แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
...ไหมคะ ท่านผู้ใดเคยพบบ้าง นั่งๆ อยู่นี่อะไรหล่นตุ้บจากสวรรค์ อุ้ย..ก้อนทอง หยิบเข้ากลายเป็นก้อนทอง ก้อนทองคำ เคยพบบ้างไหมคะ ไม่มี ไม่มีอะไรที่จะหล่นลงมาจากสวรรค์ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ มันมีกฎของธรรมชาติอยู่ว่า มีแต่กฎของเหตุและผลของปัจจัยเท่านั้น เพราะฉะนั้นจะสุขล้ำ ฤาจะทุกข์ทน มันก็อยู่ที่กรรมคือการกระทำ ตามกฎอิทัปปัจจยตาเท่านั้นเอง ถ้าจะถามว่าคนทั้งสี่นี่รู้จักชีวิตไหม รู้จักชีวิตไหมคะ คำถามง่ายๆ รู้จักชีวิตไหมคะ ถ้าท่านที่นั่งอยู่นี่จะตอบว่า ชีวิตคืออะไร มีคำตอบทันทีไหมคะ ก็มีชีวิตกันอยู่หลายสิบปีอยู่นะคะ แต่ดูสิคะพอเราจะมาถามว่าชีวิตคืออะไร ต้องคิด แล้วบางทีคิดตั้งนานก็ยังไม่ได้คำตอบ ไม่ใช่ง่ายๆ เลย เพราะฉะนั้นประมาทไม่ได้เรื่องของชีวิต และถ้าจะถามต่อไปว่า รู้ไหมว่าเกิดมาทำไม บางคนก็ไปโทษว่า ก็พ่อแม่ให้ฉันเกิดมาก็เกิดมา ไม่ใช่อย่างนั้น การที่ได้เกิดมาเป็นคน ท่านถือว่าเป็นโชคอันประเสริฐ เพราะอะไรถึงเป็นโชคอันประเสริฐ เกิดเป็นเทวดานี่ยังไม่ประเสริฐเท่าเป็นคน ทั้งๆ ที่คนส่วนมากอธิษฐานบนบานศาลกล่าว ขอให้ได้ไปเกิดเป็นเทวดานางฟ้า แต่ที่จริงแล้วเป็นเทวดานางฟ้ายังไม่ประเสริฐเท่าเป็นคน เพราะบนสวรรค์น่ะมีแต่อะไรคะ ที่เราอยากไปเกิดบนสวรรค์น่ะเพราะอะไร เพราะอะไรก็เป็นทิพย์หมดใช่ไหมคะ เรียกว่าเปิดปุ๊บติดปั๊บเหมือนอย่างโทรทัศน์นั่นน่ะ พอดีดนิ้วจะเอาอะไรล่ะ อาหารทิพย์ นางฟ้าทิพย์ เทวบุตรทิพย์ ต้นไม้ทิพย์ อะไรทิพย์มาหมดเลย นี่คืออะไร ทิพย์เหล่านี้คืออะไร กามคุณ ๕ ใช่หรือเปล่าคะ คือสิ่งที่เราเรียกว่ากามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วกามคุณนี่คือเหวหรือบ่อ เหวหรือบ่อของนรกทีเดียว ที่จะชวนคนลงไปงมงาย ตกลงไปแล้วลุกไม่ขึ้น เพราะฉะนั้นบนสวรรค์นั่นน่ะพวกเทวดานางฟ้าไม่ค่อยรู้สึกตัว เพราะมัวแต่งมงายจนโงหัวไม่ขึ้นอยู่กับกามคุณ ๕ และถ้าเมื่อถึงเวลาจะจุตินะคะ ตามที่ดิฉันได้ยินเขาเล่ากัน พอถึงเวลานางฟ้าจะจุติเทวดาจะจุติ ถ้าถามว่าอยากจะไปเกิดที่ไหน ต่างจะตอบทั้งนั้นเลยว่าอยากมาเกิดในโลกมนุษย์ เห็นไหมคะ
นี่แหละโลกมนุษย์นี่ดีเพราะอะไร ในโลกของเรานี้ อย่าไปว่าโลกนี้เลวนะคะ ดีมากเพราะอะไร เพราะมีทั้งสุขทั้งทุกข์ มีทั้งความสุขความทุกข์ มีทั้งความได้ความเสีย มีอะไรที่บอกเราไม่ให้ประมาท จะขึ้นๆ ลงๆ ขึ้นๆ ลงๆ ประเดี๋ยวไปประเดี๋ยวมา ประเดี๋ยวไปประเดี๋ยวมา บอกคนไม่ให้ประมาท ประมาทไม่ได้ ถ้าเวลาดีได้สุขสมปรารถนาอย่าประมาทว่ามันจะอยู่ตลอดไป พอไม่ประมาทถึงเวลามันหายไปก็ไม่เสียใจเท่าไหร่ ยังมีสติอยู่ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นโลกมนุษย์นี่แหละเป็นสถานที่ที่เรามีโอกาสจะได้เรียนรู้ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ นี่คือความประเสริฐของความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นมนุษย์แล้วไม่ใช้โอกาสนี้ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพของจิตใจ ให้เป็นจิตใจที่มีคุณภาพชีวิตแล้ว น่าเสียดาย พูดได้อย่างเดียวว่าน่าเสียดาย เสียโอกาสอย่างที่ไม่แน่ว่าเราจะได้พบอีกหรือเปล่านะคะ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเกิดมาทำไม ชีวิตคืออะไร เกิดมาทำไม ก็อยากจะบอกว่า วันนี้ค่อนข้างจะเขียนมามากหน่อย เป็นความตั้งใจดีมากเกินไปหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะคะ แต่ว่าเป็นคนอย่างนี้ล่ะค่ะ ใจชอบอะไรก็คิดว่าท่านคงจะชอบเหมือนอย่างเรา ก็เลยเขียนมาหลายอัน ... ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา และพัฒนาได้ ... ความข้อนี้เป็นกำลังใจ ใครที่รู้สึกว่าหมดหวัง ได้ทำอะไรผิดพลั้งพลาดมามากในชีวิตนี้ ดูท่าจะตันหาหนทางไม่ได้อีกแล้ว โปรดทราบเถิดว่า ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา แล้วก็พัฒนาได้ ไม่ว่าเราจะได้พลั้งพลาดล้มเหลวมาสักกี่ครั้ง ลุกขึ้น ตั้งหน้าใหม่ ตั้งใจใหม่ เราจะเดินต่อไปได้ เป็นสิ่งที่พัฒนาและก็พัฒนาได้ เช่น พัฒนาจากความไม่ฉลาดหรือฉลาดน้อยให้เป็นฉลาดมาก ด้วยการศึกษาหาความรู้ พัฒนาจากความไม่มีคุณภาพชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตเกิดขึ้น ด้วยความมั่นคงเข้มแข็ง ที่จะฝึกฝนอบรมจริยธรรมให้เกิดขึ้น จนกระทั่งสามารถทำหน้าที่ของมนุษย์ได้อย่างถูกต้อง
คำว่าถูกต้องก็คือเกิดประโยชน์ ถูกต้องในทางธรรมนี่หมายความว่าเกิดประโยชน์ ไม่ใช่ถูกต้องของใคร ไม่ใช่ถูกต้องของคนนั้นคนนี้ หรือแม้แต่ถูกต้องของกฎหมาย ก็มิได้หมายความเช่นนั้น ในทางธรรมะความถูกต้องหมายถึงเกิดประโยชน์ คือเกิดประโยชน์แก่งานที่ทำ เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญผู้ที่ทำเอง ไม่มีความทุกข์ด้วย สบาย ไม่มีปัญหา ชุ่มชื่นใจ นี่คือความถูกต้องในความหมายของธรรมะนะคะ อันนี้เราเรียกว่าตามกฎอิทัปปัจจยตา ที่ดิฉันเอ่ยเมื่อกี้นี้ อิทัปปัจจยตา กฎแห่งเหตุและผล คือประกอบเหตุอย่างใดผลเป็นอย่างนั้น ผลอย่างใดสืบสาวไปเถิดจะพบว่า เพราะเราทำเหตุอย่างนั้นมันถึงเป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นลอยๆ และกฎอิทัปปัจจยตานี้ หรือกฎแห่งเหตุและผล เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา อย่างที่ท่านบอกว่า สิ่งใดมีแดนเกิดสิ่งนั้นก็มีแดนดับ สิ่งใดเกิดมาแต่เหตุสิ่งนั้นก็มีความดับไปตามเหตุปัจจัยของมันอีกเหมือนกัน ถ้าเรียกสั้นๆ ก็เรียกว่า กฎอิทัป คือกฎแห่งเหตุและผล เป็นกฎของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจึงเป็นกฎที่แน่นอน เป็นกฎที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นกฎของธรรมชาติ ฉะนั้น ชีวิตคืออะไร ชีวิตก็คือองค์ประกอบ ชีวิตคือหมายถึงสิ่งที่สดชื่น ชีวิตคือความสดชื่น อย่างที่เราเห็นว่าอะไรเป็นมีชีวิต นั่นคือมันมีความสดชื่น ฉะนั้นถ้าหากว่าสิ่งใดที่มันเหี่ยวแห้งมันไม่มีชีวิต ทีนี้ชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาและพัฒนาได้ทุกขณะทุกกรณี ที่จริงมีเรื่องจะเล่าเพื่อประกอบ แต่ว่าเวลาไม่อำนวยนะคะเดี๋ยวไม่จบ เพราะฉะนั้นก็พูดได้ว่าถ้าเรานึกถึงข้อความอันนี้ไว้ประจำใจเราจะมีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไป ทีนี้ก็นี่ก็จบเรื่องเหยื่อไปแล้วนะคะ พอสรุปได้แล้วใช่ไหมคะในใจว่า คุณภาพชีวิตนั้นควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ประเดี๋ยวเราจะมาสรุปกันถ้ามีเวลานะคะ ทีนี้ก็เป็นคุณภาพชีวิตในระดับเบื้องต้น ที่ดิฉันพูดมานี่แสดงถึงคุณภาพชีวิตในระดับเบื้องต้น
ทีนี้จะลองเล่าตัวอย่างสั้นๆ เล่าเรื่องสั้นๆ ในเรื่องของซึ่งแสดงถึงคุณภาพชีวิตในระดับเบื้องสูง แล้วก็จะเป็นหน้าที่ของแพทย์และพยาบาลที่บอกอยู่ในนี้ด้วย เป็นเรื่องราวของเซน แต่เป็นเรื่องจริงนะคะ กล่าวถึงท่านอาจารย์นานอิน ซึ่งเป็นอาจารย์เซนที่มีชื่อเสียงมากของญี่ปุ่น สิ้นชีวิตไปก่อนดิฉันเกิดสักสิบปี อะไรประมาณนั้น เพราะฉะนั้นเป็นคนจริงๆ มีลูกศิษย์ลูกหามาก แล้วก็เรื่องนี้ก็เล่าถึงท่านอาจารย์นานอินกับลูกศิษย์ที่เป็นนายแพทย์ชื่อว่ากุสุดา กุสุดานี่เป็นนายแพทย์ แล้ววันหนึ่งก็ได้ยินเพื่อนพูดเล่าถึงเรื่องของเซน คือคุยกันไปคุยกันมาแล้วกุสุดาก็ถามว่า เซนนี่อะไรนะ แล้วเพื่อนก็บอกว่า เราก็อธิบายให้ชัดๆ นี่อธิบายไม่ได้ แต่บอกได้ว่าถ้าผู้ใดเข้าใจเรื่องเซนแล้ว ผู้นั้นจะไม่กลัวความตาย พอได้ยินเท่านั้นน่ะกุสุดาก็สนใจมาก เออ..ถ้าเรารู้เรื่องเซนแล้วเราจะไม่กลัวความตาย แล้วทำยังไงล่ะจะไปเรียนกับใคร เพื่อนก็แนะนำให้ไปศึกษาเรื่องเซนกับท่านอาจารย์นานอินนะคะ นายแพทย์กุสุดานี่ก็ไปหาอาจารย์นานอิน แล้วก็บอกว่าขอได้โปรดกรุณาช่วยเล่าเรื่องของเซน สอนเรื่องของเซนให้ฟังหน่อย อยากจะได้เข้าใจว่าหมายความว่าอย่างไร อาจารย์นานอินก็แทนที่จะสอนเรื่องเซนนะคะ อาจารย์ก็บอกว่าก็เธอก็เป็นหมอก็จงปฏิบัติต่อคนไข้ของเธอด้วยความเมตตากรุณาเถิด นี่คือคำสอนของอาจารย์นานอิน เมื่อลูกศิษย์ไปถามว่าเซนคืออะไร ซึ่งดิฉันคิดว่าของพยาบาล คำตอบแก่พยาบาลก็เช่นเดียวกัน เพราะมีหน้าที่อย่างเดียวกัน บอกว่าเธอเป็นหมอเธอเป็นพยาบาลก็จงปฏิบัติต่อคนไข้ของเธอด้วยความเมตตากรุณาเถิด ซึ่งนายแพทย์กุสุดาก็รู้อยู่แล้วว่านี่เป็นหน้าที่อยู่แล้ว หน้าที่ของหมอหน้าที่ของพยาบาลต้องทำอย่างนี้อยู่แล้ว แล้วทำไมอาจารย์ถึงมาบอกอย่างนี้อีก แต่ก็กลับไปนะคะ แล้วก็ไปทำหน้าที่แพทย์ต่อคนไข้อย่างดีอย่างที่เคยทำอยู่ แล้วก็กลับมาหาอาจารย์นานอินอีกสามครั้ง แต่ทุกครั้งอาจารย์นานอินก็จะบอกอย่างนี้ทุกที เธอจงปฏิบัติต่อคนไข้ของเธอด้วยความเมตตากรุณาเถิด จนผลที่สุดนายแพทย์กุสุดานี่ก็ไปหาเป็นครั้งที่สี่ กลับไปหาเป็นครั้งที่สี่ คราวนี้ก็ระทดระท้อใจเต็มทีนะคะ เพราะไม่เข้าใจเรื่องเซนสักที ก็ทำหน้าที่แพทย์มาเรื่อย แต่ก็ยังไม่เข้าใจสักที ก็พูดกับอาจารย์ว่า ที่ผมมาศึกษาเรื่องเซนนี่เพราะเพื่อนเขาบอกว่าถ้าผมเข้าใจเรื่องเซนแล้วผมจะไม่กลัวความตาย แต่ว่าผมก็ฟังอาจารย์บอกว่าให้ผมนี่ไปปฏิบัติต่อคนไข้ด้วยความเมตตากรุณา ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผมทำอยู่แล้ว ถ้าคำสอนเรื่องเซนมีเพียงเท่านี้ละก็ ผมก็ไม่ต้องมาหาอาจารย์อีกหรอกใช่ไหม คือพูดอย่างเสียใจเต็มที อาจารย์ก็เลยบอกว่า เออบางทีอาจารย์อาจจะค่อนข้างจะเคร่งครัดกับเธอไปหน่อย เพราะฉะนั้นอาจารย์ก็เลยให้ปริศนาธรรม คือในทางของเซนนั่นนะคะเขามักจะให้ปริศนาธรรมสั้นๆ เอาไปคิด ที่เขาเรียกว่าโกอาน แล้วเสร็จแล้วถ้าคิดตกเมื่อไหร่ล่ะก็ จะแจ้งฉับพลันขึ้นมาทีเดียว
ก็ให้ปริศนาเซนชื่อคำว่า “มู” ให้ไปคิด ดิฉันจะไม่พูดลึกซึ้งลงไปนะคะ เพราะเราจะไม่มีเวลา แต่จะบอกแต่เพียงว่าจุดประสงค์ก็คือว่า เมื่อเธอกลับไปแล้วเธอจงพิจารณา คือใคร่ครวญจดจ่ออยู่กับคำว่า “มู” นี่ให้ตลอดทุกขณะเลย คิดอยู่แต่อันนี้ทุกขณะๆๆ ไม่ให้ขาดตอน เพราะฉะนั้นถ้าคิดอยู่อย่างนี้จิตก็เป็นไงคะ เป็นสมาธิใช่ไหมคะ เป็นสมาธิอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าเธอจะทำอะไร เพราะฉะนั้นเขาก็คิดอยู่ในเรื่องนี้ พิจารณาเรื่องของ “มู” คำว่า “มู” ในที่นี้ถ้าจะเอาความหมายก็แปลว่า ไม่ใช่เรื่องอะไรสักอย่าง จะว่ามีก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ เหมือนอย่างที่หลวงพ่อท่านอาจารย์ชาท่านบอกว่า เดินไปก็ไม่ใช่ เดินมาก็ไม่ใช่ ยืนอยู่กับที่ก็ไม่ใช่ นั่นแหละถึงจุดแล้ว เข้าใจไหมคะ ถึงจุดแล้ว บรรลุแล้ว คือว่าไปก็ไม่ใช่ มาก็ไม่ใช่ ยืนอยู่ก็ไม่ใช่ เพราะในการไปมีผู้ไปมีคนไป ยังมีตัวตนอยู่ ถ้ามาก็มีผู้มามีตัวตนอยู่ แสดงว่ายังไม่ละอัตตา ยังไม่ละตัวตน หรือยืนอยู่ฉันยืนอยู่ ยังมีฉันมีตัวตน เพราะฉะนั้นเมื่อใดที่ในจิตไม่มีทั้งไปไม่มีทั้งมาไม่มีทั้งยืนอยู่ มันมีแต่การกระทำที่เป็นไปตามธรรมชาติเฉยๆ ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นอยู่เลย นั่นแหละก็เป็นอิสระ ไม่เกี่ยวข้องผูกพัน เพราะฉะนั้นก็ไม่กระเทือนกับอะไรที่จะทำให้เกิดอารมณ์ทุกข์หรืออารมณ์สุขนะคะ เพราะฉะนั้นนายแพทย์กุสุดานี่ก็เอา “มู” นี่ไปพิจารณาเป็นเวลาสองปี แล้วก็รักษาคนไข้ไปด้วย แล้วก็คิดว่า เออ เราคงจะรู้จักละ ก็กลับมาหาอาจารย์ ท่านอาจารย์ก็บอก..ยัง คือไม่ต้องพูดอะไรเลยนะคะ พอท่านอาจารย์เห็นหน้าท่านก็บอก..ยัง เธอยังเข้าไม่ถึงภาวะนั้น ก็กลับไปศึกษาใหม่อีกเป็นเวลาปีครึ่ง ตอนนี้แน่ใจ แน่ใจว่าเรานี่เข้าถึงความเป็นปกติแห่งชีวิตแน่นอนแล้ว ก็กลับมาหาท่านอาจารย์นานอิน พอมาหาคราวนี้ท่านอาจารย์ไม่พูดอะไรอีกเหมือนกัน เพียงแต่ยิ้มเท่านั้น คือเข้าใจกันแล้วในฐานะของผู้บรรลุ แล้วก็นายแพทย์กุสุดานี้ก็คงปฏิบัติต่อคนไข้อย่างดี คือด้วยความเมตตากรุณาอย่างไม่มีความรู้สึกเกี่ยวเกาะต่อสิ่งใดเลย เป็นอิสระจากความผูกพันทั้งปวง เข้าใจไหมคะว่าอันนี้หมายความว่าอย่างไร ค่อนข้างจะลึกไปหน่อยนะคะ ถ้าพูดถึงว่าการที่แพทย์ก็ดี พยาบาลก็ดี สามารถปฏิบัติต่อคนไข้อย่างเป็นอิสระ อย่างไม่เกี่ยวข้องผูกพัน แต่ด้วยความเมตตากรุณาอย่างเสมอเหมือนกันหมด เท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าคนไข้นั้นจะเป็นเศรษฐีผู้ดีมีไพร่อะไรก็ตาม ยากจนอะไรก็ตาม เท่ากันหมด ในทางเถรวาทเรา ในพุทธศาสนาทางเถรวาทเราก็จะเรียกว่า นี้เป็นความเมตตาที่เป็นอัปปมัญญา
ความเมตตาที่เป็นอัปปมัญญาก็คือหมายถึง ความเมตตาที่ไม่มีขอบเขต ไม่มีเลือกที่รักมักที่ชัง ปฏิบัติด้วยความเมตตากรุณาแก่ทุกชีวิตอย่างเสมอเหมือนกัน นี่คือเป็นอัปปมัญญา ซึ่งผู้ใดจะปฏิบัติอย่างอัปปมัญญาได้อย่างนี้ก็ต้องอาศัยการฝึกการอบรมจิตจนถึงที่สุด เหมือนอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สามารถเห็นคือมองพระราหุลแล้วกับพระเทวทัตแล้ว ไม่มีความรู้สึกว่าต่างกันเลย ก็ทราบเรื่องแล้วใช่ไหมคะ พระเทวทัตที่พยายามแข่งดีจนกระทั่งถึงทำร้ายท่าน จะตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาใหม่ เรียกว่าทำตนเป็นศัตรู แล้วก็พระราหุลซึ่งเป็นพระโอรสแท้ๆ แต่เมื่อพระองค์ทรงนึกถึงพระราหุลนึกถึงพระเทวทัต ไม่มีความรู้สึกที่แตกต่างกันเลย เสมอเหมือนกัน นั่นคือความที่ในพระทัยของพระองค์ไม่มีอะไรที่จะเป็นความแปลกแยกนะคะ นี่คือคุณภาพชีวิตเบื้องสูง ที่ดิฉันเรียกว่าเป็นเบื้องสูงระดับสูง ซึ่งนำมาพูดไว้ว่าคุณภาพชีวิตมีได้สองระดับ แต่ถ้าอย่างของเราโดยทั่วๆ ไปนั้น เราได้เพียงระดับเบื้องต้น ดิฉันว่าเท่านี้ก็เพียงพอแก่การที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขในสังคม เพราะว่าระดับชีวิตคุณภาพเบื้องสูงนี้แสดงถึงปกติภาพ ก็คือความเป็นจิตที่มีปกติอยู่ในทุกขณะในทุกภาวะและทุกกรณี เพราะฉะนั้นก็พูดได้ว่าคุณภาพชีวิตนี้เป็นสิ่งที่อำนวยให้การมีชีวิตนั้นคุ้มค่า คุ้มค่าแก่การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์นะคะ
ทีนี้เวลาก็ล่วงเลยไปมากนะคะ ดิฉันอยากจะขอรวบลัดเพื่อเราจะได้มีเวลาพูดเรื่องสมาธิกันนิดหน่อยและก็ตอบคำถามด้วย ขออนุญาตพูดเร็วนะคะตอนนี้ ทีนี้องค์ประกอบที่เป็นปัจจัยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตนั้นควรจะมีอะไรบ้าง จากที่เราสรุปจากเรื่องเหยื่อที่พูดมานี้ก็พูดได้ว่าผู้ประสงค์จะมีคุณภาพชีวิต
ข้อแรกทีเดียว ต้องเป็นผู้ใฝ่รู้และใฝ่เรียน ใฝ่ที่จะรู้โน่นรู้นี่คือเรียนรู้และก็ศึกษา ใฝ่เรียนก็คือศึกษาทั้งจากการอ่านและการฟัง จะเป็นผู้ที่เอาดีแต่เรื่องของอาชีพอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องทั้งใฝ่รู้และใฝ่เรียน ทั้งจากการอ่านและการฟัง แต่ต้องใช้วิจารณญาณด้วยนะคะในการอ่านและการฟังนั้น ต้องใช้วิจารณญาณคือต้องรู้จักเลือกอ่านและก็เลือกฟัง เพราะว่าหนังสือที่เป็นเศษกระดาษน่ะออกมาเยอะแยะเลยเวลานี้ เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกหาหนังสือที่เป็นแก่นสาร การฟังก็ฟังในสิ่งที่เป็นแก่นสาร ทั้งจากสื่อมวลชนหรือว่าจากบุคคล หนังสือนี้เป็นได้ทั้งเพื่อนทั้งครูทั้งแสงสว่าง ท่านผู้ใดที่เป็นนักอ่านที่นั่งอยู่ในห้องนี้จะเข้าใจทันทีที่ดิฉันพูดอย่างนี้ หนังสือเป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งครู เป็นทั้งแสงสว่างของชีวิต ถ้ามีหนังสือเป็นเพื่อนไม่มีวันเหงา ถึงจะอยู่คนเดียวไม่มีวันเหงา ไม่มีวันเบื่อ แล้วก็ไม่มีวันโง่ ทันสมัยอยู่เสมอ และก็มีชีวิตจิตใจที่สดใสด้วย จะรู้สึกเหมือนกับว่าเรามีบัณฑิต คือมีเพื่อนที่เป็นบัณฑิต เป็นคนฉลาด เป็นคนมีปัญญาอยู่ใกล้ๆ คอยแนะนำ คอยบอกเล่า คอยตักเตือน คอยชี้ทาง นี่หนังสือที่เราเลือกแล้วนะคะ เพราะหนังสือแต่ละเล่มน่ะก่อนที่จะมาเป็นเล่มได้ เค้นออกมาจากมันสมองนะคะ จากมันสมองจากประสบการณ์ของผู้ที่มีเจตนาที่ดี มีเจตนาที่ดีที่จะให้อะไรแก่ผู้อ่าน เขียนอย่างมีแก่นสารสาระ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่ออกมาได้ง่ายๆ เลยเล่มหนึ่งน่ะ เพราะฉะนั้นซื้อหนังสือแพงก็จงซื้อเถอะ อย่าเสียดายเลย เพราะคุ้มค่าถ้าเป็นหนังสือดี เพราะฉะนั้นหนังสือเป็นอุปกรณ์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่มีประโยชน์ที่สุด
ข้อที่สองขององค์ประกอบ การจัดเวลาอย่างมีดุลยภาพ การจัดเวลาอย่างมีดุลยภาพ แต่เดี๋ยวนี้สิ่งที่เป็นอุปสรรคมากๆ หรือเป็นความขาดแคลนมากของคนเราทุกวันนี้คือเรื่องเวลาใช่ไหมคะ รู้สึกว่ามีความขาดแคลนเท่าๆ กับเงิน ไปที่ไหนก็จะได้ยินแต่บอกว่าไม่มีเวลา ไม่มีเวลา ดิฉันอยากจะขอฝากคำนี้ “จงกินเวลา” จงกินเวลา เราทั้งหลายนี่แหละค่ะจงกินเวลา เป็นผู้กินเวลาเถิด แต่อย่าให้เวลากินเราเลย ถ้าเวลากินเราก็คือเราเป็นทาสของเวลา อย่างที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่มีเวลา ไม่มีเวลา เหมือนกับพ่อแม่ในเรื่องเหยื่อนั่นแหละ เห็นไหมคะ ไม่มีเวลา ไม่มีเวลาให้ลูก ฉันต้องทำงาน ทำงานก็มาให้เธอนี่แหละไม่ใช่ให้ใคร แล้วเป็นอย่างไรผลสุดท้าย อวสานเกิดขึ้นแก่ลูก อุทิศเวลาให้ลูกไม่ได้ ตอนนี้ยอมทิ้งหมดงานการไม่เอาจะเอาลูก แต่ก็สายเสียแล้ว เพราะฉะนั้นจงเป็นผู้กินเวลา ก็คือจงเป็นผู้เหนือเวลา อย่าพยายามพูดแต่เพียงว่าไม่มีเวลา ไม่มีเวลา เพราะถ้าพูดแต่เพียงว่าไม่มีเวลา ไม่มีเวลา คือการเป็นทาสของเวลา แล้วเสร็จแล้วก็มีแต่ความเครียดอยู่ตลอดเวลา ก็อยากจะขอเสนอ ลองโปรดพิจารณานะคะว่าทุกวันนี่ ทุกวันในวันหนึ่งๆ ขอลองใช้เวลาสักสิบนาทีได้ไหมคะ อยู่กับตัวเอง อาบน้ำอาบท่าสบายแล้วไปนั่งสงบเงียบๆ ที่ไหนก็ได้เฉพาะตัวเอง แล้วก็สำรวจดูสิว่าในวันนี้เราได้มีหรือได้พบคุณค่าของชีวิตอะไรบ้างในวันนี้ หมายถึงคุณค่าที่ชุ่มชื่นใจ ที่ทำให้จิตใจเบิกบานเห็นโลกสวยงาม แล้วก็ต่ออายุเราให้ยืนยาวอย่างมีชีวิต คือพอนึกขึ้นมาแล้วชื่นใจอิ่มใจ นั่นก็คือเราได้ทำอะไรอย่างมีประโยชน์ มีประโยชน์ที่เราไม่หวังเราไม่เอาแล้วเราชื่นใจ แล้วก็เวลาไม่ได้มีปัญหาเป็นนายเราเลย ลองนึกดูสิคะมีไหม ถ้าผู้ใดเป็นทาสของเวลาแล้วก็บอกว่าไม่มีเวลา ไม่มีเวลาตลอดเวลา ผู้ที่พูดคำว่าไม่มีเวลาตลอดเวลานี่ลองนึกดูอย่างละเอียดนะคะให้ดีๆ แล้วจะนึกว่าคำพูดคำนี้ทำให้เรากลายเป็นคนใจดำไปหรือเปล่า ไม่มีเวลานี่ทำให้เราเป็นคนใจดำไปหรือเปล่าโดยไม่ได้ตั้งใจนะคะ ไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้ตั้งใจเป็นคนใจดำ แต่บางทีเราเป็นคนใจดำโดยไม่ได้ตั้งใจ ถ้าเราบอกแต่ว่าไม่มีเวลา ไม่มีเวลา เพราะฉะนั้นถ้าเรานั่งสำรวจเราจะรู้ว่าในวันหนึ่งที่เราใช้ไปที่เราบอกว่าไม่มีเวลานี่ เราได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า อย่างชนิดเป็นคนกินเวลา ไม่ใช่เวลากินเราหรือเปล่า ขอให้ลองนึกดู เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าไม่มีเวลาอยู่ตลอดเวลาก็คือคนใจดำ ขาดเมตตากรุณาทั้งต่อตนเอง แล้วก็ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วย แล้วผลที่สุดตัวอย่างก็อย่างเช่นเรื่องเหยื่อ ดังที่พูดมาแล้วนั่นนะคะ
ทีนี้ข้อที่สาม องค์ประกอบที่สามก็คือ ระเบียบวินัย ระเบียบวินัยนี่เป็นสิ่งจำเป็นมาก องค์สมเด็จพระบรมราชชนนีท่านทรงอบรมพระธิดาและพระโอรสให้ทรงมีวินัย เหมือนอย่างสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์นี่ ท่านทรงกล่าวไว้ในพระนิพนธ์ “แม่เล่าให้ฟัง” นี่ ท่านบอกว่า ตอนเล็กๆ อย่างที่พูดท่านบอกว่า เรามีชีวิตอยู่กันอย่างสนุกสนาน แต่มีระเบียบวินัย ท่านบอกแต่มีระเบียบวินัย แต่มิใช่ระเบียบวินัยแบบโบราณ เป็นระเบียบวินัยที่มีเหตุผล แล้วเกิดประโยชน์อย่างไร เราก็ลองเงยมองดูพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอก็แล้วกัน นี่คือผลของการที่ได้รับการอภิบาลอย่างเป็นผู้มีระเบียบวินัย เพราะฉะนั้นก็อยากจะเรียนว่า ในการที่จะสร้างระเบียบวินัยนั้น ถ้าเรามีคติประจำใจว่า “ความรับผิดชอบคือพื้นฐานของชีวิตมนุษย์” ความรับผิดชอบคือพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ ใครที่เรียกตัวเองว่ามนุษย์นั้นต้องมีความรับผิดชอบเป็นพื้นฐานอยู่ในจิตใจ ถ้าไม่มีความรับผิดชอบมีสิทธิ์เป็นเพียงแค่คน แต่ไม่ถึงมนุษย์ เพราะฉะนั้นอยากจะขอเสนอ โปรดมีคติประจำใจว่า ความรับผิดชอบคือพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ และก็นี่แหละคือชีวิตที่มีคุณภาพ ข้อคิดสำหรับเรื่องของระเบียบวินัยต่อไปก็คือว่า ควรรู้ว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ถ้าจะถามว่าแล้วจะให้ฉันทำอะไร คนที่หมดหวังนะคะ นั่งตันอยู่ในมุมใดมุมหนึ่ง แล้วจะให้ฉันทำอะไร ก็ทำหน้าที่ของมนุษย์สิ หายใจยาวๆ ให้ผ่อนคลาย ให้ยิ้มได้ นี่ก่อนอื่นเลยนะคะ พอหายใจยาว ผ่อนคลาย ยิ้มได้ อะไรอยู่ใกล้ตัวหยิบทำก่อน กวาดบ้านก็ได้ ตัดหญ้าก็ได้ รดน้ำต้นไม้ก็ได้ กระฉับกระเฉงให้มีชีวิต แล้วทีนี้ก็ดูต่อไปเราเกี่ยวข้องกับอะไรทำสิ่งนั้นต่อไป โดยอย่าคิดหวังเอา ถ้าไม่คิดหวังเอาเท่านั้นแหละมันมีกำลังจะทำ แต่ถ้าคิดหวังเอามันหมดกำลัง เพราะมองหาอะไรที่จะได้กลับมา แล้วไม่ได้มาสักที เลยมืออ่อนเท้าอ่อนไม่อยากทำใช่ไหมคะ ก็เป็นได้เพียงแค่คน คนกับมนุษย์ไม่เหมือนกัน เกิดมานี่เป็นคน ชีวิตต้องพัฒนา ก็พัฒนาจากความเป็นคนสู่ความเป็นมนุษย์ นี่ก็ความมีคุณภาพของชีวิต จะช่วยให้พัฒนาได้จากความเป็นคนสู่ความเป็นมนุษย์ สังคมเราจะอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นสุขเพราะเรามีมนุษย์เป็นสมาชิกของสังคม แต่เวลานี้เป็นอย่างไรไม่ต้องให้ดิฉันพูดละนะคะ ชีวิตที่มีระเบียบวินัยดิฉันอยากจะบอกว่า เป็นชีวิตที่มีศักดิ์ศรี ชีวิตที่มีระเบียบวินัยเป็นชีวิตที่มีศักดิ์ศรี ตรงกันข้ามกับชีวิตมักง่าย มักง่ายสุกเอาเผากิน ซึ่งเราพบเยอะเหลือเกิน ผลก็คือเหมือนเหยื่อนั่นแหละ
องค์ประกอบที่สี่ก็คือ ค่านิยมที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นให้ได้ ค่านิยมที่เป็นสัมมาทิฏฐิก็คือสิ่งที่เราพูดมาแล้ว เช่น ชีวิตต้องมีระเบียบวินัย ชีวิตต้องใฝ่รู้ใฝ่เรียน ชีวิตต้องจัดเวลาให้สมดุลคือให้มีดุลยภาพ นี่ก็คือเป็นค่านิยมที่เป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิจะช่วยให้คิดแล้วพูดแล้วทำแล้วไม่เดือดร้อนไม่มีปัญหา มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง
องค์ประกอบที่ห้าคือ ความพอดี ความพอดีหรือที่เรียกว่า ทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทีนี้ความพอดีนี่ยากใช่ไหมคะ จะมีคำถามว่าพอดีของใคร ก็ฉันว่าพอดีอย่างนี้ เขาก็บอกว่าไม่พอดีสักที เพราะฉะนั้นความพอดีดิฉันมานั่งคิดอยู่นาน ดิฉันก็บอกตัวเองว่า ถ้าทำอะไรพอดีๆ แล้วล่ะก็มันจะไม่มีปัญหาตามมา ปัญหาจะไม่มี เพราะฉะนั้นก็ต้องคิดให้รอบคอบตามกฎอิทัปปัจจยตา ถึงเหตุปัจจัย คือประกอบเหตุปัจจัยอย่างรอบคอบอย่างถูกต้องด้วยความรู้ประสบการณ์ และผลจะถูกต้องมากกว่าผิดพลาด มันก็จะเป็นความพอดี เพราะฉะนั้นความพอดีก็คือไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ ไม่มีการเบียดเบียนเกิดขึ้นทั้งตัวเองและผู้อื่น จะทำให้สามารถเห็นแก่ผู้อื่นได้มากขึ้น ไม่เห็นแก่ตัวเองแต่ฝ่ายเดียว ปัญหาของมนุษย์ที่เกิดขึ้นก็คือความเห็นแก่ตัวเอง
และองค์ประกอบที่หกก็คือ การพักใจ การพักใจด้วยสมาธิภาวนา ทุกวัน สิบห้านาที ครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง ตามแต่เวลาจะอำนวย...