แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมสวัสดีค่ะ
เมื่อคราวที่แล้วเราก็พูดกันถึงเรื่องของชีวิตนะคะ แล้วก็ได้พูดว่าชีวิตคือสิ่งที่ต้องพัฒนา แล้วก็พัฒนาได้ ช่วงของชีวิตที่เราถือว่าสำคัญที่สุดก็คือ ช่วงชีวิตแห่งการศึกษา เพราะว่าจะเป็นช่วงที่เป็นรากฐาน ทำให้ช่วงชีวิตอื่นๆ ต่อไปเป็นชีวิตที่ได้รับผลสำเร็จของแต่ละช่วงตอนของชีวิต ทีนี้วันนี้ก็อยากจะพูดถึงช่วงชีวิตของการศึกษาว่ามีความสำคัญอย่างไร เราจึงถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตนะคะ
ก่อนอื่นก็คงจะต้องพูดถึงความหมายของการศึกษา คือคำว่า..ศึกษา..ซ้ำกันอีกสักทีหนึ่ง ในคำว่าศึกษานี้ ถ้าโดยความหมายที่แท้จริงแล้วมากกว่าการที่เราศึกษา อย่างที่เราศึกษาในโรงเรียนหรือในสถาบันการศึกษาทุกวันนี้ เราศึกษาจากข้างนอกใช่ไหมคะ เราฟังจากครูอาจารย์ที่สอน หรือมิฉะนั้นก็อ่านจากหนังสือตำรา หรือมิฉะนั้นก็ศึกษาจากสิ่งแวดล้อมที่เราพบ ทีนี้สิ่งที่เราศึกษาจากข้างนอกอย่างนั้นนี่ ก็เป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันนี่ก็ชวนให้ผู้ศึกษานี่เกิดความรู้สึกวิเคราะห์วิจารณ์ไปในเชิงที่จะเข้ากับทัศนะ หรือว่าทิฏฐิความเห็นของตนเอง หรือประสบการณ์ของตนเองเป็นใหญ่ ฉะนั้นเมื่อการศึกษาแบบนั้นก็มีลักษณะที่ทำให้เกิดความไม่อยู่ตรงกลาง ความไม่อยู่ตรงกลางก็หมายความว่า จะเอียงไปข้างประสบการณ์ที่ตนเคยพบมานะคะ ทีนี้ถ้าเราพูดถึงคำว่า..ศึกษา..ที่มาจากความหมายของคำว่า..สิกขา..ในภาษาบาลีนี่ ท่านบอกว่าแทนที่จะเป็นการศึกษาข้างนอก เราศึกษาจากคนอื่น ศึกษาจากครูบาอาจารย์ รู้จากเพื่อนฝูง รู้จากคำสั่งสอนของคุณพ่อคุณแม่ เป็นหันมาศึกษาที่ตัวเอง..ที่ตัวของเราเอง โดยมากเราไม่ค่อยสนใจที่จะศึกษาที่ตัวเอง ท่านก็แนะนำว่าการศึกษาที่ถูกต้องจริงๆ แล้วนี่ ต้องศึกษาที่ตัวเอง และก็ศึกษาด้วยวิธีดูเข้าไปในตัวเอง ทีนี้พอดูในตัวเองนี่ ดูอะไรนะ ดูยังไง พอดูเข้าก็มองเห็นมือไม้แข้งขา หรือว่าส่องกระจกไปเห็นเนื้อตัวของเรานะ
เราจะดูยังไงที่ว่าดูเข้าไปในตัวเอง จะดูจาก..ตัวตน ร่างกายที่เรามองเห็นอยู่ก็ได้ แต่ว่าอย่าไปมองดูแต่เพียงว่า สะสวยงดงามไหม ถูกใจไหม วันนี้หน้าตาแจ่มใสไหม หรือว่าทำไมถึงซีดเซียว เราไม่ดูอย่างนั้นนะคะ แต่เราดูไปให้เห็นภายในตัวเองนี่ ก็คือแม้แต่ว่าสภาวะของร่างกายของเรา มีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างหรือเปล่า มีความคงที่อยู่บ้างไหม นี่หมายความว่าดูลงไปในตัว ดูเพื่อให้เห็นสภาวะของความเป็นจริงตามธรรมชาติ ที่มักจะเปลี่ยนไปอย่างนั้นเปลี่ยนไปอย่างนี้ ไม่เคยอยู่คงที่เลย ถ้าอย่างนี้แล้วก็เรียกว่า ดูเข้าไปในตัวเอง ดูเข้าไปในตัวของเรานี่ และก็ดูจนกระทั่งเห็นตัวเอง เห็นในความเป็นจริงของตัวของเราเองนี้ ว่าไม่ได้เหมือนอย่างที่เราคิดเลย ทำไมจะต้องเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป ถ้าหากว่าเราดูจนเห็นอย่างนี้ และก็ดูด้วยตัวของเราเอง คือจะไปวานคนอื่นดูก็ไม่ได้ ต้องดูด้วยตัวของเราเอง เราถึงจะเห็นจริง ก็คงจะสังเกตได้ว่า ที่พูดว่าดูอย่างนี้ ใช้ลูกในตาเนื้อนี้ดูใช่ไหม ใช่ไหม ใช้ลูกในตาเนื้อเป็นสื่อ สื่อเพื่อที่จะเข้าไปดูให้เห็นข้างใน แต่ทว่าจากการที่จะไปดูให้เห็นข้างในนี่ ตาเนื้อดูเข้าไปถึงไหม ไม่ถึงแล้ว ตอนนี้เราต้องใช้ความรู้สึก ความรู้สึกนั้นสัมผัสเข้าไป สัมผัสในสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องดูจริงๆ นี่ก็คือต้องดูเข้าไปถึงข้างใน ข้างในก็คือความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป อารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามา ที่ไม่เคยอยู่ที่เลย เพราะฉะนั้นอันนี้หมายถึงว่า คำว่าศึกษานี่จะต้องดูนะ ศึกษาด้วยการดู ดูที่ตัวเอง และก็ดูเข้าไปข้างในตัวเอง จนกระทั่งเห็นตัวเอง
เห็นตัวเองก็คือเห็นสภาวะความเป็นไปของตัวเราเอง อย่างเรานึกว่าเราเป็นคนใจดี แต่พอดูไปดูไป บางทีมันไม่ดีเสมอไป มันมีอะไรไม่ดีซ่อนอยู่ตั้งเยอะแยะ ถ้าเราไม่ดูเราก็ไม่เห็นใช่ไหม เรานึกว่าเราเป็นคนดี เราเป็นคนใจดี เราเป็นคนเอื้อเฝื้อเผื่อแผ่ แต่ก็มีบางครั้งเราไม่ได้เอื้อเฝื้อเผื่อแผ่ บางครั้งเราใจดำ บางครั้งเราเห็นแก่ตัว ถ้าเราดูอย่างซื่อตรง เราก็จะค่อยๆ มองเห็นสิ่งเหล่านี้ ทีนี้ดูทำไม ก็ดูเพื่อไม่ให้เกิดความประมาท ไม่ให้เกิดความประมาทในชีวิต และเมื่อไม่ประมาทในชีวิตก็จะไม่ประมาทในการกระทำนะคะ ทีนี้เราดูเข้าไปนี่..ดูทำไม ดูเพื่ออะไร มีจุดประสงค์ในการดูเพื่ออะไร ก็ต้องบอกว่า ดูเพื่อให้รู้ว่าชีวิตนี้คืออะไร แล้วก็ชีวิตนี้เกิดมาทำไม ที่เราดูนี่เราดูเพื่ออันนี้ มีจุดมุ่งหมายในการดูว่า ดูให้รู้ว่าชีวิตคืออะไร และก็ชีวิตนี้เกิดมาทำไม เคยถามไหมว่าเกิดมาทำไม อยู่มาจนถึงเดี๋ยวนี้นะคะ บางทีโดยเฉพาะเมื่อเวลาเรารู้สึกไม่ถูกใจชีวิต เราก็จะถามนี่เกิดมาทำไมนะ ไม่รู้ว่าจะเกิดมาทำไมให้เสียเวลา เกิดมาแล้วก็มาพบปัญหา เกิดมาพบความทุกข์ นี่เรามักจะถาม เพราะฉะนั้นจากการศึกษาด้วยวิธีดูข้างในอย่างนี้ เราจะค่อยๆ ได้คำตอบ ว่าชีวิตคืออะไร และชีวิตนี้เกิดมาทำไม มีลมหายใจอยู่ทุกวันนี้เกิดมาทำไม เพื่ออะไร เวลาที่จะดูเข้าไปถึงข้างในที่ว่านี้..เวลาที่จะดูคือควรจะเป็นตอนเช้า ตอนกลางคืน หรือว่าตอนกลางวัน อ้อ..ตลอดเวลา ไม่ต้องเลือกเวลาดู ตลอดเวลาเลย อย่างคุยกับอาจารย์นี่ก็ต้องดูไปเรื่อยๆ ควรจะดู ควรจะรู้สึก รู้สึกยังไง รู้สึกว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในเป็นยังไง ปกติดีไหม ปกติคือราบเรียบ ไม่ขึ้นๆ ลงๆ ไม่กระทบกระเทือนวอกแวก หรือว่าประเดี๋ยวก็โยนขึ้นประเดี๋ยวก็โยนลงซัดส่ายไปมา นี่ก็ต้องมีอะไรเป็นสาเหตุ เพราะฉะนั้นให้ดู ดูความรู้สึกอย่างนี้ และยิ่งเวลาที่มีปัญหามีความทุกข์ยิ่งควรดูมากที่สุดเลย เพราะตอนนั้นน่ะในใจของเรานี่จะมีการชักเย่อ ชักเย่อกันด้วยความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ เอา ไม่เอา ถูกใจ ไม่ถูกใจ มากมายเลย จะได้รู้จักลักษณะของใจให้มากยิ่งขึ้นนะคะ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ต้องดู ดูให้รู้ว่าชีวิตคืออะไร
ทีนี้คำตอบของชีวิตคืออะไรในตอนนี้นะคะ ก็อยากจะตอบในทางธรรมะโดยตรงว่าชีวิตคืออะไร ก็จะได้คำตอบว่า ชีวิตคือขันธ์ ๕ นี่คือคำตอบอย่างถูกต้องที่สุด ชีวิตคือขันธ์ ๕ ขันธ์ในที่นี้ต้องมี ธ-ธง-การันต์ นะคะ ถ้าไม่มี ธ-ธง-การันต์ ก็เป็นขันตักน้ำ นี่มี ธ-ธง-การันต์ ขันธ์อันนี้แปลว่า กองหรือส่วนหรือกลุ่ม ชีวิตคือขันธ์ ๕ นี่เป็นคำตอบอย่างถูกต้องที่สุด แต่คำตอบที่ถูกต้องนี่น้อยคนนักจะเข้าใจ แล้วก็น้อยคนนักจะยอมรับได้ ว่าชีวิตคือขันธ์ ๕ หรือพูดง่ายๆ ก็คือว่าชีวิตนี่ประกอบด้วย ๕ กอง หรือ ๕ ส่วน กองแรกก็คือกองรูป ที่ท่านเรียกว่ารูปขันธ์นี่ก็กองอยู่ กองรูป รูปขันธ์ กองที่ ๒ เวทนาขันธ์ ก็เป็นกองของความรู้สึก กองที่ ๓ สัญญาขันธ์ สัญญาขันธ์ก็หมายถึงกองของความจำได้หมายมั่น และกองที่ ๔ สังขารขันธ์ ก็คือกองของความนึกคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น กองที่ ๕ วิญญาณขันธ์ ก็คือกองของความรู้จัก หรือกองของการตามรู้ ของความตามรู้ ตามรับรู้ นั่นเป็นวิญญาณขันธ์ ท่านบอกว่าชีวิตนี้คือขันธ์ ๕ ไม่มีอะไรมากกว่านี้เลย กองๆๆ อยู่อย่างนี้ พอบอกกองรูปคือรูปขันธ์..พอเข้าใจไหมคะ รูปร่างหน้าตาของเรานี่ รูปขันธ์เรามองเห็นกันหมดทุกคน ตั้งแต่เส้นผมจรดเล็บเท้านี่เป็นรูปขันธ์ เรามองเห็นได้ด้วยตา แล้วก็จับต้องได้ รู้สึกได้ นี่เป็นรูปขันธ์ เราพอเข้าใจกันทุกคน ทีนี้ชีวิตนี่ไม่ได้มีแต่รูปใช่ไหม ชีวิตประกอบไปด้วยกายก็คือรูป และก็จิตก็คือใจ ทีนี้เรื่องรูปขันธ์นี่เราพอเข้าใจ แต่พอบอกว่าชีวิตประกอบด้วยกายใจ พอบอกว่าใจนี่ ไม่มีใครสามารถจะมองเห็นใจได้ เพราะว่าคำว่าใจในที่นี้กับหัวใจเหมือนกันไหมคะ คนละเรื่องกัน ไม่เหมือนกัน
หัวใจนั้นเป็นส่วนหนึ่งของรูปขันธ์ คือเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย มีหน้าที่สูบฉีดโลหิต และก็มีลักษะเหมือนอะไรนะ ดอกบัวใช่ไหม นั่นละที่เขาว่าขนาดกำมือ นั่นน่ะเป็นอวัยวะคือเป็นส่วนหนึ่งของรูปขันธ์ ไม่ได้หมายถึงใจ แล้วมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตเท่านั้นเอง แต่ใจนี่เรามองไม่เห็น ไม่มีรูปร่างให้เรามองเห็น ให้เราจับต้องได้ ไม่มีสีไม่มีกลิ่น แต่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตมาก หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือว่าใจนี้แหละควบคุมชีวิตอยู่ ชีวิตจะดีก็อยู่ที่ใจ ก็หมายความว่าใจนั้นได้รับการพัฒนาแล้ว เป็นใจที่มีสติมีปัญญา มีความรู้จักควบคุม แต่ถ้าหากว่าชีวิตนั้นขาดใจที่พร้อมไปด้วยสติปัญญา ชีวิตนั้นก็จะหลงทาง ใจนี้จะต่างจากวิญญาณในความเห็นของชาวบ้านทั่วไปหรือไม่ ไม่ละค่ะ ถ้าหากว่าชาวบ้านเขาเข้าใจในเรื่องวิญญาณนะคะ ตามความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไปก็มักจะหมายถึง วิญญาณที่ออกจากร่าง หรือบางทีก็ไปนึกถึงวิญญาณที่เกี่ยวกับภูตผีปีศาจ..ไม่ใช่ คนละอัน ใจนี่คือสิ่งหนึ่ง แต่ก็อธิบายไม่ได้เพราะไม่สามารถจะมองเห็นได้ ก็ถึงได้บอกว่าเขาแบ่งเป็น ๕ กองใช่ไหมค่ะ กองแรกนี่คืออธิบายถึงกายละใช่ไหม..รูปขันธ์คือร่างกาย แต่ในส่วนใจนี่ไม่สามารถอธิบายได้ เขาถึงแยกออกไปอีก ๔ กอง ได้แก่ เวทนาขันธ์..กองความรู้สึก สัญญาขันธ์..กองความจำได้หมายมั่น จำได้หมายมั่นก็หมายความว่าจากที่ได้ยินได้ฟังได้อ่านได้เรียนรู้มาแล้วก็จำๆ หรือประสบการณ์ผ่านมาก็จำๆ เก็บเอาไว้ และเราก็หมายมั่น เช่น พอเราเห็นนี่เราก็ตอบได้ นี่คือกระดาษ..กระดาษโน๊ต เพราะว่าเราได้เคยเรียนรู้มา หรือได้เคยฟังเขาบอกมา อย่างนี้คือกระดาษ กระดาษสำหรับโน๊ต อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็เป็นสัญญาที่เก็บเอาไว้นะคะ ทีนี้กองสังขารขันธ์นั่นก็คือกองของความนึกคิด นึกคิดได้สารพัด เดี๋ยวคิดดี เดี๋ยวคิดชั่ว เดี๋ยวคิดฟุ้งซ่าน เดี๋ยวคิดเป็นเหตุเป็นผล และกองสุดท้ายก็วิญญาณขันธ์ คือกองของการตามรับรู้ หรือว่ากองของการตามรู้จัก รู้จักว่าเวทนาขันธ์เป็นอย่างนี้ รู้จักว่าสัญญาขันธ์เป็นอย่างนี้ รู้จักว่าสังขารขันธ์เป็นอย่างนี้ คือรู้จักว่าความรู้สึกเป็นอย่างนี้ ความจำได้เป็นอย่างนี้ ความนึกคิดเป็นอย่างนี้ วิญญาณขันธ์นี่ทำหน้าที่รู้ รู้จัก
เพราะฉะนั้นขันธ์อีก ๔ กอง ที่แบ่งออกเป็น ๔ กองนี่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ คือการอธิบายให้ทราบว่าสิ่งที่เรียกว่าใจคืออย่างไร ก็คืออธิบายว่าใจนี่สามารถจะทำอะไรได้บ้าง ใจที่เรามองไม่เห็นนี่สามารถทำอะไรได้บ้าง เวทนาขันธ์ก็คือทำอะไรได้..รู้สึกนึกคิด รู้สึกได้ เวทนาคือรู้สึก รู้สึกได้ใช่ไหมคะ ใจนี้รู้สึกได้ไหม รู้สึกดีชั่ว รู้สึกชอบ ไม่ชอบ รู้สึกสบาย ไม่สบาย รู้สึกเกลียด รู้สึกรัก นี่คือเวทนา รู้สึก แล้วก็สังเกตนะคะ เขาอ่านว่า เว-ทะ-นา ไม่ใช่ เวด-ทะ-นา นะคะ ถ้าเวทนาคำไทยนั้นแปลว่าอะไร สงสาร ฉันเวทนาแกจริง ฉันสงสารแกจริง แต่นี่เวทนาแปลว่ารู้สึกนะ เพราะฉะนั้นหน้าที่อันที่ ๑ นี่ก็หมายความว่าใจนี่รู้สึกได้ มันรู้สึกได้ พออันที่ ๒ ใจนี่ทำหน้าที่อะไร จำ สัญญา จำได้ มีความจำได้ อันที่ ๓ สังขาร คิดได้ นึกได้ อันที่ ๔ วิญญาณ รู้จักได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะเอาอย่างคำง่ายที่สุดก็คือว่า ใจนี่รู้สึกก็ได้ จำก็ได้ คิดนึกก็ได้ รู้จักก็ได้ นี่คือสิ่งที่เป็นคุณสมบัติของใจ ใจทำหน้าที่ได้อย่างนี้ เรามองไม่เห็นหรอก แต่สิ่งเหล่านี้เรารู้สึกได้ไหม รู้สึกได้ใช่ไหมคะ มันเกิดขึ้นกับเราจริงๆ ใช่ไหมคะ ลองนึกดูดีๆ จะแยกจากกัน เช่น เรากินข้าวนี่นะคะ นี่แล้วเพิ่งกินกลางวันมานี่ พอเรากินข้าวเสร็จ ในขณะที่เรากินเราเคี้ยวนี่ เรามีเวทนาคือยังไง รู้สึกอร่อยไม่อร่อย ตอนนั้นเรารู้สึกแค่อร่อยหรือไม่อร่อยเท่านั้นเองแหละ แต่เสร็จแล้วพอเรากินไป แหม! อร่อย โอโห..เมื่อวันก่อนนี่เรากินลาบจานนี้ แต่อร่อยแซบยิ่งกว่าคราวนี้อีก นี่ตอนนี้นี่ไม่ใช่เวทนาแล้ว เป็นอะไรแล้ว เป็นขันธ์ไหนแล้ว จำได้ สัญญาขันธ์..จำได้ ทีนี้นอกจากจำได้แล้ว ยังมีอะไรอีก ยังมีการบอกว่าวันก่อนนี้นี่แซบยิ่งกว่านี้อีก อร่อยยิ่งกว่านี้อีก มีการคิด..คิดเปรียบเทียบ จะมองเห็นได้ว่ามันทีละตอนๆ คือทีละขั้นๆ ไม่ได้ทำงานพร้อมกัน สังเกตไหมคะ ไม่ได้ทำงานพร้อมกัน เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ๔ ขันธ์ที่เป็นอาการหรือลักษณะหรือคุณสมบัติของใจนี่ ไม่ได้ทำหน้าที่พร้อมกัน เว้นแต่วิญญาณขันธ์คือการตามรู้นี่อาจจะไปทำร่วมกับเวทนา พอเกิดความรู้สึกเข้า แหม! อร่อย วิญญานขันธ์ก็รับรู้ว่านี่อร่อย หรือว่าสัญญาขันธ์จำได้ว่าอันนั้นนี่ที่เขาว่าสวย มันต้องเป็นอย่างนั้นๆ วิญญาณขันธ์ก็ไปตามรับรู้ว่า อ้อ..ต้องเป็นอย่างนั้น ความนึกคิดก็เหมือนกัน วิญญาณขันธ์จะไปตามรับรู้ด้วย
แต่ส่วนขันธ์อื่นๆ นี่ทำหน้าที่เฉพาะคราว วิญญาณขันธ์ไปตามรับรู้ วิญญาณขันธ์หมายความว่าไปตามรู้ หรือจะบอกว่ารู้จัก..รู้จักว่าเวทนานี้คืออะไร มีอาการเป็นอย่างไร รู้จักว่าสัญญานี้เป็นอย่างไร รู้จักว่าสังขารนี้เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นทั้ง ๔ ขันธ์นี่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี่ เป็นอาการของใจ หรือเป็นลักษณะเป็นคุณสมบัติของใจ เพราะใจทำหน้าที่ได้อย่างนี้ ถ้าจะถามว่าใจคืออะไร ไม่รู้ว่าจะตอบว่ายังไง เราก็อาจจะตอบว่า ใจคือสิ่งที่รู้สึกได้ รู้จำได้ รู้คิดนึกได้ รู้จักได้ ง่ายไหม จำอย่างนี้ง่ายไหมคะ ง่ายกว่า รู้สึกได้นะ รู้จำได้ รู้คิดนึกได้ และก็รู้จักได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าใจ ไม่มีรูป มองไม่เห็น แต่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ ทำหน้าที่เหล่านี้ได้ นี้คือสิ่งว่าใจ ก็บอกว่าชีวิตคือขันธ์ ๕ ก็ประกอบไปด้วยกองแต่ละกองๆ นี้ก็เป็นส่วนประกอบของชีวิต แต่พอมารวมกันเข้านี่ พอรวมกันเข้าเป็นชีวิต ทำให้คนเข้าใจว่าเป็นอะไร เป็นตัวเป็นตน เป็นตัวฉันขึ้นมา แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นส่วนๆๆ อย่างนี้ ถ้าหากจะเปรียบให้เห็นชัด ก็อาจจะบอกว่าขันธ์ ๕ ห้ากองนี่ ก็จะเป็นส่วนประกอบของชีวิต ซึ่งอาจจะเปรียบได้เหมือนกับรถยนต์ รถยนต์เวลานี้เรามองดูมันรวมกันอยู่ มีส่วนประกอบต่างๆ นี่ มันรวมกันอยู่ใช่ไหมคะ มันก็มีรูปร่าง แล้วก็สมมติเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นรถยนต์ แต่ถ้าเราถอดรถยนต์นี้ออก ถอดล้อ ถอดบังโกลน ถอดพวงมาลัย ถอดที่นั่ง และก็ถอดโครงของรถนี้ออกทั้งหมด มีไหม..มีตัวรถยนต์ไหม ก็ไม่มี ไม่มี เป็นส่วนๆ อ้าว..ไหนล้อไปไหน ล้ออยู่ไหน ล้อรถยนต์อยู่ไหน เอาพวงมาลัยมา อ้าวที่นั่งเบาะไปอยู่ที่ไหน เห็นไหมบังโกลนเป็นยังไง โครงประตูเป็นยังไง เราก็จะเรียกเป็นส่วนๆ ไป นี่ก็เหมือนกัน แต่พอมารวมกันเข้าเท่านั้นละ แล้วก็มาทึกทักเอาว่านี่เป็นรถยนต์ นี่เป็นบ้าน นั่นมันเป็นตึก นี่เป็นอะไรต่ออะไรต่างๆ แต่นั่นไม่มีชีวิต รถยนต์ไม่มีชีวิต แต่ว่าเป็นคำอุปมาที่เปรียบให้เห็นว่าสิ่งที่เป็นอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นอย่างหนึ่งแท้ที่จริงแล้วมันล้วนแล้วประกอบกันเป็นส่วนๆ เช่นเดียวกับชีวิตเหมือนกัน มันก็ไม่แตกต่างอะไรกัน
เพราะชีวิตก็ประกอบไปด้วย ๕ กอง..๕ กอง ๕ ส่วนเหมือนกันใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าเราแยก ๕ กอง ๕ ส่วนนี้ออกนี่ มันกองๆๆ อยู่อย่างนี้ พอมันแยกออกไปแล้วไหนละชีวิต ก็ไม่รู้ใช่ไหม ก็อย่างเราเห็นอุบัติเหตุใช่ไหม อุบัติเหตุที่รถชนนี่จากรูปหนังสือพิมพ์ก็มี หรือบางทีเครื่องบินตก ตกลงมา มองเห็นไหมรูปขันธ์อยู่ที่ไหน เวทนาอยู่ที่ไหน สัญญาอยู่ที่ไหน มองเห็นไหม ไม่เห็น มันแยกออกไปหมด มันสลายออกไปหมดเลย เพราะมันแตกออกไปเป็นส่วนๆ มันแตกกระจายออกไปเป็นส่วนๆ แต่ความไม่ฉลาดของคน มายึดว่านี่เป็นฉัน เป็นอัตตา เป็นตัวตน แล้วก็เป็นฉัน แล้วก็เอาจริงเอาจัง โดยมองไม่เห็นว่า มันเกิดออกมาเป็นสิ่งนี้ได้นี่ ก็ตามเหตุตามปัจจัย ถ้าหากว่ามันยังอยู่กันพร้อม มันก็เป็นสิ่งที่ดูเหมือนกับว่าเป็นชีวิต แต่อันที่จริงแล้วนี่มันเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้นเอง มันหาใช่เป็นตัวเป็นตนให้เรายึดมั่นถือมั่น แล้วก็เอามาแบกมาหาม มาเป็นภาระหนัก ว่าเป็นฉันๆ ไปที่ไหนก็แบกตัวฉันนี่ไปทะเลาะกับเขา ไปต่อสู้กับเขา ไปเอาอย่างโน้นเอาอย่างนี้ เพื่อให้ฉันได้อย่างนั้นอย่างนี้ โดยหารู้ไม่ว่าชีวิตคือขันธ์ ๕ ทั้งนั้น เปรียบเหมือนเกวียน เปรียบเหมือนรถ เปรียบเหมือนบ้าน เปรียบเหมือนอะไรที่แยกออกไปเป็นส่วนๆ ก็จะมองเห็น ถ้าเรามองไม่เห็นเราก็นึกถึงภาพคนตาย นึกถึงภาพคนตาย ตายเมื่อไหร่เราก็จะรู้ว่านี่มันแตกกระจาย มันไม่ได้มีอยู่เลย เพราะฉะนั้น จึงบอกว่าถ้าต้องการจะพัฒนาชีวิตนะคะ แล้วก็ต้องการจะให้มีการศึกษาที่ถูกต้อง ด้วยการสามารถที่จะดูเข้าไปข้างใน จนกระทั่งเห็นอย่างที่ว่านี้แล้วละก็ จะต้องศึกษาให้เห็นสิ่งแรกว่า ชีวิตนี้คือขันธ์ ๕
ถ้าหากใครสามารถเห็นว่าชีวิตคือขันธ์ ๕ จิตใจจะแจ่มใส แจ่มใสมีความสว่างกระจ่างขึ้นมาเลย ตอนนี้ยังไม่ชัดก็พยายามค่อยๆ เห็นทีละน้อยๆ ถ้าเราพยายามค่อยๆ เห็นทีละน้อยๆ เราจะชัดยิ่งขึ้นๆ พอชัดยิ่งขึ้นจะมีประโยชน์อะไร..นึกออกไหมคะ จะมีประโยชน์อะไร ก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วเราก็จะค่อยๆ เอาใจนี่ออกจากความยึดในอัตตา แล้วก็จะค่อยๆ เห็นอะไร ความไม่มีตัวไม่มีตน หรือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ที่ท่านเรียกว่าอนัตตา เราจะเห็นได้ชัด เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จึงบอกว่าถ้าต้องการจะฝึกใจให้มีการศึกษาที่ถูกต้อง ให้ออกจากความยึดมั่นถือมั่นได้นะคะ ต้องพยายามที่จะศึกษาโดยรู้จักเรื่องของอริยมรรคมีองค์แปด ที่จะเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ แต่ข้อสำคัญก็ขอบอกไว้นิดนึงนะคะ ตัวตนร่างกายที่มีอยู่แล้วนี้ พอรู้ว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนไม่ต้องเอาไปขวางทิ้งที่ไหนนะ หรือไม่ต้องคิดทำลาย รักษาเขาถามน้อไว้ให้ถูกต้อง อยู่บำรุงรักษาให้แข็งแรง เพื่อจะได้ใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต เราต้องการจะใช้ทำอะไรแล้วใช้ให้เกิดประโยชน์ รักษาไว้ให้ถูกต้องทั้งกายและใจ และชีวิตนี้ก็จะเป็นชีวิตที่มีความเยือกเย็นผ่องใสและก็เป็นสุข สำหรับวันนี้ก็ต้องพอเพียงแค่ก่อนนะคะ.
ธรรมสวัสดีค่ะ