แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ รายการธรรมะสนทนาในวันนี้นะคะ อยากจะสนทนาเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรารู้สึกอยู่ เราเป็นอยู่ทุกวัน แต่เราจะรู้สึกถึงอันนี้จริงๆ ด้วยกันหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะคะ ดิฉันอยากจะบอกว่าเรากระทำตัวเหมือนกับเป็นนักโทษประหารอยู่ทุกวัน แต่ที่จริงแล้วไม่มีใครเขาประหารหรอก ประหารตัวเอง ฉะนั้นก็อยากจะตั้งชื่อหัวข้อที่เราจะสนทนากันว่าอะไรที่ประหารใจอยู่ทุกวัน ก่อนที่เราจะพูดต่อไปก็อยากจะถาม คุณจเลิศ คุณเจี๊ยบ ว่าอะไรที่ประหารใจอยู่ทุกวัน หรือจะปฏิเสธว่า ฉันไม่มีอะไร ไม่เคยถูกประหารเลย
ผู้ร่วมสนทนา: ประหารใจ...เจี๊ยบก่อนดีกว่า
ผู้ร่วมสนทนา: คิดว่าเป็นความอยากนะคะ อยาก อยากมี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เข้าใจก่อนหรือเปล่าว่าที่ว่าจะประหารใจนี่ คืออะไร หมายความว่าอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: เข้าใจค่ะ ทำให้ เป็นอย่างๆ ที่พูดถึงนี่ พูดถึงความอยาก อยากได้บ้าน อยากได้รถ อยากแล้วพอมันไม่ได้ก็มานั่งทุกข์ใจ แล้วก็มานั่งเหมือนกับอิจฉาคนอื่นว่า ทำไมเขามี เราไม่มี เราก็จะมานั่งเป็นทุกข์ใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ที่ว่าใจที่ถูกประหารก็คือใจที่เป็นยังไง
ผู้ร่วมสนทนา: ที่เป็นทุกข์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือใจที่ต้องเป็นทุกข์ เร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความเยือกเย็นผ่องใสได้เลยสักทีหนึ่ง เพราะมันมีแต่ความร้อน แล้วร้อนเพราะอะไร ก็อย่างที่เจี๊ยบว่าร้อนเพราะความอยาก ความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด นั่นก็ใช่ คุณจเลิศเห็นยังไง
ผู้ร่วมสนทนา: อิจฉา ริษยานี่ก็เป็นสิ่งที่ประหารใจเหมือนกันนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แต่ถ้าเราจะดูว่าทำไมถึงต้องไปอิจฉาเขาล่ะ ทำไมถึงต้องริษยาเขาล่ะ
ผู้ร่วมสนทนา: อาจจะเป็นเพราะว่าคนเราอยากได้ดีกว่าคนอื่นเขา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็มาลงที่ความอยากอีกเหมือนกัน เพราะมันอยากได้ ใช่ไหมคะ พอมันไม่ได้อย่างที่อยากก็เกิดความอิจฉา ริษยา เกิดความโกรธแค้นขัดเคือง จนถึงกับพยาบาท อาฆาตกัน นั่นมันก็มาจากความอยาก คือโลภะ
พอโลภะไม่สมปรารถนาก็เกิดโทสะ แล้วก็วนเวียนครุ่นคิดอยู่นั่นเอง เมื่อไหร่นะถึงจะทำให้ได้ ถึงจะได้สมความปรารถนา นี่ก็คือโมหะ รวมความแล้วมันก็ทำให้ตกมัวเมาอยู่นี่เอง อยู่ในเรื่องของเจ้ากิเลส 3 ตัว แต่ก็เนื่องมาจากเจ้าตัวที่เรียกว่าความอยาก ทีนี้บางคนอาจจะบอกว่าไม่อยากหรอก แต่ว่าพอทำอะไรเสร็จล่ะก็ อยาก ต้องหวังใช่ไหมคะ ต้องหวังว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ทันทีขึ้นมา เพราะฉะนั้นถ้าจะว่าไปแล้ว บางคนก็ที่ถูกประหาร นอกจากประหารด้วยความอยาก ก็คือประหารด้วยความหวัง ความหวังนี่สำคัญเหลือเกิน แล้วเราก็จะรู้สึกว่า ถ้าไม่หวังแล้วจะมีชีวิตอยู่ทำไม ถ้าชีวิตนี้ปราศจากความหวัง
ผู้ร่วมสนทนา: หลายคนบอกผมอย่างนี้ครับอาจารย์ ว่าเราควรจะหวัง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ แต่ก็ลองย้อนถามตัวเองว่าหวังแล้วทุกข์หรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา: ทุกข์ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าหวังแล้วทุกข์ ยังอยากจะหวังอยู่ไหม
ผู้ร่วมสนทนา: ก็บางคนเขาคิดว่าถ้าเราหวังอยากได้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้เราเกิดกำลังใจในการที่จะทำ อย่างสมมติอยากมีรถคันหนึ่งอย่างนี้ใช่ไหมคะ พอเราตั้งความหวังไว้ เราก็เกิดความรู้สึกว่าเราจะมีกำลังใจที่จะเก็บหอมรอมริบ เพื่อที่จะเอาเงินส่วนนี้ไปซื้อรถ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ดี อันนั้นก็ดีนะคะ ถ้าหากว่าในขณะที่กำลังเก็บหอมรอมริบอยู่นั้นน่ะนะคะ ใจเราก็สบายไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรเลยนะคะ แล้วพอเห็นใครเขาขับรถใหม่ สวยๆ เราก็ยังเฉยๆ เพราะเรารู้ว่ามันยังไม่ถึงเวลาของเรา
ถ้าเราทำอย่างนั้นได้ก็เรียกว่าความหวังเป็นกำลังใจ แต่ถ้าสมมติว่าเราตั้งความหวังไว้ว่าฉันจะต้องมีรถให้ได้ แล้วก็รายได้มันก็ไม่ค่อยจะพอกับรายจ่าย แล้วพอขึ้นรถเมล์ทีไรก็เป็นทุกข์ทุกที อย่างนี้ความหวังประหารแล้ว ประหารใจเราแล้ว ใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้นถ้าจะหวังโดยไม่ทุกข์ก็หวังเถอะ แต่ว่าคนโดยมาก หวังแล้วมันทุกข์ทุกที เพราะหวังแล้วมันอดไม่ได้ที่อยากจะให้ได้ ฉะนั้นความหวังที่เกิดขึ้น มันก็มาจากความอยากอีกเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าจะว่ากันไปว่า นี่เราพูดมาถึงอริยสัจโดยไม่รู้ตัวเลยนะนี่ เพราะเหตุว่าเรากำลังพูดถึงว่าสิ่งที่ประหารใจก็คือทำให้เกิดทุกข์ ใช่ไหมคะ ทีนี้ทุกข์คืออะไร ตอนนี้เห็นจากคำอธิบายตัวอย่างที่พูดมานี่ ก็เห็นจะยอมรับร่วมกันแล้วว่าความทุกข์นี่คือความไม่สบายใจ อึดอัดขัดใจ แม้แต่เล็กๆ น้อยๆ ความหงุดหงิดอะไรก็ตาม เรารวมเรียกอยู่ในคำว่าความทุกข์ ใช่ไหมคะ ไม่ได้หมายถึงแต่ว่าจะต้องเป็นสิ่งใหญ่ๆ มโหฬาร อย่างชนิดที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายถึงจะเป็นความทุกข์ แต่ความอึดอัดขัดใจ ความไม่พอใจ ไม่ชอบใจที่เราประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หรือทุกเวลานาทีในชีวิต นี่แหละมันเป็นความทุกข์ แล้วก็ความทุกข์ที่เราพบอยู่ทุกวันๆ แล้วเราก็สะสมมันเอาไว้ทีละเล็กทีละน้อย ใหม่ๆ มันก็ไม่เป็นไร อย่างนั้นเอง แต่พอสะสมมากเข้า ๆ ๆ ตอนนี้มันชักจะเป็นไรขึ้นมาแล้ว ที่เป็นไรก็เพราะเหตุปัจจัยมันชักจะไม่ค่อยสบาย มันชักจะเพิ่มความหงุดหงิด มันชักจะเพิ่มความไม่ถูกใจมากขึ้นๆ ตอนนี้ที่เรียกว่าเรากำลังสะสมโรคทางใจให้เกิดขึ้นในใจแล้ว เพราะฉะนั้นมันก็เริ่มเป็นความทุกข์แล้ว แล้วก็ดีไหม เราก็ตอบได้ว่ามันไม่ดี ทำไมถึงไม่ดี เพราะว่าใจที่มันเต็มไปด้วยความทุกข์ มันอ่อนเปลี้ย มันไม่มีแรง และที่เรากำลังพยายามสะสมอยู่ทุกวันนี้ เราอยากจะสร้างพลังใจให้ใจนี้มีพลัง มันจะได้ผลักดันให้เราทำอะไรๆ ได้อย่างที่เราต้องการ
ทีนี้ต้นเหตุของความทุกข์นี่คืออะไร ทุกข์คือข้อแรกในอริยสัจ 4 ใช่ไหมคะ เป็นสัจจะ เป็นความจริงข้อที่ 1 ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงบอก แล้วข้อที่ 2 นั่นก็คือให้ดูว่าความทุกข์นี้มาจากไหน เราไม่ได้ตั้งใจจะพูดเรื่องอริยสัจ 4 นะ แต่เผอิญมาเข้าแนวของอริยสัจ 4 โดยไม่รู้ตัว ก็บอกได้ว่าความหวัง ความอยาก ความอยากนั่นก็มาจากเหตุต่างๆ นั่นแหละ มันก็เป็นเรื่องของตัณหา เรื่องของความอยากที่ทำให้เกิดความทุกข์ นี่ก็เป็นสมุทัยของข้อที่ 2 ทีนี้ถ้าจะพูดว่าอะไรที่มาประหารใจ เพราะความอยาก คือตัณหานั่นเอง ที่มันมาประหารใจ ก็อยากจะให้ช่วยลองเล่าให้ฟังสิว่า ได้พบ ได้มีความรู้สึกที่มันเกิดจากความอยาก แล้วก็ประหารใจ ที่เห็นชัดๆ พอจะนึกตัวอย่างให้ฟังได้บ้างไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: หลงรักคนอื่นครับ อาจารย์ครับ หลงรักคนอื่นแล้วเขาไม่รักเรา คงจะเป็นประหารใจอย่างมากเลยครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าหากว่าหลงรักเขานะคะ แล้วก็ไม่มีตัณหาว่าเขาต้องให้รักเราด้วย ก็ไม่ทุกข์นะ
ผู้ร่วมสนทนา: ทีนี้ต้องให้เขารักเราด้วย เงื่อนไข
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ อันนี้แหละ เขาก็บอกว่าเรื่องของความรักนี้เป็นอะไรล่ะ เป็นรากฐานหรือว่าเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อย่างหนึ่ง เรื่องของความรัก แต่ถ้ารักเฉยๆ ไม่เป็นไร ทีนี้รักแล้วมันต้องการให้เขารักตอบด้วย
พอเขาไม่รักตอบก็เป็นความทุกข์ หรือเขารักตอบแต่ความรักนัั้นอาจจะไม่มากเท่ากับที่เราต้องการ ปริมาณของความรักหรือคุณภาพของความรักไม่เท่ากับที่เราต้องการ เป็นทุกข์อีกแล้ว ทั้ง ๆ ที่เขาก็รักตอบ เห็นไหม ความโลภ ความอยากของคนไม่มีที่สิ้นสุดเลย นี่เลยเป็นต้นเหตุของความทุกข์
ฉะนั้นถ้าหากว่าเราจะใช้เวลาของเรานี่นะคะ มาใคร่ครวญในเรื่องนี้ว่า ความทุกข์นี้มันเกิดจากอะไรนะ เราจะยิ่งเห็นชัดเข้า ชัดเข้า ไม่ว่าจะทุกข์เพราะอะไร พอหิวก็เป็นทุกข์ มาจากอะไรอีกแล้ว
ผู้ร่วมสนทนา: อยาก อยากกิน ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อยากกิน พอง่วงก็เป็นทุกข์ มาจาก
ผู้ร่วมสนทนา: อยากนอน ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อยากนอน พอปวดท้องก็เป็นทุกข์
ผู้ร่วมสนทนา: จะเข้าห้องน้ำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: จะเข้าห้องน้ำอยากถ่าย เห็นไหมคะ พูดถึงสิ่งเบ็ดเตล็ดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต ดูไม่สลักสำคัญแต่มันก็มาจากความอยาก แล้วมันก็ทำให้เป็นทุกข์ได้แหละ จนกว่าเราจะปลดปล่อยสิ่งนั้น ได้นอนอิ่มหายหิวนอนไป เข้าห้องน้ำเสร็จเรียบร้อยสบายใจไป ได้กินอาหารอิ่มท้องค่อยปลอดโปร่งหน่อย เพราะฉะนั้นนี่ มันก็เป็นสิ่งที่เป็นความทุกข์ที่ทำให้เราเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน อยากจะได้เงินเดือนขึ้น สิ้นปีนี้แล้วเราควรจะได้เงินเดือนขึ้น เงินเดือนมันไม่ขึ้นตามที่เราต้องการ ก็ได้ขึ้นหรอกขั้น1 แต่ขั้น 1 นี้มันน้อยไป เราควรจะได้ 2 ขั้นใช่ไหม เราควรจะได้ 2 ขั้น พอไม่ได้ 2 ขั้นตามความหวังอันเกิดจากความอยาก ความอยาก เป็นทุกข์อีกแล้ว
ผู้ร่วมสนทนา: โกรธคนรอบข้าง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: โกรธเขา โกรธคนรอบข้าง พาลอิจฉาริษยา อาฆาตพยาบาท นินทาว่าร้าย ศีลทั้งหลายไม่เหลือสักข้อหนึ่ง หมดเลย หมดไปเลย นี่มาจากความอยากทั้งนั้นเลย เรานัดเขาไว้แล้วนี่ว่าเวลานี้จะต้องพบกัน เวลา 4 โมงเย็น คอยๆๆ ก็ไม่มา ที่จริงเขากำลังเดินทางมา แต่ว่าใจเราก็เป็นทุกข์แล้ว เพราะเราอยากให้เขามาเร็วๆ มากกว่านี้อีก มันก็ไม่ทัน ไม่ทันใจ นาฬิกานี่ทำไมมันช้าจริง ธรรมดานาฬิกามันก็เดิน เดินตามกำหนดของมันอยู่นะ เราก็รู้สึกว่า มันเดินช้าจริง เพราะใจเรามันวิ่งเร็วกว่า ทำไมมันถึงวิ่งเร็วกว่า ก็เพราะความอยากอีกเหมือนกัน พ่อแม่มีลูก เมื่อไหร่จะโตให้ใช้ได้สักที จะไปให้โตเกินเร็วกว่าธรรมชาติได้อย่างไร ใช่ไหมคะ เกิดมาแค่ไหนมันก็ต้องเป็นไปตามวัย ตามกฎของธรรมชาติ ก็ไม่ทันใจ นี่ก็เพราะอะไร เพราะความอยาก
ฉะนั้นถ้าหากว่าเราจะใคร่ครวญอย่างนี้นะคะ ตั้งแต่เช้าไปทีเดียว พอจิตเกิดความรู้สึกอึดอัดขึ้นมาเมื่อไหร่ ย้อนถามลงไปทันที เพราะอะไรนะ ถ้าหงุดหงิด ใครหงุดหงิด ฉันหงุดหงิด ทำไมถึงหงุดหงิด ก็เพราะฉันอยาก อยากอย่างใดอย่างหนึ่ง อยากได้ อยากเอา อยากมี อยากเป็น อยากอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ทำไมฉันถึงตื่นเต้น เพราะว่า อยากจะให้เสด็จเร็วๆ ไม่เคยได้เคยเฝ้าเลย อยากจะให้เสด็จเร็วๆ ซึ่งก็เป็นมงคล การที่จะได้เฝ้ารับเสด็จ ซึ่งก็เป็นมงคล ก็ทำไมถึงจะต้องอยาก ให้ใจเต้นแรง ทำให้โลหิตสูบฉีดเกินกำลังไปเปล่าๆ ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมถึงจะต้องหวัง ก็ทำไมถึงไม่คอยให้เรียบร้อยตามหน้าที่ของผู้ที่จะเฝ้ารับเสด็จ นี่คือเห็นไหมคะ เรื่องของความอยากนี่ มันเข้ามารบกวน ทำให้จิตใจของเรา ผิดจากความเป็นปกติอยู่เสมอ ทำให้จิตที่ขณะนั้นอาจจะเกิดความหลงขาดสติ แล้วก็เลยไม่สามารถจะทำหน้าที่ หน้าที่ตามความหมายของธรรมะนี่ได้อย่างถูกต้องได้ มันก็เลยเกิดเป็นทุกข์ขึ้น ถ้าหากว่าเราหมั่นสำรวจใจอยู่อย่างนี้ให้ทุกขณะเลย ไม่ว่าพอจิตกระดิกเมื่อไหร่นะคะ พอใจกระดิกสักนิดเดียว ดูทันทีให้เห็นว่า อะไรคือต้นเหตุ อะไรนะคือต้นเหตุ จะพบเรื่อยว่า นี่คือความอยาก ความอยาก ความอยาก ทีนี้พอดูแค่นี้แล้ว อาจจะยังไม่พอ ก็ต้องดูต่อไปอีกว่า ทำไมถึงอยากถ้าจะดูให้ถึงที่สิ้นสุด ดูว่าเจ้าตัวที่มาประหารใจ สิ่งที่มันมาประหารใจคืออะไร ดูไปให้ถึงที่สุด จะตอบว่าอย่างไร ทำไมถึงอยาก
ผู้ร่วมสนทนา: ก็เห็นคนอื่นเขามี ก็อยากมี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใครอยากมี
ผู้ร่วมสนทนา: เรา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ฉันอยากมีใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ตัวฉัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ฉันอยากมี ฉันอยากมีเหมือนที่คนอื่นเขามี ฉันอยากได้เหมือนที่กับเขาได้ หรือมากกว่าที่คนอื่นเขาได้ อยากมีมากกว่าที่คนอื่นเขามี อยากเป็นเหมือนที่คนอื่นเขาเป็น หรือใหญ่กว่าที่เขาเป็นอย่างนี้ ดีกว่าที่เขา
เป็นอีก ฉันอยาก ทำไมล่ะ ถึงต้องเป็นฉันด้วย แล้วทำไมฉันอยาก มันจึงต้องทำให้ใจนี่มันเดือดร้อนด้วย เพราะอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: ตัวอุปาทานหรือเปล่าคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพราะมัน ใจของฉัน มันเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นใจของฉัน เพราะว่ามันเป็นตัวของฉัน ใช่ไหมคะ นี่แหละถ้าจะมองเห็นก็ความหวัง ความอยาก หวังอยากเฉยๆ ไม่เป็นไร ทีนี้มันหวังอยากด้วยอุปาทาน
อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งมันตรงกันข้ามกับสมาทาน สมาทานมันเป็นสิ่งที่ดี เพราะเหตุว่าการที่เราจะสมาทานในสิ่งใด เช่น สมาทานศีลนะคะ เราจะสมาทานด้วยปัญญา เราเห็นแล้วว่าเป็นสิ่งที่เหมาะที่ควร ที่สมควรปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเป็นปกติของกาย ของวาจา ก็กระทำไปด้วยสมาทาน แต่อุปาทาน มันตรงกันข้าม เพราะมันทำด้วยความมัวเมา จะเรียกว่างมงายก็ได้ มันจึงยึดมั่นถือมั่นเอาสิ่งนี้มาเป็นอัตตา มาเป็นตัวฉัน มาเป็นของฉัน แล้วเสร็จแล้วก็ ใจนี้มันก็เป็นใจของฉัน เพราะฉะนั้นจึงจะต้องพยายามหาเอามาให้ได้ เพื่อปรนเปรอให้มันได้สมความปรารถนา แล้วก็เป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นก็บอกได้ว่าอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นนี่แหละ คือตัวต้นเหตุของความทุกข์ที่มันประหารใจอยู่ตลอดเวลา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในตัวไหน ก็คือในตัวอัตตา
ผู้ร่วมสนทนา: ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว เราใช้ชีวิตอยู่ทำไมครับ อาจารย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่น เราจะมีชีวิตอยู่ทำไม ก็เป็นคำถามที่ดี เพราะว่าตัวเราก็นั่งอยู่อย่างนี้ใช่ไหมคะ ก็นั่งอยู่ทนโท่ นั่งอยู่ทนโท่อย่างนี้ แล้วจะมาบอกว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ให้มายึดมั่นถือมั่นทำไม ก็เป็นคำถามที่
น่าคิดแล้วก็เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงถามเหมือนๆ กันนะคะ แต่ก็จะขอย้อนถามกลับไปว่า ก็ตัวเราก็มีอยู่แล้วอยู่ทนโท่ ทำไมต้องยึดด้วยล่ะ ก็มันมีอยู่แล้วก็ ทำไมจะต้องยึดด้วยล่ะ เห็นอยู่แล้วต้องยึดมันอีกทำไม แล้วยึดแล้วเกิดประโยชน์อะไร ได้ประโยชน์อะไรจากการยึดบ้าง
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่รู้สิครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ยึดแล้วหนักหรือเบา
ผู้ร่วมสนทนา: หนัก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ยึดแล้วเป็นทุกข์หรือเป็นสุข
ผู้ร่วมสนทนา: ทุกข์มากกว่าสุข
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ทุกข์มากกว่าสุข ทำไมถึงว่าทุกข์มากกว่าสุข สุขอยู่ที่ไหน
ผู้ร่วมสนทนา: ใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทุกข์อยู่ที่ไหน
ผู้ร่วมสนทนา: ใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้ว ใครบอกว่าอย่างนี้คือสุข ใครบอกว่าอย่างนี้คือทุกข์
ผู้ร่วมสนทนา: ใจเรา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ตัวเราเอง รู้ด้วยตัวเอง เราบอกไปตามสมมติ ตามที่เขาสมมติว่าลักษณะอาการที่เกิดขึ้นในจิตอย่างนี้ เรียกว่าความทุกข์ ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นในจิตอย่างนี้เรียกว่าความสุข แท้ที่จริงแล้วน่ะ สุขน่ะ ที่ว่าสุข สุขเพราะอะไร ลองย้อนดูไปอีกสิคะ สุขเพราะอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: สบายใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำไมถึงสบายใจ
ผู้ร่วมสนทนา: เพราะเราสมหวังในสิ่งที่เราอยากได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพราะสมหวังในสิ่งที่อยากได้ คือได้สมใจนึกน่ะ สมหวัง สมปรารถนาเข้าก็เป็นสุข แล้วเสร็จแล้วความสุขนี้อยู่ยั่งยืนไหม ไม่ยั่งยืน เดี๋ยวก็ปลาสนาการไปอีก เพราะอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: เกิดความอยากได้อย่างใหม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เกิดความอยากซ้อนเข้าไปอีก เพราะใจนั้นมันคงยึดมั่นอยู่ด้วยอุปาทาน มันยังอยู่ด้วยความงมงายอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นที่เรียก เรียกว่าสุขน่ะ คือสุขเพราะได้อย่างใจ มันจะเป็นสุขที่แท้จริงได้อย่างไร จริงไหมคะ เพราะใจนี้มันเป็นใจที่ยังไม่ได้พัฒนา มันยังเป็นใจที่มัวเมาอยู่ด้วยอุปาทาน ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอวิชชา ของกิเลสตัณหาอย่างเต็มที่เลย แล้วมันจะเป็นความสุขที่แท้จริงได้อย่างไร เพราะมันเป็นความสุขที่เกิดจากความร้อน ร้อนเพราะว่ามันได้สมความอยาก สมความปรารถนา เพราะฉะนั้นที่เรียกว่าสุข ที่เรียกว่าทุกข์ แท้ที่จริงแล้วมันเป็นไปตามสมมติ ความสุขที่แท้จริงนั้นมันหาได้เกิดขึ้นไม่ มันเป็นไปแต่เพียงสมมติ มันเป็นแต่เพียงความทุกข์ที่มันละเอียดเข้ามาหน่อย พอความทุกข์ละเอียดเข้ามาหน่อยเท่านั้นเอง เราก็คิดว่ามันเป็นความสุข แท้ที่จริงมันหาใช่ไม่ มันไม่ใช่เลยสักนิดเดียว มันไม่ใช่เลยสักนิดเดียว แต่อุปาทานทำให้คิดว่ามันเป็นไปอย่างนั้น ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นอันนี้เราจึงควรนึกว่า จริงน่ะมองเห็นว่าเป็นตัว แต่ถ้าเรายึดมั่นแล้ว สบายใจไหม มันนำความไม่สบายมาให้มากกว่า มันเป็นทุกข์หรือเป็นสุข มันนำความทุกข์มาให้มากกว่า แล้วคนฉลาดควรจะยึดมั่นถือมั่นในมันหรือไม่ล่ะ
ผู้ร่วมสนทนา: ควรจะวางเฉย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ควรจะวางเฉย วางเฉยนี่วางอย่างไร
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่ต้องไปสนใจมัน อย่าไปยึดมั่นถือมั่น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อย่าลืมสิคะ เราจะต้องย้อนกลับไปที่ไหน จะบอกไม่ยึดมั่นถือมั่น วางเฉย เดี๋ยวบางท่านอาจจะว่า อย่างนี้มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้นต้องพูดให้ชัดเจน
ผู้ร่วมสนทนา: พอใจในสิ่งที่เรามีอยู่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือพยายามกระทำหน้าที่อย่างถูกต้องให้ดีที่สุดอยู่เสมอ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องยึดมั่นถือมั่น ที่ถ้าเรายึดมั่นถือมั่น เอาตัวเข้ามาทำงานเมื่อไร เราเป็นทุกข์ทุกที ใช่ไหม เพราะพอเอาตัวเข้ามา เอาตัวเข้ามาทำงาน เอาตัวเข้ามากิน เอาตัวเข้ามาเที่ยว เอาตัวเข้ามานอน ความอยากมันต้องตามเข้ามาเสมอ เพราะว่ามันจะให้ได้อย่างที่ตัวต้องการ แต่ถ้าหากว่าทำตามหน้าที่อย่างที่ถูกต้อง ตัวมันไม่ต้องเข้ามา มันลืมตัวเสีย ลืมตัวในภาษาธรรม คือลืมเสียว่าตัวนี้เป็นอัตตาของฉัน เราลืมตัวเสีย ไม่ใช่ลืมตัวภาษาโลก ถ้าลืมตัวภาษาโลกมันก็ยะโสโอหัง ใช้ไม่ได้ใช่ไหมคะ แต่ลืมตัวในภาษาธรรมเท่านั้นน่ะ มันจะมีแต่ความสุข ความหวังไม่เกิด ความอยากไม่เกิด อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นไม่มี แต่ว่ามันจะมีแต่การกระทำตามหน้าที่อันถูกต้องที่จะเกิดประโยชน์ แล้วก็กระทำอย่างเต็มที่เต็มฝีมือความสามารถ ฉะนั้นอะไรที่ประหารใจอยู่ทุกวันก็คือ ความหวัง ความอยาก และอุปาทานที่ยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวฉันนี่เอง เป็นรากเหง้าที่สำคัญที่ทำให้เราเป็นเสมือนนักโทษประหารของตัวเองอยู่ตลอด และเราก็จะสามารถสิ้นสุดคำพิพากษานั้นได้ ถ้าเราสามารถจะฝึกจิตของเรานั้น ให้พ้นจากการเกาะกุมของความหวัง ความอยาก แล้วก็ให้ผ่อนคลายจากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาทีละน้อยละน้อยจนถึงที่สุดได้ สำหรับวันนี้ก็เห็นจะหมดเวลาเสียแล้วนะคะ ขอให้ธรรมะสวัสดีจงมีแก่ผู้ฟังทุกท่านนะคะ ธรรมสวัสดีค่ะ