แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมะสวัสดีค่ะ แด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน รายการในวันนี้จะชื่อรายการว่า “พุทธธรรม พุทธทาส” บางทีท่านผู้ชมอาจจะรู้สึกสงสัยว่า ทำไมเราจึงเรียกรายการนี้ว่า “พุทธธรรม พุทธทาส” เผอิญเราก็มีลูกหลานอยู่ใกล้ ๆ ก็อยากจะลองถามว่า มีความสงสัยหรือสนใจในชื่อของการรายนี้บ้างไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ 1: ครับ ผมอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า “พุทธธรรม” ในที่นี้ ท่านอาจารย์จะให้ความหมายว่าอย่างไร และ “พุทธทาส” จะหมายความว่าอย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อันที่จริงคำว่า พุทธธรรม หรือ พุทธทาส นี้ก็ไม่ใช่คำพูดที่ใหม่ เราเคยได้ยินเรื่องของพุทธธรรม พุทธทาส มานานนะคะ โดยมากเมื่อเราพูดว่า “พุทธธรรม” เราก็จะต้องนึกถึงคำสองคำ คำหนึ่งก็คือคำว่า “พุทธะ” กับ “ธรรมะ” เมื่อสองคำนี้มารวมกันแล้วนี่ ความหมายว่าอะไร แต่ก่อนที่จะพูดถึงคำสองคำ ก็ลองดูแต่คำคำเดียวก่อน เมื่อพูดถึง “พุทธะ” ส่วนมากเราก็จะนึกถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันที่จริงท่านผู้ชมก็คงทราบแล้วว่า การที่เจ้าชายองค์หนึ่งที่ทรงพระนามว่าสิทธัตถะ ได้มีชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้านั้น ก็เพราะเหตุว่า ท่านสามารถที่จะพัฒนาปัญญาข้างใน จนกระทั่งสามารถมองเห็นสิ่งที่เป็นสัจจะของธรรมชาติ และเมื่อทรงเห็นแล้วก็ประจักษ์ชัด แล้วก็ทรงปฏิบัติในทางจิตของท่าน จนกระทั่งไม่หวนกลับไปในสิ่งที่ท่านเคยหลงใหลหรือว่าตกเป็นทาสของมัน เรียกว่า เมื่อท่านถึงภาวะนั้นแล้ว ท่านก็เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อยู่ด้วยพระปัญญาอันบริสุทธิ์ แล้วท่านก็เบิกบาน แช่มชื่น อยู่ในความที่มีพระทัยว่าง จากการที่ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส นี่คือความหมายของคำว่า พุทธะ ทีนี้เราถามว่า “ธรรมะ” ก็อาจจะแปลกันได้ตั้งหลายอย่าง แต่ในที่นี้ก็อยากจะพูดแต่เพียงอย่างเดียวว่า ว่าหมายถึง ธรรมะก็คือธรรมะของพระผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นั่นเอง เพราะฉะนั้นพุทธธรรม ก็คือธรรมะของพระผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และอันที่จริงแล้วคุณเจริสหรือคุณเจี๊ยบก็คงจะรู้ว่า เราสามารถที่จะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานก็ได้
ผู้ดำเนินรายการ 1 : อย่างพวกผมนี่เหรอครับ เป็นได้เหรอครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เป็นได้ เพราะว่าการที่จะเป็นนี่ เราเป็นที่ไหน ทราบใช่ไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ 1 : เป็นที่ใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เป็นที่ใจ เราก็มีใจกันอยู่ทุกคน เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีใจกันอยู่ทุกคนนี่ ถ้าเราปรับใจของเราให้เป็นใจมืด มันก็มืด ถ้าเราปรับใจของเราให้เป็นใจสว่าง มันก็สว่าง และเมื่อใดที่ความสว่างภายในเกิดขึ้น ใจนั้นก็เป็นใจของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้อะไร ก็รู้แล้วในสัจจธรรม ในความเป็นไปของสภาวะธรรมชาติของโลก ว่าเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพอรู้ชัดว่าสภาวะของโลกมันเป็นอย่างนี้ มันไม่มีอะไรคงที่ แล้วก็เลย “ตื่น” จากความยึดมั่นถือมั่น ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของความอยาก และก็ไม่มีวันจะหวนกลับไปหลับ
ผู้ดำเนินรายการ 2: ค่ะ แล้วเรานำ พุทธธรรม นี้มานำชีวิตได้อย่างไรคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหากว่าเราต้องการที่จะเป็นลูกศิษย์ของท่านผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อย่างจริง ๆ เราก็นำพุทธธรรมนี่แหละเข้ามานำชีวิตของเรา ให้เข้ามาอยู่ในชีวิตของเราอยู่ตลอดเวลา นั่นก็คือว่า จะคิด จะพูด จะทำ ก็ให้อยู่ในทำนองคลองธรรม ของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ คือ ไม่หลงไปตกอยู่ภายใต้ความยึดมั่นถือมั่น เคยคิดไหมคะว่าชีวิตของเราที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะเราไม่ได้นำเอาพุทธธรรมเข้ามาประจำชีวิตใช่ไหม เพราะฉะนั้นชีวิตของเรานี้จึงลุ่ม ๆ ดอน ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ หรือเปล่า?
ผู้ดำเนินรายการ 1 : ใช่ครับ (หัวเราะ)
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วความลุ่ม ๆ ดอน ๆ นั่นเป็นอย่างไรคะ
ผู้ดำเนินรายการ 1 : มันก็ไม่ค่อยสบายใจครับ ยังมีความทุกข์อยู่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ประเดี๋ยวร้อน ประเดี๋ยวหนาว ทั้ง ๆ ที่อากาศร๊อน ร้อน แต่ว่ามันก็มีความรู้สึกหนาว และความหนาวนี้มันก็หนาวที่ใจ ยิ่งเอาเสื้อหนาวมาใส่ตอนนี้ไม่ต้องการ แต่เราต้องการธรรมะนี่แหละ ที่จะมาทำให้จิตใจนั้นเกิดความเย็นสบาย ถ้าหากว่าจะอีกอย่างหนึ่ง เขาเรียกว่า “ความอบอุ่น” แต่ไม่ใช่ความร้อน และก็ไม่ใช่ความหนาว ถ้าเป็นความร้อนหรือความหนาวนั่นน่ะ จิตนั้นไม่มีพุทธธรรมแล้ว ถ้าจิตมันร้อนหรือหนาว แต่ถ้าจิตมันมีความเย็น มันมีความเย็น มีความเป็นปกติ นั่นแหละเรียกว่า จิตนั้นมีพุทธธรรมอยู่ในจิต
ผู้ดำเนินรายการ 1 : โดยที่ไม่ยึดมั่นอะไรทั้งหมด แล้วจิตจะสงบปกติ อาจารย์ว่าเป็นอย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ลองนึกดูสิคะว่าจิตของเรานี้ ที่เราร้อนหรือเราหนาวนี่ เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของความยึดมั่นถือมั่นใช่ไหม เรายึดมั่นถือมั่นอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งใช่ไหม เราต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้มาเป็นของเรา แล้วเสร็จแล้วพอไม่ได้เข้าดั่งใจ จิตนั้นมันก็เป็นทุกข์ มันก็ไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นก็บอกได้ว่า ความยึดมั่นถือมั่นนี่แหละ มันเป็นต้นเหตุของความทุกข์
ผู้ดำเนินรายการ 1 : ก็พวกผมเป็นชาวโลกนี่ครับ (หัวเราะ)
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เป็นชาวโลก แล้วใครล่ะที่ไม่เป็นชาวโลก เราก็อยู่ในโลกกันทุกคน ตราบใดที่เรายังหายใจอยู่ใช่ไหมคะ เมื่อตราบใดที่เรายังหายใจอยู่ เราก็อยู่บนพื้นโลก อยู่ในชาวโลก นี่ก็คงหมายความว่า ถ้าเป็นชาววัดล่ะก็ต้องแต่งตัวอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นชาวโลกก็แต่งตัวอย่างหนึ่ง นั่นไม่ใช่เครื่องหมาย นั่นเป็นแต่เพียงเราสมมุติขึ้น เราสมมุติขึ้นว่าเป็นนักเรียนโรงเรียนนี้ แต่งแบบฟอร์มอย่างนี้ ต้องปักด้วยตัวหนังสืออย่างนั้น หรือเป็นนักศึกษา หรือว่าไปงานในโอกาสต่าง ๆ ก็แต่งตัวอย่างนั้นตามสมมุติของสมัยนิยม หรือของสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นที่บอกว่าเป็นชาวโลกนี่ ก็คือการสมมุติฐาน ทีนี้ถ้าจริง ๆ แล้วนี้ล่ะก็ จะเป็นชาวโลกหรือเป็นชาววัดนี่ไม่สำคัญ ถ้าเราจะรู้ว่า อันที่จริงถ้าพูดถึงพุทธธรรมแล้วนี่มีเพียงหนึ่งเดียว คือ “พุทธธรรมของพระพุทธเจ้า” ไม่ใช่ของคนอื่น ไม่ใช่ของสำนักโน้นสำนักนี้ ไม่ใช่ของประเทศนั้นประเทศนี้ คงเคยได้ยินใช่ไหมคะที่บอกว่าพุทธศาสนานี่ ของลังกาก็อย่างนั้น ของพม่าก็อย่างโน้น ของอินเดียอย่างนี้ ของไทยอย่างนั้น อันที่จริงแล้วก็มาจากพระพุทธเจ้าองค์เดียว แล้วมันจะแตกต่างกันได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจะเป็นชาวโลกหรือชาววัดที่เรียกตนเองตามสมมุติก็ตาม ถ้าเรารู้แล้วว่าอะไรคือต้นเหตุของความทุกข์ แล้วเราไม่อยู่ใต้อำนาจของมัน
ผู้ดำเนินรายการ 1 : ครับ ทีนี้ก็อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ต่อนะครับว่า คำว่า “พุทธทาส” นั้น จะหมายถึงว่าเราเป็นทาสของพระพุทธเจ้าใช่หรือไม่ครับ แล้วก็คล้าย ๆ ว่าสมัยนี้เขาบอกว่าเลิกทาสไปแล้ว ทำไมเราต้องมาเป็นทาสของพระพุทธเจ้าอีก ไม่ทราบจะถามละลาบละล้วงเกินไปหรือเปล่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ที่ว่าเป็นทาสของพระพุทธเจ้านี่นะคะ ที่จริงพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทรงต้องการทาส ท่านไม่ทรงต้องการตาสีตาสาอะไรทั้งนั้นเลย แต่ความเป็นทาสนี้น่ะ บุคคลเองแต่ละคน เมื่อมีความพึงพอใจในธรรมะ และก็ได้รู้รสของความชื่นบานความแช่มชื่นในธรรมะ ก็ยอมใจลงเป็นทาสเอง เพราะฉะนั้นการเป็นทาสในที่นี้ก็หมายความว่า ยอมเป็นทาสที่ใจ ด้วยการน้อมใจลงเข้าสู่พระธรรม ถ้าจะว่าไปแล้วไม่มีใครเป็นนาย การเป็นทาสเช่นนี้ไม่มีใครเป็นนาย เป็นทาสอย่างอิสระ อิสระเสรี เพราะใจนั้นยอมรับ ยอมรับเอง ฉะนั้นการเป็นพุทธทาสนี้ก็มีความหมายได้สองอย่าง ถ้าโดยรูปธรรม ก็หมายถึง คนที่เมื่อสนใจในธรรมะ ศึกษาธรรมะ มีความรู้ในธรรมะ จนกระทั่งเข้าใจธรรมะอย่างดี แล้วก็ประพฤติปฏิบัติธรรมะ แล้วก็มองเห็นผล เกิดความชุ่มชื่นเบิกบานใจ ก็นำเอาธรรมะนี้ออกมาเผยแผ่ บอกกล่าวผู้อื่น เพราะว่าอยากที่จะให้คนอื่นได้มีความสุขที่แท้จริงเช่นนั้นบ้าง แล้วอีกอันหนึ่งก็คือ เพราะได้มองเห็นตัวอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงกระทำแล้วใช่ไหมคะ เมื่อท่านตรัสรู้แล้ว เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา และท่านทรงใช้อีก 45 พรรษาเสด็จไปตามที่ต่าง ๆ ทั่วบ้านทั่วเมือง ประเทศโน้นประเทศนี้ เพื่อนำธรรมะที่ท่านทรงค้นพบมาบอกแก่คนทั้งหลายว่า ทำอย่างนี้นะแล้วใจจะไม่เป็นทุกข์ แล้วใจจะมีแต่ความสดชื่นเบิกบาน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่า ก็เรียกว่าพระพุทธเจ้านั่นแหละ ท่านเองท่านก็ทรงกระทำองค์ท่านเองเหมือนว่าเป็นทาสของพระธรรม เป็นทาสของพระธรรมจึงได้นำธรรมะไปให้แก่ผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ท่านก็ทรงเป็นผู้ค้นพบพระธรรม แต่ท่านทรงสละ สละพระวรกาย กำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา ความเหน็ดเหนื่อยทั้งหลาย เหมือนอย่างกับทรงเป็นทาสของพระธรรม เพื่อจะนำธรรมะนั้นมาให้คนอื่น เพราะฉะนั้นโดยรูปธรรมก็คือ พุทธทาสในที่นี้ พระพุทธเจ้าทรงยอมองค์ลงเป็น เพื่อจะนำพระธรรมมาหาผู้อื่น แต่ถ้าเป็นพุทธทาสก็เหมือนกับว่ายอมตนเป็นทาสของพระพุทธเจ้า แต่ว่าเป็นทาสของพระพุทธเจ้าในแง่ที่ว่า จะประพฤติปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาทของพระองค์ ท่านทรงดำเนินไปเพื่อสละความเหน็ดเหนื่อยทั้งหลาย เพื่อเผยแผ่ธรรมะอย่างไรก็จะทำเช่นนั้น และถ้าโดยนามธรรมอย่างเรา ๆ นี้ ถ้าเรายอมใจเป็นทาสของพระพุทธเจ้าโดยนามธรรม ก็เท่ากับว่าเราน้อมใจลงเข้าสู่พระธรรม
ผู้ดำเนินรายการ 2 : แล้วที่ว่าเราต้องตรัสรู้เสียก่อน แล้วก็ว่าชีวิตนี้คืออะไรนี่ ที่เราต้องควรรู้เสียก่อนว่าชีวิตคืออะไรนี่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อ๋อ ก็คือหมายความว่า คนบางคนนี่ยอมไม่ได้ที่จะรับพุทธธรรมมานำชีวิต หรือยอมไม่ได้ที่จะน้อมใจลงไปเป็นพุทธทาส ทำไม่ได้ ก็เพระเหตุว่าอาจจะพูดได้ว่า ชีวิตนี้เป็นของฉัน ทำไมฉันถึงจะยอมไปรับอะไรที่ฉันมองไม่เห็น หรือทำไมฉันจะยอมชีวิตของฉันไปเป็นทาสของสิ่งนั้นสิ่งนี้ เจี๊ยบก็อาจจะถามว่า อ๋อ ถ้าเช่นนั้นแล้วล่ะก็ ทำไมจึงทำไม่ได้ นี่ก็เป็นเพราะว่าเกิดความสงสัยหรือไม่เข้าใจในความหมายของคำว่าชีวิตใช่ไหม ว่าชีวิตคืออะไร ถ้าถามว่าชีวิตคืออะไร จะตอบว่าอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ 1 : ชีวิตคืออะไรเหรอครับ ชีวิตคือร่างกายที่เราเห็น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ชีวิตคือร่างกายที่เราเห็น เจี๊ยบล่ะ
ผู้ดำเนินรายการ 2 : ชีวิตเกิดจากธาตุทั้งสี่ที่มารวมตัวกัน แล้วก็มีชีวิต มีจิตวิญญาณ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อืม แหม อันนี้ตอบลึกซึ้งมากนะ (หัวเราะ) แสดงว่าสนใจธรรมะ ก็ถูกทั้งสองคนนะคะ ถูกทั้งสองคำตอบ เพราะว่าโดยรูปธรรมที่มองเห็นกันง่าย ๆ เลย ว่าชีวิตคืออะไร ก็นี่รูปร่าง หน้าตา ร่างกายที่เรามองเห็น นี่คือเรียกว่าชีวิต ชีวิตของเธอ ชีวิตของเธอชีวิตของฉันอะไรอย่างนี้ เราก็ถือเอารูปร่างที่เรามองเห็น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือว่า คนนี่แหละเป็นชีวิต อันนั้นก็มองเห็นอย่างเรียกว่า อย่างหยาบที่สุด ด้วยตาเนื้อที่เรามองเห็นอยู่ แล้วก็อย่างผิวเผิน ที่อย่างพอใครให้กำเนิดใครมา ผู้หญิงให้กำเนิดใครมา ก็บอกว่า อ้อ นั่นชีวิตใหม่เกิดขึ้นแล้ว ก็คือหมายถึงชีวิตของคน ทีนี้ถ้าหากว่าถือเพียงชีวิตของคนอย่างนั้น บางทีเราก็จะถือเอาสิ่งแวดล้อมมากำหนดว่าชีวิตคืออะไรใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าชีวิตของคนนั้นคลุกคลีอยู่กับความยากจน อดอยาก ข้นแค้นตลอดเวลา ก็อาจจะบอกว่า โอ้ ชีวิตนี้มันก็คือความจน เกิดมาก็ต้องตีนถีบปากกัด อดมื้อกินมื้อตลอดเวลา แล้วก็เลยบอกว่าชีวิตนี้มันคือความจน ไม่มีอย่างอื่น หรือคนบางคนเกิดมาในแวดวงของความเป็นผู้มีอำนาจ ก็เลยบอกว่าชีวิตนี้คืออำนาจ ถ้าขาดอำนาจเสีย ชีวิตนั้นก็หมดไม่มีความหมาย ฉะนั้นถ้าหากว่าเราเอาคนเป็นที่ตั้งว่าชีวิตคือคนนี่ ความหมายของชีวิตมันจะไปพัวพันอยู่กับสิ่งแวดล้อมของชีวิตของคน ๆ นั้น
ทีนี้ถ้าหากว่าความหมายอันที่สอง ที่บอกว่าชีวิตก็คือธาตุ ชีวิตก็คือธาตุ มันก็ใช่ถ้าในแง่ของทางธรรม เพราะชีวิตที่ว่าเป็นคนเป็นรูปร่าง มันประกอบด้วยอะไรใช่ไหมคะ เชื่อว่าท่านผู้ชมก็ทราบแล้วว่าชีวิตนี้ก็คือประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วก็ส่วนมากเราจะรู้จักกันแค่สี่ธาตุ เพราะว่า
ดิน ก็หมายถึง คุณสมบัติของดิน ที่มันแค่นแข็ง ไม่ได้หมายความว่าเอาดินเข้ามาเป็นธาตุ แต่หมายถึงว่ามันแค่นแข็ง อย่างเช่นเนื้อ เช่นกระดูก อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มันมีความแค่นแข็งอยู่ในตัวมัน
น้ำ มันก็มีคุณสมบัติคือเหลว แล้วมันก็เลื่อนไหลลอยตัวได้
แล้วก็ลม มันก็มีคุณสมบัติที่เคลื่อนไหว
แล้วก็ไฟ คุณสมบัติของมันคือก็มีความร้อนอยู่ มีอุณภูมิ
เพราะฉะนั้นในร่างกายของคน ที่เรียกว่ากาย เราจึงจะมองเห็นว่ามันประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ เช่นเนื้อ เช่นกระดูก นี่เราก็จัดได้ว่ามันอยู่ในธาตุดิน เพราะมันมีคุณสมบัติที่แค่นแข็ง หรือว่าเลือด ปัสสาวะ น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย ก็จัดได้ว่าเป็นธาตุน้ำ เพราะว่ามันมีคุณสมบัติที่เป็นความเหลว แล้วก็ถ้าหากว่าเป็นลม นี่เราก็รู้แล้ว แก๊สที่มันอยู่ในร่างกายของเรา แล้วก็นอกจากนั้นที่เป็นไฟ ก็รู้ว่าร่างกายเราที่มีอุณหภูมิใช่ไหมคะ มีอุณหภูมิของความร้อนความหนาว ความมากความน้อยของอากาศที่อยู่ในนี้ แล้วเสร็จแล้วเราก็มีธาตุอีกสองอันที่เราพูดถึง คือ ธาตุอากาศและธาตุวิญญาณ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ เราเรียกว่า ธาตุ 6 แทนที่จะเป็น ธาตุ 4
ธาตุอากาศในที่นี้ หมายถึงที่ว่าง ที่ว่างที่มีอยู่ในร่างกาย ถ้าหากว่าในร่างกายของเรา นึกถึงในช่องของร่างกายของเราไม่มีที่ว่างเลย เราจะไม่รู้ว่าตับ ไต ไส้ พุง มันจะไปอยู่ที่ไหนใช่ไหมคะ ถ้ามันตันทั้งหมด จึงต้องมีที่ว่าง ฉะนั้นนี่อันนี้ถ้าหากว่าเราทั้งหลายรู้ถึงคุณค่าของสิ่งที่เรียกว่า “ว่าง” เราจะซึมซาบ และก็จะพยายามมองเห็นเสมอเลยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “จิต” นี่ ถ้าเราปล่อยให้มันว่างไม่ได้ เราจะเอาแต่วุ่นเข้ามาใส่ มันจะเป็นทุกข์แค่ไหน นั่นเป็นความว่างในทางนามธรรม แต่ความว่างในทางรูปธรรมนี่ อันนี้เพราะร่างกายประกอบไปด้วยอากาศธาตุ คือความว่าง ทีนี้จากนั้นก็วิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุก็คือสิ่งที่เป็นนามธรรม คือหมายถึงสิ่งที่เรียกว่าเป็นใจ อันนี้เป็นนาม
ซึ่งเราก็เรียกว่า ทั้งหมดธาตุ 6 นี้ ประกอบขึ้นเป็นคน มีร่างกาย มีรูป แล้วก็มีนามคือใจ แล้วผลที่สุดถ้าเราศึกษาไปให้ลึกซึ้ง ก็เพราะชีวิตนี้คือธาตุ ถ้าเราเห็นชัดอย่างนี้ เราก็จะรู้ว่า อ๋อ ชีวิตคือธาตุนี่มันจะไม่ยั่งยืน มันจะมีเปลี่ยนแปลง แปรสภาพไปเรื่อย ๆ เพราะเหตุว่ามันเป็นธาตุ เมื่อถึงเวลาที่ร่างกายนี้เปลี่ยนแปรสภาพไป ผลที่สุดมันก็สูญสลาย พูดอย่างนี้เข้าใจไหม มันสูญสลาย ไม่มีเหลืออะไรเลย
ผู้ดำเนินรายการ 1 : เพราะฉะนั้นร่างกายก็ไม่ใช่ของเราเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ไม่ใช่ของเรา ถ้าเรามองเห็นอย่างนี้ได้ นี่แหละคือเราเห็นธรรมะ แล้วเราก็กำลังศึกษาธรรมะ แล้วเราก็เข้าสู่ธรรมะ เราจะสามารถนำพุทธธรรมมาประคองจิตให้เกิดขึ้นได้ และพุทธธรรมก็จะมานำชีวิตได้ นี่ก็เป็นความหมายที่พูดได้ง่าย ๆ แต่ยังมีความหมายอีกอย่างหนึ่งที่เราไม่ค่อยได้นึกถึงกัน นั่นก็คือที่บอกว่าชีวิตก็คือความไหลเรื่อย ชีวิตคือความไหลเรื่อย มองเห็นไหม
ผู้ดำเนินรายการ 1 : ความไหลเรื่อย เป็นอย่างไรครับอาจารย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ยอมรับไหม มองเห็นไหมคะว่าชีวิตคือความไหลเรื่อย
ผู้ดำเนินรายการ 2 : ไหลเรื่อย ๆ ไปตามกาลเวลา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันไหลเรื่อยไปตลอดเวลา มันไม่เคยอยู่นิ่ง ไม่เคยอยู่ที่ ในขณะที่เราพูดกันอยู่นี้ มันก็ไหลเรื่อยไปเรื่อยตลอดเวลา เราไม่ได้ย้อนกลับมาที่เก่า แต่ว่าบางทีคำพูดมันอาจจะมาซ้ำคำเดิมบ้าง หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันอาจจะซ้ำคำเดิมบ้าง แต่แท้จริงมันคือความไหลเรื่อย ถ้าเราดูชีวิตเราวันหนึ่ง ๆ นี่ เคยถามตัวเองบ้างไหมว่าเราทำอะไร หรือถ้าเรามามองดูกิจประจำวัน เมื่อวานนี้ทำอะไรบ้าง ตั้งแต่ตื่นนอน เช้าขึ้นมาเรื่อยมา จนกระทั่งเดี๋ยวนี้เราทำอะไร วันนี้เราทำอะไร ต่างกับเมื่อวานไหม แล้วก็พรุ่งนี้เราจะทำอะไร ต่างกันไหม ที่จริงแล้วจะเห็นว่าชีวิตนี้มีความซ้ำ แต่ในความซ้ำมันไหลเรื่อยไปเรื่อย มันไหลเรื่อย มันเปลี่ยนไปเรื่อย ไหลเรื่อยจากการมองดู ถ้าเราจะดูให้เห็นชัดจากร่างกายของเรา มันไม่ได้เหมือนกันเลย แต่ว่าถ้าดูทุกวัน ๆ อาจจะเห็นยาก แต่ถ้าเราย้อนดูไปเมื่อ 20 ปีมาแล้ว แล้วก็ 15 ปีมาแล้ว 10 ปีมาแล้วขึ้นมา เราจะมองเห็นความไหลเรื่อยของร่างกายของเรา แล้วเดี๋ยวนี้ก็จะมองเห็นได้ชัด นอกจากนั้นความไหลเรื่อยของชีวิตนี้คือมันผ่านไปเรื่อย เหตุการณ์ที่เราทำในชีวิตนี้มันไม่เคยอยู่นิ่งเลย แต่เราไม่ได้สังเกต เพราะอะไร เพราะความไหลเรื่อยมันเกิดขึ้นเร็วมาก มันต่อกัน ๆ ๆ ๆ จนกระทั่งเราคิดว่ามันไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันไม่มีความไหลเรื่อย ฉะนั้นถ้าเรามองเห็นว่า โอ้ ชีวิตนี้คือความไหลเรื่อย ซึ่งความไหลเรื่อยเกิดขึ้นได้เพราะมันไม่คงที่ ไม่อยู่นิ่ง พอเราเห็นธรรมะอันนี้ เห็นความหมายของชีวิต เราก็จะหยุดได้
ผู้ดำเนินรายการ 1 : เป็นข้อคิดที่ดีมากทีเดียว เสียดายวันนี้เวลาเรามีจำกัด คงต้องให้ท่านอาจารย์ได้อธิบายตรงนี้ให้ท่านผู้ชมได้ฟังกันต่อไป ก่อนที่จะจบรายการในวันนี้ อาจารย์อยากจะฝากอะไรกับพวกเราไว้บ้าง ก่อนที่จะพบกันในครั้งหน้าครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ขอให้ลองใคร่ครวญดูนะคะว่าชีวิตนี้คืออะไร ถ้าเรามองเห็นว่าชีวิตนี้คืออะไร เราก็จะรู้ว่าชีวิตนี้เกิดมาทำไม จึงจะใช้ชีวิตนี้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด ก็ขอให้ช่วยลองคิดนะคะว่าชีวิตนี้คืออะไร จะได้รู้ว่าเมื่อเรารู้ว่าชีวิตนี้คืออะไรแล้ว เราจะได้ใคร่ครวญว่า แล้วเสร็จแล้วเราเกิดมาทำไม เราควรจะทำอะไรถึงจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตนี้ให้สมกับที่ได้เกิดมา สำหรับวันนี้เราจบการคุยกันแค่นี้ก่อนนะคะ ธรรมะสวัสดีแด่ท่านผู้ชมทุกท่านค่ะ