็ยืมไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ต้องถามตัวเองว่าเราเห็นแก่ตัวหรือเปล่า เขาว่า เห็นแก่ตัวแค่นี้ก็ไม่ให้ยืม เราก็ย้อนกลับมาถามตัวเราลองดูว่าการกระทำนี้เห็นแก่ตัวหรือเปล่า ถ้าเราสามารถจะตอบใจเราได้แจ๋ว ใสแจ๋ว เราไม่ได้เห็นแก่ตัวเลย ด้วยเหตุที่เราได้มองเห็นแล้วว่าการที่จะเอาไปจะไม่เกิดประโยชน์ เราก็ไม่ต้องเดือดร้อนเพราะ เราแน่ใจ แน่ใจในการกระทำนั้นว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ การที่สงวนไว้เพื่อไม่ให้ เพื่อจะใช้ประโยชน์ในทางข้างหน้า ซึ่งยังจะมีมากอีกต่อไปข้างหน้าให้เกิดประโยชน์ได้จริงๆ นี่แหล่ะตรงนี้ ถ้าเราทุกข์ นั่นล่ะ เราเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวตอนทุกข์เนี่ย เห็นแก่ตัวตอนนี้ เข้าใจไหม
ผู้ร่วมรายการ: คนในสังคมเราโดนสอน มองดูเหมือนสอนให้เห็นแก่ตัวโดยไม่รู้ตัว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันนี้เป็นคำถามที่ดีมากทีเดียว เพราะเหตุว่าปัญหาที่เกิดจากความเห็นแก่ตัวเป็นเพราะเหตุว่า คนเรานี่ถูกอบรมหล่อหลอมมาจากสิ่งแวดล้อมอย่างนี้ คือจากบุคคล และก็จากสิ่งแวดล้อม จากเหตุการณ์อย่างนี้ เหมือนอย่างที่ว่า ว่าพอตอนที่เด็กหกล้ม พ่อแม่พี่เลี้ยงนางนมก็ อะไร ใครทำๆ เก้าอี้นี่หรือทำ ทั้ง ๆ ที่เด็กนี่วิ่งไปชนเอง ต้องตีเก้าอี้หน่อย ต้องตีโต๊ะหน่อย ทั้ง ๆ ที่โต๊ะเก้าอี้ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย เด็กนั้นก็สะสมความสำคัญว่าเราถูก สำคัญว่าเรานี่เป็นคนถูก ดู ซิเดินไปชนเก้าอี้ เก้าอี้มันยังถูกตี ชนโต๊ะ โต๊ะยังถูกตี นี่ก็สะสมความรู้สึกนี้ พอโตขึ้นไปทำอะไรเข้าบางทีมันก็ไม่ถูกต้องไปทะเลาะกับเพื่อน พ่อแม่ปู่ย่าตายาย เพื่อนคนนั้นมันไม่ดีเลยต่อไปอย่าไปคบอีก มันคนพาลเกเรอย่างนั้น ๆ ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงนี่ ลูกหลานของเราไปเกเร เกะกะกับเขาก่อน แต่ว่าความรักของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ก็ทำให้เห็นแก่ตัว เด็กคนนั้นก็สะสม สะสมความรู้สึกว่าเราถูก แต่ในความที่เราถูกน่ะ เราใหญ่ขึ้นมาด้วยโดยไม่รู้ตัว ไอ้ความรู้สึกเป็นตัวตนนี้มันก็สะสมขึ้นมา พอไปเข้าโรงเรียน การเรียนการศึกษาก็มักจะสอนว่า ให้เป็นคนเก่ง เรียนไปให้เป็นคนเก่ง เรียนให้สอบไล่ได้ดีๆ ก็เก่งนี่ ต้องเก่งมากกว่าคนอื่นเขาด้วย หรือเมื่อไปเรียนถึงวิชาชีพ ในขั้นมหาวิทยาลัยต่อไป หรือในขั้นวิทยาลัยอาชีวะศึกษาอะไรก็ตามที ก็ได้รับการสอนว่าต้องให้มีความสำเร็จในอาชีพนี้ เรียนและต้องให้สำเร็จในอาชีพ ความสำเร็จในอาชีพคืออะไร คือต้องมีความก้าวหน้ากว่าเขา ก้าวหน้าในทางทรัพย์สิน มีรายได้ดีกว่าเขา มีตำแหน่งการงานดีกว่าเขา และก็มีอะไรๆ ที่ได้มากกว่าเขา นั่นแหล่ะคือความสำเร็จในอาชีพ เพราะฉะนั้น เด็กหรือเยาวชนของเรานี่ ได้รับการสั่งสม ในความคิดหรือทัศนคติแนวๆ นี้เรื่อย ๆ ไอ้ความเห็นแก่ตัวมันก็เพิ่มพูนขึ้นมา เราต้องเก่งกว่าเขา เราต้องดีกว่าเขา เราเป็นคนเก่ง เราเป็นคนดี เราเป็นคนมีความสำเร็จ เราเป็นอะไร มันก็ center คือ ศูนย์กลางอยู่ที่เรา เรา เรา ในความสำคัญมั่นหมาย ความยึดมั่นถือมั่นมันก็มากขึ้น และความเห็นแก่ตัวก็เพิ่มตามขึ้นมาเรื่อยตามลำดับ แต่ในขณะที่ความเห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยตามลำดับจากประสบการณ์ในชีวิตที่รับมานี่ เสร็จแล้วพอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น สิ่งนี้มันก็ยิ่งทวีอัตรากำลังแรงมากขึ้นทุกที ๆ มันก็ต้องมีจุดมุ่งหมายว่า เราต้องได้มากกว่าคนอื่นเขา ฉะนั้นจะได้มากโดยวิธีไหนไม่สำคัญ เพราะมันมีความเห็นแก่ตัวซ่อนอยู่ ขอให้ได้เถอะ ก็เหมือนอย่างที่เราเห็น เพราะฉะนั้นก็มีแต่การเบียดเบียนกัน การแก่งแย่งกัน เพราะเหตุว่าเราได้รับการสอนหรือการอบรมมาทางนี้โดยไม่รู้ตัว และผู้ให้การอบรมก็ไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้คิดตั้งใจจะสอนลูกหลานให้เป็นคนเห็นแก่ตัว เพียงคิดว่าจะสอนลูกหลานให้รู้จักเอาตัวรอด โดยไม่คิดว่าการเอาตัวรอดนี่แหล่ะเป็นความเห็นแก่ตัว ถ้าจะเอาแต่ตัวรอดคนเดียวแล้วทิ้งคนอื่นให้ได้รับความทุกข์นี่คือ ความเห็นแก่ตัว
ว่าอันที่จริงตัวเองนั้นก็ถูกความเห็นแก่ตัวนี่แหละกัดกินให้เป็นทุกข์อยู่ในใจ เหมือนอย่างที่จะเลิศถาม เมื่อครู่นี้ที่บอกว่า เขาว่าคุณอย่า เห็นแก่ตัว แล้วที่ครูย้อนถามว่า แล้วเป็นทุกข์มั้ย ก็บอกเป็นทุกข์ เพราะความเห็นแก่ตัวเรากลัวเขาจะดุว่า คือกลัวเขาว่าเราเป็นคนเห็นแก่ตัว เราก็เป็นทุกข์ เพราะการที่ถูกว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว มันเสียยี่ห้อมาก เสียเครดิตมากเลย เราไม่อยากเป็นคนอย่างนั้น เราไม่อยากเห็นแก่ตัว ทั้งที่รู้ว่าเราก็ทำถูก เราตัดสินถูกแล้วในกรณีนั้น แต่กระนั้นเราก็ยังมากลัว นี่คือความรักตัว กลัวจะถูกเขาว่าไม่ดี ก็เลยเป็นทุกข์ เห็นมั้ยนี่ ความเห็นแก่ตัว แม้แต่จะเห็นแก่ตัวในทางที่ดีก็ยังเป็นทุกข์ ถ้ายิ่งเห็นแก่ตัวในทางไม่ถูก ไปเบียดเบียนเขามันก็จะทุกข์มากขึ้น ถึงแม้หน้าจะดูเหมือนจะไม่ทุกข์ แต่นึกดูเถอะ ไอ้คนเห็นแก่ตัวน่ะ ใครเขารักบ้าง ใครเขาชอบบ้าง คือเป็นไอ้เด็กเห็นแก่ตัวหรือ ผู้ใหญ่เห็นแก่ตัว เป็นที่รักของใครบ้าง เป็นที่นับถือของใครบ้าง ไม่มีมีแต่เขาเกลียด มีแต่เขาเบือนหน้าหนี เพราะฉะนั้นความทุกข์จึงได้เกิด ถึงแม้ขณะนั้น จะทำตัวเป็นผู้ใหญ่ยิ่งใหญ่ก็ตามมันก็ฝืน ฝืนแย้มยิ้ม แต่ข้างในมันหม่นหมอง เหี่ยวแห้งอยู่ในใจ นี่คือความทุกข์ที่เกิดขึ้น แต่ก็เพราะไอ้ความยึดมั่นถือมั่นกับความเป็นตัวเป็นตนถึงยอมได้ คือจะฝืนทำตะบึงทำต่อไปอีก ฉะนั้นความเห็นแก่ตัวมันจึงละเอียดอย่างที่ว่า
ผู้ร่วมรายการ: เท่าที่ฟังมา รู้สึกเห็นแก่ตัวเยอะ อาจจะขูดออกได้นิดหน่อย อาจจะเป็นไม้แก่ดัดยาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นี่คือความเห็นแก่ตัว จึงมีข้ออ้างว่าไม้แก่ดัดยาก อันที่จริงแล้วเราจะเป็นไม้แก่ไม้อ่อนถ้าเราเริ่มขูดดู เราเริ่มทำวันนี้ มันก็จะแก้ไขได้ เราจะแก้ไขได้อย่างไร ก็ด้วยการที่ว่า เมื่อใดที่เรารู้สึกมีความทุกข์เกิดขึ้นในจิต ไม่สบายใจเลย อยากที่จะไม่สบายใจ ถ้าเราไม่อยากก็บอกตัวเอง นี่เห็นแก่ตัวแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็อย่าทำไอ้จิตนั้นอีก ไอ้พลังจิตที่ทำให้เรามีความทุกข์ เราอย่าทำอย่างนี้อีก เราลดละมันเสีย ความเห็นแก่ตัวก็จะค่อย ๆ ลดลงด้วยการที่ว่า ถ้าเรารู้สึกไม่อยากจะให้อะไรใคร ตอนนี้ไม่อยากให้อะไรใคร ให้โดยรู้ว่านี่ถูกต้องเหมาะสมในการที่จะให้ เราก็จะได้ความสุขใจเข้ามาแทนที่ ความเห็นแก่ตัวก็ลดลง
ผู้ร่วมรายการ : เราฝืนใจที่จะทำ แล้วเราก็จะพบว่าความเห็นแก่ตัวลดลง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เราก็จะรู้สึกว่าความเห็นแก่ตัวของเราลดลง โดยไม่รู้ตัว
ผู้ร่วมรายการ: ขณะที่เรากำลังทำอย่างนี้อยู่นะครับ จุดหมายก็จะรับหรือจะเอา
อุบาสิกา คุณรัญจวน า : เรายังไม่เลือกนี่ เรายังไม่เลือกว่าจะเราควรจะให้หรือยังในกรณีนั้นจึงจะเหมาะสม เราก็ควรจะให้แก่ผู้ที่เขามีความต้องการ คือเขามีความขาด แต่ในความขาดของเขาไม่ใช่ขาดเพราะขี้เกียจ แต่ขาดเพราะโอกาส เหตุปัจจัยมันไม่อำนวย เราก็ส่งเสริมช่วยเหลือเขา เพื่อช่วยสร้างสรรค์ให้เขามีโอกาสพัฒนาตัวเอง อย่างนี้เป็นการให้ที่ถูกต้อง เป็นการให้ที่ไม่ได้ส่งเสริมความโลภ เป็นการให้คือไม่ได้ให้คนขี้เกียจ หรือไม่ทำให้คนเลวลง แต่เป็นการให้เพื่อที่จะช่วยให้เขาสร้างตัวเองได้ ยืนขึ้นได้ด้วยตัวเอง และจะได้มีโอกาสช่วยเหลือคนอื่นต่อไป นี่เป็นการให้ที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นแม้จะให้อย่างชนิดที่ว่าจะลดละความเห็นแก่ตัวก็ต้องเลือกให้ ให้เหมาะสมกับโอกาส อย่างนี้เป็นการฝึกให้เรามีวิจารณญาณที่ถูกต้องที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปด้วย มีตัวอย่างอะไรอีกไหมคะ ว่าเห็นแก่ตัว หรือไม่เห็นแก่ตัว มีตัวอย่างอย่างอื่นอีกมั้ย ที่ได้เคยพบมา
ผู้ร่วมรายการ: การปฏิบัติธรรม การทำความดี อยากให้คนชื่นชมว่าเราเป็นคนดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันนี้เรียกว่าเป็นความเห็นแก่ตัวอย่างดี คือความเห็นแก่ตัวอย่างดี แต่ในความเห็นแก่ตัวอย่างดีนี้มันก็จะนำความทุกข์มาให้อีกล่ะ เพราะสมมติว่าพอมีใครมาพูดถึงผู้ปฏิบัติธรรมแล้วเขาก็จะพูดว่า ปฏิบัติธรรมไปมันไม่เห็นจะวิเศษยังไง เป็นทุกข์มั้ย โกรธมั้ย รู้สึกเสียหน้าไหม พอรู้สึกโกรธ รู้สึกเสียหน้า นั่นล่ะ เห็นแก่ตัว เราอยากปฏิบัติธรรมเพราะอยากให้เขาชมว่าดี หรือบางคนมาปฏิบัติธรรมแล้วก็เกิดยึดมั่นถือมั่นในการปฏิบัติ เข้ามาวัด เข้ามาฝึกปฏิบัติ ถ้าไม่ได้มาแล้วล่ะก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ คือมันไม่ใช่วิถีตามที่ต้องการ แล้วก็รู้สึกขัดใจ หรือไม่ได้มา อย่างนี้เห็นแก่ตัว เพราะว่าเป็นการกระทำที่ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ในขณะที่รู้สึกขัดใจที่จะไม่ได้มา ใจมันก็ไม่สบายหรอก ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเนี่ยในเรื่องความเห็นแก่ตัว เห็นอย่างดีก็ได้ เห็นอย่างไม่ดีก็ได้ ดีหรือไม่ดี ลงเอยด้วยความทุกข์เหมือน ๆ กัน วันนี้ก็เห็นจะต้องจบเพียงเท่านี้ก่อนนะคะ
ธรรมะ สวัสดีค่ะ