แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีค่ะ รายการพุทธธรรม-พุทธทาส ในวันนี้ก็สนทนาเรื่องธรรมะกันอย่างเคย วันนี้คิดว่าอยากจะสนทนาอะไรต่อคะ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : อยากขอเรียนถามเรื่อง บุญมีกรรมบัง จากครั้งที่แล้วต่อนะครับ โดยเฉพาะเรื่องกรรม ดูเหมือนอาจารย์อยากอธิบายจัง มีรายละเอียดที่น่าเกิด สนทนากันต่อ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ถ้าอย่างนั้นก็ เราก็จะพูดกันถึงเรื่องของกรรมนะคะ เพราะว่าเรื่องของกรรมนี่เป็นเรื่องที่เราพูดกันมากเลย แล้วก็มักจะลงเอยว่า มันกรรมของฉัน ใช่ไหม เมื่อเวลาที่เราทำอะไรไปแล้วมันไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร หมดปัญญา มันกรรมของฉัน พอพูดกรรมของฉันแล้วเป็นอย่างไร
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : สบายครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สบายขึ้น เพราะว่ายกไปให้กรรม และก็ไม่รู้ว่ากรรมนั้นมันอยู่ที่ไหน มันมีตัวมีตนหรือเปล่า แต่ยกไปให้มัน เป็นภูเขาเหล่ากาแล้ว เห็นจะท่วมโลกเลย ถ้าหากว่ากรรมนี่มันเป็นตัวเป็นตน เป็นวัตถุสิ่งของนะ เพราะใครๆ ก็ยกไปให้ ก็ไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่า ที่ว่ามันเป็นกรรมของฉัน ทำไมถึงได้อุทานออกมาอย่างนั้น มันเป็นกรรมของฉัน เคยพูดบ้างไหมคะ ทำไม ทำไมถึงพูดว่ามันเป็นกรรมของฉัน แล้วรู้สึกอย่างไร
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ก็รู้สึกว่า ก็แสดงว่าทำมันเอง เราก็ยอมรับว่า เออใช่! ฉันทำมัน กรรมของฉันเอง ทำมันเอง อะไรอย่างนี้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วก็จบเลย พอพูดเสร็จก็จบ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : เคราะห์ร้ายนี่เป็นของเราเอง ไม่รู้จะแก้อย่างไรเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : พอพูดเสร็จก็จบ
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ก็เราก็สบายใจขึ้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สบายใจขึ้น แล้วประเดี๋ยวก็พบอะไรอีก เออ! มันเป็นกรรมของฉัน ซ้ำซากอยู่อย่างนั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราเข้าใจอย่างนี้ แล้วก็มีสิ้นสุดไหมคะ เรื่องของกรรม
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ไม่สิ้นสุด
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วตัวเราเองนี่ ที่เรา ว่าเราได้สบายใจนี่ เพราะเหตุว่าเราได้เอาอะไรที่มันไม่ดี ไม่ดี นี่ ไปทิ้งไว้ให้อะไรสักอย่างหนึ่ง เมื่อรับเอาไปแล้ว เราก็หลุดไปแหละตอนนั้น เรียกว่าตอนนี้ฉันไม่เกี่ยวข้องนะ เป็นเรื่องของกรรม เพราะเสร็จแล้วฉันก็ทำอะไรไปอย่างที่ฉันเคยทำนี่ละ แล้วฉันก็ต้องมาอุทานอีกแล้ว กรรมของฉัน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราอุทานเช่นนั้นอย่างหลับหูหลับตา เรียกว่าเราไม่ได้แก้ไขอะไรเลย ไม่ได้แก้ไขอะไรสักอย่าง แล้วเราก็จะต้องทำซ้ำซากแล้วก็เป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : อ้าว ก็พุทธศาสนาสอนเรื่องนี้เหมือนกันว่าให้คนเรายอมรับกรรมที่เราทำ เราก็ยอมรับตามคำสอนนั้นๆ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คำสอนพระพุทธศาสนาที่ตรงไหนละ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ก็กรรม คือการกระทำ ผลของการกระทำ ก็คือสิ่งที่เราต้องได้รับตามที่เรากระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แต่ว่าพุทธศาสนาไม่ได้สอนเพียงแค่นั้น พุทธศาสนาสอนมากกว่านั้น ถ้าหากว่าเรารู้ว่าการกระทำอะไรที่เราทำไปนี่นะคะ เป็นสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย คือตามเหตุตามปัจจัยของการกระทำ ถ้าการกระทำนั้นถูกต้อง ผลก็สบายใจ ไม่เป็นทุกข์ ถ้าการกระทำนั้นไม่ถูกต้อง ผลก็คือไม่สบายใจ แล้วก็เป็นทุกข์ นี่ก็เรียกว่าในพระพุทธศาสนานั้นท่านชี้ให้เห็นว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนี่ ผลที่เกิดขึ้นมันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมันมีหนทางแก้ไหม ถ้าพูดอย่างนี้ มีไหม
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : มี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มีหนทางแก้ มีหนทางแก้ที่จะให้ไม่ต้องมาร้องว่า โอ๊ย มันกรรมของฉัน มันมีหนทางแก้ที่จะสิ้นสุดแห่งกรรมได้ใช่หรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : พออย่างนี้มันสิ้นสุดแห่งกรรมได้ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นในทางพระพุทธศาสนานี่ จึงไม่ได้สอนแต่เพียงว่าให้เราเชื่อเรื่องกรรม แต่ว่าสอนให้รู้ แล้วก็ชักชวนให้มองเห็น คือให้ใคร่ครวญศึกษาจนมองเห็นว่ากรรมนี่มันหมายถึง การกระทำ แต่การกระทำที่เรียกว่ากรรมอันนี้ มันสามารถที่จะไปถึงการกระทำที่เรียกว่าสิ้นสุดแห่งกรรม หรืออยู่เหนือกรรม อยู่เหนือของการกระทำนั้นได้ งงหรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ยังสับสนนิดหน่อยครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สับสนตรงไหนละคะ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ว่าเสร็จแล้วมันจะสิ้นสุดได้ มันต้องสิ้นสุดได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ทีนี้ที่มันไม่สิ้นสุดเพราะอะไร ถ้ามองไม่เห็นว่ามันจะสิ้นสุดได้อย่างไร ก็จงดูว่ามันไม่สิ้นสุดเพราะอะไร
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : เพราะเราไปยึดหรือเปล่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ยึดนะสิ เราถึงได้บอกกรรมของฉัน ใช่ไหมคะ ถ้าไม่ยึดมันก็ไม่มีกรรมของฉัน มันไม่มีกรรมของใคร มันมีแต่อะไร
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : มีแต่การกระทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มีแต่การกระทำ เพราะว่าเราประกอบการกระทำนั้นให้ถูกต้องตามเหตุตามปัจจัยให้ดีที่สุด และก็โดยหวังว่าการกระทำที่ทำนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นการกระทำที่ถูกต้อง โดยธรรมที่จะเกิดขึ้น เกิดประโยชน์ขึ้นแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งตัวผู้กระทำก็ไม่มีทุกข์ ถ้าทำได้อย่างนี้มันสิ้นสุดไหม มันหมดไหม มันเหนือ เหนือกรรมได้ไหม
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : เหนือได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพราะกรรมนั้นจะไม่มา ไม่มามีผลที่จะทำให้จิตนี้ต้องขึ้นๆ ลงๆ ร้อนๆ หนาวๆ หรือว่าสัดส่ายไปมา จิตนี้จะเป็นปกติได้ เพราะมันมีแต่ความพอใจ ความอิ่มใจที่ได้ทำกระทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้นในพระพุทธศาสนานั้น ท่านไม่ได้สอนแต่เพียงเรื่องของกรรม แต่ท่านสอนกรรมที่อยู่เหนือขึ้นไปอีก เรื่องของกรรมนี้ตามที่ได้ทราบมานั้นมีกันมาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : มีก่อนอีก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ มีก่อน คือพูดถึงเรื่องของกรรมนี่ พูดกันมาก่อนแล้ว ก่อนที่ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น แต่มักจะมาหยุดอยู่ที่เพียงว่าเป็นกรรมของฉัน กรรมของเขา กรรมของแก กรรมของท่าน คือด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นกรรม แต่เมื่อพระพุทธองค์อุบัติขึ้นแล้ว ทรงอุบัติขึ้นแล้ว ท่านก็ได้ทรงชี้ให้เห็นว่าอันที่จริงนั้นนะมันมีหนทางที่จะสิ้นกรรม หรือเหนือกรรมได้ด้วยการกระทำนั้นเอง เพราะสิ่งที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่พระองค์ทรงสอน คืออะไรจำได้ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : อริยสัจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ที่เราพูดกันบ่อยๆ หัวใจของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “ใบไม้กำมือเดียว” คืออะไร
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : อริยสัจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อริยสัจ
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : สี่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เรื่องทุกข์ และการดับทุกข์ จะเรียกว่าอริยสัจสี่ ก็ได้ แต่ว่าก็หมายถึง เรื่องของความทุกข์ และการดับทุกข์ ที่เพราะท่านทรงทราบดีว่ามนุษย์เรานั้นนะ ชีวิตเกลือกกลั้วอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ความทุกข์ แล้วก็ต้องคร่ำครวญหวนไห้กันเหลือเกิน ก็เพราะสิ่งที่เรียกว่า ความทุกข์ ไม่มีความสบาย ถูกแผดเผาไหม้เกรียมอยู่ตลอดเวลา ท่านก็ทรงเมตตา จึงอยากจะให้มนุษย์ทั้งหลายได้รู้ว่า สิ่งที่ควรจะต้องศึกษาใคร่ครวญ และก็กระทำจนกระทั่งมันลุล่วงไปได้นี่คือ หนึ่ง ให้รู้จักเรื่องของความทุกข์ และก็หาวิธีที่จะทำให้มันสิ้นทุกข์ให้ได้ ท่านจึงทรงสอนออกมาเป็นอริยสัจสี่ ที่เป็นหลัก เริ่มต้นด้วยเรื่อง ความทุกข์ กำหนดให้รู้ และก็สมุทัย เหตุของทุกข์ และก็นิโรธ ดับความทุกข์นั้น ทำให้มันแจ้งในเรื่องความดับทุกข์ และก็มรรค คือหนทางวิธีดำเนินที่จะไปถึงซึ่งความดับทุกข์นั้นได้อย่างสำเร็จ นี่ท่านทรงสอนอันนี้ เพราะฉะนั้นท่านก็ย่อมจะทรงเห็นว่า ใครก็ตาม มนุษย์คนไหนก็ตามที่ยังยึดมั่นว่ากรรมนี้เป็นกรรมของฉัน กรรมของเขาจะสิ้นสุดทุกข์ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ไม่สิ้นสุด
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่สิ้นสุดค่ะ เพราะเมื่อยึดขึ้นมาแล้วมันมีความดิ้นรน มันมีความดิ้นรนตามมาทันที มันมีความอยากตามมาทันที ที่จะต้องทำอะไร อะไรกับกรรมอันนั้น เพราะเห็นเป็นของฉันนี่ ฉันก็ต้องเอาที่ดีๆ ฉันต้องเอาอะไรที่มันปลดปล่อยออกไป ทีนี้มันเป็นไปไม่ได้ มันก็ดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นทุกข์มันก็ไม่หมด ด้วยเหตุนี้ท่านจึงทรงสอนให้รู้ว่าอันที่จริงแล้ว เรื่องของกรรมนี่ มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะชีวิตของเรานี่มันก็เป็นกระแสกรรม เข้าใจไหมคะเป็นกระแสกรรม กระแส คือการที่มันไหลหมุนไปเหมือนอย่างกระแสน้ำที่มันไหล ไหลเรื่อยไป ที่เคยพูดไว้ทีหนึ่งว่าชีวิต คือความไหลเรื่อยจำได้ไหม
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : จำได้ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นี่ชีวิตคือความไหลเรื่อย ไหลเรื่อยไปตามอะไร
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : กระแส
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : กระแสกรรม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : กระแสกรรม กรรมนั้นก็คืออะไร
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : การกระทำ
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : การกระทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : การกระทำ นี่แหละชีวิตของเราทุกวันนี้มันไหลเรื่อยไปตามกระแสกรรม และกรรมในที่นี้ก็หมายถึง การกระทำของเราเองที่จะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เหตุปัจจัยที่จะดูง่ายๆ ก็คือว่า ขณะใดที่ใจนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ เหตุปัจจัยของการประกอบกรรมนั้น ก็ย่อมเป็นไปในทางที่ดีที่ถูกต้องใช่ไหมคะ และผลของมันก็ถูกต้อง แต่เมื่อใดใจนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ เหตุปัจจัยที่จะประกอบมันก็ย่อมเป็นมิจฉาไปด้วย คือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และผลที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้อง ก็คือใจเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นอันนี้ท่านจึงบอกว่าชีวิตนี้ มันคือความไหลเรื่อย ไหลเรื่อยไปตามอะไร ไปตามกระแสกรรม กรรมอะไร กรรม การกระทำ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราปรารถนาที่จะให้ชีวิตเป็นอย่างไรก็จงฝึกที่จะประกอบเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง แล้วถ้าหากว่าเรายัง ในขณะที่เรายังฝึก ยังไม่เห็นนี่นะ คือยังไม่เกิดขึ้นได้จริงๆ เราก็จะเห็นว่ามันเริ่มต้นด้วยกิเลส วงของชีวิตหรือที่เรียกว่าวัฏฏะของชีวิตนี่ มันเริ่มต้นเหมือนกับเป็นวงของกิเลส เป็นวัฏฏะนี่มันเริ่มต้นด้วยกิเลส จุดนั้น คือความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นในใจ กิเลสก็ บางทีก็เพราะ “โลภะ” บางทีก็เพราะ “โทสะ” บางทีก็เพราะ “โมหะ” หรือบางทีทั้งสามอย่างเลย มันชุลมุนเข้ามาหมดจนบอกไม่ถูกว่ามันอะไร ใช่ไหมคะ แต่มันเป็นกิเลส มันจึงทำให้จิตนี่ร้อน เศร้าหมอง แล้วเสร็จแล้วก็ทำไปตามนั้น
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ความอยากนี้เอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อยาก ใช่ อยาก ตัณหาอยากทำไปตามนั้น พอทำแล้วมันก็เป็นกรรมนะ พอทำก็เป็นกรรมทันที พอเมื่อมีกรรมทันที มันก็มีวิบาก คือผลของกรรม แล้วเสร็จแล้วนี่มันก็หมุนไปอย่างนี้ แล้วเราก็มาร้องว่ากรรมของฉัน กรรมของฉัน แต่ฉันก็ยังทำตามกรรม คือทำตามกิเลส ตามมิจฉาทิฏฐินั้นไปเรื่อยๆ วงเวียนชีวิตมันก็หมุน หมุนใหญ่เลย นี่เราก็อยากให้มันหยุด คือให้มันขาดกันเสียที ฉะนั้นก็หันมาฝึกใหม่ด้วยการที่จะเรียนรู้ว่า เราจะต้องฝึกการกระทำกรรมนี้โดยประกอบเหตุปัจจัยให้ถูกต้องด้วยสัมมาทิฏฐิ และถ้าหากว่ามุ่งฝึกปฏิบัติอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ มิช้ามินานจิตนั้นก็จะค่อยๆ อยู่เหนือกรรม เลิกที่จะนึกถึงว่ากรรมนั้นนะ เป็นกรรมของใคร เพราะมันจะมีแต่การกระทำเท่านั้น นี่เป็นกรรมในพระพุทธศาสนา จะไม่เป็นกรรมตามความยึดมั่นที่รู้สึกเหมือนกับว่าเราต้องทำเอาไว้เพื่อสะสม สะสมเป็นต้นทุน เป็นต้นทุนเอาไว้เมื่อไรก็ไม่รู้ละ ชาติหน้า ชาติหน้าอยู่ไหนก็ไม่รู้ละ แต่ในขณะนี้ชาตินี้ พบอยู่เร่าๆๆๆ นี่ในเวลานี้เขาไม่รู้สึก แล้วจะไปหวังอะไรกับชาติหน้า ถ้าหากว่าเดี๋ยวนี้ยังร้อนเร่าๆๆๆ จะมีกี่หน้า กี่นู้น กี่โน้นมันก็ต้องร้อน มันหนีไม่พ้น เพราะว่ามันต่อเนื่องกันใช่ไหมคะ ปัจจุบันมาจากอดีต จากที่เขาว่านั่นแหละ ที่เขาพูดเลยว่าเป็นสำนวน มันก็เป็นได้ อดีตกำหนดปัจจุบัน ปัจจุบันกำหนดอนาคต นี่มันแสดงถึงเรื่องของเหตุปัจจัยโดยตลอดเลย ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นอันนี้นี่จึง หนทางสิ้นกรรมนี่มันจะมีได้ แล้วก็ไม่ต้องทำกรรมอย่างชนิดที่ว่าเป็นการสะสมเอาไว้ เพราะถ้าเราสะสมเอาไว้ นี่คือทำด้วยความ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : มิจฉา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หวัง ความหวัง ซึ่งก็เป็นมิจฉา เพราะมันจะทำให้เกิดทุกข์ขึ้น ทำด้วยความหวัง หวังว่าจะสะสมเอาไว้ เก็บต้นทุนเอาไว้เหมือนฝากเงินในธนาคารจะได้มีมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น แล้ววันหนึ่งเผอิญธนาคารถูกไฟไหม้ ตู้นิรภัยก็ละลาย เงินหมดเลย ไม่มีเหลือ ตอนนี้ก็นั่งลงจับเข่า กอดเข่าเจ่าจุกเลย ตายจริง! กรรมของฉัน กรรมของฉัน กรรมซัดกรรมซ้อนมันก็ไม่หมด แต่ถ้าหากเราประกอบกรรมอย่างถูกต้องแล้วมันก็เหนือกรรม จนกระทั่งสิ้นกรรม
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : แสดงว่าเราแยก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คะ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : เราแยกกันไม่ออกระหว่างสัมมาทิฏฐิ กับมิจฉาทิฏฐิ เหรอครับทุกวันนี้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อาจจะเป็นได้ค่ะ แต่ถ้าหากว่าเราหมั่นใคร่ครวญนะคะ ถ้าเราจะหันมาศึกษาธรรมะ เราก็ควรที่จะศึกษาให้รู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าเป็นคำสอนอันถูกต้องแท้จริงของพระพุทธเจ้าคืออะไร ท่านทรงสอนเรื่องความทุกข์ และการดับทุกข์ นี่เป็นหัวใจของคำสอนในพระพุทธศาสนา เราจะไปเรียนดูเถอะ สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบอกมนุษย์ทั้งหลาย ก็คือให้รู้เรื่องของความทุกข์ ทรงชักชวน ทรงชี้ ทรงบอกว่าศึกษาเรื่องความทุกข์นะ กำหนดลงไปให้รู้นะว่าอาการของความทุกข์ ลักษณะของความทุกข์เป็นอย่างไร จะได้รู้จักตัวความทุกข์ และจะได้กลัวความทุกข์ แสดงว่าคนเรากลัวความทุกข์ กลัว และก็เกลียดความทุกข์ แต่เกลียดแล้ววิ่งหนีเลยใช่ไหมคะ วิ่งหนีหันหลังให้ไม่ยอมที่จะศึกษามัน มันก็เลยไม่รู้สักที จริงหรือเปล่า ไม่รู้สักที แล้วก็บอกต้องการอะไร ต้องการความสุข โอ๊ย วิ่งไล่ ไล่ตามตะครุบความสุข ตะครุบ ตะครุบ วิ่งตะครุบเท่าไรก็หกล้มถลอกปอกเปิกไปตามๆ กัน แล้วก็ยังไม่ได้สักที แล้วเจ็บไหม
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : เจ็บ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ในขณะที่ตะครุบความสุข เจ็บปวดรวดร้าวไป แล้วก็พอหยิบขึ้นมาได้เสียที เฮ้อ! แหม! สมปรารถนา นานเท่าไร
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ประเดี๋ยวเดียว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ไม่นานเลย แพล็บเดียว วิ่งต่อไปอีกแล้ว นี่ละสิชีวิตมันถึงเหน็ดเหนื่อยตรงนี้ และกรรมก็เลยไม่สิ้นได้ เพราะมันหวัง นี่แหละเพราะไม่รู้ เพราะเกลียดกลัวความทุกข์ ถ้าหากว่าเมื่อใด ผู้ใดนะคะ หันมาศึกษาในเรื่องของความทุกข์ นี่ สัมมาทิฏฐิเริ่มเกิดขึ้นแล้ว เชื่อไหม จุดนี้ จุดเปลี่ยนนิดเดียวเท่านั้น บิดนิดเดียวเท่านั้น พอหันมาศึกษาในเรื่องของความทุกข์ นี่แหละเรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว เพราะกำลังเริ่มที่จะหันหน้าเข้าเผชิญกับสิ่งที่เป็นสัจจะ คือเป็นความจริง ไม่ใช่มายา
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : หลังจากหนี หลังจากหนีกันมานาน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ เพราะว่าที่หนีนั่นนะ คืออยู่กับมายา พยายาม ความสุขนี่มันเหมือนมันเป็นมายา ที่เคยเปรียบให้ฟังว่ามันเหมือนกับ กับควันไฟที่เรามองเห็น แค่เขาก่อไฟเข้า เราก็มองเห็นควันไฟ อุ๊ย! ไฟลุก แหม! ควันเยอะ แต่เราเอื้อมมือไปจับควันไฟ ใครจับได้บ้าง นี่แหละความสุขมันเป็นอย่างนี้ มันหลอกเรา มันทำให้เห็นหลัดๆ เออ! นี่นะสุข พอวิ่งไปถึง มันก็หนีไป หายไป เหมือนกับที่เราเห็นควันไฟ เราจับเท่าไรไม่เคยถูก นี่คือสุกปลอม สุกมายา ที่เรียกว่าสะกดด้วยตัว ก นั่นแหละ สะกดด้วยตัว ก มันเป็นอย่างนี้ มันจะไหม้เกรียม แต่ถ้าเมื่อใดที่เราเริ่มสำเหนียก สังวร แล้วหันมาศึกษาความทุกข์ นี่สัมมาทิฏฐิเริ่มเกิดขึ้นแล้ว
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : เริ่มต้นด้วยดูวงวัฏฏะที่อาจารย์ว่านี่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เริ่มให้รู้ว่าเมื่อเราทำตาม หรือตกอยู่ภายใต้วงวัฏฏะ จิตมันเป็นอย่างไร จิตมันร้อน
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : เศร้าหมอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันหมุนเวียนไม่รู้จบ แล้วเรารู้สึกเข็ด เข็ดหลาบไม่เอาอีกแล้ว พอแล้ว เราก็จะเริ่มศึกษา เอ๊ะ! นี่มันอะไรกันแน่ ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร ที่เราปล่อยชีวิตของเราให้หมุนเวียนไปตามกระแสอันนี้ กระแสของกิเลสกรรมวิบาก กิเลสกรรมวิบาก แล้วก็ที่ว่ามันก็ต่อเนื่อง ต่อเนื่อง เพราะเราทำไม่หยุด เราไม่ทำให้ถูกต้อง แต่เมื่อใดที่เราเปลี่ยนนะ เปลี่ยนแล้วเราก็หันมาคิดเสียใหม่นี่ในเรื่องของความทุกข์ เราจะหยุด แล้วเราก็จะดูว่า เอ๊ะ ทำไมจึงทุกข์ นี่เรียกว่าเริ่มหันไปศึกษาปัจจัย เหตุปัจจัยของมันแล้วก็ทำให้มันถูกต้อง แล้วเราก็รู้ว่า อ๋อ ที่มันทุกข์เพราะอย่างนี้ ทีนี้คนฉลาด ฉลาดจริงก็จะเริ่มแก้ไขเหตุปัจจัย ประกอบเหตุปัจจัยเสียใหม่ให้ถูกต้อง ความทุกข์มันก็จะหมดไป ไม่ต้องกลัวว่าเกิดชาติหน้าจะเป็นทุกข์ หรือเกิดชาติหน้าจะไม่เป็นทุกข์ เกิดชาติหน้าจะไปสวรรค์ หรือจะลงนรก ไม่ต้องกลัว เพราะมันนรกตรงนี้ มันสวรรค์ตรงนี้ การเกิดใหม่ก็คือตรงนี้ คือเกิดอะไร
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : เกิดความสุข
อุบาสิกา คุณรัญจวน : การเกิดใหม่เกิดอะไร เคยพูดหลายครั้ง
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : เกิดสัมมาทิฏฐิ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เกิดสัมมาทิฏฐิ คือหมายความว่าเมื่อใดที่ในจิตนี้นะคะ มีการเกิด มีความรู้สึกเกิดเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาเมื่อไร นั่นแหละ คือการเกิดใหม่แล้ว ดูอย่างเวลานี้นี่จิตกำลังสบาย เพราะเรานั่งอยู่ในที่ที่ร่มรื่นนะ มีธรรมชาติที่ชวนให้จิตใจสงบเย็น จิตเราก็เบาสบาย พอประเดี๋ยวนั่งรถกลับไป ก็ตรึก ตรึก ตรึก ตรึก กำลังนึกถึง โอ๊ย! ตายเลย ต้องไปทำงานนั่นยังไม่เสร็จ ยังไม่เสร็จ ยังไม่เสร็จ ก็คิดไป คิดไป คิดไปมันก็เป็นทุกข์ทั้งที่ยังไม่ได้ลงมือทำ พอถึงเวลาลงมือทำไม่มีแรงแล้วใช่ไหมคะ นี่ในระหว่างนี้เกิดใหม่ตลอดเวลา พอตัวความเกิด ความเกิดของความคิดที่รู้สึกว่า ตายจริงฉันจะต้องทำนั่นอีกแล้ว ฉันจะต้องทำนี่อีกแล้ว ทำอย่างไรถึงจะเสร็จ ทำอย่างไรถึงจะได้ นั่นแหละคือการเกิดใหม่ แล้วเสร็จแล้วพอเราลงมือทำ หยุด ตอนนี้มีความพอใจในการทำ พอประเดี๋ยวนึกอะไรขึ้นมาได้ เกิดเป็นตัวนั้นต่อไปอีก ด้วยโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ แต่ละครั้ง เพราะฉะนั้นการที่เกิดความรู้สึกเป็นตัวฉัน หรืออย่างที่ท่านพูดว่าเป็นตัวกู เป็นอัตตาขึ้นมาครั้งใด นั่นแหละ คือการเกิดใหม่ แล้วเห็นไหมว่าการเกิดใหม่อย่างนี้ น่ากลัวไหม
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : น่ากลัว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วเกิดได้บ่อยไหม
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : บ่อย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นับไม่ถ้วนเลย และเป็นการเกิดที่เราเห็นด้วยตัวเอง คือเราพิสูจน์ได้ ถ้าเพียงแต่เราจะกล้ามอง กล้าเผชิญกับความจริง แล้วเราก็จะไม่อยากเกิดอีก ถ้าเราดับความเกิดอย่างนี้ได้ เราไม่ต้องกลัวความเกิดที่ไหน ที่ไหน อีกต่อไป มันสิ้นกันได้ตรงนี้ ที่พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า จะ จะมาชวนให้ ให้เลิก ให้เลิกมีความคิดในสิ่งที่ได้เคยพยุงใจมา ให้ใจมาอยู่ได้ตลอดมา ไม่ใช่อย่างนั้น มีสิ่งที่เป็นสิ่งที่พยุงใจก็ดีอยู่แล้ว แต่อยากให้พยุงใจนั้นให้ตรงต่อไปอีก มันจะได้ประสบความเย็นอันแท้จริงให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นอันนี้ค่ะ จึงต้องดูให้เห็นว่าการรับผลของกรรม หรือการที่เกิดขึ้นได้นั้นนะ อยู่ที่การกระทำตามเหตุตามปัจจัย ถ้าประกอบเหตุปัจจัยถูกต้อง มันก็ไม่มีกรรม คือไม่ต้องรู้สึกเป็นทุกข์เพราะกรรม มีแต่ความพึงพอใจ แต่ขณะใดที่ประกอบเหตุปัจจัยไม่ถูกต้อง มันก็รู้สึกว่าอันนี้มันเป็นกรรมที่เราจะยอมไม่ได้ หรือว่ารับไม่ได้ และเราก็จะรู้สึกเป็นทุกข์ต่อไป ฉะนั้นการที่จะบอกว่ามีกรรม หรือไม่มีกรรมอะไรต่างๆ เหล่านี้นี่นะคะ ใครจะบอกก็ไม่ได้ ทุกคนต้องรู้เอง ต้องดูเอง ที่ท่านบอกว่าเป็นสันทิฏฐิโก ต้องให้รู้เอง รู้ของตัวเอง และถ้าจะถามว่ารู้เมื่อไร ดูเมื่อไรก็เห็นเมื่อนั้น จะบอกตอนเช้านะ ตอนเย็นนะ กลางวันนะ ค่ำนะ ไม่ได้ ดูเดี๋ยวนี้ก็เห็นเดี๋ยวนี้ นี่มันเป็นอกาลิโก ดูเมื่อไรก็จะเห็นเมื่อนั้น แล้วมันก็จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นชนิดของกรรมนี่ก็อาจจะบอกได้ว่า ถ้าอย่างชาวโลกๆ ก็อาจจะพูดเหมือนกับว่า กรรมนี่ ถ้าเรากระทำกรรมเพื่ออัตตา คือทำด้วยความหวัง นั่นมันก็จะต้องหวังผลของกรรม และกรรมนั้นมันก็จะเกิดขึ้นให้เป็นทุกข์ แต่เมื่อใดที่เราฝึกที่จะทำกรรมนั้นตามเหตุตามปัจจัยเพื่อประโยชน์ความถูกต้องที่จะเกิดขึ้น มันก็จะไม่มี ไม่ทราบว่าชัดหรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ครับ ชัดขึ้นครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ชัดขึ้น แล้วตรงไหนที่ยังไม่ชัด
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : บางทีก็
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหาก คะ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : กำลังคิดมองว่า ก็ต้องไปเฝ้ามองตัวเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : เฝ้าดู แล้วก็สังเกตการกระทำของพวกเรา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมาบอกว่ากรรมของฉันบ้าง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ แล้วก็ให้รู้เถอะว่าในพระพุทธศาสนานั้น ท่านสอนเลยสูงไปถึงเรื่องของการสิ้นกรรม และการเหนือกรรมซึ่งเป็นไปได้ อันที่จริงก็สัจจสารจากสวนโมกข์ที่พูดถึงกรรมในพระพุทธศาสนานี่ เป็นแผ่นพับบางๆ ไม่กี่ ไม่กี่พับแต่ก็อธิบายถึงความหมายของกรรมในทางพระพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจน ท่านผู้ใดที่ต้องการความละเอียดลึกซึ้งกว่าที่เราพูดกันก็อาจจะดูได้จากสัจจสารจากสวนโมกข์ ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ขอมาได้ด้วย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อันที่จริงนะ เราก็ทำเพื่อเป็นธรรมทาน แต่ก็ไม่ต้องการที่จะแจกให้แก่ใครที่ไม่สนใจ ที่ไม่สนใจอย่าขอมานะคะ ถ้าจะขอไปเก็บอย่าขอมา แต่เราหวังว่าถ้าขอไปแล้วเพื่อจะอ่านให้เกิดประโยชน์ละก็
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ยินดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ยินดี สำหรับวันนี้ก็คงจะต้องจบการสนทนากันเรื่องพุทธธรรม-พุทธทาส เสียก่อนนะคะ ขอให้ธรรมสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่านค่ะ