แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ แด่ท่านผู้ชมทุกท่าน รายการวันนี้คือพุทธธรรม พุทธทาสนะคะ เมื่อคราวที่แล้วเราได้พูดกันถึงเรื่องว่าพุทธธรรมคืออะไร พุทธทาสคืออะไร แล้วก็เราจะนำพุทธธรรม มานำชีวิตได้อย่างไร แล้วในตอนท้ายก็ได้พูดถึงว่า ถ้าเราต้องการที่จะนำพุทธธรรมมานำชีวิต ก่อนอื่นเราก็ควรจะต้องรู้ว่าชีวิตคืออะไร แล้วเราก็ได้พูดกันบ้างแล้ว บางคนบอกว่าชีวิตก็คือคน หรือเจี๊ยบก็บอกว่าชีวิตคือทาส แล้วก็ชีวิตคือความไหลเรื่อย ทีนี้ก็อยากจะลองถามอีกสักนิดนะคะว่าแล้วชีวิตนี่ ถ้ามีใครถามว่าชีวิตนี้มีแก่นสารไหม จะตอบว่าอย่างไร เจี๊ยบก่อนดีกว่า ชีวิตนี้มีแก่นสารไหม
ผู้ร่วมสนทนา: คิดว่ามี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มียังไง
ผู้ร่วมสนทนา: มีแก่นสารก็คือ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แก่นสารของชีวิตอยู่ตรงไหน
ผู้ร่วมสนทนา: แก่นสารของชีวิตคือจุดมุ่งหมายในชีวิตว่าเราเกิดมาแล้ว เราต้องการที่จะทำอะไรให้กับชีวิตบ้าง อุบาสิกา คุณรัญจวน: นั่นก็คือเราควรจะรู้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาทำอะไร ทีนี้อันนั้นก็เป็นความหมายของว่าเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร ทีนี้ถ้าถามว่าชีวิตนี้มีแก่นสารไหม
ผู้ร่วมสนทนา: มี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มียังไง
ผู้ร่วมสนทนา: มีตรงที่เราได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แก่นสารของชีวิตอยู่ตรงนั้น
ผู้ร่วมสนทนา: ตรงที่เราได้ใช้ตัวเราเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นประมาณอย่างนี้หรือเปล่าครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าหากว่าเราได้ทำอะไรที่ได้เป็นประโยชน์ ไม่เฉพาะแต่กับตัวเอง แต่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือแก่สังคม ก็จะบอกว่าชีวิตนี้มีแก่นสาร ทีนี้ในการที่ทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น แล้วตัวเราเองล่ะ เราได้รับประโยชน์จากชีวิตนั้นด้วยหรือเปล่า จากการกระทำนั้นด้วยหรือเปล่า เคยคิดบ้างไหมคะ เราได้รับอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: เราทำประโยชน์ให้คนอื่น เราก็มีความสุขอยู่แล้วที่ได้ทำให้คนอื่น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วก็ในความสุขนั้นน่ะ มีความทุกข์เจือปนอยู่ด้วยหรือเปล่า เคยคิดบ้างไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ก็อาจจะมีบ้าง บางครั้งก็ไม่น้อยเหมือนกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็อย่างนี้จะเรียกว่ามันเป็นประโยชน์อย่างทั่วถึงอย่างแท้จริงได้ไหม
ผู้ร่วมสนทนา: คงไม่ ไม่อาจพูดอย่างนั้นได้ครบถ้วน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพราะ
ผู้ร่วมสนทนา: เพราะว่าเรายังมีทุกข์อยู่จากการที่เราได้ทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพราะผู้ที่กระทำนั้นน่ะ ยังไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะถ้าได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงแล้วคนอื่นเขาเป็นสุข เราก็ควรจะสุขด้วย แต่ทีนี้ทำไมถึงไม่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดว่าชีวิตนี้เป็นแก่นสาร แล้วก็อยู่ที่การได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น อันนี้ก็ถูก แต่ก็ถูกครึ่งหนึ่งยังไม่ถูกทั้งหมด ใช่ไหมคะ ถ้าจะให้ว่าชีวิตนี้ให้มีแก่นสารจริง แก่นสารนั้นควรจะอยู่ที่ตรงไหน
ผู้ร่วมสนทนา: นึกไม่ออกครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อยู่ที่ใจ อยู่ที่ใจที่มีการกระทำอันถูกต้อง คือการกระทำอันถูกต้องก็หมายความว่าเป็นการกระทำที่ทำแล้ว ไม่ทำให้ผู้กระทำมีใจที่เป็นทุกข์ ผู้กระทำมีใจอย่างที่บอกว่าเป็นสุข ก็เป็นสุขด้วยความพอใจ ด้วยความชื่นบานในการกระทำของเรา แล้วก็ไม่ว่าการกระทำนั้น ผลมันจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ แต่ว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่มุ่งเพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่น และใจ ใจของผู้นั้นก็สบาย ก็เรียกว่าเข้าถึงแก่นสารที่แท้จริงของชีวิต ก็คือแก่นสารในทางธรรมนั่นเอง แต่ถ้าหากว่าบางคนบอกว่า ชีวิตนี้ก็มีแก่นสาร แล้วก็มองดูความมีแก่นสารของชีวิตด้วยตาเนื้อ ก็จะไปมุ่งเอาที่ความสุขที่เราได้รับในทางวัตถุ เรามีสิ่งบำรุงบำเรอพร้อม ก็จะบอกว่านี่เป็นความสุขแล้ว ฉะนั้นที่เข้าใจว่าชีวิตคือแก่นสารอยู่ที่การกระทำที่ถูกต้อง อันนี้ก็ดี แต่อีกอันหนึ่งก็อย่าลืมว่าคำตอบในคราวที่แล้วที่เราพูดว่าชีวิตนี้คือธาตุ ถ้าเรามองความหมายว่าชีวิตนี้คือธาตุ ชีวิตนี้จะมีแก่นสารไหม
ผู้ร่วมสนทนา: มี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มียังไง เพราะถ้าเป็นธาตุแล้ว ผลที่สุดทุกอย่างที่เรามองเห็นอยู่นี่ใช่ไหมคะ ที่ว่าเป็นรูป เป็นกายที่มีอยู่ ผลที่สุดมันก็เป็นไง
ผู้ร่วมสนทนา: มันก็ตาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มันก็สลายไปตามธรรมชาติ โดยมันสลายกลับไปสู่ธรรมชาติ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มันก็กลับไปสู่ธรรมชาติหมด อากาศธาตุมันก็หมดสภาพของมันไป วิญญาณธาตุมันก็ไปตามวิญญาณธาตุ มันก็หมดสภาพของมันไปตามเรื่อง
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะมองในแง่ว่าชีวิตนี้คือธาตุ ก็จะมองเห็นว่าเพื่อจะเป็นเครื่องเตือนใจให้เห็นถึงความจริงว่า ใครก็ตามที่ยังยึดเอารูปร่างที่มองเห็น หน้าตาที่มองเห็นนี่ว่าเป็นอัตตา เป็นตัวฉัน แล้วก็ยึดมั่นถือมั่น ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยง จะเอาทุกอย่างให้ได้อย่างตัวฉัน เพราะคิดว่าตัวฉันนี้เป็นแก่นสาร เป็นจริงเป็นจัง อันนี้ก็ไม่ถูก ไม่ใช่ เพราะว่าจะยิ่งทำให้ชีวิตนั้นน่ะเต็มไปด้วยความทุกข์ คือจิตใจนั้นเต็มไปด้วยความทุกข์ยิ่งขึ้น ฉะนั้นถ้าเรามองเห็นลงไปให้ลึกซึ้งแล้วล่ะก็ จริงๆ แล้วชีวิตนี้มีแก่นสารไหม
ผู้ร่วมสนทนา: ดูเหมือนว่าจะไม่มี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่มีแก่นสาร ไม่มีแก่นสารเมื่อเรามองด้วยตาใน แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอะไรเลย มันก็ยังมีอยู่ คือมันมีอยู่ที่การกระทำที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าชีวิตนี้เกิดมาทำไม เราพูดกันมาถึงจุดนี้แล้วก็เกือบจะไม่มีคำตอบใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: เกิดมาทำไม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ก็รู้แล้วใช่ไหมคะว่าเราเกิดมาทำไม ในขณะที่คนไม่น้อยเลย ถ้าถามว่าชีวิตนี้เกิดมาทำไม เขาอาจจะตอบมาตั้งหลายอย่างว่าเกิดมาทำไม เช่น นักกินก็ต้องบอกชีวิตนี้เกิดมาเพื่อกิน ใช่ไหมคะ นักดื่มชีวิตนี้ก็เกิดมาเพื่อดื่ม เช้าฮาเย็นเฮ หรือยังอีกตั้งหลายๆ อย่าง ชีวิตนี้เพื่ออะไร ชีวิตนี้เกิดมาทำไม หรือบางคนที่เป็นนักเรียน นักศึกษา เดี๋ยวนี้เราก็จะเห็นว่าสิ่งที่เป็นยอดปรารถนาของคนหนุ่มคนสาวในปัจจุบันนี้อย่างหนึ่งก็คือปริญญา ฉะนั้นถ้าชีวิตนี้เกิดขึ้นมาทำไม เกิดเพื่อเรียนเอาปริญญา ต้องให้ได้ปริญญา ถ้าไม่ได้ปริญญาชีวิตนี้มันไม่มีความหมาย จริงหรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา: แต่สังคมยุคนี้ คนส่วนใหญ่ก็คิดอย่างนั้นนะครับ ไม่มีปริญญาก็หางานก็ลำบาก หรือมีปริญญาก็ยังหางานทำลำบากเหมือนกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วก็การที่คนเราจะอดตาย หรือไม่อดตาย ที่ว่าอดตายน่ะเพราะเหตุว่าไม่มีงานทำ มันเพราะปริญญาหรือเพราะอะไรอย่างอื่น เพราะมีปริญญาหรือเพราะไม่มีปริญญา เราจะเห็นคนที่ได้รับความสำเร็จในชีวิตในทุกวันนี้ก็ไม่ใช่คนมีปริญญากันทุกคน เพราะฉะนั้นถ้าจะว่าไปแล้วปริญญาเป็นแต่เพียงส่วนประกอบอย่างหนึ่ง แล้วปริญญานี้จะมีความหมายต่อชีวิตก็ต่อเมื่อเรารู้จักที่จะนำปริญญานี้มาใช้อย่างไร แต่ถ้าสมมุติว่าปริญญานี้ก็คือศักดิ์ศรีที่ได้รับมาแล้วเพราะมีใบปริญญาบัตรประกอบอยู่ แล้วจะไปที่ไหนก็จะอธิบายคนด้วยปริญญาบัตร อย่างไรเสียปริญญานั้นก็ไม่มีความหมาย เพราะมันทำให้เกิดการกระทำขึ้นมาไม่ได้ จนเรานำเอาความรู้ที่เราได้รับมาจนกระทั่งได้รับปริญญานั้นน่ะ มาทำให้เกิดเป็นการกระทำ เพราะในระหว่างที่เราเรียนศึกษา แน่นอนทีเดียวสติปัญญาต้องเพิ่มพูนขึ้น ประสบการณ์ต้องเพิ่มพูนขึ้น นั่นแหละคือตัวปริญญาที่แท้จริง แต่ถ้าจะว่าไปแล้วความเป็นบัณฑิตที่แท้จริง มันก็อยู่ที่ว่าทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าอยู่อย่างบัณฑิต ใช่ไหมคะ อยู่อย่างบัณฑิต แล้วก็ทำอย่างบัณฑิต ดำรงชีวิตอย่างบัณฑิต นั่นแหละบัณฑิตที่แท้จริง ปริญญาบัตรเป็นแต่เพียงส่วนประกอบ
ถ้าเป็นบัณฑิตที่แท้จริงเมื่อไหร่ ก็ต้องรู้แล้วว่าเกิดมาทำไม เพราะฉะนั้นบางคนก็อาจจะบอกว่าเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่อเรียน เพื่อเอาปริญญา เอาปริญญาทำไม ก็เพื่อจะได้มีเกียรติ เป็นคนมีเกียรติ นี่นะคะ ถ้าหากว่าเราคิดไป ท่านผู้ชมที่กำลังฟังเราพูด ก็คงจะมองเห็น แล้วก็บางทีหลายท่านอาจจะใคร่ครวญว่าแท้ที่จริงเกียรติของคนอยู่ที่ไหน เกียรติของคนอยู่ที่ไหน เคยคิดไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: อยู่ที่ได้รับความสำเร็จในชีวิตไหม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เกียรติของคนอยู่ที่ได้รับความสำเร็จในชีวิต จะต้องตีความหมายอีก
ผู้ร่วมสนทนา: อยู่ที่การวางตัวไหมคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อยู่ที่การวางตัว การวางตัวยังไง ลองขยายความหน่อยสิคะ
ผู้ร่วมสนทนา: อยู่ที่การกระทำ เราทำตัวเรา พฤติกรรมของเราเอง ทำตัวให้คนเขานับถือเรามากแค่ไหน พอเขานับถือเรามาก เขาให้เกียรติเรามาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าเขาจะนับถือ เขาก็นับถือที่การกระทำใช่ไหม ที่พูดเมื่อกี้ อยู่ที่การกระทำ นั่นก็คือเกียรติของคนก็อยู่ที่การกระทำที่ถูกต้องใช่ไหม ถ้าจะพูดโดยสรุป เกียรติของคนอยู่ที่การกระทำที่ถูกต้อง ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไร จะเกิดจากตระกูลอย่าง อย่างไหน ขนาดไหน จะมีปริญญาหรือไม่ อันที่จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนประกอบ แต่ที่สำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตที่สุดคือการกระทำที่ถูกต้อง และเมื่อเราพูดถึงการกระทำที่ถูกต้อง เราก็ต้อง ต้องไม่ลืมที่จะขยายความว่าการกระทำที่ถูกต้องที่เรากำลังพูดกันนี้หมายถึงอะไรคะ การกระทำที่ถูกต้องที่เรากำลังพูดกันนี้หมายถึงอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: ก็ประพฤติตัวเป็นคนดีอะไรอย่างนี้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ถูก การประพฤติตัวเป็นคนดีก็ถูก
ผู้ร่วมสนทนา: ทำความดี ไม่ทำความชั่ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็อย่าลืม ยังต้องย้อนถามอีกว่าทำความดีแล้วเป็นทุกข์ไหม ยังทุกข์อยู่หรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา: ต้องไม่ให้ทุกข์สิครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ต้องไม่ให้ทุกข์ด้วย เพราะฉะนั้น การกระทำที่ถูกต้องก็คือการกระทำที่เกิดประโยชน์ เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้กระทำด้วย เราจะต้องพยายามที่จะขยายความให้สู่ความหมายอันนี้เสมอ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะการกระทำที่ถูกต้องคือทำแล้วต้องไม่เป็นทุกข์ ถ้าทำแล้วเป็นทุกข์ล่ะก็ ถึงแม้จะเป็นคนดีเพียงใดก็ตาม ก็ยังน่าสงสารอยู่นั่น แล้วยิ่งน่าสงสารมากด้วย เพราะอะไร ลงทุนลงแรงทำความดีเหน็ดเหนื่อยสารพัดเลย แล้วเสร็จแล้วก็ต้องมาเป็นทุกข์ เขาเรียกว่าเหนื่อยหลายต่อ เจ็บก็เจ็บหลายต่อ เพราะฉะนั้นมันไม่คุ้มกัน
ผู้ร่วมสนทนา: งั้นอย่าทำดีกว่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ไม่ถูกอีกเหมือนกัน มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าเรามาตกลงกันว่าทำความดีแล้วทุกข์ ก็อย่าทำความดีเลย แล้วเราจะอยู่กันได้อย่างไร สังคมในขณะนี้ เรียกว่าเร่าร้อนอยู่แล้ว มันก็จะร้อนยิ่งขึ้น ในขณะนี้ก็ต้องบอกว่าเรามีคนดีอยู่มากในสังคมนี้ แต่ว่าจะทำยังไงถึงจะทำให้คนดีของเราไม่เป็นทุกข์ คือทำความดีแล้วไม่เป็นทุกข์ ตรงจุดนี้ถ้าเราหันมาศึกษาธรรมะแล้วก็สามารถนำพุทธธรรมเข้านำชีวิต มาอยู่ในชีวิตได้ ก็จะสามารถทำความดีได้อย่างถูกต้องคือทำแล้วไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นเกิดมาทำไม ก็เกิดมาเพื่อที่จะฝึกให้มีการกระทำที่ถูกต้อง เพื่อที่ว่าชีวิตนี้จะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่คือสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงนำมาบอกกล่าวเรา แล้วก็ทรงปรารถนาเหลือเกินที่จะเห็นเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายนี่ได้อยู่กันได้โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ฉะนั้นที่บอกว่าชีวิตเกิดมาทำไม แล้วเกิดมาเพื่ออะไร เราอาจจะพูดกันได้หลายอย่าง พูดกันได้มากๆ เลย แต่เราก็ควรจะคิดให้ชัดๆ ว่าเราควรจะเกิดมาทำไม แล้วชีวิตนี้มันจึงจะคุ้มค่าแก่การเกิดมา ถ้าหากว่าจะมีคนที่ยังอยากจะแย้งว่า ก็ถ้าหากว่าอย่างนั้นแล้วล่ะก็ ไม่ต้องทำอะไรเลยสิ ไม่ต้องเรียนหนังสือ ไม่ต้องศึกษา ไม่ต้องทำงาน ใช่หรือเปล่า เห็นด้วยไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ครับ รู้สึกจะเป็นอย่างนั้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: รู้สึกจะเป็นอย่างนั้น เห็นด้วยหรือคะ
ผู้ร่วมสนทนา: เหมือนกับว่าถ้าคนส่วนหนึ่งก็คงต้องรู้สึกท้อล่ะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำไมถึงท้อล่ะ
ผู้ร่วมสนทนา: ท้อว่าถ้าอย่างนั้นก็อย่าไปทำซะเลยอย่างที่ว่า เพื่อที่ว่าเมื่อไม่ทำเสียเลยก็จะได้ไม่ต้องผิดครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อย่างที่ว่าผู้ที่ไม่ทำก็คือผู้ที่ไม่ผิด แล้วก็มีเกียรติไหมล่ะคะ ยกย่องไหมคนอย่างนั้น คนที่ไม่ทำอะไรเสียเลยนั่งอยู่เฉยๆ
ผู้ร่วมสนทนา: บางคนทำดี ทำดีแทบตาย ทำทุกอย่าง แต่คนเขากลับมองเห็นตรงกันข้าม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นี่แหละเราต้องวนกลับมาอีกแล้วไหม ต้องวนกลับมาอีกแล้วไหม ต้องวนกลับมาเพราะอะไร ก็เพราะว่าเมื่อทำดีแล้วก็ยังยึดมั่นถือมั่นในความดีนั้นว่าความดีนั้นเป็นของฉัน ฉันเป็นคนทำเพราะฉะนั้นผลที่เกิดจากความดีนั้นต้องเป็นของฉัน พอเผอิญมีใครมามือยาว ยึดเอาความดีนั้นไปเท่านั้นเอง ฉันนี้เป็นทุกข์แล้ว เป็นทุกข์เพราะว่าผิดหวัง เศร้าหมอง เสียใจ เพราะเขามาแย่งเอาความดีของฉันไป นี่ก็ไม่ใช่การกระทำที่ถูกต้องในทางธรรม
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราเกิดมาแล้วเราไม่ทำอะไรนะคะ โลกนี้จะอยู่ได้อย่างไร เราจะมีกิน มีอยู่ มีใช้ แล้วก็มีความผาสุกพอสบายๆ กันได้อย่างไร ในทางธรรมเมื่อเราหันเข้าหาในทางธรรมะ ไม่ได้หมายความว่าเรางอมืองอเท้าไม่ทำอะไร ไม่ใช่อย่างนั้น ตรงกันข้ามเลยกลับจะต้องทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ เต็มฝีมือความสามารถให้ดีที่สุดอยู่เสมอ พร้อมๆ กับที่ฝึกใจของตน ทำเพื่อทำ คือทำเพื่องาน ทำงานเพื่องาน ทำความดีเพื่อความดี อันนี้แหละจึงจะเป็นการกระทำที่ถูกต้องที่แท้จริง ฉะนั้นเกิดมาทำไม เกิดมาทำไม
ผู้ร่วมสนทนา: เกิดมากระทำสิ่งที่ถูกต้องครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เกิดมาเพื่อฝึกกระทำสิ่งที่ถูกต้อง แล้วก็กระทำสิ่งนั้นให้ได้ ให้มีการกระทำที่ถูกต้อง แล้วทีนี้ล่ะเราจะต้องแย่งกันไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่ต้องแย่งแล้วครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ต้องแย่ง ต่างคนต่างก็ทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ก็ไม่ต้องมีการแย่งกันเลย พอไม่แย่งเท่านั้นแหละชีวิตจะมีความหมาย อย่างที่ท่านกล่าวว่าโลกพระศรีอารย์เคยได้ยินไหมคะ โลกพระศรีอารย์ ทำไมคนถึงอยากให้เป็นโลกพระศรีอารย์
ผุ้ร่วมสนทนา: ไม่ต้องแย่ง ไม่มีความทุกข์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำไมถึงไม่มีความทุกข์ จำได้ไหมคะ ที่ได้ยินท่านทั้งหลายเล่ากันมา
ผู้ร่วมสนทนา: เป็นโลกที่คนทุกคนจะมีจิตใจที่ดีพร้อม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เมตตากรุณาซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่เบียดเบียนกัน เพราะฉะนั้นนี่แหละที่เราบอกว่า เมื่อไหร่ที่จะถึงโลกพระศรีอารย์ เพราะเราหวังว่าเวลานั้นน่ะ คนจะไม่เบียดเบียน ก็เท่ากับว่าแปลความหมายว่าเวลานี้ คนเบียดเบียนกันมาก เพราะเราไม่รู้จักที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันเท่าที่ควร ก็ยังมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอีก แต่ถ้ามีมากกว่านี้ก็จะมีความสุขเย็นมากยิ่งขึ้น
ฉะนั้นโลกพระศรีอารย์จะเกิดขึ้นได้เพราะอะไร ก็เพราะเมื่อคนรู้จักการกระทำที่ถูกต้อง อย่างเรานั่งอยู่ด้วยกัน 4 คนนะคะ ถ้าเราฝึกกระทำสิ่งที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นอยู่เสมอทุกขณะ เราอยู่ในครอบครัวเดียวกันก็เชื่อว่าเราทุกคนจะไม่มีความทุกข์ ใครถนัดทางไหนต่างก็ทำในสิ่งที่ตนถนัดให้เต็มฝีมือความสามารถ ทุกคนต่างก็ทำ แล้วก็อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ไม่มีการเบียดเบียนกัน ก็มีแต่ความสุขสงบเย็น แล้วก็ครอบครัวอีกต่อๆ ไป จาก 1 ครอบครัวเป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 ก็ทำในลักษณะเดียวกัน นี่โลกพระศรีอารย์เกิดขึ้นแล้วในสังคม ถ้าสังคมนั้นมีการกระทำเช่นนี้แผ่กว้างไปอีก โลกพระศรีอารย์ก็เกิดขึ้นแล้วในชาติบ้านเมือง ถ้าชาติบ้านเมืองอื่นๆ ทำเหมือนกันอีก โลกพระศรีอารย์ก็เกิดขึ้นแล้วในโลก ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย
เพราะฉะนั้นโลกพระศรีอารย์นี่ เจ้าประคุณท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุท่านบอกว่าอยู่ที่ปลายจมูกนี่เอง เห็นไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ปลายจมูกของเรานี่เอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ปลายจมูกเรามองเห็นไหมคะ เราบอกอยู่แค่ที่ปลายจมูกนี่ แต่ว่าเรามองดูสิคะ
ผู้ร่วมสนทนา: มองไม่เห็นครับ เห็นไรๆ แต่ไปไม่ถึงเสียที
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็นั่นน่ะสิ เราถึงว่าเพราะอะไรท่านถึงเปรียบว่าอยู่แค่ปลายจมูก เพราะคนทั้งหลาย ปลายจมูกอยู่ชิดตัว แต่ไม่ค่อยมองเห็นเลย มักจะมองข้าม โน่น กระโดดไปเห็นโน่น เห็นนี่สารพัด ไกลจนถึงไหนๆ ก็เห็น แต่อยู่ที่ปลายจมูกเนี่ยไม่เห็น เพราะฉะนั้นเราก็เลยเบียดเบียนกันต่อไป เพราะเรามองข้ามสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตออกไปเสีย เราก็เลยมองไม่เห็น ฉะนั้นลองสรุปสิคะว่าชีวิตเกิดมาทำไม
ผู้ร่วมสนทนา: เกิดมาเพื่อกระทำสิ่งที่ถูกต้อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ เพื่อ เพื่อกระทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์ อยู่ร่วมกันได้ด้วยความผาสุก แล้วก็ไม่ต้องกลัวหรอกว่าเราจะขาดโน่นขาดนี่ เพราะว่าเมื่อใจมันรู้สึกว่าเต็ม มันก็ไม่มีอะไรขาด ถึงแม้ว่าบางสิ่งบางครั้งมันจะขาดไปตามเหตุปัจจัย แต่ใจก็ไม่รู้สึกว่ามันขาด เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่เราน่าจะใคร่ครวญอยู่บ่อยๆ ว่าชีวิตนี้เกิดมาทำไม แล้วก็เกิดมาเพื่ออะไร ทั้ง ๆ ที่มนุษย์ส่วนใหญ่ก็จะใฝ่หาเสมอว่าสิ่งที่เป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ ที่เราพูดกันนี่คืออะไร
ผู้ร่วมสนทนา: ความสุข
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ความสุข เพราะฉะนั้นคราวหน้าเราจะพูดกันว่าความสุขที่เรียกว่าความสุขนี่ มันคืออะไร แล้วความสุขที่เราไขว่ ไขว่คว้าหาคืออะไร แล้วเราจะได้จริงหรือเปล่า แล้วก็อยู่ที่ไหน สำหรับวันนี้ก็ขอให้ธรรมสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ชมทุกท่านนะคะ แล้วก็กับพวกเราทุกคนด้วยนะคะ