แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พ่อแม่จะปลูกฝังสั่งสอนให้ลูกๆ ที่ยังไม่โตถึงขั้นวัยรุ่นนั้น จะสอนอย่างไร เกี่ยวกับการไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ข้อนี้ก็ คุณพ่อ คุณแม่ ก็ต้องทำเป็นตัวอย่างล่ะค่ะ ทำตัวอย่างให้ดู ที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่นในลูกซะก่อน ถ้าหากว่า คุณพ่อ คุณแม่ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในลูก ลูกทำอะไรก็ “ต้อง” อย่างนี้นะ คือ ถ้าผิดไปจากที่คุณพ่อ คุณแม่ได้กะเกณฑ์ กำหนด วางเอาไว้แล้วไม่ได้ แล้วจะสอนให้ลูกไม่ยึดมั่นถือมั่น ลูกก็คงไม่ยอม ฉะนั้น ก็ต้องสอนอบรมลูกด้วยการ ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน คือ ลูกก็เคารพคุณพ่อ คุณแม่ในฐานะเป็นพ่อแม่ ซึ่งไม่ต้องอธิบายกันล่ะนะคะว่า เพราะอะไร แล้วคุณพ่อ คุณแม่ก็เคารพนับถือลูกในฐานะที่เป็นลูก แต่ว่าก็มีสติปัญญา มีความรู้สึกนึกคิดในวัยของเขาพอสมควร หน้าที่ของคุณพ่อ คุณแม่ก็กล่อมเกลาเขาให้อยู่ในหนทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้นด้วยการทำเป็นตัวอย่าง ถ้าอย่างนี้ ลูกก็คงจะมองเห็นว่า อ๋อ..ที่คุณพ่อ คุณแม่ จะสอนว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นคือยังไง เพราะพ่อแม่ยังให้อิสระลูกในการที่จะกระทำสิ่งที่ลูกพึงกระทำ จะเป็นการเรียนก็ไม่บังคับว่า ลูกต้องเรียนอย่างนี้ วิชานี้ เป็นหมอดีที่สุด เพราะพ่อเห็นแล้วว่า จะช่วยคนอื่นและถ้าต้องการที่จะทำเงินทองอาชีพนี้ก็ยังช่วยอีกด้วย ก็บังคับโดยไม่ดูว่าลูกมีความสามารถเพียงพอจะเรียนวิชาแพทย์รึไม่ โดยเฉพาะลูกชอบหรือเปล่า ลูกมีนิสัยมีความถนัดอย่างนั้นหรือเปล่า พ่อก็บังคับ อย่างนี้เขาเรียกว่า พ่อยึดมั่นแล้ว หรือ การคบเพื่อน แน่นอน..พ่อแม่ทุกคนต้องการให้ลูกคบเพื่อนที่ดี ที่จะนำลูกให้มีความเจริญ เจริญในทุกทางยิ่งขึ้น แต่ว่าก็ยากอีกเหมือนกัน เพราะสิ่งแวดล้อมเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยอำนวย
ฉะนั้น พ่อแม่ ก็ต้องใช้ความอดทน ใช้สติปัญญา ในการที่จะพูดจากับลูก ชักนำลูก แล้วก็เปิดประตูบ้านของพ่อแม่เพื่อลูก “เพื่อลูก” ก็คือ รับเพื่อนของลูก ที่จะให้เข้ามาอยู่ ไม่ต้องเข้ามาอยู่มาค้างหรอกนะคะ แต่เข้ามาคุย เข้ามาหา เข้ามาเที่ยว ซึ่งเป็นโอกาสที่พ่อแม่จะได้ศึกษาเพื่อนของลูกด้วย แล้วเสร็จแล้ว ลูกก็จะค่อยๆได้เห็นเอง แล้วพ่อแม่ก็จะได้ค่อยแนะนำ ตะล่อมให้ลูกเข้าในหนทางที่ถูก มองเห็นเองว่าเพื่อนคนไหนจะเป็นเพื่อนที่แท้ หรือจะเป็นเพื่อนในลักษณะที่เพียงแต่ว่าสนุกสนานชั่วคราว ลูกก็จะได้คติในการคบเพื่อนไปด้วย อย่างนี้ค่ะ พ่อแม่ ก็ต้องพยายามทำให้เห็นถึงความไม่ยึดมั่นถือมั่นของพ่อแม่ก่อน แล้วลูกก็คงจะค่อยทำตาม ซึ่งมีรายละเอียดอีกเยอะนะคะ
ถ้าเสร็จจากการอบรมแล้ว อยากจะถามปัญหาในการปฏิบัติจะถามได้ที่ไหน โดยปกติดิฉันก็อยู่ที่สวนโมกข์ ถ้าหากว่าคำถามนั้นเขียนไป แล้วดิฉันอยู่ คำถามชัดเจนก็จะตอบให้ค่ะ
การอบรมอานาปานสติ แบบนี้จะมีอีกหรือไม่ จะได้แนะนำผู้อื่นต่อไป ก็ยังตอบไม่ได้นะคะ แล้วก็คุณศันสนีย์อาจจะมีเวลาคิด ช่วยจัดต่อไปก็ได้ แต่สำหรับตัวดิฉันนั้น ก็ยังตอบไม่ได้ แต่คุณศันสนีย์ก็ยังช่วยจัดทำต่อไป เพราะมีสถานที่นี้อยู่แล้วนะคะ
ต่อไปนี้ ก็อยากจะชวนให้ลองปฏิบัติด้วยกัน แล้วก็การปฏิบัตินั้น ทุกครั้งเราก็จะต้องเริ่มต้นด้วย หมวดที่ 1 ขั้นที่ 1 ไปตามลำดับนะคะ แต่วันนี้จะลองชวนให้ปฏิบัติทางลัด เพื่อว่าจะเป็นแนวทางแก่ผู้ที่จะไปปฏิบัติต่อที่บ้านด้วยวิธีลัด ฉะนั้นก็ อาจจะผ่านขั้นที่ 1-2-3 พอสมควร คือไม่ใช้เวลามากนัก เพราะเราไม่มีเวลามากนัก แต่เพียงแต่ให้รู้แนวทางนะคะ แล้วก็ใช้เวลาว่างในตอนกลางวัน หรือ ตอนบ่ายลองฝึกปฏิบัติเองต่อ
นั่งตัวตรงนะคะ ทำจิตใจให้สบาย พร้อมที่จะฝึกอบรมจิต พร้อมที่จะทำความรู้จักกับ “ลมหายใจ” ลองหายใจธรรมดาก่อน แล้วก็ตามลมหายใจธรรมดานั้นว่ามันคล่องดีหรือไม่ หรือ ติดขัดที่ตรงไหน ถ้าติดขัดก็แก้ไขซะก่อน กำหนดจิตตามลมหายใจให้ตลอด
ต่อไปนี้ ปฏิบัติขั้นที่ 1 นะคะ ตามลมหายใจยาว ตามลมหายใจยาวอย่างเดียว ไม่ต้องรำคาญ รู้จักมันไว้ให้ดี จะได้เรียกมันมาใช้ได้อย่างใจนะคะ มีอะไรที่มารบกวนจิตตอนนี้ ยังไม่เอา ขับไล่ไปก่อน ยาวลึกบ้าง ยาวแรงบ้าง ยาวธรรมดาบ้าง ยาวช้าๆ เบาๆบ้าง เปลี่ยนให้หลายๆอย่างนะคะ ทำใจสบายๆ นะคะ ให้เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องอั้นลมหายใจ ไม่ต้องกลั้นลมหายใจ กำหนดว่า จะยาวอย่างไหน แล้วก็ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ คำว่า “เป็นไปตามธรรมชาติ” คือ ปล่อยมันออกมาตามธรรมชาติ
ต่อไป ตามลมหายใจสั้น ขั้นที่ 2 ค่ะ ถ้าเหนื่อย ก็พักอยู่ที่ สั้นเบา “สั้นเบา” จะช่วยให้คลายเหนื่อยได้
ต่อไป ขั้นที่ 3 ค่ะ ทั้งสั้นและยาว ตามให้ทุกอย่างทุกชนิด หาความชำนาญจากขั้นที่ 3 และก็ความสามารถในการที่จะควบคุมลมหายใจก็จะเกิดจากการปฏิบัติขั้นที่ ๓ นี้ เพื่อไม่มีปัญหาในการปฏิบัติขั้นที่ 4 ทำให้เต็มที่เลยนะคะแต่ทำสบายๆ ความสามารถในการที่จะตามลมหายใจทุกอย่างด้วยการสามารถทำให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างที่ใจต้องการสั่งทันที นี่คือการฝึกความสามารถในการควบคุมลมหายใจ ไม่อั้น ไม่กลั้น ไม่อึด ปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะหายใจอย่างไหน แล้วจะไม่เครียด
ถ้ารู้สึกว่าทำแล้วมันไม่ปลอดโปร่ง ก็ไม่ต้องหงุดหงิด ให้เห็นความเป็นธรรมดาของการปฏิบัติ เหมือนกับเราเริ่มทำงานใหม่ๆ งานอะไรก็ตาม มันก็ยังไม่ราบรื่น เป็นธรรมดา แต่ก็ทำไป ตั้งใจทำไป โดยไม่หวัง โดยไม่เอา แต่ก็ทำ แล้วก็จะค่อยๆราบเรียบขึ้นตามลำดับ ค่อยๆควบคุมลมหายใจทุกอย่างนะ จะหยาบ จะเร็ว จะแรง ให้มันสงบลง
คำว่า “สงบลง” ก็คือ ผ่อนลมหายใจให้มันช้าลง แล้วก็เอาจิตจดจ่อที่จุดที่เลือกแล้วนั้น รับรู้ในเวลาที่มันผ่านเข้า-ผ่านออก วิธีก็คือ เริ่มด้วยการผ่อนลมหายใจนั้นให้ช้าลง แต่การผ่อนนั้น ก็ผ่อนให้เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องอึด ไม่ต้องกลั้น แต่ว่าใช้วิธีฝึกการหายใจให้มันช้าลง และก็เบาลง จนกระทั่งรู้สึกสบาย จะแค่ไหนนะคะ “คำตอบ ก็คือ เมื่อผู้ปฏิบัติรู้สึกสบาย” หายใจอย่างนี้แล้วสบาย ก็เอาอันนั้นนะคะ เอาลมหายใจที่สบาย
แล้วก็กำหนดจิตเฝ้าดูที่จุดนั้น รับรู้มัน เวลามันผ่านเข้า-ผ่านออก รับรู้มัน ทำเท่านั้น ถ้าเรารับรู้อย่างเดียว แล้วลมหายใจก็เบาสบาย และผู้ปฏิบัติเองก็สบาย มันก็จะค่อยๆสงบ ระงับลง คือ เบายิ่งขึ้น ละเอียดยิ่งขึ้น โดยอัตโนมัติ หรือ โดยธรรมชาติของมันเอง โดยเราไม่ต้องทำอะไร
พอเราควบคุมให้มันเป็นลมหายใจที่สบาย ถูกกับจริตอัธยาศัยของเราแล้วก็จดจ่อเฝ้าดูลมหายใจนั้น ที่มันผ่านเข้า-ผ่านออก โดยไม่ต้องติดใจว่า เป็นยาว หรือ เป็นสั้น จดจ่อจิต เฝ้าดูสบายๆ แล้วมันก็จะค่อยๆ เบาลง ระงับลง ถ้าจิตนั้นไม่ไปไหน จดจ่ออยู่กับลมหายใจตรงจุดนั้น เท่านั้น มันจะสงบลง ระงับลงโดยอัตโนมัติ
ท่านผู้ใดรู้สึกว่า จิตสงบพอสมควรนะคะ คือ เป็นสมาธิพอสมควร แล้วก็อยากจะทางลัด ก็ตอนนี้ค่ะ ใช้ภาวะของจิตอย่างนี้ ดูสิ่งที่เกิดขึ้นภายในว่า สิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตนั้น จะเป็นเวทนา หรือ เป็นอาการของความโลภ โกรธ หลง หรือเป็น นิวรณ์ หรือ เป็นอาการของ กิเลส หรือ นิวรณ์ อย่างใด ถ้าสมมติไม่มีอะไร ถ้ามีก็รู้จักมัน รู้จักว่าเวทนาอย่างไหนซะหน่อย กิเลสตัวไหน นิวรณ์ตัวไหน พอรู้จักพอสมควรก็ไล่มันไป ว่าพอแล้ว รู้จักพอแล้ว ก็ใช้ลมหายใจไล่มันไป
จากนั้น ก็นำเอาเรื่องของ ธรรมะ คือ “อนิจจัง” อนิจจัง ของจิตนั่นแหละ ที่เราจะเห็นจิตที่เมื่อกี้นี้ ขุ่นข้อง ขัดเคือง ด้วยความชอบ ไม่ชอบ บัดนี้ มันก็หายไปแล้ว นี่ดูเรื่องของ ธรรมะ หรือ เรื่องของ อนิจจังจากทุกสิ่ง แม้แต่สิ่งที่มองดูเล็กน้อย ไม่สำคัญเลย แต่เราก็จะเห็นว่า อนิจจัง นี่มันแทรกอยู่ในทุกสิ่ง นึกอะไรไม่ได้ก็ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือพิจารณา หรือ มีอะไรเกิดขึ้น ที่เผอิญเราประสบในตอนนั้น ก็เอา “อนิจจัง” เข้ามาดู