แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมะสวัสดีค่ะ ธรรมะสวัสดีนะคะ
ผู้เข้าร่วม : สวัสดีค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เป็นอย่างไรบ้างคะ การปฏิบัติ
ผู้เข้าร่วม : ไม่คืบหน้า มีปัญหา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่คืบหน้า มีปัญหา เป็นอย่างไร
ผู้เข้าร่วม : เหมือนที่ท่านอาจารย์บอกให้คิดเรื่องของเวทนา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ
ผู้เข้าร่วม : คิดไม่ได้ ตามที่สอนไว้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือเวทนานี่ไม่ต้องคิด ไม่ต้องไปคิดถึงมัน มันมาเอง คือมันมาเอง รบกวนอยู่ตลอดเวลาใช่ไหม
ผู้เข้าร่วม : มันรบกวนให้มันหายไปเนี่ย พอลมหายใจ กำหนด ให้มันหาย ไม่หาย มันยังโกรธต่อ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าโกรธต่อ ก็หายใจให้ยาว ลึก แรง
ผู้เข้าร่วม : ต้องเดินหนีคนที่เราทะเลาะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ อาจจะเป็นได้ ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่เข้มแข็งพอ เราก็ใช้วิธีเลี่ยงหนีก่อน พร้อมกับกำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจให้ได้ตลอด อย่างนี้ตลอดเวลา พอลมหายใจ เราอยู่กับลมหายใจอย่างนี้ พออะไรมาแทรกแซงก็ยาก เพราะว่าจิตนี้ในชั่วขณะหนึ่ง ขณะหนึ่งนี่ มันจะทำหน้าที่ได้อย่างเดียว ถ้ามันทำหน้าที่อยู่กับลมหายใจ มันก็จะอยู่อย่างแม่นยำ นี่พูดถึงโดยเฉพาะผู้ฝึกหัดใหม่นะคะ ถ้าสมมุติว่าเราฝึกหัดไปนานๆ เราก็อาจจะทำอะไรได้มากกว่าหนึ่งอย่าง แต่ในตอนแรกๆนี่ เมื่อเรากำหนดจิตนี่ต้องอยู่กับลมหายใจ เหมือนอย่างกับเราฝึกหัดขับรถครั้งแรก จะเป็นรถจักรยานยนต์หรือเป็นรถยนต์ก็ตาม เราเกร็งเต็มที่เลยใช่ไหมคะ เพราะเราไม่แน่ใจว่าเราจะบังคับรถอยู่ คราวนี้คงต้องรู้ดี เราเกร็งเลยเชียว ทั้งมือทั้งตัวมันเกร็งไปหมด เพราะเรากลัวจะไปชนเขา แต่พอเราชำนาญเข้าๆ ตอนนี้ก็ชักจะสบาย มือไม่ต้องจับ ไม่ต้องกำพวงมาลัย แตะๆไว้เท่านั้นก็ได้ พอจะเลี้ยวเท่านั้นละ แตะนิดเดียวมันก็ไปล่ะ นี่ก็มีความชำนาญ แล้วก็นอกจะนั้นบางทียังจะกินขนมไปก็ได้ มือหนึ่งกินขนม มือหนึ่งแตะพวงมาลัย หรือว่าเราจะคุยกับเพื่อน บางคนแถมทำเป็นอ่านหนังสือก็ยังได้ มีลูกเล็กๆก็เอาลูกมานั่งที่ตักแล้วก็ขับรถไป นี่เพราะเขามีความชำนาญ เขาก็ไม่เกร็ง เขาก็ไม่เครียด ก็เช่นเดียวกัน ตอนแรกที่เรามาฝึกปฎิบัติ กำหนดจิตอยู่กับลมหายใจ เรายังไม่ชำนาญใช่ไหมคะ เราก็รู้สึก จะทำอย่างไรนะๆ ถึงจะบังคับให้จิตอยู่กับลมหายใจได้ นี่ก็เพราะเราเอาตัวเรามายุ่งกับการปฎิบัติมากเกินไป ฉันจะทำอย่างไรนะๆ ใช่ไหม ทำไมฉันถึงจะทำได้ เห็นไหม เจ้าตัวฉัน โผล่หน้าเข้ามาเมื่อไรล่ะก็ มันได้เรื่องทุกที แม้แต่ในการปฎิบัติภาวนา มันก็ทำให้การปฎิบัติของเรานี่ เฉไฉออก ไม่ได้อย่างที่เราต้องการ เพราะมัวแต่กังวลจะสนองความต้องการของเจ้าตัวฉัน เพราะฉะนั้น ลืมตัวฉันสักบ้างในขณะที่ปฎิบัติ ลืมสะ อย่าให้ว่าฉันกำลังทำ ให้มีแต่การกระทำ ที่อยู่กับลมหายใจ แล้วจะรู้สึกดีขึ้นมาก แล้วก็เรายังรู้สึกว่ายังไล่ไม่ได้ นั่งตัวตรง หรือยืนอยู่ก็ยืนตัวตรง เพื่อให้ลมหายใจมันผ่านเข้าออกได้คล่องแล้วก็สะดวก
ผู้เข้าร่วม : ไม่ต้องไปนึกถึงมันใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ไม่ต้องไปนึกถึงมัน
ผู้เข้าร่วม : ว่ามันกำลังหายใจเข้า หายใจออก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็เรากำลังหายใจอยู่ทุกวันนี่ เคยนึกหรือเปล่า
ผู้เข้าร่วม : ไม่เคยนึก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็นั้นนะสิคะ
ผู้เข้าร่วม : พอมาฝึกแล้วนึกครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : พอตอนนี้ทำไมต้องเกิดมานึกขึ้นมาล่ะ เห็นไหม เพราะมีตัวขึ้นมาแล้ว ฉันกำลังฝึกปฎิบัติ เห็นไหมคะ
ผู้เข้าร่วม : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ฉันนี่ เข้ามาทำยุ่ง ฉะนั้นเรื่องของเวทนานี้ เราจะต้อง มันเกิดขึ้นทุกขณะ มันมาอยู่เรื่อย เราก็ให้รู้เท่าทัน ทุกลมหายใจเข้าออก ที่นี้ ถ้าสมมุติว่าผู้ปฎิบัตินี่ สามารถบังคับลมหายใจได้แล้ว ได้ทุกขณะอย่างที่ว่าแล้ว อยากจะบังคับเวทนาได้เมื่อไร เมื่อไรก็บังคับได้ ด้วยการกำหนดลมหายใจของเรา พอเราทำได้อย่างนี้ ตอนนี้ล่ะ เราจะ
คืบคลานเข้าไปสู่สิ่งที่เรียกว่าจิต ที่เรามาปฎิบัติจิตภาวนานี่ รู้ไหมจิตอยู่ที่ไหน จิตคืออะไร เรารู้แต่ว่าชีวิตประกอบด้วยกายกับจิต รูปกับนาม กาย เรารู้เรื่อง แต่จิตนี่ รู้
ผู้เข้าร่วม : ตอนแรกเข้าใจว่าอยู่ที่หัวใจ บางครั้งอยู่ที่สมอง แต่เดี๋ยวนี้ไม่รู้แล้วมันอยู่ตรงไหนแล้วครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : การที่จริงนั้น หัวใจกับใจหรือจิต ไม่ใช่อันเดียวกัน หัวใจนี่มันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตใช่ไหม เพื่อไปเลี้ยงร่างกาย นี่คือหัวใจ เพราะฉะนั้นมันเป็นวัตถุ จึงมีการผ่าตัดหัวใจเปลี่ยนลิ้นหัวใจหรืออะไรใช่ไหมคะ เมื่อหัวใจมันชำรุด แต่สำหรับจิตหรือใจนี้เป็นนามธรรม มันไม่ใช่วัตถุ เธอจึงมองไม่เห็น ซึ่งเหตุนี้ละ ที่พอเราปฎิบัติหมวดกายานุปัสสนาสติ เราก็มาปฎิบัติเวทนานุปัสสนาต่อ เพราะเวทนานี้คือความรู้สึก ซึ่งเป็นอาการของจิต เราจะบอกว่า บางคนเขาพูดว่า จิตดี ใจสบาย นั้นก็เพราะเรารู้สึกดี เรารู้สึกสบายใช่ไหมคะ เรารู้สึกดี รู้สึกสบาย เราก็บอกว่านี้ใจฉันดีดี๊วันนี้ ใจสบ๊ายสบาย หรือวันนี้คุณแม่ใจดี๊ดีเพราะคุณแม่ยิ้มแย้มแจ่มใส ก็เพราะข้างในของคุณแม่สบาย อย่างนี้เป็นต้น
ผู้เข้าร่วม : ใจในทางโลกกับใจในทางธรรม คนละเรื่อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หมายความว่างัย
ผู้เข้าร่วม : หมายความว่าใจในทางโลกคือตัวหัวใจ ที่เรานึก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เปล่า อันนั้นมันเป็นวัตถุไม่เกี่ยวข้องกัน เราไม่พูด ขณะที่เราพูดถึงการปฎิบัติ เราพูดถึงใจหรือจิต ไม่พูดถึงหัวใจ ฉะนั้นต้องเข้าใจว่าหัวใจเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เหมือนกับแขน ขา ตา หู จมูก ลิ้นพวกนี้ มันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิต มันไม่สามารถจะทำหน้าที่แสดงความรู้สึกที่ทำให้เกิดเวทนา ที่เราเรียกว่าเวทนา แต่สำหรับเวทนานี้เป็นอาการของจิต เรามองหาตัวจิตหรือใจไม่เห็น เพราะเป็นนามธรรมอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มันถึงลำบากไง มนุษย์เราถึงลืมจิต ลืมเรื่องของจิต ลืมเรื่องของใจบ่อยๆ เพราะมันมองไม่เห็น เราก็ผ่านข้ามไปข้ามมา ทั้งๆที่เรารู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกสบายหรือไม่สบายอยู่ตลอดเวลา เกี่ยวกับเรื่องของสิ่งที่มันเกิดขึ้นในจิต
แต่เราก็มองข้าม ฉะนั้นเมื่อเราหาตัวจิตไม่พบ เพราะเราไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เราก็ต้องเริ่มต้นศึกษาหรือทำความรู้จักกับมัน ด้วยสิ่งที่เป็น ที่มันแสดงอาการ หรือลักษณะของตัวจิต เราเรียกว่าจะศึกษาจิตผ่านสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่แสดงลักษณะหรืออาการ เราก็ศึกษาจากเวทนา ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ถ้าสมมุติว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้น มันเป็นความรู้สึกที่แช่มชื่น เบิกบาน นั้นก็แสดงถึงภาวะของจิตเบิกบาน แช่มชื่น แต่ถ้าหากว่าเวทนาที่เกิดขึ้นในจิตมันห่อเหี่ยว เศร้าหมอง ขัดเคือง มันก็แสดงถึงภาวะของจิตที่มันอึดอัด แน่น หดหู่ ไม่สบาย อันนี้เราก็จะศึกษาเวทนาอย่างที่ว่า จนกระทั่งเราสามารถบังคับเวทนาไม่ให้เกิดขึ้นได้ เพื่ออะไร เพื่อคล้ายๆกับว่า เราแหวกในอาการต่างๆที่มันมาครอบคลุมจิต ทำให้มันซัดส่ายไปมา หรือว่าฟูขึ้น แฟบลง อะไรๆต่างเหล่านี้ เราแหวกมันออกไปเสีย เพื่อจะได้มองดูตัวจิต แล้วก็หยิบเอาจิตที่เรามองไม่เห็นนี่ล่ะ แต่เราจะค่อยๆรู้สึกถึงมัน ถึงตัวของมันได้ชัดเจนขึ้น ทีนี้นอกจากว่าเวทนานี้ มันจะเป็นอาการของจิตแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ความคิดใช่ไหม ความคิดที่มันเกิดขึ้น ที่ว่ามันเกิดขึ้นแล้วทำให้เราคิดโน้นคิดนี่อยู่ตลอดเวลา ความคิดนี่มันแสดงถึงภาวะของจิต ถ้าคิดดี ก็แสดงถึงจิตดี
ผู้เข้าร่วม : จิตดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าคิดชั่ว จิตมันก็ชั่ว คิดทำร้ายเขา คิดเบียดเบียนเขา นั้นก็คือแสดงถึงภาวะของจิตที่ไม่ดี ใช้ไม่ได้ แล้วเจ้าของจิตเองนั่นล่ะ ก็เป็นทุกข์ ก็ไม่สบายใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น อันนี้ที่เราบอกว่าเราจะมาพัฒนาจิต พัฒนาที่ตรงไหน เพราะตัวจิตหยิบออกมาอาบน้ำ ขัดสีฉวีวรรณไม่ได้
ผู้เข้าร่วม : ทำได้ก็ดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าทำได้เหมือนอย่างเราทำกับกาย อาบน้ำอาบท่า ถูสบู่หอมไปแล้ว ประเดี๋ยวก็เหม็นอีกแล้ว เสื้อผ้าสวยๆงามๆใส่ ประเดี๋ยวก็เหม็น ต้องเอาไปซัก เห็นไหมคะ ท่านถึงบอกว่ากายเน่า อะไรมาถูกเข้ามันก็สกปรกแล้ว แต่ว่ามันเป็นรูปธรรม เป็นวัตถุ มันก็ดูง่าย ง่ายต่อการทำความสะอาด แต่ทำความสะอาดร่างกายนั้นเหล่า มันก็ต้องทำซ้ำซากอยู่นั้นเอง ไม่เคยครั้งเดียว แต่ส่วนจิตนี้มันมองไม่เห็น เราจึงต้องดูอยู่เรื่อย ดูจากความรู้สึกบ้าง ดูจากความคิดบ้าง เพราะฉะนั้นจะพัฒนาจิต พัฒนาที่ไหน มันก็ต้องพัฒนาที่ตรงความคิด เพราะถ้าคิดดี มันก็รู้สึกดี ถ้าคิดชั่วมันก็รู้สึกชั่ว
คือมันรู้สึกไม่สบาย หม่นหมอง ขัดเคืองอะไรก็แล้วแต่ เป็นเรื่องๆไป เพราะฉะนั้นการที่จะพัฒนาจิต ก็คือพัฒนาความคิดให้เป็นความคิดที่ถูกต้อง ความคิดที่ถูกต้องก็คือความคิดที่เป็นสัมมาทิฐิ เป็นสัมมาทิฐิคือเป็นความคิดที่ถูกต้อง จะคิดอะไรก็ถูกต้อง ความคิดที่ถูกต้องนั้นก็คือเป็นความคิดที่ไม่เบียดเบียน ไม่เบียดเบียนใครทั้งนั้นแม้กระทั่งตัวเอง แล้วก็เป็นความคิดที่จะทำประโยขน์ กระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นแก่เพื่อนฝูง หรือแก่การงาน หรือแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นก็นึกดูว่าจิตที่มันยุ่ง มันไม่ว่างเพราะอะไร เพราะมันถูกความคิดแทรกอยู่ตลอดเวลาใช่ไหม เพราะฉะนั้นในหมวดที่ 3 หมวดจิตตานุปัสสนานี่ ก็คือกำหนดจิต ดูลงไปที่จิตทุกลมหายใจเข้าออก หรือบอกกำหนดสติดูลงไปที่จิตทุกลมหายใจเข้าออก ดูสภาวะที่มันเกิดขึ้นในจิตในขณะนั้นว่ามันเป็นอย่างไร มันมีอาการของจิตที่จะดึงเข้ามาเรื่อย เห็นอะไรก็จะดึงเข้ามา ดึงเข้ามา ดึงเข้ามาเป็นของฉัน บางทีไม่เห็น ไม่มีอะไรให้เห็น ก็นึกคิดไป พอนึกถึงโน้น น่ารักดี น่าจะเป็นของเรา อยากจะดึงเข้ามา ไอ้ตำแหน่งอันนั้นมันก็เหมาะกับอย่างเรานะ ความสามารถ ความรู้เราก็มี อยากจะดึงตำแหน่งนั้นเป็นของเรา ผลักใครที่นั่งอยู่ก่อนนั้น ออกไปเสียที ขอให้ยกตำเหน่งอันนั้นมาให้เรา บางทีมัน นั่งอยู่มันก็นึก ดึงเข้ามา บางทีอาการ ความรู้สึกอยากจะดึงเข้ามาเป็นของเรา
ผู้เข้าร่วม : ไม่ได้ก็แย่ง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ได้ ขณะที่คิดจะดึงเข้ามานี่ เวทนาเกิดขึ้นเรื่อยใช่ไหมคะ เวทนาเกิดตามมาทีเดียว เพราะเกิดความร้อนรุ่มขึ้นมา ทีนี้อยากจะได้สมปรารถนา จะได้อย่างที่ต้องการหรือเปล่าใช่ไหมคะ เราก็ถามตัวเองไปล่ะ แล้วถ้าไม่ได้ล่ะ จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ได้ เราก็แย่ เราก็เอาเถอะคิดฟุ้งซ่านไปต่างๆนานา ทั้งที่ยังไม่เกิดอะไรขึ้นเลยสักอย่างใช่ไหมคะ นั่งอยู่กับที่ พอคิดผิดเท่านั้นล่ะ ทำให้เกิดเวทนา ที่จะทำให้เกิดความทุรนทุราย กระวนกระวาย ต่างๆนานาหลายอย่าง นี่เรียกว่าคิดดึงเข้ามา บางทีไม่ดึงเข้ามา พอนึกถึงสิ่งนั้นก็ฮึดฮัด นึกถึงสิ่งนี่ก็ขัดใจ นึกถึงอันโน้นก็หมั่นไส้ รำคาญ ทนไม่ไหว ไม่เอาๆ ออกไปๆ ไปๆ ไล่ไปให้หมด ไม่อยากได้ ผลักออกไปให้หมด ใช่ไหมบางครั้ง พอคิดอย่างนี้
คิดไม่ชอบ คิดไม่ถูกใจ ผลักออกไป นี่เรียกว่าคิดผลัก คิดไม่เอา บางทีก็ไม่คิดดึง ไม่คิดผลัก แต่ว่าคิดวนเวียน หมุนเวียนเหมือนพายเรือในอ่าง หาทางออกไม่ได้ เคยเป็นไหม
ผู้เข้าร่วม : เคย คิดแก้ไม่ตก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คิดไม่ตก แก้ไม่ตก นั้นก็ไม่ดี ไม่มีหนทาง นี้ก็มันตันไปหมด ไม่รู้จะหาทางออกทางไหน แต่ว่าสลัดไม่หลุด คิดวนเวียนวนเวียนอยู่นั้น วิธีที่เราจะศึกษาเรื่องสภาวะของจิต หรือธรรมชาติของจิตของเราอย่างไร ก็ทุกลมหายใจเข้าออก ดูลงไปที่จิตอย่างนี้ ดูลงไปให้รู้ว่าอาการที่เกิดขึ้นกับจิตมันเป็นอย่างไร ดึงเข้ามา แสดงถึงความอยากได้ อยากเอาใช่ไหมคะ อยากได้ อยากเอานี่มันแสดงอาการของกิเลสตัวไหน
ผู้เข้าร่วม : อยากได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : โลภะ กิเลสมีอยู่ 3 ตัวใช่ไหมคะ โลภะ โทสะ โมหะ จะดึงเข้ามา อยากได้ก็คือโลภ โลภะจะเอาทั้งรูปธรรมและนามธรรม ประเดี๋ยวไม่ชอบใจจะผลักออกไป นี่แสดงถึงอาการของอะไร ตัวไหน โทสะไม่ชอบขัดใจ อึดอัด โกรธ ไม่เอา ไปๆให้พ้น ผลักออกไป ทีนี้บางทีมันวนเวียน มันคิดไม่ตก เช่น โกรธขึ้นมาแต่ยังทำอะไรเขาไม่ได้ ก็ยังอยากจะทำอยู่นั้นล่ะ จะต้องเอาให้ได้ คิดวนเวียน นั่งก็คิด นอนก็คิด เรียกว่าตลอดวันตลอดคืน สลัดไม่ตก จนหัวโต ปวดหัวไปเลย คิดไม่ออก นั้นล่ะคืออะไร อาการวนเวียนอย่างนี้ กิเลสตัวที่ 3 โมหะ ซึ่งทั้ง 3 ตัวนี้ เดี๋ยวก็อาการของจิตของมนุษย์นี่ ลองสังเกตุดูนะคะ ไม่ผิดไปจากนี้ ไม่ดึงเข้ามาเป็นความโลภ ก็ผลักออกไป โทสะ หรือมิเช่นนั้นก็โมหะ วนเวียนอยู่นั้น ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง มันสลับหมุนเวียนเปลี่ยนกันมาเรื่อย
ผู้เข้าร่วม : ในทางที่อยากได้กับไม่อยากได้ ปนกันไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ค่ะ อยากได้ ไม่อยากได้ เอา ไม่เอา แล้วพอมันไม่เด็ดขาดลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็วนเวียนๆ หมุนเวียนอยู่นั้นเอง ไม่รอด ไปไหนไม่รอดสักที ใช่ไหม ลองสังเกตุดู จริงๆที่เกิดขึ้นในจิต อย่างนี้ใช่ไหม ถ้าเรารู้สึกว่าใช่ แล้วเป็นอย่างไร ถ้าเราบังคับมันไม่ได้ เราแก้ไขมันไม่ได้ เราก็จัดการกับเวทนาไม่ได้เด็ดขาด ถึงเม้ว่าเราจะใช้ลมหายใจบังคับเวทนาให้หมดไป มันก็หมดไปได้ชั่วขณะ แล้วมันก็กลับมาอีก เพราะจิตนั้นยังคิดให้ถูกต้องไม่ได้ ถ้าคิดให้ถูกต้องได้คือปรับความคิดเสียใหม่ จากความคิดที่จะเอาหรือไม่เอาหรือวนเวียน ให้เป็นความคิดที่มองเห็นว่า ถึงแม้ว่าจะอยากได้ ดึงเข้ามา ได้มาแล้วมันก็เป็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง มาแล้วก็ไป เกิดดับ เกิดดับ ไม่เคยอยู่เที่ยงเลย หรือว่าเราไม่เอา เราก็กลายเป็นทำลายเสีย มันก็อย่างนั้นล่ะ หมดอันนี้ไป มันก็มีอันใหม่เกิดขึ้น อันเป็นธรรมดา เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับอยู่อย่างนี้ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง หรือการที่เราจะมาหมุนเวียน วนเวียนคิดเหมือนกับพายเรือในอ่าง หรือเหมือนอย่างที่เขาว่าสุนัขวิ่งวนเพื่อกัดหางตัวเอง ก็ไม่สำเร็จอีก มันก็จะมีแต่ความคิด จิตนี้จะมีแต่ความทุกข์ ไม่มีความสุขเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น หมวดที่ 3 นี้ จึงเป็นหมวดที่ท่านบอกว่าให้ศึกษาในเรื่องธรรมชาติของจิต เพื่อเราจะได้ทราบว่าจิตนี้มันสะอาดเกลี้ยงเกลาหรือว่ามันสกปรกหรือว่ามันมีอะไรที่จะต้องขัด ต้องล้าง ต้องชะ ต้องถูไป เพื่อให้มันเกลี้ยงเกลาให้มันสะอาด ก็โดยดูไปที่อาการที่เกิดขึ้นที่จิต ซึ่งมันเป็นดัชนีชี้ให้เห็นว่าอาการที่เกิดขึ้นอย่างนี้เพราะมันคิดอย่างนั้นอย่างนี้ ฉะนั้นการที่จะพัฒนาจิต พัฒนาที่ไหน คือการที่มาพัฒนาที่ความคิดให้เกิดความคิดที่ถูกต้องขึ้นมา เพราะฉะนั้นก็ดูอาการ ดูอยู่ทุกขณะ พอเรารู้อาการของจิตของเราว่ามันหนักไปในทางไหน หนักไปทางโลภะหรือโทสะหรือโมหะ หรือว่า 3 อย่างนี้มันชุลมุน จนบอกไม่ถูกว่ามันอะไรมากกว่ากัน เราก็ดูลงไป ๆ ใคร่ครวญทุกขณะ ดูลงไปๆตลอดเวลา เราก็จะยิ่งเห็นชัด แล้วที่เราเคยรู้สึกว่า จิตนี้น่ารัก จิตนี้น่าชม จิตนี้ดี อะไรๆก็ดี อะไรเป็นของฉันก็มักจะดี เราจะค่อยๆรู้สึก นี่มันยังมีอะไรที่ต้องขัดเกลาแก้ไขอีกหลายอย่าง แล้วเราก็จะค่อยๆรู้ว่าสติยังดีอยู่ใช่ไหมคะ แล้วเราก็จะรู้จักแก้ไขจิตนี้ให้เป็นจิตที่ถูกต้อง คือถูกต้องอยู่กับความคิดที่ถูกต้อง เวทนาก็จะไม่เกิดขึ้นมารบกวนมาก เสร็จแล้ว พอเราดูจิตแล้ว ทีนี้ก็ลองทดสอบดูว่า จะสามารถบังคับจิตได้ไหม เรารู้จักแล้วว่าจิตมันมีอาการอย่างไร ทีนี้อยากลองบังคับจิตดูสิว่า ไอ้จิตที่มันกำลังเป็นอะไรอยู่นี่ ในทาง ในอาการที่จะวนเวียน มัวเมาอะไรก็ตาม หยุด ลองบังคับให้มันเป็นจิตที่ปิติ ยินดีสิ ทำให้มันปิติยินดี
ผู้เข้าร่วม : โกรธให้มันยินดีหรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือหมายความว่าเราบังคับอาการของจิตต่างๆเหล่านั้น ให้มันสงบไปด้วยลมหายใจ เสร็จแล้วก็ลองบังคับจิตนั้นให้มันมีปิติปราโมทย์ แล้วก็ลองบังคับให้มันหยุด เป็นสมาธิ ลองบังคับให้มันเป็นจิตที่เป็นอิสระ ไม่ข้องเกี่ยวผูกมัดกับสิ่งใดเลย หมายความว่าในหมวดจิตตานุปัสสนานี้ จุดหมายก็คืออันแรก ศึกษาธรรมชาติของจิต ให้รู้ว่าจิตนี้มีธรรมชาติอย่างไร ขี้โกรธ ขี้งก ขี้อยากได้ ขี้อิจฉาริษยาหรือว่าขี้วิตกกังวล มัวเมา วนเวียนอยู่ตลอดเวลา ศึกษามันให้รู้จักธรรมชาติ เสร็จแล้วก็บังคับมันให้สงบระงับไปด้วยลมหายใจ จากนั้นก็ลองทดสอบดูสิว่าจะสามารถบังคับจิตนี้ได้ไหม คือจะบังคับจิตให้เป็นอย่างไรตามต้องการได้ไหม เช่นอยากให้มันเป็นจิตที่ร่าเริง บันเทิงปราโมทย์ ลองทำ ให้มันรู้สึกเบิกบานยิ้มแย้มขึ้นมาข้างใน ได้ไหม ถ้าบังคับได้ ก็แสดงว่า ที่เราฝึกมาตั้งแต่หมวด 1 หมวด 2 และกำลังอยู่ในหมวด 3 นี้ มันใช้ได้ มันจะมีพลังขึ้นตามลำดับ บังคับได้ หรือลองบังคับให้มันนิ่งสงบเป็นสมาธิ มั่นคง หนักแน่น อยู่นิ่ง เฉย อะไรมาไม่กระทบ ถ้าได้ก็เก่ง แสดงว่ากำลังจิตดีขึ้นเรื่อย ทีนี้ล่ะ จากที่มันนิ่งอยู่นะ ลองปล่อยให้มันเป็นอิสระ เป็นอิสระไม่ข้องเกี่ยวกับความยึดมั่นถือมั่นใดๆทั้งสิ้น เป็นจิตที่เป็นอิสระลอยตัวอยู่เหนือความยึดมั่นถือมั่น ความข้องเกี่ยวทั้งปวง เป็นจิตที่เบา ว่าง เบา ถ้าเราสามารถทำได้ ทุกลมหายใจเข้าออก ก็แสดงว่าการฝึกปฎิบัติในหมวดจิตตานุปัสสนา คือหมวดที่ 3 นั้น ประสบความสำเร็จ ก็ขอให้เราทดลองดูนะคะ ในการปฎิบัติต่อไป แล้วถ้ามีปัญหาอะไร เราก็มาคุยกันได้ ธรรมะสวัสดีค่ะ