แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ธรรมสวัสดีค่ะ
ในคราวที่แล้วได้พูดถึงว่าชีวิตคือการแสวงหาแล้วก็ได้นำเอาวิธีการแสวงหาของเจ้าชายสิทธัตถะหรือองค์สมเด็จพระบรมศาสดามากล่าวเป็นตัวอย่างนะคะ จากวรรณกรรมที่ชื่อว่าพุทธประวัติสำหรับยุวชนหรือพุทธประวัติสำหรับนักศึกษาว่า ท่านได้ทรงแสวงหาด้วยความพากเพียรอย่างยิ่งยวดด้วยวิธีใดจึงสามารถประหัตประหารความอยากออกไปเสียได้ วิธีที่ท่านได้ทรงแนะ ได้ทรงใช้แล้วก็นำมาแนะแล้วก็สอนบรรดาผู้ที่สนใจในการที่จะปฏิบัติเพื่อที่จะกำจัดความอยากนั้น ท่านก็แนะนำในเรื่องของการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปดซึ่งดิฉันต้องขออนุญาตท่านผู้ชมที่จะพูดในประเด็นของธรรมะมากสักหน่อยในคราวนี้นะคะ
อริยมรรคมีองค์แปดมรรคก็คือหนทางอริยะก็คือประเสริฐ หนทางอันประเสริฐแปดประการหนทางอันประเสริฐแปดประการนี้กล่าวเอาไว้ในพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก ที่เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ได้เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ แล้วก็ในธรรมเทศนากัณฑ์แรกที่เราเรียกกันว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้แหละที่ได้กล่าวถึงเรื่องของอริยมรรคมีองค์แปด แล้วก็ได้กล่าวถึงเรื่องของทางสายกลางแล้วก็ได้กล่าวถึงเรื่องของอริยสัจสี่ รวมความว่าในพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกนั้นได้กล่าวถึงสิ่งที่เป็นหัวใจเป็นความสำคัญในพระพุทธศาสนาถึง 3 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกอริยสัจสี่ เรื่องที่สองอริยมรรคมีองค์แปดแล้วก็สรุปลงในมัชฌิมาปฏิปทา แต่มิได้หมายความว่าในพระธรรมเทศนานี้พระองค์จะทรงกล่าวเป็นลำดับว่าอริยมรรคมีองค์แปดแล้วอริยสัจสี่ แล้วก็อริยมรรคมีองค์แปดแล้วก็มัชฌิมาปฏิปทา แท้ที่จริงนั้นท่านทรงเริ่มด้วยว่า สิ่งที่บรรพชิตพึงเดินนั้นคือทางสายกลางนะคะ คือทางที่ไม่ตึงเกินไปไม่หย่อนเกินไป แต่เราจะเดินตามทางที่เรียกว่าไม่ตึงเกินไปไม่หย่อนเกินไปแล้วพอดีๆ นี่ด้วยวิธีใด ท่านก็ทรงแนะว่าด้วยวิธีที่ให้ศึกษา ให้รู้จัก ให้เข้าใจแล้วก็ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด ซึ่งเริ่มต้นด้วยคำว่า สัมมาทิฏฐิ
ทิฏฐิคือความเห็น ซึ่งเราทุกคนนี่มีความเห็นกันอยู่ทั้งนั้น แต่ความเห็นของเราที่เรียกว่าทิฏฐินั้น บางครั้งอาจจะเป็นความเห็นที่ถูกต้องก็ได้ บางครั้งอาจจะเป็นความเห็นที่ผิดก็ได้ อย่างที่เราได้ยินว่า มิจฉาทิฏฐิ ที่เราเรียกกันว่ามิจฉาทิฏฐิ ก็คือหมายความว่า มีความเห็นที่ผิดเสียแล้วไม่ถูกต้อง ต่อเมื่อใดที่เขาเปลี่ยนความเห็นที่มันผิดจากทำนองคลองธรรม ผิดจากการกระทำที่ถูกต้อง คือการกระทำที่จะยังประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นแล้วล่ะก็ ทิฏฐิอันนั้นก็จะกลายเป็นสัมมาทิฏฐิ
ทีนี้เมื่อเราพูดกันถึงเรื่องของวรรณกรรมกับธรรมะ ดิฉันจึงจะขอเน้นคำว่าทิฏฐิในที่นี้ไปในประเด็นของการแสวงหาที่จะประหัตประหารความอยาก ก็คือทิฏฐิ ที่มองเห็นแล้วว่าความอยากนี่แหละเป็นต้นเหตุของปัญหาของชีวิตของมนุษย์ ความอยากนี่แหละเป็นต้นเหตุของความทุกข์ของคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความอยากในวัตถุทั้งหลายที่เรามีอยู่ ที่เราตกเป็นทาสของวัตถุกันอยู่ทุกวี่ทุกวัน ในปัจจุบันนี้ นี่แหละเป็นสาเหตุของความทุกข์ของปัญหาของชีวิตที่ยิ่งใหญ่ของเรา ถ้าเรามองเห็นว่าความอยากนี้แหละคือต้นเหตุของความทุกข์ แล้วก็พยายามที่จะหาหนทางกำจัดมัน นี่เรียกว่าได้พัฒนาทิฏฐิให้เป็นสัมมาทิฏฐิ เกิดขึ้นในจิตแล้ว เป็นความเห็นที่ถูกต้องว่าควรจะดำเนินตามนะคะ เพราะว่าท่านเปรียบสัมมาทิฏฐิ หรือความเห็นที่ถูกต้องไว้เหมือนกับเป็นรุ่งอรุณของวัน ซึ่งเมื่อพอเช้ามืด เรามองเห็นแสงอาทิตย์ขึ้น เราก็ชื่นบานแจ่มใส เพราะเป็นที่รู้แน่ว่า วันนี้เราจะมีอากาศปลอดโปร่งแจ่มใส แล้วก็จะมีแสงแดดจ้า ที่จะให้ประโยชน์แก่มนุษย์ ให้ประโยชน์แก่ธรรมชาติทั่วไปนะคะ หรือบางทีท่านก็เปรียบสัมมาทิฏฐิ เสมือนหนึ่งเข็มทิศ เข็มทิศมีความจำเป็นอย่างยิ่งทีเดียว ของคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักเดินทาง ไม่ว่าจะเดินทางทางอากาศ เดินทางทางน้ำ หรือว่าเดินทางทางบก เช่นอย่างในป่า หรือบางทีท่านก็เปรียบว่า เสมือนแผนที่ แผนที่นี่ก็มีความสำคัญอีกเช่นเดียวกันนะคะ อย่างนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทย หรือว่าเราเดินทางไปต่างประเทศ เราก็มักจะมีแผนที่ติดตัว เขาก็มีแผนที่ติดตัว แผนที่ในกรุงเทพฯ ไปที่ไหนอย่างไร เขาคุ้นกับการอ่านแผนที่ เขาก็จะไม่หลง เพราะฉะนั้นแผนที่ก็ดี เข็มทิศก็ดี มีความจำเป็นต่อชีวิตของคน ในการเดินทางด้วยกายเพียงใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นเสมือนหนึ่งเข็มทิศหรือแผนที่ที่มีความสำคัญต่อชีวิตภายในของเรา คือจิตใจของเราที่จะช่วยให้เราได้กระทำสิ่งที่ถูกต้องอันจะเกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เป็นประโยชน์ที่เมื่อได้กระทำแล้วก็พอใจแล้วก็มีความสุขในการกระทำนั้น ปัญหามันก็ไม่เกิดขึ้นในจิต ความทุกข์ก็ไม่มี จิตก็มีแต่ความผ่องใส นี่คือสัมมาทิฏฐิซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากทีเดียว เป็นปัจจัยหรือเป็นมรรคองค์แรกที่มีความสำคัญที่สุดที่เราจะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นก่อน ถ้าปราศจากสัมมาทิฏฐิเสียแล้ว มรรคองค์ต่อๆ ไปมันก็จะไม่เป็นอริยมรรคแต่มันจะเป็นหนทาง คือเป็นมรรคที่กลายเป็นมิจฉาที่ไม่ถูกต้องไป
ทีนี้เมื่อมีสัมมาทิฏฐิที่มองเห็นแล้วว่าความอยากนี่แหละเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ก็มีสัมมาสังกัปปะ คือความปรารถนา ความตั้งใจที่จะดำเนินไปตามหนทางนี้ คือหนทางที่จะกระทำทุกอย่างเพื่อประหัตประหารความอยาก เพื่อกำจัดความอยากที่มีอยู่มากท่วมท้นนั้นให้น้อยลงให้คลายลงจนได้ เพื่อที่ว่าปัญหาจะได้ลดลง ความทุกข์ในใจจะได้ลดลง ชีวิตจะได้แจ่มใสขึ้น มีความผาสุกขึ้นนะคะ นี่ก็เป็นสัมมาสังกัปปะ ก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิสัมมาสังกัปปะนี้ ต่อเนื่องกัน สัมมาทิฏฐิอย่างใดสัมมาสังกัปปะก็จะเป็นไปตามทำนองนั้น คือคล้อยตามสัมมาทิฏฐิ แต่ทว่ายังไม่ได้แสดงออกมาเป็นอาการข้างนอกให้ผู้ใดทราบ มันอยู่ข้างใน คืออยู่ในใจนะคะ
ทีนี้พอมีสัมมาทิฏฐิ ความคิดเห็นที่ถูกต้อง มีสัมมาสังกัปปะ ความปรารถนาตั้งใจที่ถูกต้องแล้ว มันก็จะเกิดออกมาเป็นสัมมาวาจา คือการพูดจาที่ถูกต้องในลักษณะนี้ คือในลักษณะที่จะปรึกษาหารือกันว่าเราจะช่วยกันแก้ไขซึ่งกันและกันอย่างไรนะ จึงจะทำให้ความอยากที่มันเป็นต้นเหตุให้เรามีปัญหานี่ ประเดี๋ยวก็โลภะ ประเดี๋ยวก็โทสะ ประเดี๋ยวก็โมหะวนเวียนอันเนื่องมาจากเรื่องของความอยากเป็นต้นเหตุให้มันลดน้อยลง เหมือนอย่างที่เราจะชวนกันเพื่อที่จะไปดาวน์ ดาวน์โน่นดาวน์นี่ที่มันเกินความจำเป็นของชีวิต เราก็จะได้ช่วยกันห้าม หรือว่าจะชวนกันให้อยากไปเล่นหวยเบอร์ใต้ดินบ้าง บนดินบ้าง ซึ่งก็นำความหายนะมาสู่ชีวิตเสียมากหลายแล้ว เราก็หักห้ามกัน แนะนำกัน ช่วยบอกกล่าวกันว่าโทษของมันเป็นอย่างไร นี่ก็เรียกว่าเป็นสัมมาวาจา คือพูดจาในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะที่มีอยู่แล้วนะคะ
จากนั้นก็เป็นสัมมากัมมันตะ สัมมากัมมันตะก็คือการกระทำ ก็หมายความว่า เมื่อเราได้มีความคิดที่ถูกต้อง มีความตั้งใจปรารถนาที่จะกระทำอย่างถูกต้อง แล้วก็มีสัมมาวาจาคือพูดจาอย่างถูกต้องที่จะไปสู่หนทางนั้น เราก็กระทำตามนั้น เมื่อจะทำสิ่งใดก็ทำในหนทางที่จะเป็นการบั่นทอนความอยากให้ลดลง ทำลายความอยากให้มันค่อยๆ หมดไป เหมือนอย่างเป็นต้นว่า เราอยากเหลือเกิน วันนี้จะต้องไปเที่ยวที่บาร์แห่งนี้ให้ได้ แล้วเราก็สามารถหักห้ามใจของตัวเอง ไม่ยอมไปเพราะมองเห็นแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะในภาวะของเศรษฐกิจเช่นนี้ มันเป็นแต่ความหมดเปลืองเปล่าๆ หรือจะพากันไปสนามม้า เราก็ไม่ไป นั่นเป็นอบายมุขที่จะนำความหายนะมาสู่ได้ง่ายๆ อีกเหมือนกัน หลงได้ง่ายๆ เราก็ไม่ไป นี่ก็เป็นสัมมากัมมันตะ คือเป็นการกระทำที่ถูกต้อง แล้วเราก็กลับหันไปทำการกระทำที่ถูกต้องเช่น สมมติว่ายังเป็นนักเรียน ไม่อยากไปโรงเรียน เราก็ฝืนใจไป เป็นนักศึกษาไม่อยากจะศึกษาค้นคว้าตามที่ครูอาจารย์สอน ก็บังคับใจตัวเองให้ศึกษาค้นคว้าตามที่ครูอาจารย์สอนจนได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นสัมมากัมมันตะ คือไม่ทำสิ่งที่จะบั่นทอนการประหัตประหารความอยากให้ลดกำลังลงแต่กลับเพิ่มพูนการกระทำที่ถูกต้องให้มากยิ่งขึ้นนะคะ
จากสัมมากัมมันตะก็เป็นสัมมาอาชีวะคือหมายถึงการดำรงตนที่ถูกต้อง สัมมาอาชีวะไม่ได้หมายถึงแต่เพียงว่าจะต้องมีอาชีพที่ถูกต้องเท่านั้นนะคะ แต่มันคลุมความไปถึงการดำรงตนที่ถูกต้องนั่นก็เช่นเป็นต้นว่าการคบเพื่อนที่ดี การคบเพื่อนที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันส่งเสริมกันและกันไปในหนทางที่มีความเจริญก้าวหน้าไปสู่ความผาสุกไม่ใช่ไปสู่ความหายนะ อย่างนี้เป็นต้นแล้วก็ดำรงตนในการที่จะรู้จักคบหาผู้ที่เรียกได้ว่าเป็นบัณฑิต บัณฑิตในที่นี้ก็หมายถึงผู้มีปัญญา ผู้มีปัญญาที่รอบรู้อย่างท่านที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็กำลังจะจบเป็นบัณฑิตต่อไป แต่ว่าถ้าเราจะหันมาถามตัวเราเองในใจของเรานี่นะคะ เราจะตอบตัวเราเองได้อย่างเต็มปากเต็มคำไหมว่าฉันนี่แหละคือบัณฑิตอย่างสมบูรณ์ คำว่าบัณฑิตอย่างสมบูรณ์ก็คือหมายความว่าสามารถที่จะทำงานอย่างบัณฑิต คิดอย่างบัณฑิต พูดอย่างบัณฑิต ทำงานอย่างบัณฑิตแล้วก็ดำรงชีวิตอย่างบัณฑิต ความหมายสรุปคืออย่างไรก็คือหมายความว่ากระทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้องที่จะเป็นประโยชน์เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นี่จึงจะเรียกว่าบัณฑิตที่แท้จริง ถ้าหากว่าเป็นเพียงบัณฑิตโดยมีสัญลักษณ์ของการรับประกาศนียบัตร หรือรับปริญญาบัตรเท่านั้นไม่เพียงพอ นั่นเป็นบัณฑิตได้เพียงแต่ เขาเรียกว่าบัณฑิตที่แผ่นกระดาษ แล้วความภาคภูมิมันก็ไปแปะอยู่ที่ข้างฝา ศักดิ์ศรีมันก็ไปอยู่ตรงข้างฝา ไม่ได้อยู่กับตัวบัณฑิตนั้นนะคะ ฉะนั้นสัมมาอาชีวะนี้จึงหมายถึงการดำรงชีวิตที่ถูกต้องในทุกแง่ทุกมุมทีเดียว สิ่งใดที่จะมาดึงให้ตัวเรานี่ต้องด้อยลงไป เราตัดไม่กระทำ สิ่งใดจะส่งเสริมให้เราเจริญก้าวหน้าขึ้น เราหมั่นพากเพียรทำ แม้ว่าจะต้องฝืนใจเพียงใดก็ตาม นี่เรียกว่าสัมมาอาชีวะ ทีนี้ต่อไปก็คือสัมมาวายามะ สัมมาวายามะก็หมายถึงความพากเพียรที่ถูกต้อง ความพากเพียรที่ถูกต้องนี้จะต้องประกอบไปด้วย ความองอาจกล้าหาญความเด็ดเดี่ยว ทำไมดิฉันจึงพูดว่าจะต้องประกอบไปด้วยความองอาจ ความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยว เพราะว่าความเพียรเช่นนี้ มันจะต้องพากเพียรที่จะต้องผ่าตัดตัวเอง คำว่าผ่าตัดตัวเองนี่ คือผ่าตัดหัวใจของตัวเอง หัวใจที่เต็มไปด้วยความอยากอยู่เสมอ มีความหิวไม่รู้อิ่ม มีความกระหายไม่รู้อิ่มในทุกอย่างทุกทาง ตามลักษณะของตัณหาทั้งสามที่เราพูดมาแล้วเมื่อคราวที่แล้วนั่นนะคะ นั่นน่ะมีความกระหายอยู่ในความอยาก มีความหิวอยู่ในความอยาก เราจึงจะต้องเด็ดเดี่ยวกล้าหาญที่จะผ่าตัดหัวใจที่อยากอยู่เสมอนี่ ให้กลายเป็นหัวใจที่หยุดอยากเสียได้ หรืออยากน้อยลง มันจึงต้องการความกล้าหาญอย่างยิ่ง เพราะว่าเรามักจะเก่งในการเฆี่ยนคนอื่น ลงแส้คนอื่น แต่พอจะลงแส้ตัวเราเอง เราไม่ค่อยกล้า สงสารเห็นใจตัวเอง เพราะฉะนั้น สัมมาวายามะที่ถูกต้องจะต้องประกอบไปด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มั่นคงเข้มแข็ง กระทำให้ได้ตามที่เราได้มีปณิธานเอาไว้แล้ว เมื่อเราได้ตั้งต้นด้วยความเห็นที่ถูกต้องคือสัมมาทิฏฐินะคะ
จากนั้นก็สัมมาสติ คือความระลึกรู้ที่ถูกต้อง ระลึกรู้ในถ้อยคำที่เราได้เล่าเรียน ได้ฟัง ที่เราได้อ่าน ได้ศึกษามาว่าความถูกต้องนี้เป็นอย่างไร เมื่อเราจะเพลี่ยงพล้ำลงไปกระทําสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ก็ฝืนใจ ฝืนใจที่จะไม่ทำอย่างนั้น แล้วก็หันกลับมาเดินไปตามหนทางที่ถูกต้องได้ อันสุดท้าย มรรคองค์สุดท้ายก็คือ สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิก็หมายถึงความตั้งใจมั่น แน่วแน่ เด็ดเดี่ยว ที่จะเดินต่อไปไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะมีอุปสรรคอะไรมาขวางข้างหน้า ให้ใหญ่หลวงสักเพียงใดที่จะมายั่วยุ ให้เราหันกลับไปสู่ทางเก่า คือตามทางเก่าที่เคยทำตามใจอยากอยู่เสมอ บัดนี้จะไม่ยอม จะไม่ยอมหันกลับไป เราจะมุ่งหน้าไปสู่หนทางที่เรารู้แล้วว่า นี่เป็นทางสว่าง นี่เป็นทางถูกต้อง ด้วยความตั้งใจที่มั่นคงแน่วแน่เด็ดเดี่ยว นี่เราเรียกว่า สัมมาสมาธินะคะ สัมมาสมาธิ สมาธิอย่างนี้เป็นสมาธิในอริยมรรคมีองค์แปดนะคะ
ทีนี้ทั้งแปดองค์นี้นะคะ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ความคิดเห็นที่ถูกต้อง แล้วก็ความปรารถนาตั้งใจที่ถูกต้อง สององค์แรกนี้ เราเรียกกันว่าเป็นปัญญา คือต้องมีปัญญาเสียก่อนที่จะเห็นความถูกต้อง แล้วมันจึงจะเกิด สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สามองค์นี้เราเรียกว่าศีล คือเป็นสิ่งที่จะช่วยรักษากายวาจาให้ปกติ มองดูแล้ว น่ารักน่าชม เพราะมันงดงามไปทุกอิริยาบท มันงดงามไปทุกถ้อยคำพูด นี่เรียกว่า สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ อยู่ในศีล แล้วก็อีกสามองค์สุดท้าย คือ สัมมาวายามะ ที่พากเพียรถูกต้อง แล้วก็สัมมาสติระลึกรู้ถูกต้อง แล้วก็สัมมาสมาธิตั้งใจมั่นถูกต้อง สามองค์นี้เรารวมเรียกว่าสมาธิ
เพราะฉะนั้นท่านผู้ชมก็จะเห็นแล้วว่าเมื่อเราปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปดนั้นเท่ากับว่าเราได้ปฏิบัติตามไตรสิกขาอยู่ในตัวโดยอัตโนมัติ คือในอริยมรรคมีองค์แปดมีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญา แต่เมื่อพระพุทธองค์ท่านได้ทรงสั่งสอนในธรรมจักรกัปปวัตนสูตรที่เป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกนั้น ท่านทรงเริ่มต้นอริยมรรคด้วยปัญญาคือด้วยสัมมาทิฏฐิแล้วก็ด้วยสัมมาสังกัปปะ ถ้าเราไม่มีปัญญาที่จะเห็นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งถูกต้องเสียก่อนแล้วละก็ เราจะไม่สามารถมีสัมมาวาจาคือไม่สามารถจะมีศีลที่ถูกต้องด้วยสัมมาวาจาสัมมากัมมันตะสัมมาอาชีวะนะคะ แล้วก็จะไม่สามารถมีสมาธิที่ถูกต้องคือมีสัมมาวายามะสัมมาสติสัมมาสมาธิที่ถูกต้องได้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ หรือเป็นการปฏิบัติที่สำคัญท่านจึงเรียกว่าเป็นหนทางเดินอันประเสริฐเป็นอริยมรรคแปดประการ คือ อริย-ประเสริฐ มรรค-หนทาง แล้วก็แปดประการแล้วก็จะพร้อมอยู่ทั้งศีลสมาธิปัญญา แต่มันจะต้องเริ่มด้วยปัญญามันจึงจะไม่คลอนแคลน
ถ้าเมื่อใดที่ได้เดินตามอริยมรรคมีองค์แปดแล้วก็เรียกว่า เดินตามทางสายกลางที่ท่านผู้ชมก็ทราบอยู่แล้วว่าเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทานี่แหละคือหัวใจของคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือเป็นหัวใจของธรรมะทีเดียว ที่บอกว่าทำอย่างไรเราจึงจะไม่เป็นทุกข์ นั่นก็คือเราสามารถที่จะฝึกฝนอบรมใจให้ใจนั้นเดินตามทางสายกลางได้เสมอ ที่เราเป็นทุกข์กันอยู่ ปัญหาที่มันเกิดขึ้นอยู่ทุกวันทุกวันก็เพราะเหตุว่าเราไม่สามารถเดินตามทางสายกลาง ใจนั้นมันเหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวาอยู่ตลอดเวลา ประเดี๋ยวก็จะเอาสวย ประเดี๋ยวก็ไม่เอาขี้เหร่ คือมันจะเอาดีไม่เอาชั่ว จะเอาสุขไม่เอาทุกข์ จะเอากำไรไม่เอาขาดทุน จะเอาได้ไม่เอาเสีย แล้วก็ยังมีอีกหลายสิบคู่ ถ้าเราจะลองนั่งเขียนๆ ดูเวลาว่างๆ นะคะจะพบว่าใจของเราที่ตกไปอยู่ระหว่างกลางของสิ่งคู่หรือสิ่งที่เรียกว่าตรงกันข้ามมากมายเหลือเกิน แล้วก็ความที่ตกไปอยู่ในท่ามกลางของสิ่งคู่นี้มันจึงทำให้ใจของเราไม่อยู่คงที่ เหวี่ยงซ้าย เหวี่ยงขวา เหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวาอย่างรุนแรงตลอดเวลา และหัวใจที่เหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวาไปตามอำนาจของความอยากนี้นะคะมันก็เป็นทุกข์ เพราะมันวุ่นวายอยู่กับความอยากตลอด มันไม่ว่าง มันก็เป็นจิตที่ไม่เป็นทางสายกลางไม่อยู่ในอริยมรรคมีองค์แปด
เพราะฉะนั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้พยายามจะทรงค้นคว้าเพื่อจะหาว่าวิธีใดนะจึงจะประหัตประหารความอยากให้สิ้นได้ พระองค์ก็ทรงค้นพบหนทางเดินแปดประการอันประเสริฐนี้ที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์แปด แล้วก็สามารถที่จะฝึกฝนจิตของพระองค์ให้อยู่ในการดำรงจิตไปตามทางอริยมรรคมีองค์แปดแล้วก็ทรงอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาโดยตลอด และการแสวงหาของพระองค์ก็สำเร็จหรือสัมฤทธิ์ผลดังประสงค์ เพระทรงมีเป้าหมายของการแสวงหาที่แน่นอนและการกระทำที่พากเพียรแรงกล้าเด็ดเดี่ยว สำหรับวันนี้ก็ธรรมสวัสดีนะคะ