แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมสวัสดีค่ะ
ในรายการพุทธธรรม-พุทธทาสวันนี้นะคะ เราก็จะได้พูดเกี่ยวกับเรื่องของธรรมซึ่งคิดว่าจะเป็นที่น่าสนใจกันต่อไป ไม่ทราบว่า คุณจเลิศอยากจะพูดเรื่องอะไรคะ
ผู้ร่วมสนทนา : วันนี้อยากจะให้ท่านอาจารย์ได้พูดถึงงานสัปดาห์พุทธธรรม-พุทธทาส ซึ่งเราเพิ่งจัดเสร็จไปนะครับว่า มีหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง ซึ่งท่านผู้ชมหลายท่านที่ได้จดหมายเข้ามาบอกว่า ไม่สามารถมาชมงานของเราได้ มีสิ่งที่น่าสนใจอะไรบ้าง ที่อยากจะเล่าให้ผู้ชม ที่ไม่มีโอกาสมาชมนิทรรศการของเราได้ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ที่จริงงานสัปดาห์พุทธธรรม-พุทธทาสนะคะ ก็เพิ่งผ่านพ้นไปสักประมาณอาทิตย์นึง แล้วก็มีท่านผู้ชมเชื่อว่าส่วนใหญ่ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็ได้สละเวลาไป คุณจเลิศเองก็ไปในงานนั้นมีความรู้สึกอย่างไรบ้างคะ จากความรู้สึกที่ได้ไปในงานนั้น
ผู้ร่วมสนทนา : ความรู้สึกในแง่ของข้อมูลหรือในแง่ของ??
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เท่าที่มองเห็นสภาพในงานนั้น ถ้าจะถามก็อาจจะถามว่า มีอะไรน่าประทับใจบ้างหรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา : ประทับใจในประวัติของท่านอาจารย์พุทธทาสที่เอามาแสดงส่วนหนึ่งนะครับ แล้วก็ประทับใจในผู้คนที่ไปร่วมงาน ใบหน้าที่ผมเห็นส่วนใหญ่ผู้คนก็อิ่มเอิบมีความสุขขณะที่ตัวเราเองไปแล้วเราก็แบกความทุกข์ไป แล้วพอไปเห็นหน้าคนอื่นเขาก็รู้สึกมีความสุขและได้สนทนาธรรมได้ถามปัญหาต่างๆ ที่เราอยากจะรู้หลายๆ อย่าง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะก็คล้ายๆ อย่างที่คุณจเลิศว่า คือเมื่อเวลาที่เราจัดงานสัปดาห์พุทธธรรม-พุทธทาส เราก็ไม่ได้นึกว่าจะมีผู้สนใจมากถึงแค่นี้ แต่แล้วก็ปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจมาก ตั้งแต่วันแรกนี้ก็เรียกว่าแน่น แล้วพอวันต่อๆ มาเนื่องจากว่าเป็นวันทํางานก็ลดน้อยลงบ้างแต่ก็ไม่เหงาเรียกว่าไหลไปมากันเรื่อยๆ และในวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเสาร์ก็มีผู้คนไปมากอีกเหมือนกัน ไม่ทราบประกอบได้ไปหรือเปล่า น่าเสียดายนะคะ อยู่แค่นี้ไม่ได้ไป คุณจเลิศยังได้ไปตั้งหลายหนเลย ทีนี้ก็ถ้าไม่ได้ไปก็ต้องฟังมากๆ หน่อย ประกอบเผื่อปีหน้าฟ้าใหม่ ถ้ามีการจัดก็จะได้ไปกับเขาบ้าง
ที่น่าสนใจก็ที่ว่าคนมาในงานนี้ทุกหมู่ทุกเหล่าจะบอกว่าผู้ใหญ่มามาก หรือเด็กมามากหรือว่าผู้เฒ่าผู้แก่มามากตอบไม่ได้มากันมากหมดทั้งนั้นเลย เพราะว่าเด็กๆ เราก็มีมุมเด็กที่เราจัดไว้ให้เด็กมาฟังนิทาน มาเขียนภาพ มาตอบปัญหาแล้วเด็กๆ เขารู้สึกว่าเขามีอิสระมากในมุมนั้นเขาจะทําอะไรๆ ก็ได้ตามใจค่ะ ก็เรียกว่าเด็กในชั่วระยะเวลาหนึ่งๆ เป็นหลายๆ สิบ วันหนึ่งก็เป็นร้อย ๆ เฉพาะเด็กเล็กๆ นะคะ แล้วก็ยังเด็กโตซึ่งมาตอบปัญหาธรรมซึ่งไปนั่งฟังเด็กเขาตอบปัญหาธรรมไม่น่าเชื่อว่า เด็กวัยรุ่นของเราหลายคนที่สนใจจริงๆ นี้ ตอบปัญหาธรรมได้อย่างฉะฉาน แล้วก็ปัญหาธรรมในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า เจ้าชายสิทธัตถะเกิดเมื่อไหร่หรือว่าพระราชบิดาทรงพระนามว่าอะไร ไม่ใช่คําถามอย่างนั้น แต่เป็นคําถามที่ถามถึงเรื่องของความหมายของธรรมที่เขาจะเข้าใจได้แล้วก็นําไปใช้ได้ในชีวิตจริง
อย่างเช่นทําไมถึงต้องปรึกษาพระพุทธเจ้าก่อน เวลาทําอะไรต่ออะไร ทําไมถึงต้องปรึกษาพระพุทธเจ้าก่อน หมายความว่าอะไร หรือว่าตายสักก่อนตาย หมายความว่าอะไร นิพพานที่นี่แล้วเดี๋ยวนี้ ซึ่งส่วนใหญ่นี้นะคะ ก็จะบอกว่าไม่ค่อยเข้าใจ แต่ว่าเด็กๆ หลายคนก็ตอบได้ดีทีเดียว นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และที่ว่าคนมาชมงานกันมากนี้ แล้วก็ทุกหมู่ทุกเหล่าก็ทําให้น่าแปลกใจ คุณจเลิศนึกไหมว่า ทําไมจึงไปกันมาก
ผู้ร่วมสนทนา : อาจจะเพราะว่าเราต้องการ คือเราขาด ขาดความสุข ส่วนหนึ่งต้องการแสวงหาอะไรเข้ามาชดเชยตัวเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อาจจะเป็นไปได้
ผู้ร่วมสนทนา : อาจคิดว่าธรรมอาจจะเป็นทางออก สําหรับเราได้ทางหนึ่งก็ไปกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ทั้งๆ ที่งานนั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะเรียกว่าชวนให้รื่นเริงสนุกสนานอย่างทางโลก ร้องระบำทําเพลงอะไรก็ไม่มีให้ฟังไม่มีให้ดู นอกจากเปิดเพลงธรรมเป็นระยะๆ ก็เป็นเพลงในชุดที่ท่านผู้ชมได้ฟังอยู่นี้ ที่เริ่มต้นก็ด้วยเพลง “ลอยธรรมมาลัย ที่มีชื่อว่า อุทิศนา” แต่คนก็ไปกันมากเห็นจะเป็นด้วยว่า มนุษย์เราทุกวันนี้ปรารถนาจะหาความเย็นใช่ไหมคะและอยากได้รับความเย็น ทั้งๆ ที่แอร์คอนดิชั่นนี้มีเพิ่มมากขึ้นเยอะเลย แม้แต่รถแท็กซี่เกือบจะไม่พบว่าคันไหนที่ไม่มีแอร์คอนดิชั่น นี่ก็เรียกว่าถ้าจะเอาความเย็นทางกายนี้ดูเหมือนจะหาได้ทุกหนทุกแห่ง แต่ก็ยังอุตส่าห์ไปที่ศาลาพระเกี้ยว ซึ่งเป็นที่แสดงนิทรรศการ แล้วก็มีพระภิกษุมานั่งธรรมสากัจฉาคือสนทนาธรรมด้วยกันแล้วก็มีมุมเด็ก
นอกจากนั้นก็มีการสวดมนต์ทําวัตรและนั่งสมาธิ ซึ่งน่าแปลกไปกันเยอะ แล้วศาลาพระเกี้ยวค่อนข้างจะร้อนเพราะไม่มีแอร์คอนดิชั่นแล้วก็การถ่ายเทของอากาศก็ไม่ค่อยจะคล่องแคล่วนัก ก็จัดว่าร้อนแต่คนก็เข้าไปกันมากมาย
นี่เป็นเครื่องแสดงได้ไหมคะว่า ความร้อนทางกายนี้ไม่สําคัญเท่ากับความร้อนทางใจ ฉะนั้นที่เขาไปกันนั้นเขารู้ว่าแม้ทางกายนี้มันจะไม่เยือกเย็นผ่องใส เหมือนกับนั่งอยู่กลางทุ่งนาหรือนั่งอยู่ในรถที่มีแอร์คอนดิชั่นอากาศทางกายร้อน แต่เมื่อเขาได้ดูอะไรรอบๆ ตัวนะคะ แล้วก็ได้สนทนาธรรมกับพระภิกษุ หรือว่าได้ดูนิทรรศการของธรรมที่ให้ข้อคิดอะไรต่างๆ นี้ มันคงจะช่วยทําให้ใจเขาเย็นขึ้นก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่รู้สึกถึงความร้อนที่มาสัมผัสกายเพราะในขณะที่กายได้รับความร้อนจากอากาศตามธรรมชาตินี้ ใจมันค่อยเย็นลงเย็นลง ก็เลยทําให้มีความเข้าใจว่า “สิ่งที่มนุษย์เราต้องการมากที่สุดในเวลานี้ สิ่งนั้นคือสิ่งที่เรียกว่าธรรม” อย่างที่เราเคยพูดกันว่าธรรมเป็นปัจจัยที่เท่าไหร่ของชีวิตจำได้ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา : ปัจจัยที่ ๕
อุบาสิกา คุณรัญจวน : “ปัจจัยที่ ๕ ของชีวิต” แล้วส่วนมากก็คุ้นเคยแต่ปัจจัยที่ ๔ๆ เราใช้แต่ปัจจัย ๔ อย่าง แต่ละเลยลืมปัจจัยที่ ๕ พอมีที่ไหนหยิบยื่นปัจจัยที่ ๕ ก็เป็นเครื่องเตือนเป็นการเตือนสติให้ระลึกรู้ขึ้นมาได้ ก็พากันไปชม พากันไปดู แล้วก็ไปรับเอาสิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ซึ่งก็น่าสนใจนะคะ
นอกจากนั้นก็เผอิญคุณจเลิศไม่มีเวลาไปตอนที่นั่งสมาธิใช่ไหมคะ ธรรมนั่งสมาธิไม่ได้ไป แล้วก็การนั่งสมาธินี้เราก็แนะนํา วิธีอานาปานสติ ซึ่งคุณ จเลิศก็เคยได้ยินอยู่แล้วที่เราใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือ แล้วก็จะต้องปฏิบัติไปตามลําดับขั้นตั้งแต่ขั้นที่ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ขึ้นไปจนถึงขั้นที่ ๑๖ ซึ่งมันยาวมากนะคะ แล้วก็ต้องเรียกว่ายากและในการที่เขาสอนอานาปานสติกันนี้ มันจะต้องมีการปฏิบัติและพอสอนไปก็ต้องปฏิบัติไปใช้เวลาเป็นอาทิตย์เป็นเดือน นี่เพียงแต่พูดว่าสอนแล้วก็ปฏิบัติบ้างพอให้เข้าใจเท่านั้นก็ยังใช้เวลานาน แต่นี่เราไม่มีเวลาเพราะไม่มีเวลาที่จะสอนแล้วก็ให้ปฏิบัตินานๆ เพียงแต่ว่าบอกให้รู้ว่า วิธีทําเป็นอย่างนี้ๆ แต่ก็มีผู้สนใจติดตามแล้วก็เข้าใจวิธีปฏิบัติอานาปานสติว่า มันใช้กับชีวิตประจําวันได้ก็รู้สึกว่าสิ่งนี้ก็น่าสนใจนะคะ
ผู้ร่วมสนทนา : ไหนๆ ท่านอาจารย์พูดอานาปานสติขึ้นมาตรงนี้แล้ว ผมว่าท่านผู้ชมหลายท่านซึ่งอาจจะไม่ๆ เคยได้ยินมาก่อนเลยก็อาจจะสงสัยว่า อานาปานสตินี้หมายถึงอะไร ที่เรียกว่าการทําสมาธิโดยการกําหนดลมหายใจนั้นเป็นอย่างไรขอคำอธิบายสั้นๆ ตรงนี้เสียก่อนครับเลย ถ้ามีโอกาสเราค่อยคุยรายละเอียด
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สั้นๆ สักนิดเดียวนะคะ ก็คือว่า การที่จะทําสมาธินี้ เรามีกันได้หลายวิธี คือแล้วแต่อัธยาศัยที่จะสบอัธยาศัยของตน เช่น บางคนก็อาจจะใช้วิธีบริกรรมพุทโธเพื่อให้จิตมันยึดกับพุทโธ และในขณะนั้นก็จะช่วยให้จิตสงบได้ถ้าจิตอยู่กับพุทโธจริง หรือบางคนก็ยุบหนอพองหนอ หรือว่าเพ่งกสิณ หรือเพ่งกับศพ หรือว่าสัมมาอะระหัง อะไรอย่างนี้เป็นต้น หรือบางทีก็ใช้วิธีเคลื่อนไหว
แต่ที่เราแนะนําในระหว่างงานสัปดาห์พุทธธรรม-พุทธทาสเราใช้วิธีกำหนดลมหายใจเพราะเราหายใจอยู่แล้ว ฉะนั้นก็แทนที่เราจะใช้ลมหายใจนี้เพียงแต่หายใจเข้าหายใจออกให้ยังมีความเคลื่อนไหวมีชีวิตอยู่ เราก็ให้ใช้ลมหายใจนี้เป็นเครื่องมือที่จะกําหนดจิตลงไปๆ ทําความรู้สึกกับลมหายใจว่า เรากําลังหายใจเข้านะ หายใจออกนะ ให้รู้สึกอยู่ทุกครั้ง เพราะส่วนมากเราไม่ค่อยจะรู้สึก และในขณะที่เราไม่รู้สึก เราปล่อยมันหายใจไปเรื่อยๆ เราก็ไม่ได้กําหนดสติไม่ได้พัฒนาสติ เพราะฉะนั้นการที่จะกําหนดจิตลงไปทําความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่ากําลังหายใจเข้าหนอ กําลังหายใจออกหนอ นี่คือการพัฒนาสติอยู่ในตัว แล้วก็มีวิธีอีกมาก นี่เป็นแต่เพียงว่าการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือ เราเรียกว่าอานาปานสติ
ผู้ร่วมสนทนา : อาจารย์ได้พูดถึงว่าการใช้วิธีฝึกสมาธิ โดยวิธีอานาปานสตินี่นะครับ เป็นการพัฒนาสติของเรา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ
ผู้ร่วมสนทนา : ก็มีข้อสงสัยต่อว่า ทําไมเราต้องพัฒนาสติของเรา ปกติเราก็มีสติสัมปชัญญะดีอยู่แล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แน่ใจหรือคะๆ ว่ามีสติสัมปชัญญะดีอยู่ทุกขณะเคยเสียใจเพราะ
คําพูดของตนเอง เคยเสียใจเพราะการกระทําของตนเองบ้างไหม
ผู้ร่วมสนทนา : เคยครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : บ่อยๆ หรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา : ไม่ถึงกับบ่อย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ถึงกับบ่อย ห่างแค่ไหน
ผู้ร่วมสนทนา : ก็ แล้วแต่เหตุการณ์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วแต่เหตุการณ์ เคยเดินหกล้ม เคยเดินสะดุด เคยทำนั่นตกนี่แตก เคยบ้างไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา : เคยครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เคยลืมหนังสือวางไว้ตรงนี้ ปากกาวางไว้ตรงนั้น หายไปไหน เคยไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา : ลืมครับ แม้กระทั่งวันนี้ ยังลืมเอาจดหมายมาให้ท่านอาจารย์เลย ที่มีท่านผู้ชมเขียนมา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นี่แหละคือการขาดสติ คือคิดว่าสตินี่ มีอยู่เสมอ ไม่จริง
จริงที่เรามีสติที่จะรู้ผิดรู้ชอบนะคะ แต่ในขณะเดียวกัน สติที่จะกําหนดรู้เพื่อจะพูดให้ถูกต้อง ทําอะไรให้ถูกต้องไม่หลงไม่ลืมนั่นลืมนี่ หรือว่าสะดุดนั่นสะดุดนี้นั้นเรายังขาดอยู่ นี่คือการขาดสติ แล้วสติที่มันขาดอันนี้ เพราะเหตุว่าเราไม่ได้กําหนดจิตให้มีสติอยู่ทุกขณะ เราปล่อยมันไปไปตามเรื่อง เพราะฉะนั้นอันนี้ก็การที่เราจะนําจิตนี้มาผูกอยู่กับอะไรสักอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ให้มันล่องลอยไปแล้วก็นี่คือการพัฒนาสติให้มีความระลึกรู้ตัวอยู่ในทุกขณะ ฉะนั้นการพัฒนาสติจึงป็นสิ่งจําเป็น
ผู้ร่วมสนทนา : ไม่บ้าตายหรือครับ อยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออก ไม่ต้องทํามาหากินอย่างอื่นแล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ตรงกันข้าม เพราะว่าเราหายใจอยู่แล้วใช่ไหมคะ และในขณะที่เราหายใจอยู่นี้เราเป็นบ้าหรือเปล่าเราก็ไม่เป็นบ้า แต่ว่าตอนนี้เราทําความรู้สึกลงไปในลมหายใจนั้น เท่ากับว่าทําให้เรานี้เป็นคนตื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นคนตื่นเต้นหรือตื่นตกใจ แต่เป็นคนตื่นด้วยสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา เพราะเหตุว่าเราจะรู้สึกตัวอยู่ทุกขณะ ว่าเรากําลังทำอะไร เพราะฉะนั้นอันนี้แทนที่จะเป็นบ้ามันกลับจะยิ่งทําให้เรานี้เป็นคนรู้ที่จะกําจัดสิ่งที่จะทําให้เราบ้าออกไปได้ เป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการมากเลยก็ต้องลองทดลองทําดูนะคะ แล้วก็จะรู้ว่ามันมีคุณค่ามากเพียงใดต่อชีวิตของเรา
ผู้ร่วมสนทนา : เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วคนเรานี่ ที่บอกว่ามีสติๆ นั้น จริงๆ ก็ไม่ได้มีสติตลอดเวลา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็มีสติอยู่ตามธรรมชาติที่เรามาใช้ทําอะไรต่ออะไรในชีวิตประ
จําวันที่ให้เรารู้เราก็รู้ผิด รู้ถูก รู้ชั่ว รู้ดี โดยที่เราไม่ทําอะไรที่มันกล้ำเกินจนเกินไป แต่เราก็ทําไม่ได้ดีอย่างที่เราที่มันสมควรจะเป็น โดยเฉพาะก็คือทําให้เราต้องมาเสียใจ เศร้าใจ หม่นหมอง เพราะเกิดความผิดพลาดขึ้น ในการกระทําหรือในวาจาและมันก็เป็นเหตุให้เกิดการพิพาทกันการเบียดเบียนกัน เพราะเกิดการขัดแย้งไม่ถูกใจกันด้วยการกระทําหรือด้วยวาจานั้น แต่ถ้าเราพัฒนาสติกันอยู่นี้เราก็จะกํากับจิตหรือกํากับสติอยู่ก็จะไม่ทำให้เกิดความหม่นหมองขัดเคืองใจกันโดยใช่เหตุโดยไม่จําเป็น
ผู้ร่วมสนทนา : จะทําเมื่อไร ก็ทํา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ทุกขณะ เพราะเราหายใจอยู่ทุกเวลาตลอดเวลา ฉะนั้นเมื่อเราหายใจอยู่ตลอดเวลา ก็จงทําความรู้สึกกับลมหายใจ นี่อย่างขณะนี้หายใจเข้า ออก ไม่ต้องพูดแต่รู้สึกๆ เพราะว่าลมที่มันผ่านเข้าช่องจมูกนี้มันต้องกระทบ ต้องแตะที่ใดที่หนึ่งแค่กําหนดจุดที่มันแตะให้รู้สึกว่าพอเข้าแตะจุดนี้ พอออกจากแตะจุดนี้สมมุตินะคะ แล้วก็ทําความรู้สึกที่จุดที่มันแตะด้วยสัมผัสทุกขณะ ด้วยการลองหายใจยาวดู เพราะลมหายใจยาวนี่มันค่อนข้างจะแรงหน่อยการ กระทบมันจะได้หนักและก็จะได้จําจุดนั้นได้ง่ายๆ
ผู้ร่วมสนทนา : หายใจเข้าไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็อย่างนี้ (เสียงลมหายใจเข้ายาว) ลองหายใจดูสิเห็นไหม เรารู้ใช่ไหมคะ พอเราตั้งใจหายใจเรารู้ นี่เรียกว่าเรากําหนดสติแล้วเรารู้ว่าลมหายใจเข้าลมหายใจออก ถ้าลมหายใจที่เข้านี้ยาวด้วยแล้วไม่ใช่สั้น แล้วมันยาวอย่างนี้ยาวเริ่มต้นจากช่องจมูกเข้าไปจนถึงช่องท้องพอจะออกมันก็เป็นอย่างนี้ตามทางเดิม อย่างนี้เรียกว่าเรารู้สึกอย่างมีสติ และอย่างที่เราหายใจๆ แล้วเราก็พูดคุยไปเล่นไปหัวเราะออกไปเราไม่รู้ เรารู้แต่เพียงว่ามันหายใจไปโดยอัตโนมัติ แต่บัดนี้เราจะใช้ลมหายใจให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น เขาเรียกว่าทําความรู้สึก ไม่นึก หรือไม่คิด หรือไม่บอกตัวเองว่ากําลังหายใจนะ กําลังหายใจเข้านะ กําลังหายใจออกนะ ไม่ต้องบอกเพราะว่าต้องทําด้วยความรู้สึก กําหนดสติลงไปจนรู้สึกว่าลมหายใจกําลังผ่านเข้ากําลังผ่านออกนี่เรียกว่า วิธีอานาปานสติที่เราจะใช้กัน
ผู้ร่วมสนทนา : ประโยชน์ที่ได้นอกจากพัฒนาสติ มีอะไรบ้างครับ ท่านอาจารย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มีมากเลยค่ะ พอเราพัฒนาสติเข้าจิตมันก็สงบ พอจิตสงบนี่มันไม่วุ่นวาย มันมีความว่างมันมีความเย็น ในขณะที่จิตว่างเย็นนี่มันเป็นโอกาสถ้าเราจะคิดนะคะ เราก็จะคิดอะไรที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์ที่เกิดประโยชน์อีกมากเลย แต่ถ้าในขณะใดที่จิตมันวุ่นมันวุ่นวาย มันสับสน มันระส่ำระสายต่างๆ นี่มันตันไปหมดใช่ไหมคะ บางทีพูดอะไรก็ไม่รู้ว่าพูดอะไร แต่ไม่รู้ว่าพูดอะไร หรือบางทีที่เขาเรียกว่าพูดอย่างได้หน้าลืมหลัง ไม่ติดต่อไม่เป็นใจความ แล้วก็สับสน ในขณะนั้นนี่จิตที่มันวุ่นวายที่มันไม่ว่างเพราะมันมีอะไรต่ออะไรเข้ามาทับถมอยู่ในจิตมากมายหลายอย่างทั้งความคิด ความฟุ้งซ่าน ความทรงจํา ความเพ้อฝัน อดีต อนาคตมาปะปนกันหมด เต็มไปด้วยความกังวลเคร่งเครียด จิตในขณะนั้นเป็นจิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ และเจ้าของจิตนั้นก็ระส่ำระสายเต็มทน เพราะฉะนั้นจิตนั้นจะไม่เกิดประโยชน์กับตัวเองเลย
นี่นะคะการที่เรากําหนดจิตนี้ ในขณะที่เรากําหนดจิต กําหนดสติเอาไว้ที่ลมหายใจนี้ จิตนั้นมันก็ไม่ไปวุ่นวายที่อื่น เพราะจิตนี้มันจะทําหน้าที่ได้ในแต่ละขณะเพียงเรื่องเดียว คือในขณะหนึ่งนั้นก็ทําได้เรื่องเดียว ถ้าเราจับมัน คือกําหนดจิตมาอยู่ที่ลมหายใจเสีย จิตนี้มันก็ต้องอยู่กับลมหายใจ ความคิด ความรู้สึก อารมณ์อะไรมันจะเข้ามาไม่ได้แต่เมื่อใดที่อารมณ์เกิดขึ้น ร้อน หนาว ชอบไม่ชอบ หรือว่าจิตสบายไม่สบาย อย่างนี้เป็นต้นนี้นะคะ หรือความคิดอะไรผ่านเข้ามา แสดงว่าจิตมันหลุดจากการอยู่กับลมหายใจ มันก็อยู่กับสิ่งนั้นเสียแล้ว พอเรารู้ตัวแล้วก็ดึงมันกลับ ความคิดอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ก็หายไป จิตก็กลับว่างเย็นสบาย พอจิตว่างเย็นสบายนี้ สติปัญญาความรู้อะไรที่มี ที่เราอยากจะมาคิดนี้นะคะมันก็ติดต่อกันดีเลย มันชักจะเฉียบแหลมว่องไวกันอย่างชนิดไม่ต้องกลัวเลย เพราะฉะนั้นการที่จะพัฒนาจิตให้สะอาดหมดจดพร้อมด้วยสตินี้ มันเป็นการพัฒนาปัญญาและสัมปชัญญะก็อยู่ที่นั่น สมาธิก็อยู่ที่นั่น สมาธิคือความหนักแน่นมั่นคงว่องไวอยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นประโยชน์มหาศาล
ผู้ร่วมสนทนา : ครับ ถ้างั้นต้องลากลับไปฝึกอย่างที่ท่านอาจารย์ว่าบ้างนะครับ วิธีง่ายๆ ก็คือกําหนดลมหายใจนี่แหละครับ ไม่มีอาจารย์คอยสอน ไม่ๆ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือ ถ้าหากเรามีเวลา เราอาจจะได้พูดเรื่องอานาปานสติกันอย่างติดต่อสักครั้งไม่ใช่ครั้งต้องหลายๆ ครั้ง แต่ควรจะเป็นชุดนะคะให้ติดต่อกันเราว่าดูมันก็ให้ประโยชน์ดีนะคะ แต่ในขณะที่เรายังไม่มีเวลาที่จะพูดเช่นนั้นก็ขออนุญาตเสนอแนะต่อท่านผู้ชมไว้อย่างง่ายๆ ว่า ทุกขณะที่ท่านหายใจเข้า หายใจออกนี้ ควรที่จะได้ทําความรู้สึกตัวอยู่ทุกขณะว่ากําลังหายใจเข้านะ กําลังหายใจออกนะ ลองดูก็ได้นะคะ ลองดูเดี๋ยวนี้ก็ได้ หายใจพร้อมๆ กัน รู้สึกไหมคะว่านี่กำลังหายใจเข้า หายใจออก ถ้าเราเพ่งจิตลงไปที่ตรงนั้น เราจะรู้สึกทันที แต่ถ้าเราหายใจลอยๆ ไปเรื่อยๆ เราก็ไม่รู้นั่นคือหายใจอย่างไม่มีสติ
แต่ถ้าเราจะกําหนดให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมนี่ แล้วไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ขึ้นรถเมล์ไปทํางานหรือว่ากําลังอยู่ในออฟฟิศหรืออะไรก็ตาม สามารถที่จะฝึกอานาปานสติให้เกิดขึ้นแก่ตัวเองได้เสมอ
ผู้ร่วมสนทนา : จิตเราก็จะเย็น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : จิตก็เย็น แล้วก็ว่าง แล้วก็มันจะมีความบริสุทธิ์สะอาดมากๆ ขึ้น แล้วก็ว่องไว แล้วก็สงบ คำว่าว่องไวนี่ว่องไวพร้อมที่จะทําการงาน เผอิญนี่ถามเรื่อง สัปดาห์พุทธธรรม-พุทธทาส นะคะ ยังไม่ได้เล่าอะไรสักเท่าไหร่เลย พอมาถามเรื่องอานาปานสติคือการทําสมาธิด้วยวิธีอานาปานสติก็เลยใช้เวลาไปเสียมากจนเวลาหมดเสียแล้วก็หวังว่าท่านผู้ชมจะได้ลอง ทดลองดูนะคะ ด้วยการตามลมหายใจ และก็เฝ้าดูลมหายใจให้รู้สึก ทุกขณะที่หายใจเข้า หายใจออกเท่านี้แหละ ท่านกําลังทําสมาธิอยู่แล้ว จะอยู่ที่บ้าน อยู่ที่วัด อยู่ที่ไหน ไม่สําคัญเลย นั่นคือการพัฒนาจิตให้เป็นสมาธิ พร้อมด้วยสติและปัญญา
สําหรับวันนี้ก็เห็นจะต้อง ธรรมสวัสดี ต่อท่านผู้ชมทุกท่านนะคะ