แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ
00:49สวัสดีท่านผู้ฟังที่เคารพ พบกับรายการพุทธธรรมนำชีวิตช่วงธรรมะชำระใจ ซึ่งก็จะเป็นการตอบปัญหาธรรมะ ท่านผู้ที่มาเป็นวิทยากรตอบปัญหาธรรมะก็คือ ท่านศาสตราจารย์อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหงคะ ซึ่งท่านก็ได้มาตอบปัญหาธรรมะ ท่านที่มีปัญหาหรือว่าอยากจะทราบข้อธรรมะประการใดก็ส่งจดหมายถึง สถานีวิทยุ 909 สำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จังหวัดสกลนคร รหัสไปรษณีย์ 47000 นะคะ เราอยากทราบว่าท่านกำลังรับฟังเราในช่วง 11:00 น ถึง 12:30 น หรือไม่เพราะว่า เท่าที่รับฟังจากสถานีวิทยุชาวไทยที่เช่าเวลาจากเรานะคะ ก็มีจดหมายจากจังหวัดนครพนม จังหวัดหนองคาย แล้วก็จากมุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร 5 จังหวัดนะคะ ก็กรุณาตอบให้เราทราบทางจดหมายด้วยนะคะ ก็มีจดหมายจากคุณแม่อัมพร ศรีโสภานะคะ ซึ่งเขียนมาจากอำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย ทางรายการได้รับแล้วก็ได้ส่งเทปธรรมะไปให้ท่านแล้ว ขอขอบคุณเป็นอย่างมากค่ะ จากนี้ไปก็ขอเชิญติดตามรับฟังการตอบปัญหาธรรมะได้เลยคะ คุณแม่คะเมื่อคราวที่แล้ววันพระ วันอาสาฬหบูชานะคะ ซึ่งดิฉันก็ได้เรียนถามคุณแม่ถึงว่า วันอาสาฬหบูชาคืออะไร มีความสำคัญที่พุทธศาสนิกชนควรทราบอย่างไรบ้าง คุณแม่ก็ตอบมาก็ยังไม่จบนะคะ วันนี้ก็อยากจะให้คุณแม่ได้ช่วยตอบต่อคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
02:55 ค่ะ ขอบคุณค่ะ เมื่อคราวที่แล้วก็ได้พูดถึงปฐมเทศนาในตอนต้นนะคะ ที่ท่านได้แสดงถึงเรื่องของมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ทีนี้อะไรคือทางสายกลางดังที่กล่าวแล้วว่า มันยากแต่การตัดสิน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นปุถุชนนี่ ถ้าให้ตัดสินทางสายกลางก็ผลที่สุดอาจจะลงเอยด้วยการไม่เป็นทางสายกลาง เพราะฉะนั้นก็จึงจะต้องอาจจะต้องพูดหลายๆอย่างนะคะ เพื่อจะเป็นการเปรียบเทียบให้มองเห็นว่า การที่จะอยู่ในทางสายกลางคือมัชฌิมาปฏิปทาได้อย่างถูกต้องนั้น มันควรจะต้องเป็นอย่างไร เมื่อคราวที่แล้วก็ได้พูดถึงว่า จะต้องสมาทานสัมมาทิฏฐิ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่าน ได้ทรงแนะนำทีเดียวว่า จะต้องสมาทานสัมมาทิฏฐิ นั่นก็คือจะต้องมีความเห็นที่ถูกต้อง ความคิดความเห็นที่ถูกต้อง เกี่ยวกับเรื่องของมัชฌิมาปฏิปทา ทิฏฐิก็คือความคิดเห็น สัมมาก็คือถูกต้อง ทีนี้สัมมาทิฏฐิ ในหนทางมัชฌิมาปฏิปทาคืออย่างไร ก็ก่อนอื่นก็ต้องถามใจตัวเราเองว่า เรายอมรับไหมว่า ทางตึงเกินไปนี้มันก็ไม่ดี มันไม่เหมาะสมกับชีวิต มันทำให้เครียดด้วยประการต่างๆนะคะ หย่อนเกินไปมันก็ไม่ดี มันทำให้กลายเป็นคนขี้เกียจอ่อนแอ แล้วก็ค่อนข้างจะเป็นคนไร้สาระไม่มีประโยชน์ด้วยซ้ำไป ถ้าหย่อนยานเกินไป เราเห็นด้วยไหม ว่าสองข้างทางนี้มันใช้ไม่ได้ อย่าว่าแต่จะเป็นหนทางที่ไม่เหมาะแก่สมณะเลย แม้แต่ผู้ที่อยู่ในทางโลกนี่แหละ อยู่บ้านทำการงานนี่แหละ ถ้ามัวจะตึงเกินไปหย่อนเกินไป การงานและชีวิตครอบครัวก็ย่อมยากที่จะประสบความสุขสงบร่มเย็น หรือความเจริญรุ่งเรืองนะคะ เราเห็นร่วมกันไหม เห็นความจริงข้อนี้ไหม ถ้าหากว่าเห็นโทษทุกข์ของทางที่ตึงเกินไป โทษทุกข์ของทางที่หย่อนเกินไป นี่แหละตรงจุดนี้ บุคคลนั้นก็จะค่อยๆถอยเข้ามา สู่หนทางสายกลางเองเลย เหมือนอย่างเวลาที่เราเดินตามทาง นี้ถ้าจะพูดอย่างเป็นรูปธรรมนะคะ เหมือนอย่างเวลาเราเดินตามทาง จะเป็นทางถนน หรือจะเป็นทางอยู่ในระหว่างอะไรก็ตาม ถ้าเราเดินริมเกินไปก็ตกขอบ ริมซ้ายก็ตกขอบซ้าย ริมขวาก็ตกขอบขวา ใช่ไหมคะ อย่างที่เขาเรียกร้องกันว่า พวกตกขอบนั่นแหละ พวกขวาตกขอบ พวกซ้ายตกขอบ นั่นคือตึงเกินไป หย่อนเกินไป เพราะฉะนั้นพอเดินตรงกลางนี่มันก็ปลอดภัย มันไม่ต้องตกซ้ายตกขวา แล้วมันก็จะมองอะไรก็มองเห็นได้ทั่วถึง ฉะนั้นถ้าหากว่าเห็นโทษทุกข์ คือมีทิฏฐิ คือมีความคิดความเห็นในโทษทุกข์ของตึงเกินไป หย่อนเกินไป จะค่อยๆมองเห็นคุณค่า หรือประโยชน์ของการปฏิบัติ หรือการดำเนินชีวิตที่อยู่ในมัชฌิมาคือสายกลาง คือในทางตรงกลางนี้ยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น แล้วก็จะมีกำลังใจ จะฝึกอบรมใจ ให้พยายามอยู่ในหนทางของมัชฌิมาปฏิปทา คือความถูกต้องพอดีที่เกิดประโยชน์ได้มากขึ้นนะคะ เพราะฉะนั้นถ้าจะดูต่อไปว่า แล้วเราจะเอาอะไรมาเป็นข้อคิด ข้อเตือนใจ ข้อช่วยสนับสนุน ให้เข้าสู่ในทางสายกลางได้มากยิ่งขึ้น อันแรกก็คือ มีความเห็นว่าทั้งตึงทั้งหย่อนเป็นทางสุดโต่ง ที่มันจะนำความทุกข์มาสู่ชีวิต แล้วก็นำปัญหาให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต จากนั้นก็ต้องมองดูว่า ที่ตึงเกินไปกับหย่อนเกินไปนี่ อีกนัยหนึ่งก็คือมันเป็นคู่กัน ตึงก็คู่กับหย่อน หย่อนก็คู่กับตึง นี่ก็แสดงถึงว่า อ้อถ้าหากว่าชีวิตของบุคคลใด ไปติดอยู่ในสิ่งคู่ใช่ไหมคะ ตึงกับหย่อนนี่มันเป็นสิ่งคู่ ฉะนั้นสิ่งที่เป็นสิ่งคู่นี้ละก็ มันจะต้องดึงให้ออกไปอยู่สุดโต่งเสมอ ไม่มีอยู่ตรงกลางได้ และสิ่งคู่นี้ไม่ได้มีเพียงคู่เดียวเท่านั้น ไม่ได้มีเพียงคู่ตึงกับหย่อน มันยังมีอีกตั้งเยอะแยะเลย เช่น ได้-เสีย ดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ รัก-ชัง ผิด-ถูก กำไร-ขาดทุน มากมายหลายสิบคู่ ถ้าว่างๆเมื่อไหร่นะคะ หยิบกระดาษมาซักแผ่น นั่งเขียนไปมีอะไรบ้างที่เป็นคู่ จะพบมากมายก่ายกอง แล้วก็ดูซ้ำไปอีกว่า เราติดอยู่ในคู่ไหนบ้าง อาจจะทุกคู่เหรอ เพียงแต่ว่ามากหรือน้อย ฉะนั้นประการที่ 2 ย้ำลงมาก็คือว่า เมื่อมีสัมมาทิฏฐิในมัชฌิมาปฏิปทา คือสมาทานสัมมาทิฏฐิในมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว ก็ควรจะต้องฝึกอบรมตนเอง ไม่ให้ยึดติดในสิ่งที่เป็นคู่ เช่น ไม่ติดเรื่องได้-เรื่องเสีย เพราะถ้าหากว่าติดได้ มันก็กลัวเสีย ไม่ยอมเสีย ถ้าติดกลัวนั่นก็เสีย กลัวนี่ก็เสีย มันก็อยากแต่จะได้นั่นแหละใช่ไหมคะ มันจะต้องไปตึงทางใด มันจะต้องไปสุดโต่งทางใดทางหนึ่ง และนี่ก็คือมันส่งเสริมความเห็นแก่ตัว เพราะว่ากลัวจะไม่ได้ กลัวจะเสีย คือจะเอาแต่ได้ แต่ไม่ยอมเสีย ถ้าไปติดอยู่ในสิ่งคู่อันนี้ หรือดี-ชั่วก็ไม่ต้องติดอีกเหมือนกัน
09:28บางทีท่านผู้ฟังอาจจะบอกว่า อ้าวไม่ติดดี ไม่เกลียดชั่ว แล้วก็มันจะทำดีได้อย่างไง ก็ลองนึกดูนะคะว่า เมื่อติดดีนี่ เป็นสุขดีอยู่หรือเปล่า ท่านผู้เป็นคนดีทั้งหลาย ที่มีชื่อได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดี เป็นตัวอย่างแห่งความดี แล้วติดดี อย่าลืมนะคะว่า ที่พูดนี่ พูดเพราะว่าติดดี ถ้าดีโดยไม่ต้องติดนี่วิเศษมากเลย แต่โดยมาก พอดีเข้าแล้วละก็ คือพอทำดีหรือเป็นคนดี มันอดจะติดดีไม่ได้ แล้วก็รัก แล้วก็หวงแหนความดี แล้วก็กลัวเหลือเกินที่จะถูกใครเขาว่าไม่ดี เพราะฉะนั้นคนที่เป็นคนดีแล้วก็ที่พยายามทำความดีนี่ จริงไหมคะ ที่มักจะต้องน้ำตาไหล สะอื้นอยู่คนเดียวเงียบๆบ่อยๆ เพราะกลัวเขาจะว่าไม่ดี ก็อุตส่าห์กล้ำกลืนฝืนใจทำความดี ทั้งๆที่บางครั้งมันเหนื่อยเหลือเกิน เหนื่อยสายตัวจะขาด เพราะมันเกินพอดีไปแล้ว ไม่อยากทำแต่กลัวเขาจะว่า บางคนก็กลัวเขาจะว่าไม่ดีในแง่ที่ว่า แหมไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เพื่อนฝูง เพราะฉะนั้นใครจะขออะไร จะยืมอะไร จะเอาอะไร ให้หมดเลย จนตัวเองอด ไม่ต้องมีอะไร บางทีถึงกับเป็นหนี้เป็นสิน นี่มันเกินดีหรือเปล่า แล้วทำไมถึงยอมเกินดี แล้วก็เหน็ดเหนื่อยเพราะคำว่าดี ก็เพราะว่ามันติดดีใช่ไหมคะ ถ้าไม่ไปติด ไม่ไปยึดในดี ทำไปเถอะความดี แต่ไม่ติดไม่ยึด นี่แหละจะถอยเข้ามาสู่ความพอดี เพราะจะรู้ว่า เมื่อทำดีนี่ ทำขนาดไหนมันถึงจะพอเหมาะพอดี เป็นความถูกต้องเกิดประโยชน์ และตัวผู้กระทำเองไม่ต้องมีความทุกข์ แต่ถ้าหากว่าไปยึดติดสิ่งคู่ ฉันจะเอาดี ชั่วฉันไม่เอา ชั่วผลักให้คนอื่น นี่เห็นแก่ตัวแล้วใช่ไหมคะ เข้าถึงอนัตตาไหมคะ ไม่เห็นอนัตตาเลย ติดแต่อัตตาอยู่อย่างเดียว เห็นไหมคะ เพราะฉะนั้นการติดอยู่ในสิ่งคู่นี่น่ากลัวมากเลย และมนุษย์เราก็ติดอยู่ในสิ่งคู่โดยไม่รู้ตัว เกือบจะว่าร้อยก็ทั้งร้อย เกือบจะว่าอย่างนั้น น้อยเหลือเกินที่จะมองเห็น ฉะนั้นดี ทำดี ดีเถิด แต่ว่าอย่าติดดี เพื่อที่จะได้มีความสุขที่แท้จริง แล้วก็อยู่ในหนทางของมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง ไม่ต้องเกลียดชั่ว เพียงแต่รู้ว่ามันชั่ว คือรู้จักสิ่งที่มันชั่ว สิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่งดงาม เป็นอย่างไร แล้วก็ไม่ทำสิ่งนั้น เท่านี้เพียงพอแล้ว แต่ไม่ต้องไปเกลียดชั่ว ถ้าเกลียดแล้วมันเป็นยังไงคะ ร้อนหรือเย็น ร้อนใช่ไหมคะ ถ้าเกลียดแล้วมันร้อน เพราะฉะนั้นไม่ต้องเกลียด เพียงแต่รู้จักมันเพื่อจะได้ไม่ถลำลงไปในสิ่งที่เป็นความชั่ว ไม่ต้องอธิบายแล้วนะคะ คงจะเข้าใจได้เอง เราไม่ต้องถลำเข้าไป แล้วเราก็รักษาใจของเราให้อยู่ในความพอดี คืออยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา คือเย็น เย็นสบาย ไม่ร้อน แล้วก็ไม่หนาว นี่สังเกตนะ ร้อนกับหนาวนี่มันก็คู่กันอีกละ มันไม่สบายทั้งคู่ ร้อนเกินไป เราพบแล้วความร้อนปีนี้ร้ายกาจเพียงใด หรือความหนาวจนถึงเข้ากระดูก มันก็ไม่สบายอีกเหมือนกัน เราจึงอยากจะอยู่ตรงกลาง คือเอาเย็นสบายๆใช่ไหมคะ เราอยากจะได้อากาศที่เย็นสบายๆ เพราะฉะนั้นเย็นสบายๆนี่แหละ คือพอดี เป็นทางสายกลาง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา
13:46แต่ถ้าหากว่าผู้ใดยังยึดติดในสิ่งคู่ ไม่มีวันที่จะอยู่ในทางสายกลางได้ มันจะไปสุดโต่งอยู่เสมอทีเดียว เพราะฉะนั้นให้รู้จักสิ่งคู่ทั้งหลายนะคะ ไม่ว่ารัก-ชัง กำไร-ขาดทุน ทำไมจะต้องไปกลัวนักเรื่องของกำไรเหรอ เรื่องของขาดทุนกลัวจะไม่ได้กำไร ก็อะไรที่จะทำให้ถูกต้อง นักธุรกิจสิ่งใดที่จะทำที่จะเป็นความถูกต้องก็ทำ ความถูกต้องในที่นี้อย่างที่เห็นโฆษณากันว่า ราคายุติธรรมนั่นแหละนะคะ มันยุติธรรมจริงหรือเปล่า ถ้ามันยุติธรรมจริงแล้ว สบาย พอดี ด้วยกันทั้งผู้ซื้อและผู้ขายใช่ไหมคะ ผู้ขายก็สบาย เพราะมีความรู้สึกว่า เราทำธุรกิจขายของต่างๆเหล่านี้ ด้วยเมตตาธรรม ด้วยเมตตาธรรมต่อผู้ที่มาซื้อที่เป็นลูกค้า เพราะฉะนั้นจิตใจมันก็สบาย แล้วก็พูดอีกอย่างหนึ่งที่เดี๋ยวนี้เขาชอบพูดกันก็คือ เอากุศลเป็นกำไร ก็จะได้กำไรที่เป็นกุศลจริงๆ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงโฆษณา ว่านี่เอากุศลเป็นกำไร แต่จริงๆไม่ใช่ เบื้องหลังคือเงินเป็นกำไร มันจะไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจก็ทำ หรือการดำเนินชีวิตในทางอื่นก็ทำ ในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง แต่ไม่ต้องไปคิดต้นทุนกำไร ถ้ามันถูกต้องแล้วล่ะก็ ผลมันย่อมเกิดประโยชน์ แล้วมันก็ไม่นำความทุกข์ การขาดทุนก็ไม่ต้องกลัว ถ้าทำถูกต้องแล้วมันก็ไม่ต้องขาดทุน ถึงสมมติว่าเหตุปัจจัยมันจะบังเกิดขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำ แต่เราก็จะไม่รู้สึกว่า เราถึงกับขาดทุนล่มจมหมดชีวิต แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็จะสามารถพยุง ชะลอ ประคับประคองให้มันดำเนินไปได้ ตามผลทางที่ไม่เกิดความทุกข์แก่ตนเอง จนเกินความพอดี ฉะนั้นสิ่งนี้สำคัญมากเชียวค่ะ การที่จะฝึกให้อยู่ในหนทางสายกลางได้ พยายามนะคะ อย่ายึดติดในสิ่งคู่ พอจะติด รีบเตือนตัวเองเอาอีกแล้วนะ สุดโต่งอีกแล้วนะ ระวังจะตกขอบนะ ขอบซ้าย-ขอบขวา ไม่ดีทั้งคู่ เพราะฉะนั้นมาเดินตรงกลางให้มันปลอดภัยดีกว่า นั่นก็คือด้วยการพยายามที่จะให้มีการกระทำที่ถูกต้อง ตามเหตุปัจจัย หรือตามกฎอิทัปปัจจยตา
16:27ที่เราได้เคยพูดกัน อิทัปปัจจยตาก็คือกฎของเหตุและผล ประกอบเหตุอย่างใดผลอย่างนั้น ผลอย่างใดย่อมมาจากเหตุอย่างนั้น ฉะนั้นที่เสนอแนะว่า อย่าพยายามยึดติดในสิ่งคู่เพราะอะไร ก็เพราะเหตุว่า ถ้าหากว่าติดในสิ่งคู่ การตัดสินสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นในทางบวกก็ดี หรือทางลบก็ดี ย่อมจะเป็นไปตามที่ทิฏฐิของตน ไม่ใช่เป็นไปตามความถูกต้อง ตามทิฏฐิของตนนั้น ก็คือความคิดเห็นของตน สังเกตหรือเปล่าคะว่าไม่ได้พูดว่าสัมมาทิฏฐิ พูดทิฏฐิเฉยๆ คือความคิดเห็นที่เป็นกลางๆซึ่งความคิดเห็นของคนแต่ละคนนั้นจะเป็นฉันใด ย่อมเนื่องมาจากการศึกษา การอบรม หรือว่าพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมต่างๆเหล่านี้ก็มารวมกัน เหมือนอย่างที่เราพูดถึงของสวย ของดี ของงาม คนสัก 5 คนมาพูด ก็ไม่ได้เห็นพร้อมกันใช่ไหมคะ บางคนเห็นสิ่งนี้ดี บางคนเห็นสิ่งนั้นไม่ดี ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน นี่ก็เพราะทิฏฐิต่างกัน ซึ่งมันเกิดจากการอบรมสิ่งแวดล้อมอะไรต่ออะไรต่างๆของแต่ละคน ที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าติดในสิ่งคู่แล้ว จะพาให้การตัดสินนั้นมันมีอคติเจือปน เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นอคติเจือปนแล้ว มันย่อมไม่ใช่อยู่ในทางสายกลาง คือไม่ใช่อยู่ในความถูกต้องพอดี เพราะฉะนั้นกล่าวได้ทีเดียวว่า การยึดติดในสิ่งคู่เป็นอุปสรรคขัดขวาง ไม่ให้สามารถกระทำตามสิ่งที่ถูกต้องพอดี หรือในหนทางสายกลางได้ ฉะนั้นผู้ที่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ในหนทางมัชฌิมาปฏิปทา ก็ควรที่จะได้ฝึกการดำเนินชีวิต หรือการกระทำนั้น ให้มีการกระทำตามกฎอิทัปปัจจยตา คือประกอบเหตุด้วยสติปัญญา อย่าด้วยอารมณ์นะคะ อย่าใช้อารมณ์ อย่าใช้กิเลสเข้ามาประกอบเหตุปัจจัย แต่ให้ใช้สติปัญญาเสมอ เพื่อให้เกิดผลเป็นความถูกต้องพอดี ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง แก่งาน และแก่ส่วนรวม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่าพยายามมุ่งหวังนะคะ หรือตั้งความหวัง เพราะถ้ามุ่งหวัง หรือตั้งความหวัง มันก็หลุดจากทางสายกลางอีกเหมือนกัน มันเอียงแล้ว เอียงยังไง คืออยากให้ได้อย่างที่หวัง เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ต้องระมัดระวัง ถ้าหากว่าฝึกการกระทำให้อยู่ในลักษณะอย่างนี้ให้สม่ำเสมอ จิตใจก็จะค่อยๆเข้ามาอยู่ในหนทางสายกลาง คืออยู่ในความถูกต้องพอดี แต่อย่างไรก็ตามนะคะ ในปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก ที่ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่ทรงแสดงในวันอาสาฬหบูชา คือวันเพ็ญ เดือน 8 นั้นนี่นะคะ ตอนต้นทรงเน้นถึงเรื่องของมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางที่สมณะควรเดิน ควรหลีกเลี่ยง ไม่เดินตามหนทางที่เป็นทางสุดโต่ง คือตึงเกินไป หรือหย่อนเกินไป แล้วก็ได้ทรงแสดง หรือว่าทรงแนะนำว่า ต้องสมาทานสัมมาทิฏฐิ
20:11สัมมาทิฐินี้ ก็คือองค์แรก หรือข้อแรกในอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นการแสดงให้ทรงเห็นว่า หนทางที่สมณะพึงเดิน คือผู้ที่รักความสงบ ในความรู้สึกส่วนตัวก็อยากจะพูดว่า ไม่เฉพาะแต่ผู้เป็นผู้บวชเท่านั้นหรอก จึงจะเป็นสมณะได้ บุคคลใดที่มีจิตใจโน้มน้อมไปในทางรักความสงบ แล้วก็อยากจะมีชีวิตที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสงบ ก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกว่า นี่เป็นการประพฤติปฏิบัติในลักษณะของสมณะเหมือนกันนะคะ เพราะฉะนั้นที่พูดเช่นนี้ก็เพื่อจะบอกว่า ถ้าสนใจในการที่จะปฏิบัติในทางลักษณะของความสงบแล้วล่ะก็ ควรที่จะได้ศึกษาทำความเข้าใจ และรู้จักในเรื่องของอริยมรรคมีองค์ 8 มรรคก็คือทาง อริยะก็คือประเสริฐ อริยมรรคก็คือหนทางอันประเสริฐ ที่สมณะพึงเดิน อันเป็นทางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงดำเนินมาแล้ว ท่านบอกว่า อริยมรรคมีองค์ 8 นี้ เป็นทางเดินอันประเสริฐ ที่โดดเดี่ยว ต้องเดินแต่โดดเดี่ยว แต่ลำพัง พอได้ยินคำว่าโดดเดี่ยว ก็อย่าเพิ่งเหงานะคะ จะรู้สึกว่าโอ้ยนี่หนทางนี้มันแสนเหงาว้าเหว่ เห็นจะเดินไม่ได้ อย่าคิดอย่างนั้น แต่หมายความว่าอริยมรรคมีองค์ 8 นี้ เป็นทางที่ต้องเดินอย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง เพราะอะไร ก็เพราะเหตุว่า ถ้าผู้ใดจะเดินได้สำเร็จนี่นะคะ ต้องอาศัยจิตใจที่เข้มแข็ง แกร่งกล้าเป็นอันมากเลย จึงจะสามารถเดินไปได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องฝึก ฝึกที่จะเดินให้ได้ตามลำพัง ยืนให้ได้ด้วยตนเอง หรือถ้านึกถึงพุทธภาษิตที่ว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนของตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ก็เอามาใช้อันนี้นะคะ อย่าเอาไปใช้ในทางที่สนับสนุนให้เห็นแก่ตัว แต่เอามาใช้ในทางนี้ ที่จะสนับสนุนให้ตนเองมีความเข้มแข็ง มั่นคง เด็ดเดี่ยว ที่จะเดินต่อไปได้ด้วยลำพังของตนเอง และการเดินต่อไปด้วยลำพังของตนเอง มิได้หมายความว่า จะต้องออกไปอยู่ป่า ไปอยู่คนเดียว หลบลี้หนีหน้าไป ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น มันก็หมายเหมือนกัน ในลักษณะที่ต้องการจะปฏิบัติให้เต็มที่อย่างสมบูรณ์ถึงที่สุดนะคะ แต่เมื่อผู้ใดยังไม่มีโอกาสจะทำอย่างนั้น ก็ไม่ต้องพาตัวออกไปที่จะไปอยู่ตามลำพัง แต่ว่ารักษาใจของตนให้เด็ดเดี่ยว อาจหาญ กล้า องอาจที่จะปฏิบัติเดินตามอริยมรรคมีองค์ 8 โดยไม่หวั่นเกรงต่อความรู้สึก คำพูด หรือสายตา ของปุถุชนคนโลก เพราะเขาตกอยู่ภายใต้ของกิเลส ตกอยู่ภายใต้อำนาจของวัตถุนิยม แน่นอน ที่จะมองไม่เห็นคุณค่าของอริยมรรคมีองค์ 8 แล้วก็เขาอาจจะใช้วาจา หรือมีการกระทำที่ถ้าผู้ใดไม่เด็ดเดี่ยวจริง จะหวั่นไหว จะไม่กล้าเดินตามทางนี้ เพราะฉะนั้นอริยมรรคมีองค์ 8 ท่านจึงบอกว่า เป็นหนทางอันประเสริฐ อันประเสริฐอย่างยิ่ง เพราะถ้าผู้ใดดำเนินตามทางนี้แล้ว ผู้นั้นย่อมประสบแต่สิ่งที่เป็นความสุขสงบ เยือกเย็นผ่องใส แล้วก็มีความอิ่มเอิบ เบิกบาน อยู่ทุกที่ทุกสถาน ทุกกาลทุกเวลา
24:44ทีนี้สำหรับองค์แรก คือสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐินี้ท่านถือว่าเป็นข้อแรก แล้วก็สำคัญมากนะคะ สัมมาทิฏฐิข้อแรกสำคัญมาก สำคัญจนกระทั่งท่านเปรียบว่า ผู้ใดมีสัมมาทิฏฐิ คือความคิดเห็นที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว เปรียบเหมือนกับรุ่งอรุณ คือสัมมาทิฏฐินี่ เปรียบเหมือนกับรุ่งอรุณ ถ้าวันใดเรามองเห็นรุ่งอรุณ คือเห็นพระอาทิตย์ส่องแสง แจ่มจ้า งดงาม มันก็แสดงถึงความผ่องใส ความสว่างเรืองรอง ของชีวิตนั้น แล้วก็จะเป็นเหมือนกับแสงสว่างที่นำทาง ให้การดำเนินนั้น ไปสู่ทางตรง ที่จะไม่หลงทาง ไปสู่ที่มืด บางทีท่านก็เปรียบสัมมาทิฏฐิเหมือนกับเข็มทิศ เข็มทิศมีความสําคัญอย่างไร ทุกท่านคงทราบดี บรรดาผู้ที่เป็นกัปตัน เป็นนักเดินทาง ทางอากาศก็ดี ทางเรือก็ดี ย่อมต้องการเข็มทิศใช่ไหมคะ ถ้าปราศจากเข็มทิศก็มีการหลงทาง ทางเรือก็ชนหินโสโครก หรือว่าไปชนกันเอง หรือทางอากาศก็อาจจะไปตกหลุมอากาศลำบากที่ไหนยังไงก็ได้ หรือคนเดินป่า มีคนเดินบก ก็ยังจะมีเข็มทิศเหมือนกัน เพราะเหตุว่าเข้าไปในป่าที่มืดทึบ เต็มไปด้วยต้นไม้ ไม่ใช่ป่าที่ถูกเผาอย่างเดี๋ยวนี้นะคะ เราก็จะมองไม่ค่อยเห็นหรอก แล้วเราก็จะไม่รู้ทิศทาง นี่พูดถึงผู้ที่ไม่ใช่พรานป่าผู้ชำนาญ ก็ต้องมีเข็มทิศ จะได้รู้ว่าทิศเหนืออยู่ทางไหน อย่างน้อยก็จะได้หาหนทางคลำไปจนออกจากป่าได้ ฉะนั้นสัมมาทิฏฐิมีความสำคัญอย่างยิ่ง คำว่าทิฏฐิความเห็นนี่ มันเป็นคำกลางๆธรรมดา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าไม่เป็นสัมมา คือไม่เป็นความเห็นที่ถูกต้องแล้ว มันอาจจะพาไปหนทางผิดพลาดได้ อย่างที่เราได้ยินคำตรงกันข้ามว่า มิจฉาทิฏฐิใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นมิจฉาทิฏฐินี้ก็คือ ความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้อง ที่ผิดนั่นเอง เพราะเขาคิดเห็นผิด เข้าใจผิด เขาจึงไปกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ที่ไม่ดีงาม หรือพูดง่ายๆที่เป็นความชั่ว ที่ไม่เหมาะสม ก็เลยถูกเรียกว่าเป็นมิจฉาชน ไปอย่างนี้เป็นต้น แต่ที่ควรระมัดระวังก็คือว่า คนดีๆนี่แหละ อย่างเราๆท่านๆ เราเรียนหนังสือมาก็มาก จบปริญญา ทำงานทำการก็มีตำแหน่งการงาน เป็นที่น่านับหน้าถือตา แต่คิดดูให้ลึกๆแล้ว บางทีทิฏฐินี้มันกลับเป็นมิจฉา โดยไม่รู้ตัว เหมือนอย่างเช่น การยึดติดในสิ่งคู่นี้ นี่เป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว ทำไมถึงว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็เพราะมันทำให้เราเป็นทุกข์ใช่ไหมคะ นี่ในทางธรรม มิจฉาทิฏฐิหมายถึงอย่างนี้ คือความคิดผิด ที่คิดและทำให้เราเป็นทุกข์ หรือการที่ตกไปกาม ติดอยู่ในบ่วงของกาม ถอนตัวไม่ขึ้น อยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ตกอยู่ในห้วงเหวของกามอารมณ์ นี้ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะมันทำตัวให้ตกอยู่ในความทุกข์ ฉะนั้นคำว่าทิฏฐิเป็นคำกลางๆ จึงต้องมีการขัดเกลา ฝึกฝน อบรม เพื่อให้ทิฏฐินั้น อยู่ในหนทางของสัมมา คือความถูกต้อง จะได้นำชีวิตไปสว่างรุ่งเรืองเหมือนรุ่งอรุณ หรือนำชีวิตไปสู่ความถูกต้อง ไม่หลงทาง เหมือนอย่างเข็มทิศ หรือสามารถรอบรู้ในเรื่องของชีวิต เหมือนกับเป็นแผนที่ สัมมาทิฏฐิบางทีก็เปรียบเหมือนกับแผนที่ แต่เป็นแผนที่วิเศษ อย่างใครที่ไปต่างประเทศ ไม่มีเพื่อนฝูงจะซักถาม ก็ถือแผนที่ติดตัวไป มองดูก็จะรู้ว่าจะไปถนนไหนหนทางไหนใช่ไหมคะ แต่ว่าแผนที่อันนั้นน่ะ คือไม่มีจริงๆใช้ปากถามเขาก็ได้ถ้าเราหลงทาง แต่ถ้าหลงทางชีวิตนี่จะไปถามใคร ถามยากเหลือเกิน แล้วก็มานะทิฐิของตัวเองนั่นน่ะ อัตตาตัวเอง ถามก็อาย เสียศักดิ์ศรี ไม่กล้าถาม ต้องหัวซุกหัวซุน หลงทางชีวิตต่อไป เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบว่า ถ้าสัมมาทิฏฐิแล้ว เหมือนกับมีแผนที่ เป็นแผนที่ชีวิต พอเปิดออกมานี่รู้แล้ว ทิศทางไหนควรเดิน ไปทางไหนจะหลงทาง ไปทางไหนจะถูกทาง มันมีคำบอกเล่าหมดทุกอย่าง เพราะฉะนั้นสัมมาทิฏฐิ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้มีความคิดเห็นที่ถูกต้อง โดยเฉพาะความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของชีวิต จะนำธรรมะเข้ามาสู่ชีวิตตรงจุดใด อย่างใด จึงจะสามารถนำชีวิตนี้ให้รอดปลอดภัยจากความทุกข์ได้