แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมะสวัสดีค่ะคราวที่แล้วเราพูดกันถึงเรื่องของสัมมาทิฏฐิ ว่าการที่จะพัฒนาจิตสำนึกให้เป็นสัมมาทิฏฐินั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ ทำไมถึงสำคัญนะคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ช่วยให้เกิดการกระทำที่ถูกต้อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าพูดถึงการกระทำที่ถูกต้องโปรดระลึกไว้เสมอว่าถูกต้องโดยอะไร โดยความเห็นของฉันหรือว่าถูกต้องโดยทางธรรมะ โดยทางธรรมะก็คือว่าเป็นความถูกต้องที่เกิดประโยชน์ เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตัวเองและเกิดประโยชน์ทั้งแก่ผู้อื่นนะคะ เพราะฉะนั้นการที่จะพัฒนาจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐินี่จึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะเท่ากับว่าถ้าจิตสำนึกใดเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วมันมีแสงสว่าง มันมีแสงสว่างอยู่ในใจจะเดินไปทางไหนมันก็มองเห็นหนทาง มันไม่ต้องคลำมันไม่ต้องเดินตามทางมืดอย่างชนิดมืดบอด เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิจึงเป็นจิตที่สว่างอยู่ด้วยสติและปัญญาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าหากว่าจิตใดมีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นในจิตมันจะนำให้เกิดสัมมาอื่นๆ ตามมาด้วย ซึ่งอันที่จริงก็อาจจะทราบกันแล้วในเรื่องของอริยมรรคมีองค์ 8 นะคะ แต่วันนี้จะไม่พูดอริยมรรคมีองค์ 8 หรอก เพราะว่าคือจะไม่พูดอย่างชนิดเป็นหลักการที่เคยพูดมาแล้วนะคะ แต่จะพูดอย่างง่ายๆ ว่าถ้าหากว่าจิตใดมีสัมมาทิฏฐิ จิตมีความคิดเห็นที่ถูกต้องในใจแล้วมันจะทำให้เกิดสัมมาคือความถูกต้องอีก 7 อย่างตามมา สิ่งที่จะตามมานั่นก็คือ สัมมาสังกัปปะคือยังมีความตั้งใจปรารถนาที่ถูกต้อง พอคิดเห็นถูกต้องมันจะเกิดความตั้งใจปรารถนาที่จะทำอย่างนั้น เหมือนอย่างเช่นถ้าคิดเห็นว่าการที่เราจะต้องรู้จักชีวิตที่แท้จริงที่ถูกต้องก็คือ รู้จักขันธ์ 5 แล้วก็รู้จักว่าความสำคัญของชีวิตอยู่ที่การกระทำ แล้วก็รู้จักว่ากฎของธรรมชาติเป็นอย่างนี้ๆ คือไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรคงที่ แล้วก็ไม่มีอะไรที่เป็นตัวเป็นตนจริงเลยสักอย่างเดียว เรารู้อย่างนี้แล้วก็เป็นความคิดที่บอกว่าเราต้องศึกษา ก็จะมีความตั้งใจปรารถนาที่อยากจะศึกษาในเรื่องของกฎธรรมชาติ ในเรื่องของขันธ์ 5 ให้ลึกซึ้งแล้วก็เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นนี่ก็เป็นสัมมาสังกัปปะ คือจะเกิดความถูกต้องอย่างที่ 2 ตามมาคือความตั้งใจปรารถนาที่จะกระทำเหมือนอย่างที่คิดเห็นไว้แล้วนั้น แล้วก็อย่างที่ 3 ก็จะตามมานั่นก็คือวาจาถูกต้อง วาจาถูกต้องก็คือสัมมาวาจาจะพูดจาอะไรก็อยากจะสนทนากันในเรื่องที่ว่า ขันธ์ 5 เป็นยังไงนะ เวลาจะคุยกันนะคะแทนที่เราจะไปดูหนังเรื่องอะไรดี ไมเคิล แจ็คสัน เขาจะมาเต้นอีกเมื่อไหร่นะ หรือว่าอะไรจะมาอีก แทนที่จะเป็นอย่างนั้นเราก็จะมาพูดกันถึงเรื่องขันธ์ 5 นี่เป็นยังไงนะ กล้าคุยไหมนี่หรือกลัวจะถูกหาว่าเชย ขันธ์ 5 นี่เป็นยังไงมันมีกี่กอง ทำไมเขาถึงว่าชีวิตนี่เป็นส่วนประกอบขึ้นมาตั้ง 5 กองนะแล้วมารวมเป็นชีวิตเดียว หรือว่าเขาบอกว่าชีวิตสำคัญตรงการกระทำจริงไหม เราหยิบมาวิจารณ์กันนะคะ มาวิเคราะห์วิจารณ์กันจากสิ่งที่เราได้เห็นมาแล้วจากเพื่อนฝูงของเราหรือจากเหตุการณ์ที่เราได้ประสบ พอเรามาวิเคราะห์วิจารณ์กันเข้ามันก็จะชัดเจนยิ่งขึ้นๆ จากที่เราพูด นี้เขาเรียกเป็นสัมมาวาจา แต่สัมมาวาจาถ้าเราไม่ได้พูดสิ่งที่จะทำให้จิตใจมันมัวเมามืดบอดหรือว่าโง่เขลาไปอีกมันมีแต่จะทำให้จิตใจนั้นฉลาดขึ้นด้วยสติและปัญญา นี่เรียกว่าเป็นสัมมาวาจามันจะนำให้เกิดวาจาที่ถูกต้อง พอวาจาที่ถูกต้องมันก็จะเกิดการกระทำที่ถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้องตามสัมมาทิฏฐิที่ว่าแล้วนี้ก็คือการกระทำที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน และก็เอาตัวฉันมาเป็นใหญ่อะไรๆ ก็ฉันๆๆ ฉันเป็นใหญ่ตลอดเวลา แล้วก็ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวขึ้น นอกจากว่าจะทำให้เกิดการกระทำที่ถูกต้องตามมาแล้วก็จะทำให้เกิดการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง การดำรงชีวิตที่ถูกต้องก็จะตามมาคือตั้งใจปรารถนาจะทำอย่างนั้น ดำรงชีวิตที่ถูกต้องนี่ก็เริ่มตั้งแต่การทำมาหากิน มีอาชีพที่สุจริต ไม่เบียดเบียนใครนั่นอย่างหนี่งล่ะ แล้วก็การดำรงรักษาตนไว้ไม่ให้ตกไปอยู่ภายใต้ของอบายมุข เป็นต้น ไม่ตกภายใต้น้ำเมา หรือว่าติดยาเสพติดต่างๆ หรือว่าการพนัน เล่นม้า หรืออะไรอื่นๆ เหล่านี้ ตลอดจนการคบคนพาล หลีกเลี่ยงการคบคนพาล แล้วพยายามที่จะหาบัณฑิตเป็นมิตรอย่างนี้เป็นต้น นี่ก็เป็นการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง จากนั้นก็จะทำให้เกิดความพากเพียรที่ถูกต้อง พอมองเห็นผลว่าพูดจาถูกต้อง ทำถูกต้อง ดำรงชีวิตถูกต้องมันดีอย่างนี้นะ ก็จะเพิ่มความอุตสาหะพากเพียรที่จะกระทำให้ยิ่งขึ้นด้วยความองอาจ กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มันจะมีอุปสรรคอย่างไรก็ไม่กลัวเกรง ฟันฝ่าเพื่อจะทำให้ดียิ่งขึ้น จากนั้นก็จะมีความระลึกรู้ที่ถูกต้องนั่นก็คือสัมมาสติ คือระลึก พอเกิดการเฉไฉ เกิดใจอ่อน ชักท้อแท้ มันจะไหวหรือมาคุยกันแต่เรื่องขันธ์ 5 ใครๆ เขาก็ฟังกันไม่รู้เรื่อง เห็นจะต้องเปลี่ยนหัวข้อพูดสนทนาซะที คุยเรื่องขันธ์ 5 ไม่มีใครเขาสนใจเขาจะหาว่าเรานี่ชักจะเพี้ยนซะแล้ว มันชักจะเอนเอียงแล้วใช่ไหมคะ ตอนนี้สัมมาสติต้องระลึกรู้ว่า ก็เราเคยเห็นคุณแล้วนี่ เราเคยเห็นคุณของความคิดเห็นถูกต้องแล้ว แล้วถ้าเห็นถูกต้องแล้วมันทำให้ชีวิตเราเบาสบาย ไม่ต้องมาแบกตัวตนนี้ให้หนักไปทั่วทุกหนทุกแห่งใช่ไหมคะ เราก็จะเตือน เตือนให้เกิดกำลังใจ ระลึกรู้สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะที่ตั้งใจปรารถนาอย่างถูกต้องแล้วก็เกิดกำลังใจอยากจะทำต่อไป แล้วก็จะนำเอาความถูกต้อง ถูกสุดท้ายนั่นก็คือความตั้งใจมั่น ความตั้งใจมั่นอย่างถูกต้องว่าจะต้องทำอย่างนี้ให้ตลอดไป แล้วก็ทั้ง 8 อย่าง ท่านก็เรียกว่าเป็นทางดำเนินอันพึงดำเนิน เป็นหนทางอันพึงดำเนินก็จะนำไปสู่ความดับเสียซึ่งปัญหา หรือความดับเสียซึ่งความทุกข์ นั่นก็คือความดับเสียซึ่งความเห็นแก่ตัวทั้งหลาย จะเกิดความไม่เห็นแก่ตัวเกิดขึ้นนั่นเอง ฉะนั้นความสำคัญของจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐินี่นะคะ จึงถือว่าเป็นรากฐานของการดำรงชีวิต ที่จะสามารถทำให้ดำรงชีวิตได้อย่างถูกต้องในทุกสถานะ คำว่าสถานะก็หมายความว่าในทุกฐานะที่เราเป็นอยู่ ไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะอะไร จะอยู่ในฐานะคู่รัก ฐานะพ่อแม่ลูก หรือว่าฐานะเพื่อน หรือว่านายงาน หรือว่าลูกน้อง หรืออะไรก็แล้วแต่ เราจะสามารถทำได้ถูกต้องในฐานะนั้นๆ เพราะว่ามีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ ฉะนั้นจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐินี่นะคะจะต้องรู้อะไรบ้างเพื่อให้ความเป็นสัมมาทิฏฐินั้นหนักแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น ก็ต้องย้อนพูดว่าอันแรกที่สุดก็ต้องรู้ว่าชีวิตคือขันธ์ 5 นี่ทิ้งไม่ได้ ต้องรู้ว่าชีวิตคือขันธ์ 5 ก็เป็นเบื้องต้นทีเดียว พอเรารู้ว่าชีวิตคือขันธ์ 5 แล้วก็ควรจะรู้อีกว่าเครื่องมือของการศึกษาที่ธรรมชาติให้มามีอะไรบ้างทราบไหมคะ ธรรมชาติให้อะไรเป็นเครื่องมือการศึกษามาบ้างที่ติดตัวมามีอะไร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเรียนหนังสือหนังหารู้เรื่องไหมคะ ไม่รู้เรื่องแน่นอนเลย ไม่มีตาจะดู ไม่มีหูจะฟังใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นนี่มันก็หมดหนทางแล้ว นี่คือเครื่องมือการศึกษาจริงๆ นะ ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องสังคม หรือว่าเครื่องมือทางภาษาอังกฤษ หรือว่ากล้องอะไรต่ออะไรมันล้วนแล้วแต่มาทีหลัง อุปกรณ์การสอนเหล่านั้นมาทีหลัง แต่อุปกรณ์การสอนที่ธรรมชาติให้มาคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ธรรมชาติให้มาตั้งแต่เกิดต้องลงทุนซื้อไหม ไม่ต้องเลยไม่ต้องลงทุนซื้อเลยไม่ต้องเสียสตางค์เลยสักสตางค์ แล้วใครได้เคยเอาใจใส่ดูอุปกรณ์การศึกษาอันนี้บ้าง ไม่เลย มัวแต่เสริมสวย ไม่ได้นึก เผลอลืม นี่เพราะอะไร เพราะอะไรที่ได้มาเปล่ามักจะไม่มีค่า ถ้าอะไรที่ต้องเสียเงินน่ะมันมีค่าทั้งนั้นจริงหรือเปล่า นี่จิตของคนที่ตกเป็นทาสของวัตถุ เหมือนอย่างนี้ถ้าเขาพามานั่งฟังธรรมะ ธรรมทานเป็นของให้เปล่า ไม่เอาเงิน ใครมาก็ยินดีให้เปล่าไม่คิดราคา ไม่โก้ไม่ค่อยอยากมาก็ไปคุยไม่ได้ว่านี่ฉันมาเข้าคอร์สธรรมะฉันเสียตั้งหมื่นนึง แต่ถ้าหากว่าไปเข้าคอร์สอะไรสัก 7 วัน ฉันเสียตั้งหมื่นนึงนะ มันใหญ่ขึ้นมาเลย ใหญ่ตรงไหน ใหญ่ตรงเงินราคานั่นเอง โง่หรือฉลาด โง่จริงๆ สิ่งที่มีค่าที่สุดแก่ชีวิตนี่แต่เขาให้เป็นธรรมทานคือเขาให้เป็นทาน เพราะเขาเห็นว่าสิ่งนี้มันควรเป็นทานเพราะมันจะช่วยให้มนุษย์เรามีความสุขมีความเย็นเขาไม่อยากจะคิดราคาค่างวด เขามีใจน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กลับเห็นเป็นของไม่มีค่า ก็เหมือนอย่างตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ธรรมชาติให้มาตั้งแต่เกิดไม่ต้องซื้อไม่ต้องหาเลยกลับไม่เห็นค่าของมัน ไปลงทุนสนใจกับอุปกรณ์การศึกษาที่ต้องลงทุนเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านแล้วก็เห็นว่าสิ่งนั้นสำคัญ ซึ่งไม่นึกดูว่าถ้าปราศจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้วอุปกรณ์เหล่านั้นจะมีคุณค่าอะไร จะใช้ได้ไหม จะใช้เป็น เพราะฉะนั้นนี่แหละคือเครื่องมือของการศึกษาที่ธรรมชาติให้มาตั้งแต่เริ่มต้น และเราใช้กันเป็นแล้วหรือยังคะ ใช้เป็นแล้วหรือยัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใช้เป็นแล้วหรือยัง ใช้ผิดๆ กันเยอะ, ชักไม่แน่ใจใช่ไหมคะทำไมถึงคิดว่าผิดล่ะ เพราะมันต้องมีอะไรเป็นนัยยะบ่งบอกว่าพอเข้ามาคอร์สธรรมะนี่เราต้องรู้ว่ามันต้องมีอะไรผิดแน่ มิฉะนั้นคงไม่ตั้งเป็นประเด็นถาม นี่ถ้าอย่างนั้นก็เรื่องของธรรมะนี่เป็นเรื่องของการจับผิดงั้นหรือคะ ใช่หรือเปล่าเรื่องของธรรมะเป็นเรื่องของการจับผิดหรือ เป็นเรื่องของการบอกสิ่งที่ถูกต้อง นั่นนะสิไม่ใช่เรื่องของการจับผิด แต่มันเป็นข้อที่เรียกว่าช่วยสะกิดใจให้คิดต่างหาก ช่วยสะกิดใจให้คิดต่างหากว่านี่มันถูกหรือเปล่านะ ที่เราเคยทำมาอย่างนี้มันถูกหรือเปล่า ก็ลองนึกดูสิว่า ตามีไว้ทำไม ไว้มองไว้เห็น ตามีไว้เห็นไว้มอง แล้วหูมีไว้ทำไม ไว้ฟังเอาไว้ได้ยิน จมูกมีไว้ทำไม ไว้ได้กลิ่น ลิ้นมีไว้ทำไม ไว้ได้รส กายมีไว้ทำไม ไว้ได้สัมผัส ใจมีไว้ทำไม ใจมีไว้ทำไม เราพูดถึงใจแล้วไง ชีวิตคือขันธ์ 5 ใช่ไหมคะ ชีวิตคือขันธ์ 5 ใจมีไว้ทำไม มีไว้รู้สึกใช่ไหม ใจมีไว้รู้สึก เรามีตาเอาไว้เห็น มีหูเอาไว้ฟังหรือไว้ได้ยิน เราจะฟังหรือไม่ฟังมันก็ได้ยิน แล้วก็ถ้าหากว่าเราตั้งใจจะรู้ว่าสิ่งที่ได้ยินคืออะไรเราก็เพ่งฟัง เอาความสนใจไปเพ่งฟังเราก็จะรู้สิ่งนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้นหูก็เอาไว้ได้ยิน จมูกก็เอาไว้ได้กลิ่น ลิ้นก็ไว้ได้รส และกายก็ไว้ได้สัมผัส ใจก็เอาไว้ได้รู้สึก รู้สึกต่างๆ หรือว่าจะรู้นึก รู้คิด รู้จำ รู้จัก อะไรก็มันก็อยู่ที่ในใจ เราก็ไว้ได้สิ่งนั้น แล้วเสร็จแล้วตานี่ที่มันได้เห็นมันเห็นอะไร ตามันเห็นอะไร เขาเรียกว่าเห็นอะไรคะตา สารพัดจะเห็นเขาเรียกว่าอะไร เขารวมเรียกว่า รูป เขารวมเรียกในคำว่ารูป จะเป็นวัตถุก็ดี จะเป็นคนก็ดี จะเป็นสิ่งของ ต้นหมากรากไม้ก็ดี รวมอยู่ในคำว่ารูป ตานี่ก็เห็นรูป หูก็ได้ยินเสียง ลิ้นก็ลิ้มรส จมูกก็ได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส จมูกได้กลิ่น กายได้สัมผัส ใจได้รู้สึก รู้นึก นั่นก็เรียกว่าเป็นธรรมารมณ์ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 6 อย่าง ท่านเรียกว่าอายตนะภายใน อายตนะก็เป็นเครื่องเชื่อมต่อ หรือเป็นสื่อที่จะรับกับคู่ของมัน คู่ของมันก็มีอีก 6 เหมือนกัน เราเรียกว่าอายตนะภายนอก ก็อย่างที่เราพูดเมื่อกี้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็ธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็คืออารมณ์ ความรู้สึก ที่มันมากระทบกับใจ นี่ก็เป็นธรรมารมณ์ก็เป็นคู่ของมัน อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกมันก็เป็นคู่กันนะคะ เพราะฉะนั้นเครื่องมือการศึกษาที่ธรรมชาติให้มา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เพื่อทำหน้าที่ใช่ไหม ทำหน้าที่เห็น ทำหน้าที่ได้ยิน ทำหน้าที่ได้กลิ่น ทำหน้าที่ได้รส แล้วก็ได้สัมผัส แล้วก็ได้รู้สึก นี่คือหน้าที่ที่มันจะต้องทำ ถ้าหากว่ามันทำเพียงหน้าที่เท่านี้ใจมันควรจะกระโดดขึ้นกระโดดลงไหม ควรไหมคะ ไม่ควร เพราะว่าตาเห็นรูปมันก็รูปใช่ไหมคะ แล้วใจมันก็เฉยมันก็สงบอยู่อย่างนี้ ตามันก็รูป พอหูได้ยินเสียงมันก็เสียง แล้วก็มันเอาสัญญาขันธ์มามันก็อ้อเสียงจักรยานยนต์ แล้วมันก็เฉยๆ มันก็เท่านั้นเอง มันควรจะเป็นเท่านั้นใช่ไหม ถ้าเป็นเท่านั้นจิตใจเป็นไง สบายไหม สงบสบาย แล้วโดยปกติล่ะเราสงบสบายไหม พอได้ยินเสียงสงบสบายไหม พอได้สัมผัสสงบสบายไหม พอได้ลิ้มรสสงบสบายไหม ไม่ มันจะต้องขึ้นๆ ลงๆ ใช่ไหม ถ้ารสอร่อยก็หลงรสอร่อย ถ้าหากว่ารูปสวยก็หลงรูปสวย ถ้าหากว่ารูปน่าเกลียดก็เกลียดรูปน่าเกลียดจิตมันก็ลงต่ำๆๆ ลงไป ใช่ไหมคะ มันไม่อยู่เฉยอย่างนี้ก็เรียกว่าเราได้รู้จักใช้เครื่องมือการศึกษาถูกต้องไม่ถูกต้อง ไม่ได้เรียนรู้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นอันนี้ปัญหาก็เกิดขึ้น ปัญหาเกิดขึ้นอะไร ก็คือมันทำให้ใจนั้นร้อนรน ระส่ำระสาย ชักเย่อไปมา เพราะความถูกใจไม่ถูกใจ เพราะความจะเอาหรือไม่จะเอา เพราะความชอบหรือไม่ชอบ เมื่อตากระทบกับคู่ของมัน กระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบกับสัมผัส อาจจะสัมผัสจากคนบ้าง สัมผัสจากลมบ้าง อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็ใจก็สัมผัสกับธรรมารมณ์ที่มากระทบ มันอยู่เฉยไม่ได้ ที่มันอยู่เฉยไม่ได้นี่เพราะอะไร อย่างเช่นสมมติพอเห็นรูปมันชอบ ใครชอบ ใจฉัน, ใจฉันใช่ไหมมันต้องมาที่ฉัน ฉันชอบๆๆ รูปนี้มันสวย รูปนี้มันถูกใจ รูปนี้มันมีเสน่ห์ใช่ไหมคะ มันใจฉันอีกน่ะ พอได้ยินเข้าไหนฉันเกลียด หนวกหู มันก็ฉันอีก เห็นไหมมันหนีไม่พ้นฉัน เพราะฉะนั้นก็แสดงว่าใจอย่างนี้ รู้จักไหมว่าชีวิตคืออะไร ไม่รู้ นี่พูดว่าชีวิตคือขันธ์ 5 รู้ไหม ไม่รู้ เพราะถ้าเรารู้แล้วละก็จะไปเอาไหม จะไปเอาชอบไม่ชอบ จะไปเอาชังเอาเกลียดเอารักไหม ก็ไม่เอา แต่ว่ามันจะรู้จักให้ถูกคือมันจะรู้จักจัดให้ถูกต้อง พอเห็นรูปเข้า รูปที่สวยมันก็เป็นไง มันก็เป็นเช่นนั้นเอง มันก็สักแต่ว่าเท่านั้นเอง เพราะอะไรมันถึงสักแต่ว่า เพราะมันมีสภาวะของความอนัตตา เกิดดับ มันไม่เคยอยู่เที่ยง เห็นไหมเสียงมันดังประเดี๋ยวมันก็จางหายไป ประเดี๋ยวมันก็มาใหม่ ประเดี๋ยวมันก็จางหายไป มันมีอะไรเที่ยงมีอะไรคงที่บ้าง แล้วเราจะต้องไปเหน็ดเหนื่อยเอาเรื่องกับมันทำไม ไปเหน็ดเหนื่อยเอาเรื่องกับมันทำไม ไปเอาเรื่องกับมันเพื่อให้จิตใจของเราร้อนรนเป็นทุกข์ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร เพราะมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพราะฉะนั้นอันนี้ท่านจึงบอกว่าต้องรู้จักว่าเครื่องมือของการศึกษาที่เขาให้มา ให้มาเพื่อทำหน้าที่เท่านั้นเอง ทำหน้าที่ในสิ่งที่เราจะต้องเกี่ยวข้อง ถ้าสมมติว่าเราไม่มีตาเลยจะเกิดปัญหาไหม ชีวิตมีปัญหาไหม ถ้าเราเกิดมาไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย มีปัญหาไหม ก็ไม่มีสักอย่าง ก็ไม่มีปัญหา ถ้าหากว่ามองในด้านลึกนะคำตอบถูกต้อง คือมองในด้านลึกอย่างชนิดที่ว่าเรามองเห็นธรรมะในขั้นสูงสุดว่ามันไม่มีอะไรจริงๆ เลย มันก็ไม่มีเลย พอไม่มีเลยจริงๆ ทุกอย่างไม่มีปัญหา ตามันก็ยังคงมีของมันอยู่ หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ยังมีของมันอยู่แต่มันมีเพื่อทำหน้าที่แล้วใจเราไม่ยึดมั่นถือมั่น มันมีก็เหมือนไม่มี มันมีก็เหมือนไม่มี รักษาใจแบบนี้เอาไว้นะ รักษาใจที่รู้อย่างนี้เอาไว้ให้ได้นานๆ เอาไว้ให้ได้ตลอดแล้วจิตใจจะไม่เป็นทุกข์ แต่จะสามารถใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่เลย พอต้องการใช้ตาใช้มันเลย ต้องการใช้หูใช้มันเลย ต้องการใช้จมูก ใช้ลิ้น ใช้มันเลย สามารถใช้ได้เลยทันที พอใช้เสร็จวาง ใช้เสร็จวางไม่เกี่ยวข้อง พอต้องการใช้อีกเมื่อไหร่หยิบมาใช้อีก ถ้าทำได้อย่างนี้วิเศษมากเลย เห็นคนสวยก็ชมว่าสวย คือหมายความว่าเราอยากจะชมก็ได้ เราไม่ชมก็ได้ ถ้าชมก็สักแต่ว่าชม เขาเรียกว่าปากอย่างใจอย่างเข้าใจไหม เข้าใจไหมคะ เห็นเขาสวยก็ชมว่าสวยเสร็จแล้วก็ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่านั้น ไม่ได้ไปยึดมั่นถือมั่นกับความสวย ไม่สวยนี่ฉันอยากได้ หรือสวยนี่ต้องเป็นของฉัน แต่ว่าเราพูดไปตามที่เขาบอกว่า ตามภาษาชาวโลกเรียกว่าปากอย่างใจอย่าง คือเรายังอยู่ในโลกยังต้องสมาคมกับเขาก็ต้องพูดจาเหมือนเขาแต่ใจเราไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น แต่ต้องระวังนะว่าที่เราพูดว่าสวยนั่นน่ะไม่ใช่ยกยอ ไม่จะประจบเพื่อจะให้เขาถูกใจหรืออะไร แต่เราพูดไปตามธรรมเนียมของความที่มันเป็นจริงเท่านั้นเอง เสร็จแล้วก็แล้วกัน นี่ถ้าจะพูดว่ามันมีเหมือนไม่มี ถ้าหากว่าทำได้อย่างนี้จริงนะชีวิตจะไม่มีปัญหา เพราะว่าสิ่งที่มันทำให้เกิด เกิดปัญหาขึ้น มันอยู่ที่ไหน ที่ชีวิตมีปัญหาทุกวันนี้อยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอเห็นรูปชอบไม่ชอบ ได้ยินเสียงชอบไม่ชอบใช่ไหม ได้กลิ่นชอบไม่ชอบ ลิ้มรสชอบไม่ชอบ สัมผัสชอบไม่ชอบ รู้สึกชอบไม่ชอบ มันมีแต่เอาไม่เอา อย่างที่เขาเรียกว่าบวกลบๆๆ มันไม่มีอยู่ตรงกลาง เพราะฉะนั้นมันถึงเกิดเรื่อง มันถึงเกิดเรื่อง ฉะนั้นอันนี้จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ ถ้าเราสามารถเรียนรู้ได้ถูกต้องเมื่อไหร่แล้วละก็ชีวิตก็จะไม่มีปัญหาคือสามารถใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามหน้าที่ของมันตามธรรมชาติแล้วก็ไม่ให้มันเกิดเวทนา เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ พอไม่มีเวทนามันก็ไม่มีตัณหาความอยากจะได้ก็ไม่ต้องดิ้นรนใช่ไหม ไม่มีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นก็ไม่ต้องมีความกระเสือกกระสนที่จะต้องไปต่อสู้เอามาให้ได้ ชีวิตนี้มันก็เป็นสุข ก็จะสามารถมีแต่การกระทำที่ถูกต้องได้ ฉะนั้นสิ่งที่ควรจะต้องรู้ของจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐินี้ก็คือว่ารู้ด้วยว่า รู้ว่าชีวิตคือขันธ์ 5 ขันธ์ 5 คืออะไร แล้วก็รู้ว่าความสำคัญของชีวิตอยู่ที่ตรงไหนคืออยู่ที่การกระทำ แล้วก็รู้จักเครื่องมือที่ธรรมชาติให้มาสำหรับการศึกษาตั้งแต่เกิดคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็ใช้มันให้ถูกต้องตามหน้าที่ของมันโดยปราศจากความยึดมั่นถือมั่น และชีวิตนี้ก็เรียกว่ามีการศึกษาที่ถูกต้อง ก็จะมีการดำรงชีวิตที่ถูกต้องต่อไป ก็หวังว่าจะมีชีวิตที่ถูกต้องต่อไปด้วยกันทุกคนนะคะ ธรรมสวัสดีค่ะ