แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ เมื่อคราวที่แล้วเราพูดกันถึงเรื่องว่า ความสำคัญของมนุษย์อยู่ที่ไหน ยังจำได้ไหม อยู่ที่การกระทำ เพราะฉะนั้นการที่จะโกรธกัน ไม่พอใจกัน แล้วก็ฆ่ากัน ถูกต้องหรือไม่ ฆ่าถูกหรือไม่ ฆ่าไม่ถูก สิ่งที่ควรฆ่าคืออะไร ก็ที่ทำให้โกรธกันก็เพราะอะไร ที่ทำให้โกรธกัน ไม่ชอบกันเพราะอะไร คือการกระทำ จะรักกัน พอใจกันก็เพราะอะไร ก็เพราะการกระทำ เพราะฉะนั้นการที่จะโกรธกัน จะไปฆ่าตัวคนถูกไหม ควรจะไปฆ่าอะไร ควรจะไปฆ่าการกระทำ ที่นี้การจะฆ่าการกระทำจะฆ่ากันได้ยังไง อะไรที่จะทำให้คนเราทำอย่างงั้น จะทำดีก็ตาม จะทำชั่วก็ตาม จะทำถูกก็ตาม จะทำผิดก็ตาม อะไรที่ทำให้เรามีจิตใจเป็นอย่างนั้น จิตใจที่เป็นยังไง คิดถูกหรือคิดผิด จิตใจที่คิดผิดถึงได้ทำผิด ใช่ไหมค่ะ ถ้าใจคิดถูกก็พูดถูกทำถูก เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ เราจึงจะอยากพูดถึงว่า ช่วงชีวิตของการศึกษาที่สำคัญที่สุดนี่ นอกจากจะรู้ว่าการศึกษาคืออะไร อย่างที่เราพูดกันแล้ว เราต้องมีวิธีการอย่างไรแล้ว ก็ต้องรู้จักสร้างจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิก็คือความเห็น สัมมาก็คือถูกต้อง สร้างจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการศึกษาที่ถูกต้อง ถ้าหากว่าจิตสำนึกนั้นไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ คือคิดไม่ถูกต้อง ก็ไม่สามารถจะมีการศึกษาที่ถูกต้องขึ้นได้ ความหมายของสัมมาทิฏฐิระดับที่กล่าวแล้วนี้นะคะ เราถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดของชีวิตมนุษย์
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้รับสั่งในเรื่องของสัมมาทิฏฐินี้ว่ามีความสำคัญ มีคุณประโยชน์ต่อชีวิตของมนุษย์อย่างใหญ่หลวง จนกระทั่งทรงจัดให้สัมมาทิฏฐินี้เป็นองค์แรกในอริยมรรคมีองค์แปด แล้วท่านก็เปรียบสัมมาทิฏฐิเหมือนกับอะไร ใครจำได้บ้าง เหมือนกับรุ่งอรุณ สัมมาทิฏฐิเหมือนกับรุ่งอรุณ คือถ้าหากว่าวันไหนเรามองดูท้องฟ้า พอลืมตาขึ้นมีรุ่งอรุณ สว่างแจ่มใส เรืองรองแสงทอง ก็แน่ใจว่าวันนั้น คงจะมีแสงแดดจ้าอยู่เสมอ สว่างจ้า หรือบางทีก็เปรียบสัมมาทิฏฐิเหมือนกับเข็มทิศ เข็มทิศเป็นสิ่งสำคัญใช่ไหมค่ะ สำหรับคนเดินทาง ทุกแห่งหนเลย ไม่ว่าจะเดินทางทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ ก็ต้องอาศัยเข็มทิศ โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะ หรือแม้แต่คนเดินป่า นี่ไม่ใช่พูดถึงพรานที่ชำนาญทางน่ะ ยังต้องอาศัยเข็มทิศเลย จะได้รู้ว่าทิศไหนเป็นทิศเหนือ แล้วอาจจะหาทางออกจากป่าได้ ฉะนั้นเข็มทิศนี่จะช่วยให้คนไม่หลงทาง แต่ว่าสัมมาทิฏฐินั้นเป็นเข็มทิศที่จะช่วยไม่ให้มนุษย์หลงทางเหมือนกัน แต่ไม่ใช่หลงทางป่า ไม่ใช่หลงถนนหนทาง แต่ทำให้ไม่หลงทางชีวิต หรือจะเรียกว่าเป็นป่าก็เป็นป่าของชีวิต เผอิญไปตกทุกข์ระะกำยากลำบากอยู่ที่ไหนก็สามารถหาหนทางออกจากป่าของชีวิตได้ หรือบางทีท่านทรงเปรียบสัมมาทิฏฐิเหมือนกับแผนที่ แต่เป็นแผนที่วิเศษ เพราะว่ามจะบอกหนทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เราควรจะเดินอย่างไร ชีวิตนั้นจึงจะได้พ้นจากขวากหนามของสิ่งที่เป็นปัญหาหรือเป็นความทุกข์แก่ชีวิต
เพราะฉะนั้นความหมายของสัมมาทิฏฐิก็คือความเห็นที่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือที่มองเห็นว่าชีวิตคือขันธ์ห้าเป็นต้น หรือว่า ส่วนสำคัญของชีวิตอยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่ที่ตัวบุคคล ในตัวบุคคลนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำ การกระทำจึงทำให้คนมีคุณค่าหรือไร้คุณค่า เป็นคนที่น่ารักหรือน่าชังก็เพราะการกระทำ เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะฆ่ากันก็อย่าไปฆ่าที่ตัวตน เพราะว่าในสิ่งที่ทำให้เกลียดกันรักกันอยู่ที่การกระทำ การที่จะฆ่าการกระทำ ก็คือต้องฆ่าทิฏฐิที่ผิด ถูกไหมค่ะ ทิฏฐิที่เป็นมิจฉาทิฏฐิที่คิดผิดให้มันเป็นสัมมาทิฏฐิ เปลี่ยนให้คิดถูก แล้วจะได้มีการกระทำที่ถูกต้อง คือการกระทำที่เกิดประโยชน์ ทั้งแก่ตนเองและเพื่อนมนุษย์
มิจฉาแปลว่าผิด ไม่ถูกต้อง ทิฏฐิคือความเห็น มิจฉาทิฏฐิก็คือความเห็นที่ผิด เช่นคิดเห็นในตัวตนที่เป็นจริงเป็นจัง แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตน ใครจะมาสะกิดตัวตนฉันสักหน่อยไม่ได้สะดุ้ง ศักดิ์ศรีฉันจะเสียมันแหลมคมไปหมดทั่วตัว ใครถูกนิดนึงไม่ได้ต้องลุกขึ้นสู้ เพราะฉะนั้นก็เอาตัวตนอันนี้ไปชน ฉันต้องถูก ฉันต้องเก่ง ฉันต้องดี ฉันต้องวิเศษ อะไรที่เป็นฉันต้องถูกต้อง นี่คือมิจฉาทิฏฐิ คนปริญญาเอกนี่มีมิจฉาทิฏฐิเยอะแยะเลย มากมายนับไม่ถ้วนเลย เพราะฉะนั้นเพราะอะไรล่ะ เพราะเขาไม่ได้เรียน อย่างในในโรงเรียนที่เราว่ามา จบมาปริญญาเอกเคยได้ยินไหมว่าชีวิตคือขันธ์ห้า ความสำคัญของชีวิตอยู่ที่การกระทำ เคยพูดกันไหม ไม่เคยเลย พูดแต่เพียงสนับสนุนตัวตน ว่าให้ตัวของเราดีกว่าเขา เก่งกว่าเขา วิเศษกว่าเขา ได้อะไรมากกว่าเขา นั่นล่ะที่คิดว่าเจริญแล้ว แท้ที่จริงคือที่เสื่อมทรามอย่างยิ่งเลย แน่นอนเลย รับรองหากใครโดนดูถูกก็เร่งคิดให้มันถูกใหม่คือหมายความว่า คิดผิดอย่างใดเร่งคิดให้ถูกต้อง นี่คือมิจฉาทิฏฐิ
ที่นี้สัมมาทิฏฐิคืออะไร สัมมาทิฏฐิคือความเห็นที่ถูกต้อง นั่นก็คือมองเห็นแล้วว่าชีวิตคือขันธ์ห้า คือกองๆอย่างว่าประกอบซึ่งกันและกัน มันมารวมกันเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็สมมติเรียกว่าเป็นตัวตน เป็นชื่อ สมมติตัวตนเป็นตำแหน่ง มีหน้ามีตาอย่างนั้นอย่างนี้ ที่เราเปรียบเหมือนบ้าน เหมือนรถยนต์ เปรียบเหมือนอะไรก็แล้วแต่ พอแยกออกจากกัน เอาล้อ เอาโครง เอาที่นั่งพวงมาลัย เครื่องยนต์ออกจากกัน แยกเป็นส่วนๆหามีตัวรถยนต์ไม่ เช่นเดียวกัน ปริญญา ดอกเตอร์ก็เป็นสิ่งสมมติ อุตสาห์ร่ำเรียนมาจนได้ Ph.D. แล้ว จนกระทั่งเป็นดอกเตอร์ก็เป็นไป แต่ไม่ต้องแบกดอกเตอร์เอาไปเที่ยวบอกเขาว่าฉันดอกเตอร์น่ะ ฉันดอกเตอร์พูดอะไรต้องเชื่อ ไม่ต้องเอาไปชนกับเขา แต่เรารู้ เรารู้มากกว่าเขานี่ก็เป็นกำไร แต่ว่าอย่าเอาความรู้มากนี่ไปยกตนข่มท่าน แล้วก็มีให้ใจที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เป็นดอกเตอร์ที่มีจิตเป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้นสัมมาทิฏฐิเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าผู้ใดสามารถพัฒนาจิตสำนึกให้เป็นจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ก็บอกได้ว่าคนนั้นจะมีหนทางเดินไปสู่ความสุขสงบเย็นของชีวิตได้ แต่ถ้ามิฉะนั้นแล้วจะเกิดขึ้นกับความร้อนเหมือนนรกตลอดเวลา แม้จะอยู่ในห้องแอร์เย็นฉ่ำก็ตาม แต่ใจจะร้อนอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นความหมายของสัมมาทิฏฐิคืออย่างนี้
ถ้าจะว่าไปเพื่อจะให้เข้าใจชัดเจนขึ้น อาจจะพูดได้ว่าสัมมาทิฏฐิแบ่งได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับธรรมดาอย่างเช่นเราอยากจะจัดระเบียบของชีวิต เช่นชีวิตในเรื่องของการกิน การนอน การเล่น การเรียน การพูดจาเป็นต้น เราอยากจะจัดระเบียบการกินเช่น กินเช่นไรถึงจะเรียกว่ากินเรียบร้อยน่าดู หรือว่าจะนอนเช่นไรถึงว่าจะนอนเรียบร้อยน่าดู รู้จักสิ่งนั้นแล้วทำตาม นี่เรียกว่าเราสร้างสัมมาทิฏฐิ ถ้าเรามีสัมมาทิฏฐิในเรื่องของการเรียน การเรียนนี้มีประโยชน์กับชีวิต ใครที่เรียนที่ศึกษาแล้วก็ย่อมจะมีหนทางที่ก้าวหน้า หรือว่าหาทางให้มีความเจริญแก่ตัวเองได้มากกว่าคนที่ขาดโอกาสได้เล่าเรียนได้ศึกษา ตั้งใจที่จะเล่าเรียนศึกษา นี่ก็เรียกว่ามีสัมมาทิฏฐิในการเรียน เป็นสัมมาทิฏฐิในระดับต้นๆ ที่จะเรียกว่าอยากจะสร้างระเบียบให้กับชีวิต หรือว่าสัมมาทิฏฐิในการแต่งตัว แต่งตัวอย่างไรถึงจะเรียบร้อยเหมาะสมแก่วัย เหมาะสมแก่รูปร่าง เหมาะสมแก่กาลเทศะ อย่างนี้เป็นต้น ไม่แต่งตัวอะไรที่น่ากลัว มองดูแล้วไม่เข้าจังหวะจะโคนทั้งหลาย นี่ก็เป็นสัมมาทิฏฐิ พูดง่ายๆว่าสัมมาทิฏฐิเริ่มแรกก็คือเริ่มทำระเบียบของชีวิตในทุกเรื่องให้มันงดงามเหมาะสมแก่กาลเทศะ หรือมีสัมมาทิฏฐิในเรื่องของหน้าที่ คือหน้าที่ที่เราจะต้องเกี่ยวข้อง เช่นหน้าที่ของการเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นพี่น้อง เป็นเพื่อน ตั้งแต่สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด และออกไปไกลเรื่อยๆ จนกระทั่งถึง หน้าที่การงาน หน้าที่ของการเป็นหัวหน้า หน้าที่การเป็นลูกน้อง หรือหน้าที่ต่อสังคม อย่างนี้เป็นต้น
เราก็มีสัมมาทิฏฐิในการที่จะมีหน้าที่ในฐานะเป็นพ่อแม่อย่างไร นั่นก็คือว่าต้องคิดว่าการเป็นพ่อแม่ที่ถูกต้องคืออย่างไร ถ้าเราจะบอกย้อนกลับไปถึงที่เราพูดว่า ความสำคัญของชีวิตอยู่ที่ตรงไหน ที่การกระทำ ความสำคัญของชีวิตอยู่ที่การกระทำ เพราะฉะนั้นคนที่จะเป็นพ่อที่ถูกต้องหรือเป็นแม่ที่ถูกต้อง นั่นก็คือมีการกระทำที่ถูกต้อง การกระทำในฐานะพ่อ ในฐานะแม่ จะต้องเป็นผู้ที่ให้การอบรมเลี้ยงดูลูก ให้การศึกษา เป็นผู้ที่ป้องกันลูกไม่ให้เพลี้ยงพล้ำเสียทีแก่หนทางของชีวิตที่ไม่เหมาะไม่ควร นั่นแหละคือหน้าที่ของพ่อ นี่ก็เรียกว่ามีสัมมาทิฏฐิ ทำอย่างไรถึงจะทำให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี แล้วก็เป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิด้วย โดยไม่เห็นแก่ตัว ถ้าหากว่าพ่อก็ดีแม่ก็ดี เลี้ยงดูอบรมลูกแล้วก็ตั้งใจจะให้ลูกเป็นอย่างที่ฉันต้องการ ฉันต้องการให้ลูกเป็นอย่างนี้ ลูกก็ต้องเป็นอย่างนี้ โดยไม่คำนึงถึงสถานะของลูกว่าเหมาะสมไหม เพียงพอไหม อย่างนั้นถึงแม้ว่าพ่อแม่จะให้อาหาร ให้เงิน ให้เครื่องนุ่งห่ม ให้การศึกษาแก่ลูก แต่ก็ยังต้องพูดว่าพ่อแม่ยังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ จึงพยายามที่จะให้ลูกเป็นอย่างที่ฉันต้องการ ต้องกลับบ้านอย่างที่ฉันต้องการ ต้องแต่งตัวตามอย่างที่ฉันต้องการ ต้องเรียนในวิชาตามที่ฉันต้องการ หัวของลูกจะไปได้หรือไม่ได้ก็ไม่ได้คำนึงถึง อย่างนี้ก็ยากที่จะบอกว่าเป็นพ่อแม่ที่เป็นสัมมาทิฏฐิอย่างเต็มที่ อาจจะมีสัมมาทิฏฐิสักครึ่ง มิจฉาทิฏฐิสักครึ่ง ก็มีความเห็นแก่ตัวจะเอาได้อย่างใจฉัน ไม่ได้นึกถึงความพอเหมาะพอสมแก่ลูกที่จะทำได้
ผู้ร่วมสนทนา: ลูกหลานโทษพ่อแม่อบรมไม่ดี หรือสภาพสังคม สภาพแวดล้อมไม่ดีทำให้เด็กเสียคน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มันก็เป็นได้ทั้งสองแบบ ในขณะนี้คนเป็นลูก ยุคสมัยนี้ก็มักจะนึกว่าพ่อแม่เป็นต้นเหตุของปัญหา เพราะพ่อแม่เรียกร้องจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ แต่อันที่จริงถ้าพูดอย่างยุติธรรม ก็ไม่ใช่พ่อแม่จะเป็นปัญหาแก่ลูกเสมอไป ลูกเป็นปัญหาแก่พ่อแม่ก็มี และลูกก็มักจะมีข้อแก้ตัวว่า ลูกเป็นเด็กลูกยังไม่รู้อะไรมาก ลูกยังต้องการคำปลอบใจ คำรับรอง คำดูแล คำเห็นอกเห็นใจของพ่อแม่อยู่เสมอ ถ้าอย่างนี้ก็พูดในแง่ของทิฏฐิ ลูกก็ไม่มีสัมมาทิฏฐิเหมือนกัน ลูกก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะลูกเห็นแก่ตัว ใช่ไหมค่ะ ลูกอยากจะให้พ่อแม่เป็นอย่างที่ลูกต้องการ พ่อแม่ต้องอ่อนหวานน่ะ พ่อแม่ต้องพูดเพราะๆน่ะ พ่อแม่ต้องตามใจ อยากได้อะไร อยากเรียนอะไร อยากทำอะไร พ่อแม่ต้องตามใจนะ นี่ลูกก็เป็นมิจฉาทิฏฐิเหมือนกัน เพราะลูกจะเอาแต่ใจของลูก ไม่เห็นใจพ่อแม่ พ่อแม่ก็คน คือคนอย่างเราก็ปุถุชนเหมือนกัน ลูกก็ปุถุชน ลูกยังมีวันมีปัญหาได้ ทำไมพ่อแม่จะมีปัญหาไม่ได้ พ่อแม่น่าจะมีปัญหามากกว่า เพราะพ่อแม่ต้องรับผิดชอบมาก ฉะนั้นจึงพูดได้ว่า ถ้าหากว่าพัฒนาจิตสำนึกให้เป็นสัมมาทิฏฐิด้วยกันแล้ว มันจะแก้ปัญหา จะไม่มีปัญหาระหว่างพ่อกับแม่ หรือพ่อแม่กับลูก หรือว่าพี่ๆน้องๆ หรือว่าเพื่อนฝูง
ถ้าหากว่าเรามีสัมมาทิฏฐิต่อกันแล้วล่ะก็ คือต่อหน้าที่ที่เราเป็น จะไม่ทำให้เกิดการเห็นแก่ตัว แล้ว ก็จะเอาแต่ใจ ทั้งสองฝ่าย เราจึงจะให้มีการศึกษาที่ถูกต้องเพื่อพัฒนาจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้น และปัญหาในระหว่างครอบครัว โดยเฉพาะในช่วงของการเผชิญชีวิต ก็จะเป็นการเผชิญชีวิตที่ไม่ขม มันจะมีความหวาน ความสุขผสมอยู่ในนั้น นี่ก็เป็นระดับของสัมมาทิฏฐิที่อาจจะบอกได้ว่าระดับที่สอง ระดับกลางๆที่สูงขึ้นมาอีกหน่อย
ที่นี้ถ้าหากเป็นสัมมาทิฏฐิที่เรียกว่าเป็นระดับสูงสุด นั่นก็คือเป็นสัมมาทิฏฐิในทางธรรม ซึ่งค่อนข้างจะยากในการที่จะเห็น เพราะว่าสัมมาทิฏฐิในทางธรรม จะต้องหมายความเห็นว่าเป็นจิตสำนึกที่สามารถมองเห็นความเป็นจริงตามธรรมชาติ นั่นก็คือรู้จักเรื่องของกฎของธรรมชาติ ความเป็นจริงตามธรรมชาตินั่นก็เรียกได้ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิระดับสูงสุดในขั้นของธรรม ซึ่งถ้าหากว่าสามารถมีความมีสัมมาทิฏฐิในระดับของขั้นสูงสุดในทางธรรมะ คือเห็นตามความเป็นจริงตามธรรมชาติแล้ว ก็จะสามารถเลิก ละความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวเป็นตน แล้วความเห็นแก่ตัวก็ลดลง แล้วก็จะสามารถทำหน้าที่ในระดับต่ำๆลงมาได้ทุกหน้าที่ อย่างถูกต้อง ถ้าทำได้ก็ดีที่สุดเลย แล้วก็อยากจะขอสนับสนุนชักชวนด้วยว่าให้ทุกคนศึกษาทางนี้เถอะ จะเป็นการศึกษาทางลัด เข้าสู่ทางตรง แล้วก็การศึกษาขั้นแรกที่สุดเหมือนกัน ที่จะให้เห็นความเป็นจริงตามธรรมชาติ ให้รู้จักว่าขันธ์ห้าคืออะไร ชีวิตคือขันธ์ห้า ขันธ์ห้าประกอบด้วยอะไร อย่างที่เราพูดแล้ว ถ้ารู้ว่าชีวิตเป็นขันธ์ห้าเท่านั้นก็เริ่มเป็นสัมมาทิฏฐิ เริ่มแล้วและก็เป็นมากๆต่อไปอีกด้วย เพราะอะไร เพราะมันจะเริ่มละความยึดมั่นในอัตตา จะมอง เห็นไม่มีอัตตา จะมีแต่อะไรที่ตรงข้างกับอัตตา คืออนัตตา คือมองเห็นอนัตตา เพราะฉะนั้นอันนี้อันแรกให้เกิดสัมมาทิฏฐิในทางธรรม คือ 1. เห็นว่าขันธ์ห้า เห็นว่าชีวิตคือขันธ์ห้า แล้วก็รู้จักว่าขันธ์ห้าคืออะไร 2. แล้วก็เห็นว่าชีวิตนี้เห็นว่าความสำคัญอยู่ที่การกระทำ ความมีคุณค่าของชีวิตอยู่ที่การกระทำ ความไร้คุณค่าของชีวิตก็อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่อยู่ที่ตัวบุคคล 3. เพื่อช่วยให้เห็นดังกล่าวชัดขึ้นๆ ก็ต้องศึกษากฏของธรรมชาติ กฏของธรรมชาติ ถ้าจะพูดก็คงรู้จักกันแล้ว กฏไตรลักษณ์ที่แสดงถึงลักษณะสามประการ อันเป็นธรรมดาที่เกิดขึ้นเป็นประจำที่เรารู้จัก นั่นก็คืออนิจจัง ความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เกิดดับอยู่เรื่อย อย่างเช่นขันธ์ห้านี้มันจะเกิดดับๆตามเหตุตามปัจจัย เหมือนอย่างเช่นลูกนัยน์ตาของเรา เกิดมาทีแรกนัยน์ตาก็ใสแจ๋ว น่ารักน่าเอ็นดู ไม่ช้าไม่เร็วมันก็ต้องหาแว่นมาใส่ ไม่ใช่อยู่ดีๆต้องหาแว่นมาใส่ แต่เหตุมันเกิดจาก สายตาเป็นอะไรหลายอย่างล่ะ แต่ผลก็คือต้องหาแว่นมาใส่ เหตุการณ์มันเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นมาใหม่ แว่นตาใส่แล้วก็มองเห็นไป ไม่ช้าไม่นานก็ต้องเปลี่ยนแว่นนี้อีก เป็นแว่นอันใหม่อีก นี่ก็เป็นเหตุปัจจัย มีแต่การเกิดดับๆ เรื่อยไป นี่คืออนิจจัง ความไม่เที่ยง ถ้าเรามองเห็นความไม่เที่ยง ไม่ช้าเราก็จะมองเห็นทุกขัง คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่มันจะทนได้ยาก ทุกขังคือความทนได้ยาก หรือทนอยู่ไม่ได้ เพราะต้องเปลี่ยนแปลง เหมือนอย่างร่างกาย ก็จะมองเห็นมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เหตุปัจจัยก็คือ อย่างของครู กาลเวลาผ่านไป ที่ร่วงไปนี่คือเหตุปัจจัย ทำให้สังขารมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามลำดับ ทุกคนที่นั่งอยู่นี่ก็เปลี่ยนแปลงอยู่น่ะ แต่ว่าส่องกระจกทุกวันมันก็เลยชิน ก็เลยมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าไปอยู่เกาะ ถูกเขาปล่อยเกาะ ไม่ได้ส่องกระจกซสักหนึ่งปี พอมาส่งกระจะเข้า จะเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเลย นี่เราจะมองชัด เราส่องทุกวันๆ ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นรวดเร็วมาก แต่ท่านบอกว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเร็วมากเป็น สันตติ คือต่อเนื่องรวดเร็วมากยิ่งกว่ากระแสไฟฟ้า เราจึงเห็นไม่ทัน แต่ถ้าเราดำเนินชีวิตของการศึกษา ตามคำว่าสิกขาที่เราพูดกัน ที่เราจะดูข้างในๆ ดูทุกขณะด้วยความซื่อตรง อย่างไม่ขาดตอน อย่างติดต่อกันแล้ว เราจะสามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงๆที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ได้ชัดเจนขึ้นทีละน้อยๆ แล้วในขณะเดียวกันก็จะมองเห็นความทนได้ยาก สภาวะของทุกขังจะเกิดขึ้นให้เราเห็นเองว่าไม่มีอะไรทนอยู่ได้เลยสักอย่าง มันเกิดแล้วก็ดับๆ แล้วไม่ช้าก็จะซึมซาบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเลยสักอย่างนึง นี่ต้องซึมซาบเองด้วยความรู้สึก ไม่ใช่คิดด้วยสมองที่ฉลาด สมองไอคิวที่สูงส่งนั่นใช้ให้เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเรื่องของสิกขาที่จะศึกษา
สันตติ มันแปลว่า เกิดขึ้นอย่างติดต่อกัน ติดต่อกันอย่างถี่ยิบเลย ไม่ได้แปลว่าวูบวาบ สมองที่ฉลาดมมักจะรู้จักคิด คิดเรื่อย อย่างที่เราคิดอยู่เนี่ย คิดๆ ต่อเนื่องๆ ไม่รู้จบสักที คิดไปจนกระทั่งคิดฟุ้งซ่าน คิดเพ้อเจ้อ คิดไม่ได้เรื่องราว เพราะสมองแบบนี้มันก็จะคิดเพราะไม่ได้รับการควบคุมฝึกหัด เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องใช้การดู ดูด้วยความรู้สึกย้อนเข้าไปจนกระทั่งสัมผัสกับการเปลี่ยนแปลง ความเกิดดับ ความทนได้ยาก แล้วค่อยๆเห็นชัดในความไม่ใช่ตัวตน และที่สำคัญที่สุดก็จะเห็นกฎที่ยิ่งใหญ่ นั่นก็คือกฎอิทัปปัจยตา ให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนั้นเกิดขึ้น มันไม่ได้เกิดขึ้นเองเฉยๆ มีเหตุปัจจัย ทุกอย่างในชีวิตนี้มันเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น ซึ่งประกอบเหตุอย่างใด ผลย่อมเป็นอย่างนั้น ผลอย่างใดย่อมเกิดจากเหตุอย่างนั้น เพราะฉะนั้นที่จะบอกว่าคนเราที่จะรักกันก็ที่การกระทำ ที่จะชังกันก็ที่การกระทำ การกระทำที่ทำให้ชังเพราะเหตุปัจจัยเห็นแก่ตัว เป็นผลให้คนชัง แต่ถ้าเหตุปัจจัยนั้นไม่เห็นแก่ตัว ผลก็จะทำให้เป็นคนน่ารัก ก็จะนึกถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง ฉะนั้นอันนี้ค่ะจึงได้บอกว่า การจะต้องพัฒนาให้จิตสำนึกเป็นสัมมาทิฏฐิเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเหตุว่าจะเป็นฐานให้เกิดการศึกษาที่ถูกต้อง สำหรับวันนี้ก็คงต้องจบแค่นี้ก่อนค่ะ ธรรมสวัสดีค่ะ