แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ร่วมสนทนา: สวัสดีครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ อยากจะขอพูดถึงเรื่องของสิ่งที่อาจเข้าใจเขวต่อไปนะคะ เพราะสิ่งที่อาจเข้าใจเขวนี้ดูว่าอาจจะเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่ว่ามันก็เป็นอุปสรรคในการที่จะทำให้ จิตนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิได้อย่างเที่ยงตรง หรือว่า อย่างบริสุทธิ์สะอาด คราวก่อนนี้เราพูดกันถึงสิ่งที่อาจเข้าใจเขวเรื่องแรกก็คือเรื่องของธรรมะนะคะ และเราก็สรุปว่า วิธีที่จะเข้าใจเรื่องของธรรมะอย่างง่ายที่สุดนั้นก็คือให้เข้าใจว่า ธรรมะคือ หน้าที่ ตราบใดที่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องในทุกหน้าที่ก็จงภูมิใจเถอะว่า เราเป็นผู้มีธรรมะแล้ว แม้จะไม่เคยมีเวลาไปฟังเทศน์ที่วัด หรือไม่เคยรับศีล หรือไม่เคยทำบุญทำทานด้วยสิ่งของวัตถุเงินทองก็ตาม แต่ตราบใดที่ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง และก็มีความภูมิใจ พอใจว่า สิ่งที่ได้ทำนั้นเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์ นั้นแหล่ะ คือผู้มีธรรม แล้ว นะคะ เพราะฉะนั้นผู้มีธรรมแล้วก็เป็นผู้มีสามารถจะมีธรรมะได้ในทุกที่ทุกโอกาส ตราบใดที่ยังทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ทีนี้ก็อยากจะพูดถึงคำอีกสักคำหนึ่งที่อาจจะทำให้เข้าใจเขว แล้วก็เป็นคำที่ บางคนก็เลยถือเป็นโอกาสพูดว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้คนขี้เกียจ เคยได้ยินไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่เคย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คนปฏิบัติธรรม ไม่ต้องทำอะไร เพราะว่าสอนให้มีความสันโดษ อะไรอะไรก็สันโดษ นี้ก็เป็นความเข้าใจเขว เกี่ยวกับคำว่าสันโดษ ก็อยากจะพูดถึง คำว่าสันโดษนั้น อันที่จริงแล้วในทางพระพุทธศาสนาท่านหมายความว่าอย่างไร คำว่าสันโดษในที่นี้นั้น ท่านหมายถึงว่า มีความยินดี มีความพอใจ มีความอิ่มใจในสิ่งที่เรามีอยู่แล้วเพื่อที่จะเป็นกำลังให้เกิดความสามารถที่จะทำอย่างอื่นให้ยิ่งขึ้นต่อไป เพราะฉะนั้น คำว่าสันโดษในที่นี้ ไม่ได้ความว่า สันโดษอย่างชนิดงอมืองอเท้าไม่รู้จักทำอะไรสักอย่างเดียว จะคอยให้มัน รอให้มันลงมาเองอย่างเดียว ลงจากสวรรค์ เข้ามาสู้หน้าตักของเราเอง ไม่ใช่อย่างนั้น สันโดษในทางพระพุทธศาสนา ท่านบอกว่าต้องเป็นสันโดษที่เกิดขึ้นจากที่ได้มี อิทธิบาท 4อย่างเต็มที่แล้ว อิทธิบาท 4 นั้นก็คือ ธรรมะที่ต้องบอกว่าเป็นรากฐานของความสำเร็จ ถ้าผู้ใดมีอิทธิบาท 4ในการประกอบการงานในชีวิตแล้ว ผู้นั้นย่อมจะต้องมีความสำเร็จ อิทธิบาท 4ก็พูดอีกอย่างหนึ่งก็พูดได้ว่า เป็นธรรมะที่เป็นกำลังแห่งความสำเร็จ นั้นก็คือจะต้องเริ่มต้นด้วยความมีฉันทะ ฉันทะก็คือความรัก เพราะฉะนั้นถ้าจะอยากพัฒนาจิตสำนึกให้เป็นจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ก็ย่อมจะต้องมีความรัก มีความพอใจในความเป็นผู้มีจิตเป็นสัมมาทิฏฐิเสียก่อน นั้นก็คือมองเห็นคุณค่าของความมีจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิว่ามันจะให้คุณประโยชน์แก่ชีวิตอย่างไรและถ้าไม่มี มันจะให้ทุกข์โทษอย่างไร พยายามดูสองด้านเสมอนะคะ ถ้าเราดูอยู่สองด้านเสมอจะเป็นการเปรียบเทียบและก็เป็นการเตือนใจ พอเห็นโทษ จะกลัวโทษไม่กล้าทำ และพอไม่กล้าทำ ก็จะทำสิ่งที่ถูกต้องยิ่งขึ้น ก็เห็นคุณประโยชน์ยิ่งขึ้น จิตใจก็จะมีกำลังใจในการทำ เพราะฉะนั้น ต้องมีสิ่งแรกก็ต้องมีฉันทะก่อน ถ้าหากว่าไม่มีฉันทะ แม้จะอยากปฏิบัติธรรมสักเพียงใดแต่ไม่มีฉันทะในทางธรรม เพราะไปเห็นประโยชน์ของ วัตถุมากกว่าในทางธรรม พูดง่ายๆก็คือมีวัตถุนิยมมากกว่าธรรมนิยม เมื่อตราบใดธรรมนิยมไม่เกิดขึ้น ฉันทะก็ไม่เกิด มันก็จะมีแต่วัตถุนิยม หลงใหล่ในวัตถุนิยม เป็นทาสของวัตถุนิยมยิ่งขึ้นยิ่งขึ้นทุกที ก็ยิ่งห่างไกลธรรมนิยม นั้นก็เป็นฉันทะก็จริง แต่มันเป็นฉันทะที่พาใจตนเองให้ไปสู่ความร้อนทุรนทุราย หรือว่าพูดง่ายๆว่า ใกล้ความเป็นนรกมากยิ่งขึ้นยิ่งขึ้นทุกทีนะคะ เพราะฉะนั้น ฉันทะของอิทธิบาท 4 ต้องหมายถึง ความรัก ความพอใจ ในการที่จะกระทำสิ่งที่ได้มองเห็นแล้วว่ามันมีคุณค่ามันมีประโยชน์ ถ้าเกิดความสำเร็จขึ้นแล้วมันจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตไม่เฉพาะแต่ตัวเองเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องเริ่มด้วยความพอใจเสียก่อน สิ่งนั้นจริงหรือไม่จริง ก็ลองนึกดูถึงตัวเราเองนะคะ ในชีวิตที่ผ่านมา เมื่อเราเรียนหนังสือ เราเรียนวิชาใดได้ดี เช่นเราเรียนคณิตศาสตร์ได้ดีกว่าภาษาอังกฤษ หรือเรียนภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคณิตศาสตร์ เพราะอะไร ก็เพราะเรามีฉันทะในวิชาที่เราเรียน พอเราชอบ เราเรียนได้ เรามีความสนุก เราก็เพิ่มความพอใจลงไปยิ่งขึ้น ความเอาใจใส่ก็มีอยู่ในสิ่งนั้นนะคะ เพราะฉะนั้นฉันทะนี้มันก็จะก่อให้เกิดศรัทธาด้วย เกิดศรัทธา เกิดความเชื่อ เกิดความมั่นใจ ถ้าหากว่าได้เล่าเรียนศึกษาสิ่งนี้แล้วมันจะทำให้ดียิ่งขึ้น ฉะนั้นฉันทะจึงเป็นคุณสมบัติข้อแรกของ อิทธิบาท 4 เพราะจากฉันทะนี้ มันจะนำให้เกิดวิริยะ วิริยะข้อที่สอง ก็คือความพากเพียร ความพากเพียรที่จะทุ่มเทกำลังความสามารถทั้งทางกายทางใจทางสติปัญญา และก็คิดอยากที่เราจะทุ่มเทลงไป เพื่อให้สิ่งที่เราต้องการจะพัฒนานั้นให้เกิดความสำเร็จ เช่นมีความพอใจในการที่จะพัฒนาจิตให้เป็นสัมมาทิฏฐิยิ่งขึ้น ต้องมีวิริยะที่จะใคร่ครวญในลักษณะของ สิกขา คือศึกษาข้างในด้วย ด้วยการดูลงไปด้วยความรู้สึก ให้ใจนี้ได้สัมผัสอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตที่เราได้พูดมาแล้วอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าใช้วิริยะ ความพากเพียรนั้นทุกขั้นทุกตอนทุกเวลาอย่างสม่ำเสมอให้ติดต่อกัน นี้ก็จะเป็นวิริยะที่จะติดตามมา จากวิริยะก็จะมี จิตตะ จิตตะก็ความเอาใจใส่ สอดส่องจดจ่อ อยู่ในเรื่องนั้นเรื่องเดียว คือในเรื่องของธรรมะ พอจะพูด จะคุย จะทำอะไรเกี่ยวกับธรรมะ มันมีความชื่นใจ มันก็มีใจจดจ่อ ไม่อยากคุยเรื่องอื่น ใครจะมาชวนคุยเรื่องวัตถุนิยม ไม่อยากคุย ใครจะมาชวนคุยเรื่องรถยนต์ยี่ห้อใหม่ก็ไม่อยากฟัง ใครจะมาชวนคุยเรื่องหนังเรื่องใหม่ที่มันสนุกเหลือเกิน หรือละครโทรทัศน์มันก็ไม่สนใจ ถ้าจะสนใจก็จะสนใจในแง่ที่ว่าจะหยิบธรรมะอะไรออกมาจากในละครเรื่องนั้นได้บ้าง จะหยิบธรรมะอะไรออกมาจากหนังสือเล่มนั้นได้บ้าง หรือจากชีวิตของคนคนนั้น หรือจากข่าวคราว เหตุการณ์ที่เราอ่านในหนังสือพิมพ์ หรือฟังจากวิทยุ มันมีความใจจดจ่อในธรรมะถึงขนาดนี้นะคะ ถึงจะเรียกว่าเป็น อิทธิบาท 4 ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ และจากนั้นมันก็จะมีวิมังสา วิมังสาก็คือความไตร่ตรอง พิจารณาใคร่ครวญ หาเหตุหาผล ทำไมน้าเราสนใจในทางธรรมะมาก็หลายปีแล้วใช่ไหมคะ กี่ปีแล้วนี่ นับบ้างหรือเปล่า มันหลายปีเต็มที่ ห้าปีหกปี บางคนก็สิบปี บางคนก็สิบกว่าปี ทำไมมันถึงไม่ก้าวไปไหน มันย้ำเท้าอยู่กับที่อยู่เรื่อยตลอดเวลา เรื่องธรรมะนี่ ก็เอาวิมังสา คือมาใคร่ครวญ ไตร่ตรองอะไรน้าที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้ธรรมะของเราไม่ก้าวหน้า มันก็ความกระพร่องกระแพร่งของเรานั้นเอง ถ้าดูไปวิริยะ มันกระพร่องกระแพร่ง มันไม่สม่ำเสมอ ประเดี๋ยวก็วิริยะ ประเดี๋ยวก็ขาดวิริยะ มันไปเองเสียมากกว่า ใช่ไหมคะ ฉันทะ ก็เหมือนกัน มันรัก มันก็ไม่รักตลอดลอดฝั่ง มันรักได้ ประเดี๋ยวมันก็ลืม ไปหารักใหม่ และก็พอรักใหม่ได้ร้อนขึ้นมา ก็เป็นทุกข์ กลับมาหาของเก่า มาดูธรรมะอีก มันกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ นี้มัน ไตร่ตรอง มองดูอุปสรรคด้วย อะไรเป็นอุปสรรค อะไรที่เป็นเครื่องบั่นทอนที่ทำให้จิตใจของเราไม่สามารถที่จดจ่ออยู่กับธรรมะได้ตลอด แก้ไข ขัดเกลา กำจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคนั้นออกไปเสีย หรือบางทีก็ทนความยั่วยวนของวัตถุนิยมไม่ได้ทนความยั่วยวนของสิ่งที่เป็นมายาทั้งหลายไม่ได้ ตกไปเป็นทาสของมัน เพราะว่าไปพบเพื่อนที่เขาเรียกว่าเป็น (ปาปานิ) (ปาปานิ) คืออะไร คือเพื่อนที่จะชักนำไปในทางที่เป็นบาป บาปก็คือหาสิ่งสกปรกมั่วหมองเข้ามาสู่ใจเรื่อยๆ ไม่ได้ชักนำไปในทางที่ดี เผอิญไปพบกับ(ปาปานิ) หรือไปพบกับคนพาลเข้า ก็หลงทางไปอีก หลุดไป หลุดไปจากฉันทะ จากวิริยะในเรื่องของธรรมะ เพราะฉะนั้นไตร่ตรอง ใคร่ครวญดูทุกอย่างว่าอะไรเป็นอุปสรรค ขัดเกลาแก้ไขเสีย ไม่ให้มันมีความขี้เกียจ ให้มีความขยันหมั่นเพียร พยายามที่จะหายใจเป็นธรรมะให้ได้ ลมหายใจทุกขณะนี่ ลมหายใจเข้าก็ธรรมะ หายใจออกก็ธรรมะ หายใจเข้าก็ธรรมะ หายใจออกก็ธรรมะ ไม่ใช่บ้า ถ้าจะบ้า เรียกว่า ดี เพราะเป็นการความบ้าที่จะนำไปสู่ความสิ้นบ้า เข้าใจไหม สิ้นบ้า สิ้นบ้าความเมาในสิ่งที่เราหลงใหล แต่หากเราไปบ้าในเรื่องอื่นสิ มันจะยิ่งจม และก็ตกลงไปในกะทะทองแดงของความบ้าไม่มีวันหลุดพ้นเลย ท่อง แล้วทำไมเราจะต้องไปท่องให้คนอื่นฟังด้วย ไม่จำเป็น ก็เวลาที่เราหายใจนี่ คนอื่นเขาก็หายใจเหมือนกัน และในขณะที่เราหายใจ เราก็รู้ธรรมะ เราก็รู้ธรรมะ ทำไมถึงเป็นธรรมะ ก็หายใจเข้ามันก็แสดงถึงความเกิด ดับ หายใจออกมันก็เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ นี้ก็คือธรรมะ แสดงถึงกฎของธรรมชาติให้เราเห็นใช่ไหม
ผู้ร่วมสนทนา: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าเราสนใจในธรรมะ ธรรมะมันจะติดต่อทะลุปรุโปร่งเลย ทุกอย่างในชีวิตมันเป็นธรรมะ แม้แต่คำพูดก็ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ อยู่ตลอดเวลาเห็นไหมคะ นี่คือวิธีการหายใจในธรรมะเป็นธรรมะ เป็นคำอุปมา เป็นคำอุปมาเปรียบเทียบให้ฟัง เราไม่ต้องท่องหรอกว่า เข้าธรรมะ ออกธรรมะ เข้าธรรมะ ออกธรรมะ นั้นชักจะเพี้ยน ชักจะเพี้ยน ถ้าหากเขาจะว่าเราว่าเพี้ยนมันก็ถูกของเขา มันไม่จำเป็นจะต้องไปทำยังนั้น ถ้าเรารู้สึกเราคลุกคลีอยู่กับเรื่องของธรรมะอยู่ตลอดเวลา และการคลุกคลีอยู่กับธรรมะไม่มีเสียหาย ไม่มีเสียหายเลยสักอย่าง มีแต่ได้กำไร ไม่มีขาดทุนเลย เพราะฉะนั้น วิมังสานี่ก็ไตร่ตรองใคร่ครวญหาอะไรเป็นอุปสรรค อะไรเป็นอุปสรรคขัดเกลามันออกไป อย่าให้มันเหลือตลอดจนทั้งนิวรณ์ รู้จักนิวรณ์หรือยังนะ ต้องรู้จักแล้ว ยกเว้นเสียแต่จะจำไม่ได้นะ ถ้าจำไม่ได้ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องรู้จักนะ นิวรณ์ก็คือเครื่องกั้นที่จะทำให้จิตนี่มันไม่สามารถจะบรรลุถึงความสำเร็จของสิ่งที่เป็นความดีงามทั้งหลายได้เช่น กามฉันทะ ไปติดอยู่ในสิ่งที่ยั่วยุให้ติดในทางเนื้อหนัง ที่ท่านบอกว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส พูดง่ายๆก็ติดอยู่ใน (กามะศีลห้า) พอนั่งอยู่จะสนใจธรรมะ จะหายใจเป็นธรรมะ นั้นก็ลอยมา นั้นรูปสวย นั้นก็เพลงเพราะ นั้นก็รสอร่อย นั้นก็สัมผัสของเขานั้นนุ่มนวลเหลือเกิน อยากจะได้สัมผัสอย่างนั้นบ่อยๆ มันระลึกและก็ถูกใจ ยั่วยวนไปกับสิ่งเหล่านั้น กามฉันทะนี้ พูดง่ายๆก็คือว่า มันเกิดความอยากได้ในสิ่งที่จะให้ความสะดวกความสบาย ความสำราญ ความติดอกติดใจในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ห้าอย่างด้วยกัน นี้ก็มาเป็นเครื่องบั่นทอนทำให้จิตของมนุษย์นี้ไม่สามารถคลุกเคล้าอยู่กับธรรมะได้ตลอดเวลา หรือบางทีก็ตรงกันข้าม นิวรณ์ตัวที่สองก็คือพยาบาท พยาบาทก็คือความครุ่นคิดอยู่ด้วยความไม่ได้อย่างใจ อยากจะได้อะไรที่สวยๆงามๆที่ดีๆเอามาไว้มาเป็นของเรา อยากจะกินอาหารอร่อยๆ อยากจะได้กลิ่นหอมๆ ชอบน้ำหอม ชอบแชมพูดีๆ อะไรเหล่านี้เป็นต้น และมันไม่ได้ มันก็เกิดความขัดใจ เปลี่ยนจากความโลภกลายเป็นความโกรธ ขัดใจ อึดอัด รำคาญ เดือดร้อน ทุรนทุรายอยู่ในใจเพราะมันไม่ได้อย่างใจ ก็เกิดในจิตใจนะคะ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นตัวที่สอง ก็ทำให้จิตใจมันว้าวุ่น เห็นไหมในขณะที่นิวรณ์ตัวแรก กามฉันทะ มันอยากจะได้มาเป็นของเรา ดึงมาเป็นของเรา ตัวที่สองพยาบาทมันไม่เอาเพราะมันไม่ถูกใจ ตัวแรกมันถูกใจอยากได้ ตัวที่สองไม่ถูกใจอยากพลักออกไป เสร็จแล้วก็ มาถึงตัวที่สาม คือ ถีนมิทธะ ท่านบอกว่า เกิดความง่วงเหงาหาวนอน ห่อเหี่ยว แห้งแล้ง มันเรียกว่าจิตตก จิตมันตก มันมั่วหมองอยู่ตลอดเวลา มันหมองหม่นอยู่ตลอดเวลา มันซึมเซ้าซึมตลอด มันอ่อนเปลี้ย มันเพลียแรง มันทำอะไรไม่ได้ จะขยับ จะลุก จะนั่ง มันหนักไปหมดทั้งตัว ทั้งๆที่แข็งแรง ไม่ได้เจ็บป่วย ไม่ได้เป็นอัมพาต ไม่ได้เป็นอะไร แต่มันลุกไม่ไหว มันลุกไม่ไหว เพราะกำลังที่มันขาดที่ตรงไหน มันขาดกำลังอะไร แข็งแรง ร่างการแข็งแรง แต่ขาดกำลังใจ ขาดกำลังใจ ใจมันอ่อนเปลี้ยมันเปลี้ยไปหมด มันเปลี้ยจนมันเกิดความเบื่อโลก เบื่อหน่ายโลก ถ้าร้ายที่สุดก็ รู้สึกว่าชีวิตนี้เหมือนไม่มีหวัง หมดหวัง มองไปทางไหนมันมืดไปหมดไม่เห็นหนทางสว่าง ฆ่าตัวตายได้อีก ค่ะใช่ ฆ่าตัวตายได้อีก เพราะฉะนั้นถึงประมาทไม่ได้ สิ่งที่มาเป็นอุปสรรค เป็นอุปสรรคที่เราต้องดูลงไปให้ชัด ถ้าปล่อยให้เป็นมากๆเข้า มันก็ยิ่งดิ่งลงไป ดิ่งลงไป ดิ่งลงไปจนผลที่สุดชีวิตนี้ไม่มีความหมายล่ะ อยู่ไปทำไม ก็ต้องย้อนกลับมาอีก เพราะคนอย่างนี่ไม่เคยรู้ว่าชีวิตคือมันอะไรใช่ไหม ก็เลยจะมาฆ่าตัวนี้เสีย ทั้งที่ตัวนี้มันเปล่าเลย มันเป็นเพียงเครื่องมือ มันไม่รู้ไม่เห็นอะไรด้วย ใจนี้สิที่เราไม่ได้พัฒนาให้มีกำลัง ให้มันเข้มแข็งมันมั่นคง มันถึงอ่อนเปลี้ยจนกระทั่งอยากจะทำลายตัวนี้เสีย นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิเต็มที่ใช่ไหมค่า ทีนี้จาก ถีนมิทธะ ก็จะไปตรงกันข้าม อุทธัจจกุกกุจจะ นั้นนะเรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน ฟู่ฟ่อง ล่องลอย เพลิดเพลินไปด้วยความฟุ่งซ่าน ความรู้สึกนึกคิดอารมณ์ฟุ่งซ่าน เดือดพล่าน เพ้อเจ้อ ไปที่ไหนก็ไม่รู้ ในขณะที่ถีนมิทธะตกลงไป จิตตก หดหู่ อ่อนเปลี่ย ไม่มีแรง อุทธัจจกุกกุจจะ ก็ฟู่ฟ่องล่องลอย เพ้อเจ้อ ยิ่มแย้มแจ่มใส สร้างวิมานในอากาศ อะไรๆก็ดูจะเป็นไปได้ นั้นก็ของเรา นี้ก็ของเรา ต่อไปเราจะเป็นอย่างนั้น ต่อไปเราจะเป็นอย่างนี้ เพราะจริงๆเข้า เราก็ไม่ได้ไปไหนเลย หรือไม่ก็หล่นลงมาจากสวรรค์ที่เราคิดว่าเรากำลังลอยอยู่ เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม แต่มันก็ทำให้จิตนี้เสียเวลาใช่ไหม แทนที่จะมาได้ใคร่ครวญ และก็คลุกเคล้าอยู่กับเรื่องธรรมะ ก็กลับไปปล่อยเวลาให้เพลิดเพลินเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ต่างกับจิตนาการอย่างไร จิตนาการนั้นถ้าปล่อยให้มันออกนอกทาง ออกนอกทางของหลักการของเหตุผลของความรู้ที่ถูกต้อง มันก็กลายเป็น อุทธัจจกุกกุจจะ ได้ เพราะฉะนั้นจินตนาการ อย่างเช่น จินตนาการของนักเขียน หรือ จินตนาการของศิลปิน ถ้าเขามีขอบเขต เขามีเป้าหมายดี และเขามีขอบเขตเขามีเค้าโครง และเขาก็จะจินตนาการเพื่อให้มันสอดคล้องกับเค้าโครง หรือว่าสังเกตุ ว่ามันอยู่ในกรอบที่เขากำหนดเอาไว้แล้ว แล้วถ้ามันอยู่ในกรอบ วงอย่างนี้มันก็ไม่เป็นอุทธัจจกุกกุจจะ แต่ถ้าหากว่าคิดเผลอเพลินจนล่องลอยลืมหมด เค้าโครงหรือว่ากลอนของเรื่องหรือจุดหมายปลายทางคืออะไรหลุดออกไปเลย จุดหมายปลายทางที่ตั้งไว้ มันคืออะไร หลุดไปเลยก็กลายเป็นอุทธัจจกุกกุจจะ มันก็ต้องระมัดระวังสติสมอง ถ้ามีสติก็จะรู้ขนาดไหนถูกต้อง ขนาดไหนเกินพอดีไปเสียแล้วนะคะ ที่นี้พอจากอุทธัจจกุกกุจจะ ก็จะไปถึงนิวรณ์ตัวสุดท้ายคือ วิจิกิจฉา วิจิกิจฉา ก็คือความลังเล สงสัย ความลังเลสงสัยที่จะเอาอะไรดี ไม่เอาอะไรดี จะใช่ หรือไม่ใช่ จะถูก หรือไม่ถูก จะไปหรือไม่ไป จะใช้ได้ใช้ไม่ได้ ถอยหน้าหรือถอยหลัง ชักกะเย่ออยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากเลย นี้ก็อีกเหมือนกัน แม้แต่ในเรื่องของธรรมะ ก็เกิดวิจิกิจฉาขึ้นได้ อย่างคนบางคนศึกษาธรรมมาก็พอสมควร ปฏิบัติธรรมมาก็พอสมควร เสร็จแล้ววันหนึ่งก็เกิดวิจิกิจฉาขึ้นมา ที่เราปฏิบัตินี้ใช่หรือเปล่า ถูกต้องหรือเปล่า หนทางนี้จะไปนิพพานได้ไหม หรือว่ามันจะไม่ใช่ นี่คือวิจิกิจฉา เพราะฉะนั้นพอวิจิกิจฉาเกิดขึ้นในทางธรรม ท่านก็บอกว่า จงลงมือทำ ทำในสิ่งที่เราได้เรียนรู้แล้วว่าถูกต้อง เราได้ทดลองแล้วว่าถูกต้อง จงทำอันนั้นต่อไปทันที อย่าไปมั่วปล่อยให้ใจตกอยู่ในวิจิกิจฉา ลงมือกระทำทันที และวิจิกิจฉา ก็จะค่อยๆหายไปเอง เพราะมันจะปรากฏความถูกต้อง ประจักษ์ขึ้นมาในใจทีละน้อยทีละน้อย เพราะฉะนั้นสามตัวหลังของนิวรณ์นี่นะคะ ถีนมิทธะ ที่ทำให้จิตใจหดหู่ เหี่ยวแห้ง อ่อนเปลี้ยไม่มีแรงจนกระทั่งเรียกว่า จิตตก จิตมืด และก็ อุทธัจจกุกกุจจะจิตฟู่ฟ่องล่องลอยด้วยความเผลอฝันฟุ่งซ่านเพ้อเจ้อและก็วิจิกิจฉาจิตที่ตกอยู่ในความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ เพราะมันขาดความรู้ขาดประสบการณ์ และก็ขาดความมั่นใจนี้นะคะ ทั้งสามอย่างนี้ มันจะทำให้จิตใจระส่ำระสายเป็นทุกข์มาก น่ากลัวมากและมันจะมีความคิด ลักษณะเป็นวนเวียน วนเวียนเหมือนกับพายเรือในอ่าง ในขณะที่กามฉันทะมันรู้ชัดว่าจะเอา มันชัดเจนว่าจะเอา และก็ความพยาบาท ผลักออกไปเพราะไม่ถูกใจ มันชัดเจนสองอันนี่ แต่สามตัวหลังมันอยู่ในลักษณะของความวนเวียน คือเป็นลักษณะของโมหะ ที่มันไม่รู้ชัดว่ามันคืออะไร วนเวียนเหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง ดีหรือไม่ดี เอาหรือไม่เอา ไปหรือไม่ไป พูดแล้วพูดอีกซ้ำซากอยู่นั้น จนกระทั้งเบื่อหน่ายตัวเอง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขยังไง และก็คิดค้นไป วนเวียนลังเลอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี่มันเป็นตัวอุปสรรคที่จะทำให้ วิมังสา หรือจะทำให้อิทธิบาท 4ทั้งหมดไม่สามารถที่จะบรรลุถึงความสำเร็จได้ จึงต้องดู ฉะนั้นที่บอกว่า วิมังสา ที่เป็นตัวที่สี่ของอิทธิบาทสี่นี้นะคะ คือการใคร่ครวญไตร่ตรองว่าอะไรเป็นอุปสรรค ก็ดูทุกอย่างตลอดจนกระทั่งถึงว่า ในขณะนั้นภายในจิตมีนิวรณ์อะไรมารบกวนอยู่หรือเปล่า ถ้ามีอยู่ก็ขับไล่มันไปเสีย ขับไล่ไปด้วยอะไร ผู้ที่เคยฝึกปฏิบัติอานาปานสติมาแล้วก็รู้ว่าใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือ หายใจเอาจิตมาอยู่กับลมหายใจ หายใจให้แรงเข้าขับไล่อารมณ์หรือว่านิวรณ์ทั้งหลายเหล่านั้นออกไป จนกระทั้งจิตใสสะอาดก็มาตั้งต้นในจิตที่เราทำค้างอยู่นั้นต่อไปให้ถูกต้อง ฉะนั้นวิมังสาก็นอกจากว่าจะใคร่ครวญดูว่าอะไรเป็นอุปสรรคแล้ว ก็ดูอีกว่าแล้วอะไรล่ะจะเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ เช่น หาคบหาเพื่อนที่เป็นบัณฑิต ค้นหาความรู้ให้มากให้เพิ่มเติมมากขึ้นอีก หาประสบการณ์ให้ชัดเจนชำนาญยิ่งขึ้นอีก และก็ฝึกปฏิบัติ และทำมันลงไปให้มากขึ้นอีก ผลที่สุดความสำเร็จมันก็ต้องเกิดขึ้นอยู่ดี ฉะนั้นอิทธิบาท 4ที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้นี้ มายกตัวอย่างในทางธรรมนะคะ แต่ถ้าหากว่าเราจะมายกตัวอย่าง อิทธิบาทสี่ในการทำงาน ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกัน เราจะทำงานอะไรก็ต้องมีฉันทะในการงาน มีวิริยะในการทำงานนั้น คือความพากเพียรทุ่มเทลงไป มีจิตตะเอาใจจดจ่อในการงานนั้น และก็วิมังสา ใคร่ครวญที่จะหาเหตุผลอะไรเป็นอุปสรรคที่บั่นทอนการงาน อะไรที่จะเป็นสิ่งส่งเสริมให้การงานมีความก้าวหน้า และทำสิ่งนั้น และผลที่สุดก็ต้องถึงความสำเร็จ พอสำเร็จแล้วอย่างชนิดเต็มที่ เราทำเต็มที่ ทุ่มเทกำลังกายเต็มที่กำลังใจเต็มที่กำลังสติปัญญาความรู้เต็มที่ ตลอดจนกระทั่งความรอบคอบ เวลา ทุนทรัพย์ คือมีอะไรทุ่มเทลงไปอย่างเต็มความสามารถแล้ว ผลก็เกิดขึ้น ตอนนี้แหละ ท่านบอกว่า จงสันโดษ สันโดษก็คือมีความพอใจ ความอิ่มใจ พอใจในสิ่งที่เราทำมาแล้ว นี้คือสันโดษ สันโดษในทางพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นเราจะมองเห็นได้ว่า สันโดษของพระพุทธศาสนาสอนให้เราขี้เกียจหรือเปล่า ไม่ เปล่าเลย สอนให้งอมืองอเท้าหรือเปล่า เปล่าเลย เต็มที่เลยใช่ไหมคะทำเต็มที่สุดความสามารถแล้วและก็สันโดษ พอใจ ยินดีอยู่ในเพียงเท่านั้น เพื่ออะไรเพื่อให้เกิดความมีกำลังใจที่จะทำสิ่งนั้นต่อไปอีก ถ้าหากว่าไม่สันโดษ เกิดความโลภมาก อยากได้ ตะเกียกตะกายมันก็ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้ลงทุนทำไป มันก็ทำให้หมดกำลังใจ กลายจะเป็นคนท้อแท้ทำอะไรไม่ได้ต่อ เพราะฉะนั้นคนที่สันโดษนี่นะคะ ต่อให้เป็นยาจกเข็ญใจ ทุกคนก็สามารถจะเกิดเป็นเศรษฐีได้ เคยเจอคนที่มีเงินหลายพันล้านนี่ ถ้าขาดความสันโดษก็จะกลายเป็นยาจกอยู่ท่ามกลางกองสมบัตินั้นแหละ จริงไหม เพราะฉะนั้นสันโดษคือคุณสมบัติที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทรงสอนพุทธศาสนิกชนนั้นให้ควรรู้จักคำว่าสันโดษนั้นให้ถูกต้อง หลังจากที่ได้กระทำเต็มกำลังความสามารถอย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแล้ว ก็จงพอใจเทิด เมื่อพอใจแล้วก็จะมีความสงบ สุข เย็น อยู่ในนั้น นี้ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจอาจจะเขวกันไป เพื่อเข้าใจให้ถูกต้อง แล้วจิตนี้ก็จะเป็นสัมมาทิฏฐิยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ธรรมสวัสดีนะคะ