แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(อ) “รายการพุทธรรมพุทาส ในวันนี้เราก็คงจะคุยกันถึงเรื่องที่เราได้เคยคุยค้างไว้เมื่อคราวที่แล้วใช่ไหมคะ คราวที่แล้วท่านผู้ชมก็คงจำได้ว่าเราพูดกันถึงเรื่องของความสุข แล้วก็เราพูดถึงสุข 2 อย่างใช่ไหมคะ สุขเกรียมแล้วก็สุขเย็น คือสุขไหม้กับสุขเย็น ยังพอจำได้ไหมคะว่าสุขไหม้เป็นอย่างไร ต่างกับสุขเย็นยังไงหรือว่าเหมือนกัน”
(ช) ไม่เหมือนครับ
(อ) ต่างอย่างไรล่ะคะ
(ช) สุขไหม้ อยากได้ แล้วก็ไม่ได้
(อ) สุขไหม้ก็เกิดจากตัณหา เพราะเป็นทาสของตัณหานั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงทำให้ความสุข ที่ตนคิดว่าสุขนั้นเป็นสุขไหม้ เพราะมันมีความร้อนอยู่ตลอดเวลา
ส่วนสุขเย็นก็คือสุขที่มีพุทธรรมนำชีวิต คือความสุขนั้นเกิดจากการปฏิบัติอยู่ในทำนองครองธรรมของธรรมะ เพราะฉะนั้นมันก็ให้ความเย็นใจ
ทีนี้ถ้าเราจะดูว่าในระหว่างความสุข 2 อย่าง คนเราโดยมากเขามักจะพอใจความสุข แล้วก็สุขอันนั้นมักจะมาจากสิ่งที่เราได้อย่างใจ พอเราได้อะไรตามใจเราก็คิดว่าสิ่งนั้นคือความสุข ถ้าจะมองดูก็จะเห็นว่าไอ้สิ่งที่เราได้ตามใจมันมาจากไหน สิ่งที่เราได้ตามใจมันมาจากไหน”
(ช) มาจาก ความอยาก
(อ) มันข้างนอกหรือจากข้างใน
(ช) ข้างนอก ข้างใน
(อ) ความสุขที่เราได้ตามใจมาจากข้างนอกนี้มันมากกว่า เช่น พูดถึงว่าให้เป็นวัตถุ อย่างวัตถุนะที่เป็นรูปธรรม สุขถ้าเป็นพ่อแม่ก็มีลูกดี ถ้าเป็นหนุ่มเป็นสาวก็มีคู่รักดี คำว่า ‘ดี’ ก็คือสวยหล่อ ถูกใจเรา อย่างใจเรา เพราะฉะนั้นความสุขอันนี้มันก็มาจากข้างนอก ที่เกิดจากการพึ่งพาในสิ่งอื่น อาจจะเป็นผู้คนคือบุคคลสิ่งมีชีวิตบ้าง พ่อแม่พี่น้อง สามีภรรยา หรือบางทีก็บุคคลอื่นๆ ที่เราเกี่ยวข้อง
ถ้าเราทำงานก็ถ้าวันนี้นายพูดดีด้วยถูกใจยกย่องชมเชยแล้วก็ยิ้ม แล้วก็เป็นสุขทั้งวัน ซึ่งถ้าวันไหนลูกน้องมันมาทำหน้าบูด ไม่ทำตามคำสั่ง ไอ้ความสุขก็เกิดขึ้นไม่ได้ในวันนั้น อย่างนี้เราเรียกว่าสุขข้างนอก หรือบางทีส่วนข้างนอกนี้อาจจะเกิดจากสิ่งที่ไม่ใช่รูปธรรม เคยคิดบ้างไหมคะที่จะไม่ใช่รูปธรรมนี้เช่นอะไร ที่ว่าเราว่าไม่ใช่รูปธรรม สุขข้างนอกนี้ค่ะ อย่างที่เรายกตัวอย่างเมื่อกี้เราเรียกว่าเป็นวัตถุเป็นรูปธรรม แต่ว่าบางทีสุขนั้นก็ไม่ใช่มาจากรูปธรรมก็มี
สุขข้างนอกนี่แหละนี่คือ อาศัยสิ่งแวดล้อม ต้องได้มีปริญญา ตามที่ฉันต้องการ ถ้าไม่มีปริญญาบัตร ชีวิตล้มเหลว ชีวิตที่มีความหมาย ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่ามันไม่จริงใช่ไหมคะ ชีวิตของคนเราไม่ได้อยู่ด้วยปริญญาอย่างเดียว ปริญญามีค่าจริง แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต
หรือบางทีชีวิตนั้นจะมีความสุข ถ้าได้ทำงานได้ตำแหน่ง สมที่เราต้องการ แต่ว่าพอไม่ได้ตำแหน่งดังนั้น ไม่ได้อำนาจดังนั้น ไม่ได้เกียรติศักดิ์ดังนั้น ความสุขก็หายไป อย่างนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นนามธรรม ฉะนั้นความสุขข้างนอกเราก็จะเห็นได้ว่า ทำไมมันจึงไม่ใช่สุขจริง ทำไมมันจึงนำความร้อนเมาสู่มากกว่า มองเห็นไหมคะ
ตำแหน่งก็ดี อำนาจวาสนา ข้าทาสบริวาร หรือว่าครอบครัว พ่อแม่พี่น้องลูกเต้าทั้งหลายทั้งหลาย ทำไมเพราะอะไรมันถึงไม่ใช่สุขเย็น
(ช) เพราะมันไม่จีรังยั่งยืนหรือเปล่าครับ
(อ) ไม่ต้องหรือเปล่าเลยค่ะ ‘ใช่ค่ะ’ ใช่แล้ว มันไม่จีรังยั่งยืน ก็เพราะตำแหน่งนี้เห็นไหมมันเปลี่ยนตั้งเท่าไหร่ ประเดี๋ยวเปลี่ยนๆ ไม่ว่าจะตำแหน่งใหญ่ตำแหน่งเล็กก็ตาม มันไม่เคยมีอยู่คงที่เลย แล้วถ้าเรายึดตำแหน่งนั้น ว่าเราจะต้องเป็นอย่างนี้ตลอดไปเพราะมันให้อำนาจวาสนามาก พอวันหนึ่งต้องลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ข้าราชการ ถึงจะสามารถเท่าไร มันมีวันเกษียณ พอถึงวันเกษียณ เราจะเกษียณอย่างสดชื่นแจ่มใส หรือเราจะเกษียณอย่างห่อเหี่ยว เรามีทางเลือก ถ้าเรารู้ว่าไอ้นี่มันเป็นแต่เพียงส่วนประกอบ ปัจจัยของชีวิตอย่างหนึ่ง เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ แล้วมันก็จะกลายเป็นสุขเย็นขึ้นมาได้”
(ช) ระหว่างเราได้อำนาจเราก็มีสุขดี
(อ) ก็เราพูดอยู่เดี๋ยวนี้เองว่าสุขนั้นมันมาจากอะไร มาจากข้างนอก เพราะเราหลงไหลข้างนอก ทีนี้ถ้าเราหลงอย่างนั้น เราไม่รู้สึกตัวอย่างนั้น พอถึงวันเปลี่ยนแปลงเราปรับตัวไม่ทันมันก็ยิ่งร้อนกว่าที่เคยร้อน ถึงแม้ในขณะนั้นจะว่าไม่ร้อนก็ไม่ใช่ มันก็ยังร้อนอยู่ ทำไมถึงว่าร้อนอยู่ เพราะเรามีความรู้สึกว่าไอ้ตำแหน่งที่เรามีนี้จะมีใครมาแย่งหรือเปล่า เราจะครองได้ตลอดไปหรือเปล่า มีคู่แข่งหรือเปล่า ในขณะนั้นจิตมันก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่บอกว่าสุข ฉะนั้นอันนี้มันจึงเป็นพวกสุขร้อน จึงบอกได้ว่าสุขที่เกิดจากข้างนอกมันจะนำความร้อนมาสู่มากกว่าความเย็น เพราะสิ่งนั้นมันไม่คงที่ แล้วเสร็จแล้วคนเราก็น่าสงสาร มักจะหลงอยู่ในสุข เราเองก็เคยใช่ไหมคะ แล้วก็หลงกันมาถึงเดี๋ยวนี้จนเมื่อไหร่เราถึงจะรู้ว่ามันไม่จริง ไอ้สิ่งที่เราหลงเราติดกันอยู่นี้มันไม่จริง เมื่อนั้นแหละเราก็จะมีสติ
สติในการที่จะทำงาน ไม่ว่าจะทำงานไม่ว่าจะเกี่ยวข้องในเรื่องอะไร เราจะทำด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยปัญญา เราก็ไม่รู้สึกว่าเป็นความทุกข์ ตอนนี้จะเริ่มมีแต่การกระทำมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น จำได้ใช่ไหมคะ ชีวิตเกิดมาทำไม”
(ช) เพื่อทำสิ่งที่ถูกต้อง
(อ) เพื่อทำสิ่งที่ถูกต้อง แล้วสิ่งที่ถูกต้องนั้นก็เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ถ้าหากว่าผู้ใดทำได้เช่นนี้ นั่นแหละคือมีพุทธธรรมนำชีวิต เพราะฉะนั้นอันนี้จึงบอกว่าที่พึ่งข้างนอกมันร้อนเพราะมันเปลี่ยนได้ ถ้าเมื่อใดที่เราหยุดที่จะหลงมันเราก็จะไม่เห็นว่าการเปลี่ยน หรือการไม่เปลี่ยนมีความสำคัญอย่างไร ถ้าไม่ยึดมันก็ไม่เป็นทุกข์ เมื่อเราเห็นอนิจจังขึ้นมาได้ ทุกข์นั้นมันก็ไม่มี”
(ช) เราจะหยุดได้อย่างไรหรือครับอาจารย์
(อ) จะหยุดได้อย่างไรหรือคะ
(ช) หยุดเพื่อให้มีสติ
(อ) ค่ะก็หมั่นที่จะมองดูอนิจจัง คือความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ถ้าพูดถึงอนิจจังนี้เข้าใจไหมคะ
(ช) ไม่แน่นอน
(อ) ความไม่แน่นอน มันหมายความว่าอะไร ไม่แน่นอน
(ช) ก็อาจจะมีความสุขที่ได้ ที่มันเป็นความสุขที่อยู่ได้ไม่นาน
(อ) ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสิ่งเป็นรูปธรรมและสิ่งที่เป็นนามธรรม มันไม่แน่นอน มันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอันนี้ ถ้าเราจะศึกษาอนิจจังแล้วก็ ดูไปเถอะรอบๆ ตัวเรา ลองดูในชีวิตที่ผ่านมา ชีวิตที่ผ่านมาแล้วตั้งแต่เล็กๆ จนโตขึ้นมา จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ มีอะไรในชีวิตบ้างที่คงที่
(ช) ไม่มีเลย ไม่มีครับ
(อ) ไม่มีเลยสักอย่างถ้าเราดู มันเปลี่ยนมาเรื่อยตามลำดับ จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ นี่เราก็จะเห็นอนิจจังชัดทำไมถึงชัด เพราะนี่มันเกิดกับตัวเรา ถ้าหากว่าเราไปดูเรื่องของคนอื่นฟังเรื่องของคนอื่นบางทีมันไม่ชัด เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าจะศึกษา จงศึกษาจากสิ่งที่เราประสบด้วยตัวเองเราจะมองเห็นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือร่างกายเรานี้ รูปร่างหน้าตาของเรานี้ที่เป็นอยู่ส่องกระจกกันทุกวันใช่ไหมคะ เมื่อวานนี้กับวันนี้เองมันยังไม่เหมือนกันเลย จะไปเอาให้ห่างสักเท่าไหร่
เมื่อวานนี้นอนหลับสบายไม่มีอะไรเป็นปัญหาใจ พอส่องกระจกโอ้โหมันอิ่มเอิบ สดชื่นแจ่มใส เรียกว่าไปงานได้สบายๆ แต่วันนี้อพอส่องกระจกทำไมหน้าตามันเหี่ยวมันโทรม เพราะเมื่อคืนนอนไม่ค่อยหลับ ใจมันกังวล มันคิดโน่นคิดนี่อะไรต่ออะไรอยู่ เพราะฉะนั้นเราก็นอนไม่หลับสบาย เท่านี้ร่างกายมันก็เปลี่ยนแปลง เราก็ให้หมั่นดูร่างกายนี้
เคยได้ยินไหมคะ ที่ท่านบอกว่าพระไตรปิฎกไม่อยู่ไกล ตู้พระไตรปิฎกไม่อยู่ไกล อยู่ที่ไหน”
(ช) หอไตรหรือเปล่าครับ
(อ) อยู่ตรงไหน พระไตรปิฎกไม่อยู่ไกล อยู่ที่ตรงไหน
(ช) อยู่ที่ใจหรือเปล่า
(อ) นี่แหละ ร่างกายที่ยาววาหนาคืบนี่แหละคือตู้พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกที่พระธรรมตั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ เคยได้ยินใช่ไหมคะ 84,000 พระธรรมขันธ์ อยู่ตรงนี้
ถ้าสมมุติว่าเราไม่มีเวลาจะอ่านพระไตรปิฎก เพราะเราทำงานอย่างอื่น หรือเรายังไม่มีความสนใจพอที่จะอ่าน ก็ไม่ต้องไปคิดหาอ่านก็ได้ แต่ขอให้อ่านให้ร่างกายนี้ให้เข้าใจ เพราะในพระไตรปิฎกนี้ท่านไม่ได้พูดเรื่องอะไรอื่นเลย พูดเรื่องร่างกาย กับพูดเรื่องจิตใจ คือ รูปกับนาม กายกับจิต พูดอยู่เท่านั้น
แต่ว่าท่านแจกแจงรายละเอียดให้รู้อย่างมากมายว่า กาย กายนี้มันประกอบด้วยอะไรบ้าง มันมีอย่างไร แล้วเราควรจะรู้จักมันอย่างไรจึงจะรู้จักอย่างถูกต้อง หรือไอ้จิตนี่ก็เหมือนกัน จิตมันก็ดวงเดียว แล้วเราก็บอกหัวใจของเรา แล้วเราบังคับมันได้ บังคับไม่ได้เลย ใจนี่ใจดวงเดียว เราไปบังคับไม่ได้เลย เดี๋ยวก็วิ่งไปอย่างโน้นเดี๋ยวก็วิ่งไปอย่างนี้
เพราะฉะนั้นท่านจึงว่า ในพระไตรปิฎก ท่านก็ว่าด้วยเรื่องของกายเรื่องของจิต ให้รู้จักลักษณะต่างๆ อย่างละเอียดลออถี่ถ้วนทุกอย่าง และในขณะเดียวกันท่านก็จะบอกเราด้วยว่า ถ้าเราต้องการจะจัดการกับมันให้ถูกต้อง เราควรจะรู้จักมันอย่างไร สิ่งที่เราควรจะรู้จักอย่างยิ่งก็คือ รู้จักความเปลี่ยนแปลงของมัน
เวลานี้ถ้าถาม รู้จักกันสักกี่คน ‘การเปลี่ยนแปลง’ แต่ แต่เห็นแล้วหรือยังความเห็นความเปลี่ยนแปลง
(ช) ไม่เคยเห็น
(อ) ที่ตอบว่าไม่เห็น หมายความว่าอย่างไร
(ช) รู้สึกมันเป็นปกติเหมือนเดิม ร่างกายมันอย่างไรก็อย่างนั้น อย่างของท่านอาจารย์นั้น รู้สึกอาจารย์เปลี่ยนไปนะครับ รู้สึกอาจารย์อายุมากกว่าเรา รู้สึกเรายังเหมือนเดิม
(อ) เรายังเหมือนเดิม นี่คือความเข้าใจ หมายความเข้าข้างตัวเอง คนเรามักจะเป็นอย่างนั้นล่ะ
พออายุซัก 10 กว่าปี เห็นคนอายุ 20 กว่านี้แก่แล้ว
พออายุ 20 กว่าเห็นคนอายุ 30 กว่า แหม ไม่ไหว
พอเรา 30 อ้อ ยังใช้ได้ ยังใช้ได้ยังกระฉับกระเฉง แล้วพอเห็นคน 40 แหมแก่เหลือเกิน
นั่นนะ พอเรา 40 เข้า เราก็ยังกระฉับกระเฉง ยังคล่องแคล่ว ยังหนุ่มยังสาว นี่เพราะอะไร
คนเรานี่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวเรื่อย แล้วก็นึกถึงเรื่องตัวเองเป็นใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ว่าเราไม่ เราเห็นแก่คนอื่น แต่อย่างไรเสีย ถ้าเรามาดูนิดหน่อย เราก็จะเห็นแก่ตัวเอง ถึงได้เห็นเราสาวเราหนุ่มอยู่เรื่อย แล้วก็เริ่มบอกว่าพอมองดูคนนี้แก่ลงเห็นไหม เห็นไหมว่าสิ่งที่ทำให้เรามองไม่เห็น ไม่เห็นสัจธรรมเพราะอะไร เห็นไหมคะ ใครตอบได้ ที่ทำให้มองไม่เห็นอะไรเป็นอุปสรรค”
(ช) ตัวเอง”
(อ) ก็ถูกแล้ว ‘ตัวเอง’ แต่มันตรงไหนที่ทำให้ไม่เห็น ก็ดูวิธีมองของใจฤกษ์สิเขามองที่ไหน
(ช) ตา
(อ) เขามองที่ข้างนอกหรือข้างใน
(ช)ข้างนอก
(อ) เขามองข้างนอกตลอดเวลา เขามองคนอื่นตลอดเวลาใช่ไหม เขาไม่หันมองดูตัวเอง ถ้าเราไม่หันมามองดูตัวเอง เราจะเห็นได้อย่างไร ไอ้ตาสองตาที่เรามีอยู่แล้วนี้เขาเรียกว่าตาเนื้อ ตาเนื้อนี้มันก็เห็นอะไรตามสมมุติ
นี่เขาเรียกว่าต้นไม้ต้นอะไรล่ะ ต้นไผ่ต่างหากใช่ไหม เห็นไหมชัดแล้วมองดูสิ ต้นไผ่ใช่ไหม
(ช) ไม่ใช่
(อ) ไม่ใช่นี่เห็นไหม มันถูกมายาของต้นไผ่ ใช่ไหมคะมาบังอยู่ข้างบน เราก็มองดูแต่ใบเราก็บอกนี่ต้นไผ่ แท้จริงไม่ใช่ แต่ว่าเรามองไม่เห็นยอดไม้เราก็เลยมองไม่ถนัดว่ามันต้นอะไร แต่มันหาใช่ไม่ เพราะฉะนั้นตาเนื้อนี้มันมองอะไรเห็นอะไร มันเห็นตามสมมุติ นี่เขาบอกว่าอะไรนะนี่
(ช) ก้อนหิน
(อ) ก้อนหิน ถ้าใครบอกนี่ท่อนไม้ต่างหาก ทำไมมาบอกว่าก้อนหิน เป็นอย่างไร
(ช) ไม่เชื่อ
(อ) ไม่เชื่อ แล้วยังหาว่าบ้า แกนี้ไม่เต็มแน่ๆ เลย เพี้ยนเสียแล้ว ใครๆ เขาก็บอกก้อนหิน ก้อนหินทั้งนั้นตั้งแต่ฉันเกิด เขาบอกก้อนหินทำไมแกบอกท่อนไม้ ก็เราไม่นึกดูคะว่า ตั้งแต่มันเกิดทีแรก ทีแรกขึ้นมาในโลก มันมีชื่อไหม
(ช) ไม่มี
(อ) ไม่มีหรอก เราทุกคนนี้ก็เหมือนกัน เราก็ไม่ได้มีชื่อแต่พอเราเกิดมา ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ตั้งชื่อ นี่ชื่อเจี๊ยบ นั่นชื่ออนงค์ นั่นชื่อกุลวรา นี่ชื่อใจฤกษ์ แล้วเราก็ยึดว่านี่ชื่อฉัน เห็นไหมยึดแล้ว ตามสมมุติ ตานี้เราเห็นก้อนนี่เขาเรียกว่าก้อนหิน ใครจะบอกก้อนไม้ไม่ได้ ทะเลาะกันตาย ใครจะบอกซีเมนต์ไม่ได้ ตีกันตาย ไอ้ที่คนเราทะเลาะกันตีกัน ตั้งแต่คนต่อคน กลุ่มต่อกลุ่ม ชาติต่อชาติทุกวันนี้เพราะอะไร
(ช) ติดในนามสมมติ
(อ) ติดในสมมุติ ตาของฉัน แล้วก็จะเอาตาที่ฉันว่า เพราะฉะนั้นมันก็อยู่ตามฉันตามอัตตาทั้งนั้นเลย มันจึงมองไม่เห็นอนิจจัง ถ้าเราใช้ตาเนื้อ 2 ตา เราจะไม่มีวันเห็นของจริงเลย พุทธธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ เราจะไม่มีวันที่จะเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานขึ้นได้ จะตกอยู่ในความเศร้าหมองอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา เพราะเราถืออะไรทุกอย่างตามสมมุติ
จนกระทั่งเราจะพยายามศึกษาให้รู้ถึงว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าสิ่งจริงมันคืออะไร ศึกษาจากอนิจจัง อนิจจังของแท้นั้นเราจะมองเห็นต่อเมื่อเราฝึกดูข้างใน ไม่ใช่มองดูด้วยตาเนื้อ ตาเนื้อมันจะมองออะไรมันก็มองตามสมมุติ
แล้วก็มองดูข้างนอก เห็นข้างนอก แต่ถ้าเราฝึกดูตาในด้วยตาในเมื่อไหร่ นั่นแหละเราถึงจะเห็นของจริง ไม่ทราบว่าเข้าใจหรือเปล่า ถ้าพูดแบบนี้ว่า ดูด้วยตาใน”
(ช) ตาในอยู่ตรงไหนครับอาจารย์
(อ) นั่นน่ะสิคะตาในอยู่ตรงไหน ตาในอยู่ตรงไหนใครนึกออกได้บ้าง
(ช) อยู่หลังตาเนื้อ มั้งครับ
(อ) ่ใช่ มันต้องอยู่หลัง อยู่หลังตาเนื้อตรงใดตรงหนึ่ง ถ้ามีรูปภาพที่เขียนเกี่ยวกับดวงตา ธรรมะแบบนี้เขามักจะเอาไว้ที่หน้าผาก เขาเรียกเป็นดวงตาที่ 3 และที่เขามาใส่ที่หน้าผากนั้นก็เท่ากับว่าเป็นการสมมุติอีกอัน สมมุติว่ามันอยู่ตรงนี้ คือมันออกมาจากข้างใน นั่นก็คือว่า ตาในนั้นก็เป็นดวงตาของธรรม คือดวงตาแห่งธรรม มันเป็นดวงตาของปัญญา ที่เราพัฒนามาเรื่อย ๆ
เราพัฒนาจากการฝึกดูความไม่เที่ยง ความเป็นอนิจจังของทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราฝึกที่จะดูข้างในแล้วล่ะก็ เราจะดูข้างนอกน้อยลง ถ้าตราบใดที่เราดูข้างนอกมากขึ้น เราก็จะอยู่กับแต่ไอ้ความรู้สึกที่ว่าคอยวิพากคอยวิจารณ์ คอยวิเคราะห์คอยตัดสิน แล้วก็เกณฑ์ทั้งหลายที่เราใช้ในสิ่งเหล่านั้นก็จะอยู่บนพื้นฐานของตัวเราเป็นสำคัญ
(ช) วันนี้อยากให้อาจารย์ได้ฝากวิธีดูตาในสั้นๆ สักข้อหนึ่งก่อน แล้วก็ครั้งต่อไปจะได้คุยต่อ
(อ) ตาในหรือคะ การดูตาในสั้นๆ การที่จะพัฒนาตาในให้เกิดขึ้น ดูด้วยวิธีข้างในนั่นก็คือว่า ดูจิต ดูจิตดูใจของเรา แต่จิตหรือใจนี้ก็ต้องไม่ใช่หัวใจ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าหัวใจนั้นเป็นสิ่งหนึ่งของร่างกาย มันเป็นเรียกว่าเป็นรูปธรรม มันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมันก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องของจิตที่เราไม่เห็น แต่ว่าจิตที่เราไม่เห็นมีเรารู้สึกได้
แล้วก็จิตนั้นจะเป็นอย่างไร จะมีธรรมชาติอย่างไร สังเกตดูได้จากความคิด จากการรู้สึก เคยสังเกตไหมคะ ปุ๊บนึงนี้เราชอบคิดไปเรื่องอะไร คิดไปในทางไหน นั่นแหละธรรมชาติของจิตเราเป็นอย่างนั้น แล้วก็เราชอบรู้สึกอย่างไร ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิต มันเป็นอย่างไร มันออกมาในลักษณะไหน เย็นหรือร้อน รัก โกรธเกลียด กลัว อิจฉาริษยา พอใจไม่พอใจ จะเอาไม่เอา อะไรต่างๆ เหล่านี้ นี่มันแสดงลักษณะภาวะอาการที่เกิดขึ้น แล้วมันจะแสดงธรรมชาติของจิตของเราว่าเป็นอย่างไร
ถ้าคนเราอยากจะทราบว่าธรรมชาติลักษณะนิสัยของเราจิตใจเรานี้เป็นอย่างไร ก็ดูเถอะว่าเราชอบคิดในเรื่องอะไร คือมันมีความโน้มเพียงที่จะคิดไปในทางไหน มันมีความโน้มเอียงที่จะรู้สึกไปในทางอย่างไร เช่น มันร้อนเร็ว มันเย็นเป็นปกติได้อยู่เสมอๆ อย่างนี้เป็นต้น
แล้วก็จะเห็นได้ว่าคนเรานี้มีความคิดความรู้สึกไม่ค่อยจะเหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละคน อย่างตัวอย่างง่ายๆ ว่า อย่างเรานั่งรถไปด้วยกัน ไปในชนบทแล้วก็มองเห็นกระท่อมอยู่ข้างทาง กระท่อมนี้มันก็ตั้งอยู่โดดเดี่ยวข้างทาง คนหนึ่งก็อาจจะบอกว่ากระท่อมนี้มองดูแล้วโรแมนติกดีจังเลย ถ้าเราได้มากับคนที่เราชอบ เราคงจะได้อยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุขมากเลยที่ตรงนี้
แต่อีกคนหนึ่งก็อาจจะเห็นว่าใครนะช่างไปสร้างกระท่อมอย่างนั้นได้ ทุเรศจะตาย สับปะรังเคอยู่ไปได้ยังไง นี่เราก็นึกได้เลยว่าคนที่พูดอย่างนี้คิดอย่างนี้ เมื่อเห็นเข้า แสดงว่าเขามีพื้นฐานอย่างไร
หรืออีกคนอาจจะบอกว่า ที่ตรงนั้นกระท่อมหลังนั้น ตั้งอยู่เหมาะเจาะจริงๆ มันสงบเงียบ มันสบาย ถ้าได้ไปทำสมาธิที่ตรงนั้นมันคงจะได้ความวิเวกทั้งกายและทางจิต
เห็นไหมคะว่าเพราะดูข้างนอกการที่ดูข้างนอกมันทำให้เกิดความรู้สึกเกิดความคิดต่างๆ นานา แล้วก็พร้อมที่จะไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ การตัดสิน โดยอยู่บนพื้นฐานของอัตตาของแต่ละคน
แต่ถ้าเราฝึกดูข้างใน เราจะพร้อมด้วยสติและปัญญา ความรู้สึกที่จะทำให้เกิดความโน้มเอียงไปไหนทางที่ไม่ถูกต้อง มันจะไม่เป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นถ้าหากว่าเราจะฝึกตาใน คือฝึกพัฒนาให้ตาในเกิดขึ้น ที่เราเรียกได้ว่าเป็นดวงตาของธรรมะ หรือว่าดวงตาแห่งปัญญา ก็จะต้องฝึกดูข้างใน แล้วก็ศึกษาจากข้างใน จากที่ร่างกายของเรานี้ แล้วก็จากจิต ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตของเราอยู่ทุกขณะ ตาในนั้นก็จะมีโอกาสที่พัฒนาแจ่มใส สว่างไสวมากยิ่งขึ้นตามลำดับ
เพราะฉะนั้นก็หวังว่าเราคงจะทดลองดูนะคะ เราก็ศึกษาข้างนอกมามากแล้ว เพราะฉะนั้นก็ลองศึกษาข้างในดูบ้าง บางทีจะเห็นผลว่ามันต่างกันก็ได้ แล้วก็หวังว่าท่านผู้ชมคงจะลองดูนะคะ ถ้าหากว่าคิดว่าจะได้ลองใช้ตาในทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต ธรรมะสวัสดีค่ะ