แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ร้อนไหม ใจร้อนไหม พอนึกอยากได้เสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่ม แหมมันร้อนขึ้นมาต้องเอาให้ได้ เพราะชุดนั้นแหมมันทันสมัย เป็นแฟชั่นใหม่ทันสมัยเหลือเกินต้องเอาให้ได้ ถ้าเราได้แต่งนะมันจะโก้หรูไม่น้อยเลยนั่นก็คือตัณหา แต่ถ้าหากว่านี่มันอากาศร้อนจัดมาก ถ้าเราสามารถจะมีเสื้อผ้าที่เบาบางสักหน่อยหนึ่ง ไม่ต้องหนาเหมือนอย่างที่เราใส่ในฤดูหนาว มันก็จะช่วยให้เกิดความสบาย สะดวกสบายแก่ร่างกายขึ้น แล้วเราก็ไปหามาโดยที่เราไม่รู้สึกเดือดร้อน ที่ไม่เดือดร้อนก็เพราะพอมีสตางค์จะจัดซื้อหาได้ แล้วมันก็พอสมควรที่จะจัดหาและก็ไม่ได้ไปจัดหาผ้าเบาบางที่ราคาแพงแพรพรรณอย่างดี แต่ถ้าจะไปเอาแพงแพรพรรณอย่างดีนั่นก็เป็นตัณหาอีกเหมือนกัน แต่ถ้าเราจัดเพื่อให้มันพอเหมาะพอสมแก่จังหวะแก่โอกาสแก่เหตุปัจจัยอย่างนี้ก็ไม่เป็นตัณหา เป็นการใช้สติปัญญาที่รู้จักจัดให้มันพอเหมาะสม เช่นเดียวกับเมื่อเป็นโรคเกิดเจ็บขึ้นมา จะเจ็บที่ไหนก็แล้วแต่ จะเจ็บหัวใจเจ็บปอดเจ็บท้องอะไรก็แล้วแต่ พอเจ็บขึ้นมา ตกใจ สะดุ้ง ร้องไห้ กลัวตาย นั่นก็เป็นตัณหาแต่ถ้าหากพอเจ็บไม่สบาย จะไปเจ็บที่ไหนก็ตามที แต่สติปัญญาบอกว่าอย่างนี้เป็นอาการเจ็บที่ต้องการหมอแล้วคือต้องการการรักษา แล้วก็พาตัวไปหาหมออธิบายโรคให้หมอฟัง ฟังคำแนะนำในการรักษารับยามาและก็ปฏิบัติตัวตามที่หมอบอก แล้วใจนั่นก็ไม่ดิ้นรนไม่ระส่ำระสาย อย่างนี้ก็เป็นความถูกต้อง ใช้สติปัญญาถูกต้อง ใช้ได้ แล้วก็เรียกว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในอัตตา แต่ถ้าเป็นตัณหาแล้วล่ะก็มันมีอัตตา
เหลือเวลาอีกห้านาที คงจะตอบได้อีกสองคำถาม
คำถาม: ความอยากแตกต่างจากความตั้งใจจริงอย่างไร เช่น ในการทำงานขอให้มีความตั้งใจจริงที่จะทำ งานจึงจะสำเร็จต่างกับการอยากให้งานสำเร็จจึงพยายามกระทำ อย่างไร
ตอบ: ก็อีกเหมือนกันนะคะ เหมือนกับ อยาก ตัณหาที่เพิ่งพูดจบไป ถ้าอยากแล้วมันร้อนรนกลัวจะไม่เสร็จ หรือเสร็จก็กลัวจะไม่ดี หรือว่าดีแล้วกลัวคนเขาจะไม่ชม เห็นไหม พอตัณหาเกิดขึ้นมันให้ช่างคิดปรุงแต่งไปเรื่อย ทีแรกกลัวจะไม่เสร็จ อ้าวมันเสร็จกลัวจะไม่ดี พอดีแล้วกลัวจะไม่มีคนชมยกย่อง ชมด้วยปากไม่พอหนังสือพิมพ์ไม่ได้เอาไปลงไม่มีคนมาถ่ายภาพ เห็นไหมคะ ความอยากมันเพิ่มขึ้นไปเรื่อย เพิ่มความหวังความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด มันร้อน เพราะฉะนั้นมันต่างกับความตั้งใจจริง แต่ความตั้งใจจริงนี่หมายความว่าใช้สติปัญญาแก้ไข คือหมายความว่าใช้สติปัญญาคิดเตรียมการตามสัปปุริสธรรม 7 ที่เราเคยพูดกันแล้ว รู้สัปปุริสธรรม 7 ใช้สัปปุริสธรรม 7 มาเป็นเครื่องประกอบการพิจารณาในการทำ กำหนดวิธีการที่จะทำงานตามลำดับขั้นอย่างเรียบร้อย เสร็จแล้วก็ลงมือทำด้วยความตั้งใจจริงคือพร้อมด้วยอุตสาหะ วิริยะ สติปัญญา ทุกอย่างทุกประการ ใช้อิทธิบาท 4 เข้ามาใช้ในการจะทำงาน และก็ทำ ทำ ทำ ทำไป โดยไม่ต้องมานึกว่าเมื่อไหร่เสร็จจะดีหรือไม่ดีแต่ทำให้เต็มที่ด้วยฝีมือ ความสามารถ นี่่เป็นความตั้งใจจริงแล้วงานนั้นก็สำเร็จ เป็นความตั้งใจด้วยสติปัญญาแต่ไม่ใช่ด้วยความอยาก
คำถาม: ความยึดมั่นถือมั่นว่าฉันต้องทำได้ ฉันจะทำให้ได้ ต่างกับความตั้งใจจริงอย่างไร
ตอบ: ก็อีกเหมือนกัน ถ้ายึดมั่นถือมั่นว่าฉันต้องทำให้ได้ มันก็เดือดร้อน มันร้อนในใจ เพราะกลัวว่าฉันจะทำไม่ได้ เห็นไหมคะ ถ้าฉันต้องทำให้ได้ มันจะเกิดความกลัวว่าฉันจะทำไม่ได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นให้มีแต่การกระทำ อย่างที่เคยแนะนำ ว่ามีแต่ doing คือการกระทำ without the doer โดยปราศจากผู้กระทำ เรารู้ว่าทำอย่างนี้ถูกต้อง เหมือนอย่างมาปฏิบัติอานาปานสติขั้นที่หนึ่งทำอย่างนี้ ขั้นที่สองทำอย่างนี้ ขั้นที่สามทำอย่างนี้ เรารู้ว่าวิธีทำเป็นอย่างไร รู้ว่าทำไปเพื่ออะไรแล้วลงมือทำ ไม่ต้องเอาตัวฉันเข้ามาทำ ถ้าตัวฉันเข้ามาเกี่ยวข้องมันจะคอย dictate บงการ ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนั้น เดี๋ยวไม่ได้เดี๋ยวไม่สำเร็จ แล้วความคิดก็เข้ามาสิงสู่เยอะแยะ จิตก็กระเจิงไปกับความคิด เห็นไหมคะตัวฉันที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นให้มีแต่ doing นี่อย่างที่ไปฟังท่านอาจารย์ตอนเช้านี่ ท่านไม่ได้มานั่งพูดด้วยเพราะท่านไม่สบาย ถ้าท่านพูดให้ฟังพอจบท่านก็จะบอกว่า เดิน เดินกลับไปสวนโมกข์นานาชาติโดยไม่ต้องมีตัวผู้เดิน ถ้าเป็นฝรั่งท่านก็จะต้องบอกว่า walk without the walker ถ้าคนไทยท่านก็บอกว่าเดินโดยไม่ต้องมีตัวผู้เดิน นี่แหละคือฝึกธรรม โดยไม่ต้องมีตัวผู้ทำ ถ้าเราทำอย่างนั้น ความตั้งใจจริงมันอยู่ที่นั่น เพราะมันจะทุ่มเททุกอย่างลงไปอย่างเต็มฝีมือความสามารถ คือมีแต่การกระทำไม่ต้องให้มีตัวฉันเข้ามาทำแล้วความตั้งใจจริงที่ถูกต้องมันจะเกิดขึ้น แต่ถ้ามีตัวฉันเข้ามาทำมันมีตัณหาแทรกอยู่ ร้อนแล้ว ร้อนทันทีเพราะกลัวจะไม่เสร็จ กลัวจะไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันก็ต่างกันนะคะเพราะว่าในตัณหานั้นมันมีความยึดมั่นถือมั่น และก็ถามเรื่องปฏิจจสมุปบาท นี่จะพูดกันต่อไปเรื่องปฏิจจสมุปบาท ขอยังไม่ตอบตอนนี้นะคะ
คำถาม: อทุกขมสุขเวทนานั่น แม้ว่าผู้รู้สึกจะยังโง่อยู่ คือไม่เกิดปัญญา แต่เวทนาชนิดนี้ก็ไม่ทำให้เกิดตัณหาไช่ไหม
ตอบ: ไม่แน่ ถ้าหากว่ามันอทุกขมสุข มันก็คือความไม่แน่ใจ เหมือนอย่างไปดูหนังหรืออ่านหนังสือก็ตาม และก็เพื่อนถามเป็นไงเรื่องนี้ ดีไหม อืม คิด จะว่าดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ แล้วชอบหรือเปล่าล่ะ เอ่อไม่รู้ ชอบหรือไม่ชอบ ไม่รู้ สบายไหมได้คำพูดที่มันออกมาอย่างนี้นี่ แสดงว่าใจมันใสหรือเปล่า ใสไหม ไม่ใสหรอกมันมัวๆ มันมัวๆ เหมือนกับมีเมฆคลุม มันถึงตัดสินใจไม่ได้ ว่ามันเป็นอะไรยังไง เพราะฉะนั้นจะว่าตัณหามีไหม มี แต่มันซ่อนอยู่ลึก มันลึก มันไม่ตื้นเหมือนความโกรธ ไม่ตื้นเหมือนสุขเวทนาว่าชอบพอใจจะเอา หรือทุกขเวทนาไม่ชอบจะผลักออกไป มันไม่ตื้นเหมือนอย่างนั้นคือเห็นไม่ชัดเหมือนอย่างนั้น แต่ว่าในอทุกขมสุขเวทนานี่ ตัณหามันซ่อนอยู่ลึกๆ เพราะมันเป็นอาการของโมหะ โมหะซึ่งมันหมุนเวียน ครุ่นคิด แต่มันจับไม่ได้ มันเหมือนกับไฟสุมขอน มองดูเหมือนกับไม่มีไฟแต่ขี้เถ้าร้อนๆ มันอยู่ใต้นั้น มันมีความอยาก อยากรู้ อยากรู้เหมือนกันมันน่ารำคาญไหม ได้เป็นคนที่ตอบอะไรใครเขาก็ไม่ได้แน่ เออยังงั้นก็ได้ อย่างนี้ก็ได้ อย่างงั้นก็ใช่ อย่างนี้ก็ถูก นี่เพื่อนเลยเบื่อ จะไปไหนก็ใช้วิธีจูงไปเลย เพราะไม่ต้องให้ตัดสินใจ อทุกขมสุขเวทนาคือความรู้สึกที่ไม่แน่ใจว่ามันจะสุขก็ไม่ใช่ จะทุกข์ก็ไม่ใช่ มันตัดสินใจไม่ได้เพราะมันมีโมหะอยู่
คำถาม: นี่อย่างที่ถามยกตัวอย่างมาว่าเอาน้ำหอมมาให้ดมแล้วถามว่าหอมไหม ก็บอกไม่ถูกว่าหอมหรือเหม็น รู้แต่ว่าเป็นเพียงกลิ่นอย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าใครจะปรุงแต่งไปแบบไหน หรือเวลาอย่างเพื่อนถามว่าผู้หญิงคนนี้สวยไหม ตอนดูประกวดนางงาม ผมก็ไม่รู้ว่าใครสวยใครไม่สวย เห็นแต่ว่ามีตาหูจมูกปากเหมือนคนทั่วไป ผิวขาวผิวคล้ำทรงผมเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ นอกจากจะอัปลักษณ์ผิดมนุษย์เสียจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสารถึงจะเห็น จากที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นอทุกขมสุขเวทนาอย่างโง่ๆ หรือไหม หรือพอจะถือว่าลด ละ การปรุงแต่งสมมุติสัจจะได้บ้าง
ตอบ: ถามในประเด็นนี้นะคะ ถ้าหากว่าอย่างนี้ต้องถือว่ายังไม่ฉลาด เพราะถ้าหากว่าจิตที่ฉลาดนี่นะคะ มันรู้ มันไม่ใช่อทุกขมสุขเวทนา คือจิตที่มีเช่นนั้นเองนี่นะคะ มันรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วมันก็อยู่เหนือ อยู่เหนือการที่จะไปยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นมันจึงรู้ อ้อนี่สวย ก็รู้ว่าสวยแต่ว่าจิตไม่เข้าไปยึดมั่น น้ำหอมกลิ่นนี้หอมดี ก็รู้ว่าหอมแต่ไม่ไปยึดมั่นจนเกิดความอยากจะเอา หรือว่าเหม็นก็รู้ว่ามันเหม็น สกปรกก็รู้ว่าสกปรกแต่ไม่ไปยึดมั่นที่จะไปเป็นทุกข์เดือดร้อนกับมัน จิตอย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นจิตฉลาด แต่ส่วนอทุกขมสุขเวทนานั้น คือความรู้สึกที่ไม่แน่ใจ แล้วก็อันนี้อาจจะเป็นด้วยว่ามีบางคนบางท่านนี่ใช้เรียกอทุกขมสุขเวทนาว่ามันอาจจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกเหมือนกับอุเบกขาซึ่งไม่อยากใช้ อยากจะแยก ถ้าเป็นอุเบกขาละก็ มีความรู้ คือมีความรู้เพราะว่าจิตมันพร้อมไปด้วยสติสมาธิปัญญา มันเป็นจิตที่สงบหนักแน่นมั่นคงและก็ใสกระจ่างพร้อมด้วยปัญญา มันจึงรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด อะไรสวย อะไรงาม อะไรขี้เหร่ มันรู้แต่มันวางเฉยไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น แต่อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่รู้ ไม่รู้แน่ว่ามันคืออะไร ก็เพราะความเขลาไง มีความเขลาอยู่ จึงไม่รู้แน่ ไม่ใช่ ไม่ใช่ว่าเห็นสมมุติสัจจะ แล้วก็ละสมมติสัจจะ เพราะว่าถ้าจิตที่ฉลาดจริง จะรู้ทันทีว่านี่คือสมมติสัจจะ และก็รู้รู้ชัดเจนแต่ไม่เข้าไปวุ่นวายกับมัน แต่เมื่อถึงเวลาจะต้องทำอะไรเกี่ยวข้องก็ทำอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้นเข้าใจใหม่ให้ถูกต้องนะคะ ส่วนเรื่องปฏิจจสมุปบาทจะไว้พูดต่อไป คำถามที่ยังเหลือนี้ก็ยังขอเก็บเอาไว้ตอบในวันพรุ่งนี้นะคะ
คำถาม: อยู่ในสถานที่ที่ไม่สามารถจะทานมังสวิรัติได้ ควรทำอย่างไร
ตอบ: มังสวิรัติก็ถือว่าคืออาหารที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ อันนี้ก็อาจจะเกิดจากความรู้สึกที่ว่าไม่อยากจะเบียดเบียนสัตว์ นั่นอย่างนึง อีกอย่างนึงก็อาจจะเป็นด้วยมีความรู้ว่าการที่บริโภคเนื้อสัตว์ แล้วก็สัตว์นั้นเลี้ยงโดยใส่อะไรต่ออะไรลงไปเพื่อให้มันเจริญเติบโตซึ่งเป็นเรื่องของทางวิทยาศาสตร์นะคะ แล้วก็การฆ่าสัตว์ การที่จะทำความสะอาดสัตว์ก็ไม่สู้จะสะอาดจะเป็นบ่อเกิดของเชื้อโรคได้ นี่ก็อีกอย่างนึงที่เป็นเหตุทำให้ไม่อยากรับประทาน นอกจากนั้นบางคนก็ไม่เหมาะกับร่างกาย ก็เลยถือว่าอาหารมังสวิรัตินี้คืออาหารที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์น่าจะเป็นประโยชน์น่าจะเหมาะ ทีนี้ถ้าพูดถึงในทางพระพุทธศาสนาจำเป็นไหมที่จะต้องรับประทานอาหารมังสวิรัติ คำตอบก็อยากจะตอบว่า รับประทานอาหารอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย คือรับแล้วไม่ทำให้เป็นโทษแก่สุขภาพก็ควรจะรับประทานอาหารนั้นได้ แต่ถ้าเราสามารถจะเลี่ยงอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ที่เรารู้แน่ว่าการเลี้ยงดูและก็การฆ่าก็ไม่สะอาดก็ควรจะเลี่ยงเสีย และเพราะเหตุว่ามันจะเป็นทางที่จะนำเชื้อโรคมาสู่ เดี๋ยวนี้ก็มีคำว่าอาหารสุขภาพก็คืออาหารที่รับประทานแล้วเหมาะแก่ร่างกาย โดยอาจจะมีเนื้อสัตว์บ้าง แต่เนื้อสัตว์นั้นก็จะเป็นเนื้อสัตว์ที่แน่ใจว่ามันสะอาดและก็มันเกิดประโยชน์ได้ ฉะนั้นในทางธรรมะนี้จะถือว่าเรารับประทานอาหารแต่เราไม่เจาะจงอาหารนั้นเป็นอะไร เหมือนอย่างที่ปัจเวกขณ์เวลารับประทานอาหารนั่นน่ะ คือไม่ถือว่าอาหารนั้นเป็นอะไรแต่ถือว่ามันเกิดประโยชน์เพื่อเลี้ยงร่างกาย
คำถาม: คำถามต่อไป จิตตื่นหมายถึงอะไร และยังมีความคิดรบกวนหรือไม่
ตอบ: คำว่าจิตตื่นในที่นี้นะคะ ถ้าเป็นตื่นในทางธรรมก็เป็นจิตที่ว่องไว อยู่ด้วยสติสมาธิปัญญา มีความหนักแน่นมั่นคง แล้วความคิดก็ไม่มารบกวน หมายถึงความคิดที่ไร้สาระ ที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีประโยชน์ จิตตื่นในทางธรรมมีความหมายอย่างนี้
คำถาม: ทำอย่างไรถึงจะแยกว่าเป็นความรู้สึกตามลมหายใจหรือเป็นความรู้สึกตามธรรมดาคือของประสาทในหลอดลมทางเดินหายใจที่รู้สึกว่าลมหายใจผ่านไปตามปกติ
ตอบ: ความรู้สึกที่ว่าตามลมหายใจหมายความว่าเป็นความรู้สึกที่เราสัมผัสแล้วก็รับรู้นะคะ เรารับรู้ว่าลมหายใจกำลังผ่านเข้าผ่านออก นี่คือความรู้สึกที่เราหมายถึงความรู้สึกในการปฏิบัติอานาปานสติ การที่เรามีความรู้สึกตามธรรมดาของประสาทในการทางเดินของหายใจนั่นก็เป็นความรู้สึกในทางร่างกาย เราก็รู้ว่าหัวใจต้องทำงานอย่างนี้แล้วก็ทางเดินของลมหายใจเป็นอย่างนี้ แต่เมื่อเราเพิ่มความรู้สึกรับรู้เข้าไปอีกด้วย การรับรู้นี้ก็จะทำให้สติเกิดขึ้น ซึ่งตรงกับความหมายที่เรามาฝึกสมาธิเพื่อให้จิตนี้พร้อมอยู่ด้วยสติสมาธิและก็เกิดปัญญาตาม
คำถาม: การแก้ไขนิวรณ์หลายๆ ชนิดจะทำอย่างไร
ตอบ: นี่หมายความว่า ผู้ถามเข้าใจว่านิวรณ์มันจะมากลุ้มรุมพร้อมกันทั้งสามชนิดห้าชนิด ไม่เป็นอย่างนั้นนะคะ ถ้าเราสังเกตมัน เราจะเห็นว่ามันจะเข้ามาทีละอย่างๆ ทีนี้อย่างไหนเข้ามาจะแก้อย่างไร เมื่อเช้าก็ได้ชี้แจงไปบ้างแล้ว อยากจะขอให้ลองไปปฏิบัติดูก่อนนะคะ แล้วก็ปฏิบัติจริงๆ ที่นี้เมื่อพอเรารู้สึกว่า เราจะแก้นิวรณ์ เช่นนิวรณ์พยาบาทหงุดหงิดอึดอัดรำคาญเราแก้มันได้ มันสงบลงไปในขณะนั้นด้วยการแผ่ความเมตตา แล้วเราก็รีบดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจ เพื่อให้จิตนั่นเป็นจิตที่มีสมาธิและก็มีสติเกิดขึ้นทันที จะได้เรียกว่าเป็นการปิดช่องว่างไม่ให้นิวรณ์ตัวอื่นเข้ามาอีก หรือเมื่อถีนมิทธะ ซึมเซาหดหู่ เราก็แก้ด้วยการดูอนิจจัง ถ้าหากว่าหดหู่เพราะสงสาร แล้วก็ลงมือทำในสิ่งที่จะช่วยได้ จิตใจก็หลุดพ้นจากถีนมิทธะในขณะนั้น ก็รีบดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจเพื่อให้จิตนี่มีสมาธิต่อไปอีก แล้วก็ปิดกั้นไม่ให้นิวรณ์เข้ามารบกวน
คำถาม: นี่ถามถึงว่า เมื่อได้ฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์เมื่อเช้านี้ ที่กล่าวว่าวิญญาณในขันธ์ห้า ไม่ใช่วิญญาณที่มีลักษณะหลุดลอยออกจากร่างเมื่อเสียชีวิต ถ้าอย่างนั้นก็ขอถามว่า วิญญาณที่ว่าหลุดลอยเมื่อตายแล้วมีไหม
ตอบ: อันนี้เป็นความเชื่อนะคะ ที่ท่านอาจารย์ท่านบอกว่าไม่ใช่วิญญาณที่มีลักษณะหลุดลอยจากร่างเมื่อเสียชีวิต ท่านพูดตามที่คนพูดกันหรือคนส่วนมากเชื่อกันอย่างนั้น ว่าพอตายแล้วก็วิญญาณออกจากร่าง และวิญญาณในที่นี่ก็จะถือเป็นวิญญาณของผู้ไม่มีชีวิตก็คือของผีปีศาจ ซึ่งวิญญาณในพุทธศาสนาจะไม่พูดถึงอันนั้น จะพูดถึงแต่ในแง่ของสติปัญญา เพราะฉะนั้นวิญญาณในขันธ์ห้าจึงหมายถึงการรับรู้ คือมันเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่มันมีคุณสมบัติในการรับรู้ ฉะนั้นวิญญาณออกจากร่างมีไหม ก็ตอบไม่ได้ว่ามีไหมเพราะยังไม่เคยเห็น เราก็ถือเอาสิ่งที่เราพิสูจน์ได้ก็คือวิญญาณที่ตามรับรู้
คำถาม: ถ้าไม่มีวิญญาณอย่างที่ว่า แล้วเมื่อมนุษย์ตายไป อะไรที่ไปเกิดใหม่
ตอบ: ก็ไม่ทราบนะว่าจะมีการเกิดใหม่ไหม ถ้ามีการเกิดใหม่ก็เหตุปัจจัยที่ทำนั่นแหละ ที่จะทำให้มีการเกิดใหม่
คำถาม: บุญบารมีที่สั่งสมข้ามภพข้ามชาติจะติดไปกับอะไร สั่งสมไว้ที่ไหนเพื่อเกิดใหม่
ตอบ: นี่ก็ตามเขาว่า เพราะฉะนั้นอันนี้ไว้ทำความเข้าใจเมื่อเราพูดกันในเรื่องของปฏิจจสมุปบาทนะคะ พรุ่งนี้เราจะเริ่มพูดกันปฏิจจสมุปบาท แล้วก็จะดูว่าการเกิดที่น่ากลัวมันคืออะไร สำหรับวันนี้ก็อยากจะตอบเพียงเท่านี้
คำถาม: นี่มีผู้ถามว่าการนอนหลับ การนอนไม่หลับเกิดจากกังวล แต่ผู้ถามเป็นคนที่ว่าถ้ากังวลจะหลับมากกว่าปกติ ก็แปลกดีนะ ตั้งใจอย่างไรก็หลับจนมากเกินไป ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร และจะแก้ไขอย่างไร
ตอบ: อันนี้รู้สึกว่าจะเป็นถีนมิทธะมากกว่า คือมีความง่วงเหงาหาวนอนอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นก็เลยหลับง่าย หลับสบาย หลับเก่ง แต่คงจะไม่ใช่เพราะกังวล ถ้ากังวลแล้วล่ะก็มันไม่หลับ เพราะมันมีความห่วง ความระมัดระวังความคิด กลัวมันจะหายไป
คำถาม: คำถามต่อไปให้อธิบาย อตัมมยตา
ตอบ: เอาไว้ขออธิบายทีหลังนะคะ อตัมมยตา
คำถาม: ก ข ก กา ทางพุทธศาสนาที่ท่านอาจารย์พูดหมายถึงอะไร
ตอบ: ก็หมายถึงสิ่งที่เป็นเบื้องต้นที่จะต้องศึกษาในหลักธรรมของพุทธศาสนา นั่นก็คือเรื่องของธาตุ ขันธ์ อายตนะเหล่านี้ เราถือว่าเป็นก ข ก กา คือเป็นสิ่งที่ควรจะรู้เป็นสิ่งแรกในพุทธศาสนา
คำถาม: การทำงานที่ต้องใช้สมาธิมากๆ เช่น อ่านหนังสือเตรียมสอบ ควรเอาใจไปจดจ่อที่ลมหายใจหรือหนังสือ
ตอบ: ก็อยากจะแนะนำว่า ก่อนที่จะอ่านหนังสือเตรียมสอบ ก็ควรจะทำใจให้เป็นสมาธิเสียก่อน ใจอยู่กับลมหายใจพร้อมด้วยสติสมาธิ พอใจสงบเยือกเย็นผ่องใสแล้วก็เอาใจนั้นไปอยู่ที่หนังสือ หรือพูดง่ายๆ ก็คือว่าทำใจให้เป็นสมาธิจดจ่ออยู่ที่หนังสือ
คำถาม: คำถามต่อไปถ้าเราอยากหลุดพ้นจากทุกข์ ถ้าหากต้องมีชีวิตคู่ จะหลุดได้หรือไม่
ตอบ: ถ้าต้องมีชีวิตคู่ จะหลุดได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อเรามีคู่ เรามีความผูกพันในคู่หรือเปล่า ถ้าเรามีความผูกพันยึดมั่นในบุคคลที่เป็นคู่ชีวิตว่าเขาเป็นของเรา เขาต้องเป็นของฉัน ถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้แล้วละก็ จิตนั้นก็ไม่มีความสงบเพราะฉะนั้นหลุดพ้นไม่ได้ แต่ถ้าเราถือว่าการมีชีวิตคู่ มันเป็นหน้าที่ หน้าที่ของมนุษย์อย่างหนึ่ง แล้วก็ถ้าเราเป็นผู้ชายเราก็ทำหน้าที่ของผู้ที่เป็นสามีให้ถูกต้องที่สุด สามีที่ดีควรจะเป็นอย่างไรทำหน้าที่นั้นให้ถูกต้อง หรือถ้าเป็นภรรยา ภรรยามีหน้าที่อย่างไร ภรรยาที่ดีจะต้องปฎิบัติหน้าที่อย่างไร ก็ปฏิบัติหน้าที่ของภรรยาที่ดีให้ถูกต้องที่สุดไม่ให้เกิดปัญหาของชีวิตคู่ แต่ในขณะที่ปฏิบัตินั้นพร้อมอยู่ด้วยสติสมาธิปัญญา เพื่อที่ว่าจะไม่ต้องมีความทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่น และก็คงดำเนินไปอย่างนี้นะคะเรื่อยๆ อย่างนี้ก็อาจจะมีหวังที่จะหลุดพ้นได้ แต่ถ้ามีชีวิตคู่แล้วเกิดความยึดมั่นถือมั่นนั่นก็กิเลสแล้ว เป็นต้นเหตุของความทุกข์ อย่างที่เราพูดกันเมื่อวานนี้
คำถาม: นี่ถามถึงเรื่องวิชาไสยศาสตร์ ที่ว่าการทำสิ่งต่างๆ ให้เข้าร่างกายคนให้เจ็บป่วยเป็นจริงไหม
ตอบ: ก็ตอบว่าไม่ทราบนะคะ เรื่องไสยศาสตร์ในการทำอย่างนี้ไม่ทราบ เพราะว่ายังไม่เคยได้มีความรู้ในเรื่องนั้น
คำถาม: การที่จะพิจารณาจนเข้าใจว่าไม่ใช่ตัวตนของเราหรือร่างกายนี่ไม่เที่ยง หรือในกรณีอื่นๆ ที่มันเป็นเช่นนั้นเอง จำเป็นต้องผ่านประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ หรือเคยพบเจอมาแล้ว จึงจะทำให้เห็นด้วยกับธรรมะในข้อเหล่านี้หรือไม่
ตอบ: ถ้าหากว่าเราได้ผ่านพบจากประสบการณ์จริง ก็จะทำให้ชัดเจนเรียกว่าประจักษ์แจ้ง แต่ถ้าเรายังไม่พบกับประสบการณ์เหล่านั้น เราฟังแล้วก็ใคร่ครวญดูด้วยเหตุด้วยผล และก็ศึกษาจากเหตุการณ์ที่ได้พบในการที่เกิดกับผู้อื่น ก็คงช่วยให้ความเข้าใจนี้พิจารณาเรื่องความไม่เที่ยงหรือความไม่ใช่ตัวตน หรือความเป็นเช่นนั้นเองค่อยๆ แจ่มแจ้งขึ้น