แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีค่ะ รายการพุทธธรรม-พุทธทาส ซึ่งเป็นรายการที่เราสนทนากันเกี่ยวกับเรื่องของธรรมะนะคะ ตามความสนใจของท่านผู้ชมที่ได้เคยถามมาบ้างและก็ของพวกเราที่คิดว่า เผื่อว่าการสนทนานี้อาจจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ชมได้บ้าง วันนี้จะสนทนาอะไรต่อ
ผู้ดำเนินรายการ : คืออาจารย์ครับ เราพูดถึงพุทธธรรมมาก็มากแล้วนะครับ สุดท้ายนี่เราชื่อรายการพุทธธรรม-พุทธทาสนี่ ทางด้านพุทธทาสนี่แทบไม่ได้พูดถึงเลย อยากขอความกระจ่างว่า คำว่าพุทธทาสที่แท้นั้น หรือว่าเราเป็นพุทธทาสกันได้อย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : พุทธทาสที่แท้จริงนี่จะหมายความว่าอย่างไร ก็อย่างที่เคยอธิบายไว้คราวหนึ่งตอนที่เราพูดถึงงานสัปดาห์พุทธธรรม-พุทธทาสว่า พุทธทาสที่แท้จริงก็มีได้ ๒ นัย คือนัยหนึ่งก็หมายถึงตัวบุคคลที่ตั้งใจจะเป็นพุทธทาสด้วยการที่เมื่อรู้ธรรมะ ฝึกฝนปฏิบัติธรรมะแล้ว ก็อุทิศชีวิตที่จะเผยแผ่ธรรมะ เจริญรอยตามพระยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นก็เป็นพุทธทาสที่เราเห็นในแง่ของบุคคล ทีนี้อีกนัยหนึ่งก็คือหมายถึง ผู้ที่อย่างเราๆ อย่างนี้นะคะ ท่านผู้ชมด้วย ที่จะเป็นพุทธทาสได้ด้วยการน้อมใจลงเป็นทาสของพระธรรม คือของพระพุทธะ คือพระผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งจะเป็นได้นี่ก็หมายความว่า เราจะต้องปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่ท่านได้ทรงแนะนำบอกกล่าวเอาไว้ ทีนี้ถ้าหากว่าจะเป็นพุทธทาสที่แท้จริงจะทำอย่างไร ก็ต้องเข้าใจพุทธรรมให้ถูกต้อง ก็อย่างที่เราพูดๆกันมาแล้ว อย่างคราวที่แล้ว คราวก่อนนั้นเราพูดกันถึงเรื่องของบุญ ผู้มีบุญที่แท้จริงคือยังไง ถ้าเราเข้าใจอันนี้ได้แท้จริงถูกต้อง แล้วเราก็ปฏิบัติตามนั้นก็เป็นพุทธทาส คือผู้มีบุญก็คือ ผู้ที่สามารถพัฒนาจิตให้มีสัมมาทิฏฐิ หรืออย่างคราวที่แล้วที่เราพูดกันถึงเรื่องของกรรม การเป็นพุทธทาสที่แท้จริงก็พยายามที่จะศึกษาในเรื่องกรรมของพระพุทธศาสนา จนเข้าใจว่ากรรมของพุทธศาสนานั้น สอนสูงสุดไปจนกระทั่งถึงการทำกรรมเพื่อสิ้นกรรม กรรมนั้นคือการกระทำ และการกระทำเพื่อสิ้นกรรม เพื่อเหนือกรรม เรียกว่าสิ้นสุดแห่งกรรม จนเหลือแต่เพียงการกระทำ ไม่ชวนให้ยึดมั่นถือมั่น นี่ก็เรียกว่าเป็นจิตที่มีสัมมาทิฏฐิ แล้วก็พยายามที่จะดำเนินรอยตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเมื่อหันเข้ามาหาธรรมะก็มุ่งอยู่ที่คำสอนที่เรียกว่าใบไม้กำมือเดียว จำได้ใช่ไหมคะ คืออะไรนะ
ผู้ดำเนินรายการ : เรื่องของทุกข์ ดับทุกข์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ เมื่อหันเข้ามาธรรมะ เรียกว่าหันเข้าวัดก็เพื่อปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพื่อที่จะต้องการธรรมะมาเพื่อประโยชน์อื่น แต่เพื่อที่จะเอาธรรมะนั้นมาดับความร้อนที่จิต คือศึกษาเรื่องของความทุกข์ จนรู้จักมัน และก็กำจัดมันให้สิ้นไปจากจิต ถ้าหากว่าเรามุ่งหน้าแต่ปฏิบัติอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นพุทธทาสที่แท้จริง
ผู้ดำเนินรายการ : คือโดยไม่จำเป็นทุกคนต้องมาเข้าวัด บวชเป็นพระ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่จำเป็นหรอกค่ะ ถ้าหากว่าเราได้รับคำสอนที่ถูกต้อง เราแสวงหาคำสอนที่ถูกต้องและปฏิบัติตามนั้น รู้วิธีแล้ว จะปฏิบัติที่ไหนก็ได้ อยู่บ้านก็ได้ อยู่วัดก็ได้ หรือจะปฏิบัติตามถนนหนทาง เรียกว่าทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ปฏิบัติธรรมที่ไหนถึงว่าปฏิบัติได้ทุกอิริยาบถ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ที่ใจหรือที่จิต คือกำหนดจิตให้อยู่ในธรรม คือให้จิตนั้นอยู่ในความสงบ อยู่ในความเย็น รู้เท่าทันเมื่อกิเลสเข้ามารบกวน กวาดล้างกิเลสออกไป นี่แหละเราปฏิบัติได้ตลอดเวลา โดยใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือ
ผู้ดำเนินรายการ : ทีนี้หลายท่านก็อาจจะอยากเข้ามาฝึกตัวเองให้เป็นพุทธทาสที่แท้กันบ้าง อย่างเช่น อาจจะเริ่มด้วยการอ่านหนังสือ บางท่านก็มีมาถามว่าจะเลือกอ่านหนังสือธรรมะประเภทไหน แนวไหน อย่างไร ใครแต่ง จึงจะเข้าถึงพุทธธรรมที่แท้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายนะคะ อันนี้ก็ขอเรียนกับท่านผู้ชมว่า เราจะเริ่มอ่านหนังสืออะไร นี่สมมติว่าท่านไม่มีครูบาอาจารย์ที่จะสอน แล้วจะต้องหาเอง อ่านเอง ก็จงโปรดดูที่จุดมุ่งหมาย จุดมุ่งหมายนี่สำคัญมาก ถ้าสมมติว่าบางคนหันเข้ามาเพื่อสนใจเกี่ยวกับพระศักดิ์สิทธิ์ อย่างนี้เป็นต้น ก็จะไปมุ่งแสวงหาแต่หนังสือเกี่ยวกับพระใช่ไหม พระพุทธรูปสมัยไหนๆ ว่าอะไร อย่างไร นี่จึงบอกว่าขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมาย หรือถ้าบางท่านหวังเข้ามาเพื่อที่ว่าจะฉันอยากจะมี หูทิพย์ ตาทิพย์ ก็จะแสวงหาหนังสืออะไรมันจะบอกวิธีที่จะทำให้มีหูทิพย์ ตาทิพย์ได้ แต่ถ้าหากว่าผู้ใดหันเข้าหาธรรมะเพื่อหวังที่จะศึกษาเรื่องของความทุกข์ และก็ดับความทุกข์ให้ค่อยๆจางคลายจนสิ้นไป อย่างนี้ก็มีหนังสือเยอะเหมือนกัน ที่จะแนะนำเกี่ยวกับเรื่องของการที่จะทำความเข้าใจกับธรรมะ ก็ต้องเข้าใจว่าเมื่อความทุกข์เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นที่ไหน มันเกิดขึ้นที่จิต เพราะฉะนั้นเมื่อจะดับก็ดับที่จิต อย่างที่ท่านว่าเกิดที่ไหน ดับที่นั่น ฉะนั้นก็ต้องหาหนังสือที่แนะนำเกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาทางจิต ที่เรียกว่าจิตตภาวนา พัฒนาทางจิต มีหนังสือมาก อย่างเช่นของคุณแม่ ก เขาสวนหลวง เคยได้ยินไหมคะ คุณแม่กี เขาสวนหลวง ที่ราชบุรี ซึ่งมีสำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวงที่ท่านสร้างขึ้นนี่ แล้วก็ใครจะไปฟังเทปของท่านสักกี่สิบม้วนหรือเป็นร้อยๆม้วนก็ตาม หรือจะไปอ่านหนังสือที่มีผู้รวบรวมมาพิมพ์เป็นเล่ม ท่านพูดเรื่องเดียว คือเรื่องของการดูจิต เรื่องของจิต ให้รู้จักว่าจิตคืออะไร มีลักษณะอย่างไร และก็เฝ้าดูมัน เรียกว่าดูจิต รู้จิตให้ติดต่อ นี่จำได้ที่ท่านสอน
ดูจิต คือดูสภาวะความเป็นไปของจิต และก็รู้จิต รู้ลักษณะอาการของมัน ว่ามันเป็นยังไง ประเดี๋ยวมันขึ้น ประเดี๋ยวมันลง ประเดี๋ยวมันร้อน ประเดี๋ยวมันหนาว ประเดี๋ยวมันจะเอา ประเดี๋ยวมันจะไม่เอา ตามอำนาจของกิเลส ดูมัน ต้องให้รู้มันและก็ให้ติดต่อ เห็นไหมคะ ไม่ใช่ดูเฉยๆครั้งเดียวแล้วก็ทิ้งไป แล้วก็อีกสัก ๑๐ วันมาดูใหม่ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ทันกัน นี่ดูจิตรู้จิตให้ติดต่อ ท่านจะต้องบอกอย่างนี้ เพราะฉะนั้นหนังสือที่คุณแม่ ก เขาสวนหลวงท่านเขียนนี่ ก็พูดถึงเรื่องจิตโดยตรง จะแนะนำวิธีพัฒนาจิตโดยตรง ถ้าหากว่าท่านผู้ใดลองไปหาอ่านนะคะ หรือไปหาเทปมาฟัง แล้วก็ถ้าหากว่าพอใจ คือว่ารู้สึกว่าวิธีสอนของท่าน วิธีบอกของท่านถูกกับอัธยาศัย ก็ลองอ่านศึกษาแล้วก็เอามาใคร่ครวญ แล้วก็ลองฝึกปฏิบัติตามดู เพราะคิดว่าจะได้ประโยชน์ หรือของท่านเจ้าประคุณท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ก็มีเยอะเลย มีหลายเรื่อง ซึ่งท่านก็สอนเกี่ยวกับเรื่องของจิตอีกเหมือนกัน เรื่องของจิต วิธีที่จะเฝ้าดูจิต ที่จะแก้ไขจิต เพราะว่าท่านอาจารย์ที่สวนโมกข์นั้น ท่านจะเน้นถึงแต่เรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ ซึ่งเป็นหัวใจของการสอนในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงสอน หนังสือของท่านเล่มใดก็ตามหยิบขึ้นมาจะหนีไม่พ้น จะพูดถึงเรื่องนี้ทั้งนั้น เช่นสมมติว่า จะเริ่มต้นด้วยบรมธรรม บรมธรรมนี่ท่านจะอธิบายให้รู้เลยว่าเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของพระพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ นี่สำหรับผู้ที่สนใจเริ่มต้น แล้วก็อยากจะหาความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ ก็ลองอ่านบรมธรรม แล้วก็บรมธรรมที่พิมพ์อย่าง ๒ เล่มจบนะคะ เล่ม ๒ นี่ ครึ่งเล่มของเล่ม ๒ จะอธิบายถึงเรื่องจิต จิตตภาวนา วิธีการพัฒนาจิต วิธีการรักษาจิต วิธีการที่จะปฏิบัติเพื่อบังคับจิตให้อยู่ในความสงบ จนกระทั่งสามารถใช้จิตนั้นทำวิปัสสนา คือดูให้แจ้งในสัจจธรรม เรียกว่าอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าพอใจที่จะฟังคำอธิบายที่อธิบายละเอียดลออ แจ่มแจ้ง และก็ประกอบด้วยหลักวิชาพร้อมๆ กับวิธีปฏิบัติ ก็ลองเลือกหาซื้อบรมธรรมดู และถ้าหากว่าไม่สนุกในการที่จะอ่านแบบหาความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็อาจจะเปิดอ่านที่เล่มที่ ๒ เลย ไปซื้อเล่ม ๒ เล่มเดียวก็อ่านจนได้ คิดว่าเขาคงจะยอมให้นะคะ และก็อ่านที่ครึ่งเล่มของเล่ม ๒ ซึ่งพูดถึงเรื่องของจิตโดยเฉพาะ
หรือถ้าหากว่าคิดว่าเราเป็นคนอยู่บ้าน ที่เรียกว่าเป็นฆราวาส จะหยิบฆราวาสธรรมของท่านมาอ่านก็ได้ ฆราวาสธรรมนี่ ท่านพูดธรรมะชาวบ้าน ที่ฆราวาสธรรมก็มี ๔ อย่างและก็มี สัจจะ สัจจะคือความจริงใจ ความตรงในการที่เราจะประพฤติปฏิบัติ เรามีสัมมาทิฏฐิ เราสัญญา เราตั้งปณิธานไว้อย่างใดแล้วต้องซื่อตรงต่อการปฏิบัตินั้นๆ สัจจะ ทมะ ก็การข่มใจที่จะต้องให้เดินไปตามหนทางที่เราได้ตั้งสัจจะไว้แล้วให้ได้ ขันติ อดทน อดกลั้น ไม่ว่าจะมีอะไรมาเย้ายวน ชักชวน เถลไถลให้ออกนอกทาง ฝืนเอาไว้ ไม่ยอมไหลตามมันไป แล้วก็ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ข้อที่ ๔ ก็คือการบริจาค หลังจากที่เรามี สัจจะ ทมะ ขันติ ๓ ข้อแล้ว ขั้นที่ ๔ ก็ฝึกบริจาค ไม่ใช่บริจาคทรัพย์สินเงินทองนะ เพราะเราเคยทำกันมาแล้ว นี่บริจาคสิ่งที่อยู่ข้างใน กิเลสที่มันหมักหมมอยู่ ราคะ โทสะ โมหะ ที่มีอยู่มากๆ จะเอาๆๆ จะเอาทั้งนั้น ถ้าอย่างเอา ไม่เอา ก็คือ ไม่เอาที่จะฟาดฟันให้มันหมดไป ก็ต้องบริจาคมันออกไป อะไรที่ทำให้จิตหม่นหมองเป็นทุกข์ บริจาคมันออกไป นี่พูดอย่างย่อๆ ที่สุดนะคะ ถึงฆราวาสธรรมที่เป็นธรรมะของชาวบ้าน แต่จากธรรมะของชาวบ้านนี่ ถ้าเราฝึกฝนอบรมจิตของเราดีๆ จนลึกเข้าๆๆ นี่ มันไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้โดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นก็มีเยอะเชียว หรือถ้าจะอ่านธรรมะอย่างง่ายๆ ของท่านอาจารย์หลวงพ่อชา ซึ่งก็มีเล่มเล็กๆ เล่มไม่ใหญ่ แล้วอ่านง่าย เข้าใจง่าย นอกเหตุเหนือผล และก็ โพธิญาณ ก็อันนี้ลำบากนิดนะคะที่ไม่มีจำหน่าย เป็นหนังสือที่ท่านแจกโดยตรง ถ้าหากว่าท่านผู้ใดที่เคยอ่านแล้ว หรือสนใจจะอ่าน ก็อาจจะทำหนังสือขอไปที่วัดป่านานาชาติ ซึ่งมีหนังสือนี้อยู่
ผู้ดำเนินรายการ : ที่วัดหนองป่าพง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ใช่ค่ะ ที่วัดป่านานาชาติ ที่ท่านเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ ที่ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ก็เขียนไปอธิบายให้ชัดเจนว่ามีความสนใจในธรรมะ แล้วก็อยากจะอ่าน เป็นธรรมะที่อธิบายง่าย ทั้งทฤษฎีและทั้งการปฏิบัติ ซึ่งก็อ่านไปก็ปฏิบัติตามได้
ผู้ดำเนินรายการ : ชื่อโพธิญาณ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มี ๒ เล่ม เล่มหนึ่งชื่อ โพธิญาณ และก็อีกเล่มหนึ่งชื่อ นอกเหตุเหนือผล เป็นบทๆ เล่มหนึ่งก็มีอยู่หลายบท และก็บทหนึ่งนี่ จำได้ ท่านบอกว่ามาปฏิบัติกันเถอะ โดยตรงเลย ว่าเราจะปฏิบัติกันอย่างไร ก็ยังมีอีกเยอะนะคะ นี่ก็เท่าที่นึกได้ ก็ขอแนะนำอย่างง่ายๆ สำหรับผู้ที่สนใจจะปฏิบัติ ศึกษาธรรมะเพื่อปฏิบัติ
ผู้ดำเนินรายการ : ผมอ่านข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ บอกว่าเดี๋ยวนี้มีการสอนสมาธิวิปัสสนาหลายสำนักและก็บางคนที่ฝึกไม่ดีนี่ก็อาจจะเป็นบ้าไปได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มีคำถามมาหรือเปล่าอย่างนี้
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ มีคำถามครับอาจารย์ บอกว่า ทำสมาธิเบื้องต้นเพราะจิตใจของตัวเองไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน แม้จะหลับก็ยังฝัน ตื่นขึ้นมาก็มีเรื่องคิดไม่ให้หยุดหย่อน รู้สึกว่าจิตใจอ่อนล้าเหลือเกินในบางครั้ง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คำตอบแรกก็คือว่า จิตใจที่อธิบายมานี้ ไม่ได้อยู่กับสมาธิค่ะ หรือยังไม่มีสมาธิ เพราะฉะนั้นมันจึงมีความว้าวุ่นเกิดขึ้นในจิต ก็อยากจะขอฝากเอาไว้เพื่อเป็นข้อสังเกตนะคะ ผู้ใดที่สนใจในทางสมาธิ และก็จะดูว่าเรากำลังอยู่ในสมาธิได้จริงไหม ก็ดูว่าในขณะนั้นมีอารมณ์ความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นในจิตหรือเปล่า เช่นเป็นต้นว่า เดี๋ยวก็ชอบ เดี๋ยวก็ไม่ชอบ เดี๋ยวก็เกลียด เดี๋ยวก็หมั่นไส้ เดี๋ยวก็รำคาญ เดี๋ยวก็หงุดหงิด เดี๋ยวก็จะเอา เดี๋ยวก็ไม่เอา นี่เป็นความรู้สึก อาการที่มันเกิดขึ้นในจิต นี่ก็แสดงว่าจิตนั้นไม่ได้เป็นสมาธิ ไม่ได้อยู่กับสมาธิ ความรู้สึกต่างๆ มันจึงแทรกเข้ามาได้ หรือบางทีก็เกิดความคิด ความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ นานา ไปอดีตบ้าง ไปอนาคตบ้าง ไปเรื่องราวร้อยแปด นั่นเพราะไม่ได้เป็นสมาธิอีกเหมือนกัน เพราะจิตนี้อย่างที่เคยพูดแล้วนะคะ ในขณะหนึ่งมันจะทำหน้าที่ได้อย่างเดียวเท่านั้น ถ้าหากว่ามันทำหน้าที่โดยเพ่งอยู่ที่เครื่องมือที่จะช่วยเป็นทุ่นให้จิตเกาะ เพื่อให้จิตเกิดสมาธิ มันก็ต้องเพ่งอยู่ที่ตรงนั้น มันจะไม่ไปอื่นไม่ได้ แต่เมื่อมีความคิดแทรกเข้ามา ก็หมายความว่าในขณะนั้นจิตไปทำหน้าที่คิดเสียแล้ว หรือมีความรู้สึกอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น จิตนั้นก็ไปทำหน้าที่รับอารมณ์ มีความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นเสียแล้ว ฉะนั้นอันนี้เป็นข้อสังเกตว่าเมื่อเราตั้งใจทำสมาธิภาวนา แล้วจิตนั้นอยู่ในสมาธิภาวนาจริงหรือเปล่า ใช้อันนี้เป็นข้อสังเกต
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ เพราะฉะนั้นที่บอกว่าฝึกแล้วบ้านี่ก็อาจจะไม่จริง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ไม่จริงค่ะ ที่ว่าไม่จริงนี่หมายความว่า คำสอนที่ถูกต้องในเรื่องการทำสมาธิภาวนาหรือจิตตภาวนานั้นไม่มีผิด แต่ว่าวิธีการปฏิบัติที่อาจจะไม่ถูกต้อง อย่างเช่นเป็นต้นว่า ผู้ที่สนใจเข้ามาอาจจะไปรับคำสอนเพียงครึ่งๆ กลางๆ แล้วก็เอามาปฏิบัติ และก็ในขณะที่เริ่มปฏิบัตินั้นน่ะ ก็ยังไม่รู้แน่เลยว่าตัวกำลังจะทำอะไร เกิดความลังเลสงสัยอยู่ในการปฏิบัติพร้อมๆ กับความประหวั่นพรั่นกลัว นี่มันจะมีอะไร แล้วก็เป็นคนขี้กลัวอยู่ด้วย พอเผอิญมีอะไร เห็นอะไร ได้ยินอะไร ซึ่งอันที่จริงสิ่งนี้มันก็มาจากสิ่งที่แฝงอยู่ภายใต้จิตสำนึก คือจิตใต้สำนึกนะคะ พอมันโผล่ขึ้นมาเกิดความรู้สึกอย่างนั้นและก็สติมันไม่ได้อยู่ มันก็ตกใจตกใจกลัวทันที ก็อาจจะเป็นได้ ถ้าพบเข้าบ่อยๆ ก็อาจจะกลายเป็นโรคประสาทไปเลย หรืออีกนัยหนึ่งก็เผอิญกำลังจะเป็นประสาทอยู่แล้ว แล้วพอมานั่งสมาธิเข้าก็ตั้งใจเคร่งเครียด จะเอาให้ได้ๆ จะเป็นให้ได้ พร้อมด้วยความหวัง ก็เลยยิ่งเคร่งเครียดใหญ่ ประสาทตึงเครียดก็เลยตึงไปเลย เพราะฉะนั้นโปรดอย่าโทษว่าเพราะว่าการทำสมาธิภาวนา ถ้าทำสมาธิภาวนาด้วยคำสอนที่ถูกต้อง และก็ทำตามอย่างถูกต้องตามขั้นตอน จะไม่มีวันเป็นบ้า เพราะว่าผลที่เราจะสังเกตว่าถูกต้องหรือไม่คือความสงบเย็น มันจะมีแต่ความสงบเย็นเกิดขึ้นในจิตมากยิ่งขึ้นๆตามลำดับ
ผู้ดำเนินรายการ : เพราะฉะนั้นคำแนะนำที่จะให้สำหรับผู้ที่ฝึกสมาธิก็คือควรหาอาจารย์ฝึกหรือยังไงครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สมมติว่าจะไม่มีอาจารย์เพราะว่าไม่สามารถจะไปถึงอาจารย์ได้นี่นะคะ ก็จงหาหนังสือที่แนะนำวิธีการทำสมาธิที่ถูกต้อง ว่าเราควรจะเริ่มทำด้วยอะไร แล้วก็วิธีการทำนั้นก็ควรจะไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นวิธีการปฏิบัติสมาธิที่ไม่ชวนให้ยึดมั่นถือมั่น ถ้าชวนให้ยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกเป็นตัวตนเพิ่มขึ้น ว่าฉันกำลังทำนะ ฉันกำลังปฏิบัตินะ ฉันต้องได้อย่างนี้นะ ก็อยากจะพูดว่ามันเริ่มต้นไม่ถูกเสียแล้ว เพราะสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนก็คือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่พึงยึดมั่นถือมั่น ที่ในภาษาบาลีบอกว่า สัพเพธัมมานาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่พึงยึดมั่นถือมั่น แม้แต่ในการทำสมาธิก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในการทำสมาธินั้น ฉะนั้นเมื่อเราจะเริ่มฝึกปฏิบัติ จึงฝึกโดยไม่หวัง แต่ฝึกกระทำไปอย่างถูกต้อง ฉะนั้นถ้าหากว่าได้อ่านคำสอนอย่างถูกต้องแล้วล่ะก็ไม่เป็นไร และก็ฝึกทำไปทีละน้อยๆ โดยไม่หวัง ก็เชื่อว่าจะได้รับวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องขึ้นได้
ผู้ดำเนินรายการ : เพราะฉะนั้นก็จะต้องฝึกบ่อยๆ เหรอครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ฝึกบ่อยๆ และก็ฝึกอย่างถูกต้อง ถ้าฝึกอย่างถูกต้องแล้วละก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีอันตรายที่จะเกิดจากการฝึกสมาธิ เพราะว่าจุดมุ่งหมายของการฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบ ก็ใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องเป็นเกณฑ์ พอเราฝึกไป จิตสงบ ความคิดอะไรแทรกแซงไม่ได้ อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ไม่เกิดขึ้น นี่ก็เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว ฉะนั้นถ้าหากว่าเราดำเนินตามทางนี้ไปเรื่อยๆ นะคะ ความเป็นพุทธทาสที่แท้จริงก็ย่อมจะเกิดขึ้นแก่จิตตามลำดับ โดยเริ่มต้นจากจิตที่มีสัมมาทิฏฐิ รู้ว่าเราเข้าปฏิบัติธรรมก็เพื่อที่จะให้จิตนี้ผ่อนคลายจากความทุกข์ และมีวิธีใดที่จะช่วยเราก็กระทำด้วยการที่พยายามที่จะหาสิ่งที่มาเป็นเครื่องมือในการผูกจิต ให้จิตนั้นอยู่ที่เดียว ก็อย่างที่เราเคยพูดกันแล้วหลายครั้ง เราก็ใช้วิธี อานาปาณสติ คือการใช้ลมหายใจ เพราะการที่จะใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือเพื่อฝึกสมาธินั้น ท่านผู้ชมก็ทราบแล้วว่ามันง่ายมาก เพราะเรามีอยู่กับเนื้อกับตัว เราก็ใช้ลมหายใจนี่แหละ ดูลงไปที่ลมหายใจนี่แหละ ทุกขณะ เรียกว่าเอาจิตผูกอยู่กับลมหายใจ อย่าไปผูกอยู่กับความคิดฟุ้งซ่าน อย่าไปผูกอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ แล้วจิตนั้นก็จะมีแต่ความเย็นยิ่งขึ้นตามลำดับ พร้อมๆ กับความที่จะมองเห็น ความสามารถที่จะมองเห็นสิ่งที่เป็นสัจธรรมได้ชัดยิ่งขึ้น และก็ความเป็นพุทธทาสที่แท้จริง ก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นในจิตได้อีกด้วย ฉะนั้นก็ถ้าจะสรุปว่า ตอบคำถามที่ถามแต่ต้นว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นพุทธทาสที่แท้จริง อันแรกก็จงพัฒนาจิตให้มีสัมมาทิฏฐิ และก็ฝึกปฏิบัติตามแนวทางนี้ คือศึกษาในเรื่องของความทุกข์ จนกำหนดรู้ แล้วก็หาทางที่จะกำจัดความทุกข์นั้นที่เกิดขึ้นให้ได้ เมื่อใดที่มีความเย็น จิตนั้นมีความเย็นจนสามารถทำจิตนั้นให้เป็นจิตที่อยู่เหนือกรรมและก็สิ้นกรรมได้ นี่แหละคือความเป็นพุทธบริษัท และก็เป็นพุทธทาสที่แท้จริง ก็หวังว่าเราคงจะพยายามนะคะ ถึงแม้ว่าเรายังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะเป็น แต่ถ้าเราเริ่มต้นเดี๋ยวนี้ ก็มีหวังที่เราจะทำได้สำเร็จในความเป็นพุทธทาสที่แท้จริง ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์จะเป็นได้อย่างเท่าเทียมกัน สำหรับวันนี้ก็เห็นว่าควรจะเพียงพอแล้วใช่ไหมคะ ก็ขอให้ธรรมสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ชมทุกท่าน