แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ วันนี้เราคงจะพบกันอีกด้วยเรื่องทุกข์ แต่ไม่เป็นไร เมื่อเราพูดเรื่องความทุกข์ แต่ว่าเรายังยิ้มแย้มแจ่มใส แสดงว่าเรากำลังเริ่มรู้จักแล้วว่าทุกข์คืออะไร ควรจะกลัวมันหรือไม่ควรจะกลัว ควรจะเผชิญหน้ามันหรือไม่ควรจะเผชิญหน้า เชื่อว่าท่านผู้ชมก็คงมีความรู้สึกอย่างเดียวกันนะคะ เรากำลังค่อยคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์มากขึ้น ๆ ทีละน้อย เรายิ่งคุ้นเคยกับมันมากเท่าใด เราก็ยิ่งได้กำไรมากเท่านั้น เพราะเหตุว่าเรากำลังประพฤติปฏิบัติตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนเอาไว้ นั่นก็คือ เรื่องของทุกข์หรือ ความทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ แต่เราพยายามที่จะกำหนดรู้มัน พยายามจะรู้จักมันทุกอย่างเพื่อที่จะให้ได้เห็นแง่มุมต่าง ๆ ของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์
แล้วถ้าเราจะศึกษาดูให้ดีนะคะ เราก็จะเห็นว่าอันที่จริงแล้ว ถึงแม้บางคนจะบอกว่า ฉันนี้ทุกข์ ๆๆ แต่ความทุกข์นั้นอยู่กับเราตลอดเวลาหรือเปล่า อยู่ไหมคะ อยู่ตลอดเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงหรือเปล่า ไม่อยู่ อย่างน้อยที่สุด อย่างเลว ๆ ที่เห็นได้ง่าย ๆ ก็ตอนที่เรานอนหลับ เราก็ต้องไม่รู้แล้วล่ะ ที่เราหลับนั่นน่ะ เราก็ไม่รู้แล้ว อย่างน้อยความทุกข์ก็ได้จางคลายไปในจำนวนชั่วโมงที่เรานอนหลับ หรือในขณะที่เรากำลังนั่งพูดนั่งคุยกัน เราเข้าไปในโรงหนัง เราไปดูหนังดูละครหรือไปฟังดนตรี ในขณะนั้นเราก็หัวเราะ เราก็สนุกสนานกับสิ่งที่เราได้ดูได้พบในระยะนั้น ความทุกข์อยู่ไหม ก็ไม่อยู่อีกเหมือนกัน ความทุกข์นี่ถ้าจะดูไปแล้ว มันไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา มันมีเวลาที่ผ่อนคลายจากเรา หรือเราเองก็ผ่อนคลายจากความทุกข์ มันมีอยู่ไม่น้อยเลย เพราะฉะนั้นนี่เป็นความจริง ทำไมท่านจึงบอกว่า อันที่จริงแล้วความทุกข์หาได้อยู่กับเราตลอดเวลาไม่ ท่านบอกเราทำไม ท่านบอกเพื่ออะไรคะ ให้เราสังเกตดูความจริงอันนี้เพื่ออะไร
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่เที่ยงแท้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่เที่ยงแท้ หรือเพื่อให้มนุษย์ได้สังวรว่า ที่ร้องทุกข์น่ะ ร้องทุกข์ว่าฉันทุกข์ ๆๆ ความเป็นจริงแล้วความทุกข์ไม่ได้อยู่ตลอดเวลา ดูให้จริง ๆ เราร้องว่าเราทุกข์เกินกว่าเหตุหรือเปล่า ว่าไปแล้วเกินกว่าเหตุไหมคะ เกินกว่าเหตุ คือมันร้องทุกข์เกินเหตุ นี่เพราะอะไร ความเห็นแก่ตัว นึกถึงแต่ตัวเอง คนอื่นเขาก็ทุกข์เหมือนกัน ถ้าหากว่าใครจะมาเล่าความทุกข์ให้ฟัง อาจจะฟังสักอึดใจหนึ่ง แล้วก็ต้องผ่านเลย เพื่อจะขอให้ฉันได้เล่าความทุกข์ของฉันบ้าง สังเกตไหมเวลาเราคุยกับเพื่อนฝูงทั้งหลายนี่ แล้วก็คนที่มีคนรักมากนี่คือคนอย่างไรรู้เปล่า
ผู้ดำเนินรายการ: คนที่ฟังคนอื่นเล่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คนที่สามารถเป็นผู้ฟังที่ดี ใครที่เป็นผู้ฟังที่ดีได้ ผู้นั้นมีเพื่อนเยอะเลย บางทีถ้าจะว่าไป มากกว่าคนช่างพูดเสียอีก เพราะคนช่างพูด มีแต่พูด ๆๆ พูดเรื่องของตัว ความสุขบ้าง ความทุกข์บ้างก็พูดไปเรื่อย แล้วก็เที่ยวหาคนฟัง บางทีก็ต้องจับตัวคนฟังมาฟังหน่อย อยากจะพูด ทำนองนี้ เพราะฉะนั้นคนไหนที่เป็นคนช่างฟัง คนนั้นมีเพื่อนเยอะเลย เพราะคนทั้งหลายมักจะเรียกว่า ฉันมีความทุกข์มากก็อยากจะให้มีผู้ฟัง จะได้ปรับทุกข์เพื่อผ่อนคลายความทุกข์ แต่อันที่จริงความทุกข์ไม่ได้อยู่ตลอดเวลา การที่ท่านบอกอย่างนี้ เป็นกำลังใจที่จะให้ศึกษา แล้วก็เป็นกำลังใจที่จะให้รู้ความจริงด้วยว่า ความทุกข์จะเกิดก็ต่อเมื่อมันมีเหตุมีปัจจัย ตามเหตุตามปัจจัย เช่น เมื่อผัสสะเกิดขึ้น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้สัมผัส ใจก็เปิดรับเพราะเราไม่ได้เตรียมใจ ไม่ได้รักษาใจเอาไว้ แล้วก็ถ้ารับแล้วก็เป็นไปตามอำนาจของกิเลส 3 อาการ คือ อาการ...
ผู้ดำเนินรายการ : โลภ โกรธ หลง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: โลภ โกรธ หลง จะดึงเข้ามา พอตาเห็นรูปแหมสวย เก๋ เท่ อยากได้ อยากจะดึงมาเป็นของฉัน หูได้ยินเสียงไพเราะน่าฟังก็อยากจะฟังมาก ๆ หรือเสียงนี้ไม่น่าฟังเลย ฟังไม่ได้ มันอัปลักษณ์ ก็อยากจะผลักออกไป แล้วก็บางทีอยากได้ไม่ได้ก็เอามาวนเวียนครุ่นคิด อยากโกรธเพราะว่าอยากทำลายเสียเพราะมาขัดขวางเรา ทำลายไม่ได้ก็เอามาครุ่นคิด นี่โมหะ ถ้าเราดูอาการอย่างนี้ เราก็จะเห็นได้ว่า ทุกข์ไม่ได้เกิดตลอดเวลา แต่มันจะเกิดต่อเมื่อมีเหตุมีปัจจัย เพราะฉะนั้นวิธีที่เราจะแก้ไขไม่ให้ใจของเราทุกข์ก็คือต้องดูว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยของความทุกข์ แล้วก็พยายามที่จะแก้ไขสิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยของความทุกข์นั้นเสีย เพื่อที่ว่าพรุ่งนี้จะได้ผ่อนคลาย จะได้ไม่เกิดมากอีกต่อไป อย่างที่พูดวันก่อนนี้ว่าความทุกข์มันเกิดอยู่ที่จิต ใช่ไหมคะ จิตคือที่ที่เรารู้สึก เราจะรู้สึกสุขหรือรู้สึกทุกข์ก็อยู่ที่จิต เพราะฉะนั้นเราจึงควรที่ว่า
ถ้าทุกข์เกิดที่ไหนก็ต้องดับที่นั่น ไม่ใช่ทุกข์เกิดที่ไหนแล้วก็หนี
หนีปัญหา อย่างที่พูดถึงหนังสือเด็ก จำได้ไหม หนังสือของเด็กชายมะลิวัลย์ ที่เขาเป็นเด็กพิการ แล้วก็ถูกเพื่อนล้อ แล้วเขาก็น้อยใจ เสียใจ เราเคยพูดกันแล้ว ท่านผู้ชมคงจะจำได้ เสียใจ น้อยใจ อยากจะหนี ไม่อยากอยู่โรงเรียนนี้เพราะเพื่อนล้อ เพราะฉะนั้นเพื่อนคนหนึ่งก็ต้องเป็นเพื่อนที่ดี ก็ถามว่า ถ้าแกจะออกจากโรงเรียนนี้ไปเข้าโรงเรียนอื่น ไปอยู่เมืองอื่นแล้วแกจะเอาขาของแกไปหรือเปล่า แล้วมะลิวัลย์ตอบว่าอย่างไร จำได้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ: เอาไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เอาไปสิ ก็มันขาของเรานี่ เราก็ต้องเอาขาไป เราไม่เอาขาไปเราจะเดินได้อย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าความทุกข์มันเกิดขึ้นเพราะว่าถูกคนเขาล้อ แล้วเราก็ไม่ชอบฟังคนเขาล้อ แล้วเราถือว่ามันทำลายศักดิ์ศรี ทำให้ฉันเสียสง่าไป ก็มีความทุกข์ แต่เราจะไปไหนเราก็จะไปกับขาอันนี้ ความทุกข์มันก็ไม่หมดเพราะเรายึดมั่นอยู่ที่ขา แต่ที่จริงขานี้มันหาได้ทำอะไรให้เกิดความทุกข์ไม่ ต่อเมื่อจิตนี้ไปยึดมั่นต่างหาก จิตนี้จึงเป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้าจะแก้ก็ต้องแก้ที่จิต นับว่าถ้าเราอ่านหนังสือ แม้จะเป็นหนังสือเด็ก ถ้าเราอ่านอย่างชนิดเอาธรรมะเข้าไปอ่านด้วย เราจะได้แง่มุมที่น่าคิดหลายอย่างมาสอนใจเราว่าถ้าเราจะแก้ไขจิตที่มันเป็นทุกข์ เราควรจะทำอย่างไร
แล้วเพราะคนไม่ค่อยรู้จักเรื่องของความทุกข์ ท่านจึงมีการอุปมาให้ฟังว่าความทุกข์นี้อุปมาเปรียบเทียบได้หลายอย่าง เช่น เปรียบเทียบเหมือนกับของหนัก อย่างในบทสวดมนต์เราก็มีบทสวดมนต์ที่พูดว่า เบญจขันธ์นี้เป็นของหนัก เมื่อเราไปยึดมั่นถือมั่น มันก็เกิดเป็นความทุกข์ขึ้น ถ้าหากว่าเราไม่ไปยึดมั่นถือมั่น เราก็ไม่รู้สึกว่าเป็นความทุกข์ แต่อันที่จริงความทุกข์ที่เปรียบเทียบนี้ ไม่ได้หมายถึงว่าเราไปยกไปแบกสิ่งที่เป็นวัตถุ แต่มันหนัก มันหนักอึ้งอยู่ในใจจนกระทั่งเราไม่ค่อยจะมีเรี่ยวแรง ท่านจึงเปรียบความทุกข์เหมือนของหนัก หรือความทุกข์เปรียบเหมือนข้าศึกอย่างที่ท่านให้ความหมายเอาไว้ในอริยสัจ 4 ความจริง 4 อย่างที่ถ้ารู้แล้วจะทำให้เรารอดพ้นไปจากข้าศึก หนีพ้นไปจากข้าศึกได้
หรือบางทีท่านเปรียบว่า ความทุกข์นี้เหมือนกับคางคกที่มีเพชรอยู่ในหัว เคยพบหรือยัง รู้จักเสียแล้วจะพบ จะได้เพชรเม็ดงามราคาล้ำค่า ไม่ใช่ราคาแพง มันล้ำค่า ประมาณมิได้เลย ยังไม่เคยพบคางคกที่มีเพชร เพราะอะไร เพราะพอมองเห็นคางคกเข้าเท่านั้น ผู้หญิงทำยังไงแล้ว วิ่งหนี กระโดดหนี เพราะว่ามันน่าเกลียด มันมีหนังขรุขระ มันมีตาโปน ที่จริงเป็นสัตว์ที่น่าสงสาร เหมือนอย่างตุ๊กแกก็เหมือนกัน น่าจะต้องมีเพชรอยู่ในหัวเหมือนกันเพราะว่ามันเป็นสัตว์ที่น่ากลัว ใครๆ เห็นก็วิ่งหนี แต่ท่านบอกว่าความทุกข์เปรียบเหมือนกับคางคกที่มีเพชรอยู่ที่หัว หมายความว่าอย่างไร อุปมาอุปไมยอันนี้
ผู้ดำเนินรายการ: มันน่าเกลียดแต่ว่าถัาพิจารณาดูได้มันก็จะได้เพชรไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพชรอันนี้คืออะไร
ผู้ดำเนินรายการ: วิธีรักษาความทุกข์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือที่ว่าความทุกข์เปรียบเหมือนกับคางคกเพราะมันเป็นความน่าเกลียด เราดูอะไรน่าเกลียดมาก ๆ มันเกิดความขยะแขยง มันเกิดความสะอิดสะเอียน ขณะนั้นจิตเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ผู้ดำเนินรายการ: ทุกข์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทุกข์ เพราะมันเกิดไม่ชอบ อาการกระเพื่อมเกิดขึ้นในจิตแล้วใช่ไหม จิตกระเพื่อมแล้วด้วยอาการของกิเลสตัวไหน
ผู้ดำเนินรายการ: โทสะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: โทสะ ไม่ชอบ ผลักออกไป คืออึดอัดรำคาญ ยังไม่ถึงกับโทสะร้ายแรง แต่อึดอัด หงุดหงิด กลัว ไม่ชอบ จะผลักออกไปแล้ว ไม่ต้องการ เราก็ไม่อยากมอง แต่ว่าถ้าผู้ใดฝืนใจมองลองศึกษาดูตัวคางคกนั่น บางทีอาจจะมองเห็นว่า ธรรมชาตินี่เป็นศิลปินที่สามารถมากเลย สามารถจะสร้างลวดลายต่าง ๆ ลงในตัวคางคก ซึ่งทำให้มันไม่เหมือนสัตว์อื่น มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองใช่ไหม ใครเห็นจะต้องจำได้ ถ้าเราลองดูลวดลายของมันแล้ว จะเห็นว่ามันก็มีลวดลายที่สลักเสลาพอสมควร แต่ทีนี้เผอิญเราติดตามสมมติว่าลักษณะอย่างนี้มันน่าเกลียด เราก็ว่ามันน่าเกลียด แต่ถ้าสมมติว่าเป็นลูกหมาขนฟู ตามสมมติก็บอกว่าอย่างนี้น่ารัก เราก็เกิดอาการขึ้นในจิตอีกเหมือนกัน อาการตามกิเลสตัวไหน โลภะ อยากได้ อยากเอา เห็นไหมนี่มันเป็นไป ความทุกข์เกิดขึ้นเป็นไปตามอำนาจของกิเลสที่มันเกิดขึ้น แต่ถ้าหากว่าผู้ใดศึกษาคางคกนี้ ศึกษาจนกระทั่งเห็นความน่าเกลียดนั้นเป็นความ
ผู้ดำเนินรายการ: ปกติ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมดา ปกติ ปกติธรรมดา มันเป็นอย่างนั้นเองตามธรรมชาติ มันไม่ได้มีอะไรที่ผิดแปลกไปจากตามธรรมชาติ เป็นอย่างนั้นเองตามธรรมชาติ จิตใจที่กำลังกระเพื่อมขึ้นลงหรือว่าซัดส่ายนั้นก็จะเป็นอย่างไร ค่อย ๆ สงบ ค่อย ๆ ราบเรียบ ค่อย ๆ เป็นปกติ ความทุกข์หายไปหรือยัง
ผู้ดำเนินรายการ: เริ่มเจือจาง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เจือจางและเป็นปกติยิ่งขึ้น ก็ยิ่งหายไป นี่แหละคือเพชร เพชรที่เราพบในหัวคางคก ก็คือหมายความว่าเราจะพบความดับทุกข์อยู่ในความทุกข์นั้นนั่นเอง สิ่งที่ท่านเปรียบเทียบให้ การที่เราศึกษาคางคกจนกระทั่งเห็นเพชรในหัวคางคก ก็คือศึกษาความทุกข์แล้วก็จะพบความดับทุกข์อยู่ในความทุกข์นั้นนั่นเอง อย่าไปศึกษาที่อื่น ถ้าเราจะศึกษาความดับทุกข์ อย่าไปศึกษาสิ่งที่เรียกว่าสมมติว่าเป็นความสุข จะไม่พบ เพราะอะไร เพราะความสุขทำให้คนเหลิงได้ใจ ใช่ไหมคะ คนที่ไม่เคยศึกษาเรื่องข้างในเลย พอรู้สึกเป็นสุข คำว่าเป็นสุขของเขาเหล่านั้นก็คือได้อย่างใจ ใช่ไหมคะ พอนึกอยากได้อะไร ได้ ได้อย่างใจ ยิ่งได้ยิ่งเหลิง ยิ่งได้ยิ่งโลภ ยิ่งได้ยิ่งไม่พอ ยิ่งได้ยิ่งหิวกระหาย ตะกละตะกรามเหมือน
ผู้ดำเนินรายการ: คางคก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เปล่าเลย อย่าไปโทษคางคก คางคกมันไม่เคยตะกละตะกราม ไม่เคยโลภมาก เหมือนอะไร ที่กลัวเหลือเกินว่าตายแล้วจะไปเป็นเหมือนนั่น เปรต กลัวว่าตายแล้วจะไปเป็นเปรต เป็นเปรตเพราะว่ามันพุงใหญ่เชียว แต่ว่าปากมันเท่ารูเข็ม คอมันก็นิดเดียว แต่ไม่รู้ว่ามันกินเข้าไปได้อย่างไร จนพุงนี้โตจนจะยกตัวไม่ไหว กลัวว่าตายแล้วจะไปเป็นเปรต แต่ในขณะที่กำลังหายใจอยู่เป็นเปรตอยู่ทุกเวลา นึกไม่ถึง ขณะใดที่อยากเอา ๆๆๆ อยากได้ ๆ นั่นแหละคืออาการของเปรต
ผู้ดำเนินรายการ: เปรตทั้งเป็น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เปรตทั้งเป็น น่าเกลียดไหม คางคกมันยังบริสุทธิ์กว่าเยอะเลยใช่ไหม ถ้าจะว่าไปแล้ว นี่สิน่าเกลียด น่าเกลียดน่ากลัว น่าขยะแขยง น่าระมัดระวังที่จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น แต่เพราะความไม่รู้จัก ไม่เคยกำหนดในเรื่องของความทุกข์ เราก็ปล่อยให้เราเป็นเปรต แล้วเราก็คิดว่าเราเป็นสุข นี่คือความหลง หลงอย่างยิ่งเลย เพราะฉะนั้นท่านจึงอุปมาอย่างนี้ แล้วเราก็ควรจะต้องศึกษามัน เพื่อว่าเราจะได้พบความดับทุกข์ในความทุกข์นั่นเอง อย่าไปศึกษาอื่น ถ้าต้องการจะดับทุกข์ ก็จงศึกษาที่ความทุกข์ เพราะอันที่จริงแล้วความทุกข์นี้ถ้าจะว่าไปมันก็มีประโยชน์เหมือนกัน ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ มีประโยชน์อย่างไรคะ ความทุกข์นี้มีประโยชน์อย่างไร มันสอนเรามาก สอนได้เก่งกว่าความสุขอีก มันเป็นครูที่ดีที่สุด ใช่ไหมคะ เป็นครูที่ดี ที่สอนเรา สอนเก่ง สอนมาก สอนให้เรารู้จักชีวิต จนกระทั่งรู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว ชีวิตนี้ไม่ต้องทำอะไรมากเลย เพียงแต่ทำหน้าที่ ทำหน้าที่ให้ถูกต้องโดยไม่หวัง อย่าที่เราว่านั่นเอง แล้วชีวิตนี้ก็จะเป็นชีวิตที่ราบรื่นแล้วก็อยู่รอดได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ความทุกข์เป็นครูที่ดีมาก เป็นครูที่สอนละเอียดลออ สอนทุกอย่าง สอนเก่ง สอนเก่งกว่าความสุขมาก ความสุขจะสอนให้เหลิง แต่ความทุกข์จะสอนให้เป็นผู้ไม่ประมาท การเป็นผู้ไม่ประมาทก็คือ เป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติ สติคืออะไร
ผู้ดำเนินรายการ: ความระลึกรู้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เก่งมากเลยตอนนี้ ความระลึกรู้ที่ถูกต้องที่จะช่วยให้เรารู้จักคิดถูก แล้วก็พูดถูก แล้วก็ทำถูก ถ้าเราคิดถูก พูดถูก ทำถูก ชีวิตมีปัญหาไหม ไม่มี ไม่มีปัญหา ปัญหามันเกิดขึ้นเพราะบางขณะคิดไม่ถูก พูดไม่ถูก คือพอคิดไม่ถูก พูดมันก็ไม่ถูก ทำมันก็ไม่ถูก มันตามมาโดยอัตโนมัติ เพราะจิตเป็นผู้บงการชีวิต กายจิต จิตบงการใช่ไหม กายเป็นเพียงบ่าวที่จะรับใช้ทำตามที่จิตบอกเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าอยู่กับความทุกข์ รู้จักความทุกข์ ความทุกข์นี่ก็จะสอนให้เป็นผู้มีสติ ไม่ประมาท และเมื่อมีสติแล้วก็มีปัญญาเกิดขึ้นในนั้นเอง มันมองเห็นเองว่าอะไรคือสิ่งที่ชีวิตควรแสวงหาอย่างแท้จริง
อะไรคือสิ่งที่ชีวิตควรรู้จักเพื่อจะหลบลี้ หลีกหนีให้รอดพ้นจากมัน อย่ายอมให้มันมาทิ่มแทงหรือว่าขบกัดได้อีกเลย อันนี้ความทุกข์จะบอก ท่านจึงบอกว่าจงเข้าใกล้ความทุกข์ แล้วความรู้สึกเกลียดกลัวจะหายไป ผลที่สุดจะเห็นว่ามันเป็นสิ่งธรรมดา จะบอกว่ามันจะเปลี่ยนมาเป็นน่ารัก มันก็ไม่เป็น มันก็ไม่ใช่ความทุกข์จะกลายเป็นความน่ารักเมื่อเรารู้จักมันมาก ๆ แต่เราจะเห็นว่ามันเป็นความเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเองคือเป็น ตถาตา มันเป็นเช่นนั้นเอง เพราะมันไม่มีอะไรคงที่ มันมีแต่ความเปลี่ยนแปลง เราจะไปให้ความหมายว่ามันเป็นความทุกข์ก็ต่อเมื่อจิตนี้เข้าไปยึดถือ ถ้าจิตนี้ไม่ยึดถือก็เป็นเพียงสิ่งสักว่า ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป มันมีแค่เท่านี้ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ แล้วถ้าหากว่าดูมาก รู้มากจนเห็นชัดเข้าเท่าไร ก็จะมองเห็นเลยว่า
เมื่อสิ่งใดเป็นความทุกข์ ก็จงพยายามที่จะพาให้ชีวิตนี้ให้ออกพ้นจากความทุกข์ให้ได้
แล้วนอกจากนั้น ประโยชน์ของความทุกข์ ท่านบอกว่าช่วยทำให้มนุษย์เราเป็นคนเก่ง ความทุกข์สอนให้เราเป็นคนเก่ง ถ้าสมมติว่าเรารู้จักความทุกข์จริง เราจะเป็นคนเก่งได้ทั้งในทางโลกและในทางธรรม ที่เป็นคนเก่งทางโลกก็เป็นอย่างไร เราคงได้เคยอ่านประวัติของบุคคลสำคัญ ๆ หรือบุคคลที่เขายกมาเป็นบุคคลตัวอย่าง ที่เริ่มต้นชีวิตจากที่เขาบอกว่าไม่มีอะไรเลย แล้วถ้าพูดตามทางโลกต้องกรากกรำอย่างแสนเข็ญแสนลำเค็ญ ช่วยตัวเอง กัดฟัน ที่เรียกว่าตีนถีบปากกัดมาตลอดเวลา แต่เขาไม่ยอมหนี เขาไม่ยอมสิ้นกำลังใจ เขาไม่ยอมล้มลงไป มีบุคคลที่เป็นตัวอย่างหลายคน เราไม่ต้องเอ่ยในที่นี้ก็ได้ นั่นแหละเพราะเขาพบกับความทุกข์ แต่เขาไม่ยอมย่อท้อ ซึ่งอาจจะตรงกันข้ามกับคนบางคนที่เกิดมาพร้อมทุกอย่าง แต่แล้วกลายเป็นคนอ่อนแอ นั่นน่ะความสุขตามสมมติสอนให้คนเป็นคนอ่อนแอ หรือผลักคนไปสู่ความเป็นคนอ่อนแอ เป็นคนขี้แพ้มากเลย แต่ความทุกข์นี่สอนให้เป็นคนกล้า เป็นคนเก่ง เป็นคนไม่กลัวอะไร เป็นคนที่สามารถในการแก้ปัญหา นี่พูดถึงตัวอย่างในทางโลก แล้วก็มาประสบความสำเร็จในทางโลกพร้อมทั้งตำแหน่งการงาน มีอำนาจ ทรัพย์สินบริวารก็เยอะ หลายคนทีเดียว นี่เพราะความทุกข์สอน
เช่นเดียวกับในทางธรรม ผู้ที่จะสามารถบรรลุถึงเป้าหมายของความสุขสงบเย็นได้ในที่สุดก็ต้องผ่านความทุกข์ ความทุกข์นี่ผู้รู้ท่านบอกว่ามีสองอย่าง เกิดมาแล้วจะไม่พบน่ะยาก อย่างหนึ่งคือยิ่งประพฤติปฏิบัติไปก็ยิ่งทุกข์ ๆๆ ยิ่งขึ้น นั่นคือว่าปล่อยใจตามกิเลส ได้มาก็ทุกข์ ๆๆ แต่ว่าอีกอย่างหนึ่งการที่จะมาฝึกปฏิบัติธรรม เราก็ทุกข์เพราะเราต้องฝืน ข่มใจ บังคับใจหลายอย่าง เรียกว่าทวนกระแส แต่ว่าทุกข์อย่างนี้จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ในที่สุด ถ้าสามารถที่จะดำเนินต่อไปได้ เพราะฉะนั้นความทุกข์นี่จึงสอนให้คนเก่ง จึงไม่ควรหนีทุกข์
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบอกว่าทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ และการที่จะกำหนดรู้ได้ก็ต้องเข้าใกล้มัน ศึกษามันทุกแง่ทุกมุมดังที่กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้นก็พูดได้ว่าความทุกข์คืออะไร ความทุกข์ก็คือปัญหา ถ้าสมมติว่าเราไม่พอใจที่จะให้ชีวิตนี้ต้องเผชิญกับปัญหา ถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหาได้ดังที่เราได้พูดกันมาแล้วด้วยการฝึกทำหน้าที่ให้สมคล้อยตามกฎของธรรมชาติ โดยไม่หวังไม่ต้องกินยาพิษ ความทุกข์ก็หมด แล้วที่บอกว่าชีวิตคือหน้าที่ก็จะเป็นไปได้ แล้วทุกข์คือปัญหาก็จะหมดสิ้นไป ไม่ต้องมี เราก็จะมีแต่ความเป็นอยู่อย่างเป็นผู้มีชีวิตเย็น
ธรรมสวัสดีนะคะ