แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ธรรมสวัสดีค่ะ เมื่อคราวที่แล้วในรายการวรรณกรรมกับธรรมะได้พูดถึงว่าถ้าเราต้องการที่จะฝึกใจให้เข้าสู่ในหนทางของมัชฌิมาปฏิปทานั้น เราควรจะมีอะไรฝึกที่เรียกว่าเป็นเคล็ดหรือเป็นศิลปะในการฝึกนะคะ และดิฉันก็ได้กล่าวว่าถ้าหากว่าเราพยายามที่จะฝึกดูภาวะของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเรา แล้วก็รอบตัวเราด้วยให้ทุกขณะจิต จะทำให้ใจนั้นสามารถซึมซาบอยู่กับความเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งมองเห็นได้ว่ามันไม่มีอะไรคงที่เลยสักอย่างเดียว มันไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรอยู่จริงได้เลยสักอย่างเดียว แม้เราจะได้อะไรมาอย่างที่ใจต้องการ ก็ไม่เห็นรักษาเก็บไว้ได้เลยสักอย่างเดียว เรียกได้ว่าทุกอย่างมันอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ เรามีหน้าที่แต่ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ถูกต้องที่สุดอยู่เสมอเป็นนิจ และทุกสิ่งก็จะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง ไม่ต้องอยากไม่ต้องหวัง แล้วใจเราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ซึ่งกว่าเราจะหยุดอยากหยุดหวังได้อย่างนี้ เราจะต้องฝึกให้มองเห็นภาวะของความเปลี่ยนแปลงหรืออนิจจังในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นทุกขณะจิต ตั้งแต่ลืมตาตอนเช้าจนกระทั่งถึงตอนค่ำก่อนที่จะหลับลงไปอีกครั้งหนึ่ง เราจะมองเห็นภาวะของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่เช้าจนค่ำได้ด้วยตัวของเราเอง แล้วก็ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันเวลา ก็จะมองเห็นชัดอีกด้วยเหมือนกัน จนมันซึมเข้าในใจ
ทีนี้พออะไรเกิดขึ้น ความรู้สึกว่าโอ อนิจจัง มันซึมขึ้นมาเองในใจ เหมือนกับน้ำพุที่มันผุดขึ้นมาจากบ่อในใจ เราไม่ต้องร้องด้วยปากว่าอนิจจัง แต่ใจมันก็สัมผัสกับความเป็นอนิจจังนั้นได้ ถ้าหากว่าเราทำได้อย่างนี้เรื่อยๆ นะคะ ความอยากจะลดลง ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนั้นต้องเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้ต้องเป็นอย่างนี้จะลดลง ปัญหาลดลง ความทุกข์ก็ลดลง และเราก็จะอยู่ในหนทางของมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลางมากยิ่งขึ้นๆ ถ้าหากว่าวรรณกรรมที่จะชี้ให้ดูถึงเรื่องของอนิจจังได้อย่างชัดที่สุด แล้วก็เป็นความจริงคือเป็นเรื่องจริงด้วยก็เช่น 4 ปีนรกในเขมร ที่เป็นชีวิตของยาสึโกะ นะอิโต ซึ่งเป็นสุภาพสตรีชาวญี่ปุ่นที่ได้รับการศึกษาดี แล้วก็มีโอกาสได้เป็นถึงภรรยาของทูต แต่เสร็จแล้วเมื่อเกิดสงครามขึ้น สามีซึ่งเป็นชาวเขมร และเผอิญไปเป็นทูตอยู่ที่เขมร ในขณะนั้นก็จำเป็นที่จะต้องมีภาวะความเป็นไปในสภาวะของผู้ที่ตกเป็นนักโทษสงคราม แต่ทว่าก็ไม่ถึงก็ถูกคุมขังเป็นนักโทษ แต่ก็ต้องเปลี่ยนสภาพจากที่เคยอยู่สุขสบายแล้วก็ต้องมาระกำลำบากอย่างที่เราได้ยินได้ฟัง เหมือนสภาพที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วยาสึโกะ เขาต้องพบกับนรกในเขมรเป็นเวลาถึงสี่ปี จากหญิงสาวที่เคยสวย สะอาด แล้วก็สบาย แล้วก็มีความรู้ มีภาวะที่อยู่ในฐานะสบายทุกอย่าง ก็กลายเป็นผู้หญิงแก่อายุหกสิบปีภายในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งๆ ที่อายุนั้นเพียงจะอยู่ในเกณฑ์ของประมาณสักสี่สิบเศษนิดหน่อยเท่านั้นเองนะคะ
ฉะนั้นสี่ปีนรกในเขมรนี่แสดงอนิจจังของชีวิตของคนๆ หนึ่งให้เห็นได้อย่างชัดเจน แล้วก็แสดงภาวะของความเป็นอนิจจังของเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมที่มันจะเกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เราหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่านฉบับหนึ่งนั่นแหละนะคะโปรดดูเถิดมันมีเรื่องของความเปลี่ยนแปลงที่ให้เราศึกษาเป็นตัวอย่างเป็นอนิจจังอยู่ในหนังสือพิมพ์นั่นทุกวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวหน้าหนึ่ง แล้วก็ในชีวิตของยาสึโกะเองมีความรักใคร่ในสามีอย่างมากอย่างเหลือล้นทีเดียว เพราะมิฉะนั้นคงจะไม่มาแต่งงานกับสามีซึ่งเป็นชาวเขมร แล้วก็มีความรักลูก แต่ว่าเมื่อสิ้นลูกเมื่อสิ้นสามีแล้วก็ความทุกข์ในขณะที่อยู่ในเขมรนั่นน่ะดูมีมาก เมื่อเราอ่านชีวิตของยาสึโกะไปเรามีความรู้สึกเหมือนกับว่ายาสึโกะนี่คงจะจมหัวใจของเธอนี่อยู่ในความรักความรำลึกถึงสามี แต่เมื่อมีโอกาสได้กลับไปประเทศญี่ปุ่นแล้วพอฟื้นขึ้น คือฟื้นทั้งกายฟื้นทั้งใจ ไม่ช้าเธอก็แต่งงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็มีชีวิตเป็นสุขตามสภาพของเธอต่อไป นี่มันเรื่องของอนิจจังใช่ไหมคะมันเรื่องของความเปลี่ยนแปลงใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก็โปรดศึกษาเรื่องของความเปลี่ยนแปลงคือเรื่องของอนิจจังให้มากๆ ชัดๆ ที่จริงอนิจจังนี่เป็นเพียงข้อหนึ่งข้อแรกในเรื่องของไตรลักษณ์ แต่เราไม่มีเวลาที่จะพูดกันในเรื่องของไตรลักษณ์ ฉะนั้นดิฉันจึงขอพูดแต่เพียงว่าจงโปรดศึกษาอนิจจังต่อไป เห็นชัดยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้นเมื่อใด ก็จะอยู่ในทางสายกลาง ใจจะอยู่ในทางสายกลางได้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น
ในเรื่องของประวัติของเจ้าชายสิทธัตถะ จนกระทั่งเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่นะคะ ถ้าเป็นพุทธประวัติสำหรับยุวชน หรือพุทธประวัติสำหรับนักศึกษา ก็เรียกว่าเรื่องราวค่อนข้างจะละเอียด แล้วก็อาจจะยากสักหน่อยหนึ่ง ก็ต้องเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวขึ้นไป และผู้ใหญ่จึงจะอ่านได้เข้าใจ แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยต่ำลงมา เช่นวัยรุ่นตอนต้น ก็อาจจะสนใจหนังสือที่ชื่อว่า พระพุทธเจ้าของฉัน เขียนโดยคุณสันติสุข เขียนน่าอ่านมาก แล้วก็แม้แต่เด็กประถมก็จะสามารถอ่านเข้าใจได้ ประถมสามประถมสี่นี่ ดิฉันคิดว่าจะอ่านเข้าใจได้อย่างสบาย เพราะเหตุว่าผู้เขียนพยายามที่จะอธิบายเล่าเรื่องประวัติของพระพุทธองค์ เสมือนหนึ่งพระองค์ทรงเป็นคนธรรมดาอย่างเราๆ แต่ทว่าได้ทรงมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีปณิธานที่แน่วแน่เพียงใดจึงสามารถพัฒนาจิตของพระองค์จนกระทั่งตรัสรู้เป็นมหาบุรุษของโลกนะคะ นี่ก็เป็นอีกเล่มหนึ่งที่เป็นวรรณกรรมที่น่าสนใจเหมือนกัน
ทีนี้เมื่อเราพูดถึงเรื่องของการแสวงหาเพื่อฆ่าความอยากก็อาจจะมีคำถามขึ้นมาได้จากหลายๆ คนทีเดียวว่า ถ้าหากว่าเรามาฆ่าความอยากเสียแล้วประหารความอยากเสียแล้ว แล้วเราก็เลยต้องหมดความอยากที่จะทำอะไรๆ ต่อไป ทีนี้ก็เลยไม่ต้องทำอะไรนั่งอยู่เฉยๆ กลายเป็นคนขี้เกียจอย่างนั้นรึ หรือว่ากลายเป็นคนที่แพ้คนเรื่อยไป ก็ขออนุญาตที่จะชี้แจงว่าการที่จะศึกษาหรือว่าสนใจที่จะสนใจธรรมะเพื่อใช้ธรรมะมาเป็นเครื่องมือในการที่จะช่วยพัฒนาจิตที่จะขับไล่ความอยากออกไป จนกระทั่งชนะหรือฆ่าความอยากเสียได้นั้น มิใช่เป็นการหนีเอาตัวรอด มิใช่เป็นการยอมแพ้ต่อชีวิตหรือต่อเหตุการณ์สภาวะที่พบ เราจะดูได้จากพระประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เจ้าชายสิทธัตถะ
เสด็จละออกจากวังเมื่อพระชนมายุได้ 29 พรรษา แล้วก็ทรงใช้เวลาที่ศึกษาค้นคว้า ทรมานพระวรกายด้วยความยากลำบากต่างๆนานา เหมืองดังที่เราทราบเป็นเวลาถึง 6 ปีและผลที่สุดพระองค์ก็บรรลุถึงซึ่งธรรมคือตรัสรู้เมื่อพระชนมายุได้ 35 ปี แล้วท่านผู้ชมก็ทราบแล้วว่าองค์สมเด็จพระบรมศาสดานั้นได้ เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา พระองค์ตรัสรู้เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษากำลังหนุ่มแน่นในวัยฉกรรจ์ และพระองค์ทรงใช้ชีวิตหลังจาก 35 พรรษานั้นอย่างไรอีก 45 พรรษานั้นทรงอยู่เฉยๆ เพราะเหตุว่าพระองค์สําเร็จกิจที่พระองค์ประสงค์จะทรงกระทำเรียบร้อยแล้วก็อยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเลยเช่นนั้นรึ ก็หามิได้ ดังที่เราท่านทราบดี ใน 45 พรรษาหลังนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจที่เหน็ดเหนื่อยที่สุด เพื่อที่จะโปรดสัตว์โลกที่ยังว่ายเวียนกันอยู่ในความทุกข์
ในหัวใจเต็มไปด้วยปัญหาจนเกิดความเร่าร้อนขุ่นหมอง เจ็บปวดขมขื่น ทนทุกข์ทรมานกันต่างๆ นานา ทรงพระมหากรุณา ทรงพระเมตตาอย่างเยี่ยมยอด ในสมัยโน้นก็คงทราบกันแล้วว่าเราไม่ได้มีรถ เราไม่ได้มีเรือบินเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ ที่จะไปไหนก็ไปได้เร็วๆ ภายในชั่วชั่วโมงเราก็สามารถจะไปได้แล้ว แต่ทว่าในสมัยโน้นจะไปไหนก็ต้องทรงดำเนินไปด้วยพระบาท องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสละเวลาได้ทรงสละกําลังทุกอย่างทุกประการ ทั้งในทางกายทางใจ ทางสติปัญญาอย่างสูงยิ่งที่จะเสด็จไปโปรดโดยไม่ได้ละเว้นเลย คือหมายความว่าไม่ได้ทรงปล่อยเวลาให้ว่างไปเลยแม้แต่ขณะจิตเดียว เสด็จจากเมืองนี้ไปเมืองโน้น ประเทศนี้ไปประเทศโน้น ทุกหนทุกแห่ง นอกจากพระองค์จะเสด็จไปด้วยพระองค์เองแล้วก็ยังทรงส่งบรรดาพระสาวก ให้ออกไปตามทิศทางต่างๆ เพื่อที่กระจายเผยแผ่ธรรมะออกไป เหมือนอย่างเพลงอุทิศนา ที่เป็นเพลงประจำรายการของวรรณกรรมกับธรรมะ ที่ไปลอยธรรมะมาลัยเพื่อที่จะให้ออกกระจายไปทั่วพื้นปฐพี เพื่ออะไรที่ทรงทำเช่นนี้ ทั้งที่ไม่จำเป็นเลยไม่มีใครบังคับที่ให้พระองค์ทรงกระทำเช่นนั้น แต่ด้วยจิตที่เต็มไปด้วยพระมหากรุณาทรงเห็นว่านี่เป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ของพระบรมศาสดานั้นอย่างหนึ่ง เป็นหน้าที่ของมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเราอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันแล้วหน้าที่ของเราในฐานะเป็นมนุษย์ก็คือต้องช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน แทนที่จะเบียดเบียนกันและในหน้าที่ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาที่ทรงมีความรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมทั้งปวงแล้ว ก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องนำความรู้ที่พระองค์ทรงทราบ มาแจก มาบอก มาแนะนำแก่บรรดามนุษย์ทั้งหลายเพื่อที่จะได้ให้รับธรรมะนี้เข้าไปสู่ใจ แล้วก็ไปพัฒนาจิตให้มีความเย็น สบาย ผ่อนคลายจากความร้อน เพราะปัญหาหรือความทุกข์ในชีวิต แม้จนกระทั่งในขณะที่กำลังจะเสด็จปรินิพพานแล้ว
ท่านผู้ชมหลายท่านก็คงทราบแล้วนะคะว่าในขณะนั้นน่ะใกล้จะปรินิพพานเต็มที ถ้าพูดอย่างคำธรรมดาก็คือว่าใกล้จะสิ้นลมหายใจอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีพราหมณ์นอกศาสนาคนหนึ่งเข้ามาเพื่อที่จะมาทูลถามปัญหา พระอานนท์ก็พยายามที่จะห้ามไม่ให้เข้ามารบกวน แต่เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้ยินเสียงของพราหมณ์นั้นก็บอกว่าให้เข้ามาเถอะ แล้วก็ทรงแนะนำสอนอบรมธรรมะอย่างรวบรัด แต่ทว่าเป็นยอดแห่งธรรมจนกระทั่งพราหมณ์ผู้นั้นขอบวช แล้วก็สามารถที่จะมีดวงตาเห็นธรรมได้ เพราะฉะนั้นนี่จะเห็นได้ว่า การที่เราจะศึกษาธรรมะสนใจธรรมะแสวงหาสิ่งที่มาเป็นเครื่องมืออันสูงสุด ที่จะฆ่าความอยากอันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ให้หมดไปเช่นนี้ มิได้หมายความว่าจะทำให้คนๆ นั้นเป็นคนเอาตัวรอดหรือกลายเป็นคนที่ถอยหลังหนี แล้วก็พ่ายแพ้ ไม่ร่วมมือในการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือแก่เพื่อนมนุษย์เลยจะเห็นว่าหามิได้ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย พระองค์เสด็จทุกทั่วหัวระแหงไม่ว่าจะมีภัยอันตรายมากมายเพียงใดก็ตาม ไม่ได้เคยย่อท้อเลยแม้แต่นิดเดียว ฉะนั้นก็เป็นคำตอบที่บอกได้ว่าการศึกษาธรรมะหรือการสนใจธรรมะ การปฏิบัติธรรมะนั้น ไม่ใช่เป็นการหนีเอาตัวรอดแต่เป็นหนทางที่จะศึกษาสิ่งๆ หนึ่งที่เป็นประหนึ่งแสงสว่าง แสงสว่างที่เราเรียกกันว่าเป็นวิชชา (ช สองตัว) หมายความว่าเป็นแสงสว่างเป็นความรู้ที่แตกต่างจากความรู้ที่เป็นวิชา (ช ตัวเดียว)
ที่เราเรียนในโรงเรียนหรือเรียนในสถานบันการศึกษา ความรู้อันนั้นเป็นความรู้ข้างนอกแต่ความรู้ที่เป็นวิชชาที่จะเป็นแสงสว่างนี้ มันเป็นความรู้ข้างในที่จะไปช่วยขับไล่ความมืดความเขลาในใจของเราที่คิดว่าความอยากเป็นของดี ให้มองเห็นว่าแท้ที่จริงความอยากตามอำนาจของกิเลสนั้นนี่มันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ มันไม่ใช่สิ่งที่ดีงามเลย เราจะต้องพยายามช่วยกันขับไล่มันออกไปเสียจากใจ เพราะฉะนั้นการที่ศึกษาธรรมะก็เพื่อจะช่วยผ่อนใจที่ร้อนนี่ให้กลายเป็นใจที่เย็นนะคะ นี่ก็เป็นการตอบคำถามหนึ่งแล้วก็ยังจะสามารถทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่างถูกต้องได้อีกด้วย คำว่า หน้าที่เพื่อหน้าที่ เราฟังกันมานานนักหนาแล้วนะคะ แล้วเราก็บางคนก็รู้สึกว่าเราได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อหน้าที่ แต่ถ้าเราถามตัวเราเองว่าจริงหรือเปล่า เกณฑ์ตัดสินที่จะตอบอย่างถูกต้องก็ต้องสำรวจเสียก่อนว่าในขณะที่เราบอกว่าเราทำหน้าที่เพื่อหน้าที่แล้วใจเราร้อนรนด้วยปัญหา ด้วยความทุกข์หรือไม่ ถ้าไม่ร้อนรนด้วยปัญหาด้วยความทุกข์ก็หมายความว่าเราทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่างถูกต้องจริงๆ ใช้ได้ เพราะมันเป็นธรรมมันจึงเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่น
ทีนี้อาจจะมีคำถามต่อไปว่า แล้วการศึกษาธรรมะ สนใจธรรมะ ปฏิบัติธรรมะอย่างนี้ มิทำให้เป็นคนเห็นแก่ตัวหรือ เพราะเหตุว่าจะนึกถึงแต่เรื่องของตัวเอง หนีเอาตัวรอด เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ผู้อื่น ไม่เห็นแก่ส่วนรวม คำตอบก็มีอยู่ว่า เรามักจะหยิบเอาคำคำนี้ มาเป็นประเด็นที่ว่า นี่แหละเป็นการแสดงความเห็นแก่ตัว คือคำว่าสันโดษ นี่เพราะอาจจะเป็นความเข้าใจที่พลาดไป ในความหมายของคำว่าสันโดษ
สันโดษคือความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ แต่หมายความว่า สิ่งที่ตนมีอยู่นั้น เกิดจากการกระทำที่พร้อมด้วยอิทธิบาทสี่ อิทธิบาทสี่ คือมีฉันทะ ความพอใจในสิ่งที่ทำ วิริยะพากเพียรอย่างยิ่ง ที่จะทำให้มันสำเร็จอย่างถูกต้อง จิตตะ ใจจดใจจ่อในการกระทำนั้น ไม่ทอดทิ้ง วิมังสา พยายามที่จะใคร่ครวญ คิดหาวิธีที่จะปรับปรุง สิ่งที่ทำนั้นให้ดียิ่งขึ้นยิ่งขึ้น นี่ก็หมายความว่า เราได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่นั้น กระทำสิ่งที่ทำอยู่ คือที่รับผิดชอบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นงานใดก็ตามอย่างสุดฝีมือ อย่างสุดความสามารถ อยู่เสมอแล้ว เต็มที่แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อได้ทำจนเต็มที่แล้ว ก็น่าที่จะพอใจในสิ่งที่กระทำ เมื่อพอใจก็คือ สันโดษ ไม่หวัง ไม่ทะเยอทะยาน ให้เล่าร้อนต่อไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เหลืออยู่ก็คือความสุขความพอใจแล้วก็คงทำหน้าที่ของตนต่อไปพร้อมด้วยอิทธิบาทสี่ ฉะนั้นก็มิได้เป็นการเห็นแก่ตัวแต่ตรงกันข้าม ถ้าหากว่าผู้ใดสามารถที่จะมีความสันโดษจากการที่ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดอย่างถูกต้องแล้ว ผู้นั้นแหละนอกจากว่าจะสร้างความผาสุกอันแท้จริงให้เกิดขึ้นแก่จิตใจ ยังจะสามารถช่วยเพื่อนฝูงและผู้ที่อยู่ใกล้เคียงผู้ที่อยู่ร่วมให้มีความสุขร่วมกันได้อีกด้วยนะคะ ก็เท่าที่เราพูดมาในเรื่องของวรรณกรรมกับธรรมะนี้ก็พอจะมาสรุปในตอนนี้ได้สั้นๆ ว่า การสนใจธรรมะนั้นจะทำให้เราได้รู้ว่าเราเกิดมาทำไม เราเกิดมาเพื่ออะไร เหมือนดังที่ดิฉันได้เคยพูดเอาไว้ในครั้งหนึ่งเราเกิดมาทำไมเราเกิดมาเพื่ออะไร เราเกิดมาเพื่อทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่างถูกต้องนี่คือคำตอบ
ถ้าเราจะดูปัญหาของสังคมในทุกวันนี้โปรดคิดดูนะคะว่าปัญหาเกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าเราไม่เข้าข้างตัวเองเกินไป เราคงจะยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เพราะต่างคนต่างแย่งทำหน้าที่ของคนอื่น พร้อมที่จะวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์หน้าที่การทำงานของคนอื่น แต่ไม่มีเวลาจะหันมาวิเคราะห์วิจารณ์ตัวเองเลย ปัญหามันเกิดขึ้นตรงนี้ เมื่อต่างไปวิเคราะห์วิจารณ์ผู้อื่น ผู้ที่ถูกวิเคราะห์วิจารณ์ก็โกรธขึ้ง แล้วก็เลยเกิดการขัดแย้งโต้เถียง หันหลังให้กัน ก็เกิดเป็นปัญหายุ่งเหยิงขึ้นจนทุกวันนี้ งานนั้นก็ไม่พัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพนะคะ เพราะฉะนั้น เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่อทำหน้าที่อย่างถูกต้อง เพื่อเกิดประโยชน์ แก่มนุษยชาติ หรือแก่เพื่อนมนุษย์ทั่วกัน แล้วก็เราก็จะรู้ว่า สงครามที่เกิดขึ้นเหมือนอย่างเรื่องสี่ปีนรกในเขมร มันเป็นนรกเพราะมันเกิดสงคราม สงครามเกิดขึ้นจากอะไร จากความอยากใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเรากำจัด ฆ่าความอยากเสียได้ สงครามเกิดไม่ได้ เมื่อนั้นสันติภาพย่อมเกิดขึ้น และสันติภาพจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าปราศจากธรรมะ การอ่านวรรณกรรมจะเกิดประโยชน์แก่จิต ในทางสติปัญญาอย่างยิ่ง ถ้าเราอ่านเพื่อจะมองดูว่า ธรรมะมีอยู่ที่ตรงไหน แล้วนำมาฝึกฝนอบรมปฏิบัติก็จะได้แง่มุมอันเป็นประโยชน์แก่ชีวิตที่จะเกิดสันติสุขต่อไป สำหรับวันนี้ธรรมสวัสดีค่ะ