แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ
แด่ท่านผู้ชมทุกท่าน “รายการพุทธธรรม-พุทธทาส” ในวันนี้นะคะก็จะได้มีแง่มุมในเรื่องของธรรมมาสนทนากันอีก
ถ้าหากว่าท่านผู้ชมท่านใดสนใจที่จะส่งคำถามมาร่วมการสนทนากับเรานะคะ ก็ขอเชิญส่งมาได้ที่สำนักเทคโนโลยีการศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงนะคะ บางท่านก็ได้กรุณาส่งคำถามมาแล้วซึ่งดิฉันรู้สึกว่าดีนะคะ เพราะเหตุว่ารายการพุทธธรรม-พุทธทาสนี้เป็นรายการของท่านผู้ชมทุกท่าน เราจึงอยากที่จะให้ท่านผู้ชมได้มาร่วมรายการกับเรามากๆ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็จะได้รู้ว่าควรจะพูดธรรมในแง่ใดจึงจะเป็นธรรมที่อยู่ในความสนใจของท่านผู้ชมมากที่สุด
สำหรับวันนี้เราก็จะสนทนากันต่อไปถึงเรื่องของธรรมในรายการพุทธธรรม-พุทธทาส จะเลิศ อยากจะสนทนาเรื่องอะไรคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ผมคงขออนุญาตจะเรียนถามเรื่องของการที่ท่านอาจารย์ได้พูดเมื่อครั้งที่แล้วเกี่ยวกับเรื่องของการทำงานคือการปฏิบัติธรรมนั่นเองนี่นะครับ มีอยู่ตอนหนึ่งอาจารย์บอกว่าถ้าหากว่าคนเราอยู่ด้วยธรรมแล้วก็สามารถปฏิบัติงานให้ลุล่วงไปด้วยดีได้นะครับ ตรงนี้เลยสงสัยว่าคนที่อยู่กันหมู่มากนี่นะครับจะอยู่กันด้วยธรรมได้อย่างไร ถึงจะอยู่ด้วยดีเพราะว่าลำพังตัวเราคนเดียวรู้สึกเราก็ยุ่งพอสมควรอยู่แล้วนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นี่ค่ะที่ว่ายุ่งนะคะพอจะเห็นไหมว่ามันยุ่งที่ไหน ที่ว่าอยู่คนเดียวก็ยังยุ่งอยู่แล้วมันไม่น่าจะยุ่งเลยมันยุ่งขึ้นมาได้อย่างไร
ผู้ร่วมสนทนา: ใจเราฟุ้งซ่าน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มันยุ่งที่ตรงไหน
ผู้ร่วมสนทนา: ยุ่งที่ใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ยุ่งที่ใจมันไม่ได้ยุ่งที่กายถึงแม้มือจะต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา ตัวจะต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ใช่ว่าขายุ่ง หรือว่าแขนยุ่ง หรือว่าหัวยุ่ง ที่จุดที่ยุ่งคือที่ใจ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าจะถามว่าเมื่อเราอยู่รวมกันตั้งเยอะๆ นี่แล้วเราจะอยู่ร่วมกันโดยธรรม หรือจะปฏิบัติงานโดยธรรมจะทำ นั่นก็คือจะต้องทำอะไรคะ จะต้องทำกันที่ตรงไหน
ผู้ร่วมสนทนา:ที่ใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำกันที่ใจ ก็คือการฝึกหัดขัดเกลาจิตใจ ฝึกหัดขัดเกลาจิตใจที่มันหนาแน่นอยู่ด้วยสนิมของกิเลสพอกพูนอยู่ตลอดเวลา ด้วยความอยากด้วยตัณหาต้องการอย่างนั้นต้องการอย่างนี้ต้องการสารพัดไม่มีวันสิ้นสุดไม่มีวันเพียงพอ ก็ต้องมาขัดเกลากันตรงจุดของตัณหาคือความอยาก ถ้าเรามาขัดเกลากันตรงนี้ให้มันเบาบางขึ้นความยุ่งมันก็จะลดน้อยลง ทีนี้ถ้าเราอยู่ร่วมกันมากๆ หลายๆ คน แล้วก็ว่ามันก็ยิ่งยุ่งยิ่งขึ้น
ถ้าหากว่าเผอิญใครสักคนในหมู่นั้นอย่างคุณจะเลิศ รู้จักถามอย่างนี้ก็แสดงว่ามีความรู้อยู่ในใจแล้วว่า “การที่มันต้องอยู่ร่วมกันนี่มันยุ่ง” แต่มันน่าจะต้องมีทางแก้ เราจึงอยากจะมองเห็นว่าเราจะแก้ไขได้อย่างไร ทีนี้พอรู้แล้วว่าเราต้องแก้ที่ใจ อย่างที่ฝึกการทำงานให้เป็นการปฏิบัติธรรมให้ได้ก็คือมีการลืมตัวในการทำงาน อย่าเอาตัวเข้าไปทำในการทำงานนี่พูดถึงว่าจำง่ายๆ นะคะ ให้รู้จักลืมตัวในการทำงาน คือ “ลืมสิว่าตัวฉันกำลังทำ ให้มันมีแต่การกระทำเท่านั้น” พูดอย่างนี้ไม่ใช่พูดเล่นสำนวนโวหารนะคะ แต่มันเป็นสิ่งที่อธิบายได้ มองเห็นได้ แล้วก็ทำได้ ซึ่งถ้าเราฝึกลืมตัวด้วยภาษาธรรมให้มากยิ่งขึ้นๆ เราก็จะมีแต่การกระทำ มีมือกระทำ มีกายกระทำ มีความรู้ มีสติปัญญาที่เราได้เล่าเรียนมา ใช้ประสบการณ์ที่เราเคยผ่านพ้นมานี่กระทำไปเรื่อยๆ แล้วทีนี้มันก็จะมีแต่ผลงานออกมา แต่ไม่ต้องมีตัวผู้กระทำที่จะมาเสียใจดีใจ หรือว่าอกหักเพราะรู้สึกว่าไม่ได้อย่างที่ต้องการ หรือว่าผิดหวังจนขมขื่นเพราะว่าไม่เป็นไปอย่างหวัง นี่ค่ะถ้าเราฝึกทำงานโดยการลืมตัวสักบ้าง อย่าเอาตัวเข้ามาทำงานมันจะมีแต่ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แล้วก็มีแต่ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำงาน
ฉะนั้นแม้ว่าจะรวมกลุ่มกันอยู่สักกี่คนก็ตามความเย็นมันก็อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ทีนี้สมมติว่าอาจจะมีสักคนสองคนที่มีความรู้สึกอย่างนี้แล้วก็กำลังจะฝึกใจของตน แล้วก็พอหันไปมองคนอื่นรอบๆ ข้าง ไม่เห็นใครเขาทำอย่างเราเลย เราพยายามที่จะลืมตนในการทำงาน ลืมตัวในการทำงาน พยายามจะทุ่มเทลงไปแต่ในการกระทำให้มีแต่การกระทำ แต่คนอื่นเขาไม่ทำอย่างนั้นนี่ ถ้าเราทำอย่างนี้เราไม่เสียเปรียบเขาหรือใช่ไหมคะ ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่ายังไม่ได้ลืมตัว เพราะยังมีตัวมาคอยคิดที่จะเสียเปรียบได้เปรียบอยู่ใช่ไหมคะ ถ้าเราฝึกจริงๆ ก็กัดฟัน กัดฟันกล้ำกลืนทำให้จงได้ แล้วถ้าเราทำได้ก็ไม่ต้องไปนึกอีกล่ะว่าทำไมคนอื่นเขายังไม่ทำ ทำไมนี่เลิก ไม่ต้องไปนึก ให้นึกแค่เพียงว่าถ้าเรานั่งกันอยู่ในห้องสัก 10 คน ทั้ง 10 คนนี่ก็เต็มไปด้วยความร้อน ร้อนด้วยวาจา ร้อนด้วยการกระทำ พร้อมที่จะพ่นวาจาออกมาเบียดเบียนกัน พร้อมที่จะทำร้ายกันด้วยกำลังแรงทางกาย ก็นึกดูเถอะว่ามันจะร้อนสักแค่ไหน แต่ถ้าหากว่าในขณะที่ใครๆ กำลังเริ่มร้อนกันอยู่นั้น คนสักคนหนึ่งที่อยู่ในห้องนั้นมันเกิดเย็นขึ้นมา เย็นใครเขาจะพูดอย่างไรจะกระทบกระแทกอย่างไรก็ยังยิ้มแย้มแจ่มใสที่จะรับฟังได้ หรือจะโต้ตอบให้มันถูกต้องตามธรรม คือตามสิ่งที่ควรจะเป็นไป ถ้าสามารถทำได้อย่างนั้นนี่เชื่อไหมคะว่ามันจะเป็นการชะงักๆ คนที่กำลังร้อนๆ นี่ให้หยุด
นอกจากหยุดแล้วก็จะเย็นขึ้นมาได้ แล้วบางทีถ้าหากว่าเขาไม่ๆ เหลือเกินจนเกินไปเขาก็อาจจะแก้ไขปรับปรุงใจของเขาแล้วก็เปลี่ยนกิริยาท่าทีวาจาเสียใหม่ในทันทีได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าใครนึกได้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ถูกต้องควรกระทำจงทำเถอะ อย่างน้อยจะเป็นผู้ที่ช่วยลดความร้อนในที่นั้น แล้วพอลดลงได้หนึ่งนี่มันยังเย็นแค่นี้ พอเกิดมีคนอื่นเห็นตัวอย่างเราช่วยกันลดบ้างความเย็นเพิ่มขึ้น ลด 3 ความเย็นเพิ่มมากขึ้น 4 เพิ่มมากขึ้นยิ่งขึ้นตามลำดับ
เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นว่าวิธีการอย่างนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้องก็จงทำ ไม่ต้องสงสัย แล้วก็ไม่ต้องหวังว่าจะให้คนอื่นเขามาทำพร้อมๆ เรา หรือว่าทำก่อนฉัน ฉันจะทำตาม อย่าอย่างนั้น ถ้าเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราเห็นนี่มันเป็นสัมมาทิฏฐิคือเป็นความเห็นที่ถูกต้องแล้วก็จงลงมือกระทำ คือให้มีสัมมาสังกัปปะ ตั้งใจที่จะกระทำแล้วก็กระทำลงไปทันที ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วมันก็เรียบร้อย ความเย็นมันก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น ฉะนั้นที่อยู่รวมกันแล้วเป็นทุกข์นี่มันก็จะทุกข์น้อยลงตามลำดับๆ
ผู้ร่วมสนทนา: ครับ อาจารย์เคยบอกว่าการทำงานคือการทำหน้าที่ใช่ไหมครับ การทำหน้าที่ก็คือเราเป็นการปฏิบัติธรรมด้วย ถึงตรงนี้ผมว่าเป็นเรื่องที่ยากมากที่คนเราจะมีความรู้สึกว่าเรารู้สึกว่าเป็นเพียงการกระทำอย่างเดียว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ค่ะ ถ้าไม่ฝึกมันก็ยาก แต่ถ้าฝึกเมื่อไหร่แล้วก็จะรู้สึกว่ามันมีทางที่เป็นไปได้ แล้วก็เคยเป็นมาแล้ว ท่านผู้ชมก็คงจะเหมือนกันนะคะ ในเวลาที่ท่านทำงานนี่มีหลายๆ ครั้งใช่ไหมที่ในขณะที่ทำไปนี่ รู้สึกสนุก คืองานอย่างเดียวกันนี่นะคะแล้วกลุ่มคนร่วมงานก็อย่างเดียวกันแต่บางวันรู้สึกสนุกๆ ในการทำงานนั้นสนุกมากเลยแล้วงานก็เสร็จไปเร็วๆ แล้วผลของงานที่เกิดขึ้นก็ดูเป็นที่พออกพอใจกันทุกฝ่าย แต่บางวันงานก็อย่างเดียวกันนั่นแหละคนร่วมงานก็กลุ่มเดียวกันนั่นแหละ ลักษณะการทำงานก็วิธีเดียวกันนั่นแหละ แต่วันนั้นงานมันช่างผ่านไปได้อย่างยากเย็นแสนเข็ญเหน็ดเหนื่อยแล้วก็เต็มไปด้วยความขัดเคืองไม่ชอบอกไม่ชอบใจเลย ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้นตอบได้ไหมคะ ก็งานอย่างเดียวกันทุกอย่างเหมือนกันหมดแต่วันหนึ่งทำไม โอ้โหเบิกบานแจ่มใส งานเสร็จไปเร็ว ต่างคนต่างพอใจในงาน แต่บางวันทำไปขบเขี้ยวเคี้ยวฟันไป ทำไมถึงต้องมาทำเมื่อไหร่จะพ้นสักที
ผู้ร่วมสนทนา: เพราะวันนั้นใจเราหม่นหมอง ใจมันทุกข์หรือเปล่าอุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วทำไมถึงหม่นหมองล่ะเพราะอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: อย่างสมมติบางท่านนะผมสมมติไปนะครับ ก็อาจจะมีเรื่องมาจากทางบ้านมาถึงที่ทำงานก็
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เอาตัวเราๆ ก่อน ไม่ต้องไปเอาคนอื่น คนอื่นเราไปสมมติว่าเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เขาอาจจะไม่ได้เป็นจริงก็ได้ เอาตัวของเราก่อน ก็วันนั้นทำไมเราถึงทำงานไม่เหมือนกับอีกวันหนึ่งที่เราทำงานจบด้วยความเบิกบานใจ แต่วันนี้ทำไมถึงทำงานจบด้วยความหม่นหมองใจ ดูวันที่เราทำงานจบด้วยความเบิกบานใจ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นทั้งที่ทุกอย่างเหมือนกันหมดเลย
ผู้ร่วมสนทนา: เพราะวันนั้นเราเป็นทุกข์นั่นเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: วันไหนเป็นทุกข์
ผู้ร่วมสนทนา: วันที่เราทำงานไม่สนุก รู้สึกเราเป็นทุกข์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำไมถึงไม่สนุกคะ
ผู้ร่วมสนทนา: คือใจเราทุกข์ คิดมาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใจของใคร
ผู้ร่วมสนทนา: ใจของเรา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เห็นไหมเพราะมีใจฉัน ไม่ได้ลืมๆ ตัววันนั้น ไม่ได้ลืมตัวเอาตัวเข้ามาทำงานอยู่ตลอดเวลา
ผู้ร่วมสนทนา: อาจารย์หมายถึงให้เราลืมตัว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ “ลืมตัวคือไม่เอาตัวเข้ามาทำงาน” คำว่าลืมตัวของดิฉันหมายความว่า ไม่เอาตัวเข้ามาทำงานในวันนั้น มันมีนี่วันนั้นมีแต่การ กระทำ เหมือนอย่างอีกวันหนึ่งที่เราทำแล้วงานมันเสร็จเรียบร้อยราบรื่นรวดเร็ว แล้วก็ลงเอยด้วยความสบายอกสบายใจพอใจในการทำงาน เพราะวันนั้นมันมีแต่การกระทำ ไม่มีตัวเข้ามา อะไรๆ มันก็เลยเต็มไปด้วยความผ่องใสเบิกบาน แม้ว่าเพื่อนร่วมงานคนไหนที่ยังเซ่อซ่าก็ยังเซ่อซ่าอยู่ คนไหนที่ยังลวกๆ ชุ่ยๆ ก็ยังคงลวกๆ ชุ่ยๆ อยู่ คนไหนที่เขาทำดีเขาก็ยังทำดีเสมอไป มันยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงในส่วนตัวคน แต่เผอิญตัวผู้ทำวันนั้นลืมตัวไม่ได้มีตัวในการทำงาน เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะพบคนที่ทำอะไรเข้าท่าบ้างไม่เข้าท่าบ้างมันก็ตักเตือนบอกกันไปด้วยความเมตตา แล้วก็พยายามที่จะช่วยเหลือแก้ไขให้งานมันสำเร็จลุล่วง แต่อีกวันหนึ่งที่มันจบงานลงด้วยความหม่นหมองใจนี่เพราะว่ามันมีตัวเข้ามา มันก็กะเกณฑ์อะไรต่อไรต่างๆ มันมีความเมตตาไม่ได้ในการทำงานวันนั้นมันมีแต่จะเอาเรื่องให้ได้ มันก็เลยทุกข์มากขึ้น
เพราะฉะนั้นอันนี้ค่ะถ้าท่านผู้ชมลองพิจารณาในอันนี้ก็จะเห็นว่าที่ว่าการทำงานคือการประพฤติธรรม หรือทำงานให้สนุก เป็นสุขในการทำงาน นี้คือการปฏิบัติธรรมเป็นไปได้ใช่ไหมคะ โดยเราได้เคยพบตัวอย่างอันนี้โดยอัตโนมัติทั้งๆ ที่เรายังไม่รู้เลยว่านี้คือการทำงานคือการปฏิบัติธรรมแต่มันเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ พอวันไหนที่เราลืมตัวเท่านั้น เราก็ทำงานสนุกเบิกบานใจ ฉะนั้นนี่จึงเป็นไปได้ ทีนี้เมื่อมันเกิดขึ้นได้อย่างนี้เอง แล้วถ้าเราสั่งสมวิธีการทำงานด้วยวิธีนี้ตลอดไปเรื่อยๆ แล้วทำไมการทำงานนั้นมันจึงจะไม่เป็นการปฏิบัติธรรมได้จริงๆ แล้วมันก็จะไม่เป็นการยากอีกต่อไป
ถ้าเพียงแต่ว่าให้เรามีสัมมาทิฏฐิมองเห็นเสียก่อนว่ามันเป็นไปได้ และอันที่จริงมันก็เป็นไปได้มันเกิดขึ้นได้ เพียงแต่มนุษย์เรานี่ใจอ่อนแอมันพ่ายแพ้แก่ความเรียกร้องของตัวตน ของตัวตนของฉันว่าต้องเอาอย่างนั้นอย่างนี้ มันพ่ายแพ้แก่การเรียกร้อง มันยอมทำตามการเรียกร้องของตัวตนมันก็เลยตาย คือตายด้วยความทุกข์ ไม่ใช่ตายเสียก่อนตาย ตายด้วยความทุกข์
ผู้ร่วมสนทนา: คือไม่ได้ 2 ขั้น ก็ไม่ทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไปเอาอย่างนั้น แล้วเสร็จแล้วพอปีต่อไปอย่าหวัง 2 ขั้น อาจจะถูกตัดเงินเดือนอีกก็ได้ใช่ไหมคะ เพราะเราไปประชดเขานี่โดยการไม่ทำ มันก็ผิดหน้าที่แล้ว
ผู้ร่วมสนทนา: ก็ยิ่งไปกันใหญ่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ยิ่งไปกันใหญ่ การไม่ทำมันก็ยิ่งเป็นการผิดหน้าที่เพราะฉะนั้นนั่นไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด แต่เป็นการแก้ปัญหาที่จะเรียกว่าด้วยมิจฉาทิฏฐิก็ได้ มิจฉาทิฏฐิคือความคิดที่ไม่ถูกต้อง มันก็ทำให้ความผิดพลาดเพิ่มขึ้นๆ เสียอีก ซึ่งไม่ควรจะเป็น
ผู้ร่วมสนทนา: บางคนก็บอกไม่ใช่พวกเราก็อย่าไปช่วยเขา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็เห็นไหม ก็เพราะเอาตัวเราเข้ามาทำ มันก็มีพวกเราพวกเขา ถ้าไม่มีตัวเราเข้ามาทำมันก็ไม่มีพวกเราพวกเขา มันก็จะมีแต่การ กระทำๆ แล้วก็ช่วยกันทำให้มันสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ผู้ร่วมสนทนา: เพราะฉะนั้นสำคัญที่สุดเรื่องของการทำงานนั่นก็คือทำงานอย่างลืมตัวในความหมายที่ว่านี้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ คือลืมตัวความหมายของคำว่าลืมตัวในทางธรรม ตามทางธรรม
ผู้ร่วมสนทนา: ครับ ผมขออนุญาตเปลี่ยนเรื่องนะท่านอาจารย์ครับ พูดเรื่องการทำงานมามากๆ ท่านผู้ชมหลายท่านบางท่านก็อาจจะเบื่อเรื่องนี้นะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แต่ก็อันที่จริงมันก็เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์เรานี่ไม่มีใครที่จะไม่ทำงาน เกิดมาต้องทำงานทุกคน จะมากหรือจะน้อย จะมีใครจ้างหรือไม่มีใครจ้าง ก็ต้องทำงานตามธรรมชาติอยู่
ผู้ร่วมสนทนา: ครับเผอิญว่าที่อยากจะขออนุญาตเปลี่ยนเรื่องพักเรื่องการถามเรื่องการทำงานไว้ พอดีมีคำถามซึ่งเราได้จากงานจัดนิทรรศการมาอยากจะถือโอกาสมาถามด้วยกันตรงนี้เลยคือมีผู้ถามว่า การเกิดมาเพื่อแสวงหาใช่หรือไม่ หรือเกิดมาเพื่อสร้างความดี หรือสร้างบารมีเพื่อสะสมไว้ต่อไป และจะทำอย่างไรให้ชีวิตดำเนินไปตามกระแสชีวิต และกระแสโลกเพื่อไปสู่จุดหมายของชีวิตอย่างดีที่สุด
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คำถามนี้ดูเป็นคำถามธรรมดาคือคำพูดธรรมดา แต่ที่จริงมีจุดที่จะต้องตอบหลายจุด แล้วก็ไม่แน่ว่าเราจะสามารถตอบคำถามนี้ภายในเวลาที่เรามีอยู่นะคะ ก็เป็นคำถามที่น่าสนใจ คำถามนี้ดูเหมือนจะมาจากการอภิปรายใช่ไหมคะ การอภิปรายวันหนึ่งที่เรามีการอภิปรายเรื่องเกิดมาทำไม แล้วก็ได้กระตุ้นรู้สึกจะกระตุ้นให้ผู้ฟังได้เริ่มคิดนะว่าเราเกิดมาทำไม เพราะฉะนั้นจึงมีคำถามที่ถามว่าอะไรนะคะ
ผู้ร่วมสนทนา: การเกิดมาเพื่อแสวงหาใช่หรือไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: การเกิดมาเพื่อแสวงหาใช่หรือไม่ นี่เอานี่เป็นคำถามแรกสักก่อน เกิดมาเพื่อแสวงหาใช่หรือไม่ ก็ใช่แน่นอนเพราะเหตุว่าเมื่อเราเกิดมาโดยไม่รู้ เกิดมาเพราะไม่รู้ๆ นี่เพราะถูกอวิชชาครอบงำอยู่ในจิตๆ ถ้าถูกอวิชชาครอบงำก็เลยไม่รู้ว่าเราจะทำอะไร นี่ก็เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ก็แสวงหาเรื่อยไปเพื่อให้ได้คำตอบ การเกิดมานี่คือการแสวงหาใช่หรือไม่ แต่ว่าจะแสวงหาอะไรนะคะเป็นสิ่งที่เราจะต้องพิจารณาต่อไป เขาถามว่าอะไรต่อไป ผู้ร่วมสนทนา: ถามต่อว่าหรือเกิดมาเพื่อสร้างความดี หรือสร้างบารมีเพื่อสะสมไว้ต่อไป อันนี้ก่อนนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันนี้ก็เกิดมาเพื่อแสวงหา ใช่ ทีนี้แสวงหาอะไร ผู้ถามก็ตอบมาในตัวใช่ไหมคะว่า เพื่อแสวงหาความดีใช่ไหม เพื่อแสวงหาบารมีใช่ไหมเพื่อจะสะสมไว้ต่อไป มันก็ใช่ คือหมายความว่ามันก็ไม่ผิดนะคะ แต่ทีนี้ถ้าจะถาม แล้วคำถามต่อไปว่าอะไรนะคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรให้ชีวิตดำเนินไปตามกระแสชีวิต และกระแสโลกเพื่อไปสู่จุดหมายของชีวิตอย่างดีที่สุด
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วทำอย่างไรจึงให้ชีวิตดำเนินไปตามกระแสชีวิต และกระแสโลกเพื่อไปสู่จุดหมายของชีวิตที่ดีที่สุดอย่างดีที่สุด นี่ค่ะมันก็มีสิ่งที่จะต้องคิดต่อไปว่า เพื่อความดี เพื่อทำความดี นอกจากทำความดีแล้วก็สะสมบารมี แล้วก็ให้ดีที่สุดตอนนี้ก็จะต้องมาๆ เรียกว่ามาๆ วินิจฉัยกันดู วิเคราะห์ดูว่าที่ว่าดีแล้วก็ดีที่สุดนี่มันคืออะไร แล้วมันคืออย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าจะพูดถึงว่าเพื่อดีแล้วก็ดีที่สุดนี่เห็นจะพูดกันได้หลายอย่างเลย แล้วก็ดีของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันไปด้วยใช่ไหมคะไม่เหมือนกัน ถ้าเราพูดกันในแง่ของธรรมเราก็น่าจะมาดูว่าเหมือนอย่างคำถามที่ว่า เราหันมาหาธรรมทำไม จำได้ไหมคะว่าอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: เพื่อจะทำสิ่งที่ถูกต้อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพื่อทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำไมถึงต้องการทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่ออะไร
ผู้ร่วมสนทนา: จำไม่ได้แล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เราทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่ออะไร
ผู้ร่วมสนทนา: เพื่อความดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพื่อความดีๆ ของอะไร เพื่ออะไร ทำไมเราถึงต้องการที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่ออะไร เพื่ออะไรกับชีวิตนี้ อย่าลืมว่าชีวิตนี้ประกอบด้วยอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: ประกอบด้วยธาตุ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ประกอบด้วยธาตุ ถ้าเราไปถึงที่สุด ประกอบด้วยกายและจิต กายและจิตนี่ก็คือเป็นธาตุ แต่นี่เรายังไม่ไปลงไปสู่ถึงที่สุดอย่างนั้นเพราะมันจะเป็นเรื่องยาวต่อไป ชีวิตนี้ประกอบด้วยกายและจิต ทีนี้เราพยายามจะทำสิ่งที่ถูกต้อง เราหันเข้ามาหาธรรมเพื่ออะไร
ผู้ร่วมสนทนา: เพื่อจิตสงบ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพื่อจิตใช่ไหม เพราะต้องการให้จิตสงบและสบาย ไม่ควรลืมอันนี้ ถ้าเราหันเข้ามาหาธรรมทำไม เพื่อให้จิตนั้นมีความสบาย ว่าง เย็น เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าจะถามว่าความดีที่สุดนี้ ความดีอย่างดีที่สุดนี่คืออะไรในชีวิตของมนุษย์ ถ้าจะตอบให้สั้นที่สุดมันก็ควรจะมาลงที่คำตอบอันนี้ใช่ไหม
ผู้ร่วมสนทนา: จิตสงบ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ที่ดีที่สุดนั่นก็คือเพื่อความเย็นของจิต เพื่อให้จิตนั้นมีความเย็น มีความเบา มีความว่าง มีความสบายๆ อย่างปลอดโปร่ง นี่คือจุดมุ่งหมาย เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าดีอย่างที่สุดก็คือสภาวะของจิตที่มีความว่างๆ จากความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยึดมั่นถือมั่นในตัวตน จนจิตนั้นเย็นๆ ผ่องใส ปลอดโปร่ง เบิกบาน ถ้าหากว่าเราสรุปกันว่าชีวิตนี่คือการแสวงหา ใช่ แล้วก็แสวงหาอะไร แสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ก็คือ
ผู้ร่วมสนทนา: จิตที่เย็น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: จิตที่เย็นๆ ในที่นี้หมายความว่าอะไร ก็คือเย็นเพราะ จิตนั้นเป็นจิตที่มีสภาวะที่ว่าง สะอาด บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง ไม่ต้องถูกครอบงำด้วยอำนาจของกิเลสหรือตัณหา จิตนั้นมีความเย็น นี่ที่เราดิ้นรนทุรนทุรายกันอยู่ทุกวันนี้เพื่อสิ่งที่เรียกว่าความสุข แต่ว่าสุขแล้วมันก็ร้อนอีก คือพอได้สมใจแล้วมันก็ร้อน สุขแล้วก็ร้อนๆ ไม่ใช่สุขเย็นมันเป็นสุกไหม้ ทีนี้ถ้าเป็นสุขเย็นสุขที่แท้จริงนี่คือสุขที่สามารถพัฒนาจิตให้เย็นสบายผ่องใสได้อันนี้จึงจะถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าเราคำตอบบอกว่าสิ่งที่ดีที่สุด ความดีอย่างที่ดีที่สุดนี่ก็คือควรจะแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ คือสภาวะของความเย็นอย่างที่ว่าอย่างนั้น
แล้วถ้าหากว่าหาได้แล้ว หรือยังหาไม่ได้อย่างถาวรก็ค่อยๆ สะสมๆ เอาไว้จะเรียกว่าเป็นบารมีก็ได้ แต่เป็นบารมีที่เราสามารถจะมองเห็นได้เองในขณะนี้ ในทันตาในปัจจุบันนี้ ถ้าเราสะสมไว้มากเท่าไรจิตนั้นก็มีความเย็นผ่องใสเบิกบานอิ่มเอิบอย่างที่เขาเรียกว่าเย็นเป็นสุขเกษมมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเพียงนั้น เพราะฉะนั้นบารมีที่ว่านี่จึงเป็นบารมีที่ควรจะสะสมในลักษณะนี้ ส่วนที่จะสะสมเอาไว้ข้างหน้าหรือชาติหน้า เราก็ไม่ทราบนะคะ เพราะเรายังไม่มีความรู้พอในเรื่องนั้น
แต่สิ่งที่เรารู้พอและแน่ใจคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตในปัจจุบันๆ ทันใจที่จิตมีความรู้สึกอยู่ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้และควรจะแสวงหาอย่างยิ่งก็คือ ความมีชีวิตเย็น แล้วถ้าเราสะสมเอาไว้มากเท่าใดความเย็นนั้นก็จะยั่งยืนถาวรมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าท่านผู้ใดสามารถจะรู้จักได้ว่าชีวิตคือการแสวงหาและสามารถแสวงหาได้อย่างถูกต้อง ชีวิตนี้จะมีความหมาย ชีวิตนี้จะมีคุณค่าแล้วก็มีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะมีโอกาสที่จะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้สมแก่การเกิดมาเป็นมนุษย์
สำหรับวันนี้ก็เห็นจะต้องธรรมสวัสดีต่อท่านผู้ชมทุกท่านนะคะ แล้วก็ธรรมสวัสดีต่อ “จะเลิศแล้วก็กอล์ฟด้วย”