แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : มีท่านผู้ชมเขียนจดหมายมาถามว่า ลูกนั้นรักเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ อันนี้สร้างความกลุ้มอกกลุ้มใจกับพ่อแม่มากทีเดียว จะทำอย่างไรดี คงต้องขอให้ท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง ได้ช่วยชี้แนะให้เราได้ทราบกันต่อไปนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ เมื่อกลุ้มใจก็ต้องไม่มีวิธีอื่น นอกจากเพิ่มความเห็นใจให้แก่ลูก เพราะว่าเหตุปัจจัยนั้นมันก็มาจากความห่างเหิน ที่พ่อแม่ได้กระทำให้เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็เพราะความเร่งรัด รวบรัดของเวลา ของการงานอะไรอย่างนี้ แต่บัดนี้เมื่อมันเกิดมากขึ้น พ่อแม่น่าจะต้องทำตัวเป็นเพื่อนให้กับลูกมากขึ้น อย่างเช่น สมมติว่า ลูกเค้ามีเพื่อน ยอมให้ลูกพาเพื่อนมาบ้าน มาพบพ่อแม่มาคุยกันที่บ้านบ้าง ถึงแม้บ้านเราจะไม่ใช่เป็นบ้านที่ร่ำรวย แต่ว่าอย่างน้อยสักเดือนละครั้งเรามีอะไรให้กินให้ดื่ม ดื่มคือหมายความว่ามีน้ำมีน้ำหวานอะไรอย่างนี้นะคะ และก็มีขนมข้าวต้มให้เขาคุยกันให้เขาพูดกัน เล่นกันที่บ้าน ได้อยู่ใกล้เรา เขาก็อบอุ่น ลูกก็จะรู้สึกมีหน้ามีตา ว่าพ่อแม่นี้ใจกว้าง ที่จะให้เพื่อนของเราเข้ามา และพ่อแม่เองก็จะได้สังเกตด้วยว่า เพื่อนๆ ของลูกแต่ละคนเป็นอย่างไร เป็นเพื่อนที่จะพาลูกเราไปในทางที่ดีงดงามหรือ ว่าอาจจะดึงไปในทางที่น่าเป็นห่วง
และพ่อแม่เองจะได้มีโอกาสที่จะได้แก้ไข ในการพูดคุยกับลูกบ้าง พูดคุยกับเพื่อนที่อาจจะพาลูกไปในทางที่น่าเป็นห่วงบ้าง อะไรอย่างนี้ ก็จะทำให้ความใกล้ชิดนี้มีมากขึ้น นอกจากนั้นก็ลองสอดส่องดูว่า ลูกชอบอ่านหนังสืออะไร พ่อแม่ก็ควรจะพยายามอ่านหนังสือที่ลูกชอบ จะได้คุยกัน ถึงแม้ว่าหนังสือที่ลูกอ่านมันจะเป็นหนังสือที่อาจจะเป็นหนังสือที่ไม่มีสาระ หรือเป็นหนังสืออันตรายอะไรอย่างนี้ แต่ว่าถ้าพ่อแม่อ่านด้วยกันมันก็พอจะได้มาคุยกัน คุยกันก็ถือโอกาสชี้แจงจุดไหนอย่างมีศิลปะ แต่ไม่ใช่การออกคำสั่ง ว่านี่แกต้องหยุดนะ แกจะอ่านอันนี้ไม่ได้ เพราะอย่างนั้นอย่างนั้น
ผู้ดำเนินรายการ : ใช่ครับ วัยรุ่นชอบแอบอ่านหนังสือโป๊อะไรกันนี้นะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วลูกก็จะยิ่งต่อต้าน ก็พ่อแม่ก็ย้อนนึกถึงตอนที่พ่อแม่เป็นเด็กขนาดนี้บ้าง อย่าลืมเสีย ใช่ไหม เราผ่านมาตอนนั้นเราเป็นยังไง เราอยากอะไร เราต้องการอะไร ลูกเขาก็เหมือนเรา ถ้าเรานึกอย่างนี้เราจะมีความเห็นใจมากขึ้น แล้วก็โทรทัศน์รายการที่ลูกชอบดู ชอบดูรายการอะไร หรือเขาไปเที่ยวที่ไหน ไปด้วย ถึงแม้ว่ามันจะเสียเวลา เสียความสุข ความพอใจส่วนตัวของพ่อแม่ แต่ถ้าพ่อแม่บอกว่าเราทำอะไรทุกอย่างมานี่ สร้างอะไรทุกอย่างเพื่อลูก มันก็จำเป็นที่จะต้องเสียสละ นั่นแหล่ะ ต้องทำด้วยความอุตสาหะพยายาม เรียกว่า อิทธิบาท4 มาอีกแล้ว ต้องใช้อิทธิบาทสี่ แล้ววันหนึ่งก็อาจจะได้ลูกกลับคืนมาทีละน้อยๆ อย่างน้อยที่สุดลูกอาจจะเห็นใจและก็บางครั้งลูกเขาก็อาจจะเบื่อเหมือนกัน
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ มีคำถามเหมือนกันว่าพ่อแม่เข้ามายุ่มย่ามในชีวิตเขาเกินไป เขาอยากให้พ่อแม่รักเหมือนกัน แต่เขาขอห่างๆผมหน่อยได้ไหม คืออย่ามาจิกมาดูห้องนอน มารื้อมาค้น หรือมาแอบตรวจสอบของส่วนตัวของเค้า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อย่างนี้ไม่สมควร พ่อแม่ควรมีมารยาท นี่เป็นการล่วงล้ำสิทธิของลูก ในเมื่อเรายกให้แล้วว่าอันนี้เป็นห้องของเขา เราก็ไม่ควรไปล่วงล้ำจนเกินไป แต่ถ้ารู้สึกว่ามันจะมีอะไรที่น่าเป็นห่วงอยู่ในห้องนั้น ก็ค่อยๆ ใช้ศิลปะในการดู ในการสังเกต หรือในการพูดคุยแทนจะถือโอกาสไปจ้วงจาบเขา และถ้าเมื่อใดลูกแสดงความรู้สึกว่าตอนนี้อยากจะเป็นส่วนตัวจริงๆ ไม่อยากจะให้พ่อแม่มาเกี่ยวข้อง ไม่อยากให้พ่อแม่ไปด้วย อ่ะ เราก็ยอม ยอมเขา เรียกว่าพ่อแม่พยายามเป็นประชาธิปไตยเต็มที่ ใจกว้าง ให้เสรีภาพแก่ลูก แต่ในขณะเดียวกันนี่ ตาหูของเรานี่ เราก็จะสอดส่องคอยดู คอยฟังคอยติดตามอยู่เสมอ ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าเหมือนกับเราเล่นว่าว เราก็รู้จักว่าพอเหมาะอย่างไร เราถึงจะเลี้ยงว่าวนี้ให้มันได้ลอยขึ้นสูงได้ และก็ลอยอย่างสูงสง่าด้วย และลูกก็จะไม่รู้สึกว่าพ่อแม่นั้น เข้ามาก้าวก่ายมากเกินไป แต่ก็จะค่อยๆ เห็นใจว่า นี่พ่อแม่เขาอดทนนะ เขาอดทนกับเราหลายอย่างเลยเชียว และที่เขาอดทนได้เพราะเขาทั้งรักเราและห่วงเรา เขาปรารถนาดีต่อเรา
แล้วเชื่อว่าในจิตสำนึกของลูกที่เป็นมนุษย์ธรรมดาทั่วไป ไม่แข็งกระด้างเป็นหินหรอก ยังไงก็ต้องอ่อนโยน ต้องเห็นใจพ่อแม่ เพราะฉะนั้นก็ขอให้พ่อแม่มีความอดทน ถ้าเราได้ปล่อยเหตุปัจจัย มันพลาดมาแล้ว บัดนี้เราก็ต้องตามแก้ และนี่แหล่ะจึงนึกถึงคำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า กันดีกว่าแก้ หรือเราจะต้องกระทำทุกอย่างในชีวิตด้วยความไม่ประมาท ถ้าเราไม่ประมาทเลย ว่าไม่เป็นไร ไม่เป็นไรนี่ก็นิด นี่ก็หน่อยมันรวมกันเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาแล้วแก้ยาก ฉะนั้นก็จงเตรียมตัวเป็นพ่อแม่ที่ดีเสียตั้งแต่แรกเริ่มที่รู้ว่าจะมีลูก
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ คนที่ต้องเป็นพ่อแม่คนนี่ ก็เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์อยู่นะครับ นอกจากจะต้องอดทน ต้องให้ความรัก ต้องให้เวลา แล้วจะต้องเป็นเพื่อนของลูกอีกนะครับ อย่างไรก็ตามนั่นก็คือด้วยความรักที่เรามีต่อลูกของเรา เราก็ต้องพยายามทำกันต่อไปนะครับ ท่านผู้ชมยังมีปัญหาเข้ามาอีกนะครับว่า ลูกนี้ไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อแม่ ไม่เชื่อฟังไม่เท่าไหร่นะครับ สิ่งสำคัญที่สุดคือว่า เขาชอบโกหก ตรงนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร คงต้องให้ ท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง ช่วยต่อไปนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ต้องนึกดูถึงเหตุปัจจัยเสมอนะคะ ทำไมลูกจึงโกหก พ่อแม่น่าจะต้องค้นหาสาเหตุว่า ทำไม เพราะอะไรลูกเราถึงชอบโกหก ที่ลูกโกหกนี่เป็นเพราะว่า พ่อแม่ดุเกินไปหรือเปล่า พอบางทีลูกตั้งใจพูดความจริงรับสารภาพ แทนที่พ่อแม่จะเห็นใจ ลูกเราก็ยังกล้าหาญนะ และก็ยังซื่อสัตย์ที่รับสารภาพ พ่อแม่ก็ดุซ้ำหรือบางทีก็ลงโทษซ้ำ ก็ทำให้ลูกเสียใจ และก็รู้ว่าพุทโธ่เอ้ย อย่างนี้เราไม่รับเสียก็จะดี ถ้าเราไม่รับแล้วพ่อแม่จะรู้ได้ยังไง
เพราะฉะนั้นพ่อแม่จะต้องดู ย้อนมาดูเราว่า อะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ลูกโกหก ถ้าเป็นเพราะว่าพ่อแม่ชอบลงโทษ ชอบดุซ้ำ และก็ปราศจากความเห็นอกเห็นใจ ถ้าในกรณีอย่างนี้พ่อแม่ก็แก้ตัวเอง และก็อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า พ่อแม่เองนี่เป็นคนชอบพูดไม่จริงหรือเปล่า จนกระทั่งลูกจับได้ อันนี้สำคัญมากเลยนะคะ เวลาที่คุยกับเพื่อนกับฝูงก็ดี ทำเหมือนกับพูดเล่นๆ หัวๆ แต่ความเป็นจริงลูกรู้ว่า เนี่ยพ่อแม่กำลังพูดไม่จริงและก็มีความตั้งใจในการพูดไม่จริงนั้นด้วย เพื่อประโยชน์บางอย่างของพ่อแม่ ซึ่งถ้าหากลูกบางคนนี่เขาเป็นคนมีความคิดที่ลึกซึ้งนะคะ เขาฉลาด เด็กนี่เขาจะมีความฉลาด มีความละเอียดปราณีตในระดับนึง เขาอาจจะรู้สึกอาย อายแทนพ่อแม่ ว่าพ่อแม่เราทำไมถึงทำอย่างนี้
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่า เขามีความรู้สึกอย่างนี้เข้า บางทีเขาไม่รู้จะแก้พ่อแม่ยังไง เขาอาจจะแก้ได้ว่า แกล้งโกหกให้พ่อแม่เห็น ว่าการโกหกนี่มันไม่ดีอย่างไร นั่นก็ได้ นี่พูดถึงว่าลูกที่ดีนะคะ แต่ถ้าลูกที่มีนิสัยเอียงไปในทางนั้นแล้ว ก็กลับจะไปคิดว่า การโกหก การพูดไม่ดีนี่มันคงดีละมั้ง พ่อแม่เราถึงได้โกหกอยู่เรื่อย โกหกเพื่อจะให้ได้งาน โกหกเพื่อจะให้ได้เงิน โกหกเพื่อจะให้ได้เพื่อน โกหกเพื่อจะได้ประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้ รวมความว่าถ้าความปลิ้นปล้อนของพ่อแม่มีอยู่เสมอ มันก็อาจจะเป็นตัวอย่างที่ประทับลงไปในใจของลูกโดยพ่อแม่ก็ไม่ได้คาดคิด อันนี้ก็ต้องหันมามองดู แต่ถ้าหากพ่อแม่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย พ่อแม่มีความเห็นอกเห็นใจลูกอยู่เสมอ แต่ลูกก็ยังโกหก ก็ต้องดูเหตุปัจจัยอื่น เช่น ในวงสมาคมของเพื่อนฝูงของเขา เด็กๆ นั้นน่ะลูกของเราได้ไปเที่ยวได้ไปทำอะไรที่พ่อแม่เคยห้ามเคยว่าเอาไว้ไหม แล้วเขาเกิดความกลัว พ่อแม่ก็ต้องใช้วิธีปลอบประโลมด้วยความเห็นอกเห็นใจ ให้ลูกรู้ว่าถึงลูกจะได้กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดพลาดเพียงไร พ่อแม่ก็อยากจะรู้ อยากจะเข้าใจและก็อยากจะเห็นใจ
เพราะฉะนั้นก็ต้องดูวงแวดล้อมของลูกว่าเป็นยังไง และก็ดู ถ้าหากว่าดูไป จนกระทั่งถึงการศึกษาที่เด็กได้รับที่โรงเรียน บางทีการสอนที่โรงเรียน ของครูบางคนที่ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ของครูอย่างแท้จริง อาจจะมีวิธีการสอนอะไรบางอย่างที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าต้องโกหกถึงจะเอาตัวรอด มิฉะนั้นจะถูกลงโทษมาเรื่อย ก็อาจจะเป็นได้ นี่ไม่ได้โทษครูนะคะ แต่ว่ามันอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งก็ได้ แล้วลูกก็เลยติดนิสัย จากการที่ทำบ่อยๆ ทีนี้ถ้าดูเหตุปัจจัยที่รายล้อมแล้วทุกอย่างแล้วมันไม่มีอะไร อันนี้มันอาจจะเกิดจาก อาการทางจิต อย่างใดอย่างนึง ถ้าในกรณีนี้ก็ต้องพาไปหาจิตแพทย์ เพื่อที่จะลองไปปรึกษาดูว่า ในแง่ของการรักษาทางจิตเวชจะมีวิธีแนะนำพ่อแม่อย่างไร ที่จะได้ช่วยแก้ไขนิสัยเรื่องนี้ของลูกให้ดีขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ : แสดงว่าพ่อแม่นี่จะต้องเป็นฝ่ายที่จะต้องพยายามเห็นใจลูก เข้าใจลูกมากที่สุดเลยนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แน่นอนเลย เพราะฉะนั้นท่านถึงยกให้พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ไงคะ เพราะความอุตสาหะที่จะต้องพากเพียรพยายามเสียสละอุทิศตัวอย่างสูงสุด เพื่อลูก เพื่อให้ลูกเป็นบุคคลที่ถูกต้องที่มีประโยชน์ พ่อแม่ถึงได้เหน็ดเหนื่อยมาก คนที่เป็นพ่อเป็นแม่กว่าจะเลี้ยงลูกโตมาได้แต่ละคนนี่ต้องยกมือไหว้เลยนะ ต้องนับถือเพราะมันไม่ใช่เป็นงานง่ายเลย ก็นึกถึงการสร้างป่า ปลูกป่า มันยากแค่ไหน แต่การปลูกคน สร้างคนมันยากยิ่งกว่า เพราะมันมีชีวิตจิตใจ ป่านี่ถ้าเราปลูกอย่างถูกวิธี ดูแลรักษาอย่างถูกวิธีก็ยังไม่ต้องหนักใจ ก็ปล่อยให้มันเติบโตไปตามธรรมชาติ แต่นี่คนมีชีวิตมีจิตใจ มีความคิด มีความรู้สึก แล้วยังถูกสิ่งแวดล้อมกระตุ้น มันก็ยิ่งยากกว่า
เพราะฉะนั้นการเลี้ยงคนการปลูกคนมันถึงยากกว่า จึงจำเป็นต้องเสียสละอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตามต้องหันมาที่การศึกษา ถ้าเรามีการศึกษาที่ถูกต้องนะคะ ผู้ให้การศึกษา ผู้บริหารการศึกษาจัดการศึกษาอย่างถูกต้องแล้วล่ะก็ จะสอนเด็กๆ ให้รู้ว่า คุณค่าของชีวิตของมนุษย์คือการรู้จักทำหน้าที่ที่ถูกต้อง ทุกหน้าที่ เพราะฉะนั้น พอเขาจะทำหน้าที่อะไร พอจะเริ่มมีคู่รักทำหน้าที่คู่รักถูกต้อง พอเริ่มเป็นสามีภรรยา ทำหน้าที่สามีภรรยาถูกต้อง พอเริ่มจะเป็นพ่อแม่ซึ่งสำคัญที่สุด เขาก็จะเป็นพ่อแม่ที่ถูกต้อง หรือไปทำหน้าที่อะไรก็ถูกต้องหมด เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงควรมีรากฐานของคุณธรรมเป็นสิ่งนำ
ผู้ดำเนินรายการ : ขอบพระคุณครับ ท่านผู้ชมครับ การสร้างคนให้เป็นคนดีนั้น นอกจากจะเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายพ่อแม่แล้วท่านอาจารย์คุณรัญจวนยังได้เรียกร้องให้ฝ่ายการศึกษาให้จัดการศึกษาที่ถูกต้องอีกด้วย เรื่องของการจัดการศึกษาที่ถูกต้องนั้น ท่านอาจารย์คุณรัญจวนบอกว่า ถ้าหากว่าเราสอนเด็กให้รู้ว่า คุณค่าชีวิตของมนุษย์ ก็คือ การได้รู้จักทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง เมื่อเขาเติบโตขึ้นมาจะมีบทบาทอะไรในสังคมก็แล้วแต่ จนมาถึงบทบาทของการเป็นพ่อแม่ ก็จะทำหน้าที่ของพ่อแม่ได้อย่างถูกต้อง เป็นเรื่องที่เรียกร้องไปถึงฝ่ายการศึกษา ว่าควรจะมีการจัดการศึกษาโดยมีรากฐานของจริยธรรมอีกด้วยนะครับ