แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ธรรมสวัสดีค่ะ ในรายการวรรณกรรมกับธรรมะในวันนี้นะคะ ก็จะต้องขอย้อนความจากที่เราค้างอยู่เมื่อคราวที่แล้ว เมื่อคราวที่แล้วนั้นได้พูดถึงวิธีการที่จะประหารความอยาก หรือว่าฆ่าความอยาก ตามที่พระพุทธองค์ท่านได้ทรงฝึกและก็ปฏิบัติ ด้วยการที่เดินตามอริยมรรคมีองค์แปด ซึ่งถ้าหากว่าผู้ใดที่จะสามารถปฏิบัติจิตของตนให้อยู่ในแนวทางของอริยมรรคมีองค์แปดอยู่เสมอแล้ว ก็เท่ากับผู้นั้นเป็นผู้ที่สามารถเดินตามทางสายกลาง หรือที่เราเรียกกันว่ามัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลางนี่ คือหมายความว่าอย่างไร
ถ้าหากว่าจะให้แต่ละคนแต่ละคนมาบอกว่าอะไรคือทางสายกลาง อาจจะพูดความหมายกันไปได้คนละหลายๆ อย่าง ตามประสบการณ์และตามทัศนคติของตนนะคะ เพราะฉะนั้นคำว่าทางสายกลาง ถ้าจะอธิบายเป็นถ้อยคำพูด ก็หมายถึงว่าเราดำเนินไปในวิถีทางที่ไม่ตึงเกินไป และก็ไม่หย่อนเกินไป ถ้าตึงเกินไป ใจเราก็ไม่สบาย มันเคร่งเครียด ถ้าหย่อนเกินไปใจเรามันก็อ่อนแอเพราะเหตว่ามันสุขสบายเกินไป ก็กลายเป็นคนรามือราเท้ามืออ่อนเท้าอ่อน ไม่กระทําสิ่งที่ควรกระทํา บางทีก็อาจจะสบายจนเกิดขี้เกียจ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเรียกว่าเป็นทางสายกลางก็คือว่าเราไม่รักทั้งดีและทั้งชั่ว ดีมันก็เท่านั้นเองชั่วก็เท่านั้นเอง ได้ก็เท่านั้นเอง เสียก็เท่านั้นเอง เราคงอยู่กับความเป็นกลาง แต่ว่าสิ่งใดที่ควรจะจัดให้ถูกต้องก็จัด เช่นสมมติว่าได้มาเราควรจะจัดสิ่งที่ได้ให้ถูกต้องเพื่อให้เกิดประโยชน์ให้มากยิ่งขึ้นอย่างไรอย่างเช่นได้เงินทองทรัพย์สินมา เราควรจะจัดอย่างไรมันจึงจะเกิดประโยชน์ถูกต้อง เราเอาไปใช้เที่ยวอย่างที่เรียกว่าตามใจตัว ซื้ออย่างทันทีให้หมดเกลี้ยงไปเช่นนี้ถูกต้องไหม ก็ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง หรือว่าเราเก็บหมด แล้วตัวเองก็อดอยาก ไม่ยอมกินไม่ยอมใช้ จนกระทั่งผอมแห้งก็ไม่ถูกต้องอีกเหมือนกัน เพราะมันทั้งตึงและทั้งหย่อน เพราะฉะนั้นถ้าเราได้อะไรมาสักอย่างหนึ่ง สมมติว่าเราได้เงินมาจำนวนหนึ่ง เราก็แบ่งใช้แบ่งเก็บ แล้วก็แบ่งเจือจานกับผู้อื่นตามที่เห็นสมควร เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นนะคะ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการเดินตามทางสายกลาง เพราะไม่มีใครได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำนั้น ตรงกันข้าม ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างก็จะได้รับความผาสุกเป็นสุขโดยถ้วนหน้ากัน ฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าในเรื่องของการเดินตามทางสายกลางนี้นั้น ก็ต้องหมายความว่า เราจะไม่ยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างสุดเหวี่ยง หรือที่เรียกว่าสุดโต่งนั่นเอง อย่างเช่นเป็นต้นว่า ถ้าฉันตั้งมาตรฐานไว้แล้วว่า ดี คืออย่างนี้ มันจะต้องเข้าสู่มาตรฐานนี้ ไม่ว่าในเรื่องของการกิน การแต่งกาย การทำงาน หรือว่าการอบรมเด็กๆ หรืออื่นๆ ทุกอย่าง ถ้าเราตั้งมาตรฐานไว้แล้วว่าต้องเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ต้องกำหนดว่าทุกคนจะต้องเดินตามมาตรฐานนี้ เช่นนี้ก็ไม่ใช่ทางสายกลาง แต่มันกลายเป็นการเอาอัตตา คือตัวของตัวเองออกไปเป็นที่ตั้ง แล้วก็จะทำให้เกิดการโต้เถียง เกิดปัญหาในระหว่างบุคคลขึ้นมาอย่างมากมาย
ฉะนั้นทางสายกลางก็คือว่าไม่สุดโต่ง ไม่เอาตัวเองเข้ามาเป็นมาตรฐาน แต่เอาความถูกต้องเป็นมาตรฐานถูกต้องของใคร ไม่เป็นของใครทั้งนั้น ความถูกต้องนี้ไม่เป็นของใคร แต่เป็นความถูกต้องของธรรมะคือเป็นความถูกต้องอันจะเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมนะคะ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทาคือการเดินทางสายกลางด้วยการกระทำสิ่งที่ถูกต้องอันจะเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม และที่สังเกตเห็นได้ชัดที่สุดก็คือว่าใจของผู้กระทำหรือผู้ที่ดำเนินตามทางสายกลางนั้น รู้สึกว่าจิตใจเยือกเย็นผ่องใสไม่เป็นทุกข์ไม่หงุดหงิดไม่อึดอัดไม่รำคาญ ไม่ทำให้หัวใจนั้นต้องวุ่นวายด้วยเหตุนานาประการ เรียกได้ว่าปัญหาไม่เกิดขึ้นแก่ใจ ฉะนั้นถ้าหากว่าเรามีสัมมาทิฏฐิอย่างที่เราได้กล่าวไว้ในคราวที่แล้วนะคะว่า ถ้าเรามีสัมมาทิฏฐิด้วยการมองเห็นชัดแล้วว่าเรื่องของความอยากเป็นต้นเหตุของปัญหาของชีวิตของคน เป็นต้นเหตุของความทุกข์ แล้วเราก็ตั้งใจที่จะฆ่าความอยากเสีย หรือว่าเอาชนะความอยากให้ได้ด้วยการฝึกฝนใจให้มีสัมมาทิฏฐิที่ถูกต้อง แล้วก็เดินไปตามอริยมรรคมีองค์แปดด้วยสัมมาทิฏฐิดังกล่าวแล้วเช่นนี้ละก็เราก็ย่อมจะอยู่ในหนทางของมัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลางเสมอนะคะ
ทีนี้เมื่อหันมามองดูวรรณกรรม ดิฉันก็พยายามนึกดูว่าในบรรดาวรรณกรรมที่ได้อ่านมานี้ จะมีวรรณกรรมเรื่องใดบ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะมองเห็นได้ง่าย นี่ก็อาจจะมาจากนวนิยายแล้วก็หนังสือชีวประวัติ เพราะว่ามันจะต้องมองดูจากการกระทำของบุคคลที่ได้ปฏิบัติไป ว่าการปฏิบัติเช่นนั้นเป็นทางสายกลางหรือไม่ ก็ได้นึกถึงวรรณกรรมอยู่หลายเรื่องนะคะ แต่เท่าที่นึกได้ในชั่วระยะเวลาใกล้ๆ นี้ก็นึกได้ถึงเรื่องของผู้ดี ของดอกไม้สด มีตัวละครหรือตัวละครที่เป็นบุคคลสมมติในเรื่องผู้ดีของดอกไม้สด ที่ดิฉันรู้สึกติดใจในวิธีการที่เธอฝึกฝนอบรมจิตของตนเอง ที่จะให้ผ่านพ้นจากปัญหาของชีวิต แล้วก็ผ่อนคลายความทุกข์อยู่เรื่อยๆ นั่นก็คือคุณหญิงแส คุณหญิงแสที่เป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่ง หรือเป็นบุคคลสมมติในเรื่องของผู้ดี ที่มีบทบาทที่น่าทึ่งน่าสนใจ
คุณหญิงแสเป็นผู้หญิงที่ฉลาดมาก แล้วก็เรื่องผู้ดีนี้ เป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นสัก40 กว่าปีมาแล้วนะคะ เห็นจะเกือบร่วม 50 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นท่านผู้ชมที่ยังอยู่ในวัยเด็กวัยหนุ่มวัยสาวอาจจะไม่คุ้นเคยกับเรื่องของผู้ดีก็ได้ ก็จะขอเล่าย่อๆ หรือบอกเพียงนิดๆ ว่าคุณหญิงแสเป็นใคร คุณหญิงแสก็เป็นผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาดี ในสมัยของคุณหญิงแสนั้นน่ะ เป็นสมัยที่ผู้หญิงไทยส่วนมากยังไม่สู้จะได้รับการศึกษาในโรงเรียนกันสักเท่าไหร่ แต่ว่าคุณหญิงแสมีคุณพ่อที่ค่อนข้างจะมีหัวก้าวหน้าทันสมัย ก็ส่งคุณหญิงแสไปอยู่โรงเรียนเรียกว่าโรงเรียนของมิชชันนารีในสมัยโน้น เพราะฉะนั้นคุณหญิงแสก็มีการศึกษาดีแล้วก็เพราะไปอยู่โรงเรียนฝรั่งมา ก็มีความรู้ภาษาต่างประเทศบ้าง แล้วก็การที่จะรับแขกการที่จะออกสมาคมคุณหญิงแสก็สามารถทำได้อย่างไม่เคอะเขิน และเธอก็อยู่ในวงของผู้ที่เรียกว่าอยู่ในวงของผู้ดี คำว่า ผู้ดีในที่นี้ไม่ได้หมายถึงยศศักดิ์เงินทอง แต่หมายถึงผู้ที่งามทั้งกิริยา มารยาท วาจา การกระทำการปฏิบัติตัวทุกอย่าง แต่คุณหญิงแสก็เผอิญที่เธอได้อยู่ในครอบครัวที่มีเชื้อมีตระกูลด้วย แต่ว่าในความเป็นผู้ดีนั้นน่ะ เราไม่ถือว่าเชื้อตระกูลเป็นสำคัญ เราถือการปฏิบัติตัวที่มองดูจากกิริยาวาจาท่าทางและน้ำใจของผู้นั้นเป็นสำคัญ ทีนี้ต่อมาคุณหญิงแสก็มารักชอบกับเจ้าคุณท่านหนึ่งที่เป็นคุณพ่อของวิมน แต่เจ้าคุณคนนี้ก็เป็นหนุ่มรูปงามแล้วก็พูดเพราะ แล้วก็รัก คือว่าต่างคนต่างรักกัน เหมือนอย่างหนุ่มสาวรักกัน แต่ในสมัยโน้นนั้นพ่อแม่ก็ไม่ค่อยจะปล่อยให้ลูกสาวลูกชายได้เลือกคู่เอง เพราะฉะนั้นพ่อแม่ของชายหนุ่มผู้เป็นคู่รักของคุณหญิงแสนี่ ก็ได้ไปเลือกผู้หญิงอื่นที่เรียกว่าคู่ควรกัน ทั้งโดยฐานะโดยกำเนิด แล้วก็ชายหนุ่มนั้นก็จำเป็นที่จะต้องทำตามคำขอร้องแกมบังคับของผู้ที่เป็นบิดามารดา ก็ต้องไปแต่งงานกับผู้หญิงอีกคนหนึ่งชื่อคุณวงศ์
คุณวงศ์ก็เป็นผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาอบรมตามแบบของผู้หญิงไทยแท้ มีกิริยามารยาทดี มีความสามารถในทางการบ้านการเรือน แต่ทว่าความสามารถในทางการออกสมาคม หรือว่าจะคล่องแคล่วว่องไว แบบผู้หญิงสมัยใหม่อย่างคุณแสนั้น คุณวงศ์ก็ไม่สันทัด ทีนี้เจ้าคุณ คือหมายความว่าชายหนุ่มผู้นั้นที่ดิฉันเรียกว่าเจ้าคุณเมื่อแต่งงานแล้ว แล้วก็ทำงานทำการไปก็ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าคุณ ชายหนุ่มผู้นี้ก็มีความรัก คือหมายความว่ามีความรักทั้งสองหญิงที่ตนได้มาเป็นภรรยา คุณวงศ์นั้นเป็นภรรยาที่เรียกว่า เป็นพ่อแม่หาให้ คุณหญิงแสก็เป็นภรรยาเหมือนกันแต่เป็นภรรยาที่เธอเลือกเอาเอง ทั้งสองคนก็เป็นภรรยาที่ได้รับการตกแต่งด้วยกันทั้งคู่ และก็แน่นอนที่สุดในตอนเริ่มแรกนี่คุณหญิงแสก็เหมือนผู้หญิงอื่นๆ ทั้งหลายปรารถนาที่จะได้รับความรัก แล้วก็ปรารถนาที่จะครองความรักหรือครองหัวใจของสามีนี่ไว้เป็นของตนคนเดียว ก็ต้องทำการต่อสู้ช่วงชิงกันด้วยฝีมือความสามารถ แต่ทว่ามิใช่ด้วยการทะเลาะวิวาทหรือว่าตบตี แต่ด้วยวิธีที่จะใช้สติปัญญาว่าควรจะทำอย่างไรจึงจะสามารถผูกใจของสามีไว้ได้มากที่สุด คุณหญิงแสก็มีลูก แต่ว่าอยู่ไม่ทันเท่าไหร่ลูกนั้นก็ตาย แต่ว่าเพราะเหตุว่าเป็นลูกคนแรกของครอบครัวของตระกูลก็ได้รับความเอ็นดูจากคุณปู่คุณย่าแล้วก็เจ้าคุณเป็นอันมากทีเดียว รวมทั้งพี่น้องอื่นๆ ด้วย คุณหญิงแสก็มีจิตใจที่อ่อนโยนขึ้นเพราะความมีลูก ต่อมาเผอิญลูกของคุณแสก็ต้องตายเสียแต่ในวัยเยาว์ด้วยโรคปัจจุบัน คุณหญิงแสก็มีความทุกข์อย่างท่วมท้น แล้วก็ได้รับความเมตตาเห็นใจจากญาติผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นจิตใจของคุณหญิงแสที่แต่ก่อนนี้ค่อนข้างที่จะแข็งและก็พร้อมที่จะเอาชนะตามอำนาจของความอยากก็บรรเทาลง บรรเทาลงเพราะเหตุว่าอ่อนโยนด้วยความมีลูกในน้ำใจของแม่นั่นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็อ่อนโยนด้วยความเห็นใจความเมตตาจากบรรดาญาติผู้ใหญ่ จากคนรอบข้างในขณะที่เธอมีทุกข์หนักเมื่อต้องสูญเสียลูกไป แล้วก็จากการที่ต้องสูญเสียลูกไปนี่ก็ทำให้คุณหญิงแสนี่ได้คุ้นเคยกับความทุกข์มากขึ้น เมื่อได้คุ้นเคยกับความทุกข์มากขึ้น เธอก็เป็นผู้หญิงที่ฉลาดแทนที่จะไปหาอย่างอื่นมาเป็นวิธีการดับความทุกข์เธอก็หันเข้าหาธรรมะ ธรรมะของพระพุทธองค์ที่เธอได้ยินได้ฟังมาก็นำเอามาใคร่ครวญแล้วก็นำเอามาปรับเข้ากับใจของเธอเพื่อที่จะให้รับธรรมะ ให้นำความเย็นเข้าสู่จิตให้มากยิ่งขึ้น ส่วนคุณวงศ์ผู้เป็นภรรยาอีกคนหนึ่งนั้นนี่ก็มีลูกแล้วก็เป็นลูกแฝดเสียด้วย ผู้หญิงคนผู้ชายคน ผู้หญิงก็ชื่อวิมล แล้วก็คุณหญิงแสก็รับเอาวิมลมาเลี้ยงดูจนกระทั่งเหมือนกับเป็นลูกของเธอเอง แล้ววิมลก็ดูค่อนข้างจะรักคุณแสซึ่งเป็นมารดาเลี้ยงนี่เกือบจะว่ามากกว่าคุณวงศ์ซึ่งเป็นมารดาแท้ๆ เพราะเหตุว่าได้อยู่กับคุณแสนี่มากกว่าที่จะอยู่กับคุณวงศ์
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปผ่านไปชีวิตของครอบครัวที่มีภรรยาสองคน หรือไม่ใช่อย่างที่เขาเรียกว่าสามีเดียวภรรยาเดียวนี่มันย่อมจะมีความทุกข์อยู่ เพราะฉะนั้นคุณหญิงแสก็พบความทุกข์นี่มากเข้ามากเข้า แล้วเธอก็ฝึกที่จะดูความทุกข์ว่ามันเกิดจากเหตุใด แล้วเธอก็ค่อยๆ เห็นชัดยิ่งขึ้นยิ่งขึ้นว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิต หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในจิตทุกขณะนี้ มันมาจากความอยากทั้งสิ้น อยากที่จะเป็นที่รักของสามีคนเดียว อยากที่จะผูกหัวใจของสามีเป็นของตนคนเดียว แล้วก็พร้อมกับความอยากอื่นๆ นี่ตามมา แล้วมันก็ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอันเป็นปัญหาแล้วก็เป็นความทุกข์ เธอก็ค่อยๆ รู้สึกเหนื่อยหน่ายต่อความทุกข์ เหนื่อยหน่ายต่อปัญหาของชีวิตที่มันเกิดขึ้นซ้ำซาก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อันที่จริงมันจะมองดูเหมือนกับว่าปัญหาไม่สิ้นสุด แต่ความจริงปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย ปัญหามันก็เป็นปัญหาเดียวนั่นแหละ มันมาจากความอยาก เพียงแต่มันยักเยื้องไปเป็นรูปนั้นบ้างรูปนี้บ้าง คือมันเข้ามาหาเรานี่ ในลักษณะที่มองดูเหมือนกับต่างกัน แต่ความเป็นจริงแล้วนี่ มันก็ออกมาจากแม่เดียวกัน คือแม่ตัณหา หรือแม่ความอยากนี่เอง
เมื่อคุณแสมองเห็นเช่นนี้ เธอก็ค่อยๆ ปรับใจของเธอพร้อมๆ กับทำตัวให้ถอยห่างจากความยุ่งเหยิงชุลมุนของการแย่งชิง แก่งแย่งชิงดีกัน เธอก็ถอยห่างออกมา แล้วก็ปรับใจของเธอให้มองดูสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ให้เห็นว่ามันเป็นสิ่งธรรมดา แล้วก็ทำใจนี้ให้อยู่ในทางสายกลางมากขึ้นๆๆ ตามลำดับ เพราะฉะนั้นถ้าใครที่ได้อ่านเรื่องผู้ดีแล้วนะคะ ก็จะมองเห็นว่า ในระหว่างคุณวงศ์กับคุณแส ถ้าพูดถึงชาติตระกูลก็ไม่ได้แตกต่างกัน ความดีความงามในส่วนตัวก็ไม่ได้แตกต่างกัน แต่ทว่าในเรื่องของปัญญาที่จะฝึกใจแล้วนี่ รู้สึกว่าคุณแสมีสติปัญญาในการที่จะฝึกใจ แล้วก็ถอยใจออกมาจากการที่จะเอา จะอยาก แล้วก็จะแย่งชิงให้ลดน้อยลงกว่าคุณวงศ์ได้มากทีเดียว
ฉะนั้นเมื่อดิฉันหันมามองดูวรรณกรรมว่า อยากจะยกใครสักคนหนึ่งขึ้นมาเป็นตัวอย่างในชั่วระยะเวลาที่ไม่นานนี้นะคะ ดิฉันก็นึกได้ถึงคุณแส แต่อันที่จริงแล้วในวรรณกรรมนวนิยายเรื่องอื่น หรือในประวัติชีวิต ที่เรียกว่าหนังสือชีวประวัติของบุคคลอีกหลายๆ คน เราก็อาจจะพบอีกหลายๆ ท่าน ที่สามารถที่จะฝึกใจ ให้อยู่ในหนทางของมัชฌิมาปฏิปทา แม้ว่าการฝึกใจเช่นนั้น จะยังไม่สามารถเดินตามทางสายกลางได้อย่างสม่ำเสมอตลอดไปก็ตาม แต่ก็ถ้าลองฝึกแล้ว ก็ย่อมจะสามารถเดินได้ในทางสายกลางนี้ มั่นคงยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น ตามลำดับนะคะ เหมือนอย่างกับเด็กสอนเดินนั่นเอง เมื่อหัดเดินทีแรก ทางกายก็ซวนเซจะล้มบ้าง แต่มื่อฝึกเดินนานเข้านานเข้าก็มั่นคงขึ้น จนกระทั่งวิ่งก็ได้ กระโดดก็ได้ การฝึกใจก็เช่นเดียวกัน ไม่แตกต่างอะไรกับการฝึกกายสักเท่าไหร่ เพียงแต่ว่ามันฝึกยากกว่า เพราะว่ามันจะต้องแก้ไขใจนั้นหนักยิ่งกว่าทางกาย แต่ถ้าหากว่าใครทำได้ ย่อมมีคุณประโยชน์มหาศาล ทีนี้การที่จะฝึกใจนี่นะคะ เพื่อที่จะให้สามารถเข้าสู่ทางสายกลางได้ โดยไม่ไปสุดโต่ง ไม่เวียนซ้ายเวียนขวานั้นน่ะ เราจะมีวิธีฝึกอย่างไร ภายในเวลาอันน้อยแค่นี้ ดิฉันก็อยากจะเรียนว่า วิธีที่เราจะฝึกได้ดีที่สุดนั้นก็คือฝึกดูสิ่งที่เรียกว่า เป็นความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดให้เราเห็นขึ้นทุกวัน หรือที่เรียกในคำทางธรรมก็เรียกว่าอนิจจัง พอพูดถึงว่าให้ฝึกดูอนิจจัง ฝึกดูความเปลี่ยนแปลง พอพูดเท่านี้ส่วนมากทีเดียว เราจะเข้าใจกันได้ทันทีว่ามันหมายความว่าอะไร แต่ความเข้าใจอันนี้นะคะ ก็อยากจะพูดว่า เราเข้าใจโดยถ้อยคำ เราเข้าใจความหมาย แต่เรายังไม่ซึมซาบว่า ที่ว่ามันเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะจิตนี่ คือหมายความว่าอย่างไร
เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งทีเดียว ที่เราจะต้องศึกษาดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกขณะจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี้ คือตัวเรา ร่างกายของเราเดี๋ยวนี้ นี่จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดถึงเรื่องของความเปลี่ยนแปลง และถ้าเรามองดูความเปลี่ยนแปลงของร่างกายของตัวเรา แล้วก็ฝึกดูมันทุกวันๆๆ จนชินเข้า เราจะค่อยๆ เห็นชัดขึ้นๆๆ จนกระทั่งใจนี่ ซึมซาบกับความเปลี่ยนแปลง หรือสิ่งที่เรียกว่าเป็นอนิจจังได้ ถ้าหากว่าท่านผู้ใดมีรูปนะคะ ดิฉันมักจะชอบบอกเพื่อนฝูง ใครที่มีรูปที่เคยถ่ายเอาไว้ตั้งแต่ยังเล็กยังเด็กนี่ จนกระทั่งถึงบัดนี้ ลองเอารูปถ่ายตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ มาวางเรียงกันจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้นะคะ ถึงรูปปัจจุบัน แล้วก็มองดูเถิดว่าความเปลี่ยนแปลงที่เรามองเห็นจากรูปถ่าย ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายของเราที่เปลี่ยนสภาวะจากทารกมาเป็นเด็กเล็ก แล้วก็เป็นเด็กโตขึ้น แล้วเข้าสู่วัยรุ่น แล้วก็เป็นผู้ใหญ่ หรือจนย่างเข้าสู่วัยชรานี่มันมีลักษณะของความเปลี่ยนแปลงที่เราบังคับได้บ้างไหม ไม่มีใครอยากแก่ ทุกคนอยากสาวสด อยากหนุ่มแน่น แต่ไม่มีใครบังคับธรรมชาติได้เพราะธรรมชาติบอกแล้วว่า สัจจะของธรรมชาติคือความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นถ้าเราหมั่นศึกษาสัจจะของธรรมชาติ คืออนิจจังความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆ เท่าใด ความรู้สึกที่อยากจะเอาให้ได้อยากจะเอาให้ได้อย่างใจ จะลดลงๆๆ แล้วใจนั้นก็จะค่อยๆ เข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทาโดยอัตโนมัติทีละน้อยๆ นะคะ สำหรับวันนี้ธรรมสวัสดีค่ะ