แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกาคุณรัญจวน : ธรรมะสวัสดีค่ะ รายการพุทธธรรมพุทธทาสในคราวนี้นะคะ เราก็จะสนทนากันในเรื่องของพุทธธรรมพุทธทาส ซึ่งก็เนื่องจากตกค้างนะคะ ในงานตกค้างที่เรายังคุยกันไม่จบ จากงานที่ได้จัดเรื่องสัปดาห์พุทธธรรมพุทธทาส ที่พูดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะนำเอาเรื่องของงานนั้นมาอวดหรือมาอะไร แต่เราจะมองในแง่ที่ว่ามันเห็นธรรมะอะไรจากในระหว่างงานนั้นบ้าง หรือจากการทำงานนั้นบ้าง ในคราวก่อนคุณจเลิศก็พูดถึงเรื่องผู้คนที่มา แล้วก็เรื่องของการที่เราฝึกทำสมาธิด้วยวิธีอานาปานสติอย่างย่นย่อที่สุด เพราะรู้ว่ามันคืออะไร วันนี้อยากจะพูดถึงอะไรต่อ
ผู้ดำเนินรายการ : อยากพูดถึงเรื่องงานที่เราจัดกันต่อสักบางเรื่องที่เรายังไม่ได้พูดให้ผู้ชมได้ฟังเลย
อุบาสิกาคุณรัญจวน : ก็อยากจะพูดถึงในเรื่องหนึ่งที่เท่ากับว่าเราได้ทดสอบว่าคำสอนของเจ้าพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาสใช้ได้จริงหรือเปล่า แล้วก็คำสอนอันนี้นี่ก็เป็นคำสอนที่ท่านได้นำมาพูดไว้หลาย 10 ปีเลย แล้วก็ปักเป็นถ้อยคำเป็นข้อความอยู่ในตาละปัดก็มี เช่น การทำงานคือการปฏิบัติธรรม การทำงานให้สนุกเป็นสุขในการทำงาน หรือการทำงานคือการประพฤติธรรม ซึ่งเมื่อฟังดูแล้วเนี่ยคงมองไม่ค่อยเห็นใช่ไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่ค่อยเห็นครับ
อุบาสิกาคุณรัญจวน : มันจะเป็นไปได้ยังไงว่างานก็ทำงานไปสิ ธรรมะก็เป็นธรรมะไปสิ จะไปเอามารวมกันได้อย่างไร แล้วเป็นไปได้หรือ ก็อยากจะบอกว่าเรามองเห็นว่าเป็นไปได้ในการทำงานคราวนี้นะคะ ในการทำงานในเรื่องของสัปดาห์พุทธธรรมพุทธทาส เพราะว่าผู้ที่มาร่วมทำงานกันเนี่ยก็มาจากที่ต่างๆ อาชีพต่างๆ กัน เป็นครูบาอาจารย์ก็มี เป็นครูบาอาจารย์ในระดับโรงเรียนก็ตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย เรียกได้มีทุกระดับเลย บางคนก็เป็นเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ของธนาคารต่างๆหลายๆธนาคาร บ้างก็เป็นหมอแพทย์ ในหลายสาขาจากโรงพยาบาลโน้นโรงพยาบาลนี้ เเล้วก็บางคนก็เป็นข้าราชการ บางคนก็เป็นคนที่ทำงานอะไรหลายๆอย่าง
ผู้ดำเนินรายการ : มาจากงานโรงแรม
อุบาสิกาคุณรัญจวน : ค่ะ ก็มี เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของทางโรงแรมก็มี คือมีมากมีหลายอย่าง แล้วก็เมื่อเวลาที่เรามารวมกลุ่มกันทำงาน ก็ไม่ได้มีความรู้จักคุ้นเคยกันมาก เพียงแต่ว่าเคยเห็นหน้ากันบ้าง เคยพูดกันบ้างหรือบางทีก็มารู้จักกัน ตอนที่เรามาร่วมงานกันนี่เอง แล้วก็มีใครๆหลายคนก็บอกว่า แหม มองดูงานเนี่ย โครงงานที่ทำออกมาเนี่ยดูมันใหญ่น่าจะต้องการคนมากเลยในการทำงาน แล้วก็เมื่อเขามาไต่ถามว่ามีคนสักเท่าไรที่ทำงานกันเนี่ย จริงๆแล้วประมาณซัก 30 กว่าคน ในที่ริเริ่มขึ้นมาตอนต้น แต่ว่าในระหว่างงานก็มีผู้ที่สนใจมาช่วยงานก็เพิ่มขึ้นอีกหลายคน แต่ถึงกระนั้นถ้ามองดูกับจำนวนกับปริมาณงานและคุณภาพของงานที่ออกมา มันไม่ได้สัดส่วนกันเลย ก็จะมองเห็นว่า คุยทำงานเนี่ยก็เดินกันคือหมายความว่าชุลมุนกันอุตลุดหัวชนกันก็มี แต่ที่ได้รับคำบอก หรือกล่าวพูดมาจากหลายคนที่มาก็คือว่า ไม่ได้พบใครหน้าบึ้งหน้างอเข้าใส่กัน หรือว่าทะเลาะวิวาทหรือว่าอะไรเกี่ยงงานกัน นี่หน้าที่ของเธอไม่ใช่หน้าที่ของฉัน รู้สึกไม่มี
ผู้ดำเนินรายการ : ผมเห็นบางคนเป็นถึงศาสตราจารย์ลงมาล้างแก้ว กวาดขยะ เทขยะก็ยังมี ซึ่งนึกไม่ถึงเลย
อุบาสิกาคุณรัญจวน : ทุกคนเลย ทำทุกอย่างเรียกว่าตั้งแต่งานกุลีมา แล้วก็ตั้งแต่แรกเริ่มหมายความว่าก่อนที่จะทำงานจริงๆ นี่ก็มีการตระเตรียมงานกันมาเป็นเวลาหลายเดือนนะ แต่ว่าก่อนที่จะถึงวันงานจริงนี่ก็ต่างคนต่างก็ยอมทำทุกอย่าง จนกระทั่งถึงวันเก็บข้าวเก็บของหลังจากที่เสร็จงานแล้วนี่ ก็จนตั้งทุ่มนึง ผู้ชายของเรามีน้อยมากในกลุ่มนี้เพราะฉะนั้นก็ผู้หญิงนี่ก็ต้องทำอะไรเกือบทุกอย่างจะใช้แรงงานอะไรก็ทำกันทั้งนั้นเลย เรียกว่าที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านเคยบอกว่า เหงื่อคือน้ำมนต์ เหงื่อคือน้ำมนต์เนี่ยก็มองเห็นขึ้นมาอีกเหมือนกันว่า ที่เหงื่อเป็นน้ำมนต์ก็เพราะว่า ในขณะที่เหงื่อออกเนี่ยไม่ได้มีใครโกรธ ไม่ได้แช่งชักหักกระดูกผีสางเทวดาว่าทำไมมาให้เราทำลำบากยากเข็ญ ทำงานหนักเหน็ดเหนื่อยเกินกำลังเพราะว่าขณะที่ทำไปก็มีความสนุกสนานเพลิดเพลิน ในการทำงานนั้นไปด้วย เหงื่อนั้นมันก็เลยกลายเป็นน้ำมนต์ แม้ว่ากลิ่นจะไม่ค่อยหอมนักก็ตาม ก็กลายเป็นน้ำมนต์ไปในตัว นี่ก็คือสิ่งที่มองเห็นว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรมเป็นไปได้อย่างนี้จริงๆ ทำไมถึงเป็นไปได้ก็เพราะว่า ในขณะที่ทำนั้นนะ เราลืม ว่างานนี้คืองานของใคร งานของเขาหรืองานของฉัน หรืองานของท่านหรืองานของเธอ มันไม่เป็นงานของใครทั้งนั้น แต่เป็นงานของพระธรรมหรือของธรรมะ ซึ่งเป็นของที่เป็นของส่วนกลางไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นทุกคนก็เมื่อรู้ว่าเราทำงานเพื่อธรรมะ เพื่อพระธรรม ไม่ใช่ทำงานเพื่อเงินเดือน เพื่อความก้าวหน้า เพื่อหลายๆขั้นของตัวเอง ก็เลยลืม ลืมความเป็นตัวในขณะนั้น ไม่ได้หมายความพวกเหล่านี้บรรลุนิพพานเป็นหลังจากตัวตน ไม่ใช่แล้วนะคะ ก็ยังมีตัวมีตนกันอยู่ แต่ในขณะที่ทำงานเนี่ยเพื่อให้งานมันบรรลุก็เลยลืม ลืมการที่จะมาเกี่ยงงานกันหรือว่าคอยมองกันว่าคนนั้นไม่ทำคนนี้ทำมาก คนนั้นทำน้อย มีแต่ช่วยกันอุตลุดไปหมด มาแต่เช้ามืด
ผู้ดำเนินรายการ : แล้วสนุกตอนไหน
อุบาสิกาคุณรัญจวน : ก็มาสนุกตอนที่ลืมตัวในการทำงาน ไม่ใช่ลืมตัวอย่างทางโลก เคยพูดแล้วใช่ไหมคะ ถ้าลืมตัวอย่างทางโลกเต็มไปด้วยความยโสโอหัง แล้วก็มักจะเหยียดหยามกัน เหยียดหยามคนอื่น แต่อันนี้เป็นการลืมตัวในทางธรรม ก็ลืมว่าฉันเป็นศาสตราจารย์ ลืมว่าฉันเป็นนายแพทย์ ลืมว่าฉันเป็นผู้อำนวยการ หรือว่าเป็นผู้จัดการ หรือว่าเป็นอะไรต่ออะไรที่ใหญ่ๆ โตๆ ลืมหมด รู้แต่ว่าอันนี้เป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันทำให้งานมันสำเร็จลุล่วงเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ส่วนรวม แก่ส่วนรวมนี่ก็แก่ทุกคนที่เราปรารถนาที่จะให้เขาได้รับผล โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นใคร จะเป็นเด็กเล็ก เป็นผู้ใหญ่เป็นใครมา เราก็ปรารถนาที่จะให้เขาได้รับประโยชน์อันนี้ เพราะงั้นก็เลยเกิดความลืมตัว พอลืมตัวขึ้นเท่านั้นนะ ความที่จะเกี่ยงกันก็เลยไม่มี มีแต่จะช่วยกันให้สำเร็จลุล่วงแม้ว่าจะเริ่มงานตั้งแต่เช้ามืดก็ต้องไปเตรียมงาน แล้วกว่าจะเสร็จงานก็จนกลางคืน บางทีก็หลายๆทุ่มนะกว่าจะได้กลับมา แต่ก็ไม่มีใครแสดงความรู้สึกว่าหนักเหน็ดเหนื่อย
ผู้ดำเนินรายการ : ผมเห็นท่าทางเขาเหน็ดเหนื่อยกันนะครับ
อุบาสิกาคุณรัญจวน : ก็เหน็ดเหนื่อย แต่ว่ามันไม่เหนื่อยคือท่าทางดูมันเหนื่อย
ผู้ดำเนินรายการ : ผมเห็นก็สนุกกันใหญ่
อุบาสิกาคุณรัญจวน : ทางใจมันไม่เหนื่อย แล้วก็ได้ยินพูดกันหลายคนว่า งานนี้ดีนะ ที่ต่างจากงานอื่นอย่างหนึ่งคือว่าไม่ได้ทะเลาะกันในระหว่างทำงาน คืองานนั้นไม่ได้เกิดรสชาติเพราะการทะเลาะกัน แต่เกิดรสชาติเพราะการร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยทำงาน คำพูดที่ท่านอาจารย์เคยสอนบอกว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม ที่ผู้ที่อยู่บ้านมักจะบอกใช่ไหมว่า โอ้ย ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ฉันต้องทำงาน จะเอาเวลาที่ไหน จะไปนั่งสมาธิก็ไม่ได้ จะไปวัดก็ไม่มีเวลา ลูกหลานก็เยอะ งานการก็มาก แต่นี่เป็นตัวอย่าง ไม่จำเป็นต้องไปวัดเลย ไม่จำเป็นจะต้องหาเวลามานั่งหลับตานั่งสมาธิเท่านั้น จึงจะเรียกว่าการปฏิบัติธรรม ในขณะที่เราสามารถทำหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรมไปในตัว เพราะจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรมคืออะไร นึกออกไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ : ความหลุดพ้นหรือครับ
อุบาสิกาคุณรัญจวน : อ้า อย่าเพิ่งไปถึงจุดหมายปลายทางนะคะ เราก็อยากจะให้บรรลุถึงจุดนั้นคือความหลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร ก็หลุดพ้นจากการเป็นทาสของกิเลส หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น โดยเฉพาะก็คือ ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตน
ผู้ดำเนินรายการ : กำลังจะเรียนอาจารย์ว่า ถ้าจะให้ถึงหลุดพ้นน่าจะยาก ยิ่งไม่ค่อยปฏิบัติด้วย ยิ่งยากใหญ่
อุบาสิกาคุณรัญจวน : มันก็ยาก แต่ถ้าเราเริ่มเดี๋ยวนี้นะคะ ไม่ยาก มีหนทางที่จะดำเนินไปได้ แต่ถ้าเราไม่เริ่มเลยแล้วเราก็นึกมันว่ามันยาก มันยาก มันยาก มันก็ยากแน่ แล้วก็จนตายก็ไม่ได้พบนะคะ แต่ถ้าเราเริ่มเดี๋ยวนี้เนี่ยจะเริ่มอย่างไร ก็เริ่มที่จุดที่เรากำลังอยู่เดี๋ยวนี้ อยู่บ้านก็ปฏิบัติธรรมที่บ้าน อยู่ที่ทำงานก็ปฏิบัติธรรมที่ที่ทำงานไม่ว่าจะทำอะไรทั้งนั้น โดยถือว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม อยู่บ้านก็ต้องทำงาน ไม่มีใครที่จะไม่ต้องทำงาน อยู่ที่ไหนที่ไหนก็ต้องทำงานทั้งนั้น ไม่ว่ามากหรือน้อย ก็เอาการเริ่มต้นคือการทำงาน เมื่อกี้ถามว่าการปฏิบัติธรรมเนี่ยคืออะไร เพื่ออะไร จุดหมายปลายทาง หรือว่าจุดหมายสูงสุดก็คือเพื่อความหลุดพ้น หรือบรรลุถึงนิพพานอันแท้จริงก็คือหมายถึงความเย็นสงบที่ถาวร ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงอีก ที่เราจะเรียกว่าเป็นนิพพานที่แท้จริง ก็เป็นเป้าหมาย เป็นจุดหมายที่เราอยากจะเอื้อมถึงนะคะ หรือที่เรียกว่าเป็นความฝันอันสูงสุดของชาวพุทธก็ได้ นั่นเราตั้งเป้าหมายเอาไว้ แล้วเรารู้ว่านี่คือจุดหมายที่เราจะเดินไปสู่ แต่ทีนี้ขณะที่เรายังเดินไปไม่ถึง แล้วเราก็มาครุ่นคิดบอกตัวเอง อุ๊ย ไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้ มีประโยชน์อะไร มีแต่จะทำให้ตัวทุกข์ เศร้าหมอง แล้วก็หมดกำลังใจ แทนที่จะไปนึกอย่างนั้น เราก็เริ่มฝึกตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นจุดมุ่งหมายของการเข้ามาปฏิบัติธรรมเบื้องต้นที่มองเห็นทีเดียวก็คือให้ใจสบายใช่ไหมคะ ให้ใจเราสบาย ให้ใจเราสบายเยือกเย็นผ่องใส เพราะเรารู้ว่า ที่เราทำอะไรต่ออะไรทุกวันนี้ มันวุ่นวายจริงๆเลย ชุลมุนไปหมดเลย ถ้าใจมันวุ่นวาย จะเอาให้ได้เอาโน่นเอานี่ให้ได้อย่างงี้อย่างงั้น พอไม่ได้เข้า ใจมันก็หม่นหมองขัดเคืองโกรธเกรี้ยวต่างๆนานา แล้วเราก็รู้ว่า เราก็ยิ่งหนักขึ้นทุกทียิ่งเหน็ดเหนื่อยขึ้นทุกที จนไม่มีแรงอ่อนเปลี้ย บางคนก็หันเข้ามาปฏิบัติธรรม เพราะคิดว่าธรรมะจะช่วยได้ นี่แหละ ตรงนี้แหละ ถ้าเราบอกว่า จุดหมายที่เข้ามาสู่หนทางธรรมก็เพื่อให้จิตใจสบายขึ้น แล้วเราจะเอาสบายด้วยการฝึกที่ไหนคะ ก็ฝึกที่การทำงาน แล้วก็ฝึกการทำงานของเราเนี่ยแหละนะคะ
ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์พูดว่า ธรรมะเป็นเรื่องของพื้นๆ ต่ำๆ ไม่ใช่ของของสูงอย่างที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้าง
อุบาสิกาคุณรัญจวน : อ่าธรรมะไม่ใช่ของสูง ไม่ใช่ของต่ำ ธรรมะเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติที่เรามีอยู่แล้วอะไรบ้างละเป็นธรรมชาติ ดินนี่ก็ธรรมชาติใช่ไหม พื้นดิน แผ่นดินนี่ก็ธรรมชาติ ท้องฟ้าซึ่งอยู่สูงๆก็ธรรมชาติ เห็นไหมคะ ยอดเขาก็ธรรมชาติ ตีนเขาก็ธรรมชาติ เพราะฉะนั้นธรรมะนี่คือธรรมชาติ ไม่มีสูงไม่มีต่ำ เป็นสิ่งที่เราเนี่ย เราทั้งหลายคือมนุษย์ทุกคนคลุกเคล้าอยู่กับธรรมะตลอดเวลา เพียงแต่เราไม่รู้ว่ามันคือธรรมะ เราก็เลยไปยึดโน่นยึดนี่ตามสมมติ ตามที่เรากำหนดกฎเกณฑ์เอา ว่าจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วพอไม่เป็นอย่างโน้นอย่างนี้เราก็เป็นทุกข์ไป นี่แหละ เพราะความที่เราไม่รู้จักว่าธรรมะคืออะไร ถ้าเรารู้ว่าธรรมะคือธรรมชาติ คือสิ่งที่เราต้องพบ ต้องเห็น ต้องหยิบ ได้ยิน ต้องสูดกลิ่น ต้องกระทำอยู่ทุกวันเนี่ยต้องข้องเกี่ยวอยู่ทุกวัน อันนี้คือธรรมะ เราก็จะรู้จักปรับจิตของเรา ให้เข้ากับธรรมะที่เป็นธรรมชาติ แล้วก็จัดจิตให้เป็นความสุขได้ ทีนี้เราก็เริ่มด้วยการเปิด ด้วยการทำงาน ทำงานเพราะเหตุว่า ชีวิตนี้มันคือการทำงาน ที่เราจะต้องทำ เราหนีไม่พ้น ฉะนั้นในการทำงานเนี่ย ถ้าเราฝึกให้มองเห็นเสียว่า งานนี่ ก็คือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องปฏิบัติ เพราะฉะนั้นเมื่อต้องปฏิบัติก็ปฏิบัติให้เต็มที่ เต็มฝีมือ เต็มความสามารถ อย่างที่เราเคยพูดกันมาหลายครั้งแล้ว อย่างดีที่สุดโดยไม่ต้องตั้งตัวเองว่าเป็นฉันทำ ยาก ยากมากเหลือเกิน
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่ตั้งตัวเองว่าเป็นฉันทำ หมายความว่า
อุบาสิกาคุณรัญจวน : ให้มันมีแต่การกระทำ ถ้ามีแต่การกระทำ อะไรมาทำ อะไรมาทำ อะไรมาทำ ถ้าฉันทำแล้วก็ บางคนก็กำหนดไว้ งานอย่างนี้ถึงจะเป็นงานเหมาะสมแก่ฉัน งานอย่างนี้ต้องเหมาะแก่คนนั้น งานนี้ต้องเหมาะแก่คนโน้น แล้วก็เพราะฉันกำหนดกฎเกณฑ์เอาไว้ แล้วพองานอย่างนี้ไม่ใช่ แม้จะมีอะไรวางเรียงเกะกะก็ไม่ยอมหยิบไม่ยอมจับ นั่นแหละคือการกำหนดว่าฉันทำอย่างนี้
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าอย่างนั้นก็เป็นการก้าวก่ายคนอื่นเขาสิครับ
อุบาสิกาคุณรัญจวน : เปล่า อันนี้หมายความว่า
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าเราไม่กำหนด
อุบาสิกาคุณรัญจวน : ค่ะคือคำว่ากำหนดเนี่ยนะ กำหนดในที่นี้คือเราต้องกำหนดขอบข่ายของความรับผิดชอบนี่พูดถึงในวงการงาน มันมีขอบข่ายของความรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ที่พูดเมื่อกี้นี่ เพื่อจะชี้ว่าคนบางคนเนี่ยเขากำหนดว่าฉันเป็นคนหัวหน้า ถ้าหากว่าจะยกตัวอย่างให้ชัดๆ ฉันนี้เป็นหัวหน้าผู้อำนวยการกอง งานอย่างนี้จึงจะเหมาะแก่คนที่ดำรงตำแหน่งนี้ ถ้างานอย่างนี้มันของเสมียนทำไม่ได้ งานอย่างนั้นมันของภารโรง ทำไม่ได้ แต่อันที่จริงแล้วละก็ เมื่อถึงเวลาขาดขึ้นมา เสมียนไม่มา ภารโรงไม่มา หัวหน้ากองผู้อำนวยการก็กวาดได้ หรือว่าเดินหนังสือได้ ร่างหนังสือได้ พิมพ์ดีดได้ ถ้าเราพิมพ์ดีดเป็น เนี่ยคือหมายความว่า คนที่ทำงานเพื่องาน ไม่ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ แต่ถ้าสมมุติเรากำหนดกฎเกณฑ์ว่าฉันเป็นผู้อำนวยการกอง ฉันจะต้องทำงานอันนี้เท่านั้น ถ้าวันนั้นภารโรงก็ไม่มา เสมียนก็ไม่มา หัวหน้าแผนกก็ไม่มา ผู้อำนวยการกองทำไง นั่งอะร้าอร่าม เลิ่กลั่กเลิ่กลั่ก แล้วก็โมโหโทโส ตึกตักตึกตัก กลายเป็นตัวตลกไป ใครผ่านมาเขาก็ต้องขันว่านี่มันอะไรกัน เนี่ยมันคือแสดงอย่างนี้ แต่ขอบข่ายความรับผิดชอบเนี่ยมันจะต้องมี ว่าใครจะรับผิดชอบอะไรเพื่อไม่ให้เกิดการก้าวก่ายสับสนกันจนเกินไป แต่ถ้าหากว่าในการทำงานนั้นเราลืมตัวเสีย เราก็จะช่วยงานทั้งหมดจะทำงานทั้งหมดเพื่อให้สำเร็จลุล่วงไป แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปช่วยเขาทำ จนกระทั่งปล่อยให้คนบางคนขี้เกียจสันหลังยาวไปเลย ก็ไม่ใช่ ถ้าหากว่าทำงานโดยมีธรรมะก็จะรู้ว่าขอบข่ายของความพอดี ความเหมาะสมของการทำงานว่าควรจะแค่ไหน และควรจะแนะนำตักเตือนบอกกล่าวเพื่อนฝูงคนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไรก็ตาม
ผู้ดำเนินรายการ : แต่ตรงตักเตือนอันนี้รู้สึกน่ากลัว ไม่มีใครกล้าเตือนใครกัน
อุบาสิกาคุณรัญจวน : ถ้าหากว่าเราอยู่กันโดยธรรม เราก็เตือนกันได้ เราก็บอกกันได้ ก็ไม่แปลกอะไร แต่หากว่าเราไม่ได้เคยที่จะฝึกการอยู่กันโดยธรรม ก็ตักเตือนกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นอันเนี้ยเราก็เรียกว่า ถ้าหากว่าเรารู้แล้วว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรมคือด้วยวิธีการแบบนี้แล้ว แล้วเราก็ใช้การทำงานในชีวิตของเราเนี่ยเป็นที่ฝึกหัดการปฏิบัติทางจิต จิตของเราก็จะมีความว่าง เย็นสบายมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนนี้มันจะฮึดฮัดฮึดฮัด ดูอันนั้นดูอันนี้ที่จะให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่เราต้องการ แต่พอไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ เราก็เกิดความไม่พึงพอใจ แล้วเกิดความทุกข์ขึ้น แต่พอเราหันมาฝึก เอาการทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม แล้วมันก็มีความสนุก สนุกเพราะเหตุว่า ใจมันไม่ทุกข์ ทำแล้วมันไม่เกิดความทุกข์ ไม่เกิดความทุกข์เพราะว่าเราไม่ไปหวัง ว่าการงานเนี่ยต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ทำให้ดีที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์เสียเลย มันก็ต้องมีกำหนดกฎเกณฑ์บ้าง มีเป้าหมายบ้าง แต่ถ้าทุกคนที่ร่วมงานกันทำโดยธรรม ทุกคนก็จะช่วยกันเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ฉะนั้นอันนี้คือการทำงานคือการปฏิบัติธรรมแล้วก็สามารถจะทำได้
ผู้ดำเนินรายการ : การทำงานโดยธรรม พอเหมาะพอดี อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าพอเหมาะพอดีครับท่านอาจารย์
อุบาสิกาคุณรัญจวน : พอเหมาะพอดีนั้นยากนะคะ คือความพอเหมาะพอดีก็คงเคยได้ยินและที่หมายถึงมัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาก็คือไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป ก็อีกนั่นแหละ อะไรไม่มากเกินไปเพราะมากสำหรับคนนี้ อาจจะน้อยสำหรับคนโน้น น้อยสำหรับคนนี้อาจจะมากสำหรับคนนั้น เพราะฉะนั้นก็มีว่าความพอเหมาะพอดีหรือมัชฌิมาปฏิปทาที่เป็นทางสายกลางก็คือว่า เมื่อทำแล้วมันไม่เป็นทุกข์ มันไม่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้น แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่มันเป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งตัวผู้กระทำ แต่ไม่เป็นทุกข์ในที่นี้ก็ต้องรู้อีกว่า ความไม่เป็นทุกข์อันนั้นเนี่ย เกิดขึ้นเพราะมองเห็นประโยชน์ของงานที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะว่าไม่เป็นทุกข์เพราะตัวเองได้รับผลประโยชน์มาก มากกว่าคนอื่นเขา ก็เลยไม่เป็นทุกข์ สนุกสนานพอใจ ไม่ใช่อย่างนั้น นี่ไม่เป็นทุกข์เพราะมองเห็นและประโยชน์เกิดขึ้นแก่หลายฝ่าย รวมทั้งตัวเองผู้ทำก็มีความพอใจ ในการกระทำนั้นด้วยฉะนั้นในขณะที่ทำแล้วเนี่ย เจ้าประคุณท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านใช้คำอันหนึ่งว่า ความรู้สึกนั้นมันไม่มีบวกไม่มีลบเข้าใจไหมคะ บวกก็คือตื่นเต้นขึ้น ถ้าลบมันก็ลงลง มันตื่นเต้นลง คือไม่มีความรู้สึกที่ว่าได้หรือเสีย ไม่มีตื่นเต้น ไม่มีบวกไม่มีลบ มีแต่ความพอใจที่ได้กระทำ มันมีการกระทำ ฉะนั้นมัชฌิมาปฏิปทาของพระพุทธเจ้าเนี่ยจึงไม่ใช่ทางที่ตึงเกินไป หรือหย่อนเกินไป ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไปไม่ใช่ทางที่เป็นทางสายกลาง เป็นทางสุดโต่งทั้งสองข้าง เพราะฉะนั้นผู้ที่หวังความสงบ หวังความเย็นความสบาย จึงควรที่จะรู้จักเดินตรงกลาง ไม่สุดโต่งเกินไป ทั้งสายใดสายหนึ่ง อันนี้ที่เรียกว่าโดยธรรม แล้วถ้าหากว่าเราฝึกปฏิบัติไป แล้วเราก็เรียนธรรมะข้ออื่น อย่างเช่น สัปปุริสธรรม 7 นั่นล่ะ ลองไปศึกษาดู สัปปุริสธรรม 7 มีปรากฏอยู่ในหนังสือธรรมะหลายเล่มอย่างง่ายที่สุดก็นวโกวาทก็มีแล้ว ถ้าหากใครประพฤติตามหลักของสัปปุริสธรรม 7 หรืออริยมรรคมีองค์ 8 ผู้นั้นย่อมจะสามารถเดินทางสายกลางได้เสมอ คือหมายความว่าไม่เสมออย่างสม่ำเสมอแต่ว่าจะรู้จักอยู่มาทางสายกลางมากขึ้นมากขึ้นทุกทีและจิตใจก็จะว่างเย็นสบายมากขึ้นตามลำดับ
ผู้ดำเนินรายการ : นี่ก็เป็นการทำงานโดยธรรม
อุบาสิกาคุณรัญจวน : การทำงานโดยธรรม แล้วก็เรียกว่ามีความสนุกในการทำงาน และการทำงานนั้นก็เลยเป็นการประพฤติธรรมไปในตัว เพราะฉะนั้นท่านผู้ชมที่คิดว่าไม่มีเวลาจะปฏิบัติธรรมนะคะ ก็อย่าห่วงนะคะ นี่แหละคือทำใจให้สนุกในการทำงาน เลิกบ่น เลิกว่า เลิกน้อยเนื้อต่ำใจ เลิกวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น แต่มีกำลังความสามารถสติปัญญาเท่าไร ทุ่มเทลงไปในการทำ แล้วก็จะมีความสุขในการทำงาน แล้วจะรู้สึกว่าชีวิตนี้มีคุณค่ายิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถภูมิใจในตนเอง เคารพในตนเองได้ ตอนนี้แหละ ชีวิตมันมีความสุขจริงๆ
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่ต้องอ้อนวอนขอพรจากใคร
อุบาสิกาคุณรัญจวน : การกระทำเช่นนี้คือการให้พรตัวเอง และการให้พรตัวเองนี่แหละประเสริฐที่สุดเพราะสามารถให้ได้ทุกเวลา ด้วยการกระทำเท่านั้นที่ถูกต้อง สำหรับวันนี้เวลาคงจะหมดแล้วนะคะ ขอให้ธรรมะสวัสดีจงมีแต่ท่านผู้ชมทุกท่าน แล้วก็ให้ธรรมะสวัสดีจงมีแต่ประกอบ แล้วก็จเลิศด้วยนะคะ