แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีค่ะ รายการพุทธธรรม-พุทธทาสในวันนี้ ก็คงจะสนทนากันถึงเรื่องของธรรมะอย่างเคย มีอะไรที่จะสนใจถามไหมคะ ในวันนี้
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : วันนี้อยากจะขออนุญาตเริ่มด้วยจดหมายของท่านผู้ชมที่เขียนมา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ถามเราก่อนครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ค่ะ มีเข้าใจว่าคงจะเป็นเด็กนะคะ เขียนว่า มาจากจังหวัดเพชรบูรณ์นะคะถามว่า ฝากถามว่า คำว่า “บุญมีกรรมบัง” นี้หมายความว่าอย่างไรคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : บุญมีกรรมบัง เข้าใจว่าคำว่า บุญว่าอย่างไรคะ บุญ เข้าใจคำว่าบุญว่าอย่างไร
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ค่ะ บุญ ก็ สิ่ง หมายถึงสิ่งที่ดีๆ เราทำแต่สิ่งที่ดี
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ทำแล้วได้กุศล
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : เข้าใจว่าแบบ เขาเหมือนกับว่า เขาทำ เขาทำในสิ่งที่ดี แต่ว่าไม่ได้รับผลตอบแทน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วถ้าหากว่าเราพูดถึงบุญนี่ เราจะต้องนึกถึงสิ่งที่มันคู่กันคืออะไร
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : กรรม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : บุญแล้วก็คู่กับบาป
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : บาปค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เรามักจะนึกถึงคำว่าบุญแล้วก็บาป ถ้านึกความหมายของบุญไม่ออก ก็ลองนึกถึงบาปสิว่า บาป คืออะไร
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : บาป ก็คือสิ่งที่ไม่ดี
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : การทำชั่วครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : การทำอะไรลงไปแล้วเราเองไม่สบายใจ เราต้องมาหวนเสียใจทีหลัง หรือบางทีก็คิดกังวล ไม่สามารถจะตัดมันออกไปจากใจได้ สิ่งนั้นมันก็เห็นจะเป็นบาปค่ะ เพราะมันทำให้ใจเราเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทีนี้ถ้าเราเข้าใจเรื่องบาป เราก็ลองมานึกดูว่า ถ้าบุญที่ตรงกันข้ามกับบาป กับบาปตามที่เรายึดถือกัน บุญก็น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นความดี ทำแล้วเราสบายใจ แล้วเราจะไม่หวนกลับมาอีก คือไม่หวนกลับมาเสียใจ เพราะสิ่งที่เราทำแล้วอีก แต่ตามความเป็นจริงนั้นนะ บางทีเราทำสิ่งที่เราคิดว่าเป็นบุญ แล้วเราเคยไปเสียใจทีหลังไหม แหม! ไม่น่าทำเลยบุญอันนี้ เคยพูดมาไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : เคย
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นนะสิ เพราะฉะนั้นถ้าจะว่าไปมันคงไม่ใช่บุญจริงกระมัง
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : บุญปลอมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : บุญจริง หรือบุญปลอมนี่นะคะ มันก็คงจะเป็นเพราะว่า เรายึดเอาเอง เรายึดถือเอาเอง ทำไมเราถึงมาหวนคิดทีหลัง มันไม่น่าเป็นอย่างนั้นเลย ก็เห็นจะเป็นเพราะว่า เราหวังนั่นเอง ใช่ไหม เราหวังว่าทำอย่างนี้แล้วมันจะเป็นบุญ เราคงจะต้องได้อะไรตอบแทน แต่เผอิญมันไม่เป็นไปตามนั้น เราก็มานึกพูดบอกว่าไม่น่าเลยจะทำ คือเสียดายในการที่เราทำไปแล้วนั้น
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ใครๆ เขาก็หวังกันธรรมดาทำบุญ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อย่าว่าแต่หวัง
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ไม่หวังนี่ทำไปทำไมทำบุญนี่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ถ้าเช่นนั้นก็ต้องย้อนถามว่า พอหวังแล้วมันเป็นทุกข์หรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : บางครั้งก็ทำบุญแล้วสบายใจ บางครั้งก็อย่างที่ว่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ที่สบายใจเพราะอะไร ลองนึกดูสิคะว่า ทำบุญแล้วทำไมจึงสบายใจ
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : เราทำแล้วเราคิดว่า สมมตินี่เราปล่อย ปล่อยปลาตัวหนึ่งนะคะ เราคิดว่าเราได้บุญ และเราปล่อยมัน และเราให้อิสระมัน เราเห็นมันว่าย มันมีความสุข เราก็มีความสุขตาม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วก็พอ เผอิญมีใครก็ไม่รู้ที่เขาคอยอยู่ในน้ำละ
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เขาตกเหยื่อเอาไว้นะ เขาหย่อนเบ็ดเอาไว้ใกล้ๆ นะ แต่เรามองไม่เห็น เพราะเขาอยู่ในพุ่มไม้ พอมันกำลังว่ายสบายใจมันก็โดนเหยื่อที่เบ็ดฮุบเข้าทันที
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ถ้าเกิดเราเห็นเราก็ ทุกข์อีก
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : กังวลอีก
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ไม่น่าปล่อยไปเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่น่าปล่อยไปเลย ไม่น่าปล่อยไปเลย เพราะฉะนั้นอันนี้ก็จะเห็นว่า บุญหรือบาปนี่เกิดขึ้นที่ตรงไหน
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อยู่ที่ใจอีกเหมือนกัน เพราะใจเรานึกว่าสิ่งนี้มันเป็นบุญ เราได้ทำแล้ว เราก็คิดว่ามันดีแล้ว แต่พอเผอิญผลไม่เป็นไปอย่างนั้น เห็นไหม เราก็ไม่ชอบใจแล้ว ไม่สบายใจ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ใช่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพราะฉะนั้นที่พูดว่าไม่หวังแล้วจะทำไปทำไม ประเด็นคำถามอยู่ตรงนี้ นิดเดียวแล้วก็อยากจะให้คิดอยู่บ่อยๆ ถ้าอยากจะใช้ความคิดก็คือว่า เมื่อทำอะไรแล้วนะ อย่าจะต้องเป็นทุกข์ เพราะสิ่งที่เราทำ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ไม่อยากทุกข์หรอกครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่มีใครอยากทุกข์เลยสักคน นี่จริงๆ ไม่มีใครอยากทุกข์ด้วยเลยสักคน แล้วถ้าหากว่าเราต้องเป็นทุกข์ก็น่าจะนึกดูให้ดีว่าที่เราทุกข์ เพราะเราหวัง ใช่ไหม เพราะเราหวัง แม้แต่วันนี้มื้อนี้จะกินข้าว ที่เคยพูดตัวอย่างหลายครั้งแล้ว หิวมาเหลือเกิน ตั้งใจจะกินให้อิ่มหนำสำราญเอร็ดอร่อย แหม! อะไรก็ไม่รู้ ตักเข้าปากแล้วอยากโยนทิ้ง นี่ก็เพราะหวังใช่ไหม แล้วถ้าวันไหนเราไม่หวัง ไม่มีเวลา มันหิว อะไรมาตั้งตรงหน้าก็ตักเอาตักเอา มันดูเอร็ดอร่อยไปเสียทั้งหมด นี่แหละผลของความที่เราหวัง หรือเราไม่หวังมันต่างกันอย่างนี้ เขาจึงถามใจเอาเถอะ เลือกเอาเอง ทุกคนนะมีสิทธิ์ที่จะเลือก ไม่มีใครจะไปบอกได้ว่า ต้องเลือกอย่างนี้ ต้องเลือกอย่างนั้น แต่ว่าต้องเลือกเอาเอง ถ้าเราเป็นคนฉลาดพอ อยากจะไม่เป็นทุกข์ ก็น่าจะเลือกสิ่งที่มันไม่ทำให้เราเกิดทุกข์ หลังจากที่เราทำแล้ว แต่ถ้าเรายังไม่เข็ดหลาบยังสนุกสนานกับการที่จะทุกข์ก็ตามสบาย ไม่มีใครบังคับ ตามสบาย เชิญหวังไป หวังไปแล้วก็ร้องห่มร้องไห้ไป คร่ำครวญไป เพราะหวังแล้วมันไม่ค่อยจะได้อย่างหวัง เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันจะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย นึกออกไหมคะ มันต้องเป็น เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็อยากจะพูดต่ออีกสักนิดหนึ่งถึงคำว่าบุญ
คำว่า บุญ ที่เราพูดว่าคนนั้นมีบุญ คนนี้มีบุญนี่ อย่างที่เราพูดๆ กันอยู่ แล้วเราก็ยกยอ แหม คนนั้นมีบุญจริงฉันอยากมีบุญอย่างเขา มันมีคุณลักษณะอะไรของคนมีบุญในความรู้สึกของคนทั่วๆ ไป
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : อิ่มเอิบ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อิ่มเอิบ
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : รู้สึก
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : รวย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : รวย
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : เขาทำอะไรก็จะได้ดีไปหมด ว่าอย่างนั้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : รวย มั่งมีเงินทองทรัพย์สิน มีตำแหน่งการงานดี ได้เงินเดือนสองขั้นเสียด้วยนะ ในขณะที่คนอื่นทำก็ขั้นเดียว กับไม่ได้ถึงขั้นนะ นี่ก็ได้เสียเรื่อย แหม! เขามีบุญจริง แต่เรารู้ไหมว่า ที่เราว่าเขามีบุญนะ ในใจของเขาเย็นสบายเป็นสุขหรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ไม่แน่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่แน่ ไม่แน่ เราดูข้างนอกเขาน่าจะมีความสุข เพราะเรากำหนดเอาเองว่าคนมีความสุข สเปกของคนมีความสุข ต้องอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ หนึ่งสองสามสี่ห้า เราคิดเอาเองว่าเป็นอย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วเราไม่รู้หรอกว่าใจเขาสุข เหมือนอย่างคนอื่นเขามองดูเรา เขาอาจจะว่าสุข เรามักจะอิจฉาว่าคนนั้นคนนี้นี่เขามีบุญ ทำไมเราถึงจะว่าเขามีบุญ ก็เพราะเป็นอย่างว่า อย่างนั้นนะนะ ทีนี้ในทางธรรม ในทางพุทธศาสนานี่ ถ้าจะพูดว่าใครมีบุญก็อยากจะบอกว่าคนมีบุญตามนัยของพุทธศาสนานั้น จะต้องเป็นคนที่เกิดมาในครอบครัวสัมมาทิฏฐิ เข้าใจไหมสัมมาทิฏฐิ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิคืออะไร
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ทิฏฐิ คือความคิด
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือความคิด ความเห็นที่ถูกต้อง สัมมา คือถูกต้อง สัมมาทิฏฐิ ก็คือเป็นผู้ที่มีความเห็นที่ถูกต้อง แล้วความเห็นที่ถูกต้องในที่นี้ก็หมายถึง ความเห็นที่ไม่ทำให้จิตใจของตนเกิดทุกข์ หรือว่าตกเป็นทาสของกิเลส อยู่ภายใต้ภาวะของตัณหา นั่นแหละที่จะทำให้เกิดความทุกข์ เพราะฉะนั้นการที่จะอยู่เกิดมาในครอบครัวร่ำรวย มีทรัพย์สินมั่งคั่ง บริวารพร้อมจะเรียกอะไรได้ ไม่ได้หมายความเป็นคนมีบุญเสมอไป ถ้าเผอิญไปอยู่ในครอบครัวที่ญาติพี่น้อง พ่อแม่ผู้ปกครองมีความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น มีความเห็นว่าถ้าเราเบียดเบียนคนอื่นก็ได้เท่าไรนั่นแหละดี แล้วก็สั่งสอนอบรมลูกหลานที่เกิดมาในตระกูลว่า นี่แหละนะถ้าจะเป็นคนฉลาดต้องเอาเปรียบคนอื่นเขาให้ได้มากๆ ต้องเบียดเบียนเขาให้ได้มากๆ ไม่ว่าจะทำงานอาชีพอะไรก็ต้องเอาให้ได้มากๆ จะเหยียบย่ำลงไปบนความทุกข์ของใคร ก็ช่างหัวมัน นี่มี มีบุญไหม
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ไม่มี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แต่เขาคิดว่ามีบุญ เพราะเขามีอะไรต่ออะไรทุกอย่างนี่ใช่ไหมคะ อันนั้นไม่ใช่เพราะอะไรละ ในขณะที่เขาจ้องคิดจะเบียดเบียนคนอื่นนะ จิตใจเขาไม่เย็นแล้ว ใช่ไหมคะ เขาต้องครุ่นคิดหาวิธีการต่างๆ นานา ที่จะทำให้คนอื่นนี่ย่อยยับไปเพื่อเราจะได้ เพราะฉะนั้นใจอย่างนั้นนี่ร้อนรนอยู่ตลอดเวลา เราจึงเรียกว่าคนมีบุญไม่ได้ ฉะนั้นคนมีบุญในทางธรรมะ หรือในพุทธศาสนา คือคนที่เกิดมาในครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฏฐิ พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติกาญาติโกทั้งหลาย ปู่ ย่า ตา ทวดล้วนแล้วแต่จะช่วยสอนช่วยอบรมช่วยบอกว่าวิถีทางของชีวิตที่ถูกต้องคืออย่างนี้อย่างนี้ คือการที่ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น รู้จักทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น จนกระทั่งสามารถทำงานจนการปฏิบัติธรรมไปได้ หรือเรียกว่ามีการปฏิบัติธรรมอยู่ในการทำงานนั้นอย่างที่เราเคยพูดกัน นั่นแหละคน คนไหนทำได้อย่างนี้นั่นแหละเป็นคนมีบุญแท้ ทำไม
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : มีความสุข
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มีความสุขในทุกที่ทุกสถาน เงินทองสำคัญไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ไม่สำคัญ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่สำคัญเลย เงินทองพอมีพอใช้ตามความจำเป็น ตามความต้องการตามธรรมชาติ เสื้อผ้าก็พอมีสวมใส่กันร้อนกันหนาวถูกต้องกาลเทศะ บ้านช่องก็พอมีพออยู่คุ้มแดดคุ้มฝน ป้องกันอันตรายได้จากโจรภัยที่จะมีมา ตำแหน่งการงานก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องตำแหน่งใหญ่ หรือตำแหน่งเล็กอย่างที่เราเคยพูดกันมาแล้ว ตราบใดที่เขาสามารถทำหน้าที่ของเขาอย่างถูกต้อง ไม่มีใครมาตำหนิติเตียน มีแต่คนยกย่องสรรเสริญ มีคนพูดถึงบ่นหาเมื่อเวลาหยุดงานไป นั่นแหละเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเขามีคุณค่า คนอย่างนี้อยู่ที่ไหนก็เป็นคนที่มีประโยชน์ เป็นคนที่เป็นที่ต้องการ นี่แหละมีบุญ นั่นเพราะอะไร เพราะเขาได้รับการอบรมสั่งสอน จากทางครอบครัวอยู่ในบ้านตั้งแต่เขาเกิดมาแต่เล็กๆ แล้วไปโรงเรียนครูอาจารย์ก็เป็นผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ เขาจะสั่งสอนอบรมลูกศิษย์ไปในทำนองนั้น
เพราะฉะนั้นคนมีบุญในทางพุทธศาสนา ก็คือคนที่โชคดี เผอิญเกิดมาอยู่ในแวดวงของผู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ คือมีสัมมาทิฏฐินี่แหละ เพราะฉะนั้นไม่ต้องอิจฉาใคร ว่าเขามีบุญ หรือไม่มีบุญ ไม่ต้องอิจฉา เผอิญเราโตแล้ว เราถึงได้มาเรียนรู้ว่าคนมีบุญ คืออย่างไร เราก็สามารถจะปรับปรุง ใช่ไหมคะ ปรับปรุงแก้ไขใจของเราเองตัวของเราเองให้เป็นคนมีบุญได้ ถึงแม้ใครจะรู้สึกว่า แหม! อาภัพอับวาสนาไม่เหมือนคนอื่นเขาเลย ก็ไม่สายเกินไปแล้ว ถ้าเรารู้ว่าหนทางที่ถูกคืออะไร เราทำเดี๋ยวนี้ได้ ทำเดี๋ยวนี้ก็เป็นคนมีบุญเดี๋ยวนี้
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ทำในทางสัมมาทิฏฐิ ใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิในที่นี้ถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็ ให้มีความเห็นที่ถูกต้อง เช่นเห็นว่า การเบียดเบียนผู้อื่น การแย่งชิงผู้อื่น โดยไม่เป็นธรรมอย่างนี้ มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็จะมีคุณค่าสมแก่การเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็คือการที่ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น รู้จักทำหน้าที่อย่างถูกต้องที่จะเกิดประโยชน์ไม่เป็นโทษแก่ฝ่ายใด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเองไม่เป็นทุกข์ นี่แหละ เขาเรียกว่ามีความเห็นสัมมาทิฏฐิ และเสร็จแล้วก็มีสัมมาสังกัปปะ คือความตั้งใจที่จะทำอย่างนี้ พอเห็นอย่างนี้ก็ตั้งใจที่จะทำ แล้วทีนี้วาจาการกระทำ การดำรงชีวิต แล้วก็ความพากเพียรทั้งหลายตลอดจนสติสมาธิก็จะพร้อมที่จะไปตามแนวนี้ จะให้ความเห็นที่เราเห็นถูกต้องนี้แล้วนี่ เป็นสิ่งที่เกิดได้ มีได้ เป็นได้ แล้วก็ดำรงรักษาให้มีอยู่ เป็นอยู่อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องกัน นี่แหละเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินี่เป็นองค์แรกในอริยมรรคมีองค์แปด แล้วท่านก็เปรียบสัมมาทิฏฐิว่ามีความสำคัญเหมือนกับเป็นเข็มทิศ เข็มทิศสำคัญอย่างไร
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : บอกชี้ทางที่ถูกต้อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ชี้ทางให้ถูกต้อง นักเดินทางทั้งหลาย ใช่ไหมคะ ไม่ว่าเดินทางทางอากาศ หรือว่าทางบก เช่น เดินป่า หรือว่าเดินทางทางน้ำ ที่ขับเรือไปในน้ำจำเป็นที่จะต้องมีเข็มทิศ ถ้าไม่เช่นนั้นก็หลงทาง เพราะฉะนั้นชีวิตคนก็เหมือนกัน ถ้าเจ้าของชีวิตไม่รู้จักมีเข็มทิศของชีวิต ก็พังไปตามๆ กัน พังเริ่มต้นด้วยการฮึดฮัดขัดใจ เหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวา ตุ้บตั้บคนโน้นคนนี้ แล้วก็ร้องไห้คร่ำครวญสะอึกสะอื้น จนผลที่สุดโลกนี้ไม่น่าอยู่ ฆ่าตัวตายไปเลย แล้วก็ไม่ตายฟื้นกลับมาใหม่ โอ้โห ยิ่งชอกช้ำใหญ่ ไม่รู้จะทำอย่างไร นี่แหละเพราะไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่มีเข็มทิศของชีวิต มันจึงเดินมะงุมมะงาหราไปเรื่อยๆ เหมือนกับคนคลำทางอยู่ในป่า หาทางออกไม่ได้ ยิ่งบุกเข้าไป บุกเข้าไป ก็ถูกหนามหน่ายถูกเถาวัลย์รัดเกี่ยวจนตายทั้งเป็นอยู่ในนั้น ฉะนั้นสัมมาทิฏฐินี่ ท่านจึงเปรียบว่าเหมือนเข็มทิศ หรือบางทีท่านก็เปรียบเหมือนกับว่าเป็นรุ่งอรุณ หากว่าผู้ใดมีสัมมาทิฏฐินี่ก็เป็นรุ่งอรุณ คือมีรุ่งอรุณแล้ว อย่างวันไหนเราเห็นท้องฟ้าแจ่มใสพระอาทิตย์ขึ้นมีแสง ก็เป็นแน่ว่าวันนี้จะได้เห็นแสงสว่าง ถ้าเราเดินถูกทางเช่นนี้ ชีวิตเราจะมีแสงสว่างเป็นแน่นอน เพราะฉะนั้นนี่แหละคือมีบุญ ทีนี้คำถามเราก็พูดไปเสียยาวนะเกือบจะหมดเวลาแล้วก็ไม่รู้ ทีนี้ก็ที่เราพูดว่า ที่เขาถาม ที่มีผู้ถามถามมาว่า มีบุญแต่กรรมบังใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ครับ
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันหมายความว่าอะไร นี่ถ้าเข้าใจคำว่าบุญให้ถูกต้อง จะไม่มีกรรมอะไรมาบัง ใช่ไหมคะ กรรมอะไรก็บังไม่ได้ ถ้าเราเข้าใจคำความหมายของคำว่าบุญอย่างถูกต้อง แล้วก็พยายามที่จะปรับชีวิตของเรานี่ให้ดำเนินไปสู่หนทางของความมีบุญ คือ ความเป็นคนมีบุญอย่างถูกต้อง ไม่มีกรรมอะไรจะมาบังได้ กรรมนี้แปลว่าอะไร เราเคยพูดกันหลายครั้งแล้วนึกออกไหมคะ พอเราพูดถึงคำว่าการ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : การกระทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ การกระทำ ถูกแล้ว พอเราพูดถึงคำว่ากรรมนี่ คนจะเข้าใจว่า กรรมมีความหมายว่าการกระทำ แต่การกระทำอันนี้ก็การกระทำของใคร
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ของเราเอง
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ของเราเองครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ของเราเองไม่ใช่ของคนอื่น เพราะฉะนั้น เมื่อกรรม คือการกระทำของเราเอง ถ้าเราอยากจะเป็นคนมีบุญอย่างถูกต้อง เราก็ทำการกระทำ คือประกอบการกระทำนั้นให้มันถูกต้อง ให้มีสัมมาทิฏฐิอยู่เสมอ มันก็เป็นการกระทำที่ถูกต้อง และเราก็จะเป็นผู้ที่มีบุญอย่างแท้จริง ไม่ใช่มีบุญจอมปลอม มีบุญโดยไม่ยึดบุญ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : อันนี้ใครครับ บุญไม่ยึดบุญ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : บุญโดยไม่ยึดบุญ ถ้าหากว่ามีบุญ แล้วก็ยังอยากจะยึดบุญ ก็ไม่มีบุญแท้ เพราะว่าทำบุญแล้วก็หวัง แล้วก็ยึดว่านี่เป็นบุญของฉัน ใช่ไหม นี่แหละคือยึดบุญ ยึดว่าเป็นบุญของฉัน แล้วก็เกิดการเปรียบเทียบต่อไป อุ๊ย! บุญของฉันดีกว่าบุญของเธอ เพราะเหตุว่าฉันทำมากกว่า ฉันเสียสละมากกว่า ฉันทำมานานกว่า ฉันทำมาก่อนสารพัด และเสร็จแล้วก็พ้นทุกข์ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ไม่พ้น
ผู้ร่วมสนทนา (หญิง) : ไม่พ้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่พ้น มันก็ต้องมาครุ่นคิด ครุ่นคิดหาวิธีจะเปรียบเทียบต่อไปอีก ทำอย่างไรถึงจะให้บุญเพิ่มเติม ไม่ใช่เพิ่มเติมเพื่อให้ดีขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ แต่เพื่อให้มากกว่าเขา นี่มันก็เป็นกรรมแล้วละ กรรมบัง นี่แหละกรรมบังเพราะการกระทำ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ถ้าอย่างนั้นอย่าทำบุญเสียเลยดีกว่าไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะเห็นว่า เพราะถ้าหากว่าในความหมายที่บุญนี่ จเลิศจะหมายถึงว่า การที่เราทำบุญกับ ในพระพุทธศาสนาใช่ไหมคะ เช่น ทำบุญใส่บาตร หรือว่าบริจาคเงินทองเพื่อบำรุงพุทธศาสนา ไปฟังเทศน์ฟังธรรมอะไรต่ออะไรต่างๆ เหล่านั้น เราก็ถือว่าเป็นการทำบุญ ถ้าอย่างนี้ก็ เราสมควรทำในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชน เพราะว่าพุทธศาสนาจะยังอยู่ได้ ก็เพราะเรามีพระสงฆ์เป็นผู้สืบศาสนา พระสงฆ์ท่านก็เป็น เป็นคนเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ยังจะต้องอาศัยปัจจัยสี่ จึงจะยังชีวิตอยู่ได้ แล้วก็จะสามารถทำหน้าที่สืบพระศาสนาให้ยืนยาวต่อไป เพราะฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท เราก็สมควร สมควรที่จะทำบุญ เพื่อเป็นการบำรุงพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าของเรา แต่ทีนี้เมื่อเราจะทำบุญ แล้วก็เราก็ทำทาน คนฉลาดก็ควรจะทำแล้วไม่ให้ทุกข์ อย่างที่ว่ามานี่ก็คือไม่หวัง สมควรทำต่อไป แต่ทำให้ถูกต้อง ถ้าทำแล้วยัง ยังเป็นทุกข์นี่ ก็นึกดูเถอะ ว่าโง่หรือฉลาด
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ไม่เกี่ยวกับการทำมากหรือน้อยใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่เกี่ยวกัน เกี่ยวแต่เพื่อทำจริง ด้วยศรัทธาจริง เสียสละจริง ซื่อตรงจริง มีความจริงใจในการทำนั้นหรือเปล่า ถ้าเรามีความจริงใจในการทำนั้นโดยไม่ต้องหวังว่า ที่ทำนี่เพื่อจะเอาหน้าให้เขาไปจารึกชื่อ ให้เขาไปประกาศ ถ้าเราไม่หวังอย่างนั้น นี่เป็น เป็นการทำบุญที่ ที่ถูกต้อง ทำบุญอย่างพุทธบริษัท และเราก็ไม่แปลกเลย เผอิญเวลาคงจะไม่มีแล้วไม่เช่นนั้นจะเล่านิทานให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง ที่เกี่ยวกับเรื่องของการทำบุญนี่ พูดถึงยายแก่ ยายแก่คนหนึ่งนะ ใครๆ ก็เห็นว่าแกเป็นคนจน และแกก็มี มีอาชีพเก็บผักบุ้งขาย ผักบุ้งนี่แกก็ปลูกไว้เอง นี่เป็นเรื่องสั้นนะ ไม่ใช่เรื่องนิทานนะ เป็นเรื่องสั้นที่ได้อ่านจากหนังสือนี่ และแกก็ปลูกผักบุ้งไว้ขาย ผักบุ้งของแกนี่ขาวสะอาด เพราะว่าแกทำสะอาด แล้ววันหนึ่งก็มีคุณนายที่ได้รับการยกย่องว่า แหม! เป็นคนทำบุญเก่งในละแวกนั้น เดินผ่านมาก็ร้องเรียกยาย ชื่ออะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว เพราะอ่านนานแล้ว บอกว่านี่ผักบุ้งนั่นนะจะขายเท่าไร เอาขอผักบุ้ง ไม่ใช่ ไม่ใช่จะเอา จะขายเท่าไรบอก วันนี้ฉันทำน้ำพริกปลาร้า ทำน้ำพริกปลาร้า หรือปลาร้าหลนนี่ไป ไปเลี้ยงพระที่วัด เพราะฉะนั้นแหม! ผักบุ้งนี่น่ากินสวยเหลือเกิน เอาไปทำบุญบ้างไหมละ ยายนี่ก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสทำบุญ พอมีคนชักชวนเป็นคุณนายมีหน้าอย่างนั้นก็ดีใจมากเลย ก็จัดแจงเก็บผักบุ้งเลือกยอดที่อ่อนที่สุดที่ดีที่สุดให้ไปเยอะเลย พอแล้ววันนั้นยายก็แต่งเนื้อแต่งตัวแล้วก็ไปวัดด้วยความชื่นบานว่า วันนี้เราจะได้ไปทำบุญ พอขึ้นไปถึงศาลาก็ได้ยินคุณนายคนนั้นนะกำลังโอ่ใหญ่ อุ๊ย ผักบุ้งนี่นะซื้อมาจากยายนั่นนะ ลืมชื่อนี่นะ แก สงสารแก เพราะแกยากจน แกไม่ค่อยจะมีเงิน เพราะฉะนั้นเห็นแกยากจน ด้วยผักบุ้งก็งามก็เลยซื้อแกมานี่ เอามาทำบุญ พอยายฟังแล้วยายก็เลยต้องแผ่เมตตา เพราะอะไรละ เพราะว่ายายทำบุญเก็บผักบุ้งนั้นให้มาเฉยๆ ใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา (ชาย) : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ได้คิดสตางค์เลยสักสตางค์ แต่คุณนายนี่กลับมาเอาทั้งบุญ เอาทั้งหน้า เอาทั้งทาน เอาทั้งสารพัด แต่ยายนั้นก็ไม่ได้รู้สึกอะไร คือไม่ได้รู้สึกน้อยใจเสียใจ รู้สึกแต่ว่าตนได้ทำบุญ ได้ทำทาน แล้วก็ได้ทำหลายต่อด้วย เข้าใจไหม นี่แหละ ถ้าหากว่าเราทำบุญโดยเราไม่เอาหน้า ทำบุญเพื่อบุญ ทำทานเพื่อทาน ทำความดีเพื่อความดี จะไม่มีกรรมอะไรมาบังได้เลย เพราะฉะนั้นก็หวังว่าท่านผู้ชมจะลองใคร่ครวญดูนะคะ ว่าทำบุญแล้วกรรมบังไม่มี ยกเว้นแต่ว่าผู้กระทำต้องการจะให้เป็นอย่างนั้นเอง ไม่มีใครที่จะมาบังคับให้อะไร เป็นอะไรได้ นอกจากตัวผู้กระทำ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าหวังจะทำเพื่อความสบายใจ ก็จงประกอบการกระทำนั้นให้ถูกต้องโดยไม่หวังให้เป็นธรรม แต่ถ้าหากว่าทำไม่ได้ ก็แน่นอนที่สุด ผลที่ได้รับ คือ ความทุกข์ สำหรับวันนี้เราคงจะต้องจบแค่นี้ก่อนนะคะ ธรรมสวัสดีแด่ทุกท่านนะคะ