PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
  • อินทรียสังวรศีล
อินทรียสังวรศีล รูปภาพ 1
  • Title
    อินทรียสังวรศีล
  • เสียง
  • 12898 อินทรียสังวรศีล /upasakas-ranjuan/2024-05-17-05-30-08.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
ชุด
โครงการฝึกอบรมตนฯ รุ่น12
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  • ธรรมสวัสดีค่ะ  วันนี้ก็จะขอพูดกันถึงเรื่องของอินทรียสังวรศีล แต่ก็คงจะไม่พูดในรายละเอียดมาก แต่จะพูดถึงจุดที่คิดว่าสำคัญที่ควรรู้ แล้วก็ควรสำนึกเอาไว้เสมอก็คงทราบแล้วนะคะว่า อินทรีย์ คำแปลของอินทรีย์ ก็คือวัตถุ หรือเรื่องราวที่เป็นใหญ่เป็นจอม จอมก็คือเป็นยอด เป็นอิสระ นี่เป็นความหมายของคำว่าอินทรีย์ ทีนี้สังวรก็คือกั้น กั้นหมด ปิด อุด เราเรียกสั้นๆ ในที่นี้ว่า สำรวม  ฉะนั้นอินทรียสังวรศีล คือการระมัดระวังการสำรวมในเรื่องของอินทรีย์์ ทีนี้เมื่อพูดถึงอินทรีย์หรือเรียกเป็นคำศัพท์ว่า อินทรีย์แต่ก็เป็นคำที่เราทั้งหลายรู้จักกันในนามว่าในชื่อว่า อายตนะ  อินทรีย์ 6 ก็คืออายตนะทั้ง 6 นี่คือจุดที่จะต้องสำรวมระวัง ก็คงทราบแล้วว่าอายตนะทั้ง 6 ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เราเรียกกันว่าอายตนะภายใน ทีนี้ที่พูดว่าอินทรีย์นี่เป็นใหญ่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นใหญ่อย่างไร 

    ท่านก็บอกว่า แต่ละส่วนๆ ล้วนเป็นอิสระเต็มที่ในส่วนนั้นๆ เช่น การเห็นรูปก็เป็นสิทธิขาดอยู่ที่รูปในตาคือตาการฟังเสียงก็เป็นสิทธิขาดอยู่ที่หู การได้กลิ่นก็เป็นสิทธิขาดที่จมูก การได้รสก็เป็นสิทธิขาดอยู่ที่ลิ้นเป็นต้น ใครจะมาทำหน้าที่แทนใครไม่ได้ ตาจะมาได้ยินเสียงแทนหูไม่ได้ หูจะไปได้รสแทนลิ้นก็ไม่ได้ ท่านจึงบอกว่าแต่ละส่วนล้วนเป็นอิสระเต็มที่ในส่วนนั้นๆ คือต่างก็ทำหน้าที่ของตน ฉะนั้นทั้ง 6 อย่างนี้จึงเปรียบเหมือนกับคนสำคัญทีเดียวเป็นคนสำคัญที่อยู่กับเรา 6 คน เป็นคนที่ผู้เป็นหัวหน้าจะต้องดูแลควบคุมระวัง เพราะ 6 คนนี้อาจจะนำมาให้ได้ทั้งผลดีที่สุดหรือผลร้ายที่สุด จึงต้องทำการควบคุมระวังอย่างเต็มที่หรือที่เปรียบกันอีกอย่างหนึ่งก็ว่าอินทรีย์ 6 ก็เหมือนกับทวารทั้ง 6 ดังที่ทราบแล้ว  

    ทวารก็คือประตูเป็นจุดที่สำคัญของบ้านที่จะต้องระมัดระวังดังท่านเปรียบเทียบว่า กายเหมือนเรือน ใจเหมือนกับเจ้าของบ้าน แล้วอารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาที่ใจเปรียบเหมือนกับคนเข้าคนออก แต่เผอิญอาคันตุกะที่ไม่ได้เชื้อเชิญเลยมาเองตามใจที่ยังไม่ได้ฝึกหัดอบรมถ้าฝึกหัดอบรมแล้วอาคันตุกะประเภทนี้ก็จะเข้ามาน้อยมากหรือไม่เข้ามารบกวนเลย ส่วนทวารก็เป็นประตูเรือนที่ผู้เป็นเจ้าบ้านจะต้องระมัดระวังดูแลเพื่อความปลอดภัยของบ้านเอง  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงความสำคัญของอินทรียสังวรศีลหรือการสำรวมอินทรีย์ว่า พระองค์ตรัสกับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายนะคะ ภิกขุทั้งหลาย ในกาลใดพวกเธอเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ในกาลนั้นมารผู้ลามกจักไม่ได้ช่องและหลีกไป มารผู้ลามกคือ กิเลสนั่นแหละ เหมือนอย่างที่เราสวดมนต์บทสุดท้าย อุททิสสนา ตอนกลางคืน “มารไม่ได้ช่อง” เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าพวกเธอเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายในกาลนั้นมารผู้ลามกจักไม่ได้ช่องและหลีกไปเหมือนสุนัขจิ้งจอกไม่ได้ช่องจากเต่าเหมือนกัน  พระองค์ก็ตรัสเล่าเรื่อง ของสุนัขจิ้งจอกกับเต่าว่า ครั้งหนึ่งสุนัขจิ้งจอกยืนอยู่ก็มองเห็นเต่าตัวหนึ่งกำลังเดินมาก็หมายมั่นว่าจะต้องเอาเต่าตัวนี้เป็นอาหารก็เดินเข้าไปใกล้เต่า เต่าก็เห็นสุนัขจิ้งจอกแล้วก็คงรู้สันดานของสุนัขจิ้งจอกเป็นอย่างดีว่า เป็นสัตว์ที่ขี้โกงเอาเปรียบเอารัด แล้วก็ชอบรังแกคนอื่น เพราะฉะนั้นพอเดินเข้ามาใกล้กันเต่าก็หดหัวหดขาทั้งสี่เข้าในกระดองหมดและกระดองของเต่าก็แข็งเหลือเกินแข็งเหมือนหินว่างั้นเถอะ พอหดเข้าไปหมดก็เหมือนก้อนหินกลมๆ รีๆ เจ้าสุนัขจิ้งจอกก็มายืนคอยจ้อง เมื่อไรนะเต่าถึงจะโผล่หัวโผล่ขาออกมาจากกระดองของจะได้จัดการ แต่เต่าก็ไม่ยอมโผล่  ตราบใดที่สังวรณ์ได้ว่าเจ้าสุนัขจิ้งจอกยืนอยู่ใกล้ๆ ก็เก็บหัวเก็บเท้าของตัวไว้ในกระดองอย่างมั่นคงแน่นหนา เจ้าสุนัขจิ้งจอกก็ยืนคอย คอยแล้วคอยเล่าจนเบื่อที่จะคอยก็เลยเดินจากไป นี่แหละท่านจึงเปรียบว่าถ้าคนใดคุ้มครองอินทรีย์ของตนตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างระมัดระวังทุกขณะจิตมารก็ไม่ได้ช่องจะต้องหลบหลีกไปเหมือนเต่ากับสุนัขจิ้งจอก ฉะนั้นนี่ก็เป็นความสำคัญของอินทรียสังวร สำคัญอย่างไรถ้าเปรียบก็คือช่วยชีวิตเอาไว้เลยแหละช่วยชีวิตให้พ้นจากความทุกข์จากการตกไปในเหวของความทุกข์นานาประการดังที่ทราบแล้ว 

    ทีนี้ก็ลองมาดูถึงความสัมพันธ์ของอินทรีย์ 6 หรืออายตนะ 6 ว่ามียังไงบ้างก็คงทราบนะคะว่าอายตนะก็คือเครื่องเชื่อมต่อ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เป็นเครื่องเชื่อมต่อกับสิ่งที่ผ่านพบเกี่ยวข้องเข้ามา ฉะนั้นอายตนะจึงแปลว่า เครื่องเชื่อมต่อแล้วก็มีสองอย่างอายตนะภายใน 6 อย่างที่พูดเมื่อกี้แล้วก็อายตนะภายนอกที่เป็นคู่ของ ตาก็คู่กับอะไรนะคะ รูปหูคู่กับเสียง กลิ่นจมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส กายคู่กับสัมผัสหรือโผฏฐัพพะ ใจก็คู่กับธรรมารมณ์ เพราะฉะนั้นอายตนะภายนอกก็คือรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสหรือโผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ที่เข้ามาสู่ใจก็คืออารมณ์อะไรต่างๆ ที่ผ่านเข้าผ่านออกเพราะว่าเป็นแขกไม่ได้รับเชิญแต่ชอบเข้ามาเพราะว่าเจ้าของบ้านนี่เปิดประตูโล่งเอาไว้ก็ถือโอกาสเดินเข้ามาทีนี้ก็ความสำคัญให้เรามานึกดูว่าแล้วก็อายตนะที่เรามีนี่มีความสำคัญหรือมีคุณประโยชน์อย่างไรบ้าง 

    ถ้าพูดถึงว่าความสำคัญหรือคุณประโยชน์ของอายตนะทั้ง 6 ตามธรรมชาติคือ ที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติอยู่ในร่างกายของคนนี่แหละธรรมชาติให้มาเพื่ออะไรธรรมชาติให้มนุษย์เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่ออะไรลองนึกสิคะ อะไรชีวิตนะคะ ดำรงชีวิตในแง่ไหน เราใช้ตาเราใช้หูมีสองอย่างนี้จะเห็นชัดเราใช้ทำอะไรสื่อสารใช่ไหม สื่อสารเพื่อความสะดวกเพราะฉะนั้นถ้าว่าธรรมชาติให้มาทำไมตาไว้ทำอะไร ไว้เห็นไว้ดู หูไว้ทำอะไรได้ยินเสียง จมูกไว้ทำอะไรไว้ดมได้กลิ่น ลิ้นไว้ทำอะไรไว้ลิ้มรส กายไว้สัมผัส ใจก็ให้รู้สึกแต่ไม่ได้ให้รู้สึกอะไรที่ไม่ดีๆ ให้รู้สึกพอรู้เรื่อง  ฉะนั้นสรุปก็คือว่าที่ธรรมชาติให้มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อให้มาทำหน้าที่เพื่อให้ความสะดวกในการดำรงของชีวิตของมนุษย์ถูกแล้วแต่ทีนี้พอพูดให้เต็มนะคะก็บอกให้ทำหน้าที่เพื่อให้ความสะดวกในการดำรงชีวิตก็คือการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์สัตว์โลกหรือในการเกี่ยวข้องต่างๆ เพราะถ้าขาด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็แน่นอนขลุกขลักคนตาบอดก็ต้องมีอุปสรรคต้องหาอะไรมาช่วยมาเสริมมีอุปกรณ์กว่าจะสามารถใช้ตาที่ทำหน้าที่ไม่ได้ตามธรรมชาติก็หนักเหน็ดเหนื่อยเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ก็มีโรงเรียนสอนคนตาบอดมีโรงเรียนสอนคนหูหนวกก็เพื่อช่วยส่งเสริมสิ่งที่ขาดไป 

    เพราะฉะนั้นถ้าเราจะนึกว่า ธรรมชาติให้มาทำไมเพื่อให้มาทำหน้าที่เท่านั้นเองไม่ได้ให้ทำอย่างอื่น แต่ทีนี้มนุษย์ไม่ยอมรับเพียงแค่นั้นจึงเที่ยวตะโกนบอกตาของฉัน หูของฉัน จมูกของฉัน ลิ้นของฉัน กายของฉัน ใจของฉัน ใช่ไหม ตู่ของฉันเพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นก็เพราะคำว่าของฉันนี่แหละ ถ้าไม่ไปตู่ว่าเป็นของฉันรับเพียงตามที่ธรรมชาติให้มาก็ให้ตามาให้เห็นให้ดูก็ดูไปเห็นไปแล้วก็รู้ว่าคืออะไรจบหรือจะต้องใช้อย่างไรในสิ่งที่เห็นนั้นก็เอามาใช้จบได้ยินอะไรก็รู้ว่านั่นเสียงอะไรเป็นอย่างไรจบ นี่ไม่ยอมจบแต่จะเอาฉันของฉันนี่เข้าไปเกี่ยวข้องเพราะฉะนั้นจึงเกิดเป็นเหตุขึ้นมา ท่านจึงอยากจะให้พยายามสำนึกไว้เสมอว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ธรรมชาติให้มาเพื่อทำหน้าที่จะได้เตือนใจไม่ไปตู่เรียกร้องว่าเป็นของเรา 

    ทีนี้ก็ยังไม่พูดต่อไปตอนนี้เดี๋ยวนี่นะคะว่าแล้วเกิดเรื่องอะไรขึ้นซึ่งก็คงรู้กันอยู่ในใจแล้วแต่จะขอพูดไปถึงว่าแล้วความสำคัญและคุณประโยชน์อื่นของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีไหม นอกจากมาทำหน้าที่เพื่อดูเพื่อฟังเพื่อได้กลิ่นอย่างที่ว่านี่ถ้าเราจะมานึกว่ามีประโยชน์อะไรอีกไหม ใครนึกได้บ้าง เราใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจจริงและก็ต้องอยู่ใน การดูการฟังการได้กลิ่นการลิ้มรสก็อยู่ในพวกนี่  แต่เราใช้เพื่อประโยชน์อะไรโดยเราไม่รู้ตัวกระทรวงศึกษาน่าจะสำนึกแล้วก็เห็นความสำคัญนี่กระทรวงศึกษา มองข้าม ข้ามความสำคัญของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นอะไร นี่แหละถ้าไม่ได้นึกก็โปรดนึกเถิดว่าเป็นเครื่องมือในการศึกษาเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดของมนุษย์กระทรวงศึกษาเสียงบประมาณตั้งเท่าไรไปหาซื้อเครื่องอุปกรณ์เครื่องมือในการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลขึ้นมาเลยโดยละเลยที่จะมาพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ที่ธรรมชาติให้มาให้เกิดประโยชน์เช่น รู้จักฝึกนักเรียนตั้งแต่อนุบาลขึ้นไปจนกระทั่งถึงมหาวิทยาลัยให้เป็นผู้รู้จักใช้ตาให้เป็น ใช้หูให้เป็น ใช้จมูกใช้ลิ้นให้เป็น ใช้กายโดยเฉพาะใจใช้ให้เป็น  คำว่าให้เป็นตีความหมายได้ไหมคะว่าคลุมความถึงอะไรที่ว่าให้ใช้ให้เป็น ลองนึกสิคะ เดี๋ยวนี้ครูอาจารย์ส่วนใหญ่ก็ไม่นึกที่จะใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจหรือฝึกพัฒนาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจให้แก่ลูกศิษย์ลองนึกสิคะ เราจะใช้ให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้อย่างไรเพียงแต่รู้จักเห็นรู้จักได้กลิ่นรู้จักได้ยินให้มากกว่านั้นคือสอนในเรื่องอะไรรับรู้อย่างไรรับรู้อย่างมีความสังเกตเพื่อให้เกิดวิจารณญาณ  วิจารณญาณเป็นสิ่งที่ขาดในการสอนและการอบรมของการศึกษาในทุกวันนี้ไม่ค่อยเน้นจะมีบ้างก็ประปรายซึ่งในการศึกษาสมัยก่อนจะเน้นว่าการสร้างคุณสมบัติของความเป็นผู้มีวิจารณญาณเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของคนที่จะรู้จักดำรงชีวิตอยู่ในความถูกต้อง เพราะวิจารณญาณนั่นก็คือญาณคือความเห็นยังไม่ได้สำเร็จบรรลุผลในทางธรรมหรอกแต่เป็นญาณความคิดเห็นที่จะอยู่ในการสามารถแยกแยะเหตุและผลในสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องจากตาที่ได้เห็นเป็นยังไง อย่างไร  

    เมื่อวิเคราะห์วิจารณ์แยกแยะแล้วสิ่งใดเป็นสิ่งอันมีคุณเป็นสิ่งอันมีประโยชน์ที่จะนำคุณประโยชน์มาสู่ชีวิตมาสู่ความเจริญเติบโตที่ถูกต้องมาสู่ความก้าวหน้าของชีวิตเช่นเดียวกับการได้ยินเสียงก็ได้ยินเหมือนกันแหละแต่เสียงไหนและเป็นเสียงที่ควรฟังเป็นเสียงที่น่าจะเป็นแบบอย่างเป็นเสียงที่ให้กำลังใจประเล้าประโลมชี้ทางที่ถูกต้องในการดำเนินต่อไปข้างหน้า ถ้าไม่มีวิจารณญาณไม่รู้จักฝึกให้เป็นคนช่างสังเกตช่างใคร่ครวญตรึกตรองลงลงไปให้ลึกซึ้งแยกแยะก็ตีความมาเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นก็เห็นเองผลิตผลที่การที่ขาดการพัฒนาศึกษาเครื่องมือที่ธรรมชาติให้มาเป็นเบื้องต้น ความขาดคุณภาพของชีวิตปรากฎอยู่เกือบจะเรียกว่าในชีวิตของทุกระดับของวัยของคนก็ได้เพราะขาดวิจารณญาณนั่นเองจึงก็เลยไม่รู้ที่จะเลือกสิ่งถูกสิ่งงามสิ่งดีสิ่งอันเป็นสุนทรีย์ที่เรียกว่าสุนทรีย์ไม่รู้หรอกอะไรคือสุนทรีย์จะเป็นการอ่านหนังสือจะเป็นการดูภาพยนตร์จะเป็นการไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์อะไรต่ออะไรต่างๆ ยากที่จะแยกแยะออกมาด้วยเหตุผลอันถูกต้องเพราะฉะนั้นอันนี้ที่บอกว่าเป็นการศึกษาเบื้องต้นเป็นเครื่องมือการศึกษาเบื้องต้นในห้องเรียนที่สำคัญที่สุด คือการศึกษาแบ่งได้เป็นสองอย่างศึกษาในห้องเรียนก็คือในเรื่องของศาสตร์ต่างๆ ที่เป็นวิชา (“ช” ตัวเดียว) ก็เป็นวิชาความรู้เพื่อประโยชน์ในการที่จะมีอาชีพตั้งตัวต่อไปข้างหน้าแล้วก็ไปเพิ่มพูนเอาต่อไปทีหลัง เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจถึงจะมีเครื่องมือมีอุปกรณ์วิเศษต่างๆ ที่ทางเทคโนโลยีสร้างสรรค์ให้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าปราศจากเสียซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปพร้อมกันหมดแต่โดยเฉพาะก็ตาหู เพราะฉะนั้นนี่จึงถือว่าเป็นเครื่องมือการศึกษาเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดและควรจะได้รับการฝึกปรือพัฒนาอบรมให้เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่มีคุณภาพที่สามารถใช้ประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับชีวิต ในที่นี้ก็ขอเน้นเรื่องการสร้างวิจารณญาณ ไม่ว่าจะเรียนวิชาอะไรทั้งนั้นวิจารณญาณอยู่ในที่นั้นได้สอนได้ทุกวิชาแม้แต่วิชาพลศึกษามองดูเหมือนกับไปเต้นออกกำลังกายแต่ทว่าในนั้นก็มีวิจารณญาณถ้าครูรู้จักที่จะสอน 

    ฉะนั้นการศึกษาเป็นเครื่องมือในการศึกษาการศึกษาเรียนรู้ในห้องเรียนนี่เป็นอันหนึ่งที่เป็นเครื่องมือเบื้องต้นที่ธรรมชาติให้มายังมีคุณประโยชน์สูงสุดแต่เราไม่รู้จักใช้จึงปล่อยให้เป็นไปตามต้องบอกว่าตามบุญตามกรรมอย่างที่เรียกว่าตามยถากรรมแล้วแต่ศักยภาพที่มีอยู่ในเนื้อในตัวของเด็กแต่ละคน ถ้าเด็กคนไหนไม่มีเลยไม่มีโอกาสได้ปลูกฝังเติบโตก็จะแห้งอยู่แค่นั้น ทีนี้เป็นเครื่องมือในการศึกษาอีกอย่างหนึ่งนอกจากในห้องเรียนก็อยากจะขอพูดว่าเป็นเครื่องมือในการศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของชีวิตในห้องเรียนเรียนศาสตร์ต่างๆ ที่เรียกว่าวิชาแต่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็จะเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้เรื่องของชีวิตคงเข้าใจนะคะที่พูดว่าเรื่องของชีวิตแล้วก็มีชีวิตนี่แหละเป็นตัวศึกษาชีวิตที่เกิดมานี่  ที่เรียกว่ามีตัวตนนี่มีลมหายใจพูดได้กินได้ทำอะไรได้นี่มีชีวิตนี่แหละเป็นตัวศึกษาแล้วมีอะไรเป็นสนามศึกษาตอบได้สิคะ โลกอย่าลืมสิมีโลกเป็นสถานศึกษาส่วนการศึกษาในห้องเรียนนั่นก็มีตั้งแต่โรงเรียนอนุบาลขึ้นไปจนถึงมหาวิทยาลัย  แต่ศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของชีวิตนี่กว้างขวางมากมีโลกทั้งโลกนี่แหละเป็นสถานศึกษาแล้วก็มีชีวิตนี่แหละเป็นตัวศึกษา ทีนี้จุดหมายในการศึกษาเรื่องชีวิตนี่ จะสรุปว่ายังไงนะคะได้ยินอยู่บ่อยๆ แล้วและจะศึกษาว่าไงจะศึกษาเรื่องของชีวิตว่าอย่างไรได้ยินอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะตั้งแต่มาอยู่ที่นี่สักสองอาทิตย์นี่ บางทีจะเบื่อหูที่จะได้ยินแล้วก็ได้ ศึกษาเรื่องอะไรใครนึกได้ชีวิตคืออะไรนี่แหละ เป็นคำถามที่เหมือนกับง่ายๆ นะคะ  จนบัดนี้มีสักกี่คนที่เคยเฝ้าถามตัวเองครุ่นคิดตัวเองถามอย่างใช้ปัญญานะไม่ใช่ถามอย่างอารมณ์ไม่ถูกใจๆ กับชีวิตที่เผอิญเกิดมาทำไม นี่ชีวิตนี่คืออะไร เกิดมาทำไม นี่นั่นไม่ได้ถามอย่างเสาะแสวงหาหรือคุ้ยเขี่ยเพื่อให้เกิดปัญญาแต่ด้วยอารมณ์ อารมณ์ที่ไม่ถูกใจไม่พอใจ อารมณ์โกรธผิดหวังเสียใจก็ถามอย่างประชดประชันไม่ใช่ในลักษณะนั้น  เพราะฉะนั้นคำถามเพื่อการศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของชีวิตก็คือ ให้รู้ว่าชีวิตนี้คืออะไร อันแรกต้องรู้สักก่อนคืออะไร อันที่สองจึงจะค่อยถามต่อไปว่าแล้วเกิดมาทําไม และอันที่สามแล้วจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สามข้อนี่ข้อแรกให้รู้สักก่อนว่าชีวิตคืออะไรเกิดมาทําไม มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร นี่เป็นคําถามที่สําคัญของมนุษย์ทุกคน  ถ้าเด็กๆ ที่เกิดมาตั้งแต่ทีแรกผู้ใหญ่สอนก็คือด้วยการคุยกันนั่นแหละให้สอนด้วยการบอกการสั่งเด็กก็ยังรับไม่ได้เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่เป็นพ่อแม่ก็ตาม ปู่ ย่า ตา ยาย ครูบาอาจารย์ก็หาโอกาสคุยกันเรื่องนี้ นี่แหละจะทําให้เด็กเกิดความฉลาดอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่าอะไรคะ เขาเรียนวิชาเขาก็ฉลาดอย่างหนึ่งนี่เขามาเรียนรู้เรื่องของชีวิตเขาก็ฉลาดอีกอย่างหนึ่งคือฉลาดอะไรได้อะไรก็ได้  ปัญญาอีกอย่างหนึ่งอย่างที่เราเรียกในภาษาอังกฤษว่าถ้าหากเขาเรียนรู้เรื่องวิชา (“ช” ตัวเดียว) ศาสตร์ต่างๆ นี่เขาก็เฉลียวฉลาดยิ่งขึ้น intelligent มี intelligent กว้างขวางยิ่งขึ้น IQ สูงขึ้น แต่ถ้าเขามาเรียนรู้เรื่องของชีวิตเขาก็จะมีความฉลาดอีกอย่างหนึ่งที่เราเรียกว่า ปัญญา ในภาษาไทยเราก็จะในภาษาอังกฤษเราก็จะไปใช้คำว่า wisdom ซึ่งถือสักว่า wisdom กับ intelligent นี่ต่างกัน wisdom ก็จะเกิดจากการเรียนรู้ในเรื่องของชีวิตจากประสบการณ์ที่ผ่านมาจากเฝ้าดูความเป็นจริงของชีวิตที่ชีวิตได้ผ่านมาด้วยสติและปัญญาไม่ใช่มองอย่างขอโทษที่เขาใช้คำว่ามั่วๆ มองมั่วๆ ไปเรื่อยจนจับไม่ได้พล่าไปหมดไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร 

    แต่นี่มองอย่างปัจจเวก การศึกษาในเรียนรู้เรียนรู้ในเรื่องของชีวิตศึกษาอย่างปัจจเวกเพ่งลงไปให้ชัดเจน ชีวิตนี่คืออะไรที่เราทึกทักว่าชีวิตนี่เป็นตัวเป็นตนของเรานี่ ชีวิตนี่จริงๆ แล้วคืออะไรทั้งเงี่ยหูฟังสักหน่อยตามที่ท่านผู้รู้ท่านพูดกันท่านก็จะพูด ซึ่งเราคงเคยได้ยินลอยๆ มาเข้าหูก็เบญจขันธ์ไงและชีวิตนี่เป็นเบญจขันธ์เป็นขันธ์ห้า แต่เราก็ไม่รู้ไปนึกถึงขันตักน้ำเสียก็เลยมองไม่เห็นว่าที่ขันธ์ห้านี่เป็นไงแล้วท่านถึงท่านจะแจกให้ฟังว่า ก็รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ยังมองไม่เห็นนี่เราไม่หวังว่าเด็กๆ จะรู้หรอกนะคะแต่เราพูดถึงผู้ที่เติบโตมีประสบการณ์ในชีวิตพอสมควรเราก็พยายามศึกษาไปเรื่อยๆ ทีละน้อยจนรู้ว่าชีวิตองค์ประกอบของชีวิตเอาอย่างหยาบที่สุดไม่แจกออกไปและซึ่งเด็กๆ อาจจะพอเข้าใจได้ชีวิตก็ประกอบไปด้วยกายกับใจยังไงและมีกายไว้สำหรับใช้มือหยิบนั่นหยิบนี่ตามต้องการใช้ขาสำหรับเดินไปนั่นไปนี่ ก็เรียกว่าเรามีกายเอาไว้ใช้แล้วเราก็มีใจเอาไว้รู้สึก  แต่ทีนี้รู้สึกนี่จะรู้สึกถูกหรือรู้สึกไม่ถูก ถูกคืออะไรรู้สึกถูก สบายโปร่งไม่มีอะไรขัดข้องติดขัดถ้ารู้ผิดจะอึดอัดขัดข้องเครียด นั่นก็ตัน นี่ก็มองไม่เห็นไปเรื่อยเพราะขาดการใช้สติปัญญาเพราะฉะนั้นถ้าหากว่าของเล็กๆ ในระดับต่ำก็ชีวิตก็ประกอบไปด้วยกายกับใจ อย่างน้อยให้รู้ว่ากายกับใจนี่ต้องอยู่ด้วยกันและกายกับใจ หรือว่าอะไรสำคัญกว่าก็คงมีเด็กฉลาดหลายคนที่ตอบได้ บางคนก็อาจจะบอกกายนั่นแหละสำคัญกว่าหรือส่วนใหญ่อาจจะตอบว่ากายสำคัญกว่าเพราะอะไรก็มองเห็นได้ จับต้องได้ แต่ใจนี่มองไม่เห็น จับไม่ได้แต่บางคนก็อาจจะเป็นเด็กหัวแหลม ใจที่สำคัญจะกินอะไรใจก็ยังสั่งเลยว่าต้องสั่งอย่างงั้นนะ อร่อย ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าไก่ ไก่บ้านด้วยนะ ฉลาดหน่อยไม่เอาหรอก ไก่ที่เขาเลี้ยงเขาฉีดยา เพราะฉะนั้นใจที่สำคัญกว่า หรือใจนี่สิ อยากจะทำในสิ่งที่ทำให้ตัวเองสูงขึ้นเก่งขึ้นก็บอกใจนี่สิสำคัญกว่าใจนี่แหละเป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบว่า ระหว่างกายกับใจนี่ หนูว่าอะไรเป็นนายอะไรเป็นบ่าวหนูที่นั่งตอบได้ไหมคะ ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ทีนี้เมื่อใจเป็นนายกายเป็นบ่าวเราควรที่จะต้องรีบฝึกอบรมอะไรให้มากกว่ากันหน่อยหนึ่งก็อบรมใจ เพราะใจเป็นนายนี่คนจะเป็นนายเขาเป็นหัวหน้าเขาต้องฉลาดกว่าเขาต้องมีอะไรที่รู้มากกว่า เขารู้รอบกว่า เขามีสติปัญญามากกว่า เขาก็ต้องอบรมหน่อยอบรมใจให้เป็นใจที่ฉลาดขึ้นทั้งสองอย่างจะได้ควบคุมการใช้กายให้ถูกต้องท่านจึงเปรียบว่ากายนี่เปรียบเหมือนกับสำนักงาน สำนักงานของจิตหรือของใจจริงแหละใจเป็นใหญ่แต่ก็จะอวดดีว่าเป็นใหญ่คนเดียวไม่ได้ถ้าไม่มีกายใจจะสั่งนั่นสั่งนี่แล้วจะมีคนทำตามไหมก็ไม่มีใช่ไหมคะไม่มีอะไรที่จะทำตามไปหยิบนั่นมาหน่อยมือเปลี้ยไปแสดงว่าเป็นอัมพาตขาก็เป็นอัมพาตอย่างนี้เป็นต้นก็ทำอะไรไม่ได้  เพราะฉะนั้นจึงบอกว่ากายนี่เป็นสำนักงานหรือเหมือนกับเป็นออฟฟิศของจิตจึงต้องอยู่ด้วยกันนี่ชีวิตคืออะไรมีองค์ประกอบสองอย่างนี่แหละกายกับใจเอาเพียงแค่นี้ก็ยังดีทั้งเล็กๆ แล้วพอเติบโตขึ้นก็ค่อยๆ ขยายออกไปเป็นเบญจขันธ์เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไปเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยนี่กายกับใจเด็กก็รู้ๆ แล้วในสองส่วน 

    ที่กล่าวถึงเรื่องของขันธ์ห้าคือ รู้ในเรื่องของอะไรรูปกับเวทนารู้สึกใช่ไหมคะในเรื่องของรู้สึกเรื่องสัญญา สังขารวิญญาณยังไม่ต้องพูดกันหรอกคือมีเวทนาเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวเดี๋ยวชอบเดี๋ยวไม่ชอบถูกใจไม่ถูกใจเดี๋ยวร้องไห้เดี๋ยวหัวเราะ นี่ก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นของเวทนาถ้าหากว่ารู้ว่าอย่างนี้เด็กก็จะค่อยๆ รู้แล้วและ ชีวิตนี่มีความหมายเป็นสิ่งที่น่าศึกษานี่ก็จะดึงใจของเด็กนอกจากรู้ในเรื่องของวิชาก็กำลังใส่เรื่องของวิชชา (“ช”สองตัว) จะเป็นแสงสว่างเป็นปัญญาภายในให้เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อยส่วนเกิดมาทำไมนี่คุยง่ายกว่าเรื่องของชีวิตคืออะไร  เกิดมาทำไมจะตอบว่าอะไร แต่ก่อนนี้เราเคยตอบว่าอะไรจำได้ไหมเมื่อก่อนนี่ถ้าเคยรำคาญตัวเองรำคาญพ่อแม่หรือสิ่งแวดล้อมเกิดมาทำไมนี่ตอบว่าอะไร ลลิดาตอบว่าอะไรคะ เคยไหมเคยถามตัวเองไหม เกิดมาทำไม เคยถามไหมคะ จะตอบว่าไง ไม่รู้ ไม่เอา คำตอบอันนี้ไม่เอาเพราะเขาบอกแล้วว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐเพราะมีสมองมากกว่าสัตว์โลกอื่น เกิดมาทำไม พัฒนาตัวเอง คำตอบนี้ตอบตอนไหน ก็ตอนอายุเท่าไร นั่นนั้นสิ นี่แต่ก่อนนี้เราไม่ค่อยได้คิดใช่ไหมคะที่เกิดมาเพื่อพัฒนาตัวเอง ถ้าเราตอบได้ตั้งแต่ตอนเล็กๆ เป็นคำตอบแรก โอ้โหป่านนี้นี่ไม่รู้จะอธิบายยังไงนะวิเศษจริงๆ เลย วิเศษป่านนี้คงสร้างจรวดกันได้ไม่รู้จักกี่ลำแล้ว ฉะนั้นเมื่อตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าอะไรนี่เรามักจะตอบว่า เกิดมาทำไม ไม่ค่อยมีคำตอบ ยากนักที่แบบอย่างนั้นก็มารักพ่อรักแม่เกิดมาเป็นเด็กดี ถ้าพ่อแม่อบรมมาหน่อยก็อาจจะตอบขนาดนั้น แต่ที่จะตอบมากกว่านั้น ถ้าอยากจะตอบมากกว่านั้นนี่ คืออะไรจะตอบว่ายังไงคะ เกิดมาเพื่อ 

    เราเคยได้ยินมาอย่างนั้นนะคะว่าเกิดมาด้วยใช้กรรม แต่ทีนี้พอบอกกรรมเก่านะคะเราก็ไม่รู้เราฟังเขาว่าคำว่ากรรมเก่านี่เราได้ยินกันมาทั้งนั้นในส่วนตัวก็ได้ยินมาตั้งแต่เล็กๆ นั้นแหละพออะไรไม่ถูกใจนะแต่ถ้าถูกใจไม่ค่อยนึกถึงกรรมเก่าแต่พอถ้าไม่ถูกใจเป็นทุกข์ยากลำบากเป็นกรรมเก่าทั้งนั้นเลยอย่างนี้สักด้วยทีนี้พอพูดถึงกรรมเก่านี่เราก็ไม่รู้ว่ากรรมเก่ามีจริงหรือไม่จริงเราพิสูจน์ไม่ได้เป็นแต่เพียงสิ่งที่เขาว่าเพราะฉะนั้นก็จึงไม่อยากจะให้พูดว่าเกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่าหรือไปนึกถึงเรื่องของการใช้กรรมเก่าเพราะถ้าไปนึกถึงเรื่องการใช้กรรมเก่าแล้วอ่อนใจไม่มีแรงจะไปชดใช้แก้ไขกรรมเก่าไม่รู้ว่าทำอะไรไว้้ 

    เพราะฉะนั้นที่เปลี่ยนมาพูดว่าตามอิทัปปัจจยตาเกิดมาตามเหตุปัจจัยเกิดมาทำไมก็นี่แต่แหมเด็กคนไหนจะตอบอย่างนี้โอ้โหฉลาดมากไอคิวสูงเกิดมาตามเหตุปัจจัยคงยากเพราะเขายังไม่เคยได้ยินคำว่าเหตุปัจจัยหรืออิทัปปัจจยตาแต่เอาง่ายๆ เถอะตอบว่าอะไรนะแล้วเด็กไทยตอบว่าอะไรคะ ไม่เพื่อเรียนรู้ เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่อเรียนรู้แต่คงจะใช้คำ ก็มาเรียนหนังสือใช่ไหม ถ้ายังเด็กอยู่แต่เดี๋ยวนี่เราต้องจะใช้คำว่าเรียนรู้ๆ นี่กินความกว้างกว่าใช่ไหม กว้างกว่าที่จะมาเรียนหนังสือ เรียนหนังสือก็เรียนในห้องเรียน นี่เราก็จะตอบอะไรไปตามที่ ประสบการณ์สิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เราได้รู้อย่างนั้นถ้าหากว่าเดี๋ยวนี้ก็อย่างที่ คุณอวยพรตอบมาว่า พัฒนาตนเองก็ถูกต้อง พัฒนาก็ต้องมีคำถามต่ออีกนิด พัฒนาตนเองเพื่ออะไรเจริญให้ใครคะเจริญทางธรรม พัฒนาตนเองเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นพูดง่ายๆ เกิดมาทำไมก็เกิดมาเพื่อพัฒนาตนเองเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งในส่วนตนและเพื่อนมนุษย์อย่าลืมเพื่อนมนุษย์ทำไมถึงลืมไม่ได้เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวอย่างที่คนบางคนฉันอยากให้โลกนี้เป็นของฉันคนเดียวยกให้เลยโลกนี้เป็นของเธอคนเดียวอยู่ได้ไหม ก็รู้ว่าอยู่ไม่ได้นี่ดูตัวเรานี่มีอะไรบ้างที่เกิดขึ้นเพราะเราเองทำเองคนเดียวนี่ ตัวเราเดี๋ยวนี้ ขนาดที่เราไม่ได้มีอะไรมากแล้ว มีแค่ ขาว แค่ ดำ แค่นี่ก็มองเห็นเอง เราต้องอาศัยผู้อื่นตลอดเวลา ชีวิตที่เกิดขึ้นมาจริงอยู่มีเงินซื้อแต่ถ้าไม่มีคนเขาทำขายจะไปซื้อที่ไหน เหมือนอย่างธรรมนี่แหละ ไม่มีใครขายไม่มีใครวางขาย ธรรมนี่ไม่มีเห็นไหม เราให้มีเงินมหาศาลกี่ร้อยล้าน พันล้าน แสนล้าน ซื้อไม่ได้นอกจากทำเอง ปฏิบัติเองแต่อย่างอื่นนี่เราต้องซื้อต้องหา ต้องพึ่งคนอื่นทั้งนั้นเพราะฉะนั้นเกิดมาทำไม เราจึงไม่ลืมเพื่อนมนุษย์เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นคนมีประโยชน์เพื่อตนเองและเพื่อนมนุษย์เพราะฉะนั้นมีอยู่มีชีวิตอยู่เพื่ออะไรก็ตอบสั้นๆ ได้ว่าเพื่อทำหน้าที่ของมนุษย์ก็ทำหน้าที่ของมนุษย์นี่กินความกว้างตอบสั้นๆ แต่กินความกว้างๆ เพราะอะไรคะเพราะมนุษย์แปลว่าอะไร  

    มนุษย์แปลว่าอะไรผู้มีใจสูง มนะ-ใจ อุสส-สูงประเสริฐ รวมกันเป็นมนุษย์ก็มนุษย์ผู้มีใจประเสริฐเพราะฉะนั้นเพื่อทำหน้าที่ของมนุษย์ก็คือไม่ใช่ทำหน้าที่อย่างคนธรรมดาที่เกิดมาเป็นคนแต่ทำหน้าที่อย่างมนุษย์จึงกินความกว้างลึกซึ้งสูงกว่าธรรมดาลองขยายความให้ฟังสักนิดได้ไหมว่าทำหน้าที่ของมนุษย์นี่เป็นยังไงลองขยายความสักนิด ท่านผู้ใดจะช่วยขยายความก็ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์ในทุกประการด้วยการไม่เห็นแก่ตัวนี่อย่าลืมประโยคนี้ไม่เห็นแก่ตัวด้วยการเอื้อเฟื้อนี่ไม่ใช่เอื้อเฟื้อเฉพาะคนรู้จักเพื่อนฝูงพี่น้องญาติมิตรแต่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างทั่วไปไม่เลือกที่รักมักที่ชังก็มีคำที่ท่านพูดว่าอย่างอัปปมัญญาเรายังไม่ถึงหรอกไม่ต้องเอาถึงขนาดนั้นก่อนค่อยๆ ทำไป 

    อัปปมัญญาคือไม่มีขอบเขตไม่เลือกหน้าเลยเป็นคนแปลกหน้าเป็นใครมาจากไหนก็แล้วแต่ๆ เมื่อเห็นเขามีทุกข์เขามีปัญหาเขามีความลำบากก็ช่วยเหลือเพราะฉะนั้นจึงต้องบอกว่าทำหน้าที่ของมนุษย์เกิดมาเพื่อทำหน้าที่ของมนุษย์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็คือไม่มีความเห็นแก่ตัวนี่พูดกันสั้นๆ นะคะเพราะฉะนั้นถ้าหากว่าผู้ใดนี่ตอบคำถามอันนี้ได้คือหาคำตอบว่าชีวิตคืออะไรเกิดมาทำไมแล้วก็มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ได้คำตอบถูกต้องครบถ้วนผู้นั้นจะมีชีวิตที่เป็นยังไงก็อยากจะขอพูดว่าแน่นอนไม่ต้องสงสัยจะเป็นผู้ที่มีชีวิตที่สว่างรุ่งเรืองอบอุ่นและเป็นสุขที่แท้จริงเป็นสุขที่ไม่ต้องแสวงหาอีกแล้วจึงเป็นความสุขที่แท้จริง  ถ้าหากว่าใครบอกว่าฉันสุขแล้วแต่ยังวิ่งตะครุบหาสุขต่อไปเรื่อยๆ ได้นี่มาหาตะครุบต่อไปนั่นเป็นสุขปลอมสุขเทียมเป็นมายาเกิดดับๆ แต่สุขจริงนั้นเป็นสุขที่อิ่มแล้วพอแล้ว ฉะนั้นถ้าผู้ใดหาคำตอบครบถ้วนถูกต้องต่อคำถามว่าชีวิตคืออะไรเกิดมาทำไมอยู่เพื่ออะไรถูกต้องครบถ้วนย่อมมีชีวิตที่สว่างไสวรุ่งเรืองและเป็นสุขที่แท้จริง นี่เป็นความสำคัญและคุณประโยชน์อย่างอื่นของอายตนะ  ทีนี้นอกจากนี้ก็อยากจะขอแถมอีกว่าที่แถมนี่ไม่ใช่คิดเองนะคะก็ได้ยินท่านผู้รู้ท่านพูดโดยเฉพาะก็จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แหละท่านตรัสสอนให้พระภิกษุทั้งหลายรู้ว่าที่เกิดหรือบ่อเกิดของนรกและสวรรค์นี่อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่แหละนะไม่ใช่อยู่ที่อื่นหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่นอกจากจะเป็นเครื่องมือดังที่พูดมาแล้ว ก็ยังเป็นที่เกิดของนรกและสวรรค์ด้วยแต่ดี  ดีตรงไหนในความรู้สึกส่วนตัวว่าดี ก็คือดีตรงที่ นรกสวรรค์นี่เราเลือกได้ไม่ใช่เขากำหนดมาแล้ว เราเลือกได้คือ เลือกให้เป็นสวรรค์ก็ได้ เลือกให้เป็นนรกก็ได้ที่อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่ถ้าเลือกถูกต้องยังจะได้เป็นจุดเย็นของนิพพานสักอีกด้วยที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่แหละถ้าเลือกให้ถูกต้องทำถูกต้องยังจะได้จุดเย็นของนิพพานอีกด้วยแม้จะเป็นเย็นอย่างครั้งคราวไม่ได้ถาวรก็ยังดี ดีตรงไหนเพราะได้ลิ้มรสไงและที่่เขาว่านิพพานอย่างนี้เองแต่ก่อนนะคิดว่าอยู่นอกฟ้าป่าหิมพานต์ที่ไหนก็ไม่รู้หาไม่พบไปไม่ไหวทางก็คงไกลเหลือเกินรกด้วยคิดเอาเองแต่จริงๆ แล้วอยู่ตรงนี้เองอยู่ข้างในนี่เองทำถูกเมื่อไรก็เย็นเป็นนิพพานอยู่ตรงนี่เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่านรกสวรรค์อยู่ตรงนี้นะคะจริงหรือไม่จริงก็ลองพิจารณากันต่อไป 

    ทีนี้ก็จะพูดต่อไปอีกถึงเรื่องของอายตนะนี่มาเป็นอินทรีย์ได้อย่างไรก็มีความสำคัญอย่างที่เราพูดกันแล้วนี่จะเป็นอินทรีย์มีความสำคัญก็เพราะเป็นเครื่องมือในการศึกษาทั้งศึกษาวิชาและก็ศึกษาวิชชาในเรื่องของชีวิตก็จะได้วิชชาและยังเป็นบ่อเกิดของนรกและสวรรค์แล้วก็เป็นจุดเย็นของนิพพานได้อีกด้วย จึงมีความสำคัญ มีความเป็นใหญ่มีความเป็นจอม ที่เราควรจะต้องเรียนรู้ คือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือเป็นนรก หรือเป็นสวรรค์หรือเป็นจุดเย็นของนิพพาน ก็เพราะตรงอายตนะนี่แหละ ที่จะทำให้เกิด สิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ ซึ่งเคยได้ยินแล้วใช่ไหมคะ ที่เรียกว่า ผัสสะ เกิดขึ้นได้อย่างไรคะที่ได้ยินได้ฟังมาผัสสะคือสิ่งที่กระทบทีนี้อะไรกระทบอะไรละอายตนะภายในกระทบคือพบกับรูป เช่น ตาอายตนะภายในกระทบกับรูปซึ่งเป็นคู่ของจะรูปอะไรก็แล้วแต่แม้แต่กิริยาท่าทางก็ถือว่าอยู่ในนี้ทีนี้ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น ก็มีวิญญาณ จักขุวิญญาณคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจจะมีวิญญาณอยู่ประจำของทุกแห่งมีจักขุวิญญาณของตา มีโสตวิญญาณของหู มีฆานวิญญาณของจมูกมีชิวหาวิญญาณของลิ้น มีกายวิญญาณของกาย แล้วก็มีมโนวิญญาณของใจ แต่ละญาณๆ มีวิญญาณประกอบวิญญาณมีเอาไว้มีวิญญาณมีอยู่ในนั้นเพื่ออะไรเพื่อรู้เพื่อรับรู้มีไว้เพื่อรับรู้แต่ก็มีเพียงแค่นั้นเองนะธรรมชาตินี่จัดเพียงแค่นั้นเองคือทำหน้าที่เท่านั้นเสร็จเป็นเสร็จแต่คำว่าของฉันนี่ไม่ยอมเสร็จต่อเรื่องก็เลยทำให้เกิดเป็นเรื่องยุ่งขึ้นมาเป็นสวรรค์บ้างเป็นนรกบ้างแต่หาจุดเย็นไม่ค่อยจะพบ เพราะฉะนั้นเราก็จะพูดได้ว่าเมื่ออายตนะภายในกระทบกับคู่ของคืออายตนะภายนอกแล้วก็มีวิญญาณของอายตนะนั้นๆ ปรากฏพร้อมขึ้นมาด้วยก็เกิดเป็นผัสสะแต่พอผัสสะเกิดมานี่เกิดขึ้นมาครั้งแรกนี่ก็เป็นแต่เพียงการกระทบกันคือการรู้เหมือนอย่างเรานั่งอยู่นี่เราลืมตาเรามองไปรอบห้องก็กระทบโต๊ะหมู่บูชามีพระพุทธรูปเราก็รู้บอกได้แต่มีความหมายที่จะเกิดนรกสวรรค์อะไรขึ้นมาทันทีไหมคะ ไม่ก็ได้เฉยๆ เห็นพัดลมมีนรกสวรรค์ที่พัดลมไหมก็ไม่มีเฉยๆ แต่รู้ๆ ว่าอะไร เพราะเรามีประสบการณ์มีความรู้ ก็รู้ว่านี่คือพัดลมแค่นั้นเองหรือเรามองเพื่อนๆ ที่นั่งอยู่ในห้อง ตาเราก็มองไปเราก็รู้คนนั้นคนนี้ แต่นี่สมมุตินะคะ เผอิญอยู่กันมาหลายวันเข้านี่ก็เกือบเดือนหนึ่งละตอนแรกๆ มองดูก็น่ารักน่าเอ็นดู แต่วันหนึ่งไปเกิดเสียดสีอะไรกันเข้า ใครกับใครก็ไม่รู้ สมมติว่า ก. กับ ข. วันนี้ ก. มองไป ข. นั่งอยู่เอ๊ะไม่เป็นแต่เพียงคุณ ข. เฉยๆ ไม่เป็นแค่คุณข.เฉยๆ ชักจะมีความหมายขึ้นมา คุณข. วันนี้มีความหมายขึ้นมามีความหมายอย่างไรนึกสิคะที่จะเกิดขึ้นในใจ ลบหรือบวกก็ได้บวกก็ได้แล้วแต่การเสียดสีนี่เสียดสีทางบวกหรือทางลบถ้าเสียดสีทางลบเกิดไม่ใช่เพียงกระทบกันเฉยๆ ไปถึงไหนเกิดเวทนาขึ้นมาในใจใช่ไหมถ้าเป็นทางลบไม่ถูกใจหมั่นไส้เขม่นความที่เคยเป็นมิตรชักจะค่อยๆ ละลายไป แต่ถ้าเผอิญการเสียดสีนั้นเป็นไปในทางบวกนึกชอบใจโชคดีนะมาคราวนี้มาอบรมคราวนี้เราจะได้เพื่อนอีกคนหนึ่งสังขารก็มาช่วยปรุงแต่งต่อไปแล้วไม่ใช่แค่นั้นนี่ก็ผัสสะนะ 

    เพราะฉะนั้นเมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกกระทบกันพร้อมด้วยวิญญาณของอายตนะนั้นๆ ทำหน้าที่ร่วมกันถ้าเพียงแต่ว่ากระทบกันเฉยๆ ท่านเรียกว่าปฏิฆสัมผัส (ป-ฏิ-ฆ) คือเพียงแต่กระทบกันเฉยๆ ก็ผ่านกระทบผ่านๆ ไม่เกิดอะไรขึ้นคำว่าไม่เกิดในที่นี้หมายความว่าไม่เกิดปฏิกิริยาขึ้นข้างในใจในความรู้สึกของบุคคลนั้นไม่มีความหมายถ้าหากว่าใครสามารถควบคุมฝึกอบรมใจให้ได้สิ่งที่ผ่านเข้ามาเป็นผัสสะทุกอย่างนี่แค่ปฏิฆสัมผัสเพียงแต่รับรู้ว่านี่คืออะไร เป็นคน เป็นสุนัข เป็นแมว เป็นต้นไม้ เป็นดอกอะไร ก็จบแค่นั้นชีวิตเป็นไงคะสบายชีวิตสบายไม่ต้องสะดุดนั่นสะดุดนี่อยู่เรื่อยๆ นี่ก็เพราะอะไรก็เพราะว่าไม่เป็นเพียงแค่ปฏิฆสัมผัสแต่ไปถึงสิ่งที่ท่านเรียกว่า อธิวจนสัมผัส อาจจะจำชื่อยากหน่อย (อ-ธิ-ว-จ-น)  อธิวจนสัมผัสนั้นก็หมายถึงเป็นการกระทบกัน คือว่าไม่เฉพาะแต่เพียงว่า อายตนะภายในกระทบอายตนะภายนอกพร้อมกับวิญญาณทำหน้าที่ร่วมไม่เพียงแค่นั้นเกิดใจนี่จิตนี่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเพราะฉะนั้นเป็นการกระทบระหว่างผัสสะที่ว่านี่พร้อมกับมีเวทนาตามมาคือความรู้สึกและความรู้สึกอันนี้มาเนื่องจากอะไรลองนึกสิคะ ก็เพราะเคยเสียดสีกันตัวอย่างนี่เพียงแต่ยกให้ฟังนั้น ทุกคนอาจจะไปหาตัวอย่างอื่นก็ได้จำได้ใช่ไหมเวทนานี่ดึงเอาสัญญามาสัญญาบอกว่าที่ได้พบคราวนั้น ดีถูกใจก็ชอบพอใจ ไม่ถูกใจมีอะไรที่ขัดใจก็ไม่ชอบไม่พอใจอันนี่ท่านเรียกว่าเป็นอธิวจนสัมผัสเพราะทำให้เกิดเวทนาทำให้จิตนี้มีอาการกระตุกสะดุดผิดจากความเป็นปกติถ้าแค่ปฏิฆสัมผัสก็ปกติแต่นี่ไม่ไม่ใช่แค่นั้นไปดึงเอาสัญญาเข้ามาก็เลยเกิดเป็นเวทนาขอให้จำไว้เถิดว่าสัญญานี่ตัวร้ายจะฝังอยู่ในใจเยอะสัญญาเล็กๆ สัญญาน้อยๆ เพราะฉะนั้นท่านจึงพยายามให้ลบเสียอย่าไปจดจำสิ่งที่เป็นสัญญาให้เป็นเพียงปฏิฆสัมผัสให้ได้เพราะถ้าหากว่าขืนจดจำสัญญามากพอไปถึงตอนสุดท้ายจะหยุดหายใจสัญญาทั้งหลายอาจจะโผล่ขึ้นมาแล้วแทนที่เราจะได้หายใจสบายๆ ไปสู่ที่สบาย มาสะดุดที่บอกจะห้อยต่องแต่งไม่ได้ไปที่ที่ควรไป เพราะฉะนั้นสัญญานี่น่ากลัวมากฉะนั้นเมื่อผัสสะเกิดขึ้นก็ระมัดระวังในเรื่องของผัสสะอย่าให้ไปถึงอธิวจนสัมผัสให้อยู่เพียงแค่ปฏิฆสัมผัสถ้าสามารถทำได้ชีวิตก็จะราบรื่นที่พูดถึงผัสสะเมื่อกี้นี้มีสงสัยตรงไหนถามได้เลยค่ะ 

    ความจำเสื่อมก็ไม่ต้องมีไม่ต้องไปนึกถึงสัญญาอะไร  ทีนี้ที่พูดอันนี่นะคะก็เพื่อเป็นการเตือนใจเราไงคะว่าในระหว่างที่เรายังสุขภาพดีๆ อยู่นี่ก็ควรจะพยายามฝึกอบรมจิตด้วยวิธีต่างๆ ที่พูดกันนี่เพื่อที่จะให้จิตนั้นพร้อมอยู่ด้วยสติสมาธิและปัญญา ถ้ามีสติควบคุมอยู่เสมอก็แน่นอนก็จะย่อมไม่คิดในสิ่งอื่นที่จะพาไปในทางลบถึงได้พูดว่าอย่างน้อยที่สุดก็ให้นึกถึงแต่กุศลกรรมคุณธรรมคุณความดีต่างๆ ที่เราทำเอาไว้ยิ่งเวลาจะนอนนี่ถ้ายิ่งคนนอนไม่หลับ ก็เพราะนิวรณ์แหละส่วนมากไม่นับที่เป็นโรคประจำตัวนะคะก็เพราะนิวรณ์ไปคิดกังวลนั่นกังวลนี่คิดนั่นคิดนี่ทำให้นอนไม่หลับส่วนมากที่คิดก็เป็นเรื่องของการปรุงแต่งแล้วก็เป็นเรื่องของสัญญาในอดีตที่ไม่ถูกใจที่ผิดหวังสูญเสียอะไรต่างๆ เหล่านี้พยายามลบสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เราพูดกันมาเรื่อยๆ นี่ก็เพื่อจะให้เห็นว่าสิ่งนั้นหาจริงไม่่เป็นเพียงมายาพยายามลดละและวิธีแก้ก็คือในส่วนตัวก็จะคิดอย่างนี้เหมือนกันคิดถึงกุศลกรรมแล้วบางทีโดยปกติไม่ค่อยได้นึกนะแล้ววันหนึ่งก็นึกขึ้นมาว่าเรานี่เคยทำความดีอะไรมาบ้างนะจะเล็กๆ น้อยๆ อะไรก็ตามรวบรวมเอามาทั้งนั้น บอกตัวเองแหมนี่เรานี่เคยทำความดีถึงขนาดนี้เชียวเหรอแม้แต่เล็กๆ น้อยๆ เป็นสิ่งที่มองดูจิ๊บจ๊อยเต็มทีเราก็นับรวมๆ ของเราเข้าไว้ๆ แล้วชื่นใจใช่ไหมคะนึกอย่างนี้แล้วชื่นใจงั้นที่บอกนี่ถ้าใครเกิดปรุงแต่งนะ สุนันท์ชอบปรุงแต่งไงนะ สุนันท์ก็ลองนึกสิ ตั้งแต่เราเกิดมาเราทำอะไรที่ดีๆ บ้างนะนิดนึงก็เอา ก็อย่างที่เคยเล่าให้คนหลายให้หลายคนฟังแล้วนี่ตอนที่ยังทำงานอยู่กับกระทรวงศึกษา เราก็แต่งตัวสวยเหมือนๆ คนโลกเขาแต่งกัน ตุ้มหู รองเท้า กระเป๋าต้องเข้าชุดกันหมดกับเสื้อผ้า ถึงตอนกลางวันก็กระทรวงศึกษาก็อยู่ใกล้ตลาดเทเวศร์มีเวลาก็มักจะเดินออกไปดูที่ตลาดเทเวศร์ วันนั้นพอออกไปก็เห็นเด็กลากปลาไหลตัวอ้วนใหญ่เลยกำลังเที่ยงวันไปบนถนนซีเมนต์ที่ร้อนด้วยแดดวิ่งเลย ทั้งๆ ที่แต่งตัวก็น่าดูวิ่งตามเด็กที่ลากปลาไหลไปด้วยความรู้สึกสงสารโถนี่ผิวอ่อนๆ แล้วก็ถูกลากไปตามซีเมนต์ที่ร้อนๆ นี่ปลาไหลจะรู้สึกอย่างไรวิ่งตามไปจนถึงตัวเด็ก แล้วก็ถามว่านี่ขายไหมขายเท่าไรไม่ถามราคาและจะซื้อเลยเขาก็บอกว่าขายเราก็ซื้อแล้วก็เอาใส่รถไปปล่อยที่สระที่วัดที่รู้ว่าเขาจะปลอดภัยนี่ก็เรื่องเล็กน้อยนิดเดียวใช่ไหมคะ ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยไม่ใช่เป็นวีรสตรีอะไรเลย แต่อย่างน้อยพอเราคิดขึ้นมาเราก็ชื่นใจได้ใช่ไหม นี่ยกตัวอย่างให้ฟังไม่ใช่อวดหรืออะไรแต่เพื่อจะบอกว่าเวลาที่จะคิดรวมความดีที่เราทำไว้นี่แหละกระจิบกระจ้อยอย่างนี้นะ สุนันท์คิดเอาไว้เถอะวันหนึ่งนี่นะเอาให้ทานหมาที่ไม่มีอะไรกิน เออก็ยังดีเราก็ทำความดีใช่ไหมพอเก็บรวมเข้าไว้ชื่นใจ คิดไม่ถึงว่าเราเคยทำความดีอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่ แต่จะเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้จิตของเรานี่มีความชุ่มชื่นเบิกบาน ฉะนั้นคิดแต่กุศลกรรมยิ่งก่อนนอนนี่ก็นึกเอาไว้เถอะ เราทำอะไรบ้าง เอาเฉพาะวันนี้ก่อน แล้วก็ย้อนหลังนึกไปนี่ก็จะทำให้จิตใจชุ่มชื่นแล้วก็จะได้ลืมสัญญาตกค้างในทางที่เป็นอกุศลแล้วก็จะมุ่งหน้าคิดทำความดีต่อไป ก็ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก คืนนี่เราจะหลับไปเลยไม่ตื่นขึ้นมาอีกก็ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะว่าเราจิตใจเราชุ่มชื่นเบิกบานมีสติก่อนนอนไปสบายแน่ ไม่ต้องกลัวเพราะฉะนั้นสัญญานี่ที่บอกอย่างนี้ไว้ก็เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราศึกษาเรื่องการปฏิบัติธรรมไปก็จะเห็นว่าตอนสุดท้ายแล้วนี่ที่ท่านปฏิบัติถึงสูงสุด ท่านต้องละสัญญาอะไรต่ออะไรทั้งหลายนี่เกลี้ยงให้หมด มิฉะนั้นจะเป็นสิ่งที่มาติดอยู่ในใจเป็นเสี้ยนนี่พูดอย่างนี้ยากเต็มทีนะคะ คือพูดที่หยาบนี่ ไม่ได้ฟัง ไม่ใช่คำพูดหยาบ แต่เป็นการอธิบายที่ค่อนข้างหยาบๆ เพราะจะละเอียดนี่ เป็นเรื่องลึกซึ้งกว้างขวางมากมายพูดไม่รู้จบ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะพูดถูกหรือเปล่า พูดไปอาจจะผิดก็ได้ เพราะฉะนั้นเอาแค่นี้นะเราคิดถึงแต่สิ่งที่ดีงามนี่ แล้วก็ให้รู้สักว่าเรื่องของสัญญานี่ อย่าเก็บเอาไว้ เก็บเอาไว้แล้วก็จะไม่เกิดประโยชน์เพราะฉะนั้น  

    ถ้าหากว่าผัสสะเกิดขึ้น ท่านก็จะเตือนผู้ที่พบผัสสะเอาไว้ว่า มีอยู่สองอย่างนะประเภทของผัสสะที่เราพบนี่จะเป็นอวิชชาสัมผัสหรือวิชชาสัมผัสก็ได้ คือพอผัสสะเกิดขึ้นเราจะสัมผัสกับผัสสะนั้นในลักษณะของอวิชชาหรือวิชชา ถ้าวิชชาสัมผัสก็หมายความว่ามีความรู้เท่าทันว่าผัสสะที่เกิดขึ้นนี่จะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรสเป็นสัมผัสหรือธรรมารมณ์ที่ผ่านเข้ามาที่ใจก็ตามแค่นั้นเองเช่นนั้นเองเป็นมายาไม่ใช่ของจริง เพราะอะไรจำอันนี้ไว้ คือไม่เที่ยง ไปอ่านพระไตรปิฎกเถอะโดยเฉพาะพระสูตร ตั้งแต่ต้นจนจบเลย  

    พระพุทธเจ้าไม่ตรัสเรื่องอื่น คือหมายความว่าตรัสเรื่องอื่นด้วยแต่เรื่องนี้จะยืนพื้นก็คือเรื่องของอนิจจังทุกขัง อนัตตา คือเรื่องของไตรลักษณ์ทรงถามไปเถอะ เที่ยงหรือไม่เที่ยง รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ตาเที่ยงหรือไม่เที่ยง เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง ไม่มีอะไรเที่ยง ท่านจะย้ำเรื่องนี้เป็นอันมาก เพราะฉะนั้นเราทุกคนนี่แหละค่ะ อย่าประมาทในเรื่องของอนิจจังคำว่าประมาทก็คือว่า แค่นี้เอง ไม่ต้องเรียนรู้ศึกษาอะไรมากหรอกถ้าใครเข้าไม่ถึงไม่ได้เห็นอนิจจังด้วยใจ ไม่ผ่านนะคะ ไม่ผ่านการปฏิบัติธรรม  พระพุทธเจ้าท่านย้ำ สำคัญเพราะฉะนั้น ถ้าผัสสะเกิดขึ้นแล้วก็เป็นวิชชาสัมผัสก็เห็นทันที  ผัสสะนี้ สักแต่ว่าผัสสะเกิดแล้วก็ดับเป็นไปตามเหตุปัจจัยแค่นั้นเองเป็นเพียงกิริยาที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยเท่านั้นเองไม่มีอะไรมากกว่านี้จบหมดทวารนั้นปิดแล้วประตูปิดแล้วมารไม่ได้ช่องแล้วถ้าเป็นวิชชาสัมผัส แต่ถ้าเป็นอวิชชาสัมผัสเป็นไงคะปรุงแต่งต่อเลยยอมไม่ได้ทำแล้วเจ็บนักนี่ปรุงแต่งแล้วนะมาจากสัญญาครั้งไหนก็ไม่รู้ทำแล้วเจ็บนักต้องเอาคืนทีเราแล้ว ใครเป็นคนถูกเขาเอาคืน นึกขึ้นได้ดีๆ ก็เรานั่นแหละ เขาภาษาที่เกิดเขาจำไม่ได้แล้วก็ได้เขาลืมไปแล้วก็ได้ เขาไม่รู้อะไรก็ได้ แต่เราสิที่ไปเอาอย่างงั้นเพราะฉะนั้นอวิชชานี่คือความเขลา ความไม่รู้ๆ อะไรไม่รู้ว่าความทุกข์เกิดจากอะไรเหตุแห่งทุกข์คืออะไรก็คือพูดง่ายๆ คือไม่รู้เรื่องของอริยสัจสี่เลย ไม่เคยๆ ศึกษา หูไม่กระดิกเรื่องๆ ของอริยสัจสี่ เรื่องๆ ของความทุกข์ ทั้งๆ ที่คลุกอยู่กับความทุกข์ทุกวันๆ เพราะฉะนั้นอวิชชานี่เป็นสิ่งที่เราต้องกำจัด ต้องทำลาย ต้องขุดรากเหง้า ถ้าเป็นอวิชชาสัมผัสทุกข์ทันทีเพราะมีอารมณ์เข้ามาผสมอารมณ์ไม่ใช่เหตุผลจะทำให้คนๆ ที่มีอารมณ์ก็คือขาดสติในขณะนั้นจะมากหรือจะน้อยก็ตามแต่ก็ขาดสติฉะนั้นผัสสะนี่พอเกิดขึ้นถ้าเรานึกถ้าเราเตรียมมีสติไว้เสมอก็คงจะบอกตัวเองได้ว่าถ้าผัสสะมีเราจะเอาอวิชชาไปจัดการหรือจะเอาวิชชาไปจัดการถึงได้บอกไงคะว่าที่ว่านรกสวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่ดีตรงนี่ตรงที่เราเลือกได้จริงไหม นี่เห็นไหมเราเลือกได้จริงไหมจริงหรือเปล่าก็จริงนะสิจริงตรงที่เราจะเอาอะไรไปจัดการจะเอาวิชชาจัดการก็เป็นอะไรเป็นสวรรค์หรือนรกก็เป็นสวรรค์ถ้าเอาอวิชชาจัดการก็เป็นนรก ร้อนรุ่มขึ้นมาทีเดียว แล้วก็ถ้าใช้ปัญญาจริงๆ ถึงที่สุด ตัดไปให้เด็ดขาดก็จะได้สัมผัสกับจุดเย็นของนิพพานถึงได้บอกว่าดีกว่าสวรรค์นรกที่เรามองไม่เห็นสักอีกเราจัดไม่ได้ แต่นี่เราจัดได้เป็นสวรรค์นรกในปัจจุบัน เราจะเลือกเอาอะไรก็ตรงจุดของผัสสะนี่แหละทีนี้ก็ในเรื่องของการจัดการกับผัสสะก็มีตัวอย่างหลายเรื่องนะคะ 

    ที่ท่านเล่ากันมาโดยเฉพาะก็คือว่าต้องมีสติให้ทันท่วงทีถ้าสติทันท่วงทีอยู่ก็จะนำปัญญามาจัดการกับผัสสะนั้นได้อย่างถูกต้องแล้วจิตนั้นก็จะราบเรียบไม่มีความทุกข์ ทีนี้เรื่องที่เล่าที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินเพราะว่าเป็นเรื่องที่เล่ากันแพร่หลายมากแต่เป็นเรื่องจริงในพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงท่านพระอรหันต์องค์หนึ่งที่ชื่อท่านพาหิยรุจีริย เคยได้ยินชื่อใช่ไหมคะหลายคนคงจะเคยได้ยินท่านพาหิยตอนนั้นก็ยังเป็นคนธรรมดานี่ค่ะ แล้วก็มีเล่าว่าคล้ายๆ กับว่าเรือแตกมาแล้วก็มาอยู่ขึ้นที่ท่าเรือแห่งหนึ่ง แล้วก็ดูเหมือนจะเรื่องจากเรือแตกมาก็เลยไม่มีเครื่องแต่งกายอะไรครบครันอะไรอย่างนี้แต่ว่าทำตัวเป็นเหมือนกับเป็นผู้รู้ๆ แล้วก็สั่งสอนเรื่องราวในเรื่องของการทำความดีอะไรทำนองนั้นแก่ผู้คนๆ ก็เชื่อถือเคารพนับถือแล้วก็คิดว่าเป็นผู้สำเร็จ ลาภสักการะนี่มากมายเลยที่นำมาถวายคือนำมาให้กับท่านพาหิย จนท่านนพาหิยเองก็คิดว่าเราคงเป็นพระอรหันต์แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ภาคภูมิใจแต่ก็ยังคงสั่งสอนพวกผู้คนที่มาหาด้วยการเทศน์ให้ทำคุณงามความดีอะไรต่างๆ แล้วก็มีผู้หวังดีมากระซิบบอกให้รู้ว่ายังหรอกนะท่านนี่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์หรอกนะเวลานี้ในโลกนี้มีพระอรหันต์ที่แท้จริงบังเกิดอุบัติขึ้นแล้วคือท่านพระสมณโคดมอุบัติขึ้นแล้ว เวลานี้ท่านประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถีนั่นแหละเป็นพระอรหันต์ที่แท้จริงพอท่านพาหิยได้ยินก็็อยากจะรู้ให้แน่เพราะว่าในตัวเองก็คิดว่าเราก็คงเป็นพระอรหันต์เพราะความเคารพนับถือจากผู้คนมากมายเหลือเกิน แต่อย่างไรก็ตามอยากจะไปทดสอบว่าเป็นจริงหรือไม่เพียงใดก็รีบเดินทางอย่างเร่งด่วนที่สุดอย่างเหน็ดเหนื่อยแทบไม่ยอมหยุดพักจักไปยังเมืองสาวัตถีไปถึงก็ตรงไปที่เชตวันซึ่งเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า ก็เป็นตอนเช้าตรู่ก็ปรากฏว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จไปบิณฑบาตก็วิ่งตามไปตามเข้าไปในละแวกบ้านจนกระทั่งพบพอพบก็รู้สึกเต็มตื้นไปด้วยความปิติเพราะว่ารู้สึกชื่นบานผ่องใสเห็นพระองค์ท่านแล้วบริสุทธิ์สะอาดอินทรีย์สงบถึงที่สุดนี่ผ่องใสเหลือประมาณก็เกิดความศรัทธาเคารพรักเทิดทูนขึ้นมาในใจเดี๋ยวนั้นอย่างแก่กล้าอย่างประมาณมิได้แล้วก็ตรงเข้าไปกราบที่พระบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบทูลขอให้ประทานธรรมเพื่อที่จะเป็นประโยชน์แก่ข้าพระองค์ต่อไปในการภายหน้าด้วยเถิดพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเวลานี้เป็นเวลาที่กำลังบิณฑบาตไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ท่านพาหิยก็ทูลขออีกเป็นครั้งที่สองแล้วครั้งที่สองนี่ก็ทูลเพิ่มเติมว่าเพราะว่าอันตรายที่จะเกิดแก่พระองค์แก่ชีวิตของพระองค์ก็ดีหรือแก่ที่จะเกิดแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดีเป็นสิ่งที่รู้ได้ยากพูดง่ายๆ เพราะฉะนั้นก็ขอประทานธรรมเดี๋ยวนี้เถอะพระพุทธเจ้าก็คงตรัสอย่างเดิม คือยังขอให้รอไว้ก่อนท่านก็ไม่ยอม กราบทูลขออีกเป็นครั้งที่สาม ขอได้โปรดเถิดประทานธรรมให้ ที่จะเป็นประโยชน์แก่ข้าพระองค์ในการต่อไปภายหน้าชีวิตของพระองค์ก็ดีอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิตของพระองค์ก็ดี แก่ข้าพระองค์ก็ดีเป็นของที่รู้ได้ยากนักพอถึงครั้งที่สามนี่ พระพุทธเจ้าก็คงจะทรงมองเห็นแล้วว่า ท่านพาหิยะนี่ ค่อยๆ สงบลงคือครั้งแรกนี่ ที่ท่านไม่ตรัสตอบ อาจจะเป็นเห็นว่ากำลังตื่นเต้นมากใช่ไหมคะ เดินทางมาก็เหน็ดเหนื่อยแล้วก็มาตื่นเต้นที่ได้พบพระพุทธเจ้า ได้มองเห็นความงาม ความสงบ ความผ่องใสอะไรทุกอย่างนี่จิตที่กำลังตื่นเต้นไม่พร้อมที่จะรับธรรมชั้นสูงต้องเป็นจิตที่สงบนิ่ง อ่อนโยน ละเอียด เพราะฉะนั้นท่านจึงยับยั้ง ด้วยการที่ไม่ยอมประทานธรรมพอถึงครั้งที่สาม ก็ตรัสว่าพาหิยเช่นนี้แหละ คือเช่นนี้แหละเมื่อเธอปรารถนาอย่างนี้แหละะเมื่อเธอเห็นรูปก็จงสักว่าเห็นอย่าไปนิยมยินดีติดใจเพลิดเพลินใจในสิ่งนั้น เมื่อได้ยินเสียงก็จงสักว่าได้ยิน เมื่อได้กลิ่นก็จงสัักว่าได้กลิ่น เมื่อได้ลิ้มรสก็จงสักว่าได้ลิ้มรส ได้สัมผัสก็จงสักว่าได้สัมผัส มีธรรมารมณ์ก็จงสักว่าธรรมารมณ์ถ้าเธอทำได้เช่นนี้ก็จะไม่มีเธอในโลกนี้ในระหว่างโลกหรือในโลกใดๆ ทั้งสิ้นนี่แหละที่สุดแห่งทุกข์ ตรัสแค่นี้ท่านพาหิยบรรลุเลยบรรลุธรรมไปเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาในขณะนั้นเลย  

    เพราะฉะนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ที่บรรลุเร็วที่สุด แล้วพอหลังจากนั้นแล้วท่านพาหิยก็จะขออุปสมบทขอบวชก็จะต้องไปหาเครื่องอัฐบริขารก็บังเอิญเดินออกไปข้างนอกก็ไปถูกวัวแม่ลูกอ่อนควิดตายแล้วก็มีพระภิกษุสงฆ์ก็ทูลถามพระพุทธเจ้าว่าท่านพาหิยมีคติเป็นไปอย่างไรคือไปไหนตายแล้วไปไหน พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วคือบรรลุอรหัตตผลแล้วเธอเป็นบัณฑิตไม่ทำความลำบากให้แก่เราเลย  ไม่ทำความลำบากยังไง สอนไม่แค่เท่าไรเลยบรรลุเลยจึงเรียกว่าเป็นบัณฑิตไม่ทำความลำบากให้ท่านต้องพร่ำสอนแล้วสอนอีกเหมือนอย่างบางองค์เป็นไปได้ไงนึกสงสัยไหมคะ เราน่าจะเป็นได้บ้างนะฟังแค่นี้เราน่าจะเป็นได้บ้างนะ ทำไมเราไม่เป็นบ้าง ลองนึกดูสิ เป็นอย่างไรบ้าง เราลองมาพิจารณาในส่วนของท่าน ไม่เคยได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้ามาก่อนเลย เพิ่งมาได้ฟังตอนท้ายนี่แหละ ลองนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่เราพูดกันมาอย่างท่านพาหิยนี่ มีมานะถือตัวไหมไม่มีมานะถือเขาถือเรา ในอุปกิเลส 16 ไม่มีเพราะว่าพอมีผู้บอกเท่านั้นแหละว่ายังนะยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์นะแล้วก็มีพระอรหันต์เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในโลกนี้คือท่านพระสมณโคดมอยู่ที่เมืองสาวัตถีนั้นก็ไปทันทีเลยไม่ได้มีมานะถือตัวว่าเรานี่เป็นพระอรหันต์เหมือนกันเราจะไปเคารพนับถือเชื่อฟังคนอื่นได้ยังไง ซึ่งก็มีพวกบรรดาเจ้าลัทธิต่างๆ ในสมัยนั้นที่เป็นครูอาจารย์ในสมัยพุทธกาลนี่เหมือนอย่างผู้ที่เป็นอาจารย์ของท่านพระสารีบุตรตอนที่ชื่อว่าอุปติสสะนี่ก็ไปอยู่กับพวกปริพาชกที่มีอาจารย์ดูเหมือนจะชื่อสัญชัยพอท่านได้มาพบท่านพระอัสสชิแล้วก็เชื่อแน่แล้วว่าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นธรรมที่ตรงๆ ลัดพาไปสู่การบรรลุได้ก็ตั้งใจจะไปเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ก็มีความกตัญญูต่อครูอาจารย์คือท่านสัญชัย ก็กลับไปชวน ชวนว่าไปเถอะเพราะรู้ว่าธรรมที่ท่านสัญชัย สอนไม่พ้นทุกข์ท่านได้ลองปฏิบัติแล้วก็ไม่พ้นทุกข์ไม่ใช่ทางที่ถึงที่สุดจึงได้แสวงหาอาจารย์ใหม่ก็ไปชวนว่าไปด้วยเถอะ แต่ท่านสัญชัยก็ตอบว่าเธอไปเถอะเราไม่ไปหรอก ท่านอุปติสสะก็อ้อนวอนชักชวนให้เหตุผลเพราะถ้าไม่ไปก็แค่นี้แหละ นี่ก็บอกว่าไม่ไปหรอกเราเป็นครูอาจารย์เขาแล้วจะไปได้ยังไง มีมานะไหม มานะถือตัวไม่ไป แล้วก็มีทิฐิอยู่ด้วยแล้วทิฐิที่เรารู้อย่างนี้ เราเห็นอย่างนี้ต้องใช่เหมือนกัน ไม่ยอมไปแล้วก็ยังย้อนถามท่านพระสารีบุตรว่า ในโลกนี้มีคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก คนโง่มากท่านพระสารีบุตรก็ตอบก็มีคนโง่มากก็ยังอุตส่าห์ตอบอีกนะ อาจารย์สัญชัยถ้างั้นคนฉลาดไปหาพระสมณโคดม คนโง่มาหาเราพอใจที่จะเป็นอาจารย์ของคนโง่ๆ ก็ไม่เป็นไร เอาปริมาณเข้าว่าไว้ว่างั้นเถอะเพราะฉะนั้นก็ไม่ยอมไป แต่พาหิยนี่ไม่มีมานะถือตัวไม่มีเลยมุ่งแต่ธรรมอันบริสุทธิ์ที่จะทำให้ตนนี้หลุดพ้นก็คงรู้อยู่ในใจเหมือนกันแหละว่าเราคิดว่าเป็นพระอรหันต์แต่จริงๆ เราก็คงยังติดอะไรอยู่สักอย่างแล้วยังไม่หลุดถึงที่สุดเพราะฉะนั้นถึงได้รีบมาเพราะเป็นผู้ที่ไม่มีมานะถือตัวไม่มีทิฐิถือมั่นในความรู้ความคิดความสามารถของตัวเองและอีกอย่างหนึ่งจากคำที่กราบทูลพระพุทธเจ้าที่บอกว่าอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตของพระองค์ก็ดีหรือของข้าพระองค์ก็ดีรู้ได้ยากนักนี่หมายความว่าท่านพาหิยก็ได้ฝึกในเรื่องอะไรมาแล้ว เรื่องของอนิจจัง คือได้รู้เรื่องของอนิจจังมาแล้ว พอสมควรก็เพราะตามที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าเรื่องของอนิจจังนี่เป็นเรื่องที่พูดกันมากอยู่แล้วในสมัยพุทธกาลคือหมายความว่าในประเทศอินเดียในสมัยนั้น ก็พูดคุยกันถึงเรื่องของอนิจจังๆ ไม่เที่ยงนั่นก็ไม่เที่ยงนี่ก็ไม่เที่ยง แต่ก็อยู่แค่ไม่เที่ยงเพราะฉะนั้นท่านพาหิยนี่ ก็ต้องได้ศึกษาเรียนรู้และคงจะใคร่ครวญในเรื่องไม่เที่ยงอยู่ไม่น้อย แต่ไม่บรรลุเพราะอะไรคะ เพราะยังมีตัวผู้รู้ไง มีตัวคนรู้ว่าไม่เที่ยงยังมีตัวผู้รู้ ว่าไม่เที่ยงเพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีตัวคนรู้อยู่ก็วันหนึ่งก็อาจจะตกลงไปในความทุกข์ได้คือเมื่อเวลาใดที่เกิดหลงผิดขึ้นมาอวิชชาเกิดโผล่ขึ้นมามีสัญญาอะไรที่เกินความควบคุมขึ้นมาก็อาจจะไปตกในความทุกข์ได้ก็ยังมีตัวคนที่จะรับความทุกข์ 

    เพราะฉะนั้นเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเสาะแสวงหาธรรมในป่า 6 พรรษา 6 ปี นั้นพระองค์จึงได้มองเห็นแล้วว่าถ้ามีเพียงแค่อนิจจังยังไม่เสร็จสิ้นยังมีคนรู้อนิจจังหรือว่ารู้ทุกขังว่าตั้งอยู่ไม่ได้ก็ยังไม่หมดความทุกข์อย่างสิ้นเชิงเพราะยังมีตัวคนอยู่ ฉะนั้นพระองค์จึงได้ทรงคุ้ยเขี่ยเสาะแสวงหาไปจนกระทั่งทรงเห็นว่าถ้าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้วก็ต้องเข้าถึงซึ่งอนัตตา คือดูศึกษาในเรื่องของเบญจขันธ์จนเห็นว่าเบญจขันธ์นี้ก็สักว่าเบญจขันธ์เท่านั้น เกิดดับไม่มีอะไรมากกว่านั้น เมื่อเบญจขันธ์เกิดดับก็เป็นแต่เพียงกิริยาอะไรที่เกิดขึ้นกับชีวิตนี้ เป็นแต่เพียงกิริยาเท่านั้น กิริยาที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยการเกิดขึ้นมาก็เป็นกิริยาเกิดของการเกิด การแก่ก็เป็นกิริยาของการแก่ การตายก็เป็นกิริยาของการตายเช่นเดียวกับการกิน การอาบน้ำ การถ่าย การทำงาน การเล่น การพูด การนอนทุกๆ อย่างทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ในชีวิตเป็นเพียงกิริยาที่เกิดขึ้นเท่านั้น จึงสักว่าไม่ใช่ของจริงที่ให้มองเห็นว่าเป็นเพียงสักว่ารูป ก็สักว่าตา ก็สักว่าหู ก็สักว่าทุกอย่าง สักว่าทั้งนั้นไม่ใช่ของจริงเมื่อเห็นว่าเป็นสักว่าก็หมดไม่มีตัวคนเป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นนี่เป็นแต่เพียงกิริยาของการเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนี่แหละอิทัปปัจจยตาจึงเป็นเรื่องที่ชวนหรือบอกดึงคนให้เข้าอยู่ในทางสายกลางด้วยมัชฌิมาปฏิปทาเพราะไม่มีฝักไม่มีฝ่ายไม่มีเป็นเราเป็นเขานี่แหละจึงเป็นสิ่งสักว่าพระพุทธเจ้าจึงตรัสกับท่านพาหิยว่า ทุกอย่างให้เธอเห็นเพียงสักว่าเท่านั้นนะและที่ท่านพาหิยเห็นว่าสักว่านี่ก็แสดงว่าจิตของท่านในขณะที่ฟังท่านรู้เรื่องอนิจจังมานานแล้วเมื่ออนิจจังเกิดดับๆ อย่างนี้แล้วอะไรจะอยู่จริงนี่เพราะจิตที่แจ้งอยู่ในอนิจจัง เพราะฉะนั้นจึงถึงเร็วเข้าเร็วพอท่านได้ฟังเท่านั้นก็ประจักษ์เร็วกว่าก็เกิดดับๆ แล้วจะมีอะไรจริง นี่แหละแม้แต่เบญจขันธ์ตัวตนนี่จริงที่ไหนเพราะฉะนั้นเมื่อสักว่านี่ก็แสดงว่าท่านเห็นสักว่าไปจนถึงที่สุดอย่างที่ปัจจเวกนั้นสักว่าถึงที่สุดก็คืออะไรคือเห็นอนัตตานั้นถูกแล้วนี่กำลังพูดถึงปัจจเวกค่ะ  

    เราปัจจเวกเห็นนั้นคือ ความเป็นธาตุ ธาตุปัจจเวก สุญโญ ว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน สักแต่ว่าธาตุทั้งนั้นก็คาดว่าหรือเชื่อว่า จิตของท่านพาหิยนี่เข้าสัมผัสกับจุดนี้ว่าสักแต่ว่าธาตุเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องสักแต่ว่าธาตุทั้งนั้นไม่มีสิ่งจริง เมื่อเป็นกิริยาที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยไม่ใช่ของจริงมีแต่เกิดดับเมื่อเป็นกิริยาที่เกิดขึ้นของการเกิดดับตามเหตุตามปัจจัย จึงสักแต่ว่าธาตุเท่านั้นหนอๆ ท่านจึงเข้าถึงได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นการที่เสนอให้พิจารณาสำรวจตรวจสอบตัวเองด้วยวิธีของปัจจเวกอย่างที่เราพูดมาแล้วนั้นในเรื่่องของศีลก็ดีในเรื่องของกิเลสในเรื่องของนิวรณ์อุปกิเลสก็ดีหรือตรวจสอบไปจนถึงตัณหาที่เข้ามาเยี่ยมเรา ตัณหาในเรื่องอะไรอุปาทานในเรื่องอะไรปัจจเวกลงไปเถอะจะได้รู้ว่านี่หนักหน่วงแค่ไหนจะต้องขัดเกลามันแค่ไหนให้ยิ่งขึ้นๆ  

    เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดมีการสำรวมในอินทรีย์ หรือมีอินทรียสังวรศีลอยู่เสมอแล้วก็แน่นอนทีเดียว ผู้นั้นย่อมมีสมาธิที่เป็นยังไงย่อมมีสมาธิที่บริสุทธิ์ที่เป็นลักษณะอาการของสมาธิบริสุทธิ์คือผ่องแผ้ว จิตไม่มีอะไรเข้ามารบกวนนมีความตั้งมั่น แน่วแน่ สมาหิโตและจิตนั้น ก็พร้อมที่จะทำการงาน กัมมณีโยและการงานในทางธรรมของการบำเพ็ญพรหมจรรย์ก็คือ ใช้จิตที่เป็นสมาธิที่สะอาดแน่วแน่พิจารณาธรรมหรืออีกนัยหนึ่งก็คือธรรมวิปัสสนานั่นเอง  ปัญญาก็จะเกิดขึ้นทีละน้อยๆ ฉะนั้นการสำรวมอินทรีย์ในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจจึงมีคุณประโยชน์เบื้องต้นอย่างนี้แล้วก็ส่งเสริมขึ้นไปให้เป็นคุณประโยชน์ถึงที่สุดได้ด้วยก็คงจะต้องลองใคร่ครวญดูนะคะนำไปใคร่ครวญนำนึกคิดพิจารณาแทนที่จะปล่อยจิตให้แต่คิดอย่างอื่นนึกเรื่องอย่างนี้ที่เราพูดกันมีอะไรสงสัยไหมคะ ถ้ามีอะไรจะถามก็เชิญได้มีไหมคะ ที่พูดกันวันนี้ถ้าไม่มีก็หวังว่าจะลองไปคิดดูนะคะ พอไปใคร่ครวญนึกดูก็อาจจะมีคำถามผุดมาก็ได้ หรืออาจจะเข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นได้ทั้งสองอย่างถ้าไม่มีก็ขอจบเพียงเท่านี้นะคะ ธรรมสวัสดีค่ะ 

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service