แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ เราได้พูดกันถึงเรื่องของนิพพานมาหลายตอนแล้วนะคะ แล้วเมื่อคราวที่แล้วก็ได้พูดถึงอุปสรรคที่ทำให้จิตมนุษย์นี้ไม่สามารถจะมีนิพพานขึ้นภายในได้ และอุปสรรคสำคัญที่เรากล่าวถึงก็คือความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวที่มันเกิดขึ้น เพราะความรู้สึกมีตัวตน ทั้งๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้รับสั่งแล้วว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนันตา คือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แต่ว่าอวิชชาที่ครอบงำจิตของมนุษย์นี้ มันก็เลยทำให้จิตของมนุษย์นี้หันเหเปลี่ยนไปไขว้เขวไปยึดเอาว่า สิ่งที่มองเห็นทางตาเนื้อตามสิ่งที่สมมติกันนั้นเป็นจริงเป็นจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ความรู้สึกเป็นตัวตน จนกระทั่งทำให้เกิดมีของตนแล้วชีวิตนี้ก็หนักยิ่งขึ้นๆ ฉะนั้นถ้าหากว่าเมื่อใดผู้ใดสามารถที่จะขัดเกลาความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวฉันในความมีอัตตาให้ลดลงๆ จนถึงที่สุดได้เมื่อไหร่ จิตนั้นย่อมถึงซึ่งความสะอาด ความสว่าง ความสงบแล้วก็นำมาซึ่งความเย็น ที่เรียกว่า นิพพาน เคยนึกไหมคะว่า ถ้าเราจะฝึกที่จะขัดเกลาความรู้สึกมีตัวมีตนนี่หรือยึดมั่นในตัวตนให้ลดลง เราจะสังเกตได้อย่างไรหรือจะเอาอะไรเป็นสิ่งสังเกตบ้าง มันค่อยๆ ลดลงแล้ว เรานึกไหมว่าจะสังเกตได้ยังไง ก็ความมีตัวตนก็คือว่าเมื่อมีตัวเรา มันก็ต้องมีของเราแล้วมันก็ต้องมีตัวเขา พอมีตัวเรามันก็ต้องมีตัวเขา มีตัวพวกเราก็ต้องมีตัวพวกเขา มีฉันก็มีแก มีท่าน มีอะไรต่ออะไรอย่างว่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะสังเกตอันหนึ่ง พอมันมีเรามีเขาในใจเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมาบ้าง เช่น ความรู้สึกเปรียบเทียบใช่ไหม ความรู้สึกเปรียบเทียบ เปรียบเทียบว่าเขาดีกว่าเรา เราดีกว่าเขา เขาชั่วกว่าเรา เราชั่วน้อยกว่าเขา เราก็เสมอๆ กัน นี่ถ้าเมื่อใดความรู้สึกเปรียบเทียบกับคนนั้นคนนี้ มันรู้สึกลดลง พอเห็นอะไรเกิดขึ้นใครทำอะไรก็อย่างนั้น เขาจะดีกว่ามันก็เช่นนั้นเอง เขาจะชั่วกว่ามันก็เช่นนั้นเอง เพราะทั้งดีทั้งชั่ว เป็นยังไง มันสักว่ามันไม่เที่ยง มันไม่คงที่ มันเปลี่ยนได้ ดีก็เปลี่ยนได้ ตามเหตุปัจจัย ที่เคยไม่ดีก็เปลี่ยนเป็นดีได้อีกเหมือนกันตามเหตุตามปัจจัย อันนี้ถ้าความรู้สึกที่อยากจะเปรียบเทียบว่า เดี๋ยวก็เราดีกว่าเขา พอดีกว่าเขาแล้วจิตเป็นยังไง พอง พองฟูขึ้นไปเชียว ล่องลอยไม่สงบแล้ว ไม่ราบเรียบแล้วขาดความสงบ มันกระตุกมันกระเพื่อมมันลิงโลดมันตื่นเต้น หรือว่าเราสู้เขาไม่ได้ จิตเป็นไง ตก แฟบ ห่อเหี่ยวลงไปนี่ทำให้จิตโลดแล่น ทำให้จิตผิดจากความปกติ นี่เราจะสังเกตได้ ถ้ามันเต้นตึกๆ มันมีอาการตึกๆ ขึ้นมาข้างใน ก็ดูมันตึกๆ เพราะอะไร ตึกๆ เพราะเรากลัวเราจะไม่ดีเหมือนเขา กลัวว่าเขาจะดีกว่าเรา กลัวว่าเราจะไม่เท่าเขา นี่อาการเปรียบเทียบสังเกต เมื่อใดเราเห็นใครเขาทำอะไรแล้วเราเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้น แสดงว่าเป็นยังไง ในความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน ยังมีอยู่
ผู้ดำเนินรายการ: คล้ายๆ ความรู้สึกอิจฉา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: บางทีก็ไม่เชิงอิจฉา มันอาจจะมีอิจฉาแฝงอยู่ แล้วมันก็ปนความน้อยเนื้อต่ำใจ คือความรู้สึกเปรียบเทียบ พูดง่ายๆ ความรู้สึกเปรียบเทียบ ถ้ายังรู้สึกเปรียบเทียบอยู่ตราบใด ก็แสดงว่าตัวตนยังมีอยู่ตราบนั้น นี่เป็นสิ่งสังเกตได้อย่างหนึ่งนะคะ ถ้าพอเราเห็นอะไร เราก็เห็นเช่นนั้นเอง แล้วเราก็หันมาดูว่าอะไรเราจะทำ อะไรที่ควรจะทำก็ทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด เป็นหัวหน้าก็ทำให้ดีที่สุด เป็นนายก็ทำให้ดีที่สุด คือดีที่สุดอย่างไรนี่หมายความว่าถูกต้องที่สุด เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ไม่มีมากไม่มีน้อยไม่มีความเกรงกลัวไม่มีหย่อนไม่มีตึงแต่ว่านี่คือทางที่จะต้องทำ เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ถูกต้องดีที่สุด ไม่ต้องมีการเปรียบเทียบ
หรือบางทีอาจจะดูเรื่องง่ายๆ พอเห็นใครเขาทำอะไรบางทีเขาจะแต่งตัวหรือเขาจะเดินหรือเขาจะพูด มันมีอาการโดยเฉพาะผู้หญิง ที่เขาเรียกว่าหมั่นไส้เกิดขึ้น รู้จักใช่ไหม นั่นแหละถ้าเมื่อใดความรู้สึกอยากจะหมั่นไส้อยากจะรำคาญมันไม่มี มันเฉยๆ มันเห็นเช่นนั้นเอง มันเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง เขาจะทำท่าอย่างที่เรียกว่าดัดจริตสักแค่ไหน ผู้ชายก็ดัดจริตเป็นนะอย่าว่าแต่ผู้หญิงเลย เพราะฉะนั้นเขาจะดัดจริตมันก็เช่นนั้นเอง ไม่ว่าจะดัดจริตด้วยการพูด ท่าทางด้วยการแต่งตัวหรือด้วยอะไรก็แล้วแต่ ไม่เกิดความหมั่นไส้ หรือเห็นใครมาทำอะไรอืดอาดงุ่มง่ามก็ไม่หมั่นไส้ไม่รำคาญ แต่ว่าเราควรจะแนะนำควรจะบอก ทำอย่างนี้สิมันจะได้รวดเร็วขึ้นแล้วก็ไม่เสียเวลามาก ก็บอกก็แนะนำ แต่ในจิตมันไม่หมั่นไส้ ถ้าไม่หมั่นไส้ก็แสดงว่า ตัวตนที่เคยมีมากมันลดลง ถ้ายังมีอยู่นิดๆ มันก็ยังมีอยู่ ยังมีอยู่นิดๆ แต่ก็ต้องดูอีกนะคะ บางทีมันไม่หมั่นไส้ ความหมั่นไส้มันลดลงได้ แต่ความเปรียบเทียบยังมีอยู่หมายความว่าในขณะที่ฝึกหัดไปนี่ บางครั้งบางอย่างมันลดไปตามลำดับ แต่บางอย่างยังคงอยู่แต่เราก็ต้องสังเกตอย่างนี้ ถ้าสมมติว่าไม่รู้สึกอยากเปรียบเทียบ ไม่รู้สึกอยากหมั่นไส้ ไม่รู้สึกอยากโกรธ ไม่รู้สึกอยากน้อยใจ นี่ถ้าความรู้สึกอย่างนี้มันลดลงๆ เห็นอะไรเฉยๆ ได้ อะไรที่เคยรู้สึกว่าอย่างนี้ฉันต้องอดทนอย่างยิ่งเลย อดทนที่จะต้องฟังเรื่องเหลวไหลไร้สาระพร่ำเพ้อทนไม่ได้ ตอนนี้ไม่รู้สึกว่าต้องอดทน แต่รู้นี่ไม่จำเป็นจะต้องฟัง เราก็หาทางหลีกเลี่ยงไป ให้มันพอเหมาะพอสมให้มันไม่ถึงกับน่าเกลียด ก็ไม่จำเป็นจะต้องทนฟังแต่ว่าในใจนั้น มันไม่ต้องรู้สึกรำคาญหรือรู้สึกอึดอัดรู้สึกอดกลั้นอดทนข่มขี่ พูดง่ายๆ ก็คือว่าจิตนี้มันสามารถรักษาความเป็นปกติไว้ได้ในทุกกรณี ทุกกรณีก็หมายความว่าตัวตนมันยิ่งไม่มีใหญ่เลย ก็ใกล้ความสะอาดความสว่างความสงบยิ่งขึ้นๆ ตามลำดับ นี่ก็ลองใช้เป็นข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ นะคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ใช้อุเบกขา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าหากว่าทำได้ถึงที่สุดนะ จิตก็จะมีอุเบกขา คือเป็นอุเบกขาวางเฉย คำว่าวางเฉยในที่นี้ก็ต้องย้ำว่า ไม่ใช่วางเฉยอย่างไม่เอาเรื่องไม่ใช่วางเฉยอย่างฝุ่นใครจะเป็นจะตายช่างหัวมัน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่อุเบกขาของผู้มีธรรมก็อย่างที่พูดเมื่อคราวที่แล้วว่า เราก็มองดู เพ่งดู ถึงโอกาสจะช่วยได้ ทำ รอโอกาสที่จะแก้ไข แก้ไข แต่ว่ายังไม่ถึงโอกาสก็หยุดไว้ก่อน ทำไมถึงหยุดไว้ก่อน เพราะอย่าลืมกฎธรรมชาติ เหตุปัจจัยยังไม่ง่าย เหตุปัจจัยยังไม่อำนวย ถ้าหากว่าขืนทำไป เรารู้ว่าผลที่จะออกมา มันย่อมจะไม่เป็นไปอย่างควรที่จะเป็น ก็รอไว้ก่อนให้มันเหมาะสม ถ้าเหมาะสมเมื่อไหร่ก็ทำทันที แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่นั่งรอคอยมืออ่อนเท้าอ่อนอีกเหมือนกันนะคะ ถ้าจะมีหนทางตะล่อมมีหนทางช่วยสร้างสรรค์ มีหนทางที่จะรวบรัด ช่วยให้มันเป็นไปได้อย่างไรก็ทำ ทำด้วยสติปัญญา นี่คือจิตของผู้มีธรรม เห็นไหมคะ ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แต่ในขณะเดียวกันมีแต่ทำประโยชน์ มีแต่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นเท่าที่จะสามารถทำได้ แต่ในขณะที่ทำก็รักษาจิตนี้ให้ปกติ เยือกเย็นผ่องใสอยู่ทุกขณะ นี่คือการที่จะสังเกตดูว่าจิตที่จะลดละความเห็นแก่ตัวลงได้นั้น เป็นอย่างไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะสังเกตได้ก็คือ จะไม่กินยาพิษอย่าลืม ไม่อะไร ไม่หวัง ไม่หวังในขณะที่ทำ ถ้าหากว่ายังทำสิ่งใด แล้วก็ยังหวังอยู่นั้น จะหวังมากหวังน้อย มันก็ต้องมีตัวผู้หวัง ถ้าสามารถทำได้โดยไม่หวัง นั่นแหละความรู้สึกยึดมั่นในตัวตน ความเป็นตัวตนมันลดลงๆ จนเบาๆ เพราะมันไม่ต้องแบก ไม่ใช่เกี่ยวกับน้ำหนักกี่กิโล แม้แต่น้ำหนักสัก 20 กิโล ถ้ามีตัวมีตนมันก็ยังหนักอยู่นั่นเอง แต่ถ้าร้อยกิโล ไม่มีความรู้สึกยึดมั่นในตัวตน มันก็เบาๆ เพราะมันไม่มีตัว เหมือนกับไม่มีตัว
ผู้ดำเนินรายการ: จุดที่จะทดสอบว่าเราไม่หวัง มีเหมือนกับ ความเห็นแก่ตัวไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แน่นอน ถ้าหากว่าตราบใดที่ยังหวังอยู่ ความเห็นแก่ตัวก็ยังอยู่ ก็ใครหวังล่ะ อย่าลืมวิธีที่จะฝึก ถามว่ามันมีความรู้สึกเกิดขึ้นให้เห็นโทษทุกข์ของความมีตัวมีตน ต้องถามว่าใคร ใครหวัง ใครอยาก ใครจะเอา ใครโกรธ ใครรัก ใครชอบ ใครอิจฉาริษยา ถามมันลงไป จะพบเลยตัวนี้ตัวเดียว นี่คือตัวจำเลยใหญ่ ไม่มีตัวอื่นเลย แล้วตัวนี้คือตัวสมมติ แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในนี้ ถามไปเถอะ แล้วเราจะได้คำตอบ แล้วก็ไม่พ้นตัวนี้ เราถามไปดูไป จนวันหนึ่งมันถึงที่สุดเอือมระอาไม่ไหวอีกแล้วมันเอียนเต็มที่กลืนไม่ไหว เราก็จะคายมันออกมาเอง คายความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ มันคายออกมาเองตามธรรมชาติ นี่เพราะดูนะ ถ้าไม่ดูก็ไม่เห็น ถ้ามัวแต่คิดๆๆ โน่นออกไปข้างนอกเลย เพราะฉะนั้นการศึกษาข้างในจึงต้องตรงกันข้ามกับการศึกษาข้างนอก คือเปลี่ยนจากการคิดด้วยเหตุด้วยผลด้วยสมมติฐานต่างๆ มาดูของจริง คือดูสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ตามกฎของธรรมชาติ ก็จะเห็นชัดยิ่งขึ้น นี่เป็นเพียงข้อเสนอแนะเล็กๆ น้อยๆ เพื่อจะให้เราสังเกตว่า ความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนยังมีอยู่หรือเปล่า แล้วก็ความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนั้น มันลดน้อยลงไปได้เพียงใด ก็ดูจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงๆ ถ้าไม่ดูจะไม่รู้ แล้วยิ่งดูจะยิ่งไวขึ้น ยิ่งดูยิ่งไวยิ่งเห็นไวเลย เหมือนอย่างเราฝึกตาข้างนอกของเรา ให้ฝึกเป็นคนที่มองอะไรได้ไว สังเกตได้ชัดเจนและรวดเร็ว นี่ฝึกตาข้างนอก ฝึกตาข้างในก็วิธีนี้ ฝึกตาข้างในก็คือฝึกตาอันนี้ให้ดูให้ดูความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตด้วยสังเกตสังกาด้วยการใช้ปัญญา และปัญญานี้จะแหลมคมจะเพิ่มพูนมากขึ้น
ฉะนั้นก็ความเห็นแก่ตัวนี้แหละเป็นรากเหง้าหรือเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงเลย ที่ทำให้จิตมนุษย์มีนิพพานไม่ได้ ทีนี้อุปสรรคต่อไปก็คือว่า ถ้าจะว่าไปแล้วนี่ มันก็ความมีตัวนี้แหละความยึดมั่นถือมั่นในตัวเองนี้แหละ มันจึงทำให้จิตนี้มีการปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลาอย่างที่เรียกว่า สังขาร แต่สังขารในที่นี้ก็คือหมายถึง การปรุงแต่ง ไม่ได้หมายถึงร่างกายนะ เพราะมันแปลได้หลายอย่าง แต่สังขารขณะที่พูดนี้หมายถึงความคิดปรุงแต่ง เพราะความมีตัวนี่แหละทำให้เกิดการปรุงแต่ง และความปรุงแต่งนี่แหละที่ทำให้จิตนี้เป็นโทษ จิตนี้วุ่นวาย จิตนี้เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา และมนุษย์เราเหมือนกันทั้งโลกนะคะ ไม่ใช่เฉพาะแต่คนไทย จะเป็นจีนแขกฝรั่ง พม่า ลังกา ที่ไหนก็ตามที คิดกันทั้งนั้น แล้วก็คิดว่า การคิดนี้ฉลาด มันแสดงถึงความเป็นผู้มีมันสมองเลิศ ก็คิดๆๆ จนกระทั่งหยุดคิดไม่ได้ และผลที่สุดความคิดนี้ก็ทำให้จิตนี้เป็นทุกข์ ฉะนั้นก็เพราะมีตัวคนคิดนี่แหละ หันมาดู ตราบใดที่ความคิดยังไม่หยุดแล้วก็หยุดไม่ได้ เหมือนอย่างพวกชาวต่างประเทศที่เขาหันมาสนใจฝึกสมาธินี้ แล้วก็ถามว่าทำไมถึงมาฝึกสมาธิเพราะอะไร มีคำตอบหลายอย่างแต่คำตอบหนึ่ง ที่เรียกว่ามากมากก็คือว่า ต้องการหยุดความคิด ความคิดที่มันไหลไม่หยุดนี่มันเป็นกระแสไหลไม่หยุดตัดไม่ได้ มันคิดจนนอนไม่หลับ มันคิดวุ่นวายจนกระทั่งจะคิดอะไรจริงๆ เพื่อประโยชน์แก่การงานก็หยุดคิดไม่ได้ เขาก็คิดว่าการที่มาฝึกจิต ให้เป็นสมาธิคือหยุดนิ่งสักทีนี่ หยุดนิ่งไม่วิ่งวุ่นกับความคิด คงจะช่วยให้จิตมีกำลังขึ้น แล้วก็จะได้มีพลังทำอะไรต่ออะไรได้ เพราะฉะนั้นเรื่องของการคิดนี้ ถึงแม้จะไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน แต่โทษทุกข์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นเหมือนกัน แล้วก็เกิดเพราะความมีตัวความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง มันจึงคิด คิดเพื่ออะไร เพื่อสนองตัณหาของตัวเอง ตัณหาความอยากที่มันเกิดขึ้นในใจ แล้วก็จะบอกฉันคิดเพื่อลูก ฉันคิดเพื่อครอบครัว คิดเพื่อสามี คิดเพื่อภรรยาเพื่อพ่อเพื่อแม่ แต่ดูไปเถอะ ผลที่สุดแล้วก็คิดเพื่อใคร เพื่อตัวฉัน ถ้าหากว่าลูกของฉันเป็นสุขฉันก็เป็นสุขด้วย ถ้าพ่อแม่ของฉันสบายดี ฉันก็สบายด้วย รวมแล้วก็อยู่ที่ตัวเอง เดี๋ยวก็จะมีคำถามต่อไปว่า อ้าว ก็มีลูกไม่ให้คิดถึงเรื่องลูก มีพ่อแม่ไม่ให้คิดถึงเรื่องพ่อแม่หรือ มันก็เหมือนเป็นคนไม่มีน้ำใจ ลูกก็ไม่มีความกตัญญู พ่อแม่ก็ไม่มีความรักดูแลลูก เช่นนั้นหรือเปล่า
ผู้ดำเนินรายการ: คนละประเด็น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คนละประเด็น ไหนลองอธิบายหน่อยที่ว่าคนละประเด็น มันเป็นยังไง
ผู้ดำเนินรายการ: เราก็ทำหน้าที่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถูก พ่อแม่ก็ทำหน้าที่ พ่อดีๆ ทำยังไงแม่ที่ดีทำยังไง ก็ทำเต็มที่ให้การศึกษาให้การอบรมให้การเลี้ยงดู ให้ความระแวดระวัง สอนลูกให้มีสติปัญญาไม่ให้ประมาทให้มีความรอบคอบ อะไรที่ดีก็แนะนำสั่งสอน แล้วก็พอหรือยัง เต็มที่แล้วยัง เต็มที่แล้ว แล้วทำไมต้องคิดด้วยล่ะ ทำไมต้องคิดต่อด้วย ก็บอกแล้วสอนแล้วนี่นะ เขาจะทำหรือเปล่าๆ นี่เขาไปไหนเขาไปที่ที่เราบอกไม่ให้ไปหรือเปล่า แล้วเขาไปคบเพื่อนยังไง เพื่อนนี่จะทำให้เขากลายเป็นคนไม่ดีไปหรือเปล่า จะนำความเดือดร้อนมาหรือเปล่า อย่างนี้เขาเรียกว่า ปรุงแต่ง และในขณะที่คิดๆนี้ บางทีลูกไม่ได้ทำอะไรเลย ใช่ไหม
ผู้ดำเนินรายการ: กังวลเกินเหตุ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ มีความคิดปรุงแต่งที่เกิดโทษทุกข์คือ คิดไปด้วยความวิตกกังวล เพราะฉะนั้นคิดน่ะคิดได้ คิดว่าควรจะทำยังไงแนะนำยังไงสอนอบรมอย่างไร แต่พอจบแล้วก็จบ คือจบเรื่องการคิด ลูกก็เหมือนกันจะปรนนิบัติพ่อแม่อย่างไรอยากจะช่วยให้พ่อแม่แข็งแรงพ่อแม่เป็นสุขอย่างไร ก็คิด จะช่วยหาหมอช่วยหายา ช่วยให้บริหารร่างกาย หรือว่าช่วยทำให้พ่อแม่สบายใจขึ้น ก็คิด คิดจบแล้วก็จบ ไม่ต้องเอามากังวล
เพราะฉะนั้นอันนี้ค่ะ ถ้าจะว่าไปแล้วก็ความเห็นแก่ตัวนี่แหละเป็นเหตุให้มนุษย์เราปรุงแต่งไม่รู้จบ แล้วจนกระทั่งกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นโรคประสาทก็เพราะคิดไม่หยุดอยู่นั่นเอง แล้วก็พอคิดแล้วก็มีตัวเองเป็นศูนย์กลางของความคิด เป็นจุดศูนย์กลางของความสนใจของความคิด แล้วเสร็จแล้ว คิดไปคิดมานะคะ ถ้าไม่คิดถึงคนอื่น คิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง ก็จะยุ่งอยู่กับเรื่องของ 3 ก. คงเคยได้ยิน 3 ก. คืออะไร กิน กาม เกียรติ ท่านเจ้าประคุณท่านอาจารย์พูดมานานแล้วว่า นี่แหละเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจของมนุษย์ แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาก็คือ เรื่องกิน กาม เกียรติ เรียกว่า กินก็กินหมดตลอด อย่างที่พูดกันแล้ว ไม่ใช่กินเฉพาะทางปาก เมื่อก่อนนี้พอบอกเรื่องกิน ก็คือเรากินอาหาร ดื่มเครื่องดื่มเราก็ใช้ทางปาก เดี๋ยวนี้มันกินกันหมด กินทางตากินทางหูกินทางจมูก กินทางกายแล้วก็ใจนี้ก็กิน กินด้วยความโลภที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นมันถึงยุ่ง เพราะมันกินกันมาก อย่างที่ยกตัวอย่างแล้วเวลากินข้าวเดี๋ยวนี้ ข้าวมันแพงมื้อหนึ่งมันตั้งเป็นร้อยเป็นพัน แล้วบางทีเป็นหมื่น เพราะไม่ได้กินแต่ปาก มันกินอย่างอื่นด้วยประกอบกัน ก็เลยแพง เห็นไหมคะ กามฉันทะมาอีกแล้วใช่ไหม นิวรณ์ตัวแรก นี่แหละเพราะกามฉันทะที่มันติดอยู่ในจิตของมนุษย์ มันดึงเข้ามาทำให้มนุษย์กินไม่เลือก กินไม่เป็นกินไม่เลือกโอกาส กินจนเป็นโทษทุกข์แก่ตัวเอง แล้วก็ไม่รู้ว่าตัวทุกข์เพราะเรื่องกิน ที่ไปโลภมาไปอิจฉามาไปโกงไปกินเขามา เหน็ดเหนื่อยหามาก็เพื่อเรื่องกิน ลองนึกๆ ดูดีๆ วันหนึ่งๆ ถ้าเราหยุดเรื่องกินเสียได้ หมดภาระเยอะเลย
ผู้ดำเนินรายการ: หมดเวลากับเรื่องกิน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ เราจะได้เวลาเพิ่มมาอีกเยอะ เราจะไม่ต้องเสียเงินเสียทอง ไม่ต้องเสียสมองคิดว่าจะกินอะไร แล้วจะไปกินที่ไหน จะหาอะไรมาเป็นอุปกรณ์การกินเป็นเครื่องประกอบการกิน จะทุ่นเวลาได้เยอะ ท่านจึงสอนว่าให้รู้จักกินแต่พอดี กาม ก็คือเรื่องของกามารมณ์ นอกจากนั้นก็เรื่องของกามฉันทะ ที่ประกอบกันไป มีกันอยู่แต่เรื่องนี้ ต้องการสิ่งที่พออกพอใจพอตาที่ล้วนแล้วแต่สวยสดงดงามต่างๆ นานา แล้วเสร็จแล้วเรื่องกองสุดท้ายก็คือเรื่องของ เกียรติ ถ้านึกดูแล้วเรื่องของเกียรติ ดูมันเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่ว่ามันทำให้ตัวกูของกูนี้ คือตัวกูตัวฉันนี้ ยุ่งมากเลย เดือดร้อนมากเลย ลำบากมากเลย ในการระวังรักษา จริงไหม จริงหรือเปล่า หรือไม่จริง เกียรติที่เราเรียกว่า ศักดิ์ศรี ใครพูดอะไรหน่อยหนึ่ง แหมกระเทือน กระเทือนตัวก็ยืนตรงล่ะ แต่กระเทือนที่ไหน
ผู้ดำเนินรายการ: ใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: กระเทือนที่ใจกระเทือนข้างใน มันสั่น จะสั่นมากจะระรัวมากจะโยนตัวไปมามากน้อยแค่ไหน มันก็ขึ้นอยู่กับว่า จิตนั้นมันรับการกระทบมากน้อยเพียงใด นี่ก็เพราะว่าเขาหลู่เกียรติ รู้สึกว่าเขาหลู่เกียรติ ทั้งๆ ที่จะหยิบตัวเกียรติมาดูก็ไม่เห็นรูปร่างหน้าตาเป็นยังไง แต่เราสมมติกันว่า เกียรตินี้ก็คือว่า การยอมรับนับถือ เชื่อฟัง ยกย่อง ถ้าผู้ใดได้รับการยอมรับนับถือเชื่อฟังยกย่องนี่คือเกียรติ ถ้าเมื่อใดไปพบเป็นปฏิกิริยาตรงกันข้ามกับสิ่งเหล่านี้ ก็ถือว่าเกียรตินั้นได้ถูกลบเหลี่ยม ได้ถูกทำลายไป และอีกอย่างหนึ่งคือ ศักดิ์ศรีก็จะถูกทำลายไปแล้ว ยอมไม่ได้ นี่แหละที่มนุษย์เราฆ่าฟันกัน ทะเลาะวิวาทกันเป็นปัญหากันเพราะอันนี้ทั้งนั้น นอกจากกิน กามแล้ว ก็เกียรติ แล้วเกียรตินี่แหละที่ทำให้มนุษย์เราดิ้นรนทุรนทุรายไขว่คว้ากระเสือกกระสน จนกระทั่งถึงกับที่เรียกว่า ติดสินบนเพื่อให้ได้มาซึ่งเกียรติ เราก็เคยได้ยินในวงสังคมทุกวันนี้เราก็เคยได้ยินได้พบ นี่เพราะเกียรติตัวเดียว ซื้อเกียรติกันก็มี ซึ่งแต่ก่อนนี้เกียรติเขาซื้อกันไม่ได้ ซื้อกันไม่ได้ ไม่มีขาย แต่ก็น่าอนาถ ที่เดี๋ยวนี้มีเกียรติขายกันได้ นี่เพราะเกียรติตามสมมติ ถ้าเกียรติจริงๆ น่ะ ซึ่งมันไม่มี สมมติว่ามีมันย่อมซื้อขายไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำขึ้นมาเอง ทำขึ้นมาให้ได้ และถ้าทำขึ้นมาให้ได้จริงๆ นี่ จิตนั้นย่อมมั่นคงและไม่มีใครมาทำลายได้ นี่พูดโดยย่อก็คือว่าอุปสรรคของนิพพานก็เพราะจิตที่มันมีตัว ความเห็นแก่ตัว คือมีความรู้สึกเป็นตัวตน มันก็ยุ่งอยู่แต่สิ่งที่จะเสริมความเป็นตัวตนนั้น ให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น เช่น เรื่องของ 3 ก นอกจากนี้ความมีตัวตน มันก็ยิ่งปรุงแต่ง ยุ่งอยู่กับ 3 ก ทำยังไงถึงจะได้ 3 ก นี้สมปรารถนา คิดไปปรุงไปต่างๆ นานา ผลที่สุดก็เกิดความรู้สึกลังเลสงสัย ที่ทำนี้ถูกหรือไม่ถูก นี่ถูกเล่นงานด้วยอะไรแล้ว ตัวไหน วิจิกิจฉา ถูกเล่นงานด้วยวิจิกิจฉาแล้ว ยิ่งคิดมากยิ่งปรุงมากยิ่งนึกมาก วิจิกิจฉาขึ้นเข้าเล่นงาน เอนี่ใช่รึเปล่า ถูกรึเปล่า ที่เรากำลังทำอยู่นี้ ผลที่สุดจิตนี้ก็เลยมีแต่ความวุ่น น่าเสียดายเราจะต้องหยุดลงด้วยความวุ่น แต่ขอฝากท่านผู้ชมลองคิดดูนะคะ แล้วคราวหน้าเราจะพูดกันใหม่ถึง อุปสรรคของสิ่งที่ทำให้เกิดความเย็นให้ได้ ธรรมสวัสดีค่ะ