แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ ทำไมใบไม้ใบนี้ถึงร่วงลงมานะครับ เป็นคำถามที่น่าคิดทีเดียว เราจะไปหาคำตอบเรื่องของกฎเหตุกฎผล กับท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง กันนะครับ โดยอาศัยศัพท์ ๒ ศัพท์ในพระพุทธศาสนา คือ กฎปฏิจจสมุปบาท กับกฎอิทัปปัจจยตา เรื่องของเหตุของผลในทางพระพุทธศาสนา เราอธิบายไว้ว่าอย่างไรกันนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อิทัปปัจจยตา กับปฏิจจสมุปบาท ก็คือกฎอันเดียวกัน เราอธิบายถึงสิ่งซึ่งอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น ก็หมายความว่าไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นลอยๆ จะต้องมีเหตุมีปัจจัย แต่อิทัปปัจจยตานั้นถือว่าเป็นกฎที่ยิ่งใหญ่ ครอบคลุมหมดทุกกฎทั่วทั้งจักรวาลนี้นะคะ เหมือนอย่างเช่น เรามาอยู่ตรงนี้นี่ ทำไมจึงมีตรงนี้ขึ้นมา ทำไมทรายจึงเป็นสีนี้ ทำไมจึงมีใบไม้ร่วงมากนัก ทำไมใบไม้บางใบถึงเขียวอ่อน เขียวแก่ หรือว่าเป็นสีน้ำตาลอะไรอย่างนี้ นี่เราจะศึกษาอิทัปปัจจยตา คือเหตุปัจจัยของการที่มีอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ ที่เราเห็นอยู่เดี๋ยวนี้นี่เป็นผล เราก็จะศึกษาย้อนกลับไป เพราะฉะนั้นอิทัปปัจจยตานี่ก็คือ กฎแห่งเหตุและผลที่จะพูดถึงปัจจัยที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอิทัปปัจจยตาของส่วนตัวบุคคล อิทัปปัจจยตาของส่วนตัวบุคคลก็อย่างเช่น ทำไมเราถึงมาที่นี่ ทำไมเราถึงมาทำงานอันนี้ งานอันนี้ก็เป็นผล มีเหตุปัจจัยอะไร นี่ศึกษาไปก็จะพบ แล้วก็อิทัปปัจจยตาของครอบครัว อิทัปปัจจยตาของที่ทำงาน หรือว่าของสังคม หรือของชาติ จนของโลก ของทั้งต้นหมากรากไม้ ก้อนหิน ดิน ฟ้า อากาศ น้ำทะเล ทุกอย่าง ตลอดจนคน สัตว์ ต้นไม้ เหล่านี้ อยู่ในเรื่องของอิทัปปัจจยตาทั้งสิ้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ
เพราะฉะนั้นเราจะสืบสาวขึ้นไปได้ไม่รู้นานเท่าไร เพียงแต่ว่าบางทีไม่จำเป็นจะต้องสืบสาวอย่างนั้น เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากว่าเราได้รู้อะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง เราก็เรียกว่า นี่เป็นกฎอิทัปปัจจยตาที่อธิบายตามคำ ความหมายของคำก็คือ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เมื่อมีเมฆ ก็ต้องมีฝน ถ้าไม่มีเมฆ ก็ไม่มีฝน อย่างนี้เป็นต้น ถ้าหากว่าดวงจันทร์ขึ้น ถ้ามีดวงจันทร์ในคืนนี้ ก็ต้องมีแสงสว่าง แสงนวลของดวงจันทร์ นี่ก็เป็นผล ถ้าไม่มีดวงจันทร์ในคืนนี้ แสงสว่างนวลของดวงจันทร์ก็ไม่มี นี่คือกฎอิทัปปัจจยตาง่ายๆ ซึ่งจะเกี่ยวกับทุกสิ่งในชีวิตของเรา เพราะฉะนั้นอะไรที่เกิดขึ้นกับชีวิตแล้วละก็ จงอย่าไปโทษ โทษคนโน้น โทษคนนี้ โทษพ่อแม่พี่น้อง หรือจนกระทั่งโทษดินฟ้าอากาศ อย่าไปโทษ ให้ศึกษากฎอิทัปปัจจยตา แล้วจะแก้ไขได้ ถ้ายิ่งโทษจะยิ่งถลำลึก คือถลำลึกลงไปในปัญหา แล้วจิตใจนี่ก็จะยิ่งมีความทุกข์ยิ่งขึ้น นั่นไม่ใช่วิธีของคนที่มีสติปัญญา ถ้ามีสติปัญญาควรจะศึกษาในเรื่องของกฎอิทัปปัจจยตา เพราะเป็นกฎที่อยู่ในชีวิตของเรา เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราทุกขณะจิตเลย
ผู้ดำเนินรายการ : เรียกว่าหาเหตุหาผลไปเรื่อย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ให้รู้ แต่ว่าหาด้วยสติและปัญญา แล้วก็ด้วยจิตใจที่ไม่เป็นอคติ นอกจากนี้เมื่อเราพูดถึงว่า อะไรอาศัยอะไรแล้วความทุกข์เกิด ซึ่งความทุกข์นี่เกิดที่ใจ ที่ความรู้สึกที่ค้างข้างใน เพราะฉะนั้นเมื่อใดที่เรามาพูดถึงเหตุปัจจัยของความทุกข์ ซึ่งเป็นเรื่องของความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ที่ภายใน เราก็จะเรียกชื่ออันนี้ว่า ปฏิจจสมุปบาท แต่ก็คงอยู่ในเรื่องของอิทัปปัจจยตานั่นเอง เพราะอย่างที่พูดแล้วว่า ความทุกข์ก็ไม่ได้อยู่ดีๆ มันเกิดขึ้น ความทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ มันเกิดขึ้นเพราะไม่ทันต่อผัสสะ ใช่ไหมคะ ผัสสะเกิดแล้ว เราไม่รู้จักผัสสะ แล้วเสร็จแล้วเราก็ควบคุมใจไม่ได้ ก็เลยพ่ายแพ้ต่อผัสสะ เพราะฉะนั้นมันก็มีเหตุที่ว่า จิตเกิดเวทนาขึ้น ก็เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย แล้วก็เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัยนี่ มันก็เป็นเหตุให้เกิดตัณหา ตัณหาก็เป็นผลของเวทนา เห็นไหมคะ นี่คือแสดงถึงเหตุปัจจัยที่ต่อเนื่องกัน ผัสสะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาก็เป็นผลของผัสสะ แล้วเวทนานี้ที่เป็นผล ก็กลายมาเป็นเหตุ เป็นเหตุที่ทำให้เกิดตัณหา ตัณหาก็เป็นผลของเวทนา และเสร็จแล้วตัณหาที่เป็นผลของเวทนาก็กลับมาเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นจะเอาให้ได้ตามตัณหา
แล้วก็อุปาทานซึ่งเป็นผลนี่ ก็กลายมาเป็นเหตุทำให้เกิดภพ คือความรู้สึกมี รู้สึกเป็น ตามอุปาทานที่ยึดมั่นว่า จะต้องมี จะต้องเป็นคนที่แต่งงานให้ได้ จะต้องมีคู่รักให้ได้ อย่างนี้เป็นต้น อมความมีความเป็นที่อยากเป็น อมความมีความเป็นคนสวย คนรวย คนเก่ง คนด้อย คนดังต่าง ๆ แล้วผลที่สุดก็หยุดไม่ได้ เพราะฉะนั้นภพนี่ก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดชาติ ชา-ติ คือความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน เป็นฉัน ถ้าใช้คำแรงก็คือ เป็นตัวกู ขึ้นมาทันที แล้วทุกข์ทั้งหลายก็เกิด จิตมันก็ปั่นป่วนหวั่นไหว ระส่ำระสาย นี่แสดงถึง อะไรอาศัยอะไรแล้วความทุกข์เกิด อะไรอาศัยอะไรแล้วความทุกข์ดับ ความทุกข์จะดับได้ก็เมื่อเราสามารถควบคุมผัสสะ และผัสสะก็ไม่มีอิทธิพลจะทำให้เกิดเวทนา ควบคุมด้วยอะไร ก็ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา แล้วความทุกข์ก็ดับ นี่เราพูดถึงปฏิจจสมุปบาทโดยย่อ แต่ถ้าว่าเป็นกฎก็กฎเดียวกัน คือ กฎอิทัปปัจจยตา แต่เมื่อกล่าวถึงความรู้สึกก็ใช้ว่า ปฏิจจสมุปบาท
ผู้ดำเนินรายการ : ธรรมะที่ใช้ในชีวิตที่จะอยู่ในสังคม ในชีวิตประจำวัน อย่างสงบ สบาย ไม่ขุ่นมัว มีอะไรบ้าง ทำอย่างไรบ้าง อันนี้เรียกว่าขอสูตรสำเร็จรูปกันเลยนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มีเยอะแยะ ถ้าอันแรกที่สุดนั่นก็คือ ควบคุมผัสสะให้ได้ เพราะว่าในสังคม ไม่ว่าจะสังคมทั่วไป หรือว่าสังคมการงาน หรือสังคมครอบครัว จะมีผัสสะรบกวนตลอดเวลา แล้วก็ผัสสะนั่นแหละคือทำให้เกิดเวทนาแล้วก็เป็นทุกข์ อย่างที่เราพูดกันแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าท่านที่ถามนี่ได้ติดตามรายการของเรามาโดยตลอดนะคะ แล้วก็เข้าใจในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท โดยเฉพาะที่จุดของผัสสะและเวทนา ว่าเราจะควบคุมอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไร ควบคุมอย่างไร นี่ก็คือไม่ทุกข์ ไม่ว่าจะไปเกี่ยวข้องกับใครที่ไหนทั้งนั้นก็จะไม่เป็นทุกข์ จะมีจิตใจเยือกเย็นผ่องใส ทีนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำยาก เราพูดประเดี๋ยวก็จบ แต่ทำตลอดชีวิตไม่รู้จะสำเร็จไหม หนักแต่ถ้าฝึกหัดจริงๆ ก็มีหวัง มีหวังที่จะสำเร็จ เช่น เราแพ้ผัสสะวันหนึ่งสิบครั้ง ค่อยๆ ฝึกไป เราก็อาจจะชนะสักวันละครั้งบ้าง สองครั้งบ้าง แล้วก็ต่อไปก็อาจจะชนะหรือแพ้สักครั้งหนึ่งอะไรอย่างนี้ ขอให้มีกำลังใจที่จะฝึกทำเรื่อยๆ นี่อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือ ฆราวาสธรรม ๔ นั่นที่เป็นธรรมะของผู้ครองเรือน ซึ่งอันที่จริงแล้วจะเป็นผู้ครองเรือนหรือจะเป็นผู้ทำงานก็มาใช้ได้ สัปปุริสธรรม ๗ อย่างที่เราพูดแล้วนะ
ทีนี้อย่างฆราวาสธรรม ๔ ก็คือเริ่มต้นด้วย สัจจะ คือความจริงใจ ถ้าสมมุติว่าผู้ถามนี่มีความรู้สึกจริงใจในเรื่องของความทุกข์ จริงใจในเรื่องของความทุกข์ก็หมายความว่า กลัวความทุกข์เหลือเกินแล้ว เข็ดหลาบความทุกข์ ไม่อยากจะพบอีกแล้ว เข็ดเขี้ยวกับมันแล้ว ไม่เอาอีกแล้ว ถ้าหากว่ารู้เรื่องของความทุกข์ แล้วก็มีความเข็ดหลาบกับความทุกข์จริงๆ ก็มีสัจจะเกี่ยวกับความทุกข์ คือปฏิญาณในใจทีเดียวว่า เราจะไม่ยอมให้ใจของเรานี่ตกอยู่เป็นทาสของความทุกข์อีกเลย ก็จะฝึกฝนอบรมที่ผัสสะ อย่างนั้นเป็นต้น พอผัสสะเกิดขึ้นจะคุมสติจิตใจไว้ให้มั่นคง พอเห็นรูป ได้ยินเสียง หรือว่าได้กลิ่น หรือว่าได้รส หรือว่าได้สัมผัส จะไม่ยอมให้เกิดผัสสะขึ้นที่ใจ หรือนั่งอยู่เฉยๆ ก็จะพยายามให้จิตอยู่กับลมหายใจ เพื่อที่ป้องกันไม่ให้ธรรมารมณ์ความคิดนึกรู้สึกต่างๆ เข้ามารบกวนใจ หมั่นทำอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ความทุกข์ก็เข้าไม่ได้ นี่เพราะมีสัจจะ สัจจะจริงใจที่จะต้องทำให้ได้
พอสัจจะเสร็จแล้วก็มี ทมะ คือจริงใจปฏิญาณกับตัวเองว่าต้องทำให้ได้ ก็มีทมะ ก็ข่มใจ ไม่ใช่ทำง่ายๆ บางทีก็ตั้งใจจะทำเอาจริงๆ ปฏิญาณก็แล้ว แต่เพราะกิเลสที่เราเคยไหลตามกิเลส จะดึงให้มาอยู่นิ่ง แล้วก็ให้บังคับควบคุมได้ทันทีมันไม่ได้ ก็ต้องข่มขี่บังคับ ขณะที่รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสมายั่วยวนใจ ก็ทำใจให้มั่นคง ควบคุมบังคับที่จะไม่ให้ไหลไปตามให้ได้ นี่เป็นเรื่องของทมะ ท ทหาร ม ม้า สระอะ นะคะ
เสร็จแล้วก็ขันติ ข้อที่สาม ขันติก็คือความอดกลั้น แล้วก็อดทน อดกลั้นนี่เขาเรียกอดกลั้นต่ออารมณ์ที่จะมายั่วยุต่างๆ เหมือนอย่างเช่นบางคนก็รู้ว่ารสของเหล้านี่ มันไม่ดีนะ แต่เพื่อนก็มายั่วยุ นี่เหล้าใหม่นะนี่ คือหมายความว่ายี่ห้อใหม่ที่เราได้มา แต่เขาเก็บไว้นาน รสชาติดี ลองหน่อยสิ อะไรอย่างนี้ ก็ต้องมีขันติ พร้อมกับทมะ ข่มขี่ใจ ไม่ยอมที่จะไปดื่ม เพราะถ้าดื่มอีกเมื่อไหร่ ก็ขาดสติทุกที เพราะผลของเราเรารู้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นนี่ก็ขันติคืออดกลั้น แล้วก็อดทน อดทนในทางกายด้วย
ทีนี้ข้อสุดท้ายซึ่งสำคัญมากก็คือ จาคะ จาคะที่แปลว่าบริจาค โดยมากจาคะเรามักจะนึกถึงว่า บริจาคสิ่งที่เป็นวัตถุ ให้ทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของ นั่นก็ดีหรอก แต่จาคะที่สำคัญที่สุด ทำได้ยากที่สุด ถ้าทำได้แล้วความทุกข์จะลดลงตามลำดับ ก็คือจาคะกิเลส จาคะความโลภออกไปเสีย จาคะความโกรธออกไปเสีย จาคะความหลงออกไปเสีย ดูใจของเรา เราเป็นคนขี้โกรธหรือเปล่า โกรธทีไรก็ร้อนทุกที จาคะออกไป พอจะโกรธก็แก้ไขด้วยลมหายใจ เป็นต้น เอาลมหายใจไล่ความโกรธไปก่อน แล้วก็มองเห็นความเป็นอนิจจังของความโกรธ เพราะความโกรธนี่ก็ไม่เที่ยง โกรธมาตั้งหลายครั้งแล้ว มันก็ไม่ได้อยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เกิด-ดับ เกิด-ดับ เกิด-ดับ อยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น จาคะ หมั่นฝึกจาคะความโกรธออกไปเสีย ฝึกจาคะความโลภออกไปเสีย ลองว่าเราอยากได้นี่ ได้ของอันนี้มามาก เราชอบมากผลไม้ชนิดนี้ เชอรี่ออสเตรเลียอย่างนี้ เอาละ แบ่งให้เพื่อนเขากินบ้าง แบ่งให้คนอื่นเขากินบ้าง อย่างน้อยสักครึ่งหนึ่ง นี่เป็นวิธีฝึกเล็กๆ น้อยๆ คือจาคะ อยากได้อะไรลองแบ่งปัน ให้เกิดกับความรู้สึกที่จะเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ก็เป็นการฝึกจาคะความโลภ ทีนี้จาคะความหลงนี่ลำบาก เพราะไม่ค่อยจะมองเห็นว่าหลงนี่คืออย่างไร อย่างที่ว่าแล้ว ก็ต้องศึกษาเรื่องของนิวรณ์ ๓ ตัวหลัง ว่านี่แหละคืออาการของความหลง ประเดี๋ยวก็หดหู่เหี่ยวแห้ง อ่อนเปลี้ยเพลียใจ ประเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่านเพ้อเจ้อ ประเดี๋ยวก็ลังเลสงสัย เอาปัญญาเข้ามา ให้มองเห็นทันที แล้วก็จาคะทั้งกิเลสทั้งตัณหาทั้งอุปาทานออกไป ถ้าหมั่นจาคะอย่างนี้เรื่อยๆ ความทุกข์ก็มีแต่จะลดลงๆ จนหมดได้ในที่สุด และในขณะที่ทำจาคะอย่างนี้ เราก็จะค่อยๆ มีสติสมาธิปัญญาทันต่อผัสสะ มันจะติดต่อเนื่องกัน แล้วก็จะควบคุมผัสสะได้ด้วย
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ วันนี้ให้ ๒ สูตรนะครับ สำเร็จรูปไปปฏิบัติกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ขอให้ทำจริงๆ