แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ รายการพุทธธรรม-พุทธทาสในวันนี้เราก็จะคุยกันถึงเรื่องของพุทธธรรม-พุทธทาสนะคะ แต่ในหัวข้อที่เราค้างอยู่คราวก่อนนี้นะคะ คือเรื่องของการศึกษาข้างใน คราวที่แล้วเราพูดถึงเรื่องของการศึกษาข้างในว่ามันต่างกับการศึกษาข้างนอกยังไงใช่ไหมคะ แล้วก็เราเห็นชัดแล้วหรือยังในเรื่องของการต่างกันของการศึกษาข้างนอก ถ้าหากว่าเราจะมาเรียนรู้เรื่องการศึกษาข้างในให้มากขึ้นเราก็จะรู้ว่ายิ่งเรารู้ข้างในมากเท่าไรเรายิ่งรู้ข้างนอกมากเท่านั้น หรือจะพูดง่ายๆ ก็อาจจะบอกได้ว่ารู้มากกว่า รู้จักข้างนอกนี่มากกว่าที่เราเคยรู้จัก ทีนี้การศึกษาข้างในที่เราพูดกันไว้ก็คือดูลงไปที่ความรู้สึกใช่ไหมคะ ทีนี้ดูลงไปที่ความรู้สึกนี่เราจะเอาอะไรมาเป็นเครื่องมือในการดู ถึงจะทำให้เราได้เข้าใจแล้วก็ได้มองเห็นการดูนั้นได้ลึกซึ้งชัดเจนยิ่งขึ้น ก็ได้พูดถึงเรื่องของอนิจจังไว้บ้าง อนิจจังก็คือความไม่เที่ยง แต่เผอิญเราก็รู้แต่ในเรื่องของความไม่เที่ยงแต่ว่าเรายังมองไม่เห็นความไม่เที่ยงใช่ไหมคะ ทีนี้ทำยังไงเราถึงจะฝึกให้มองเห็นถึงเรื่องของอนิจจังอย่างชนิดที่เขาเรียกว่ามันเกิดผลุงขึ้นมาในใจเอง เรียกมันโดดผลุงขึ้นมาในใจโดยไม่ต้องเอ่ยคำว่าอนิจจังเลยสักคำเดียว พออะไรเกิดขึ้นนี่มันผลุงเข้ามาในใจมันเป็นความรู้สึกเกิดขึ้นมาข้างในเลย โอ๋อนิจจังมันไม่เที่ยงๆ
ฉะนั้นท่านก็ฝึกคือท่านก็สอนว่าเราต้องเรียนรู้ในเรื่องของไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ก็คือสามัญลักษณะ คือลักษณะ 3 อย่าง ก็คือสามัญลักษณะอันเป็นธรรมดาธรรมชาติ แล้วก็สามัญลักษณะอันนี้มีอยู่นานแล้ว ถ้าสงสัยอะไรถามได้เลยนะคะคือถามขึ้นมาตอนกลางๆ ก็ได้ไม่เป็นไร มันมีอยู่นาน นานตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด มันอยู่ประจำโลก สามัญลักษณะนี่ เหมือนอย่างเราจะมองดูสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรามันไม่มีอะไรเที่ยงเลย นี่ดูสิอย่างเหตุการณ์เมื่อกี้นี้นี่นะที่มันเกิดขึ้นนี่ธรรมชาติมันก็เปลี่ยนไปเรื่อยประเดี๋ยวก็สงบเงียบเย็นสบาย ประเดี๋ยวมันก็อาจจะมีสิ่งโน้นสิ่งนี้ขึ้นมารบกวน เพราะฉะนั้นนี่คือความไม่เที่ยงที่เราจะหวังว่าอะไรจะเกิดขึ้นนี่ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตลอดเวลาไม่ได้เลยสักอย่าง ท่านจึงบอกว่าเราควรจะศึกษาเรื่องของอนิจจังนี้ให้มาก อนิจจังที่เราควรดูที่สุดก็ควรจะเริ่มที่ตรงนี้เพราะเป็นเครื่องมือที่เรามีอยู่แล้วไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน ธรรมชาติได้ให้มาแล้วเครื่องมือที่จะดูนี่คือร่างกายอันนี้ ฉะนั้นก็ดูอันนี้ไม่ต้องดูที่อื่น เมื่อดูความเปลี่ยนแปลงของร่างกายนี่จะมองเห็นเลยอนิจจังของร่างกาย อย่างตัวครูนี่เมื่อสมัยสาวๆ นี่ผิวพรรณก็เกลี้ยงเกลาเหมือนกันนะ แต่เดี๋ยวนี้ลองมองดูสิเห็นไหมผิวพรรณไม่เห็นมันเหมือนเดิมเลย นี่มือผิวพรรณที่มันเคยเกลี้ยง เดี๋ยวนี้ทำไมมันไม่เกลี้ยงมันอย่างนี้ เขาเรียกว่ามันมีรากไม้เกิดขึ้น รากไม้เกิดขึ้นที่ผิวหนังใช่ไหม ซึ่งทุกคนนี่พออายุมากเข้าๆ มันหลีกเลี่ยงไม่พ้นเส้นเอ็นปุ่มปมต่างๆ นี้มันเกิดขึ้น สาวๆ เขาก็ไม่มี แล้วเราก็ไม่ได้อยากให้มีนะ เราไม่อยากให้มีเลย แต่ว่าเราก็บังคับมันไม่ได้เพราะนี่มันเป็นสามัญลักษณะหนึ่งของธรรมชาติ มันต้องเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ฉะนั้นถ้าเราฝึกฝนดูธรรมชาติของร่างกายนี่มันง่ายที่สุดเพราะเราดูได้ตลอดเวลา ยิ่งดูเท่าไรนี่เราจะยิ่งเห็นอนิจจังชัดยิ่งขึ้นเท่านั้น หรืออนิจจังของในใจ ใจของใครเที่ยงบ้าง ไม่เที่ยงเลยแม้แต่ในชั่วนาทีเดียวนี่นะคะมันก็อาจจะเปลี่ยนได้ตั้งหลายอย่าง เพราะฉะนั้นมันไม่มีอะไรเที่ยงทั้งข้างนอกข้างใน นอกจากนั้นก็ดูสภาวะของชีวิตเราที่ผ่านมา ดูการทำงานในวันหนึ่งๆ ที่เริ่มต้นมาแล้วก็ถึงเวลาเย็นมามีอะไรบ้างที่มันคงที่ มันไม่มีคงที่มันมีแต่ความไหลเรื่อยๆๆ ผ่านไปอยู่ตลอดเวลาแต่เราไม่ได้สังเกต ฉะนั้นเราก็ฝึกดูอนิจจังของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น แม้แต่อารมณ์ของเพื่อนรัก รักกันเหลือเกินเข้าใจกันอย่างดีเชียว แต่ทำไมเขาไม่เหมือนกันทุกวัน บางวันนี่หน้าเขายิ้มแย้มแจ่มใสเขาพูดเพราะๆ แต่แหมบางวันหน้าเขาก็งอง้ำแล้วพูดอะไรเขาก็ไม่อยากตอบ ทำไมเขาเป็นอย่างนั้นน่ะก็เรียกว่ารักกันมาไม่รู้จะกี่ปีแล้ว ไม่มีอะไรเที่ยงเลยสักอย่าง ถ้าสมมติว่าเราเห็นอนิจจังวันไหนเขาหน้างอมันก็เช่นนั้นเองๆ วันไหนเขายิ้มมันก็เช่นนั้นเอง
ผู้ดำเนินรายการ: ร้องเพลงปลงเสีย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ปลงเสียก็ได้ จะร้องเพลงอย่างนั้นก็ได้ หรือเอาง่ายๆ ช่างหัวมันๆ ช่างหัวเผือกหัวมันไม่เห็นจะต้องไปเอามาแบก ใจเราก็ปกติมันก็ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นอันนี้เราก็ฝึกดูอนิจจัง แล้วก็ใช้สิ่งที่จะเข้ามาแก้ไขคือช่วยให้เรามองเห็นอนิจจังเร็วขึ้น ก็เช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง ช่างหัวมัน หรือจะร้องเพลงปลงอย่างว่าก็ร้องได้แต่อย่าร้องแต่ปากนะ ต้องให้ใจร้องด้วยแล้วก็ต้องร้องที่ข้างในใจถ้าร้องที่ข้างในใจได้ก็เรียกว่าเราได้ดูข้างในด้วยในขณะที่เราร้อง หรืออย่างเพลงที่มีชื่อนะสมัยตั้งยี่สิบสามสิบปีมาแล้วเพลงภาษาอังกฤษ Whatever Will be, Will be นั่นแหละเอามาร้องได้ แล้วก็ให้เห็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วย อะไรมันจะเกิดมันต้องเกิด แต่มันเกิดตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่มันเกิดเพราะว่าการกระทำ ไม่ใช่มันเกิดเพราะว่าเราจะให้มันเกิดไม่ใช่อย่างนั้น แต่มันเกิดขึ้นของมันเองตามเหตุตามปัจจัย และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วมองเห็นอนิจจังอันนั้นให้ได้ ทีนี้อนิจจังนี่เป็นสิ่งที่ดูได้ง่ายที่สุดในบรรดาไตรลักษณ์ 3 อย่าง เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์ท่านจึงทรงจัดอนิจจังนี่เป็นข้อแรกของไตรลักษณ์ เพราะสามารถจะศึกษาง่ายมองเห็นง่ายรู้ง่ายในเรื่องของอนิจจัง ถ้าเห็นอนิจจังก็จะเห็นทุกขังต่อไป ทุกขังในที่นี้ก็เป็นทุกขังในไตรลักษณ์
ถ้าหากว่าเป็นทุกขังในอริยสัจ 4 ที่เป็นข้อแรกที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ก็หมายความว่าให้รู้เรื่องของความทุกข์ สังเกตว่าความทุกข์มันคืออะไร มันมีลักษณะอาการอย่างไร แล้วกำหนดให้รู้ในเรื่องความทุกข์ แต่ทุกขังในไตรลักษณ์นี่ก็หมายความว่าจะบอกให้รู้ว่า โดยความหมายนี่ทุกขังก็คือสภาวะที่ทนได้ยาก ทุกอย่างในโลกนี้มันทนได้ยาก ร่างกายของเรานี่ก็เห็นชัดอยู่แล้วมันทนได้ยาก มันไม่สามารถจะคงที่อยู่ได้เลย มันจากเด็กเล็กแล้วก็โตขึ้นเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็เป็นผู้ใหญ่แล้วก็แก่ชราไปแล้วก็เหี่ยวแห้งตายไปในที่สุด เช่นเดียวกันกับก้อนหินที่เรามองเห็นอยู่ หรือว่าม้าหินที่เรานั่งอยู่มันก็แสดงสภาวะของอนิจจังและทุกขังให้เห็นอยู่ในนั้น ทุกขังที่เรามองเห็นนี่ก็คือสภาวะที่มันทนได้ยาก คือมันไม่สามารถจะทนรักษาความใหม่ ความสวยงามอะไรอยู่ได้อย่างเดิม มันจะต้องเปลี่ยนแปรไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน อย่างก้อนหินที่เราเห็นนั่นมันก็กร่อนไปสึกไปตามธรรมชาติ เมื่อก้อนหินนี้ถูกยกมาใหม่ๆ เชื่อเถอะว่ามันต้องสะอาดเอี่ยมสวยงามแล้วก็ยังไม่มีรอยที่จะถูกคนเอามาขัดเอามาสีจนกระทั่งมันรอยตะปุ่มตะป่ำอย่างนั้น นี่ก็เพราะเหตุว่ามันเปลี่ยนแปลงไป มันจึงเกิดสภาวะที่ทนได้ยาก ทีนี้ทนได้ยากอย่างนี้นี่มันเป็นวัตถุมันก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าหากว่ามันทนได้ยากในสิ่งที่เกี่ยวกับจิตใจมันก็บีบคั้นให้ความรู้สึกนั้นขมขื่น แต่ก็เป็นได้อีกแหละ สมมติว่าที่ม้าหินอันนี้คนๆ หนึ่งนี่เขามาสร้างไว้แล้วตอนที่เขาสร้างนี่เขาสร้างด้วยความรัก ด้วยความรักด้วยความตั้งใจ แล้วก็ด้วยความปรารถนาที่ว่าจะให้รักษาสภาพอันนี้เอาไว้ให้คง คือให้มันคงสวยงามเรียบร้อยต่อไป แล้ววันหนึ่งนี่เขามีโอกาสมาเดินดูแล้วเขาก็มาพบสภาพของม้าหินอันนี้มันเปลี่ยนแปรจากสะอาดเรียบร้อยกลายเป็นสกปรกไปด้วยขี้นกขี้กาแล้วก็ด้วยรอยที่คนมาทำเปื้อน จิตใจของเขานี่ก็อาจจะรู้สึกถูกบีบคั้นก็ได้ คือบีบคั้นเพราะมีความรู้สึกว่าโอมันไม่น่าจะเป็นอย่างนี้เลย เพราะสิ่งนี้มันมีความหมายต่อเขา นี่ก็เพราะเหตุว่าเขายึดว่าเป็นของเขา เขาก็เกิดความรู้สึกขมขื่น เจ็บปวด เสียดาย
ฉะนั้นถ้าหากว่าบุคคลใดเห็นอนิจจังแล้วก็เห็นทุกขังเขาก็จะเห็นอนัตตา อนัตตาแปลว่าอะไรก็ต้องรู้ความหมายของอัตตา เพราะว่าอนัตตามันตรงข้ามกับอัตตา อัตตาคืออะไร อัตตาคือตัวตน เป็นตัวเป็นตน ทีนี้อนัตตาก็คือไม่เป็นตัวไม่เป็นตน ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่มีตัวไม่มีตน แต่ว่าความรู้สึกของคนที่ถูกอวิชชาครอบงำก็เลยคิดว่ามันมีตัวมีตน แต่ความเป็นจริงมันหามีไม่ เพราะฉะนั้นอันนี้ถ้าหากว่าเห็นอนิจจัง ทุกขัง จะเห็นอนัตตา คือเห็นความไม่มีสาระไม่มีแก่นสาร ตัวอย่างที่เคยใช้แล้วเคยอธิบายมาแล้วก็มันเห็นชัดนี่เพราะอย่างเรื่องของการกิน เรากินกันอยู่ทุกคน เรากินอยู่ทุกวัน เวลายกสำรับกับข้าวมาใหม่ๆ แล้วก็ถ้าหากว่าคุณแม่ช่างทำหรือแม่ครัวช่างทำ ในสำรับของอาหารไทยเรา เราก็จะมีแกง แกงก็จะมีทั้งแกงเผ็ดแกงจืดนะถ้าจะให้ครบเครื่อง แล้วก็มีผัดมีหลนคือมีเครื่องจิ้ม แล้วก็มีผักมีเครื่องเคียง มองดูแล้วแหมมันน่ากินแล้วกลิ่นมันก็หอม แล้วก็เรายังจำได้ว่าคุณแม่นี่ทำอร่อยมาก เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่วางอยู่นี่มันพร้อมด้วย รูป เสียง กลิ่น รส มันชักชวนใจเราแล้วให้อยากกิน ก็เอาจานวางตรงหน้าเราก็ตักอาหารใส่ช้อน ตอนนี้ก็เห็นอนิจจังของอาหารหรือยัง เห็นรางๆ แล้วใช่ไหม ที่มันเคยอยู่แต่ละส่วนๆ นี่มันมารวมเข้ามาอยู่ในช้อนเดียว เราก็ตักใส่ปากด้วยความหมายมั่นว่ามันอร่อย ทีนี้ถ้าเรากำลังศึกษาเรื่องอนิจจังเราก็เคี้ยวไปสักทีสองที ดูสิอนิจจังของอาหารคำนี้มันเป็นยังไง เราก็ลองคายมาใส่มือมาแล้วก็มองดูเห็นชัดไหมอนิจจัง ชัดไหม โอนี่มันเปลี่ยนสภาพนี่ อนิจจังแล้วมันก็เป็นทุกขังแท้ๆ นี่ ทุกขังมันชัดนี่มันคงสภาพมันไม่ได้เลย เมล็ดข้าวก็เปลี่ยนไป ผักอยู่ตรงไหนนี่ หรือว่าเครื่องจิ้มอยู่ตรงไหน ผักอยู่ตรงไหน เครื่องเคียงอยู่ตรงไหน มันเปลี่ยนไปหมด มันไม่คงทนเลยสักอย่างเดียว โออนิจจังทุกขัง อนัตตาอยู่ตรงไหนเห็นไหม เห็นอนัตตาชัด ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่มีสาระแก่นสารเลยสักอย่างเดียว อุตส่าห์ประดิษฐ์ประดอยเสียเวลาทำตั้งเป็นชั่วโมงๆ ผลที่สุดก็มาลงเอยด้วยความไม่มีสาระแก่นสารไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่ตรงนี้เอง ไม่เห็นมีอะไรเลย แล้วก็ถ้าใครถึงอนัตตาจริงจะต้องทำไง ใส่ปากลองใส่ปากเข้าไป เคี้ยวกินกลืนเลยนั่นแหละ แหมถึงธรรม ถ้ามันถึงธรรมถึงอนัตตามองเห็นชัดเลย เพราะอะไรล่ะมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนไม่มีสาระแก่นสาร แล้วของเราใช่ไหม นี่ก็คำข้าวของเรา เราใส่ปากเข้าไปแล้วก็คายออกมามันก็ของเรา ยังไม่ใช่ไปเอาของคนอื่นเขามากิน แต่นี่ความที่เรายึดมั่นถือมั่นเราก็กินไม่ได้ เพราะเรารู้สึกว่ามันสกปรก แต่นี่เราจะมองเห็นชัด แต่ว่าตัวอย่างอย่างนี้ก็เป็นรูปธรรมคือเป็นวัตถุ มันอาจจะไม่พาเข้าไปถึงความรู้สึกที่ว่าขมขื่นเจ็บปวดเพราะว่ามันเพียงแต่ขยะแขยง ขยะแขยงน่าเกลียดกลืนไม่ลงอีกแล้วมันมีแต่จะต้องทิ้งไปเท่านั้น
ทีนี้ถ้าหากว่าจะให้มองเห็นไตรลักษณ์ในสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับใจที่เป็นนามธรรมได้ชัดขึ้นท่านก็มักจะยกตัวอย่างความรักความใคร่ระหว่างคู่รัก เวลาเริ่มต้นรักกันก็นึกแล้วความรักนี้จะต้องไม่เปลี่ยนแปลง จะต้องคงทนไปจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร เผอิญทุกอย่างก็อยู่ภายใต้กฎอนิจจัง วันหนึ่งมันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เขาก็เปลี่ยนใจเขาก็ไปเห็นคนอื่นใหม่กว่าสวยกว่าดีกว่า เพราะฉะนั้นเขาก็เรียกว่าเขาก็ทอดทิ้งไป มันก็ช่างเถอะแต่เผอิญมันไปเห็นเข้าไปเห็นด้วยตา นี่พอเห็นด้วยตาเท่านั้น ความทุกขังนี่มันเกิดขึ้นชัดเลย มันมีความขมขื่นเจ็บปวดเกิดขึ้นในนั้น ทำไมจึงเปลี่ยนแปลงไปได้ ทำไมมันถึงไม่คงทนยั่งยืน แล้วถ้าหากว่าเขาศึกษาธรรมะเขาก็จะเห็นอนัตตาอยู่ ความไม่มีสาระแก่นสาร โอเรานี่ช่างหลง หลงมัวเมาไปยึดเอาความรักนี่เอาเป็นเอาตายว่ามันเป็นชีวิต คล้ายๆ กับชีวิตนี้จะอยู่โดยขาดความรักไม่ได้ แต่แท้ที่จริงแล้วมันไม่มีแก่นสารอะไรสักอย่างเดียว ถ้าเห็นอย่างนี้เขาก็จะรักษาใจของเขาไว้ได้ แทนที่เขาจะเป็นทุกข์เจ็บปวดเขาก็เพียงแต่ว่า มันก็เป็นอย่างนี้เอง และอะไรควรจะแก้ไขเขาก็แก้ไขต่อไป ภาวะของความเปลี่ยนแปลงนั้นก็ทำอะไรจิตของผู้ที่ได้พัฒนาแล้วไม่ได้ เพราะจิตนั้นเป็นจิตที่ได้ฝึกการศึกษาจากการดูข้างในอยู่ตลอด ความมั่นคงเข้มแข็งหนักแน่นมันเพิ่มพูนทวีขึ้น อย่างนี้เขาเรียกว่าจิตมีหลักแล้วก็มีที่พึ่งข้างในเกิดขึ้นแล้ว
ที่พึ่งเวลาที่เราสวดมนต์จำได้ไหมคะบทไหนที่พูดถึงว่าเราถึงแล้วเป็นที่พึ่ง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ใช่ไหมคะ เราถึงพระพุทธเป็นที่พึ่ง ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ พระธรรมเป็นที่พึ่ง สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เราจะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันแท้จริงข้างในต่อเมื่อเราได้เห็นไตรลักษณ์ชัดเจน พอเราได้เห็นไตรลักษณ์ชัดเจนเราเกิดความมั่นคงหนักแน่นขึ้นในใจสิ่งนี้แหละคือเป็นที่พึ่ง เป็นที่พึ่งที่จะช่วยรักษาใจนี้ให้สงบเย็นเป็นปกติได้ ไม่ทำอะไรที่หวาดผวา ไม่ทำอะไรที่เป็นที่น่าสงสารน่าสมเพชของคนอื่น แล้วก็จิตใจประสาทนั้นก็ไม่คลอนแคลน
ผู้ดำเนินรายการ: อาจารย์ครับส่วนใหญ่เวลาคนประสบความทุกข์ อย่างที่พลัดพรากจากสิ่งที่รักอะไรต่างๆ ทำไมคนเราจึงทนไม่ค่อยได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็เพราะเขาถือว่าเป็นของเขา เขาไม่รู้ หรือเขาก็รู้ตามสมอง รู้ตามสติปัญญาข้างนอกแต่เขาไม่ได้รู้ข้างใน นั่นก็เรียกว่ามีความรู้แต่ทว่าไม่ได้นำมาปฏิบัติ ถ้านำมาปฏิบัติแล้วเขาก็จะไม่ต้องทนเพราะเขามองเห็นสภาวะความเป็นจริงของธรรมชาติว่ามันไม่มีอะไรเที่ยง มันไม่มีอะไรคงที่ มันไม่มีอะไรเป็นสาระแก่นสาร เขาก็จะไม่เอามาเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นการรู้ธรรมะการเข้าใจธรรมะก็ดีไม่ใช่ไม่ดี แต่ไม่สำคัญเท่ากับการมีธรรมะ เข้าใจความแตกต่างไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ต้องปฏิบัติด้วยใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ค่ะ ธรรมะจะมีได้ต่อเมื่อปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติธรรมะจะไม่มีวันมี คือไม่มีวันเกิดขึ้นในใจเลย ก็ได้แต่รู้ธรรมะ เข้าใจธรรมะ แล้วก็พูดธรรมะ ในสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีเรื่องเล่าถึงพระภิกษุองค์หนึ่งรู้ธรรมะมากเลย ฉลาดหลักแหลมอธิบายในเรื่องของธรรมะได้กว้างขวางลึกซึ้งจนได้รับการยอมรับว่าเป็นครูอาจารย์ของบรรดาผู้คนแล้วก็ภิกษุสงฆ์สามเณรเป็นจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้บรรลุอะไรในสมัยโน้น แต่ทว่าตัวท่านเองนี่ไม่เคยนำมาปฏิบัติเลย แล้วก็พระพุทธองค์ท่านก็ทรงทราบเพราะฉะนั้นท่านก็คิดช่วยแก้ไข วันหนึ่งพระภิกษุองค์นี้มาเฝ้าท่าน ท่านก็เรียกว่า โมฆบุรุษมาแล้วหรือ โมฆะแปลว่าอะไร โมฆบุรุษ
ผู้ดำเนินรายการ: โมฆะ แปลว่า ว่างเปล่า สูญเปล่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มาแล้วเหรอ โมฆบุรุษมาแล้วเหรอ โมฆบุรุษนั่งนี่สิ พอจะกลับโมฆบุรุษจะกลับแล้วเหรอ อย่างนี้ท่านเรียกโมฆบุรุษตลอดเวลา พระองค์นั้นท่านก็ฉลาดเพราะท่านก็เรียนรู้มามากมาย ท่านก็สำนึกขึ้นในใจว่านี่พระพุทธองค์ท่านคงประสงค์จะบอกเราว่า เรานี่ดีแต่รู้ธรรมะแต่ไม่มีธรรมะในใจเลยเพราะไม่เคยนำมาปฏิบัติ แล้วท่านก็ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ พอท่านรู้สำนึกได้อย่างนั้นท่านก็พยายามจะหาครูอาจารย์เพื่อที่จะให้สอนการปฏิบัติธรรมสักหน่อย นี่เห็นไหมรู้แต่ยังนำมาปฏิบัติไม่ได้ ก็ต้องการครูอาจารย์ที่จะแนะนำให้เกิดการปฏิบัติ แต่ก็ไม่มีใครกล้าสอนเพราะท่านเคยเป็นครูอาจารย์มาทั่วบ้านทั่วเมือง ใครๆ ก็กลัวไม่กล้าสอน ก็มีสามเณรองค์หนึ่งซึ่งเล่าว่าเป็นผู้ที่บรรลุอรหันต์แล้ว คือในสมัยโน้นนี่ก็มีสามเณรอยู่นะคะที่สามารถจะบรรลุธรรมได้ สามเณรองค์นั้นก็รับ แต่มีข้อสัญญาว่าจะต้องเชื่อฟังทุกอย่าง สามเณรองค์นั้นจะบอกอะไรให้ทำอะไรท่านจะต้องเชื่อฟัง ท่านก็ยอมรับ รับว่าจะเชื่อฟังตามครูสามเณรนี่ทุกอย่าง ผลที่สุดสามเณรองค์นั้นก็แนะนำอธิบายวิธีปฏิบัติธรรมแล้วท่านก็หมั่นพากเพียรจนผลที่สุดท่านก็บรรลุธรรมได้ ฉะนั้นคนที่รู้ธรรมะรู้สารพัดก็คืออย่างนี้ รู้แล้วทำไมจึงเป็นทุกข์ก็คืออย่างนี้ เพราะเหตุว่ารู้แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติ เหมือนอย่างที่ท่านเปรียบว่าเหมือนกับเราเป็นโรคภัยไข้เจ็บ เป็นโรคมาลาเรียแล้วก็ไปหาหมอ หมอก็บอกวิธีรักษาพร้อมกับให้ยา ที่ยานั้นก็บอกสลากวิธีกินยาต้องทำอย่างนั้นๆ กินตามเวลา เท่านั้นๆ ช้อน เขาเอาขวดยามาตั้งไว้ข้างตัวแต่ไม่เคยกินยาเลยใช่ไหม มาลาเรียจะหายได้ยังไง มันก็มีแต่ตายท่าเดียว เรียกว่าตายลูกเดียวอย่างนั้น นี่ก็เช่นเดียวกันการรู้ธรรมะเข้าใจธรรมะศึกษาธรรมะฟังธรรมะอ่านธรรมะแต่ไม่เคยปฏิบัติมันก็เท่ากับว่าเอาธรรมะ หนังสือธรรมะมาไว้ล้อมรอบตัว ถึงเวลาตายก็เอาใส่ไปเผาแทนฟืนได้ ไม่ช่วยให้หายความทุกข์หรือหมดความทุกข์ไปได้ เพราะฉะนั้นอันนี้การมีธรรมะจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ถ้าหากว่าเห็นธรรมะโดยศึกษาด้วยการดูข้างในอย่างที่เราว่านี่นะคะจนกระทั่งเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาชัด แล้วก็เมื่อนั้นก็ไม่รู้จะเอาอะไรจะเป็นอะไร จะถึงซึ่งความไม่น่าเอาไม่น่าเป็นที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์พุทธทาสท่านพูดอยู่บ่อยๆ เพื่อให้เป็นข้อเตือนใจ เอามาแล้วก็ไม่เห็นเอาไว้ได้ เป็นแล้วก็ไม่เห็นรักษามันไว้ได้ สู้ทำให้มันถูกต้องดีกว่า ทำถูกต้องแล้วก็ไม่ต้องทุกข์ เพราะฉะนั้นอันนี้ค่ะคือการศึกษาข้างในจะมีประโยชน์อย่างนี้ จะทำให้ชีวิตนั้นสมดุลมั่นคงแล้วก็มีที่พึ่งที่แท้จริง และรู้ข้างในมากเท่าใดจะยิ่งรู้ข้างนอกมากยิ่งขึ้นทวีขึ้น เพราะฉะนั้นก็หวังว่าถ้าเราต้องการชีวิตสมดุลก็จงฝึกดูข้างในให้มากกว่าศึกษาข้างนอก สำหรับวันนี้ก็ธรรมสวัสดีนะคะ ธรรมสวัสดีทุกคนด้วย