แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมะสวัสดีค่ะ คราวที่แล้วเราพูดกันถึงเรื่องของนิวรณ์นะคะ ที่เป็นสิ่งปิดกั้นหนทางของความเจริญทุกอย่างทุกชนิดในชีวิต แล้วก็ได้ทราบกันแล้วว่านิวรณ์นี้มีอยู่ห้าอย่างอย่างแรกก็คือความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ถูกอกถูกใจ ตลอดจนกระทั่งสิ่งที่เรียกว่า กามารมณ์ เรารวมเรียกว่า กามฉันทะ ซึ่งจัดว่าเป็นลูกน้องของเจ้ากิเลสตัวที่เรียกว่า ราคะหรือโลภะแล้วก็นิวรณ์ข้อที่สอง ก็คือ พยาบาท ความอึดอัด หงุดหงิด รำคาญใจ ไม่ชอบใจ ที่เป็นลูกน้องของโทสะแล้วก็จากนั้นก็เป็น ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ความหดหู่ ความห่อเหี่ยว ความแห้งแล้ง ความอ่อนเปลี้ยทุกอย่างทุกประการ เป็นลักษณะของถีนมิทธะแล้วก็ตัวที่สี่ อุทธัจจกุกกุจจะ ความคิดฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ เลื่อนลอย เดี๋ยวไปอดีต เดี๋ยวไปอนาคต คิดโน่นคิดนี่ไม่มีวันรู้จบเลย หยุดคิดไม่ได้ แล้วพอยิ่งคิดก็ยิ่งสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับความคิดนั้น โดยที่ความคิดนั้นไม่มีรากฐาน ไม่มีพื้นฐานของความเป็นจริงอยู่เลยสักนิดเดียว แต่ก็คิดเพ้อเจ้อไปเรื่อยแล้วตัวที่ห้า ก็คือวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ ถอยหน้าถอยหลัง ตัดสินใจไม่ได้ ก็กลายเป็นคนอ่อนแอไปโดยปริยาย
ทั้งสามตัวนี้ คือ ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เป็นลูกน้องของโมหะ คือ อาการที่ออกมาในความห่อเหี่ยว แห้งแล้ง อ่อนเปลี้ย หรือว่าฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ หรือวนเวียนสงสัย ลังเล ไม่แน่ใจ นี่เป็นอาการของโมหะ คือเป็นลูกน้องของโมหะ ทั้งสามตัวนี้เป็นลูกน้องของโมหะ แต่เพราะว่านิวรณ์นี่มันครุ่น ๆ มันเป็นอาการที่ครุ่น ๆ กรุ่น ๆ มันก็ไม่ถึงกับทำให้เป็นให้ตาย แต่มันรำคาญ มันรำคาญเหมือนถูกตอมด้วยแมลงหวี่ เหมือนกับตัวริ้น น่ารำคาญไหม อันที่จริงถ้ามันเข้าตาไปสักนิดหนึ่ง แหม ก็รำคาญนะน้ำหูน้ำตาไหล นี่มันทำให้ไม่ตายหรอก แต่มันรำคาญ มันรบกวนเป็นเสี้ยนอยู่เรื่อยจนตลอดชีวิตเลย แต่ส่วนกิเลสนั้นอยากจะเปรียบเหมือนเสือ มันมีกำลังแรง มันกระโดดตะปบทีหนึ่งก็สาหัสหรือถึงแก่ชีวิต ทีนี้ถ้าบางคนบอกว่าขัดเกลากิเลสได้ ไม่โลภสักเท่าไหร่ ไม่โกรธสักเท่าไหร่ ก็ดูให้ดีว่ายังมีนิวรณ์เหลืออยู่หรือเปล่า ถ้ายังมีนิวรณ์เหลืออยู่หรือเปล่าก็ยังไม่เกลี้ยง แล้วก็ยังเป็นอันตราย ก็มันปิดกั้นหนทางแห่งความเจริญทั้งหลาย เพราะทำให้ต้องมาเสียเวลาหมกหมุ่นครุ่นคิดอยู่กับมัน ทำให้ไม่ได้ทำการงานในสิ่งที่ควรทำ
ทีนี้ก็ลองมาดูว่าแล้วนิวรณ์นี้ท่านอุปมาเหมือนกับอะไรบ้าง ถ้าโดยส่วนรวมก็อย่างที่ว่าไว้ ท่านอุปมาเหมือนแมลงหวี่ เหมือนตัวริ้น ถ้าหากว่ามาดูทีละอย่าง ๆ ท่านก็จะบอกว่าท่านเปรียบเหมือนน้ำ นิวรณ์นี่นะคะท่านเปรียบเหมือนน้ำ นิวรณ์แต่ละอย่าง ๆ ถ้าหากว่าเป็นกามฉันทะ ท่านก็เปรียบเหมือนน้ำเจือสีต่าง ๆ สวยนะคะ น้ำเหมือนสีรุ้ง มากยิ่งกว่าสีรุ้งอีก สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีชมพู สีฟ้า สีเทา สีม่วงอะไรอย่างนี้ มันมองดูเหลือบแลสวยงามพริ้งพรายไปหมด นี่มันคือกามฉันทะ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันหลอกล่อ มันยั่วยวนให้เราเห็น โดยเราไม่เห็นว่ารูปเที่ยงไหม ก็ไม่เที่ยง เสียงเที่ยงไหม ก็ไม่เที่ยง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเพียงสิ่งสักว่าทั้งสิ้นเลย ไม่มีอะไรที่เที่ยงเลยสักอย่างเดียว แต่เพราะความที่ไม่รู้นี้ก็ไปยึดว่ามันเที่ยง ก็ไปหลง ก็จึงเห็นมันสวย มันงาม มันน่ารักน่าเอ็นดู ท่านจึงเปรียบเหมือนกับน้ำเจือสีต่าง ๆ ซึ่งคนก็จะไปหลงใหลเฝ้ามองดู โอ้ นั่นสีเขียวสวยจริง นั่นเขียวอ่อน นี่เขียวแก่ นั่นเขียวใบไม้ นี่เขียวอะไรต่ออะไรก็แล้วแต่จะเปรียบไป นี่มันจึงทำให้คนหลงใหลง่าย มันเป็นมายาอย่างยิ่ง แต่ก็มองไม่เห็น
นอกจากนี้ พอเจ้าตัวที่สอง คือ พยาบาท ท่านเปรียบเหมือนน้ำเดือด น้ำเดือดเป็นอย่างไรคะ อาการของน้ำเดือด
ผู้ดำเนินรายการ : ปุด ๆ ๆ ๆ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ร้อน ๆ ร้อนผุด ๆ ๆ ๆ ร้อนเผาผุด ๆ ๆ ๆ ร้อนเผา นี่ความหงุดหงิด อึดอัด รำคาญใจ มันก็ไม่ถึงกับระเบิด แต่มันร้อนรนอยู่อย่างนั้น ท่านจึงเปรียบเหมือนกับน้ำเดือด ก็แน่นอนล่ะไม่สบาย มันจับต้องมันก็ไม่ไม่เย็น มันก็ไม่สบาย
ส่วนเจ้าตัวที่สาม คือถีนมิทธะนี้ ท่านเปรียบเหมือนกับน้ำที่มีจอกแหนปกคลุม น้ำที่ปกคลุมอยู่ด้วยจอกด้วยแหน เราไปนั่งข้างบ่อน้ำที่มีจอกแหนปกคลุม มองเห็นไหมคะว่าน้ำนี้เป็นอย่างไร ใสหรือเปล่า มีอะไรอยู่ใต้น้ำบ้าง เราก็ไม่เห็นไม่รู้ นี่แหละลักษณะของจิตที่มันมัวซัว มึนเมา ง่วงเหงาหาวนอน หดหู่ อ่อนเปลี้ย อ้างว้าง ว้าเหว่ นี่มันมองไม่เห็นอะไร คือเหมือนกับแล่นเรือกลางมหาสมุทรนั่นแหละ มองไม่เห็นฝั่ง เพราะมันมัวแต่จมอยู่กับความมัวซัว มึนเมา ไปอย่างนี้เสียทั้งหมด ท่านจึงเปรียบว่าเหมือนกับน้ำที่มีจอกแหนปกคลุม จนกว่าจะเอามือนี่ไปแหวก คือไปกวาดจอกแหนออกไปเสีย จึงจะมองเห็นว่าน้ำนี้มันใสหรือเปล่า
เมื่อไปถึงเจ้าตัวอุทธัจจกุกกุจจะ ท่านก็เปรียบเหมือนน้ำที่มีระลอกพลิ้วอยู่เรื่อย ๆ จะเป็นน้ำในแม่น้ำหรือน้ำในทะเลก็ตาม มันไม่ถึงกับเป็นคลื่นใหญ่ ไม่ใช่คลื่นใหญ่ที่โถมมา แต่มันเป็นเสมือนกับน้ำที่เป็นระลอกพลิ้ว ๆ ๆ สวยไหม
ผู้ดำเนินรายการ : สวย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สวยนะ ถ้าเราไปนั่งที่ชายสะพาน สมมติมีสะพานทอดออกไป เราไปนั่งชายสะพาน แล้วก็มองระลอกน้ำที่ไหลมาเป็นพลิ้ว ๆ ๆ มันก็สวย จะเป็นน้ำในแม่น้ำหรือน้ำในทะเลมันก็สวยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอุทธัจจกุกกุจจะ ความคิดที่ฟุ้งซ่านเพ้อเจ้อ มันจึงเพลินไงล่ะ คนถึงเพลิน เพลินเพราะมันจะคิดอะไรต่ออะไร สร้างวิมานในอากาศอะไรออกมามันก็เพลิดเพลิน แล้วก็หมายมั่นเอาว่าเป็นจริงเป็นจัง ณ ขณะนั้นนะปกติหรือเปล่า
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่ค่อยปกติ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : จริง ๆ นะไม่ค่อยปกติแล้ว จะเรียกว่าเพี้ยนไปแล้วก็ได้ ก็นั่งยิ้มนั่งหัวไปอยู่คนเดียว ในขณะที่ถีนมิทธะก็อาจจะนั่งหลับตาแล้วก็จะครางฮือ ๆ แล้วบางครั้งไม่ว่าจะร้องห่มร้องไห้สะอึกสะอื้นไปบ้าง นี่มันตรงกันข้ามอย่างนี้ ท่านจึงเปรียบเหมือนน้ำที่มีระลอกพลิ้ว ๆ ๆ ๆ
ส่วนวิจิกิจฉา ท่านเปรียบว่าเหมือนกับน้ำในที่มืด น้ำอยู่ในที่มืดเป็นอย่างไรคะ มองเห็นไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่เห็นครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มองไม่เห็นเลย น้ำสะอาดหรือสกปรกก็ไม่รู้ น้ำใสหรือน้ำขุ่นเป็นโคลนก็ไม่รู้ หรือในน้ำนั้นมีอะไรอยู่บ้าง มีสัตว์ร้ายอะไรอาศัยอยู่หรือเปล่า หรือว่ามีกบ มีปู มีปลา หรือว่ามีขี้โคลน มีก้อนหิน มีหนาม มีอะไร ไม่รู้เลยสักอย่างเดียว ถ้าจะเปรียบแล้วในบรรดาน้ำห้าอย่างนี้ คิดว่าน้ำอย่างไหนที่น่ากลัวมาก
น้ำในที่มืด ทำไมถึงน่ากลัว ไม่ทราบว่ามันเป็นอะไร มันมองไม่เห็น มันมองไม่เห็นเอาเลย มืดจนกระทั่งจะเอาไฟไปส่องใช่ไหม น้ำในที่มืด ความมืด ที่จะแก้ไขความมืดได้ก็ต้องอาศัยแสงสว่าง จนกว่าจะมีไฟสาดส่องเข้าไป ถึงจะรู้ว่าน้ำในที่มืดเป็นน้ำที่ใช้ได้หรือน้ำใช้ไม่ได้ หรือมีสัตว์ร้ายอยู่ต้องระมัดระวัง ถ้าเผอิญจะต้องข้ามน้ำตรงนี้เราจะต้องทำอย่างไร เพราะฉะนั้นวิจิกิจฉานี่เมื่อเกิดในจิตของผู้ใด เหมือนกับจิตนั้นกำลังตกอยู่ในที่มืด เพราะมันลังเลสงสัย มันไม่แน่ใจ มันไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี จนกระทั่งทำให้เกิดความประหวั่นกลั้นใจ เกิดความกลัวนั่นแหละ เหมือนอย่างเช่นคนที่บอกว่ากลัวผี ที่บอกว่าฉันกลัวผี อันที่จริงก็จะถามว่าแล้วเคยเห็นผีไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่เคยครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่เคย ไม่เคยเลย ไม่เคยเห็นผี แต่กลัวมันทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเห็น กลัวผีที่ไหน
ผู้ดำเนินรายการ : ที่ใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใจที่เป็นอย่างไร สว่างหรือมืด
ผู้ดำเนินรายการ : มืด
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ใจที่มืดนั่นแหละ กลัวผีในความมืด ไม่มีใครกลัวผีในที่สว่าง ๆ อย่างนี้ เห็นหน้าเห็นตายังไม่กลัวเลยใช่ไหมคะ แต่กลัวผีในที่มืด ก็คือกลัวความมืด กลัวสิ่งที่มองไม่เห็น เพราะฉะนั้นอันที่จริงแล้วผีเกิดที่ไหน เกิดที่ใจ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดที่ใจคิดนึก นี่เวลานี้เราก็เดินมาได้สบาย ๆ แต่ถ้าเผอิญจำเป็นจะต้องมาคนเดียว ถูกบังคับให้มาเป็นอย่างไร เวลาที่เดินมาก็ไม่สง่าผ่าเผยแล้วใช่ไหม กระย่องกระแย่งอย่างชนิดหยุดบ้างเดินบ้าง หยุดบ้างเดินบ้าง นี่แม้แต่อาการเดินก็เป็นวิจิกิจฉาใช่ไหม ถอยหน้าถอยหลัง ไปดีหรือไม่ไปดี แต่ความกลัวเดินต่อไปจะมีอะไรอยู่ในที่มืด จะมีผีหรือเปล่า มีสักกี่ตัว ตัวไหนมันจะน่ากลัว เราจะระมัดระวังอย่างไร นี่ยิ่งคิดผีก็ยิ่งมากตัว แล้วยิ่งคิดผีก็ยิ่งน่ากลัว เพราะฉะนั้นท่านผู้ชมลองนึกดูนะคะ ถ้ามีท่านผู้ใดที่รู้สึกกลัวผี ลองนึกดูเถอะว่าผีนี้อยู่ที่ไหน ผีนี้มันเกิดขึ้นจากอะไร และผีนี้มีจริงหรือเปล่า พอหยุดคิดเท่านั้น มีใครฉายไฟสอดส่องเอาสปอตไลต์ฉายมาเท่านั้น ความกลัวผีเป็นอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ : หายไปเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หายวับไปทันทีเลย เพราะมีแสงสว่างเข้ามา ลองแล้วไม่มีอะไรเลยสักอย่าง นี่ก็เปรียบเหมือนสภาพของจิตที่ตกอยู่ในวิจิกิจฉา มันเกิดความกลัวได้ถึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อวิจิกิจฉาเกิดขึ้นในจิต เราจะใช้อะไรแก้ล่ะ
ผู้ดำเนินรายการ : ความสว่างเข้ามาแก้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ความสว่างของอะไร
ผู้ดำเนินรายการ : ของจิตครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ความสว่างของปัญญาถูกแล้ว จิตจะสว่างก็คือจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ปัญญาข้างนอกหรือข้างใน
ผู้ดำเนินรายการ : ข้างใน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ปัญญาภายในที่เราได้ฝึกอบรมมาด้วยการดู ดูมาเรื่อย ๆ ดูจนกระทั่งรู้ถึงกฎของธรรมชาติ กฎของไตรลักษณ์ กฎของอิทัปปัจจยตา ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย อันนี้แหละพอเรามีปัญญาเกิดขึ้น พอปัญญาเกิดขึ้นเท่านั้นความสงสัยลังเลจะค่อยจางหาย จะมาสงสัยอยู่ทำไมว่าจะทำดีหรือไม่ดี ถ้าหากว่าเราใคร่ครวญดูแล้วเห็นว่ามันสมควรจะทำ ก็ประกอบให้มันถูก ประกอบเหตุปัจจัยให้มันถูกต้อง อะไรบ้างที่เราต้องการเพื่อเป็นปัจจัยของการทำงานนี้ ก็ไปแสวงหามา แสวงหามาด้วยความรู้ ด้วยประสบการณ์ ด้วยความสามารถ แล้วก็หามาด้วยความรอบคอบ แล้วก็ลงมือทำ ก็จะได้รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร แทนที่จะถอยหน้าถอยหลังว่าเอาดีหรือไม่เอาดี หรือจะคิดว่าชีวิตข้างหน้านี้จะไปไหน ก็นั่งลงศึกษาให้รู้ว่าชีวิตคืออะไร อย่างที่เราพูดกันถึงเรื่องของชีวิต เพราะเรารู้แล้วว่าคนเราทุกคนเกิดมาก็มีชีวิตนี้แหละ แต่มันก็น่าขันที่จะมาพูดว่า ชีวิตคืออะไร เกิดมาทำไม ก็หายใจอยู่ทุกวันจนโตป่านนี้แล้ว เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร อยู่เพื่ออะไร ก็เพราะไม่เคยคิด เพราะฉะนั้นถ้าเกิดวิจิกิจฉาหรือความสงสัยในชีวิต ก็นั่งลงศึกษาชีวิต ศึกษาที่ไหน
ผู้ดำเนินรายการ : ที่ใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ที่ใจ ศึกษาดูข้างใน ศึกษาดูธรรมชาติของชีวิต ธรรมชาติคือตัวนี้ แล้วก็ธรรมชาติภายนอกที่ล้อมรอบตัวเราอยู่นี้ให้มันรู้จัก ว่าธรรมชาติของชีวิตที่แท้จริงจนรู้จักกฎของธรรมชาตินี้มันคืออะไร แล้วมันก็สิ้นสงสัย มันไม่มีอะไรอยู่คงทน ไม่มีอะไรเที่ยง มีแต่ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หน้าที่คือทำให้ถูกต้อง ลงมือทำทันที ทำอย่างเต็มสติปัญญาความสามารถ ให้ถูกต้องตามเหตุตามปัจจัยที่สมควรเป็นเท่านั้นเอง วิจิกิจฉาหมด แล้วก็จะรู้เลยว่านี่คือสิ่งที่ชีวิตต้องการ นี่คือการที่มีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งนี้ เพื่อกระทำสิ่งที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นวิจิกิจฉานี่นะคะ อันที่จริงแล้วมันก็เกิดมาจากอนุสัย อนุสัยของความที่ปล่อยให้ใจนี้มีความลังเลสงสัยในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเรื่อย ๆ ทีละเล็กทีละน้อย เคยนึกไหม จนกระทั่งกลายเป็นเติบโตขึ้น เป็นผู้มีนิสัยเป็นคนโลเล เป็นคนอ่อนแอ เป็นคนตัดสินใจไม่ได้ นั่นนิดหนึ่งก็ถาม นี่นิดหนึ่งก็ถาม เอาไหม ใช่ไหม ถูกไหม ไปไหม ทุกอย่างมันต้องลงคำถามด้วยไหม ไหม ไหม อยู่เรื่อย เพราะมีความไม่แน่ใจ นี่แหละเพราะเราปล่อยให้วิจิกิจฉาเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ใช่หรือเปล่า
ผู้ดำเนินรายการ : ใช่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เช่นอะไรคะ ที่เรามีวิจิกิจฉาในชีวิตประจำวัน เช่นอะไร
ผู้ดำเนินรายการ : กินข้าวหรือยัง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ กินอะไรดี เอ วันนี้มีอะไรกินบ้าง นี่ไม่น่ากิน ชามนี้ไม่น่ากิน กินดีไม่กินดี จะกินดีไม่กินดีก็ลองกินสักคำ ใช่ไหมคะ ก็จะรู้ว่ามันดีหรือไม่ดี ถ้าไม่ดี ไม่ถูกปาก หรือจะเป็นอันตรายแก่ร่างกาย ก็อย่าไปกินมันอีกหมดเรื่อง แทนที่จะกินดีไม่กินดี เธอลองก่อน เธอลองก่อนสิ เสียเวลาอยู่นั่นเอง เห็นไหม หรือเข้าร้านอาหารอย่างที่เคยบอก บริกรก็มายืนคอยถือกระดาษจด เอาอะไรเธอล่ะ ๆ ฉันเอาอย่างนี้ เปลี่ยนก่อนอย่างโน้นอย่างนี้ นี่วิจิกิจฉาทั้งนั้นที่เรามาปล่อยให้มายุ่งกับการอยู่ การกิน การนอน ในชีวิตประจำวัน การแต่งตัว การจะขึ้นรถ จะเลือกรถอะไร จะเลือกเสื้อผ้าสีไหน ไปถึงที่ทำงานแล้ว เอ วันนี้จะทำอะไรก่อนดี งานก็วางอยู่บนโต๊ะนะ แต่จะทำอะไรก่อนดี แทนที่เราจะรู้จักจัดลำดับมันเสียเลย มันมีงานรออยู่ห้าอย่าง ก็ดูสิอะไรสำคัญที่สุด ไม่ต้องมีวิจิกิจฉา ลงมือทำทันทีเท่านั้นเอง เราก็จะช่วยให้ความประหยัดเวลาเกิดขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาไปโดยใช่เหตุ และงานนั้นก็จะลุล่วงไปได้เร็ว นี่แหละวิจิกิจฉาเกิดขึ้นด้วยการที่มนุษย์เราคุ้นเคยแก่การปล่อยให้ชีวิตอยู่กับความมักง่าย ไม่เป็นไรนิดเดียว เห็นไหม นิดเดียว เพราะฉะนั้นนิดเดียวนี่มันกลายเป็นเรื่องใหญ่มหาศาล จนถึงเกิดความสงสัยแก่ชีวิตว่า ชีวิตนี้อยู่ไปทำไม อยู่ไปเพื่ออะไร เพราะฉะนั้นคนที่ฆ่าตัวตายไม่ใช่เพราะอะไร เพราะรู้สึกวิจิกิจฉา วิจิกิจฉาคือสงสัย บางทีบางท่านอาจจะบอกว่าเพราะเขาพบหนทางตันนี่ เขาพบปัญหาชีวิต เขาไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาอันนี้อย่างไร จะเป็นปัญหาชีวิตทางครอบครัว หรือจะเป็นปัญหาชีวิตทางการงานก็ตาม เขาพบทางตัน ถึงตันก็ตันเถอะ ถ้าเขาไม่เกิดสงสัย สงสัยว่านี่มันคงไม่มีหนทางแล้ว ตายดีกว่า เพราะคิดว่าการตายนี่มันจะช่วยทำให้แก้ปัญหา ที่จริงเปล่ามันไม่แก้ เวลาที่กำลังจะหยุดหายใจ มันร้อนมันก็ต้องไปร้อน พอก่อนจะหยุดหายใจ มันเย็นมันก็ไปเย็น ไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้นแทนที่จะมีวิจิกิจฉา จนกระทั่งถึงแก่ทำลายชีวิตของตนเอง ทำไมไม่หยุด หยุดนั่งพัก หยุดคิดสักนิดหนึ่ง ถ้าผู้ใดเกิดวิจิกิจฉาในชีวิตก็อยากจะเปรียบว่าเหมือนกับกำลังหลงทางในชีวิต อย่างคนที่เขาหลงทางป่า ที่เขาไปในป่า ที่เขาไปเที่ยวป่านี่ เขาก็บอกว่าถ้าเราหลงทางป่าเพราะไม่รู้ทิศทางว่าจะไปทางไหน เข็มทิศก็ไม่มี แผนที่ก็ไม่มี ก็มีผู้แนะนำว่าให้ปีนขึ้นไปบนต้นไม้สูง ปีนไปทำไมบนต้นไม้สูง จะได้มองเห็นทิศทางไปรอบ ๆ และก็จะได้มองรู้นั่นมันหนทางไหน ทางไหนทิศเหนือ พอจับทิศเหนือได้ ก็จะได้รู้ว่านี่เราจะไปทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก หรือทิศใต้ อย่างน้อยพอเราขึ้นไปบนต้นไม้สูงเท่ากับเราหลุดพ้น คือพาตัวของเรานี่ให้พ้นจากความมืดของสภาพแวดล้อมในตรงนั้น เพราะตรงนี้เป็นป่าทึบมองไม่เห็นอะไร เราก็ปีนขึ้นไปบนที่สูง มันก็พบความสว่างข้างบน แล้วก็มองเห็นไปโล่งทั่วว่า อ๋อ นี่ทิศไหนที่ควรไป นี่พูดถึงป่าธรรมดานะ ทีนี้ถ้าเราหลงป่าของชีวิตก็หยุด หยุดคิด หยุดพัก นั่งพัก ดูสิว่า เอ วิจิกิจฉาในชีวิตเกิดขึ้นอย่างนี้ เราจะแก้ไขอย่างไร ก็หันไปดูเหตุปัจจัยพร้อม ๆ กับนึกถึงกฎของธรรมชาติ ว่าทุกอย่างมันตกอยู่ภายใต้กฎอนิจจัง แม้แต่ความอับ คือถูกต้อน รู้สึกถูกต้อนไปในมุมอับ ไม่มีหนทางอีกแล้วที่จะหลุดพ้นไปได้ มันก็ยังอยู่ภายใต้กฎอนิจจัง เมื่อขณะนี้เหมือนกำลังเป็นจุดดับ มันไม่ดับอยู่ตลอดกาลหรอก มันก็ต้องมีการเกิด การเปลี่ยนแปลง มันดับแล้วมันก็เกิด แล้วมันก็ดับ แล้วมันก็เกิด มันต้องเปลี่ยนอย่างนี้ตลอดไป พอนึกได้เท่านั้นกำลังใจมีไหม
ผู้ดำเนินรายการ : มีครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : กำลังใจเกิดขึ้นทันที วิจิกิจฉาหายไป ความอ่อนเปลี้ยที่ถีนมิทธะมันก็เข้ามาผสม จะค่อย ๆ มีแรงลุกขึ้นยืนและก้าวเดินต่อไป ขอให้ใจเข้มแข็ง เอาแสงสว่างของปัญญานี่ส่องลงไปเท่านั้นเอง ความมืดจะหายไป พอความมืดหายไป กำลังใจเกิดขึ้นพร้อมด้วยสติปัญญา ก็จะพยายามประกอบเหตุปัจจัยให้ถูกต้องตามกำลังที่มีอยู่ จะมีมากมีน้อยก็ประกอบเหตุปัจจัย ขอให้ลองเดิน ลองยืนแล้วก็ลองเดิน พอเดินแล้วก็จะก้าวไปได้ นี่เรียกว่าชีวิตนี้ก็จะเข้าสู่แสงสว่างทีละน้อย ๆ ๆ เพราะฉะนั้นน้ำในที่มืดหรือวิจิกิจฉานี่จึงน่ากลัวมากเลย ฉะนั้นจงอย่าประมาทเลยในการที่จะปล่อยให้ชีวิตของเราในชีวิตประจำวันอยู่กับความลังเลเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยที่คิดว่าไม่สำคัญ ถ้าเราลองเอาเวลา รวมเวลาที่เราเสียเวลาไปกับการกิน การนอน การอยู่ การแต่งตัว การเดินทาง ทุกอย่างในชีวิตมารวมกัน วันหนึ่งเราเสียเท่าไหร่ เป็นชั่วโมง ๆ แทนที่เราจะได้ใช้เวลาเหล่านั้นมาทำสิ่งที่เกิดประโยชน์กับชีวิต
ฉะนั้นนิวรณ์จึงเป็นสิ่งที่ปิดกั้นหนทางความเจริญจริง ๆ จงอย่าได้ประมาทเลย จงพยายามดูและแก้ไขมันให้ได้ แล้วชีวิตนี้ก็จะพบหนทางแห่งความเจริญงอกงาม สมปรารถนา ธรรมะสวัสดี