แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ
เรื่องของ “อริยมรรค” เป็นเรื่องสำคัญของชีวิต สำคัญของชีวิตมนุษย์ทุกคนด้วย ไม่เลือก ไม่เลือกเลยว่าจะเป็นใคร ที่ไหน อย่างไร ฐานะ วรรณะ ไม่มีขอบเขต เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความรู้จัก ให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วนถ่องแท้ เพื่อว่าจะได้เป็นอริยมรรคจริงๆ คือเป็นหนทางอันประเสริฐ ไม่เป็นแต่เพียงสักว่าทางอะไรก็ได้ ซึ่งมันอาจจะเป็นทางที่คดเคี้ยว เลี้ยวไปเลี้ยวมา แล้วก็เลยไม่ถึงจุดหมายสักที เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิต เป็นสิ่งที่จะทำให้ชีวิตนี้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง อยู่ด้วยความมีชีวิตเย็น และก็ด้วยความสุขเกษมอันแท้จริง ก็จำเป็นที่เราจะต้องพูดถึงเรื่องของอริยมรรคนี้กันต่อไปอีกนะคะ
คราวที่แล้วก็ได้พูดแล้วว่า อริยมรรคนี้มีองค์ ๘ คือ ความถูกต้อง ๘ ประการ หรือความถูกต้อง ๘ อย่าง เริ่มต้นด้วย
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง
สัมมาสังกัปปะ ความตั้งใจถูกต้อง
สัมมาวาจา การพูดจาถูกต้อง
สัมมากัมมันตะ การงานถูกต้อง หรือ การกระทำถูกต้อง
สัมมาอาชีวะ การดำรงชีวิตถูกต้อง
สัมมาวายามะ ความพากเพียรถูกต้อง
สัมมาสติ ความระลึกรู้ถูกต้อง แล้วก็
สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นถูกต้อง
มีรวมแล้ว ๘ องค์ เมื่อเวลาพูดนี่เหมือนกับว่าพูดทีละองค์ๆๆ ซึ่งก็จำเป็นนะ..นะคะ เพราะเราพูดพร้อมกัน ๘ องค์ ไม่ได้ เราก็ต้องพูดทีละองค์ๆ แต่ในการปฏิบัตินั้นโปรดเข้าใจนะคะ เวลาจะปฏิบัติมาพร้อมกันทีเดียวนะ ไม่ใช่ปฏิบัติทีละขั้น วันนี้สัมมาทิฏฐิ..ไม่ใช่ พรุ่งนี้สัมมาสังกัปปะ รวมว่า ๘ วันถึงจะครบ ๘ องค์ แล้วก็เป็นอริยมรรค ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ ไม่ใช่การขึ้นบันได การปฏิบัติอริยมรรคจะมาเปรียบกับการขึ้นบันไดทีละขั้นๆ ไม่ได้ แต่ท่านเปรียบว่า อริยมรรคทั้ง ๘ องค์นี้ อาจจะเปรียบได้เสมือนกับเชือกเส้นเล็กๆ ๘ เส้น แล้วเสร็จแล้วเราก็มาขวั้นเป็นเชือกเส้นใหญ่ เป็นเชือกเส้นเดียว ขวั้นกันรวมแล้วเชือกเส้นใหญ่เส้นนี้ก็มี ๘ เกลียว
เมื่อเรามารวมเชือกเกลียวเล็กๆ ขวั้นเป็นเชือกเส้นใหญ่เส้นเดียว ก็แน่นอนมันต้องเหนียว ต้องหนัก มีความแข็งแรงทนทาน อย่างที่อะไรจะมาตัดไม่ได้ง่ายๆ เลย นี่คืออธิบายถึงการทำงานของอริยมรรค พอสัมมาทิฏฐิเกิดปุ๊บเท่านั้นแหละ มันปุ๊บทันทีพร้อมกันไป คือทำงานทันทีพร้อมกันในทันที แล้วก็ในการทำงานนี้ ทุกองค์ทำงานพร้อมกัน ทำงานตามหน้าที่ของแต่ละองค์ แล้วก็ทำงานตามสัดส่วนของแต่ละเรื่องหรือแต่ละกรณี แต่ถ้าจะดูกันจริงๆ แล้ว ก็ไม่สู้จะมีความแตกต่างกันมากนัก ในเรื่องของสัดส่วนหรือน้ำหนักนะคะ แต่ก็มีบ้างเล็กๆ น้อยๆ ทุกองค์นี่จะทำพร้อมกัน เพราะฉะนั้นการที่สมมติว่า พอมีสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเกิดขึ้นแล้วว่า ยังมีชีวิตอยู่ด้วยความอยากนะ เพราะอยากแล้วเป็นทุกข์ เท่านั้นละ เพราะอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องนี่มันออกไปแล้วโดยไม่ต้องอยากหรืออยากก็น้อย เพราะ สัมมาสตินี่..เห็นไหม สัมมาสติก็ทำหน้าที่อยู่เสมอ คอยเตือน คอยบอก พอปุ๊บเท่านั้นจะยั้งละ แล้วก็จะทำโดยอยากน้อย จนถึงไม่อยากเลย แล้วก็จากการที่ พอจะทำอะไรงานอะไรสักอย่างเป็นหน้าที่ หวัง..ใส่เข้าไป สติบอก..อีกแล้ว ไม่หวังอย่าหวังจะเป็นทุกข์ สัมมาสมาธิก็ตั้งมั่น ตั้งมั่นถูกต้อง เรียกว่าจะไม่หวั่นไหว จะไม่ซวนเซ จะมีอามิสลาภสักการะมาล่อ เป็นเหยื่อก้อนเล็กก้อนใหญ่แค่ไหน มหาศาลแค่ไหน ไม่ใยดี มีสัมมาสมาธิตั้งมั่นถึงขนาดนี้ ไม่ใยดี เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบสัมมาสมาธินี่ เสมือนแม่ทัพหลวง เป็นแม่ทัพหลวงทีเดียว ในกองทัพนี่แม่ทัพหลวง ซึ่งจะหนุนเนื่องจะตีที่ไหนก็ต้องแตก เพราะแม่ทัพนี้เป็นผู้ที่เป็นผู้บัญชาการใหญ่ พร้อมด้วยสติ สมาธิ ปัญญา พร้อมด้วยมันสมอง พร้อมด้วยความเฉียบไว ไหวพริบ ทุกอย่างทุกประการ รวมทั้งประสบการณ์ความรอบคอบไม่ขาดเลย ฉะนั้น สัมมาสมาธิท่านจึงเปรียบเหมือนแม่ทัพหลวง แต่ก็เป็นแม่ทัพหลวงที่มีทัพหน้าที่เฉียบคมอย่างยิ่งคือ สัมมาทิฏฐิ
ท่านเปรียบสัมมาทิฏฐิเหมือนกับทัพหน้า พอเวลาที่ก่อนที่ทัพหลวงจะเคลื่อน หรือในขณะที่ทัพหลวงเคลื่อนไป ทัพหลวงอยู่ตอนกลางใช่ไหมคะ ก็มีทัพหน้านี่ออกไปก่อน ไปดู ไปสอดแนม ไปลาดเลา ว่าจะมีอะไรอยู่ข้างหน้า มีขวาก มีหนาม มีศัตรูซ่อนเร้นอยู่ที่ไหน ทัพหน้านี่ก็จะจัดการที่เรียกว่าเคลียร์พื้นที่ ทำให้ทุกอย่างเรียบร้อย แล้วทัพหลวงนี่ก็จะเดินตามไป เพราะฉะนั้นสัมมาสมาธินี่จะตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่คลอนแคลนเลย ตั้งมั่นอย่างถูกต้องตามสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูกต้อง และสัมมาสังกัปปะความตั้งใจถูกต้อง ที่เป็นปัญญาส่องแสงสว่างนำทางอย่างชนิดที่ไม่ให้ไขว้เขว ไม่ให้มีความหลงเกิดขึ้นเลย และทั้ง ๘ องค์นี่ทำงานพร้อมกัน ทำงานพร้อมกันในทันที เพราะฉะนั้นอริยมรรคนี้ มีองค์ ๘ นี้ เมื่อเรานำมาเป็นหนทางดำเนินแห่งชีวิตจึงมีกำลัง มีกำลัง มีพลังอย่างยิ่งเลยที่จะเดินไปบนหนทางของความถูกต้อง เพราะเป็นความถูกต้องถึง ๘ ประการ ที่มารวมกัน
นอกจากนี้ ถ้าหากว่าจะสังเกตดูนะคะ ก็อย่างที่ได้พูดให้ฟังแล้ว แต่จะสังเกตุหรือเปล่าก็ไม่ทราบว่า ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ มีทั้งปัญญา มีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ ซึ่งเราเรียกว่าอะไรสามอย่างนี้ “ไตรสิกขา” ที่เราเรียกว่าไตรสิกขา แต่ว่าพอเราพูดถึงไตรสิกขาเรามักจะเริ่มต้นด้วยอะไร? ศีล สมาธิ ปัญญา เราเริ่มต้นด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา
แต่นี่ก็เห็นแล้วใช่ไหมคะว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น มีอยู่ในพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรียกว่า “ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร” เป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกที่พระองค์ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ หลังจากที่ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้ตรัสในเรื่องของอริยมรรคมีองค์ ๘ นี่แหละ อยู่ในธรรมจักรกัปปวัตนสูตร
เพราะฉะนั้นก็จึงเห็นได้ว่า เรื่องของพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญาเป็นตัวนำ แต่ไม่ใช่ปัญญาอย่างเดียว แต่ใช้ปัญญาเป็นตัวนำ เพื่ออะไร? เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วจะได้มีความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ไขว้เขวไม่หลงทาง ท่านจึงเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ มีความเห็นถูกต้อง ตั้งใจถูกต้อง เป็นปัญญาเป็นตัวยืนเอาไว้ก่อน เป็นตัวยืนที่จะนำการกระทำนำการพูดจา นำการกระทำนำการดำรงชีวิตให้อยู่ในทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นปัญญาจึงขึ้นมานำหน้า จากนั้นก็ศีลคือการพูดจาการกระทำถูกต้องต้องตามมา เมื่อมีความเห็นถูกต้องแล้ว มีความเข้าใจถูกต้องแล้ว มีความตั้งใจถูกต้องแล้ว
ถ้าหากว่ายังไม่เห็นถูกต้อง ยังไม่เข้าใจถูกต้อง ยังไม่ตั้งใจถูกต้อง พูดมันก็พูดผิดๆ เช่น ต้องพูดเพราะ ต้องพูดดีนะ จะพูดในโอกาสไหนต้องพูดเพราะพูดดี ก็ดีไม่ใช่ไม่ดี แต่ในการพูดเพราะนั้นมันมีอะไรแฝงอยู่ นึกออกไหม? มีความหวังแฝงอยู่ในนั้น หวังให้เขาชมว่าเราพูดเพราะ ซึ่งก็ไม่เสียหาย แต่ถ้าเขาไม่ชมละโกรธหรือเปล่า? หงุดหงิด..เห็นไหม จิตมันไม่ปกติแล้ว และก็ในขณะเดียวกันพูดให้เพราะเพื่ออะไรด้วย? ให้ถูกใจเขาด้วย เขาจะได้รักเรา..เห็นไหม “ตัวตน” มันแฝงอยู่ในนั้น ถ้าพูดเพราะก็ดีไม่ใช่ไม่ดี..ถ้าในการพูดเพราะนั้นมีความถูกต้องอยู่ด้วย แต่ถ้าไม่มีความถูกต้อง แต่พูดเพราะมี “ตัว” เป็นผู้พูด “ตัว” นี่ก็มีความหวังในการพูดนั้น นี่ก็ไม่ใช่สัมมาวาจาแล้ว..เห็นไหมคะ นี่ก็เพราะไม่มีปัญญา ไม่มีความเห็นที่ถูกต้องว่าเราพูดเพื่อหน้าที่เสมอเลย หน้าที่ในการพูด พูดในฐานะเป็นพ่อ ฐานะเป็นแม่ ฐานะเป็นลูก เป็นเพื่อน เป็นครูอาจารย์ เป็นลูกศิษย์ แล้วก็เป็นผู้บังคับบัญชา หรือเป็นอะไรต่ออะไรที่เราเกี่ยวข้อง พูดตามหน้าที่ตามความถูกต้อง แต่แน่นอนละสัมมาวาจานั้นต้องไม่เบียดเบียน คือ ไม่พูดวาจาหยาบคาย ไม่พูดวาจากระด้าง ไม่พูดวาจาส่อเสียด ไม่พูดวาจาเพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่านไม่ได้เรื่องไม่ได้ราวไร้สาระ และก็ความถูกต้องมันก็มีความงาม วาจาถูกต้องก็มีความงามอยู่ในนั้น จะมีความนุ่มนวล มีความอ่อนโยน มีความถูกต้อง ไม่ต้องพูดไพเราะยกยอปอปั้นเลยสักนิดเดียว นี่คือสัมมาวาจาซึ่งเกิดจากปัญญาใช่ไหมคะ? ปัญญามองเห็นแล้ว แต่ถ้าไม่มีปัญญาละก็จะต้องพูดเอาใจให้คนอื่นเขารักเป็นประเด็นสำคัญ ฉะนั้นที่เน้นอันนี้ก็เพราะเหตุว่าเราชอบพูดเพราะกัน เรื่องพูดหยาบพูดด่าไม่ต้องบอกไม่มีใครชอบ แล้วก็หลีกเลี่ยงไม่พูดถ้าเป็นได้ ก็มี”ตัว”อีกนั่นแหละ แต่ถึงกระนั้นนี่ก็พยายาม
ท่านจึงชี้ให้เห็นว่า ศีล จะถูกต้อง คือหมายความว่าการรักษาศีลทางกายวาจา จะถูกต้องต่อเมื่อมีปัญญาถูกต้อง เห็นถูกต้องแล้ว แล้วเสร็จแล้วสมาธิที่ตามมา ตัวที่สามคือ “สมาธิ” สมาธิคือความตั้งใจมั่นที่ถูกต้อง ก็จะเกิดขึ้นด้วย พร้อมด้วยสติ พร้อมด้วยความพากเพียรที่ถูกต้อง ถ้าเราจะนึกถึงสมาธิในแง่ของความหมายของการมาฝึกสมาธิเพื่อให้จิตนี้สงบ เพื่อให้จิตนี้มีความตั้งมั่น ถ้าหากว่ามาฝึกสมาธิด้วยปัญญาก็จะมองเห็นว่า การฝึกสมาธิเพื่อให้จิตมีความสงบมีความเยือกเย็นผ่องใส จนสามารถตัดอะไรต่ออะไรได้จริง คือตัดกิเลส ตัดความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายได้จริงแล้วล่ะก็ มันจะต้องประกอบทั้ง “สมถะ” คือ ความสงบ มีความสงบ มีความเยือกเย็น พร้อมอยู่ด้วยสติด้วย ทั้งสติทั้งสมาธิ แต่ในขณะเดียวกันจะต้องพร้อมอยู่ด้วย “วิปัสสนา” คือการที่จะใคร่ครวญ พิจารณาดูในกฎของธรรมชาติจนแจ้งประจักษ์ แจ้งประจักษ์ แจ้งประจักษ์อย่างที่เราพูดกันแล้ว แจ้งประจักษ์จนกระทั่งมองเห็นทีเดียวว่า มันสักแต่ว่าเท่านั้น ไม่มีอะไรเป็นจริงเป็นจังเลยสักอย่างเดียว มันมีแต่สักแต่ว่า เกิดดับๆ จึงไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่น นี่คือวิปัสสนาอันทำให้เกิดปัญญา..เห็นไหมคะ มันชัดเจนมีปัญญาอย่างนี้
แล้วการฝึกสมาธิก็จะเป็นไปด้วยความถูกต้อง จะไม่หวังแต่เพียงว่า พอฝึกสมาธิคือนั่งหลับตา นั่งหลับตาแล้วก็หวังว่าจะเห็นโน่นเห็นนี่ คือเห็นอะไรที่เป็นทิพย์ๆ หรือว่าเป็นนิมิต สามารถจะบอกจะทำนายอะไรได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่หนทาง ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง เพราะยิ่งหวังจะเห็น..สงบไหมคะ นึกดู? ไม่สงบแล้ว จิตก็วุ่นวาย วุ่นวายตะเกียกตะกายดิ้นรนด้วยความอยาก..ใช่ไหม? อยาก..อยากจะเห็น ทำไมไม่เห็น? เพราะในขณะที่นั่งสมาธิเพื่อให้จิตสงบ มันก็เลยดิ้นอยู่ข้างใน ดิ้นอยู่ข้างในดังอยู่ข้างในเพราะมันอยาก นี่ก็เพราะไม่มีปัญญาใช่ไหมคะ ไม่มีปัญญาที่ถูกต้อง ไม่มีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้น จึงไม่รู้ว่านั่งสมาธิเพื่ออะไร
เพราะฉะนั้น ปัญญานี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ปัญญาอย่างเดียว ถ้ามีปัญญาอย่างเดียวแล้วไม่นำปัญญานั้นมาฝึกฝน อบรม ขัดเกลาให้เกิดเป็นการปฏิบัติขึ้น ปัญญานั้นก็เป็นหมันไม่เกิดประโยชน์ มันจะต้องประกอบทั้งปัญญานำ เพื่อให้ศีลนี้ถูกต้อง คือการรักษาศีลเป็นไปด้วยความถูกต้อง และสมาธิความตั้งมั่นนี้ก็เป็นความถูกต้องด้วย ฉะนั้น ถ้าจะนึกดูนะคะ..ไตรสิกขานี้ ถ้าพูดในแง่ของปริยัติตามตัวหนังสือ ก็อาจจะบอกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ถ้าในทางปฏิบัติจริงๆ มองเห็นไหมคะว่าขึ้นต้นด้วยอะไร? ปัญญา ศีล สมาธิ และก็จะมีปัญญาทับขึ้นมาอีก ตามมา เข้าใจไหม? จะมีปัญญาทับตามมาอีก ปัญญาทีแรกนี่มันส่องทาง ส่องทางให้สว่าง ให้เดินตามทางนี้ แล้วเสร็จแล้วก็เอามาฝึกเอามากระทำทั้งวาจาทั้งกาย และก็มีสติตั้งมั่น มีความพากเพียรชอบ คือพากเพียรชอบ ระลึกรู้ชอบ และก็ตั้งใจมั่นชอบ เรียกว่า ไม่คลอนแคลน ยิ่งดูยิ่งฝึกยิ่งเห็น ยิ่งเดินไปในทางนี้ มันก็แจ้งยิ่งขึ้นๆ ปัญญาอันสุกสว่าง อันส่องสว่างภายในอย่างแท้จริง ก็ยิ่งเกิดขึ้นอีก เรียกว่าตามมาอีก เริ่มด้วยปัญญา แล้วเสร็จแล้วก็จะจบลงด้วยปัญญา อันเป็นปัญญาที่ส่องสว่างที่แท้จริง..เห็นไหมคะ นี่คือการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถ้าโดยถูกต้องจะต้องเป็นอย่างนี้
ก็ลองนึกดูก็ได้ เวลาที่เราจะเรียนอะไรนี่ เราต้องการรู้ก่อนใช่ไหมคะ รู้เหตุรู้ผลในสิ่งที่จะเรียนนี่เป็นไง มีประโยชน์ไหม มีประโยชน์แล้วถึงจะเลือกเรียน หรือเวลาที่เราจะทำงาน จะไปสมัครทำงานที่ไหน เราก็ต้องอยากรู้เสียก่อน ที่ทำงานที่นี่เป็นยังไง มีหนทางความเจริญก้าวหน้าไหม มีสวัสดิการเป็นยังไง เห็นดีเห็นชอบแล้ว ถูกต้องแล้ว เราถึงสมัครทำงาน นี่คือเราใช้ปัญญาอยู่แล้วโดยอัตโนมัติ แต่เราไม่คิดเอง พอเข้ามาถึงทางธรรมก็หนีไม่พ้น นี่เป็นหลักธรรมชาติ ปัญญาต้องมาก่อน ฉะนั้น ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ จึงพร้อมด้วยไตรสิกขา ถ้าปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไม่ได้ปฏิบัติไตรสิกขา..มันพร้อมอยู่ในนี้ นอกจากนั้นแล้วที่พูดตัวอย่างเมื่อกี้นี้ นึกไหมคะว่า นอกจากไตรสิกขาแล้วยังมีอะไรอยู่ในนี้อีก ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้นี้สดๆ ร้อนๆ มีอะไรอยู่ในนี้อีก มีทั้งสมถะและวิปัสสนาอยู่ในนี้ด้วย
ถ้าหากเราฝึกอริยมรรคมีองค์ ๘ คือฝึกปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็อย่างที่บอกแล้วไงคะ เราเริ่มต้นด้วย ปัญญานำหน้า แล้วเสร็จแล้วเราก็ฝึกกายฝึกวาจาให้อยู่ในหนทางที่ถูกต้อง มันจะทำได้เพราะว่าได้ศึกษา เฝ้าใคร่ครวญดูในสิ่งที่เป็นกฎของธรรมชาติ จนกระทั่งเราประจักษ์แจ้งใจ และสตินี่จะนำความระลึกรู้ที่ถูกต้อง คือนำปัญญาที่ถูกต้อง ที่รู้ถูกต้องนี่มาเสมอ เพราะฉะนั้นจะมีทั้งสมถะและวิปัสสนา สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่รวมอยู่แล้ว สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ นี่ก็เป็นปัญญาที่จะเกิดขึ้น จึงมีทั้งสมถะและวิปัสสนา ส่วนศีลอยู่ที่ไหน? ศีลก็รวมอยู่ในสมถะ เพราะเมื่อกายสงบวาจาสงบ นั่นก็คืออยู่ในความสงบที่มีอยู่อันเรียกชื่อได้ว่าเป็นสมถะ
ฉะนั้น ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นอกจากว่าจะมีไตรสิกขาแล้ว ยังมีพร้อมทั้งสมถะและวิปัสสนาอยู่ในนั้น ถ้าเราจะใคร่ครวญดูให้ดี ที่พูดอย่างนี้ ก็เพื่อจะพูดว่าถ้าหากว่าเราสามารถดำเนินชีวิตในหนทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แล้วละก็ จะไม่มีเสียละที่เราจะห่างไกล ห่างไกลจากการปฏิบัติสมาธิภาวนา หรือว่าห่างไกลจากการดำรงชีวิตอยู่ในไตรสิกขา ก็มีพร้อมอยู่ในที่นี้ไม่ต้องสงสัยเลย เพราะฉะนั้นอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ จึงมีความสำคัญมาก เพราะว่าแนะนำเรา บอกเราให้อยู่ในหนทางอันถูกต้อง ว่าหนทางอันถูกต้องนี้ควรจะเดินไปอย่างไร มีสงสัยบ้างไหมคะ? ที่พูดมาแล้วนี้ เพียงแค่ไตรสิกขา เพียงแค่สมถะวิปัสสนา ก็หมายความว่าต่อไปนี้ถ้าหากว่าเราจะมาฝึกสมาธิ เราจะมาปฏิบัติสมาธิ เราจะทำวิปัสสนา ก็เพื่ออะไร? เพื่อความดับทุกข์ เพื่อให้จิตนี้หยุดจากความดิ้นรน ดิ้นรนด้วยความอยาก ต้องการโน่นต้องการนี่ แล้วก็ร้อนไม่รู้หยุด ให้มันหยุดจากความดิ้นรน หยุดจากความดังอึกทึกอยู่ด้วยความปรุงแต่ง ความคิดปรุงแต่งนอกลู่นอกทาง เพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่านอย่างไม่รู้จบ เพื่อให้มันหยุด หยุดจากสิ่งนี้ แล้วเสร็จแล้วจิตนี้ก็จะถึงที่สุดแห่งการลดละ คือลดละความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตนนี้
นี่ก็เป็นวิปัสสนาที่ปรากฏผลถึงที่สุด จิตนั้นก็จะถึงซึ่งอนัตตา และก็สามารถอยู่กับความว่าง นี่คือการปฏิบัติที่ถูกต้อง นิโรธก็อยู่ที่นั่น นิโรธคือความดับ นิโรธนี่คือความดับ ความดับที่เราจะต้องทำให้แจ้ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นนะคืออะไร? ที่เป็นไวพจน์ของนิโรธ? นิพพาน..นิพพานเกิดขึ้นตรงนั้นเอง คือความเย็นมันเกิดขึ้นเอง นี่แหละที่บอกว่า นิพพานจะต้องทำให้ปรากฏขึ้นแก่จิต..เห็นไหมคะ ถ้าเราฝึกปฏิบัติอย่างนี้ เรากระทำอย่างนี้ ความเย็นเกิดขึ้นทีละ น้อยๆๆๆๆ จนถึงความเย็นที่สุด คือภายในจะแผ่ซ่านปกคลุมอยู่ด้วยความเย็นอย่างเดียว ความร้อนแทรกเข้าไม่ได้เลย นั่นคือนิพพานอย่างสมบูรณ์ นิพพานอย่างแท้จริง แต่คำว่าแท้จริงนี่ก็หมายความว่า ความเยือกเย็นผ่องใส ความสงบเย็นเช่นนี้ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่มีวันกลับหลังหันไปสู่ความร้อนอีก ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ายังเปลี่ยนแปลงอยู่ คือยังเกิดๆ ดับๆ อยู่ เราก็ฝึกต่อไป ฝึกปฏิบัติต่อไปอีก แล้วก็จะหยุดได้คือหยุดร้อนได้ แล้วก็จะมีแต่ความเย็นอย่างแท้จริง
เพราะฉะนั้น “มรรค” นี้ จึงเป็นหนทางที่จะถึงซึ่งความดับ เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น อันที่จริงแล้ว อริยมรรคนี้เราจะใช้ในชีวิตประจำวันได้ ในการดำรงชีวิตประจำวัน ในการเรียนหนังสือก็มีสัมมาทิฏฐิให้ถูกต้องในการเรียน ความเห็นถูกต้องในการเรียนคืออย่างไร? ก็คือ..ตั้งใจ ความเห็นถูกต้องในการเรียน การเรียนรู้ การเรียนหนังสือ จะนำประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีความเห็นถูกต้องในเรื่องนี้ จะมีประโยชน์ต่อชีวิตข้างหน้า ต่ออาชีพ ก็ตั้งใจจะเรียน เสร็จแล้วก็ใช้มรรคองค์อื่นๆ ดำเนินตามนี้ จะพูดจะทำการงาน จะดำรงชีวิต จะพากเพียรหรือว่าระลึกรู้ หรือว่า
สมาธิก็ตั้งมั่นอยู่ในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นทางการงานก็ใช้ได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าอริยมรรคนั้นจะเป็นของผู้ที่จะปฏิบัติเพื่อไปพระนิพพานเท่านั้น ในชีวิตประจำวันก็ใช้ได้ เรายังจะพูดกันต่อไปถึงเรื่องของอริยมรรคมีองค์ ๘ สำหรับวันนี้ .. ธรรมะสวัสดีนะคะ.