แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ คราวที่แล้วเราพูดกันถึงว่าชีวิตคือขันธ์ 5 ยังพอนึกออกไหมคะ ยังพอนึกออกว่าชีวิตคือขันธ์ 5 ชีวิตคือ 5 กอง แล้วก็เผอิญเขาจับมารวมกัน เราก็เลยมานึกว่าเป็นตัวเป็นตน แล้วก็เป็นของเรา แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลยสักนิดเดียวนะคะ ทีนี้ถ้าหากว่าเราถือว่าชีวิตเป็นขันธ์ 5 หรือชีวิตคือขันธ์ 5 แล้วความสำคัญของชีวิตนี่ ควรจะอยู่ที่ตรงไหน ลองนึกสิคะ ความสำคัญของชีวิตนี่จะอยู่ที่ตรงไหน อันนี้ก็หมายความว่าเราจะถือว่าชีวิตนั้นเป็นชีวิตที่ดีก็ตาม เป็นชีวิตที่ชั่ว หรือเป็นชีวิตที่ใช้ไม่ได้ก็ตาม อยู่ที่ตรงไหน หรือชีวิตนี้ เป็นชีวิตที่น่านับถือ น่าเอาเป็นแบบอย่าง หรือชีวิตอย่างนี้ไม่เข้าใกล้ ห่างไกลเอาไว้ เราวัดกันที่ตรงไหน
ผู้ร่วมสนทนา: ความดี ท่านอาจารย์หมายถึงว่าเมื่อเอามาพันกับขันธ์ 5 นี่หรือ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่มาพันกัน ขันธ์ 5 ก็เป็นเรื่องของมันจบไปแล้ว ทีนี้ถ้าหากว่าชีวิตคือขันธ์ 5 เป็นแต่เพียงกองๆ ที่เป็นส่วนประกอบอย่างนี้นะคะ แล้วทีนี้ความสำคัญของชีวิต จะอยู่ตรงไหน เพราะถ้าจะบอกว่าอยู่ที่ตรงความเป็นตัวตน ใช่ไหม
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่ใช่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คงไม่ใช่เสียแล้ว เพราะเป็นขันธ์ 5 ไปเสียแล้วใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นชีวิตนี้จะดีก็ตาม จะชั่วก็ตาม จะน่ายกย่องนับถือ หรือว่าน่ารังเกียจก็ตาม อยู่ที่ตรงไหน คะ
ผู้ร่วมสนทนา: อยู่ที่การกระทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: การกระทำ ถูกแล้ว อยู่ที่การกระทำใช่ไหมคะ อย่างเราเคารพนับถือผู้ใด ก็เพราะเขามีการกระทำที่น่าเคารพ เป็นการกระทำที่มีเมตตากรุณาเป็นประโยชน์ต่อคนผู้อื่น เราก็เคารพนับถือ แต่ถ้าหากว่าการกระทำของผู้ใดเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว กระทำเพื่อตัวเองคนเดียว คนอื่นก็รังเกียจ เพราะฉะนั้นอยู่ที่การกระทำ
ฉะนั้นการกระทำนี้ก็อาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 อย่าง เป็นการกระทำที่ถูกต้อง หรือการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ใช่ไหมคะ คนเราจะรักจะชอบกันก็เพราะการกระทำ จะเกลียดกัน ไม่พอใจกัน จนฆ่ากันก็เพราะการกระทำ แปลว่าคนเรามักจะเข้าใจผิด พอไม่ชอบกันเข้า เราคงจะอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ใช่ไหมคะ พอโกรธเกลียด จนกระทั่งถึงแค้นใจขัดใจมากเข้า ทำยังไง ฆ่ากันเลย ฆ่าเฉยๆ ไม่พอ ฆ่าเสร็จแล้วยังจับมาตัด มาหั่น ก่อนจะหมกก็มาตัด มาหั่นเสียเป็นชิ้นๆ เชียว แล้วก็เอาใส่กระเป๋าบ้าง เอาใส่กระสอบบ้าง เอาไปทิ้งบ้าง หายเจ็บใจไหม หายเจ็บใจไหมนึกดูสิ คนทำน่ะหายเจ็บใจไหม หั่นเสร็จแล้ว ทิ้งแล้ว กองนั้นก็ลุกขึ้นมาพูด มาด่าไม่ได้อีกไม่ได้แล้ว จะหายเจ็บใจไหม ยังไม่หายเจ็บใจใช่ไหมคะ พอนึกขึ้นมาทีไรก็ยังเจ็บใจ ทั้งที่ตัวคนทำน่ะกลายเป็นปุ๋ยไปไหนไปแล้วใช่ไหมคะ นี่ก็แสดงถึงว่าคนเรานั้นน่ะเข้าใจผิด ใช่ไหม เข้าใจผิดไปยึดเอาว่าดีชั่วอยู่ที่ตัว อยู่ที่ตัวคนนั้น เพราะฉะนั้นตัวนี้ รูปร่างหน้าตาอย่างนี้ ชื่อนี้นี่ โกรธนัก เจ็บใจนัก ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่มือ ไม่ใช่แขน ไม่ใช่หัว ไม่ใช่ขา ไม่ใช่เท้า ที่มาทำให้เจ็บใจ แต่เป็นการกระทำ เป็นการกระทำของคนคนนั้น เป็นการกระทำทางวาจาบ้าง คือพูดจาไม่น่าฟังบ้าง หรือพูดจาน่าฟังที่มีเหตุมีผล นั่นก็ชวนให้น่าเคารพนับถือ หรือด้วยทางการกระทำคือทางกายบ้าง คือทำการกระทำทางวาจาบ้าง การกระทำทางกายบ้าง แต่คนเหล่านี้เข้าใจผิด ไปยึดมั่นถือมั่นเอาที่ตัวตน คือลักษณะของตัวคนนั้นเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นก็เลยมุ่งยึดมั่นถือมั่นไปที่ตัว ตัวฉันด้วย แล้วก็ตัวคนอื่นด้วย แล้วก็ทำร้ายกันจนกระทั่งน่าใจหายทุกวันนี้ หรือบางทีก็พอเห็นรูปร่างหน้าตาสวยงาม ไปยกย่องยึดมั่นแล้ว ยึดมั่นว่าคนนี้หน้าตาสวยงาม ยังไงเขาก็ต้องเป็นคนดี ฉะนั้นก็เลยหลงลม ติดรูปงาม รูปงามของผู้หญิงบ้าง รูปงามของผู้ชายบ้าง ไปหลงลมเขา ตกเป็นเหยื่อของเขาสารพัด ล้วนแล้วแต่ยึดมั่นในความเป็นตัวตน แต่ไม่ไปดูที่การกระทำ ที่ทำให้คนเข้าใจผิดนะคะ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าคนเรา รู้ว่าชีวิตคือขันธ์ 5 แล้วจะไปยึดที่ตัวตนไหม
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: จะไม่ยึดที่ตัวตน นี่เพราะไม่รู้ใช่ไหมว่าชีวิตคือขันธ์ 5 นี่เพราะการศึกษาที่ผิด พอบอกเป็นการศึกษาที่ผิด ไม่เคยสอนเลย เรียนในโรงเรียนมาจนได้ปริญญา มีใครสอนไหมคะว่าชีวิตคือขันธ์ 5
ผู้ร่วมสนทนา: ตั้งแต่เกิดมาเพิ่งได้ยินท่านอาจารย์นี่แหละครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เห็นไหมคะ เราเรียนมาในโรงเรียนใช่ไหมคะ เราได้ปริญญา ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกด้วยซ้ำไป ยังไม่เคยได้ยินว่าชีวิตคือขันธ์ 5 แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ในความรู้ของตัวตนของตัวเอง ยึดมั่นในประสบการณ์ ในความฉลาด ความเก่ง ความวิเศษของตัวเองคนเดียวเท่านั้นเอง เสร็จแล้วก็พาตัวตนที่อวดดีอวดเก่งนี้ไปเที่ยวชนกับเขาสารพัดเลย ยับเยินกลับมาไม่รู้จักเท่าไร ก็ไม่รู้สำนึก ไปชนกับเขาต่อไปจนกระทั่งตายไปก็เยอะแยะแล้วก็ไม่รู้สำนึก เพราะการศึกษาที่ไม่ถูกต้อง ไม่เคยสอนที่จะให้เด็กๆ ได้รู้ว่าความจริงแล้วชีวิตนี้คืออะไร ชีวิตคือขันธ์ 5 มันเป็นส่วน เป็นกอง มาประกอบกันเข้าเป็นรูปเป็นร่างเพื่อใช้เท่านั้นเอง เพื่อใช้ ประกอบกันเป็นรูปเป็นร่าง เพื่อเป็นเครื่องมือให้ใช้ได้ ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต
ผู้ร่วมสนทนา: ฟังอย่างที่อาจารย์พูด มีความรู้สึกว่า เหมือนกับถ้าบอกว่าชีวิตคือขันธ์ 5 เหมือนพวกเราหลอกตัวเองว่า อันนี้คือใช่ละ มันคือส่วนๆ คือใจ อีกส่วนหนึ่งก็คิดไปว่า เหมือนกับเราหลอกตัวเราเองว่า นี่มันไม่ใช่ตัวตนนะ ทั้ง ๆ ที่ก็คือตัวตนน่ะ ตรงนี้ความรู้สึกนี้ จะสกัดได้อย่างไรที่จะมอง มองให้ทะลุไปเห็นเหมือนท่านอาจารย์ว่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็นึกดูซิว่า เรารู้สึกว่าเป็นตัวตนอย่างนี้นะคะ มากี่ปี
ผู้ร่วมสนทนา: ตั้งแต่เกิดมาเลยครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ตั้งแต่เกิดจนเท่าอายุเราล่ะ 20 30 40 60 ปี หรือ 80 ปี จน 90 ปี จะตายไปก็ยังรู้สึกอย่างนี้
ผู้ร่วมสนทนา: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วก็เพิ่งมาฟังเดี๋ยวนี้ ใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วจะให้เรารู้สึกได้อย่างไรว่า ชีวิตมันคือขันธ์ 5 เพราะฉะนั้นจะคิดว่ามันหลอกไปก่อน ผู้ร่วมสนทนา: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แต่ว่ามันไม่ใช่หลอก มันเป็นความจริง แต่พอเราฟังครั้งแรก เรามีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนี้ จนยากที่จะสลัดว่านี่ไม่ใช่ตัวตนของเรา เราเคยมีตัวตนนี้ มีชื่อนี้ มีตำแหน่งการงาน มีอะไรเป็นสัญลักษณ์ของตัวตนนี้มาตั้งแต่เกิดจนรู้ความเดี๋ยวนี้ แล้วจะให้สลัดมันไปเดี๋ยวนี้ ก็ทำไม่ได้ ก็ยาก นี่เป็นความจริง แต่ถ้าเรารู้ว่านี่ก็คือจริงเหมือนกัน ใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อย่างอธิบายให้ฟัง มันก็คือจริงเหมือนกันใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แต่เป็นจริงที่เรายากที่จะรับ เพราะ 1. มันใหม่ เพิ่งจะได้ยินเดี๋ยวนี้ ต้องขอเวลาใคร่ครวญคิดดูก่อนที่จะศึกษาใคร่ครวญดู นี่การใคร่ครวญเข้าไปข้างในถึงสิ่งที่เราพูดกันอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นสิกขาน่ะ ส.เสือ สระอิ ก.ไก่ ข.ไข่ สระอา สิกขา เป็นการศึกษาในลักษณะของสิกขาในภาษาบาลี ที่เป็นวิธีการศึกษาที่ถูกต้อง คือศึกษาด้วยการใคร่ครวญดูเข้าไปให้ลึกซึ้ง คำว่าดูในที่นี้อาศัยตาเนื้อไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง ต้องอาศัยความรู้สึก ดูด้วยความรู้สึก เอาความรู้สึกย้อนเข้าไป ย้อนเข้าไปดูความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้น จริงไหม ย้อนดูเข้าไป จนกระทั่งเห็นชัดเจนทีละน้อย ละน้อย ละน้อย แล้วก็ให้เวลาตัวเอง เพราะฉะนั้นมันใหม่อยู่ เราก็ต้องใช้เวลา บางทีอาจจะต้องใช้เวลาให้มากทีเดียว ให้นานทีเดียว จะนานเท่าไหร่ ก็สุดแต่ว่าเราจะสามารถใคร่ครวญได้ทุกเวลานาทีหรือเปล่า ถ้าเราใคร่ครวญได้ทุกเวลานาที ก็อาจจะไม่ต้องใช้เวลานานนัก แต่ถ้าหากว่าวันหนึ่งก็นึกสักครู่เดียว แล้วก็ลืมไปเสีย 7 วัน มานึกสักอีกครู่ ลืมไปอีกเดือน มานึกอีกครู่ อย่างนี้เห็นจะใช้ตลอดชีวิตกว่าจะรู้นะ ต้องใช้เวลาตลอดชีวิต ยิ่งใช้เวลานานเท่าใด เราก็ขาดทุนมากเท่านั้น เข้าใจไหมว่าขาดทุนเรื่องอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: เพราะเวลามันมีน้อย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันนั้นก็อย่างหนึ่งล่ะ เวลามีน้อย แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเราก็หลงมัวเมา ยึดมั่นถือมั่นตัวตนนี้ต่อไปอีก แล้วก็หัวหกก้นขวิด กระเสือกระสนอยู่กับมันตลอดไป เรียกว่าเกลือกกลิ้งกับความทุกข์ ขาดทุนไหม มีแต่ขาดทุนจริงๆ
ผู้ร่วมสนทนา: เพื่อไม่ให้เสียเวลามากนัก ถ้าเราจะเริ่มต้นโดยการสมมติก่อน ก่อนนอนซัก 5 นาที หรือ 10 นาทีใคร่ครวญ ทุกคนจะอ้างว่า ไม่มีเวลามากนักนะครับ ที่จะใคร่ครวญกับความไม่มีตัวไม่มีตนของตัวเอง ก็เริ่มด้วยก่อนนอนสวดมนต์เสร็จ ซัก 5 นาที 10 นาทีนี้ เวลาพอจะเร็วขึ้นไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็เร็วขึ้นทีเดียว ถ้าสามารถที่จะรู้สึกได้ทุกเวลา นั่นคือทุกวันนะคะ จะวันละ 5 นาที 10 นาทีทุกวันๆ แล้ว แล้วทีนี้มันจะเกิดสนุก มันจะเกิดสนุกที่จะศึกษา เป็นจริงหรือ แล้วก็จะเริ่มแยกแยะแล้ว ตอนนี้เป็นการวิเคราะห์ วิจารณ์ เริ่มแยกแยะออกมาดูซิว่า กองรูปนี่เป็นยังไง กองรูปนี่มันมีอะไรบ้าง แล้วเราก็สมมติเรียกตั้งแต่เส้นผมใช่ไหมคะ แล้วก็หัวหรือศีรษะ แล้วก็มีคิ้ว มีตา มีปาก มีจมูก มีแก้ม มีเนื้อ มีคอ มีอะไรต่ออะไรนี่ จนกระทั่งถึงข้างใน มีตับ มีปอด ไต ไส้พุง กระเพาะ อะไรต่างๆ เหล่านี้มากมายเลย เราวิเคราะห์ไป แล้วยิ่งจะเห็นว่าแม้แต่ในรูปขันธ์ก็แยกออกได้ ยังแยกออกได้เป็นส่วนๆ เลย ถ้าสมมติว่าตัดออกไปเสียเท่านั้นน่ะ ก็จะเห็นเลยว่าเป็นส่วนๆ ไม่ได้อยู่ด้วยกันเลย แขนไปทาง ขาไปทาง หัวไปทาง ตัวไปทาง บางทีกระเพาะลำไส้หลุดออกมาไหลออกมา เหมือนอย่างที่เครื่องบินตกอะไรอย่างนี้ ใช่ไหม ที่เขาลงไปงมลงไปในทะเลนั่นน่ะ แล้วนักประดาน้ำก็ลงไปงมศพ ศพที่ตกลงมาแล้วก็จมลงไปในทะเล พอได้อะไรได้ชิ้นไหนก็เอาใส่ถุงพลาสติก ได้ชิ้นไหนก็เอาใส่ถุงพลาสติก พอขึ้นฝั่งมาก็ไปหยิบมาวาง นี่ขา นั่นหัว นี่คอ นี่แขน นี่ตัว นั่นลำไส้เป็นกอง นี่กระเพาะของใคร ญาติพี่น้องก็มาคอยยืนดู นั่นน่ะ นั่นน่ะ แขนของพ่อฉัน จำได้มีนาฬิกา นาฬิกาอันนั้นยังอยู่ นี่ใช่
ล้วนแล้วจริงหรือเปล่า เป็นของจริงไหม ล้วนแล้วแต่สมมติกันทั้งนั้น ใช่ไหมคะ สมมติว่านี่คือแขน นั่นคือขา นี่คือตัว ถ้าหากว่าเราหมั่นดูอย่างนี้ แล้วเสร็จแล้วก็เอาเหตุการณ์ที่เราได้พบในหนังสือพิมพ์ หรือดูจากวิทยุโทรทัศน์ ฟังข่าวจากวิทยุ ดูจากโทรทัศน์ที่เราเห็น เรานำมาใคร่ครวญดู เราจะยิ่งเห็นที่ท่านบอกว่าชีวิตคือขันธ์ 5 จริงยิ่งขึ้นๆ ๆ เอารูปขันธ์นี่ก่อน มาแยกแยะให้ดี จะมองเห็นชัดว่ามีสิ่งที่มี มีรูปมีร่าง เป็นวัตถุให้มองเห็นได้ เราจะเห็นชัดเลย ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนๆ ส่วนๆ ซึ่งมันจะมีอาการของการเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ อยู่ตลอดเวลา ไม่เคยอยู่นิ่งเลยสักที แล้วการเกิดดับอย่างนี้ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่อยู่เฉยๆ เหมือนอย่างที่มันแยกกระจายกันออกมาเป็นส่วนๆ นั่น ก็เพราะมันมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ใช่ไหมคะ อุบัติเหตุเกิดขึ้นนี้ก็คือเป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้เกิดมีผลเป็นอย่างนี้ ๆ เพราะฉะนั้นอันนี้ เราก็มองดูแล้วก็จะมองเห็น ฉะนั้นถ้าหากว่าหมั่นศึกษาอย่างนี้ ก็จะชัดเจนยิ่งขึ้นๆ แล้วก็จะรู้สึกสนุก แล้วก็จะช่วยให้เราฉลาดขึ้นด้วยในขณะเดียวกัน การศึกษาอย่างนี้จะช่วยให้เราฉลาดขึ้น ฉลาดขึ้นเพราะว่าจะดึงใจที่ยึดมั่นถือมั่น ติดอยู่กับอัตตาตัวตนนี้ แล้วก็จึงทำให้เกิดทุกข์ จะต้องเอาอะไรก็ต้องให้ได้เพื่อตัวตนอันนี้ จะมองเห็นว่ามันไม่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญนั้นคือการกระทำ สู้มาฝึกกระทำให้ถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้องนี่ต้องมีความอธิบายว่าเป็นการกระทำที่เกิดประโยชน์นะคะ การกระทำที่ถูกต้องคือการกระทำที่เกิดประโยชน์ เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นเช่นเดียวกับเกิดประโยชน์กับตัวเอง ไม่ใช่เกิดประโยชน์แก่ตัวเองคนเดียว แต่เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น แก่ส่วนรวม แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าหากว่าเราทำเป็น ถ้าหากว่าเราศึกษาชีวิตคือขันธ์ 5 อย่างนี้เรื่อย ๆ ไม่ช้าเราก็จะมองเห็นว่า ความสำคัญของชีวิต อยู่่ตรงที่การกระทำ ไม่ได้อยู่ตรงอื่นเลย ถ้าหากว่าการกระทำถูกต้อง ชีวิตนั้นก็มีความเย็นแล้วก็รู้สึกเป็นประโยชน์ มีค่า ถ้าการกระทำไม่ถูกต้อง ชีวิตนั้นก็เป็นชีวิตร้อน หาคุณค่าอะไรไม่ได้เลย ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเราก็จะดูอยู่ตรงนี้ เรื่องถูกต้องกับไม่ถูกต้อง เท่านั้นเอง
แต่การจะดูอย่างนี้นะคะ จะดูได้ก็ต่อเมื่อมีความซื่อตรง ต้องมีความซื่อตรง ถ้าคนไม่ซื่อตรงจะทำการศึกษาในลักษณะของสิกขาไม่ได้ ไม่ซื่อตรงก็คือหลอกตัวเอง คนที่หลอกตัวเอง จะไม่มีวันได้รับการศึกษาที่แท้จริง คือจะศึกษาเข้าไปข้างในไม่ได้ เพราะฉะนั้นคำว่าซื่อตรงก็คือว่า พอเห็นอะไรเข้าต้องหยิบมาวิเคราะห์วิจารณ์ทันที ด้วยความที่เคยยึดมั่นถือมั่นในอัตตา พอเห็นอะไรดีล่ะก็ รีบรับ รีบรับว่า นี่ใช่เราแล้วเพราะมันดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ แต่พออะไรที่มันไม่ดี มักจะหาทางเบี่ยงเบน
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่ใช่ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ใช่ นี่ไม่ใช่ นี่คนอื่น นี่อย่างนั้นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ
ผู้ร่วมสนทนา: ไปโทษคนอื่นไปเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะใช่ เพราะฉะนั้นต้องซื่อตรง เพราะถ้าไม่ซื่อตรงจะไม่มีวันเห็นจริงในเรื่องว่าชีวิตนี้คือขันธ์ 5 แล้วก็ความสำคัญของชีวิตนี้จึงอยู่ที่การกระทำ ทีนี้ทำอย่างไรล่ะ เราถึงจะให้บรรดาพวกเด็กๆ นะคะ ได้รับการศึกษาที่ถูกต้อง ก็คือได้รับคำแนะนำให้รู้ว่าชีวิตนี้จะมีคุณค่าก็อยู่ที่การกระทำที่ถูกต้อง หรือชีวิตนี้จะเป็นชีวิตที่ไร้คุณค่าก็เพราะการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทีนี้การกระทำที่ไม่ถูกต้องมันเกิดมาจากไหน ก็เกิดมาจากการกระทำที่เห็นแก่ตัว คือการกระทำที่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของตัว ก็จะเอาให้ได้ ก็จะเอาแต่ประโยชน์ของตัวเอง เป็นการกระทำที่ยึดมั่นในอัตตา ก็เอาแต่พูดจา เป็นวาจาที่จะพูดเอาประโยชน์ เอาประโยชน์อย่างหยาบบ้าง อย่างละเอียดบ้าง อย่างหยาบก็อย่างการเห็นแก่ตัวก็อาจจะบอกได้ว่าเป็นการเห็นแก่ตัวของคน ของคนชั่วก็มี การเห็นแก่ตัวของคนดีก็มี คืออย่าคิดว่าคนดีแล้วล่ะก็ไม่เห็นแก่ตัว ตราบใดที่ยังไม่บรรลุถึงที่สุด ยังมีการเห็นแก่ตัวอยู่ไม่มากก็น้อย
ผู้ร่วมสนทนา: คนดีก็ ก็ถูกว่าเหมือนกันนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แน่นอนที่สุด เพราะเป็นคนดีนี้ก็คนดีขนาดศีลธรรม คนดีขนาดศีลธรรมก็ยังเป็นคนดีที่ยังมีตัวมีตน ยังมีตัวตนเป็นผู้อยากดี เป็นผู้อยากทำดี
ผู้ร่วมสนทนาซ ไม่ดีหรือครับอาจารย์ อยากทำดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าหากว่าอยากทำดีแล้วมันไม่ดิ้นรน
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่เข้าใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือหมายความว่าพออยากทำดีก็ทำเชียว แล้วก็ทำไปด้วยความแจ่มใสเบิกบาน ไม่รู้สึกดิ้นรนกระเสือกกระสนว่าฉันต้องทำได้ ฉันต้องทำให้ได้ ถ้ามีความรู้สึกดิ้นรนอย่างนั้น มันมีความเป็นตัวตน ความยึดมั่นถือมั่นด้วยความเห็นแก่ตัว แล้วถ้าหากมีความดิ้นรน แล้วก็มีความกระเสือกกระสนว่าฉันต้องทำให้ได้ ฉันต้องทำให้ได้ ต้องพยายามแหวกว่าย แหวกว่ายกวาดไปหมดล่ะ อะไรก็ตามจะต้องหาวิธีทำเพื่อให้ฉันได้ มันจะยากมันจะลำบาก หรือบางทีจะไปเบียดเบียนคนอื่นเขา หรือว่าจะทำให้คนอื่นเขาต้องลำบากอะไรยังไงก็ตาม แต่ว่าฉันจะต้องทำให้ได้
ผู้ร่วมสนทนา: ยกตัวอย่างชัดๆ ได้ไหมครับ อาจารย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ยกตัวอย่างชัดๆ ว่าจะทำยังไงน่ะเหรอ
ผู้ร่วมสนทนา: ที่คิดว่าทำดีแล้วยังแหวกว่ายเพื่อจะเอาให้ได้อย่างที่อาจารย์ว่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ยกตัวอย่างเหมือนอย่างว่าจเลิศอยากจะทำงานนี้
ผู้ร่วมสนทนา: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำงานของจเลิศ จเลิศเป็นคนทำงานอะไรล่ะเรียกว่ามีความเสียสละ มีความอุตสาหะสูงล่ะ ตัวเองนี่ทำงานอย่างชนิดไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย ไม่เห็นแก่เวลาใช่ไหม ทีนี้ตัวเองก็เหนื่อยเฉพาะตัวเอง ก็ยังพอจะค่อยยังชั่ว แต่ความที่อยากจะให้งานให้สำเร็จ ให้งานให้ได้ดี ตัวเองเหนื่อยก็เต็มใจเหนื่อย แต่ทีนี้คนเดียวมันไม่ไหว ต้องการคนอื่นช่วย ก็พยายามที่จะไปเอาคนอื่นมาช่วยทำงาน ทั้ง ๆ ที่คนอื่นที่เขาจะมาช่วยทำงานนี้ บางครั้งเขาก็ไม่สามารถที่จะเสียสละให้เวลาเหล่านั้นให้ได้เต็มที่ หรือกำลังกายกำลังใจของเขา เขาก็มีจำกัด ความสามารถเขาก็มีจำกัด แต่เราก็จะมีวิธีการ มีวิธีการที่จะใช้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ด้วยวาจา ด้วยการกระทำที่จะพยายามดึงมาทำให้ได้ โดยไม่คิดว่าเขาจะมีความลำบากกับเขาไหม เช่น ลำบากแก่ครอบครัวของเขาไหม ลำบากแก่สุขภาพร่างกายของเขาไหม หรือลำบากด้วยประการอื่นๆ แก่เขาไหม อย่างนี้เป็นต้น จะบอกจเลิศไม่ดีก็ไม่ใช่ จเลิศก็เป็นคนดีใช่ไหม เพราะที่จเลิศจะทำงานนี้ก็มิใช่เพื่อคนอื่น ก็เพื่องานนั่นแหละ ที่จะให้งานมันรวดเร็ว ให้งานมันเกิดประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันเพราะความที่จะเอาให้ได้อย่างใจจเลิศ อยากจะรีบทำก็เลยลืมนึกถึงความสะดวกของผู้อื่น ลืมนึกถึงความจำกัดของผู้อื่นที่เขาไม่สามารถจะรับงานได้ถึงเพียงนั้น ฉะนั้นจะว่าจเลิศไม่ดีก็ไม่ใช่ จเลิศก็เป็นคนดี แต่ในความเป็นคนดีนั้นก็ยังมีความเห็นแก่ตัว เพราะจเลิศอยากจะทำให้ได้ และในขณะนั้นใจจเลิศก็ไม่เย็นหรอก ใจจเลิศก็ร้อนดิ้นรน จะต้องเอาให้ได้ จะต้องทำให้เสร็จ จะต้องกวาด จะต้องดึง จะต้องยื้อ จะต้องสารพัดล่ะ นี่แหละคือความทุกข์ของคนดี เพราะคนดีก็ยังยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ในความเป็นอัตตาของตัวตน
เพราะฉะนั้นการยึดมั่นในตัวตนนี่ หรือความเห็นแก่ตัวนี้ ก็พูดได้ว่ามันมี 2 อย่าง คือเห็นแก่ตัวอย่างชนิดที่ว่าจะเอาท่าเดียวนะ อย่างนั้นก็เรียกว่าเป็นคนไม่ดี เป็นคนชั่ว มันก็หยาบมาก ก็เห็นง่ายๆ ไม่ต้องไปดูกันเลยนะ เห็นง่ายๆ พอพูดอะไรก็คนเขาฟังเขาก็รู้แล้วว่านี่มันจะเอา พอทำท่าอะไรเขาก็รู้ว่านี่มันจะเอา มันเห็นชัด คนอย่างนี้ก็ไม่ต้องดูกันมาก เพราะมันเห็นแก่ตัวชัดเจน ในใจนั้นมันก็ร้อนรนอยู่ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง จะเอาให้ได้ จะเอาให้ได้อยู่อย่างเดียว แต่ว่าเห็นแก่ตัวอย่างคนดีนี่น่ากลัว ทำไมถึงน่ากลัวทราบไหมคะ ทำไมความเห็นแก่ตัวอย่างคนดีน่ากลัวเพราะอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: ทำร้ายตัวเองหรือเปล่าครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ค่อยเห็นน่ะสิ
ผู้ร่วมสนทนา: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: น่ากลัวตอนที่ไม่ค่อยเห็น
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่เห็นเลยครับ ไม่เห็นเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ไม่ค่อยเห็น ไม่ค่อยเห็นว่าเราเห็นแก่ตัวน่ะ ใช่ เพราะอะไร เพราะว่าความดีนั้นเป็นเสน่ห์ การทำความดีมันเป็นเสน่ห์ แล้วมันก็มีความดีนั้นเป็นทัพหนุน เมื่อฉันเป็นคนดีน่ะ ฉันทำความดีแล้ว คอยหนุนอยู่ ๆ ก็เลยบางทีอาจจะหลง เกิดโมหะ เกิดความหลงโดยไม่รู้ตัว ว่าเรานี้ได้กำลังทำความดีอย่างบริสุทธิ์หรือเปล่า หรือว่าเราทำความดีอย่างชนิดที่มันผสมกันกับความเห็นแก่ตัวสอดแทรกไปด้วย นี่น่ากลัวมากเลยนะคะ ความเห็นแก่ตัวของคนดีน่ากลัวมาก เพราะมันจะเหมือนผงเข้าตา ก็ได้แต่น้ำตาไหล น้ำตาไหล แต่เขี่ยผงเองไม่ค่อยออก มองไม่ค่อยเห็น จึงต้องคอยระมัดระวัง และการระมัดระวังนี้จะดูได้อย่างไร ก็ต้องอาศัยสิกขา คือการศึกษาด้วยการดูข้างใน คือดูข้างใน ดูข้างในใจของเราอยู่เสมอ ถ้าหากว่าใจนั้นพอนึกอยากจะทำอะไรแล้ว มันไม่มีความร้อนรน ไม่ดิ้นรน ไม่กระเสือกกระสน ไม่มีความหมายมั่นว่าต้องได้ ต้องทำได้ ต้องเอาให้ได้ ไม่มีคำว่าต้องอยู่อย่างนั้นล่ะก็ ใจก็จะเย็น แต่เมื่อใดที่มีคำว่าต้องให้ได้ จะมีความดิ้นรน ดิ้นรนกระเสือกกระสน ร้อนรน แล้วจนกระทั่งไม่เป็นสุข นั่นแหละคือความเห็นแก่ตัวของคนดีล่ะ ก็ต้องรีบดู ถ้าดูก็จะเห็น แล้วเราก็จะเปลี่ยนเสีย เราเปลี่ยนวิธีการกระทำเสีย ที่จะไม่เบียดเบียนทั้งตัวเองแล้วก็ไม่เบียดเบียนทั้งคนอื่น พูดง่ายๆ ก็คือว่าต้องให้อยู่ในทางสายกลาง
ความเห็นแก่ตัวของคนดีนี่น่ากลัวมาก น่ากลัว แล้วก็น่าสงสารด้วย อันที่จริงก็บอกว่าจะทำดีน่ะ แต่ว่าในขณะที่ทำดีนี่ก็ยังไม่สิ้น ยังไม่สิ้นซึ่งความอยากดี แล้วก็ยังไม่สิ้นซึ่งความต้องการดี เพราะฉะนั้นจึงควรต้องระมัดระวังในเรื่องของความเห็นแก่ตัวนะคะ ฉะนั้นก็สรุปว่าความสำคัญของชีวิตอยู่ที่ตรงไหน ก็คืออยู่ที่ตรงที่การกระทำ ฉะนั้นสิ่งที่เราควรระมัดระวังในชีวิตก็คือระมัดระวังที่ไหน
ผู้ร่วมสนทนา: การกระทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ที่การกระทำ เมื่อจะกระทำสิ่งใดกระทำให้ถูกต้อง ถูกต้องคืออย่างไร จะต้องตีความหมาย ไม่ใช่ถูกต้องของฉัน ถ้าถูกต้องของฉันก็ยังเป็นไงอยู่ ยังเห็นแก่ตัว ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง ถ้าถูกต้อง เพราะฉะนั้นถูกต้องโดยธรรมก็คือถูกต้องที่เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ไม่ใช่เกิดประโยชน์แต่เฉพาะแก่ตัวเอง เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม เกิดประโยชน์แก่งาน นั่นแหละถึงจะเป็นความถูกต้องโดยธรรมะ ฉะนั้นอันนี้จึงอยู่ที่การกระทำ เราจึงควรจะฝึกตั้งแต่เด็กๆ มาทีเดียวนะคะ รวมทั้งตัวเราด้วย แล้วถ้าหากว่าสามารถฝึกให้อยู่กับการกระทำมากขึ้น ๆ ผลที่สุดวันหนึ่งก็ถึงซึ่งความไม่เห็นแก่ตัว คือความยึดมั่นในอัตตาก็จะค่อยๆ ปล่อย ค่อยๆ หมดไปเองทีละน้อยละน้อยโดยอัตโนมัติ แล้วเสร็จแล้วก็จะค่อยเกิดความรู้สึกขึ้นมาในใจเองว่าชีวิตนี้เกิดมาทำไม เกิดมาทำไม ตอบได้ยัง เกิดมาเพื่อ เพื่อทำความดี ก็เพื่อการกระทำที่ถูกต้อง ใช่ไหมคะ ชีวิตนี้เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่อทำหน้าที่ เพื่อทำหน้าที่ทุกหน้าที่ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องให้เกิดเป็นการกระทำที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ เกิดประโยชน์แก่ชีวิต เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม เกิดประโยชน์แก่งานที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันก็จะอยู่ร่วมกันได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข เพราะฉะนั้นก็ขอได้โปรดจำไว้นะคะ เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตของเราเองว่า ความสำคัญของชีวิตนั้นอยู่ที่การกระทำ หาใช่ตัวบุคคลไม่ ธรรมสวัสดีนะคะ