แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ เราได้พูดถึงเรื่องของปฏิจจสมุปบาทมา 2 ครั้งแล้วนะคะ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ก็ตั้งใจว่าจะพูดถึงภาพที่อยู่ภายใน ที่เรายังไม่ได้กล่าวในคราวที่แล้ว แล้วหลังจากนั้นก็จะขออนุญาตทบทวน เพื่อความเข้าใจที่อาจจะทำให้ชัดเจนขึ้นนะคะ ในสิ่งที่คิดว่าอาจจะยังไม่สมบูรณ์ค่ะ เมื่อคราวที่แล้วเราได้พูดถึงภาพของวงนอก 12 อาการ ซึ่งแสดงถึงปัจจยาการของการอาศัยกันและกันแล้วก็เกิดความทุกข์ แล้วก็อาศัยกันและกันแล้วก็สามารถดับทุกข์ได้นะคะ
ส่วนในช่องที่ 2 คือในรอบวงที่ 2 วงใน ที่เป็นช่องใหญ่ๆ มีอยู่ 5 ช่องด้วยกัน ก็หมายถึงภูมิต่างๆที่เราเข้าใจกันว่า มีภูมิเปรตบ้าง ภูมินรกบ้าง ภูมิสัตว์เดรัจฉาน อสูรกายบ้าง ภูมิสวรรค์บ้าง แล้วก็ภูมิมนุษย์ ก็คือหมายถึงโลกสวรรค์บ้าง โลกมนุษย์บ้าง ตามที่ได้อธิบายแล้วนะคะว่าทุกๆแห่งตั้งแต่สวรรค์มาถึงสัตว์เดรัจฉาน อสูรกาย แล้วก็นรก แล้วก็เปรต จะมองเห็นภาพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรากฏอยู่ทุกภาพ ซึ่งมีความหมายที่ปรารถนาจะชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วในจิตของมนุษย์ทุกคนนั้น มีเมล็ดพืชแห่งโพธิ หรือ เมล็ดพืชแห่งปัญญา ที่สามารถจะมีความเฉลียวฉลาด ศึกษาธรรมะ เข้าใจธรรมะ จนกระทั่งนำธรรมะมาปฏิบัติในใจ แล้วทำชีวิตให้เกิดความสงบเย็นได้ แต่ถ้าเผอิญมัวเมาอยู่กับความโลภจนเป็นเปรต หรือ มัวเมาอยู่กับความโกรธร้อนแรงเหมือนกับอยู่ในนรก หรือว่ามัวเมาอยู่กับความขลาดเขลา ความกลัว เหมือนกับเป็นสัตว์อยู่ในภูมิเดรัจฉาน หรืออสูรกาย หรือมัวเมาอยู่กับกามคุณ 5 เหมือนอย่างในโลกสวรรค์แล้วละก็ ความมัวเมาเหล่านี้จะบังนะคะ จะบังเมล็ดพืชแห่งปัญญาไม่ให้บังเกิดขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือมองไม่เห็น เข้าไม่ถึงว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ทุกคนนี้มีสิทธิ์นะคะ ที่จะศึกษาแล้วเข้าใจธรรมะได้ แต่เพราะไปมัวเมาอยู่กับกิเลส ตัณหา อุปาทาน ตลอดจนกามคุณ 5 ก็เลยไม่มีโอกาส แต่ในโลกมนุษย์นี้ ท่านก็ชี้ให้เห็นว่ามีทุกอย่าง มีทั้งสุข มีทั้งทุกข์ ซึ่งจะเป็นการเตือนสติมนุษย์ไม่ให้หลงระเริงกับความสุข แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มัวหนักแน่น หรือว่าไปหนักหน่วงอยู่กับเรื่องของความทุกข์ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีประตูเปิดให้มองเห็นคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา พร้อมๆทั้งมีท่านครูอาจารย์ผู้รู้ ที่ได้เจริญรอยตาม รอยพระบาทขององค์สมเด็จพระผู้มีภาคเจ้า คอยให้คำแนะนำ เพื่อที่จะขัดเกลาตัณหา อุปาทานกิเลส ให้ลดละออกไปจากใจ จนกระทั่งสามารถขับไล่อวิชชานี้ออกไปให้พ้นจากจิตได้ แล้วก็บังเกิดแต่อวิชชา นี่เราได้พูดกันมาแล้ว ในรอบนอก 12 อาการ แล้วก็รอบวงในใหญ่ที่มีอยู่ 5 ภูมิ ทีนี้ก็ยังมีวงตรงกลางนะคะ ซึ่งคงจะมองเห็นว่า ซ้ายมือนี้เป็นสีดำ แล้วก็เป็น ผู้เขียนเขียนเป็นภาพของลิงต่างๆ ส่วนภาพทางขวามือเป็นสีดำ ทางซ้ายมือนี่เป็นสีขาว แล้วก็เป็นภาพของคนในรูปแบบต่างๆกัน คำว่ารูปแบบก็คือว่า รูปร่างหน้าตา การแต่งกายอะไรอย่างนี้ แต่ก็แสดงลักษณะของคนหรือของมนุษย์นะคะ ความหมายก็ ถ้าจะอธิบายอย่างสั้นๆก็คือว่า ในชั้นแรกนั้น เมื่อจิตนี้ยังป่าเถื่อนอยู่ ที่ท่านเปรียบจิตป่าเถื่อนเหมือนกับลิงที่ยังไม่ได้รับการฝึกปรือเลย ไม่ได้รับการอบรมเลย ก็มีแต่ความป่าเถื่อน ความพยศ จะทำอะไรตามใจของตนด้วยความเห็นแก่ตัว ฉะนั้น ในขณะนั้น ผู้เขียนภาพจึงเขียนเป็นรูปลิง แล้วก็เป็นรูปลิงที่ ที่มีอาการต่างๆเหมือนดังที่กล่าวแล้วนี่นะคะ พยศร้าย เห็นแก่ตัว แล้วก็ ระหกระเหิน คือทำท่าที่จะทำให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อน เบียดเบียน นี่ก็เหมือนกับว่า ในขณะนั้น จิตที่เป็นเช่นนี้ก็มีความดำมืด เพราะความเขลา เพราะความไม่รู้ แล้วก็ยังอวดที่จะรู้ แต่รู้ไปผิดๆ ก็ไปกระทำ ทั้งการกระทำ ทั้งการพูดด้วยวาจา ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ทำให้ชีวิตนี้ตกอยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า กรรมดำ ็
กรรมดำ กรรมก็คือการกระทำ กรรมดำก็คือการกระทำที่นำความทุกข์หรือนำปัญหามาสู่ชีวิตของตนเอง นี่ก็เปรียบเสมือนจิตของผู้ที่ยังไม่ยอมรับการฝึกอบรมเลย ละเลยเมล็ดพืชของโพธิ หรือ เมล็ดพืชของปัญญาที่มีอยู่แล้วในใจพร้อมที่จะงอกงาม เพียงแต่ให้โอกาสรดน้ำ พรวนดินให้ปุ๋ยซะหน่อย ปุ๋ย หรือ ดิน หรือน้ำ นั้นคืออะไร ก็คือความรู้ในเรื่องของธรรมะ ศึกษาให้เข้าใจ นำมาลองฝึกปฏิบัติ ก็จะเกิดแสงสว่างเบาบางขึ้นในใจตามลำดับ แต่ไม่ให้โอกาส ก็เลยจิตนั้นก็เลยดำมืด เปรียบเสมือนกับความดำมืดไม่เห็นแสงสว่าง ทีนี้ เมื่อได้รับการพัฒนาไปตามลำดับนะคะ รับการฝึกฝนอบรม จิตที่ดำมืดนี้ก็จะค่อยๆมีแสงสว่างเป็นสีขาวมากขึ้น ก็คือมีปัญญา มีความรู้ส่องเข้าไปในใจ ก็จะรู้คิดในสิ่งที่ถูกต้อง รู้พูดในสิ่งที่ถูกต้อง คือไม่เบียดเบียนแต่เกิดประโยชน์ แล้วก็รู้กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เป็นการเบียดเบียนทั้งตนเอง และ เพื่อนมนุษย์ แต่จะนำประโยชน์มาสู่ ฉะนั้นจิตที่เคยดำนี่ก็จึงค่อยๆขาวขึ้น แล้วก็ในชั้นแรกที่เขาเปรียบเสมือนกับลิงป่านั้น ก็ค่อยๆมีความเป็นผู้เป็นคน เป็นมนุษย์ ที่มีความเจริญขึ้นไปตามลำดับของการพัฒนา
ฉะนั้นในด้านฝ่ายขาวนี้ ถ้าจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็น กรรมขาว กรรมก็คือการกระทำ กรรมขาวก็คือการกระทำที่ถูกต้อง จะนำความสุขสงบมาสู่ชีวิต จะนำความถูกต้องเจริญงอกงามมาสู่ชีวิตมากยิ่งขึ้นๆ ตามลำดับ ฉะนั้นในวงกลางตรงนี้เขาแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งดำ ส่วนหนึ่งขาว ก็เท่ากับจะบอกว่ามนุษย์เรานี้นะคะ เมื่อเกิดมาทีแรกแล้วนี่ก็จะอยู่กับสองอย่างนี่ค่ะ พูดง่ายๆคือ ประเดี๋ยวทำถูกๆประเดี๋ยวทำผิด เดี๋ยวก็ทำถูกเดี๋ยวก็ทำผิด เดี๋ยวก็ทำผิดเดี๋ยวก็ทำถูก สลับกันไป เพราะเหตุว่าการพัฒนาเมล็ดพืชของโพธิ หรือปัญญายังไม่ได้ถึงที่สุด นอกจากไม่ถึงที่สุดแล้วก็ยังไม่สม่ำเสมอ ยังไม่ต่อเนื่องกัน เพราะฉะนั้นมันก็เลยกระพร่องกระแพร่ง เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็มีปัญหา เดี๋ยวก็พ้นจากปัญหาไปได้ชั่วครั้งชั่วคราว นี่ก็เป็นชีวิตของมนุษย์ธรรมดานะคะ ที่จะเป็นอย่างนี้ค่ะ เดี๋ยวดำเดี๋ยวขาว เดี๋ยวถูก เดี๋ยวผิด ทีนี้ลองดูวงในสุดนะคะ วงในสุดซึ่งเป็นวงเล็กที่อยู่ตรงกลางนี่ค่ะ ถ้าดูใกล้ๆก็จะเห็นว่าผู้เขียนได้เขียนขึ้นเป็นรูปหมู แล้วก็รูปงู แล้วก็รูปไก่ แล้วก็สังเกตลงไปให้ชัดก็จะเห็นว่าหมูตัวนี้ พยายามไล่ตามงับหางงู งูก็พยายามไล่ตามงับหางไก่ ส่วนไก่ก็พยายาม แต่ว่าไม่ทันจะได้งับอะไรนะคะ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าสัตว์ทั้งสามตัวนี่ มันก็กัดหางของกันและกัน วนเวียนหมุนอยู่รอบอย่างนี้นะคะ เปรียบกับอะไร ก็เปรียบเหมือนกับว่า ทั้งสามอย่างนี้ คือไก่ งู แล้วก็หมู ก็เปรียบเหมือนกับ กิเลส กรรม วิบาก คือสิ่งที่กระตุ้นทำให้จิตของมนุษย์คิดถูกบ้างคิดผิดบ้าง หรือว่าทำถูกบ้างๆ ทำผิดบ้างมันก็เนื่องมาจากกิเลส โลภ โกรธ หลง ที่เกิดขึ้นในใจ แล้วก็ตามด้วยตัณหาความอยากตามกิเลสนั้น แล้วก็ตามด้วยอุปาทานยึดมั่นถือมั่น แล้วอวิชชาก็ครอบงำจิต
เพราะฉะนั้นพอกิเลสเกิดขึ้น สมมุตินะคะ สมมุติว่ากิเลสนี้เปรียบเหมือนกับหมู หรือหมูที่เขาเขียนภาพขึ้นมานี่เปรียบเหมือนกับอุปมาว่าแทนกิเลส เจ้าหมูตัวนี้คือกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความอยากได้ หรือความโกรธ ไม่ถูกใจ ขัดใจหรือความหลงวนเวียนอยู่ เกิดขึ้นในจิตเมื่อใด มันหยุดยั้งไม่ได้ ทำไมถึงหยุดยั้งไม่ได้เพราะเป็นจิตที่ขาดปัญญา เมล็ดพืชของโพธิไม่มีโอกาสได้เจริญเติบโต ไม่มีโอกาสได้งอกงาม เพราะฉะนั้นจิตนั้นก็คงดำมืดอยู่ในวงกลมกลาง เขาก็เขียนดำมืดเลยนะคะ เพราะฉะนั้นเมื่อมันมีแต่ความดำมืด ไม่มีหนทางที่จะได้รับแสงสว่างแห่งปัญญา ก็ย่อมจะทำไปตามกิเลสที่กระตุ้นเตือน หรือตัณหาอุปาทานที่มันพุ่งแรงอยู่ในใจ เพราะฉะนั้นก็ลงมือกระทำ ลงมือกระทำก็เปรียบเหมือนกับว่าตัวงูนี่ รูปร่างของงูที่เขาเขียนภาพก็เปรียบเหมือนกับการกระทำที่ทำแล้วที่เราเรียกว่ากรรม กรรมก็คือการกระทำ พอกิเลสเกิดขึ้นทำตามกิเลส เมื่อทำแล้วตามกฎของอิทัปปัจจยตา ที่เป็นกฎแห่งเหตุและผล ก็แน่นอนที่สุดจะต้องมีวิบาก วิบากก็คือผลของการกระทำที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเจ้าไก่ในภาพนี้ก็อุปมาเหมือนกับวิบากนะคะ วิบากคือผลที่เกิดขึ้น กิเลสเกิดก็ทำ ทำตามกิเลสแล้วมันก็มีวิบาก แล้วก็วนอยู่อย่างนี้ มันก็เลยเป็นวงที่เขาเรียกว่า วัฏสงสาร ที่บอกว่าคนที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาจิตเลย ก็จะต้องวนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร ถ้าถามว่าวัฏสงสาร วงเวียนของวัฏสงสารประกอบด้วยอะไร ก็ประกอบด้วยกิเลส กรรม วิบาก กิเลส กรรม วิบาก วนเวียนกันอยู่เช่นนี้ ไม่สามารถจะตัดขาดออกไปได้ ก็เพราะจิตที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา นี่คือวงแห่งวัฏจักร หรือวงแห่งวัฏสงสาร ที่มนุษย์ทั้งหลายหรือคนทั้งหลายวนเวียนว่ายอยู่โดยไม่รู้ โดยไม่รู้ตัว คำว่าไม่รู้คือว่าไม่รู้ตัวว่าวนเวียนว่ายอยู่ รู้แต่ว่าทำไมชีวิตมันจึงหนักนะ ทำไมมันถึงเป็นทุกข์ ทำไมถึงไม่มีความเบาสบาย ก็เพราะปล่อยใจให้ตกเป็นทาสของกิเลส ของตัณหา ของอุปาทาน เพราะถูกอวิชชาครอบงำ ก็เลยหักๆบ่วง หรือว่าหักวงแห่งวัฏสงสารหรือวัฏจักรนี้ออกไม่ได้ ก็เลยวนอยู่อย่างนี้นะคะ จนหัวหมุน จนกระทั่งบางทีล้มสลบไป หรือบางทีก็หาทางตัดช่องน้อยไป แต่ทีนี้เมื่ออธิบายว่ามันเป็นวงวัฏจักร อันประกอบด้วย กิเลส กรรม วิบาก ก็อาจจะเข้าใจยาก ถ้าพูดเพียงเท่านี้นะคะ แต่เมื่อได้อธิบายถึงอาการของปฏิจจสมุปบาทมาแล้วแต่ต้น ว่าอะไรอาศัยอะไรแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ อะไรอาศัยอะไรแล้วเป็นปัจจัยให้ความดับทุกข์สามารถเกิดขึ้นได้ หรือสามารถดับทุกข์ได้ ก็คงจะพอมองเห็นว่า ถ้าเราจะขยายนะคะ ขยายความหมาย ขยายคำอธิบายของวงวัฏจักร ที่ประกอบไปด้วย กิเลส กรรม วิบากนี้ ออกไปเป็นรายละเอียด ว่าทำไมกิเลสมันถึงเข้ามาครอบงำจิต เราก็ต้องย้อนไปดูรายละเอียดนะคะ ที่วงรอบนอกนี่น่ะค่ะ คือเริ่มต้นจากศึกษาจากสมุทยวาร โดยเริ่มจากเหตุ นั่นก็คือเพราะอวิชชาครอบงำจิต จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสังขาร ความคิดปรุงแต่งที่เป็นไปในทางที่ผิดอีกเหมือนกัน เพราะนำปัญหาและความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ใจ แล้วสังขารก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ สฬายตนก็เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ทั้งๆที่ผัสสะนี้มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะเมื่อมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีคู่ของมันอยู่ตามธรรมชาติอีกเหมือนกันนะคะ ไม่ได้มีใครไปสร้างสรรค์ให้มัน แล้วก็ไม่ได้เป็นของใคร ทั้งอายตนะภายในและอายตนะภายนอก
แต่เพราะความเขลาที่ไม่ให้โอกาสแก่ปัญญาที่จะเจริญงอกงาม ก็เลยไปยึดเอาว่าผัสสะที่เกิดขึ้นนี้เป็นจริงเป็นจัง โดยไม่รู้ว่าผัสสะที่เกิดขึ้นนี้มันเกิดจากอะไร โปรดจำนะคะ มันเกิดจากองค์ประกอบ 3 อย่าง อย่างหนึ่งคืออายตนะภายใน แล้วก็ไปประสบกระทบกันกับคู่ของมันคืออายตนะภายนอก ตาอายตนภายในก็กระทบกับรูปอายตนภายนอก ซึ่งเป็นคู่กัน ทีนี้ถ้ากระทบกันแต่เพียงเท่านี้ คืออายตนะภายในกับอายตนะภายนอก กระทบกันแค่นี้เฉยๆไม่มีปัญหา เพราะมันยังไม่มีความหมาย แต่ถ้าจักษุวิญญาณ คือวิญญาณทางตา วิญญาณก็คือการตามรู้ใช่มั้ยคะ ที่สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ เกิดวิญญาณตามรู้เข้าไป เรียกว่าไปสมทบกันกับตาที่มองเห็นรูป ก็จะทำให้รูปที่เกิดขึ้นนั้นทั้งๆที่เป็นธรรมชาติ เกิดมีความหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ และเป็นนั่นเป็นนี่นั้นก็มักจะเป็นไปตามสัญญาที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนว่า ฉันเห็น พอฉันเห็นเท่านั้นแหละนะคะ โดยมีจักษุวิญญาณเข้าไปรวมกันก็เป็นองค์ประกอบ 3 อย่าง อายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอกแล้ววิญญาณของอายตนะภายใน เช่น อันนี้เป็นตา จักษุวิญญาณคือวิญญาณทางตารับรู้แล้วก็เห็นเป็นความหมายเลยทีเดียวเลยว่า อ้อรูปนี้เป็นนั่น เช่นเป็นคนที่รัก หรือเป็นคนที่ชัง พอมีความรักความชังซึ่งเป็นสองอย่างใช่มั้ยคะ สองอย่างก็คือเป็นเรื่องของสิ่งคู่เกิดขึ้น ก็แน่นอนทำให้จิตนั้นไม่ปกติแล้ว เริ่มกระเพื่อมแล้ว ถ้าหากว่าเป็นคนที่รัก มีความหมายว่า โอ้ คนนี้ที่เป็นคนที่รัก ที่ถูกใจ ที่เคยสนิทคุ้นเคยกันมาก่อน จิตก็กระเพื่อมไปในทางสุขเวทนา ที่เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เกิดนึกอยากพบ นึกอยากเข้าใกล้ อยากคุยอยากทักทาย มีความกระวนกระวายด้วยความอยาก ตัณหาตามมาทันทีนะคะ แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นอุปาทานว่า ต้องหาทางไปพบไปคุยกันหน่อย ไม่งั้นเสียทีที่จะไม่ได้พบ ที่มาพบกันแล้วมาเห็นแล้วๆไม่ได้พบกัน แต่ถ้าเป็นไปในทางชัง ไม่ชอบ ก็อีกเหมือนกัน มันเป็นทุกขเวทนา ก็จะเกิดความขัดใจขึ้นภายในใจ ไม่เอาแล้วรีบหนี หรือไม่เช่นนั้นก็บอกให้คนนั้นไปให้พ้นๆอย่าเข้ามาใกล้ จิตไม่ปกติ เมื่อเวทนาเกิดขึ้นนั่นแหละเรียกว่าความทุกข์ หรือปัญหาเกิดขึ้นแล้วในใจ เพราะฉะนั้นก็ขอได้โปรดจำจุดที่ผัสสะนี้เอาไว้ให้ได้มากๆนะคะ ถ้าหากว่าทำความเข้าใจกับเรื่องของผัสสะว่า มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง เพราะตากระทบกับรูป ก็แน่นอนมันต้องเห็น เพราะตามันมีหน้าที่เห็น หูกระทบกับเสียงมันก็ต้องได้ยินเพราะว่าหูมีหน้าที่ได้ยิน จมูกกระทบกับกลิ่นมันก็ต้องได้กลิ่นเพราะมีหน้าที่อย่างนั้น หรือลิ้นกระทบกับรสมันก็ต้องได้รส คือรู้รส เพราะหน้าที่ของลิ้นคือต้องรู้รส แล้วก็กายกระทบกับสัมผัส จะเป็นสัมผัสจากลม หรือจะเป็นสัมผัสจากความหนาว หรือจะเป็นสัมผัสจากเหลือบยุง ริ้นที่มากัดนะคะ หรือจะเป็นสัมผัสจากการกระทบกระแทกของใครก็ตาม เรียกว่ามันก็เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะเมื่อมีกายอยู่มันก็รับรู้สัมผัสได้ แหละใจนี้มันก็เป็นอยู่ตามธรรมชาติ เมื่อมีธรรมารมณ์ผ่านเข้ามามันก็เป็นธรรมดาอีกเหมือนกัน แต่เพราะเหตุว่าไม่ฉลาดพอ ก็เลยปล่อยให้ว่าพอวิญญาณของอายตนะภายในนั้นๆเข้าไปร่วมทำหน้าที่เป็น 3 อย่างนะคะ
เป็น 3 อย่างก็เช่น จักษุวิญญาณ หรือ โสตวิญญาณ วิญญาณทางหู หรือ ฆานะวิญญาณวิญญาณทางจมูก หรือชิวหาวิญญาณ วิญญาณทางลิ้น หรือกายวิญญาณคือวิญญาณทางกายเข้าไปรับรู้ ร่วมรู้ด้วยเท่านั้น ทำให้ผัสสะนั้นมีความหมาย แล้วจิตนั้นก็ไม่ฉลาดพอเพราะยังไม่ได้พัฒนาวิชชาให้เกิดขึ้นมาก จนกระทั่งสามารถมองเห็นว่า มันเป็นเช่นนั้นเองตามกฎไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันเป็นเช่นนั้นเองตามกฎอิทัปปัจจยตา คือมันเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย มันไม่ได้มีความหมายว่าจะก่อให้เกิดปัญหาหรือความทุกข์ แต่จิตที่ไม่ฉลาด เพราะฉะนั้นถ้าหากว่า ต้องการที่จะพัฒนาเมล็ดพืชของโพธิให้มีโอกาสเจริญงอกงาม ก็ใช้จุดของผัสสะนี่ละค่ะ เป็นจุดแห่งแบบฝึกหัด พอผัสสะเกิดขึ้น หรือว่าต้องตั้งสติไว้ก่อนนะคะ ตั้งสติรู้ลมหายใจไว้ก่อน แล้วในขณะเดียวกันก็รู้ ให้ทันท่วงทีเสมอว่า มันเป็นแต่เพียงสิ่งสักว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันไม่ได้มีอะไรเป็นจริงจัง มันเป็นมายาจริงๆนะ มันเกิดแล้วมันก็ดับ รู้อย่างนี้เสมอ พอผัสสะเกิดขึ้น พยายามมองให้เห็นเหมือนดั่งที่กล่าวแล้ว ผัสสะก็เลยด้านไปเอง อย่างที่เคยว่าแล้ว ทำอะไรกับเราไม่ได้ คือทำอะไรแก่จิตไม่ได้ จิตนี้ก็เป็นจิตที่เป็นปกติ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ เมล็ดโพธิได้รับการพรวนดิน รดน้ำ ให้ปุ๋ย ก็จะเจริญงอกงาม ปัญญานี้ก็จะค่อยๆ สว่างไสวมากยิ่งขึ้นๆ แล้วก็ทันต่อผัสสะยิ่งขึ้น ถ้าสามารถทันต่อผัสสะยิ่งขึ้น วิชชาก็เพิ่มมากขึ้นดังที่เราได้พูดแล้วนะคะ อวิชชาก็ถอยไป เพราะฉะนั้นจิตก็มีแต่ความสว่างไสว เพราะฉะนั้นเมื่ออวิชชาถอยไป วิชชาเข้าแทนที่ ก็เรียกว่า อวิชชาดับ เพราะวิชชาเข้าแทนที่เต็มที่ สังขารก็ดับ คือดับความคิดปรุงแต่งที่เป็นโทษทุกข์แก่จิตใจ แต่จะมีความคิดในทางที่สร้างสรรค์ ที่เกิดประโยชน์ วิญญาณที่เคยรู้ผิดๆ ถูกๆ ก็ดับไป แต่จะเป็นวิญญาณคือการรับรู้ ตามรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ที่ว่าถูกต้องคืออย่างไร ก็คือตามความเป็นจริง ตามธรรมชาติ เช่น ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนให้ยึดมั่นเลยสักอย่าง เพราะมันมีแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเช่นนั้นเอง นี่แหละคือสัจธรรม จะรู้ตามความเป็นจริง จะยอมรับสัจธรรม เพราะมันประจักษ์ใจ ไม่ใช่ยอมรับตามเขาว่า หรือเพียงแต่พูดตามๆเขามา แต่ใจนี้มันยอม มันยอมรับนะคะ เพราะมันประจักษ์มันเห็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะฝึกมา ฝึกมาที่จุดผัสสะนี่นะคะ จนชัดเจนขึ้น ชัดเจนขึ้น ฉะนั้นวิญญาณที่รู้อะไรผิดๆ ก็ดับ ก็มีแต่วิญญาณที่ถูกต้องคือรู้ถูกต้องตามเป็นจริง
ฉะนั้นเมื่อตามเป็นจริงมันก็ไม่พาให้ชีวิตนี้ให้เฉไฉ ตกร่อง ตกเหว แต่จะคงอยู่ในหนทางแห่งมัชฌิมาปฏิปทา หนทางที่ถูกต้อง แล้วนามรูป ที่เคยถูกทึกทักว่าเป็นตัวเป็นตนก็ดับไป แต่จะเป็นนามรูปอยู่ตามธรรมชาติ คือเป็นกายเป็นใจอย่างที่เห็นอยู่นี่ตามธรรมชาติ แต่ในความเป็นธรรมชาตินี้มันก็มีสภาวะอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอีกเหมือนกัน ไม่สามารถคงทนได้ ตอนนี้ก็ยอมรับรู้เพราะอะไร เพราะวิญญาณรู้ถูกต้อง ก็ยอมรับรู้ว่า นามรูปนี้เป็นเพียงสิ่งสักว่าเท่านั้นเองหนอ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับมันเลย ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไปหาความทุกข์ให้กับชีวิตเปล่า ๆ ไม่ฉลาดนะ อย่าทำอย่างนั้นเลย พอนามรูปก็เป็นเพียงสิ่งสักว่าตามธรรมชาติ สฬายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นเพียงสิ่งสักว่าตามธรรมชาติเหมือนกัน ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตาของฉัน หูของฉัน จมูกของฉัน ลิ้นของฉัน หรือ กายของฉัน ใจของฉัน อย่างที่เคยเป็น เช่นเดียวกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่เป็นอายตนะภายนอกที่เป็นคู่ ก็เป็นเพียงสิ่งสักว่าอีกเหมือนกัน เห็นไหมคะ ทุกอย่างมันจะหมดความหมายหมด พอมีอวิชชาเข้ามาครอบงำจิต หรือ ปัญญาที่รู้สิ่งที่เป็นจริงตามธรรมชาติแล้ว มันมองเห็นอะไรถูกต้องหมด ชัดเจนแจ่มใส ความสลัวมัว หรือว่าขัดเคืองที่จะทำให้จิตใจนั้นหมองมัวไม่อาจเกิดขึ้นได้ มันก็จะมีแต่ความปกติ ความเย็นสงบขึ้นเรื่อยๆ ผัสสะมันก็ต้องเกิดขึ้นตามธรรมดาของมันเอง แต่มันจะไม่มีอิทธิพล ที่จะทำให้เกิดเวทนาขึ้นในจิต พอเวทนาดับตัณหาก็ดับ ตัณหาดับอุปาทานก็ดับ อุปาทานดับภพก็ดับ ภพดับชาติหรือชา-ติความรู้สึกเกิดเป็นตัวเป็นตนหรือมีเป็นตัวเป็นตนดับ เพราะฉะนั้นความทุกข์นี้ก็ไม่มี ไม่มีเพราะอะไร เพราะสามารถจะมองเห็นทุกสิ่ง มันสักแต่ว่า เป็นธรรมดาตามธรรมชาติอยู่เช่นนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็ตาม จะเห็นมันเป็นเพียงว่าสภาวะธรรมตามธรรมชาติที่เป็นอยู่อย่างนี้ ไม่มีใครจะหลีกเลี่ยงไปได้ ก็ไม่ไปเป็นทุกข์ก่อนล่วงหน้า หรือจะไม่ไปยึดมั่นถือมั่นว่า ความเจ็บก็ของเรา ความแก่ก็ของเรา ความตายก็ของเรา มันไม่ใช่ของใคร ใช่มั้ยคะ ไม่ใช่ของใครเลย มันของธรรมชาติ ทุกคนเป็นเหมือนกันหมด ไม่จำเป็นจะต้องเดือดร้อนล่วงหน้า ไม่จำเป็นจะต้องมาน้อยอกน้อยใจ ทำไมจึงต้องเป็นฉันแก่ ทำไมจึงต้องเป็นฉันเจ็บ หรือทำไมจึงต้องเป็นฉันกำลังจะตาย มันเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง
พอคิดได้อย่างนี้มันเบาเบา ทำไมถึงเบาเพราะมันวาง วางหมด วางความยึดมั่นถือมั่น สมมุติว่าเผอิญจะหยุดหายใจ ก็หยุดหายใจไปอย่างสบายๆ ก็คงจะได้ยินใช่มั้ยคะว่า พอใครเจ็บหนัก พอใกล้จะไปจะอยู่กันละก็ ต้องมีการกระซิบกันที่หู พระอรหังนะ พระอรหังนะ นึกเถอะค่ะว่า ไปกระซิบในขณะที่กำลังอยู่ในอาการของโคม่า จะรู้จักมั้ย จะนึกได้ทันท่วงทีมั้ย เพราะไม่ได้เตรียมใจเอาไว้ก่อน ฉะนั้นท่านจึงแนะนำว่า ไม่ต้องไปบอกกันในตอนนั้นหรอก แต่ในตอนที่ยังมีสติสัมปชัญญพร้อมบริบูรณ์นี่แหละ ระลึกถึงสัจธรรม สิ่งที่เป็นสัจธรรมเอาไว้ให้มั่นคง จนสามารถมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสิ่งที่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามธรรมดาเช่นนั้นเอง สิ่งที่เป็นความเกิด ความแก่ ความตาย มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมดาของธรรมชาติ มันตั้งอยู่อย่างนี้ มันมีอยู่อย่างนี้ ไม่รู้ว่ากี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นปี แหละก็จะมีอยู่อย่างนี้ตลอดไปชั่วกัปชั่วกัลป์ ถ้ามองเห็นอยู่อย่างนี้แล้วละก็จิตก็วาง ปล่อย เพราะฉลาดพอที่จะมองเห็นว่า ไม่เห็นมีประโยชน์ที่จะไปยึดมั่นถือมั่นในมัน ฉะนั้นเมื่อความแก่มาถึง ก็ดูความแก่อย่างรับรู้ ควรจะบำบัดรักษา หรือว่าให้ความสุขสบายแก่ชีวิตในขณะที่กำลังอยู่ในความแก่อย่างไรก็ทำ ทำให้เต็มที่แต่ไม่ยึดเอาว่าความแก่นี่เป็นของฉัน พอถึงเวลาความตายใกล้เข้ามา ความตายก็ไม่ใช่ของฉันอีกนั่นแหละ แต่มันเป็นความตายตามธรรมชาติ ใจยอมรับ ยอมรับทุกอย่างเพราะได้วางใจไว้อย่างถูกต้อง อย่างสงบอย่างเยือกเย็นอย่างผ่องใส และเป็นปกติแล้ว ฉะนั้นเมื่อถึงเวลาจะหยุดหายใจก็นึกดูเถอะค่ะว่าจะไปสุคติหรือจะไปทุคติ ก็แน่นอนที่สุดในขณะที่กำลังหายใจอยู่นี้ มีแต่ความสุขสงบเย็น ฉะนั้นเมื่อหยุดหายใจก็ไม่ต้องสงสัย ความสุขสงบเย็นก็อยู่ตรงนั้น แต่ถ้าในขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ ปล่อยให้จิตใจนี้มีแต่ความร้อนรุ่ม เผาไหม้เกรียม หนักหน่วงอยู่ด้วยความวิตกกังวล ความขัดเคือง ขุ่นแค้น ขมขื่น เจ็บปวด ทรมาน เมื่อเวลาหยุดหายใจ ร้อนหรือเย็น คำตอบก็คือร้อนใช่มั้ยคะ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องสงสัยอีกเหมือนกันว่าจะไปไหน ฉะนั้นที่ชอบถามกันว่า ตายแล้วไปไหน อย่าไปกังวลเลยค่ะ ว่าตายแล้วจะไปไหน ขอให้กังวลในขณะที่ยังอยู่ เพราะยังอยู่นี่แหละเรามีความรู้สึก มีลมหายใจ มีสติสัมปชัญญะพร้อมที่จะจัดชีวิตให้อยู่ในความถูกต้อง ว่าต้องการชีวิตเย็นก็จัดให้เย็นซิ เย็นอย่างไร ก็ตามที่เราได้พูดกันมาตามคำสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า อย่าไปจัดให้ชีวิตร้อน ฉะนั้นในขณะที่มีสติสัมปชัญญะอยู่ในปัจจุบันขณะนี่แหละสำคัญที่สุดนะคะ สำคัญที่สุด จงพยายามที่จะให้ปุ๋ยรดน้ำพรวนดิน ให้เมล็ดโพธิแห่งปัญญานี้เจริญงอกงาม แล้วจะสามารถจัดชีวิตให้อยู่ในความถูกต้อง ให้ได้พบความเย็นทุกขณะจนถึงลมหายใจสุดท้ายที่จะหยุด ก็จะหยุดด้วยความเย็นนะคะ ในภาพของปฏิจจสมุปบาทจะอธิบายบอกให้รู้อย่างนี้ค่ะว่า ให้รู้ว่า หนึ่ง ความทุกข์นั้นอาศัยอะไร อาศัยอะไรแล้วเกิดขึ้น อะไรอาศัยอะไรแล้วความทุกข์เกิดขึ้น แหละในการที่จะศึกษาเรื่องของความทุกข์ก็ศึกษาได้สองอย่างในด้านของสมุทยวารคือความเกิดนั้นศึกษาจากเหตุ ดังที่พูดแล้วนะคะ คือจากอวิชชา ไปหาผลก็ได้หรือศึกษาจากผลซึ่งง่ายกว่าก็คือจากผล ผลก็คือช่องของความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี่ แล้วก็ไล่ลงมาย้อนขึ้นไปจนถึงอวิชชา ก็จะเข้าใจได้ทีเดียวว่าอะไรอาศัยอะไร อะไรต้นเงื่อนสำคัญคืออวิชชา ดับอวิชชาได้ความทุกข์ดับ ทีนี้ถ้าจะถามว่า แล้วก็ถ้าเราจะดับความทุกข์ล่ะ อะไรอาศัยอะไรแล้วความทุกข์ดับ ก็ได้พูดไปแล้วเมื่อกี้นี้ โดยศึกษาสองวิธี ในฝ่ายนิโรธวารได้ เช่นเดียวกันกับสมุทยวาร
นั้นก็คือศึกษาที่ตรงจุดที่เคยเป็นช่องของอวิชชา ด้วยการพยายามพอกพูนหรือว่าเพิ่มพูนแล้วก็ฝึกอบรม ให้วิชชา ช2ตัวเต็มที่มากขึ้นๆพอวิชชาดับ สังขารดับ วิญญาณดับ นามรูปดับ อายตนะดับ ผัสสะดับ ผัสสะนี่ขอโทษไม่ดับทีเดียว คือยังมีอยู่ มีอยู่ตามเหตุตามปัจจัย แต่คำว่าดับนี่ ดับความยึดมั่นถือมั่นในนามรูป ดับความยึดมั่นถือมั่นในสฬายตนะ ดับความยึดมั่นถือมั่นในผัสสะ พอดับได้ มองเห็นว่ามันเป็นธรรมดาเช่นนั้นเอง เท่านั้นแหละเวทนาดับ ไม่อาจเกิดขึ้น ถ้าจะมีความรู้สึกอยู่ คือยังรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ก็รู้อย่างปราศจากอุปาทานไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ที่รู้ก็เพราะว่าเป็นจิตฉลาดใช่มั้ยคะ เป็นจิตที่พร้อมด้วยปัญญา ก็รู้อะไรถูกอะไรผิด ก็มองดูอย่างรู้ รู้แล้วก็ถ้ามีสิ่งใดที่จะแก้ไขคือช่วยเหลือได้ ถ้าเห็นว่ามันไม่ถูก ควรจะไปช่วยอย่างไร ก็ช่วย ถ้าเห็นว่ามันถูกอยู่แล้วก็อนุโมทนายินดี ฉะนั้นที่พูดว่าวิญญาณดับนี่ คือดับจากตัณหาอุปาทาน แต่ก็ยังรู้สึก รู้สึกอยู่ได้ว่านั่นดี นี่ไม่ดี นั่นถูก นี่ไม่ถูก แต่รู้เฉยๆ ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น ไม่สามารถเข้ามากระทบจิตให้ขึ้นลงได้ จิตนั้นคงมีความปกติ นี่เราจึงพูดโดยสมมุตินะคะ คือสมมุติให้เข้าใจกันง่ายๆ พอเวทนาดับ เพราะว่าผัสสะไม่มีความหมายแล้ว เวทนาดับ ตัณหาดับ อุปาทานดับ ภพดับ ชาติ คือความรู้สึกของความมีตัวตนดับ ความทุกข์ก็ดับไปด้วย เพราะฉะนั้นวงล้ออันนี้ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นวัฏจักร หรือเป็นวงสังสารวัฏก็หยุด คำว่าหยุดก็คือว่าไม่หมุนติ้ว ที่จะทำให้ชีวิตนั้นเกิดความทุกข์ เกิดความขมขื่น เจ็บปวด ตกอยู่ในนรก หรือว่าตกอยู่ในภูมิของเปรต หรืออยู่ในภูมิของเดรัจฉาน อสูรกาย จะไม่เป็นอย่างนั้น แต่จะเป็นวงล้อของชีวิตที่ยังคงหมุนไป ยังหมุนไปอยู่เพราะยังมีลมหายใจนี่คะ ก็ยังหมุนไปอยู่ตามปกติอย่างนี้ แต่จะเป็นวงล้อของชีวิตที่อยู่เหนือวัฏจักร หรืออยู่เหนือวัฏสงสาร ตัดวงล้อนี้ขาด ตัดออกตรงนี่ ตรงผัสสะที่ไม่มีความหมาย ไม่บังอาจที่จะทำให้เกิดเวทนาได้ ตัดตรงนี้เอง มันก็หมุนไปตามธรรมชาติ ของสิ่งที่ เกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่จิตนั้นเป็นจิตที่อยู่เหนือแล้ว เหนือจากวัฏสงสาร เหนือที่บางทีท่านพูดว่าเหนือโลก โลกก็คือโลก โลกของกิเลสน่ะนะคะ โลกของกิเลส โลกของตัณหา โลกของอุปาทาน มันอยู่เหนือจากสิ่งเหล่านั้น เพราะเหตุว่าสามารถที่จะมองดูทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเป็นความทุกข์อะไรอย่างนี้ มันเป็นแต่เพียงกระแส กระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุตามปัจจัยที่เป็นมาตามลำดับเช่นนั้นเอง ไม่มีใครไปจัดทำให้มันเกิดขึ้น แต่มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเช่นนั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่า เมื่อศึกษาแล้วก็ปฏิบัติตามความรู้เกี่ยวกับเรื่องของปฏิจจสมุปบาทแล้ว ทำให้ได้รู้อะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เป็นความสำคัญที่จะทำให้จิตนี้มีความฉลาดอย่างถึงที่สุด นั่นก็คือจะสามารถรู้ได้ว่าทั้งหมดเหล่านี้คือชีวิตของมนุษย์ที่มีอยู่นี้ มันเป็นแต่เพียงเป็นไปตามกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุตามปัจจัยเช่นนั้นเอง ตามเหตุตามปัจจัยเช่นนั้นเอง มันจะสังขารคือความคิดนึกมันจะผิด ผิดพลาด เป็นความคิดนึกที่เพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน ไม่เกิดประโยชน์ เสียเวลา เป็นความคิดนึกที่มุ่งแต่จะยึดมั่นถือมั่นในตัวตน มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยใช่มั้ยคะ มันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยเพราะอะไร เหตุปัจจัยอะไร ก็เพราะอวิชชาครอบงำจิต แต่ถ้าหากว่า สังขารความนึกคิดนี้มันเป็นในทางที่ถูกต้อง เกิดประโยชน์ สร้างสรรค์ทั้งแก่ตนเอง ทั้งแก่เพื่อนมนุษย์ มันก็เป็นไปตามกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อีกเหมือนกัน ตามเหตุตามปัจจัยเพราะปัจจัยตอนนี้เป็นปัจจัยที่เป็นวิชชา วิชชามาอยู่ที่ต้นเงื่อน หรืออยู่ที่ต้นหัวนี่นะคะ มันก็เป็นปัจจัยให้เกิดสังขารที่ถูกต้อง แล้วก็สังขารนี้ก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณที่รู้ถูกต้อง รู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริง สิ่งที่ความเป็นมายาก็มองเห็นมายาของมัน ไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วก็มองเห็นสิ่งที่เป็นความจริงตามเหตุปัจจัยตามธรรมชาติอีกเหมือนกันนี่ละค่ะ ฉะนั้นเมื่อศึกษาปฏิจจสมุปบาทอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่รู้กี่ร้อยรอบน่ะนะคะ ไม่ใช่รอบเดียว ไม่ใช่ห้ารอบ จะต้องศึกษาอยู่จนกระทั่งรู้ถี่ถ้วนแล้ว ก็จะรู้ได้เองว่า อ๋อ ชีวิตนี้นะ เป็นแต่เพียงกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุตามปัจจัยตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง ตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตามของใครอื่นนะคะ ฉะนั้นนี่ก็เท่ากับอธิบายถึงสิ่งที่กล่าวแล้วนี้
ทีนี้เมื่อรู้ว่าตามกระแสของการเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง นี่ก็อยู่ภายใต้กฎอะไร ก็กฎอิทัปปัจจยตาใช่มั้ยคะ อย่างที่เราพูดกันมาแล้ว เพราะฉะนั้นรูปนี้จึงขอพูดชื่อย้ำอีกทีนึงว่าเรื่องที่เราพูดกันนี้ หรือธรรมะที่เราพูดกันนี้มีชื่อเต็มว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาโท ก็กล่าวถึงเรื่องของเหตุและผล เรื่องของปัจจยาการ คืออะไรอาศัยอะไรแล้วทุกข์เกิด อะไรอาศัยอะไรแล้วทุกข์ดับ เมื่อใดที่กล่าวถึงเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เจาะจง เราจะใช้ชื่อว่า อิทัปปัจจยตา แต่เมื่อเราเจาะจงลงไปที่ความรู้สึกคือเวทนาที่เกิดขึ้นภายใน เราก็จะเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท เข้าใจใช่มั้ยคะ นี่เรามีชื่อมีชื่อเรียกเต็มว่าอย่างนี้ ก็อยากจะให้ข้อสังเกต อ่อคำที่สำคัญมากอีกคำหนึ่งนะคะ ในวงล้อรอบนอกนี่ก็คือคำว่าสังขาร สังขารนี่เป็นคำที่สำคัญมากทีเดียวค่ะ เพราะความทุกข์ของคนเรา ถ้าจำได้เมื่อเราพูดเรื่องอริยสัจสี่นะคะ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นนอกจากตัณหาโดยตรงแล้ว สิ่งที่ส่งเสริมให้ตัณหานั้นเกิดมากยิ่งขึ้น หรือสามารถจะกระจัดกระจายรุนแรงยิ่งขึ้นก็คือสังขาร คือความคิดปรุงแต่ง ทีนี้ในวงล้อของรอบนอก 12 อาการของปฏิจจสมุปบาทนี้ ก็จะมองเห็นได้ว่า สังขารปรากฏในวงล้อเพียงครั้งเดียว คือปรากฏหลังจากอวิชชา เป็นผลของอวิชชาเพียงครั้งเดียว แต่ถ้าจะดูไปให้ลึกซึ้งจะเห็นได้ว่า สังขารที่ปรากฏตัวออกมาให้เห็นกันชัดๆ ครั้งเดียวนี่มันปรากฏแทรกอยู่ในทุกอาการเลยค่ะ แทรกอยู่ในวิญญาณตามรู้ ตามที่สังขารมีวิญญาณตามรู้ แล้วก็ไปแทรกอยู่ในนามรูป ที่ทำให้รู้สึกว่านามรูปนี้นะ มันเป็นของธรรมชาติมันเกิดตามธรรมชาติ แต่เสร็จแล้วกลับไปคิดนึกปรุงแต่งว่า อ๋อมันเป็นเรา มันเป็นของเรา เพราะอวิชชามันอยู่ที่ต้นเงื่อน มันครอบงำอยู่เห็นมั้ยคะ สังขารนี่มันจะแทรกไปอยู่ทุกอัน จนกระทั่งเมื่อมีอายตนะถึงรอบอายตนะก็ไปยึดมั่น สังขารนี่เข้าไปคิดปรุงยึดมั่นเอาว่าอายตนะนี้เป็นของเรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นของฉัน มองไม่เห็นว่าเป็นของธรรมชาติ เพราะอวิชชาครอบงำอยู่ แล้วพอผัสสะเกิดขึ้นก็ไปปรุงแต่งอีกละว่าผัสสะนี้เป็นจริงเป็นจัง เป็นผัสสะที่เกิดขึ้นกับฉัน มีความหมายกับฉัน เรียกว่าหาทุกข์ใส่ตัวตลอดเวลา ฉะนั้นถ้าหากว่าตราบใดที่อวิชชาครอบงำจิต มันจะเป็นเหตุปัจจัยให้สังขารนี่คิดผิดเพี้ยน แล้วมันก็ไปสอดแทรกกระตุ้นให้ทุกอาการนี่พลอยผิดเพี้ยน คือพลอยเขลา พลอยเกิดความยึดมั่นถือมั่นไปด้วย จนกระทั่งเกิดเป็นเวทนาเป็นความทุกข์ ฉะนั้นก็ลองสังเกตนะคะ สังขารนี่จะปรุงไปเรื่อยตลอด จนกระทั่งถึงเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ก็ไปปรุงอยู่ตลอด ถึงได้ไปคิดเอาว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เป็นฉัน เป็นของฉัน หรือว่าความคับแค้นใจ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รัก อะไรอย่างนี้ก็ล้วนแล้วแต่เอามาเป็นของฉันหมด รวบเอามาหมดเพราะเจ้าสังขารนี่ ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ถ้าหยุดสังขารเสียได้ สังขารในที่นี้หมายถึงปรุงแต่งนะคะ ถ้าหยุดสังขารนี้เสียได้นั่นก็คือหยุดความทุกข์ เพราะอะไร ไม่ปรุงแต่งแล้ว พอไม่ปรุงแต่งเท่านั้นแหละก็ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นว่าอะไรมันเป็นฉัน หรือของฉัน จะสามารถมองเห็นทุกสิ่งตามที่เป็นจริงโดยไม่ยึดมั่น ความทุกข์ก็ไม่เกิด แต่เมื่อใดที่หยุดสังขารไม่ได้ นั่นก็คือเป็นการส่งเสริมกระตุ้นให้ความทุกข์เกิด จิตใจก็จะมีแต่ความหมองหม่น ขุ่นมัว เจ็บปวด ทรมาน หาความปกติ โปร่งเบาเย็นสบายไม่ได้เลย สังขารนี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นผู้ที่นอนไม่หลับน่ะนะคะ ตอนกลางคืนนอนไม่หลับ อย่าไปนึกเลยว่าทำไมถึงนอนไม่หลับ จ้องดูลงไปเถอะค่ะ จ้องดูลงไปที่ใจในขณะนั้น ใจว่างหรือเปล่า หรือว่าใจมันคิดวิตกกังวล นึกถึงโน้นนี่ เมื่อวานนี้ผ่านมาแล้ว เมื่ออาทิตย์ก่อนนี้ เดือนก่อนนี้ หรือว่าปีก่อนโน้น ก็ไปเอามาคิดมานึกตามสัญญา หรือ มิฉะนั้นก็ไปคิดไปนึกถึงพรุ่งนี้ โอ พรุ่งนี้นี่จะทำยังไง จะสะดวกสบาย จะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมั้ยหรืออะไรต่างๆ ทั้งที่พรุ่งนี้ก็ยังมาไม่ถึง หรือไปนึกถึงเดือนหน้า ปีหน้า พูดง่ายๆก็คือถึงอนาคต
ฉะนั้นที่นอนไม่หลับนี่ ก็เพราะว่าจิตไม่สามารถอยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันขณะ ขณะที่นอนอยู่ ขณะที่หายใจอยู่ ไพล่ไปนึกถึงอดีตบ้าง ไพล่ไปนึกถึงอนาคตบ้าง เพราะอะไรละคะ ที่ทำให้ไปนึกถึงอดีตบ้าง ถึงอนาคตบ้าง ก็ความเจ้าช่างปรุงแต่งใช่มั้ยละคะ ช่างคิดช่างนึกไป ขอจงได้โปรดระวังความคิดปรุงแต่งนี้ ถ้าคิดมากๆ ย้ำคิดย้ำทำ ไม่ยอมปล่อยเลย มันจะพาให้เข้าไปใกล้ที่ภาษาจิตเวชเขาบอกว่าเกิดความย้ำคิดย้ำทำ มันก็คือเกิดอาการของประสาทที่ต้องทำงานมาก พอมันต้องทำงานมากหนักเกินไป ก็แน่นอนล่ะไม่ช้ามันก็ต้องเข้าไปหาหมอประสาท แล้วไม่ช้ามันก็ต้องเปลี่ยนที่อยู่จากบ้านไปอยู่ในโรงพยาบาลที่จะต้องทำการรักษาในสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้สังเกตคำว่าสังขาร นอกจากคำว่าสังขารแล้ว ก็มีอีกคำหนึ่งคือคำว่าวิญญาณเหมือนกันนะคะที่ปรากฏครั้งเดียวในรอบนอกของปฏิจจสมุปบาท แต่คำว่าวิญญาณนี้ก็จะไปแทรกแซงอยู่ตลอดคือตามรู้ตลอด พอนามรูปก็ไปรู้ ไปรับรู้ ตามที่สังขารปรุง ไปรับรู้ด้วยความยึดมั่นถือมั่น พออายตนะก็ไปรับรู้ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของฉัน หรือจะเป็นผัสสะ ไปจนกระทั่งถึงเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ รับรู้โดยยึดมั่นว่าเป็นของเราทั้งนั้นเพราะอวิชชาครอบงำจิต นี่ต้องย้ำ เพราะอวิชชา เราจึงต้องพยายามระมัดระวังที่จะเพิ่มเติม เพิ่มพูนวิชชา ช2ตัวที่เป็นความรู้ แล้วเป็นปัญญา เป็นแสงสว่างให้เกิดขึ้นในจิตให้ได้มากๆ เพื่อที่จะให้สังขารนั้นเป็นสังขารที่ไม่ปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ แต่เป็นการปรุงแต่งที่สร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ แล้วก็จะได้พัฒนาวิญญาณนั้น ให้เป็นวิญญาณที่มีสติปัญญาที่ถูกต้อง คือเมื่อจะไปตามรู้อะไรก็รู้ตามวิชชา คือจะรู้ว่า อ๋อ มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นเพียงสิ่งสักว่าธาตุ ตามธรรมชาติ หาใช่สิ่งที่เป็นตัวเป็นตนให้ยึดมั่นถือมั่นเลยสักอย่างนึงไม่นะคะ นี่แหละค่ะเรียกว่าเป็นสิ่งที่ควรจะสังเกต ฉะนั้นนี่ก็ได้พยายามที่อยากจะลองพูดชี้ หรือว่าพูดซ้ำนะคะ เพื่อที่จะบอกว่า ถ้าสามารถว่าเพิ่มพูนวิชชาเข้าไปแทนอวิชชาเมื่อไหร่แล้วละก็ ทุกอย่างจะไม่มีอิทธิพลที่จะทำให้เกิดเวทนา ไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตนเกิดขึ้นอยู่เลยนะฮะ แต่สำหรับเรื่องของผัสสะนั้นก็ยังมีผัสสะอยู่ แต่เป็นผัสสะที่สักแต่ว่าผัสสะ ไม่มีอิทธิพลที่จะทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นผัสสะที่มีอำนาจมากระทบใจฉันให้เกิดความทุกข์ วงล้อนี้หยุดหมุนหรือ ถ้ามีคำถาม ถ้ามีคำถามว่า รู้อย่างนี้แล้ววงล้อของปฏิจจสมุปบาทหยุดหมุนหรือ ยังไม่หยุด ยังไม่หยุดนะคะ ยังคงหมุนต่อไป แต่ทว่าเป็นการหมุน เป็นการหมุนไปสู่ความว่าง ความสงบเย็น และเป็นประโยชน์ตลอดเวลา จะหมุนไปสู่สิ่งนั้นโดยตลอด เพราะอะไร ก็เพราะวิชชาครอบงำจิต แต่ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจอยู่ วงล้อชีวิตนี้ก็หมุนไป แต่จะมีแต่ความสุข สงบเย็น และเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ก็คือหมายความว่า สามารถกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่เพื่อนมนุษย์และแก่ชีวิตแห่งตนเอง ไม่มีความร้อนเข้ามาครอบงำเหมือนอย่างเมื่อ อวิชชายึดครองจิต นี่ก็คือสภาวะของจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิสูงสุด เห็นมั้ยคะ
อริยมรรคมีองค์แปด ที่เป็นองค์ที่สี่ ของอริยสัจสี่นั้น ถ้าจะถามว่า อริยมรรคมีองค์แปดนั้นคือเครื่องปฏิบัติให้ถึงหนทางถึงซึ่งความแจ้งแห่งความดับทุกข์ จะทำอย่างไร จะปฏิบัติ อริยมรรคมีองค์แปดอย่างไร จะเริ่มต้นสัมมาทิฏฐิอย่างไร เมื่อมาศึกษา ปฏิจจสมุปบาทนี่นะคะ จะเห็นชัดเจนเลยใช่มั้ยคะ เห็นชัดเจนเลยทีเดียวว่า อ๋อ เมื่อได้มองเห็นเสียแล้วว่า ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ให้เกิดสังขาร ให้เกิดวิญญาณอะไรตามที่ได้พูดมาแล้วนี้ แต่พอมองเห็นโทษทุกข์อย่างนี้ชัด เกลียดกลัว เรียกว่าสยดสยอง พยายามจะถอยหนี ก็ฝึกอบรมตนให้เพิ่มพูนวิชชามากขึ้น ๆ นี่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ความคิดเห็นที่ถูกต้องเริ่มต้น ดำเนินตามหนทางแห่งอริยมรรคเกิดขึ้นแล้วใช่มั้ยคะ พอเกิดสัมมาทิฏฐิสูงสุดเพราะประจักษ์ชัดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นแต่เพียงกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามเหตุตามปัจจัย ตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง เพราะชัดเจนประจักษ์ใจในเรื่องของ ไตรลักษณ์ ชัดเจนประจักษ์ใจในเรื่องของ อิทัปปัจจยตา ฉะนั้นอริยมรรคมีองค์แปด เมื่อเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิแล้ว สัมมาสังกัปปะ ความตั้งใจปรารถนาที่จะประพฤติปฏิบัติให้ได้ พยายามที่จะปลูกฝังเมล็ดพืชแห่งโพธิ หรือเมล็ดพืชแห่งปัญญาให้งอกงามให้จงได้ ก็เกิดหนักแน่นยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น สัมมาวาจา สัมมาวาจาคือการพูดจาในสิ่งที่ถูกต้อง จำได้ใช่มั้ยคะ คือการพูดปรึกษากันในเรื่องของการที่จะเดินตามวงล้อของปฏิจจสมุปบาท ในด้านนิโรธวาร คือการดับเสียซึ่งความทุกข์ เพิ่มเติมวิชชาเข้าไปแทนที่อวิชชาให้มากขึ้นๆ ก็จะปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้ แล้วสัมมากัมมันตะ ก็จะมีการปฏิบัติเพื่อให้บังเกิดวิชชาเพิ่มมากขึ้น รู้เท่าทันความเป็นมายาของสิ่งทั้งปวงที่ไปยึดมั่นถือมั่นมากขึ้น นอกจากนั้นสัมมาอาชีวะ ก็จะรู้จักครองตนอยู่ในหนทางแห่งพระธรรมอย่างถูกต้องยิ่งขึ้น สัมมาวายามะก็จะเรียกว่าทุ่มเทความพากเพียรอย่างบุกบั่นเด็ดเดี่ยวอาจหาญ กล้าหาญเด็ดขาดในการปฏิบัติ ไม่หวั่นกลัวความทุกข์ในการปฏิบัติที่จะเกิดขึ้น คงได้ยินแล้วที่ท่านบอกว่า การประพฤติพรหมจรรย์นี้ ต้องประพฤติด้วยน้ำตา ทำไมล่ะ การประพฤติพรหมจรรย์คือชีวิตอันประเสริฐก็เป็นสิ่งที่งดงามใช่มั้ยคะ แล้วทำไมจึงต้องมาประพฤติด้วยน้ำตา ก็เพราะมันไม่ใช่ของง่ายที่จะมาข่มขี่บังคับใจตนเองไม่ให้อยากกินสบาย ไม่ให้อยากนอนสบาย ไม่ให้อยากเที่ยวสบาย ไม่ให้อยากโลภ ไม่ให้อยากโกรธ ไม่ให้อยากหลง ไม่ให้อยากตามยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ โดยเฉพาะความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนที่เคยติดตัวรู้สึกมาตั้งนาน มันยาก มันไม่ใช่ของง่าย เพราะฉะนั้นการที่จะมาบังคับข่มขี่อย่างนี้ บางครั้งน้ำตาไหลหรือพูดง่ายๆ ต้องร้องไห้ด้วยความทุกข์ เพราะเป็นการต่อสู้ เป็นการต่อสู้กันอย่างยิ่งยวดมาก เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรม เป็นการต่อสู้อย่างยิ่ง โปรดอย่าคิดว่าการปฏิบัติธรรมคือการไปนั่งสบาย ๆ นั่งหลับตา แล้วก็ไม่เห็นต้องทำงานอะไร ถึงเวลาก็รับทาน ถึงเวลาก็นอน เปล่าเลยค่ะ
การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงนั้น ต้องข่มขี่บังคับใจทุกขณะที่จะไม่ไหลไปตามกระแส ตามกระแสที่ไหลลง แต่ต้องฝืนทวนกระแสเพื่อไหลขึ้นเหมือนกับทวนกระแสน้ำเชี่ยว ก็นึกดูเถอะค่ะว่ามันหนักเหน็ดเหนื่อยลำบากกว่าการว่ายน้ำตามกระแสเพียงไร ท่านผู้ที่ว่ายน้ำเป็นหรือเป็นนักว่ายน้ำก็คงประจักษ์ด้วยใจตัวเองใช่มั้ยคะ เพราะฉะนั้นมันลำบากมากเหน็ดเหนื่อยมาก น่ากลัวมาก ฉะนั้นจึงเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา เป็นการต่อสู้กันอย่างยิ่งทีเดียว ฉะนั้นจึงสัมมาวายามะ จึงต้องเด็ดขาด เด็ดขาด เด็ดเดี่ยวแล้วก็กล้าหาญฟันฝ่าด้วย แม้อย่างที่ตอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมัยที่ท่านเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วก็พยายามฝืนต่อสู้ ฝืนพระทัยเพื่อจะต่อสู้ให้ค้นพบสัจธรรมให้จงได้ แล้วก็ถึงตอนที่พระองค์ทรงทรมานพระกาย นึกออกมั้ยคะ พระพุทธรูปปางทรมานนั่นน่ะ เห็นแต่ซี่โครงแล้วก็มีแต่หนังหุ้มกระดูก แล้วตามที่ไปอ่านพระพุทธประวัติก็จะพบว่าเวลาที่ทรงเหนื่อยเหลือประมาณนี่ ก็อยากจะยกมือยกพระหัตถ์ขึ้นลูบเพื่อจะลูบเนื้อตัวให้มีความสดชื่นสักนิด พอลูบเท่านั้นแหละขนก็หลุดออกไปตามมือหมด นี่มองเห็นว่าการที่จะพฤติพรหมจรรย์นั้น ต้องฝ่าฝืนคือหมายความว่าฝืนใจ ข่มขี่ บังคับใจ ทรมานใจเพียงใด ฉะนั้นการประพฤติพรหมจรรย์นี้ จึงเป็นการที่ต้องกระทำอย่างต่อสู้ อย่างอาจหาญเหมือนกับว่าต้องหลั่งน้ำตาอยู่ทุกขณะนะคะ ฉะนั้นสัมมาวายามะจึงต้องเด็ดเดี่ยว เมื่อสัมมาวายามะเด็ดเดี่ยว สัมมาสติ ความระลึกรู้ก็ยิ่งมั่นคง ว่องไว ทันท่วงทียิ่งขึ้น สติสัมปชัญญะพร้อมบริบูรณ์ สัมมาสมาธิ ความมีจิตตั้งมั่นอยู่ในหนทางแห่งสัมมาทิฏฐิที่ได้กำหนดไว้แล้วว่า จะต้องเดินตามหนทางแห่งธรรมตลอดไป จนกระทั่งเข้าถึงธรรม ประจักษ์ในธรรมให้จงได้ จะไม่มีวันขยับเขยื้อนหรือว่าถอยหลังเลยจนนิดเดียว เพราะฉะนั้นสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นแม่ทัพหน้า แหลมคมแทงทะลุถึงสัจธรรม จึงเป็นสิ่งที่ต้องพยายามเรียกว่าตะล่อม อบรมให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้เป็นแสงสว่างส่องทางให้อริยมรรคองค์อื่น ๆ ตาม และในขณะเดียวกัน อริยมรรคองค์อื่น ๆ ทั้งหลายก็กลับมาเป็นบริวารของสัมมาสมาธิ คือความตั้งใจมั่นที่พอกพูนมากขึ้น แล้วอริยมรรคทั้งเจ็ดองค์ก็กลับมาเป็นบริวาร คือสัมมาทิฏฐิเป็นแม่ทัพหน้า เป็นแสงสว่างเดินไปก่อน พอเดินไปก่อนแล้วรู้หนทางแล้ว สัมมาสมาธิหนักแน่นมากขึ้น ๆ อย่างชนิดไม่ขยับเขยื้อนถอยหลังเพราะเป็นแม่ทัพหลวงใช่มั้ยคะ เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็เรียกว่ายืนหยัดฟาดฟันกันอย่างชนิดว่าตัวต่อตัวจนสามารถเอาชนะได้ จึงเรียกว่า อริยมรรคอีกเจ็ดองค์ ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ จนถึงสัมมาสติเป็นบริวารของสัมมาสมาธิ แต่อย่างไรก็ตามโปรดอย่าลืมนะคะว่า อริยมรรคมีองค์แปดไม่ได้ทำงานองค์ละที หรือแยกกันทำ แต่ทำพร้อมกันในลักษณะของมรรคสมังคี คือสามัคคีทำพร้อมกัน ตามสัดส่วนแห่งหน้าที่ของอริยมรรคแต่ละองค์ เหมือนกับเชือกแปดเส้นมามัดฟั่นรวมกันเป็นเชือกเส้นเดียวจึงแน่นหนามั่นคงมาก และเมื่อกระทำไป ประพฤติปฏิบัติไป ก็ทำให้จิตนี้เข้าถึงความเป็นมัชฌิมาปฏิปทายิ่งขึ้น ๆ นี้คือทางดำเนินของอริยมรรคมีองค์แปด ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ถ้าหากว่าโลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ถ้ายังมีผู้ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด ฉะนั้นรายละเอียดของการปฏิบัติตามปฏิจจสมุปบาทก็ต้องพยายามที่จะเข้าใจนะคะว่า มีได้สองทาง สมุทยวาร คือทางฝ่ายเกิดแห่งทุกข์ แล้วก็ นิโรธวาร ทางดับแห่งทุกข์ เพราะฉะนั้นการที่ท่านเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท บางทีท่านจึงเรียกปฏิจจสมุปบาทนี้ว่า อริยสัจใหญ่ ที่เรียกว่า อริยสัจใหญ่ก็เพราะเหตุว่าแสดงให้เห็นทั้งในเรื่องของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แล้วก็ความดับทุกข์ ตลอดจนกระทั่งถึงทางดำเนินให้ถึงความดับทุกข์มีอยู่พร้อมในที่นี้ ปฏิจจสมุปบาทจึงจัดว่าเป็น ปรมัตถธรรม ที่เป็นสันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโกก็คือว่าต้องเห็นเอง แล้วก็ต้องเห็นเองในอัตภาพนี้ด้วย อัตภาพนี้ก็คือในชั่วชีวิตนี้ ในลมหายใจนี้ แล้วก็ต้องเห็นที่นี่ ที่นี่คือที่ใจ ในขณะนี้ แล้วก็เดี๋ยวนี้ด้วยนะคะ อย่าไปผลัดวันประกันพรุ่ง เมื่อจะฝึกต้องพยายามฝึกให้เห็นที่ใจ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ จะเห็นอย่างละน้อย ยังไม่ชัดก็ไม่เป็นไร จะเห็นอย่างวับ ๆ แวม ๆ ก็ช่างเป็นไร ขอให้พยายามเห็นเถอะค่ะ เห็นวับๆแวมๆทีละน้อย ๆ แล้วมันก็จะค่อยชัดขึ้นเอง ชัดขึ้นเองใช่มั้ยคะ แล้วก็จะเห็นชัดได้ว่า นั่นแหละมันคือกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุตามปัจจัยเช่นนั้นเอง
นอกจากนี้ก็อยากจะกล่าวด้วยอีกว่า ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นการอธิบายถึงเรื่องของกฎแห่งกรรมที่เราพูดถึงกันนักนะคะว่ากฎแห่งกรรมได้อย่างชัดเจน แต่อธิบายให้เห็นว่ากฎแห่งกรรมนี้มันเป็นกฎแห่งการกระทำ กฎแห่งการกระทำของชีวิตที่กระทำคือประกอบเหตุปัจจัยอย่างนั้นเอง ไม่ใช่เป็นการกระทำหรือเป็นกฎที่มีผู้หนึ่งผู้ใดมาบังคับมาจัดให้ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ปฏิจจสมุปบาทจึงแสดงกฎแห่งกรรมให้เห็นชัดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตนั้น มันเป็นไปตามกระแสแห่งการกระทำ ตามกฎอิทัปปัจจยตา ถ้าหากว่ามานึกถึงตามกฎอิทัปปัจจยตา มองเห็นกฎอิทัปปัจจยตา ความที่จะไปรู้สึกอ่อนล้าว่า โอ้ย ฝืนกรรมไม่ไหว เพราะว่ากรรมมันกำหนดมาแล้ว จะไม่มีค่ะ ถ้ามองเห็นแล้วว่ามันเป็นกฎอิทัปปัจจยตาก็คือเป็นกฎแห่งการกระทำ ถ้าอยากจะแก้กรรม แก้ที่ตรงไหน แก้ตรงนี้ค่ะ แก้จากการกระทำที่เหตุปัจจัยที่ไม่ถูกต้องด้วยความหลง ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ให้เป็นการกระทำที่มีแต่การกระทำตามหน้าที่ด้วยสติปัญญาเท่านี้เอง กรรมที่เคยนำความทุกข์มาให้ก็จะเปลี่ยนเป็นกรรมที่นำความสุขมาให้ คือนำสิ่งที่ไม่เป็นปัญหามาให้ พอนึกถึงกฎอิทัปปัจจยตาว่าเป็นไปตามกฎแห่งการกระทำของตน มีกำลังใจใช่มั้ยคะ แล้วก็มีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และการกระทำนั้นอยู่ในกำมือของเรานี่เอง อยู่ในกำมือของชีวิตนี้ ไม่ได้ไปอยู่กับใครที่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าจะศึกษาเรื่องของกรรมตามพระพุทธศาสนาที่แท้จริงแล้วล่ะก็ ขออยากจะอยากจะขอเรียนว่าควรจะศึกษาตามนี้นะคะ ถ้าศึกษาตามนี้ก็จะเป็นกฎแห่งกรรมตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสอนและเป็นการที่ศึกษากฎแห่งกรรมตามวิธีของพุทธศาสตร์ ไม่ใช่ไสยศาสตร์ แล้วก็เป็นกฎแห่งกรรมที่ทุกคนสามารถแก้ไขได้ ปรับปรุงได้ ทำชีวิตให้สิ้นกรรมได้ ให้อยู่เหนือกรรมได้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติตามกฎปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายนิโรธวารนะคะ คือฝ่ายดับทุกข์จึงต้องเป็นการอยู่คือกำหนดชีวิตอยู่ หรือกำหนดใจทุกลมหายใจเข้าออกให้อยู่กับปัจจุบันขณะ ปัจจุบันขณะ ขณะที่หายใจอยู่นี้ซึ่งเป็นขณะจิตที่มีความหมายและอิทธิพลที่สุดต่อชีวิตของมนุษย์ใช่มั้ยคะ เพราะขณะที่กำลังหายใจอยู่นี้แหละที่มันมีความรู้สึกได้ รู้สึกดีใจ รู้สึกเสียใจ รู้สึกเศร้าหมอง รู้สึกเบิกบาน ใช่มั้ยคะ รู้สึกได้ รู้สึกเสีย หรือว่ารู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ มันปัจจุบันนี้เอง ที่มีอิทธิพล ที่มีความรู้สึกได้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท จึงควรปฏิบัติในชีวิตปัจจุบัน อย่าไปคิดปฏิบัติสำหรับอดีตที่ล่วงมาแล้ว หรือ สำหรับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ก็ไม่ปฏิเสธเรื่องอดีตเรื่องอนาคต แต่เผอิญว่าเป็นสิ่งที่รู้สึกไม่ได้อย่างถนัดชัดเจน จนถึงพิสูจน์ได้ แต่ปัจจุบันนี่เราพิสูจน์ได้ สุขอย่างไร หันไปดูการกระทำที่เป็นเหตุแห่งความสุขนั้น ก็จะรู้เอง อ๋อ...เพราะกระทำโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ทำตามหน้าที่อย่างเต็มสติปัญญาความสามารถเลยมีแต่ความเบาสบาย
ถ้าหากว่าขณะนี้มันเป็นทุกข์ หันไปดูเหตุแห่งการกระทำที่ทำให้เกิดความทุกข์ก็จะรู้ว่าเพราะทำอย่างชนิดที่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตน ด้วยตัณหาอุปาทานกิเลสแทรกแซงตลอดเวลา ก็แน่ละ ผลก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นก็จึงปรับเหตุแห่งการกระทำนั้นให้ถูกต้องเสียเท่านั้นเอง ชีวิตก็จะมีแต่ความสุขสงบเย็น และในรอบวงหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายสมุทยวารนะคะ ฝ่ายสมุทยวารคือฝ่ายเกิดนั่นน่ะ จะมีพร้อมทั้งกิเลส กรรม วิบาก แต่ถ้าหากว่าเปลี่ยนอวิชชาเป็นวิชชาเมื่อไหร่ พอมาถึงฝ่ายนิโรธวาร จะมีแต่ความสุขสงบเย็นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก็กล่าวได้ว่าเรื่องของปฏิจจสมุปบาท เป็นวิทยาศาสตร์ แล้วก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นด้วยว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ไสยศาสตร์ ไม่ใช่ปรัชญา เป็นวิทยาศาสตร์ในแง่ของพุทธศาสตร์ คือต้องใช้สติปัญญาเพื่อพิจารณาใคร่ครวญแล้วก็ทดสอบ หรือว่าสอบสวน พิสูจน์จนกระทั่งเห็นผล แต่มันแตกต่างจากวิทยาศาสตร์ฝ่ายวัตถุตรงที่ว่า ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ฝ่ายวัตถุที่นักวิทยาศาสตร์คิดค้นอะไรขึ้นมา มีสมมุติฐาน มีทฤษฎี แล้วเสร็จแล้วเขาก็ปฏิบัติไปตามทฤษฎีนั้น พอสำเร็จก็จะมีวัตถุมาแสดง เหมือนอย่างเช่นมีโทรทัศน์ มีกล้องถ่ายโทรทัศน์ เหล่านี้ก็เป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์ใช่มั้ยคะที่ได้คิดประดิษฐ์ขึ้น จนกระทั่งมีผลออกมาเป็นวัตถุให้ทุกคนมองเห็นเป็นประจักษ์พยาน แล้วก็รับรอง แต่ทว่าในเรื่องของการปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นวิทยาศาสตร์จริงแต่อยากจะพูดว่าเป็นวิทยาศาสตร์ทางนามธรรม คือไม่สามารถที่จะหยิบเอามาวางให้ทุก ๆ คนเห็นได้ แต่ผู้ที่ปฏิบัติเอง หรือว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางนามธรรมด้วยตนเอง ด้วยการประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้องตามคำสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยเฉพาะก็คือในเรื่องของ อริยสัจสี่ ในเรื่องของปฏิจจสมุปบาทที่พูดกันไปแล้วนี้ เมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอต่อเนื่องด้วยความพากเพียรอุตสาหะ เดินตามอริยมรรคมีองค์แปดตลอดเวลา ก็จะประจักษ์ผลขึ้นเอง จะค่อย ๆ บังเกิดความเบาสบาย จากความหนักหน่วงด้วยความทุกข์ ขมขื่น ลดลง ความเบาสบายความเย็นเกิดมากขึ้นทีละน้อยละน้อยละน้อย แล้วคงมุ่งหน้าปฏิบัติต่อไปด้วยความเด็ดเดี่ยวอาจหาญ ไม่ย่อท้อ ไม่ถอยหลัง จนผลที่สุด วันหนึ่งถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติก็จะประจักษ์ชัดได้เองถึงผลแห่งการปฏิบัตินั้น ที่ท่านบอกว่าเป็นสันทิฏฐิโก นึกออกมั้ยคะ เวลาที่สวดมนต์ในทำวัตรเช้า สรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ในบทพระธรรมคุณท่านก็บอกว่า เป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง จะต้องเห็นได้ด้วยตัวเอง ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจึงจะเห็นได้ด้วยตัวเอง แม้จะนำมาพูดมาบอกกันก็เป็นแต่เพียงการพูดการบอกด้วยปาก ผู้ฟังก็จะไม่สามารถมองเห็นได้จนกว่าจะปฏิบัติจริง ๆ แล้วค่อยเห็นผลไปทีละน้อยด้วยการสัมผัสที่ใจ สัมผัสอะไรที่ใจ ก็คือสัมผัสความเย็น ความเบาสบาย ความว่าง ความเป็นอิสระ อย่างอยู่เหนือความยึดมั่นผูกพันที่ทำให้รู้สึกหนักเหน็ดเหนื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ความผูกพันในความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนใช่มั้ยคะ
นี่ละค่ะพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ที่จะต้องพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ปรัชญา เพราะปรัชญานั้นจะพูดกันด้วยเหตุด้วยผล แล้วก็มีนักปรัชญาเยอะ ยิ่งฉลาดก็คิดเหตุคิดผลมาพูดโต้เถียงกันไปไม่รู้จบ แต่พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ทางนามธรรม ที่มีที่จบ จบก็คืออะไร จบก็คือดับทุกข์ พ้นทุกข์ นี่คือที่จบ หรือว่าจุดหมายปลายทางของการพิสูจน์ในพุทธศาสนา เพราะว่าเราอาจจะพูดว่าในเรื่องของพุทธศาสนานั้น ถ้าจะว่าเป็นพิสูจน์ ถ้าจะว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ก็คือมีความทุกข์ เรื่องของความทุกข์เป็นสมมุติฐาน เราตั้งเรื่องความทุกข์ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงบอกทฤษฎีของการดับทุกข์ ให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ทางนามธรรม หรือที่สมัครใจจะมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางนามธรรม ศึกษาเล่าเรียนฝึกดู อะไรล่ะเป็นทฤษฎีก็อริยสัจสี่ ปฏิจจสมุปบาท ประกอบด้วยการศึกษากฎของธรรมชาติ กฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจจยตา นำมาฝึกฝนอบรมมากเข้า ๆ ตามทฤษฎีนั้นนะคะ อย่างเอาจริงเอาจังดั่งที่พูดแล้ว แล้วก็จะประสบผลเอง ผลที่จะประจักษ์แก่ใจก็คือความดับทุกข์ หรือความถึงที่สุดแห่งความทุกข์ คือความสิ้นทุกข์ ผลที่ชัดเจนคือความเบาสบายอย่างที่บอกแล้ว เป็นจิตที่อยู่เหนือทุกข์ เป็นจิตที่อยู่เหนือโลกียธรรม แต่เป็นโลกุตรจิต เพราะฉะนั้นประโยชน์สูงสุดของปฏิจจสมุปบาทอยู่ที่ตรงไหน ก็อยากจะพูดว่า อยู่ที่สามารถกำจัดอัตตานุทิฏฐิ ทิฏฐิก็คือความเห็น อัตตาก็คือตัวตน อัตตานุทิฏฐิก็คือความเห็นว่าทุกสิ่งเป็นตัวตน โดยเฉพาะก็คือร่างกายที่เป็นนามรูปนี้ ว่าเป็นตัวเป็นตน และอัตตานุทิฏฐินี่แหละคือต้นเหตุหรือรากเหง้าแห่งความทุกข์ของมนุษย์ เมื่อปล่อยความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนออกไปไม่ได้ ยังคงยึดมั่นเป็นตัวเป็นตน ตราบนั้นความทุกข์ไม่สิ้น จนกระทั่งจะพยายาม มีความพยายามอยากจะศึกษาอริยสัจสี่ ศึกษาปฏิจจสมุปบาท อย่างเอาจริงเอาจัง ความอยากตอนนี้ก็เป็นสัมมาสังกัปปะแล้วใช่มั้ยคะ เพราะอยากในทางที่ถูกต้อง กระทำจนเป็นจริงเป็นจัง อัตตานุทิฏฐิคือความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนจางคลายหายไปทีละน้อย เหลือแต่อนัตตาคือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มองเห็นชัดเจนแล้ว
นี่ก็คือเป็นประโยชน์สูงสุด สูงสุดตรงที่ว่าจะช่วยอำนวยผลให้แก่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างถึงที่สุด ด้วยความบากบั่น ด้วยน้ำตานี้นะคะ ได้ประสบความสุขสงบเย็นอันเป็นประโยชน์สูงสุดในชีวิต นั่นก็คือถึงซึ่งอนัตตา มองเห็นทุกสิ่งเป็นแต่เพียงกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วชีวิตนี้ก็จะพร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ฉะนั้นในปฏิจจสมุปบาทจึงพร้อมอยู่ด้วยไตรสิกขาด้วย แล้วก็ทั้งสมถะและก็วิปัสสนา ประกอบด้วยอีกเหมือนกัน นี่ก็เรียกว่าได้พูดเรื่องของปฏิจจสมุปบาทอย่างละเอียด ชัดเจนพอสมควร คิดว่าอย่างนั้นนะคะ แต่ถ้าหากมีคำถามต้องการจะซักถามก็ทำได้นะคะ ด้วยการส่งคำถามมา แล้วก็จะได้ตอบให้ชัดเจนเท่าที่สามารถจะทำได้ แต่ก็เพื่อที่จะให้มีแบบฝึกหัดติดใจไปแล้วก็ลองไปทดสอบฝึกฝนด้วยตนเอง ก็อยากจะขอแนะนำว่า การที่จะลองฝึกปฏิบัติปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวารนะคะคือฝ่ายดับทุกข์ แล้วก็ให้เห็นฝ่ายสมุทยวาร คือเห็นต้นเหตุของความทุกข์ให้ชัดเจน ก็อยากจะแนะนำว่าตัวอย่างและแบบฝึกหัดง่ายๆนี่นะคะ เอาคำข้าว คำข้าวก็คือ อาหารที่รับทานไปแต่ละคำละคำ ในแต่ละมื้อนี่ค่ะ มาเป็นแบบฝึกหัด อย่างที่ได้ฝึกปฏิบัติกันก็ เช่นที่ในโครงการอบรม ก็ได้ลองมีการฝึกปัจจเวกขณ์ คือการพิจารณาอาหารก่อนที่จะรับประทานอาหารทุกมื้อ ไม่ว่าจะเป็นเช้า หรือเป็นเพล พิจารณาให้เห็นว่า อาหารนี่มันเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ มันไม่ใช่เป็นข้าว เป็นเนื้อ เป็นปู เป็นปลา เป็นผัก หรือว่ามีเครื่องปรุงรส อะไรต่ออะไรต่าง ๆ สิ่งเหล่านั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่กระทำไปเพื่อประกอบให้เป็นสิ่งที่สมมุติเรียกกันว่า อาหาร เท่านั้นเอง แต่แท้จริงแล้วมันไม่ได้บอกให้ยึดมั่นว่า นี่เป็นข้าวนะ นี่เป็นปลานะ นี่เป็นเนื้อ นี่เป็นหมู นี่เป็นไก่ นี่เป็นปู นี่เป็นกุ้ง นี่เป็นผักคะน้า นั่นเป็นผักกาดแก้ว โน่นเป็นผักกาดหอม หรืออะไร เปล่าเลย เพียงแต่เราสมมุติเรียกกันใช่มั้ยคะ เราได้พูดกันแล้วถึงสมมุติสัจจะ สิ่งเหล่านั้นเป็นแต่เพียงสมมุติเรียกกัน เพราะฉะนั้นจึงได้มีการ ปัจจเวกขณ์ เพื่อเตือนใจเอาไว้ให้เกิดสติในขณะรับประทานเพราะเรื่องของการรับประทานนี่ทำให้คนเราขาดสติได้เร็วที่สุดเลย เพราะความติดในรสอาหาร แล้วก็บางทีก็ลดละอะไรได้หลายอย่าง แต่จะให้ลดละเรื่องการกินตามที่เคยถูกใจเคยชอบกินน่ะ แหม...มันยากจริง ๆ นะคะ ฉะนั้นเราก็เลยถือเอาซะว่า เอาเรื่องยากมาเป็นแบบฝึกหัด ฉะนั้นเมื่อปัจจเวกขณ์พิจารณาให้เห็นว่าทุกสิ่งมันเป็นเพียงสักว่าธาตุตามธรรมชาติ
เพราะฉะนั้นเมื่อมันเป็นธาตุตามธรรมชาติ มันจึงเป็นสุญโญ นึกออกมั้ยคะ สุญโญคือความว่าง ว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน นี่ก็พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งก็มีรายละเอียดของ ปัจจเวกขณ์มากกว่านี้ แต่ในที่นี้ ถ้าเราจะลองใช้วิธีฝึกก็คือ มีสติในขณะที่ก่อนจะรับประทาน ก่อนที่จะตักอาหาร พอในขณะที่ตักอาหารอยู่นั้นก็มองเห็น พยายามฝึกจิตให้เห็นว่ามันเป็นเพียงสักว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้นนะ แล้วในขณะเดียวกันนำกฎไตรลักษณ์นี่นะคะเข้ามาควบด้วย เช่น ข้าวก็จัดเอาไว้ในหม้อ แกงก็จัดเอาไว้ในหม้อ ผัดก็จัดเอาไว้ในจาน หรือว่ายำ หรือว่าน้ำพริกก็จัดเอาไว้ในภาชนะที่เหมาะสม ในขณะที่ตักแต่ละอย่างนี่ มองเห็นลักษณะความเป็นไปของมัน มันมีลักษณะอย่างไร ข้าวมีลักษณะอย่างไร แกงมีลักษณะอย่างไร ผัดหรือยำหรือว่าน้ำพริกปลาทูอะไรเงี้ย มีลักษณะอย่างไร แต่พอตักเข้าไปมันคงลักษณะอยู่อย่างเดิมมั้ย นี่ถ้าเราเอาไตรลักษณ์ เข้ามาพิจารณาร่วมด้วยนะคะ ก็จะบอกตัวเองมันเปลี่ยนแล้ว ปลาพอตักเข้าไปเปลี่ยนจากรูปร่างที่เป็นปลาแล้ว เพราะเนื้อส่วนหนึ่งจะต้องถูกตักออกมา หรือยำ หรือผัด หรือแกงก็ตาม มันเปลี่ยนรูปร่าง พอเข้ามาอยู่ในจาน นี่มันรวมกันแล้ว มันค่อนข้างจะรวม มันไม่ได้แยกอยู่อย่างมีความสวยงาม น่ากิน ด้วยสี ด้วยกลิ่น ใช่มั้ยคะ
นี่คือความเปลี่ยนแปลงตามกฎของอนิจจังเกิดขึ้น พิจารณาทุกขณะ อย่างนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน จิตนั้นก็จะค่อย ๆ มั่นคงอยู่ในสติ สมาธิ แหละปัญญาก็เพิ่มพูนเพิ่มมากขึ้น เมล็ดของโพธิเพิ่มมากขึ้น ๆ จิตที่อยากจะยึดมั่นว่า โอ้ย นี่แหมข้าววันนี้ละมุนละไมน่าอร่อย หรือว่าแกงวันนี้สีสันน่ากินหอม หรือว่าผัดวันนี้ หืมเขาผัดได้มองดูแล้วไม่เฉพาะแต่น่ากินหรอก มันมีความสวยงามชวนให้อร่อย น้ำลายจะไหล จะไม่มีความรู้สึกอย่างนี้ มันจะดับ ความรู้สึกที่จะติดในรสอาหารค่อย ๆ จางลงไป ทีนี้พอถึงเวลาตักอาหาร พอเอาช้อนตักอาหารที่จะใส่ปาก มองดูอาหารในช้อนอีก เหมือนกันมั้ยกับที่ในจานข้าว เหมือนกันมั้ยกับที่อยู่ในหม้อ ในภาชนะต่างๆเมื่อกี้นี้ นี่อนิจจัง นี่แหมมันเข้ามาสอดแทรกในชีวิตทุกขณะนะ แม้แต่คำข้าว แล้วทุกขังล่ะ แสดงทุกขังว่ามันทนอยู่ได้ยาก มันเปลี่ยนจากสิ่งใหญ่ ๆ ที่เป็นรูปเป็นร่าง กำลังเริ่มมาอยู่ในช้อน มันเปลี่ยนออกมาเป็นสิ่งเล็กสิ่งน้อย ทีนี้ตักเข้าปากนะคะ พอตักเข้าปากเริ่มเคี้ยว เคี้ยวที่หนึ่งคือเคี้ยวแรก เริ่มเอื้องเคี้ยวทีแรก จะสัมผัสได้ทันทีเหมือนเดิมมั้ย เมล็ดข้าวเหมือนเดิมมั้ย ผักเหมือนเดิมมั้ย ปลาแกงอะไรเหมือนเดิมมั้ย ไม่แล้ว มันเริ่มเปลี่ยนรูปแล้ว นี่ อนิจจัง ทุกขัง ชัดเจน ชัดเจนทุกเรื่องไปเลยไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ มันชัดเจนจริงๆ เคี้ยวต่อไปอีกเป็นคำที่สองเป็นคำที่สามเป็นคำที่สี่ ถ้าใครเก่งจริง ลองคายออกมาในฝ่ามือ คายอาหารที่เคี้ยวมาอยู่ในฝ่ามือ มองดู แหมไม่อยากมองมันขยะแขยง แล้วก็บอกไม่ค่อยได้หรอกว่าตรงไหนเป็นปลา เป็นผัก เป็นข้าว มันเริ่มรวมกันไปหมด ไม่รู้อะไรเป็นอะไร มันเปลี่ยนรูปไปแล้ว อนิจจัง ทุกขัง เริ่มชัดเจน ตอนนี้ อนัตตา ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนกำลังจะแทรกให้มาเห็น ไหนล่ะปลา ไหนล่ะข้าว ไหนล่ะผัก ไหนล่ะกุ้ง มันเริ่มจะทำให้มองเห็นสภาวะของความเป็นอนัตตาทีละน้อย เอ้า เก่งมาก ใส่ปากกลับไปใหม่ ใส่ปากเคี้ยวต่อไปใหม่ พอเคี้ยวต่อไปเคี้ยวต่อไปละเอียด กลืน ไหนล่ะสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นข้าว เป็นปลา เป็นกุ้ง เป็นแกง เป็นกับ เป็นผัด เป็นยำ อะไรก็แล้วแต่ ไม่มีแล้ว มันก็ค่อย ๆ ผ่านไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยของการย่อยอาหารตามธรรมชาติใช่มั้ยคะ ธรรมชาติจัดมาเสร็จก็เข้าไปสู่สำไส้ สู่กระเพาะอะไร จนผลที่สุดมันก็จัดแจงแต่งๆตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติอีกเหมือนกัน อะไรเป็นประโยชน์ก็ส่งไปเลี้ยงร่างกาย อะไรเป็นกากมันก็จัดเอาไว้ส่วนหนึ่ง พอถึงตอนเช้าวันรุ่งขึ้น นี่ต่อเนื่องหน่อยนะคะ เข้าห้องน้ำ มองดูในโถที่เราทำกิจส่วนตัว เอ...จะปฏิเสธได้มั้ยนะว่า สิ่งที่อยู่ในโถ กับที่อยู่ในจานข้าวที่เรารับทานเมื่อวานนี้ มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ปฏิเสธได้มั้ยคะ แข็งใจ ตอนใหม่ ๆ ต้องแข็งใจๆถามตัวเอง ปฏิเสธได้มั้ย ถ้าหากว่าซื่อตรงก็ต้องตอบว่าปฏิเสธไม่ได้ใช่มั้ยคะ แม้มันจะเปลี่ยนรูป เปลี่ยนสี เปลี่ยนกลิ่น จากกลิ่นที่หอมหวนชวนสูดดมน่ะเมื่อวานนี้ มันกลายเป็นกลิ่นที่ต้องอุดจมูก เบือนหน้าหนีไม่อยากมอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน นี่ล่ะค่ะเป็นวิธีที่จะศึกษาปฏิจจสมุปบาท ได้ดีที่สุด ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปในฝ่ายของ
นี่ศึกษาในฝ่ายนิโรธวารนะคะ โดยดูต้นเหตุที่มันเกิดมาตามลำดับ อ๋อ...นี่ผลที่สุดแล้วมันก็ไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่นจริง ๆได้เลยสักอย่าง แล้วที่พูดว่า การศึกษาปฏิจจสมุปบาทจะทำให้สามารถเห็นกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุตามปัจจัยตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง จริงมั้ย ท่านพูดหลอกเราหรือเปล่า หรือว่าท่านพูดไม่จริง ถ้าผู้ใดซื่อตรงก็แน่นอนต้องตอบว่า แหม...ท่านพูดจริงจริง ๆ มันเป็นแต่เพียงกระแส ของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามเหตุตามปัจจัยตามธรรมดาธรรมชาติ เช่นนั้นเอง เหตุปัจจัยอะไร ก็เหตุปัจจัยของการกระทำที่ทำมาตามลำดับใช่มั้ยคะ ตามลำดับอย่างนี้ แล้วผลมันก็เกิดขึ้นอย่างนี้ ผลที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า อ๋อ มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเช่นนั้นเอง พอเห็นเช่นนี้ อนัตตา ชัดเจนมั้ยคะ ก็แน่นอนที่สุดสภาวะของความเป็นอนัตตา คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่จะให้ยึดมั่นถือมั่นได้เลยสักอย่าง ชัดเจนขึ้นมาเอง ชัดเจนอย่างชนิดที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะไหนล่ะสิ่งที่ว่า ที่เรายึดมั่นว่า อันนี้แกงอร่อย อันนั้นกับอร่อย อันนั้นยำอร่อย โอ้ยอันนี้น้ำพริกรสอร่อยเด็ดขาดเลย อยู่ไหน มันเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็สิ่งที่กฎไตรลักษณ์เกิดขึ้นก็เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา คือตามเหตุตามปัจจัย มันเนื่องกันเป็นลูกโซ่อย่างนี้ ผลที่สุดก็ประจักษ์ชัด ถ้าฝึกอย่างนี้ ถ้าผู้ใดเก่งแล้วก็เข้มแข็งเด็ดขาดจริง ฝึกอย่างนี้ทุกมื้อของคำข้าว จะเข้าถึงปฏิจจสมุปบาท เร็วขึ้น เร็วขึ้น เร็วขึ้น แล้วในขณะเดียวกันใจก็จะประจักษ์ในกฎของธรรมชาติ กฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจจยตา ชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดขึ้น จิตที่เคยหนักหน่วงด้วยความยึดมั่นถือมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน มันค่อยๆวางเองโดยอัตโนมัติใช่มั้ยคะ ชัดขึ้นๆ ทุกทีอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วธรรมะจะไปไหนเสีย ความสุขสงบเย็นจะไปไหนเสีย ก็จะต้องเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ตามเหตุปัจจัยแห่งการปฏิบัติ แห่งการกระทำใช่มั้ยคะ ท่านจึงบอกว่า ผู้ใดปฏิบัติมากได้มาก ปฏิบัติน้อยได้น้อย ฉะนั้นก็ขอได้โปรดลองเถอะค่ะ ลองแล้วก็จะค่อย ๆ ชัดใจขึ้น จนเกิดกำลังใจที่จะปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง แล้วความสุขสงบเย็นก็จะบังเกิดขึ้นภายในขึ้นเอง
นั่นก็เป็นข้อเสนอนะคะ เพื่อฝึกปฏิบัติแบบเป็นแบบฝึกหัดประการแรก ประการที่สองก็อยากจะขอเสนอแนะนำว่า หากระดาษมาสักแผ่นหนึ่งแล้วเสร็จแล้วก็เขียนวงล้อนี่นะคะ วงล้อของปฏิจจสมุปบาท เอาแต่วงนอกเท่านั้นแหละค่ะ คือสิบสองอาการอย่างเดียวเท่านั้น คือสิบสองอาการก็เริ่มจากช่องแรก อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ แล้วก็ เวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ ชาติ แล้วก็ ทุกข์ นี่ มีสิบสองอาการด้วยกัน เอาแต่เพียงกระดาษแผ่นใหญ่มาแผ่นเดียวแล้วก็เขียนวงกลมเข้า วงกลมใหญ่ ๆ หน่อย แล้วก็แบ่งวงกลมนี่ออกเป็นสิบสองช่องนะคะ พอแบ่งเป็นสิบสองช่องแล้วก็เขียนชื่อลงไป ช่องที่หนึ่ง เอาฝ่าย สมุทยวาร คือฝ่ายที่เกิดทุกข์ก่อนนะคะ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์ เขียนเข้าไปให้ชัดเจนเชียวนะคะ พอเขียนชัดเจนแล้ว ก็ทำความเข้าใจ อวิชชานี่คืออะไรนะ หมายความว่าอะไร เราพูดกันหลายครั้งแล้ว ตอนนี้ไม่ต้องซ้ำอีกนะคะ เดี๋ยวจะว่าพูดซ้ำมากเกินไป ทำความเข้าใจในตัวเอง แล้วอย่ารีบร้อนนะคะ ช้า ๆ ถ้าหากว่าทำความเข้าใจครั้งแรกไม่ชัดเจนก็ไม่ต้องลำบากใจ เก็บไว้ทำต่อไปอีก ทำตอนเช้าก็เอาไปทำตอนกลางคืนหรือว่าในวันรุ่งขึ้น ทุกเวลาเท่าที่มีเวลาจะเข้าใจได้ อวิชชาท่านบอกว่าคือสภาวะของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ อะไรนะเป็นสิ่งที่ควรรู้ ซักถามตัวเองไป การศึกษาปฏิบัติธรรมนี้ซักถามตัวเองก็เหมือนกับการวิสัชนากับตัวเองนะคะ ตั้งปุจฉาคือคำถาม แล้วก็ วิสัชนาหาคำตอบขุดคุ้ยอธิบายกับตัวเอง ก็จะทำให้แจ่มกระจ่างขึ้นค่ะ ไม่ต้องไปหาใครอธิบาย ถ้าฟังตอนแรกนี่มีความเข้าใจแล้ว อะไรนะสิ่งที่ควรรู้ ก็อ๋ออริยสัจสี่ซิ อริยสัจสี่คืออะไร ซักต่อไปอย่างนี้นะคะ แล้วก็ พอถึงสังขาร ในครั้งแรกนี่นะคะ เอาความหมายของแต่ละคำก่อน อวิชชาว่าอะไร สังขารคือการปรุงแต่ง วิญญาณคือการตามรู้ นี่เอาความหมายของแต่ละคำละคำละคำ ที่เราพูดแล้วให้เข้าใจให้ชัดเจน ชาติ หรือ ชา-ติ คือการเกิดความรู้สึกของความมีอัตตาตัวตน หรือความเป็นอัตตาตัวตน มันเป็นยังไงนะ ต้องซักถามทันที อย่าเอาแต่เพียงคำแปลนะคะ ซักถามให้เข้าใจชัดเจนจนกระทั่งเห็นโทษทุกข์ของมันได้ชัดขึ้นในใจ เพราะเราเคยพบมาแล้วนี่คะ แล้วเสร็จแล้วก็พอทำความเข้าใจของความหมายของแต่ละคำ ของแต่ละอาการ แต่ละช่องชัดเจนแล้ว
ทีนี้ก็จึงค่อยมาบอกว่า อ้อ อวิชชานี้ที่ท่านว่าเป็นต้นเงื่อนนี่มันทำให้เป็นปัจจัยให้เกิดอะไร อ๋อ...มันเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร แล้วมันเป็นไงล่ะ คือมันที่เกิดสังขารขึ้นนี่แล้วมันมีผลเป็นยังไงบ้าง มันทำให้สังขารนั้นเป็นสังขารอย่างไร ลักษณะไหน นี่ว่าไปอย่างนี้นะคะตลอดทางสมุทยวารโดยเริ่มต้นจากเหตุอวิชชามา แล้วเสร็จแล้วก็ลองทวนเพื่อเอาให้ช่ำชอง ชำนาญ ทีนี้ก็มาเริ่มต้น สมุทยวารที่ทุกข์ เออ ทำไมมันถึงเป็นทุกข์นักนะ หรือถ้าวันไหนนี่มีความทุกข์จากการทำงาน โอ้ยวันนี้ทำงานนี่มันเหน็ดเหนื่อยแล้วก็มันเจ็บใจที่ต้องทำงานอย่างนี้ มันช้ำใจด้วยที่ต้องทำงานวันนี้ มันเกิดความช้ำใจมันเป็นทุกข์ อย่าไปมัวนอนร้องไห้ หรืออย่าไปมัวโกรธขัดเคืองเพื่อนร่วมงาน หรือว่าผู้บังคับบัญชา หรือใคร ๆ ก็ตาม แต่ถามตัวเอง ทำไมถึงจะต้องทุกข์ ทำไมถึงจะต้องทุกข์ ย้อนถามนะ อ๋อ...ก็เพราะวันนี้เรามีชาติใช่มั้ยล่ะ เรามีชาติ เรามี ชา-ติ เรามีตัวตนชัดเลย วันนี้เราทำงานอย่างชนิดมีตัวตน ว่าอะไรอะไรก็ฉัน เป็นของฉัน งานก็ของฉัน ฉันเป็นคนทำ เพราะฉะนั้นพอใครทำอะไรไม่ถูกใจฉัน ฉันก็เลยโกรธหมดเลย โกรธด้วยความยึดมั่นถือมั่นที่มันไม่ได้อย่างใจฉัน อ๋อ...นี่ใช่มั้ยเพราะมีชาติใช่มั้ย นี่ซักทันทีนะคะ ถ้าเราศึกษาเรื่องของปฏิจจสมุปบาท โดยเริ่มจากผล เราจะเห็นชัดมาก อ๋อ...เพราะมันมีชาติ นี่แหละที่ท่านบอกว่าอัตตาตัวตน เกิดขึ้นเมื่อใด ทุกข์เมื่อนั้น มันจริง จริง ๆ นะฮะ มันจะค่อยเห็นขึ้นทีนะน้อย แม้จะเห็นแล้วจะลืมก็ช่างเถอะ ให้เห็นบ่อย ๆ ทีนี้ก็จะค่อยๆจำขึ้น แล้วชาตินี่ล่ะ มาจากไหน อย่าหยุดแค่ชาตินะคะ ต้องสืบสาวไปให้พบ แล้วชาติ ชา-ติ ล่ะมาจากไหน ก็มาจากภพไงล่ะ เราเก็บเอาไว้ เราเก็บความรู้สึกเป็นตัวฉันเอาไว้ ฉันดี ฉันเก่ง ฉันวิเศษ หรือว่าฉันเป็นคนถูกต้องหรือว่าฉันอะไรนี่ ฉันเก็บเอาไว้นี่ เก็บภพอันนี้เอาไว้ แล้วภพนี่มาจากไหนล่ะ อ๋อ..มันมาจากอุปาทาน จากความยึดมั่นถือมั่นมาตั้งแต่ต้นเลย นี่เก็บเอาไว้ อมเอาไว้ ยึดเอาไว้ แล้วอุปาทานมาจากไหนล่ะก็มาจากตัณหาน่ะสิ มันอยาก อยากยังไงมันก็ยึดอย่างงั้น
เพราะฉะนั้นความยึดนี่มาจากความอยาก มันยอมเหมือนกันนะ แล้วมันก็ไม่ดีทั้งสองอัน มันถึงยอมไม่ได้ไง เพราะฉะนั้นอุปาทานมันมาจากตัณหา แล้วตัณหาล่ะมาจากไหน นี่ล่ะตัวร้าย มาจากเวทนาคือความรู้สึกที่มันปรุงแต่งจิต แต่มันเป็นความรู้สึกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ มันจึงเห็นว่าอะไร ๆ นี่มันมาเกี่ยวข้องผูกพันกับตัวฉันไปทั้งนั้นเลย ฉันรับหมด สุขก็รับ ทุกข์ก็รับ ไม่แน่ใจว่าสุขหรือทุกข์ก็รับ มัวเมาหลงงมงายนี่ไปรับเอามาหมดมันเป็นของฉัน อ๋อ..นี่เอง นี่เอง แล้วเวทนานี่เกิดได้อย่างไรล่ะนะฮะ ซักต่อไปอีกให้รอบวงเลยนะคะอย่าหยุดเชียว อย่าให้ขาดตอนเพราะความทุกข์มันกำลังแรง ๆ อยู่ในใจ อย่างที่ท่านสอนว่า ต้องตีเหล็กในขณะร้อนใช่มั้ยคะ เพราะฉะนั้นก็เวทนานี่มันเกิดจากไหนล่ะ อ๋อ...ก็มาจาก ผัสสะไงล่ะ ผัสสะนี่มาจากไหน ผัสสะนี่มาจากไหน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ สักแต่ว่าผัสสะ เพราะอายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอกที่เป็นคู่ของมัน แล้วเสร็จแล้ววิญญาณของอายตนะภายในมันไปร่วมทำหน้าที่ไปตามรับรู้ แล้วก็ความโง่ของเราเองนั่นแหละที่มีตัวตนก็เลยไปยึดมั่นถือมั่นว่ามีความหมายทำให้เกิดทุกข์เกิดสุข เห็นมั้ย ไม่ใช่เรื่องเลย อ้าวแล้วทีนี้ ผัสสะนี่มาจากไหนล่ะ มันก็มาจาก สฬายตนะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบกับคู่ของมัน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมด๊าธรรมดามันเกิดขึ้นเอง นี่ก็เพราะตัวตนนี่ไปแส่ ต้องใช้คำว่าไปแส่ ไปแส่ยึดเอามาเป็นของฉันอย่างงั้นอย่างงี้ มันก็เลยทำให้เกิดทุกข์ แล้ว สฬายตนะ มาจากไหน ก็มาจากนามรูป ที่มันไม่ใช่ของเราสักหน่อย แต่ไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา ก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้น แล้วนามรูปมาจากไหน ก็มาจากวิญญาณที่มันชอบรู้ผิด ๆ ไงล่ะ มันก็เลยมายึดเอานามรูปของธรรมชาติ มาตู่ๆของธรรมชาติว่าเป็นของเรา แล้ววิญญาณนี่มาจากไหนล่ะ อ๋อ..นี่เองเจ้าตัวสำคัญ เจ้าสังขารที่ชอบคิดปรุงแต่ง ปรุงแต่งสารพัด เพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน เป็นโน่นเป็นนี่ สรุปแล้วมันจะต้องมาลงที่เกี่ยวกับตัวฉันทุกที แล้วเจ้าสังขารนี่เกิดขึ้นได้ยังไง อ๋อ...นี่แหละ นี่แหละ ร้ายกาจที่สุด รากเหง้าของต้นเหตุ ของปัญหาทั้งหลาย คือเจ้าอวิชชา ความที่ไม่รู้ ไม่รู้อะไรตามที่เป็นจริง ก็เลยยึดมั่นเอาเป็นจริงเป็นจัง จิตมันก็เลยมืดตื้อ มัว สลัว ด้วยความเขลา ถ้าพูดให้ชัด ๆ ก็คือ ด้วยความโง่ แต่ตอนนี้กำลังรู้เรื่องแล้วใช่มั้ยคะ นี่จากการถามตัวเองมาเรื่อย ทำไมถึงทุกข์นะ ไล่มา กำลังรู้เรื่องแล้วว่า เพราะความโง่ พอรู้เพราะความโง่เท่านั้นละ กำลังฉลาดแล้วค่ะ กำลังฉลาดแล้ว ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องน้อยใจ นี่วิชชากำลังเพิ่มพูนเกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าศึกษาอย่างนี้นะคะ ด้วยการเขียนวงล้อของปฏิจจสมุปบาทไว้อย่างนี้ แล้วเสร็จแล้ว ขอเสนอให้เอาไปติดตรงที่ที่เห็นชัดที่สุด อยากเสนอให้ติดไว้ที่ตรงกระจกที่แต่งตัว จะได้มองเห็นทุกเช้า ทุกเย็นที่ไปแต่งตัว แล้วศึกษาทุกวี่ทุกวันไม่ว่างเว้น เมื่อนั้นแหละ จิตก็จะสามารถเข้าถึงความประจักษ์ในทุกสิ่งว่า สักแต่ว่ากระแสแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เช่นนั้นเองนะ ไม่ใช่สิ่งจริง มันเป็นเพียงมายา แล้วจิตนี้ก็จะมีแต่ความสุข สงบ เย็น อยู่เป็นนิจ แล้วก็ชั่วนิรันดร์ ก็หวังว่าจะได้มีกำลังใจ จนสามารถทำได้ทุก ๆ ท่านนะคะ ธรรมะสวัสดีค่ะ