แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ วันนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องของชีวิตต่อไปนะคะ เราพูดเรื่องของชีวิตนี้กันมาหลายครั้งแล้ว ก่อนที่เราจะเริ่มเรื่องต่อไปก็อยากจะทบทวนสักนิดหนึ่ง พอจะนึกออกไหมคะว่าชีวิตคืออะไร อันนี้ทิ้งไม่ได้เลยชีวิตคืออะไร ชีวิตคือขันธ์ห้าค่ะ แล้วขันธ์ห้านี้เป็นอย่างไรคะ มีกี่กอง”
ผู้ร่วมสนทนา: 5 กอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ชีวิตมี 5 กอง ในเมื่อมันเป็นกองๆ อยู่มันมีอะไรให้เรายึดมั่นคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่มี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่มี ก็เชื่อว่าท่านผู้ฟังคงพอนึกได้นะคะ ที่่เราพูดถึง 5 กอง
กองรูป รูปร่าง ร่างกายนี้
กองเวทนา คือ ความรู้สึก ความรู้สึก ชอบไม่ชอบ ได้เสีย สุขทุกข์
กองสัญญา ความสำคัญมั่นหมาย ที่เราได้เรียนรู้มา ที่เราได้เคยพบมา แล้วก็จำเอาไว้ จำเอาไว้
กองสังขาร คือ การคิดการนึกที่มันเกิดขึ้นในจิตของเรา ที่นึกคิดได้สารพัด แล้วก็
กองวิญญาณ ก็คือ กองของการรับรู้ ตามการรู้ต่างๆ นะคะ
เมื่อมันอยู่เป็นกองๆ แต่ละกองก็ทำหน้าที่ของโดยไม่เกี่ยวข้องกัน ยกเว้นกองวิญญาณที่จะเป็นการรับรู้ในเรื่องของความรู้สึก หรือความจำ การคิดต่างๆ เหล่านั้น
เพราะฉะนั้นเมื่อชีวิตเป็นเพียงขันธ์ห้า จึงเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนจำเป็นต้องมีเอาไว้ แล้วก็รำลึกเสมอในใจ และชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ควรพัฒนาหรือไม่”
ผู้ร่วมสนทนา: ควร
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เป็นสิ่งที่ควร แล้วก็ต้องพัฒนาด้วย เมื่อเรารู้ว่าชีวิตเป็นสิ่งที่ควรพัฒนา จึงทำให้มนุษย์รู้สึกว่าชีวิตนี้มีความหมาย ชีวิตนี้มีคุณค่า ชีวิตนี้มีความหวังอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ต้องหวัง ทำไมถึงไม่ต้องหวัง เพราะหวังแล้วเป็นยาพิษ หวังแล้วเป็นยาพิษ มันดื่มยาพิษ จิบยาพิษทีละนิดทีละนิด ชีวิตย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้ารู้แต่เพียงว่าคุณค่าหรือความสำคัญของชีวิตอยู่ที่ตรงไหนคะ
ผู้ร่วมสนทนา: อยู่ที่การกระทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อยู่ที่การกระทำ ความสำคัญของชีวิตไม่ได้อยู่ที่ขันธ์ห้า ขันธ์ห้าเป็นแต่เพียงเครื่องมือ เป็นแต่เพียงส่วนประกอบของชีวิต แต่คุณค่าของชีวิตมันอยู่ที่การกระทำ แล้วการกระทำจะถูกต้องหรือการกระทำจะไม่ถูกต้องเกิดจากอะไร
อย่างที่เคยยกตัวอย่างให้ฟังว่า คนเราพอโกรธกัน ไม่ชอบใจกันก็ ถึงกับเข่นฆ่ากัน ยิงทิ้งกัน ฟันทิ้ง แทงทิ้งไม่พอ ก็ยังหั่นเป็นท่อนๆ แล่เนื้อออก เอาใส่กระสอบ แบะท้องเอาลำไส้ออกมา สารพัด น่ากลัว ยิ่งทำให้เข้าใจว่า ที่ทำให้แค้นคืออะไร คือตัว คือตัวตนของคนๆ นั้น ที่พอโกรธกันตัว ตัวนี้ ตัวนี้ทำให้ความแค้น เพราะคิดว่าฆ่าตัวนี้คงจะหายแค้น หายไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่หาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ไม่หาย มันเจ็บใจ ยังนึกอยู่นั้นแหละ ทั้งที่ตายไปแล้ว ยังอยากเรียกให้เกิดมาใหม่ จะได้ไปฆ่าฟันอีก สับอีกให้สมใจ แต่ก็ไม่หาย นั่นเพราะสิ่งที่มันฝังอยู่ในใจนั่นคืออะไร ที่ทำให้แค้นนั้นคืออะไร”
ผู้ร่วมสนทนา: การกระทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: การกระทำ การกระทำต่างหากที่ทำให้คนเรารักกัน นับถือกันก็เพราะการกระทำ ทำให้เกลียดกันจนทนกันไม่ได้ก็เพราะการกระทำ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าจะฆ่ากัน ต้องฆ่าอะไร ต้องฆ่าการกระทำที่ผิดนั้น ที่ไม่ถูกต้อง ให้เป็นการกระทำที่ถูกต้อง ก็คือการกระทำที่จะเกิดประโยชน์ ไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ การกระทำที่ถูกต้องก็จะต้องเกิดจากอะไรค่ะ ต้องอาศัยอะไร”
ผู้ร่วมสนทนา: สัมมาทิฏฐิ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: สัมมาทิฏฐิ ต้องอาศัยจิตที่มีจิตสำนึกอันเป็นสัมมาทิฏฐิ
ทิฎฐิ ก็คือการคิดเห็น
สัมมาทิฎฐิ ก็คือการคิดเห็นที่ถูกต้อง
ความคิดเห็นที่ถูกต้องในทางธรรม ท่านหมายถึงความคิดที่คิดแล้วไม่ทำให้ใจเป็นทุกข์ เมื่อใดที่คิดแล้วใจทุกข์ หมั่นไหว กระทบกระเทือน ไม่มีวันสงบเลย ในทางธรรมท่านบอกว่าขณะนั้นเป็นการคิดที่เป็นมิจฉาทิฎฐิ ถ้าเรารำลึกไว้อย่างนี้เสมอ พอเรารู้สึกว่าจิตไม่สบาย ก็ดูลงไปเถอะว่าที่ทิฎฐิขณะนี้ คือทิฏฐิอะไร
ถ้าเป็นทิฐิที่ทำให้ใจไม่สบายมันก็เป็น ‘มิจฉา’
ถ้าทำให้เรายิ้มแย้มเบิกบานพอใจในการที่เราได้กระทำ อันนั้นก็เป็น ‘สัมมา’
ฉะนั้นเราต้องสร้างที่การกระทำ ก็คือสร้างทิฏฐิที่ถูก ที่เป็นมิจฉาให้มาเป็นสัมมา คือคิดให้ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนใคร แล้วก็จะได้พูดถูกต้อง คือพูดในลักษณะที่ทำให้เกิดประโยชน์ แล้วก็มีการกระทำที่ทำให้เกิดประโยชน์ ฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในชีวิตนี้ คือจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐินะคะ
ที่เราได้พูดกันมาหลายตอนแล้ว แล้วถ้าหากว่าเราสามารถจะมองเห็นได้ว่าคุณค่าหรือความสำคัญของชีวิตนั้นอยู่ที่การกระทำอันนี้แหละเป็นวิธีการหรือเป็นหลัก ที่ทำให้ชีวิตของเรามีความสอดคล้องกับธรรมะ ที่สุดเลยทีเดียว
เพราะความหมายของคำว่า ‘ธรรมะ’ โดยสรุป นึกออกไหมคะคืออะไร”
ผู้ร่วมสนทนา: หน้าที่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ความหมายของคำว่า ‘ธรรมะ โดยสรุปนะคะ ก็คือทำคำว่า ‘หน้าที่
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าผู้ใดสามารถจะทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง ตรงตามความรับผิดชอบ โดยไม่เอาตัวเองเข้ามาเป็นสำคัญ ไม่มีการเบียดเบียนใคร มีแต่จะให้ จะไม่นึกอยากจะเอาอะไรให้ได้อย่างใจของเรา แม้แต่การเอานั้นจะไม่ใช่เป็นการเอาของวัตถุ เอาความรัก เอาความนิยมชมชอบ เอาการชื่นบานยกย่อง เราไม่เอาทั้งนั้น แต่เรารู้ว่าถูกต้อง เราก็ทำ
หากเราทำได้อย่างนั้น จิตใจเราจะไม่หวั่นไหวเลย แล้วก็จะไม่มีความรู้สึกกลัวอยู่ในใจด้วย ถ้าเราแน่ใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนเขาจะรับได้หรือไม่ได้ ทำได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับกาละเทศะและเวลา ซึ่งเราผู้กระทำไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเหมือนกัน เพราะฉันนั้นเราก็ต้องรู้จักกาละเทศะที่เหมาะ ที่เหมาะเจาะ รู้จักบุคคลที่เหมาะสม ก่อนที่เราจะกระทำจริง เราจึงต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ฉะนั้นก็ขอเน้นนะคะว่า การที่เราจะต้องสร้างจิตสำนึกเพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐินี้เป็นสิ่งที่สำคัญ
วันนี้ก็อยากจะพูดเน้นมาในประเด็นที่ว่า การสร้างจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เรียกได้ว่าเป็นการเริ่มต้น เป็นการการเริ่มต้นของชีวิตที่นำไปสู่ความถูกต้อง ที่นี้วิธีที่เราจะเริ่มในการสร้างจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ หรือเราควรจะเริ่มที่ไหนเป็นอย่างแรก ให้นึกดูนะคะ ชีวิตของเรา เราเกิดที่ไหนเป็นแห่งแรก”
ผู้ร่วมสนทนา: เกิดที่บ้าน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็เกิดที่บ้าน พูดง่ายๆ ใช่ไหมคะ เกิดที่บ้าน ชีวิตของเราเกิดที่บ้าน เพราะฉะนั้นการจะอบรมจิตใจให้เป็นสัมมาทิฏฐิ มันก็ต้องเริ่มจากที่บ้านเป็นแห่งแรก ถ้าหากว่าที่บ้านสามารถอบรมจิตใจของลูกให้อยู่ในร่องรอยหรือท่วงทำนองของสัมมาทิฏฐิอยู่เสมอ ตั้งแต่เริ่มแรกได้ พ่อแม่จงเตรียมใจเถอะว่า เราได้ให้ทรัพย์สมบัติมีค่าแก่ลูกแล้วที่เรียกว่าเป็น อริยทรัพย์ ให้มรดกที่ล้ำค่าแก่ลูก
มีแต่จะไปคิดทำมาหากินนะคะแล้วก็ไม่ได้ปล่อยให้ตาย มีเงินฝากธนาคารให้ลูกเป็นร้อยๆ ล้าน แล้วคิดแต่จะหาหนทางจะหาเงิน ทำอย่างไรจะกอบโกยเงินได้มา เพื่อจะได้เก็บมรดกไว้ให้ลูก แต่ถ้าลูกเป็นจิตที่เป็นมิจฉาทิฐิ เงินร้อยล้านพันล้านในธนาคารไม่นานเลยอย่างมากเดือนเดียว ช้าหน่อยปีเดียว ที่พ่อแม่หาแล้วล้มประดาตายนี่นะ ไม่มีความหมาย
แต่ถ้าให้สิ่งที่เป็นสัมมาทิฏฐิ หล่อหลอมสิ่งที่เป็นสัมมาทิฏฐิแก่ลูก ให้ลูกรู้จักคิดถูกต้อง พูดถูกต้อง กระทำถูกต้อง ในสิ่งที่เกิดประโยชน์ นั่นแหละ เขาก็ใช้ชีวิตที่ประกอบด้วยสติและปัญญา ทำมาหากินให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง แล้วก็ยังจะเกิดประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วย เพราะฉะนั้นก็กล่าวได้ว่า ที่ท่านพูดว่า พ่อแม่นั้นเป็นครูคนแรก พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูกก็เป็นความจริงอย่างนี้นะคะ แล้วถ้าจะบอกว่าพ่อแม่มีเพียงหน้าที่แต่เลี้ยงลูกให้โต มีลูกแล้วก็เลี้ยงลูกให้โตอันนั้นมันก็ใช่นะคะ คือมันใช่ส่วนหนึ่ง แล้วก็จะบอกว่าส่วนน้อยด้วย แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือว่า จะเลี้ยงลูกอย่างไรถึงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่ยังเป็นเด็กตลอดกาล 60 ก็ยังเป็นเด็กไม่รู้จักโต 80 ก็ยังเป็นเด็กไม่รู้จักโต มีลูกมีหลานก็ยังเป็นเด็กอยู่นั่น การกระทำก็ยังเป็นเด็กทั้งๆ 80 90 หรือถึงจะ 100 ก็มี
ผู้ร่วมสนทนา: มีอยู่ครับอาจารย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มี เราก็หันไปมองดูเถอะรอบๆ ตัวเรา ในที่ทำงานของเรา ในที่ทำงานของเรา ทำอะไรที่ทำงานของเรา ในออฟฟิศของเรานี้ประกอบไปด้วยจิตใจที่เป็นผู้ใหญ่ เขาทะเลาะกันไหม
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่ทะเลาะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ต้องทะเลาะกันเลย นี่ผู้ใหญ่ใจเด็ก อย่างที่พระฝรั่งองค์หนึ่งท่านพูด แล้วก็ได้เคยเล่าให้ฟังแล้วจำได้ไหม ที่ท่านมาบวช ท่านเป็นฝรั่งหนุ่มๆ จบจิตวิทยาแล้วก็ได้เกียรตินิยมด้วย แล้วก็ท่านก็มาบวชตั้งแต่ยังหนุ่มอายุ 27 เศษๆเท่านั้น ยังไม่ 30 เลย แล้วก็มีคนไปถามท่านว่า ทำไมท่านถึงบวช ทำไมท่านถึงมีชีวิตอยู่อย่างนี้ ในเมื่อท่านมีหนทางที่จะหาความเจริญให้กับตัวเองได้ตั้งเยอะแยะเลย ท่านก็ พูดง่าย ๆ คือท่านก็เบื่อ เบื่อสังคมที่มีความเจริญ มีอารยธรรมสูง มีการศึกษาสูงในประเทศของท่าน ท่านบอกว่ามันเต็มไปด้วยผู้ใหญ่ใจเด็ก หาผู้ใหญ่ที่มีความเป็นใจเป็นผู้ใหญ่ไม่มีเลย มีแต่ผู้ใหญ่ใจเด็กเต็มไปทั้งสิ้นเลย ไม่ว่าจะๆ แก่สักแค่ไหน เพราะว่าผู้ใหญ่ใจเด็กนี่แหละ คือผู้ที่ทำให้เกิดปัญหาของสังคม นั่นเพราะอะไร ก็เพราะว่าเขาได้รับการอบรมไม่ถูกต้องว่า ควรจะมีจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิอย่างไร จึงจะนำความสุขมาเกิดขึ้นแก่ชีวิตได้
ผู้ใหญ่ใจเด็กก็คือ ผู้ใหญ่ที่คิดจะเอาแต่ใจตน พูดอย่างง่ายๆ นะคะ เพื่อเข้าใจนะคะ จะทำอะไรก็จะเอาให้ได้อย่างใจของตัว ฉันชอบอะไรฉันจะเอาเดี๋ยวนั้นทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดไม่ต้องเจียระไนให้ได้ สรุปลงด้วยความว่า เมื่อบุคคลใดปรารถนาที่จะทำอะไรเพื่อจะเอาให้ได้อย่างใจตน ก็จงรู้เถิดว่ายังว่าไม่โตเลยนะคะ ยังไม่โต แม้จะจบปริญญาเอกก็ยังไม่โต แม่จะได้ตังค์ แม้จะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายถึงร้อยถึงพันล้านมันก็ยังไม่โต แม้จะมีตำแหน่งใหญ่โตจนถึงขนาดไหนก็ตาม ก็ยังเป็นเด็กอยู่นั่นเอง”
ผู้ร่วมสนทนา: แล้วถ้าผู้ใหญ่ใจผู้ใหญ่เป็นอย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วถ้าผู้ใหญ่ที่ใจเด็กนะคะไปนั่งเก้าอี้ที่ตรงไหน ก็ทำให้เก้าอี้ตรงนั้นร้อน แล้วคนที่นั่งใกล้ๆ เก้าอี้ตัวนั้นก็คอยถูกเผาไหม้ไปหมดด้วย น่ากลัวไหม
ผู้ร่วมสนทนา: น่ากลัวมาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทีนี้ ผู้ใหญ่ใจเป็นผู้ใหญ่ คำว่าใจเป็นผู้ใหญ่นี่นะคะ ไม่จำเป็นหรอกที่ว่าจะต้องเป็นคนที่อายุมากแล้ว เด็กก็มีใจเป็นผู้ใหญ่ได้ เหมือนอย่างวันก่อนที่เล่าเรื่องแอร์ให้ฟัง จำได้ไหม ว่าเด็กแอร์คนนั้น อายุเขายังไม่ถึง 10 ขวบเลย 6 -7 ขวบ เท่านั้นล่ะ แต่เขารู้ว่าเขาจะเลี้ยงเป็ด เลี้ยงลูกเป็ดก่อน แล้วก็เอาไปขาย พอขายได้เงินมาจะไปซื้อหมู แล้วเลี้ยงลูกหมูจนโตแล้วก็จะเอาไปขาย แล้วก็เอาเงินไปซื้อลูกควาย พอลูกควายโตก็จะเอาเงินไปซื้อลูกช้าง สุดท้ายจะเอาเงินไปซื้อช้าง เรื่องเด็กแค่นี้ เขามีความคิด เพราะเขาอยากได้ช้าง อยากจะขี่คอช้าง แต่ทว่าไม่ได้ขี่สักทีเพราะคือพ่อก็ไม่มีเวลาที่จะเอาพาลูกไปขี่คอช้างเสียที เขาก็คิดหาวิธีของเขา ไม่เดือดร้อนใคร ไม่ต้องให้ใครเดือนร้อนเลย แต่เขารู้จักทำของเขาตามลำดับขั้น ซึ่งไม่มีใครสอน ซึ่งมันอาจจะเป็นในน้ำในเนื้อ ในธรรมชาติชาติของเขาเอง เขารู้จักของเขาทำทีละขั้น ทีละน้อย ที่ละน้อยๆ โดยตัวเองไม่เดือดร้อน เราบอกได้เลยว่า แอร์นี้เป็นเด็กที่มีสัมมาทิฏฐิ เพราะว่าเมื่อเขาอยากจะได้อะไรที่เขาจะรู้ว่าเป็นสิ่งที่เขาปรารถนา เขาไม่ก่อความเดือดร้อน หรือไม่เบียดเบียนคนอื่น แต่พยายามกระทำเหตุไปทีละขั้นทีละขั้นซึ่งสอดคล้องหลักธรรม
หลักธรรมของพระพุทธศาสนา เพราะว่าเป็นกฎของเหตุและผล กฎอิอิทัปปัจจยตา ที่เราเคยพูดกันนะคะ เพราะอันนี้ยังอยู่ในหัวข้อนี้นะคะถึงแม้ว่าเราจะยังมีผู้ใหญ่ใจเด็ก เเต่ราก็บอกได้ว่าการกระทำของเขาสอดคล้องกับหลักการปฏิบัติ การปฏิบัติของเขาสอดคล้องกับหลักอิทัปปัจจยตาอย่างชัดเจนทีเดียว เพราะว่าในพระพุทธศาสนานั้นท่านเน้นในเรื่องว่า เมื่อต้องการผลอย่างไร เพียรกระทำเหตุให้ถูกต้อง คือ ประกอบเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง ถ้าเหตุปัจจัยถูกต้องแล้วผลก็ย่อมจะถูกต้อง
เมื่อใดผลไม่ถูกต้องคือหมายความว่าเมื่อใดผลไม่ตรงตามใจของตน ก็จงไปดูเหตุ ว่าเราไปทำเหตุอะไรผลมันถึงไม่เป็นอย่างนั้น คือผลไม่ถูกต้องก็คือ ผลมันทำให้จิตใจเราร้อนรน ไม่มีความสุข ไม่มีความสบาย ไม่มีความปลอดโปร่ง นั่นก็คือเหตุมันไม่ถูกต้องแล้ว นอกจากว่า ถ้าจะรู้จักทำเหตุปัจจัยถูกต้องแล้ว เราก็ยังเห็นอีกว่า เขาตรงกับอริยมรรคมีองค์ 8 คือก็วางใจให้เขาอยู่ได้เป็นกลาง เมื่อใจมันอยู่ตรงกลาง ไม่สุดโต่งซ้าย ไม่สุดโต่งขวา ใจนั้นมันก็เป็นใจสบายมีความปลอดโปร่ง ฉะนั้นเราก็จะเห็นว่า เรื่องของธรรมะนั้นมันเป็นเรื่องของชีวิต มันอยู่ในชีวิต แล้วคนจะมีจิตที่เป็นธรรมะได้ หรือมีคุณธรรมเกิดขึ้นในใจได้ ก็ต้องอาศัยจิตที่เป็นจิตสำนึกที่มีสัมมาทิฐิ แล้วก็จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะได้กันได้รับการอบรมลี้ยงดูจากที่บ้านมาเป็นสิ่งแรก ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า พ่อแม่นี้เป็นครูคนแรกของลูก
ที่นี้เมื่อพูดถึงว่า คนเป็นพ่อเป็นแม่อยากจะให้ลูกมีคุณธรรมอะไรเป็นข้อแรก ลองนึกถึงผู้ที่เป็นพ่อแม่ จิตใจที่เป็นพ่อแม่ จิตใจอยากให้ลูกมีคุณธรรมอะไรในพ่อแม่
ผู้ร่วมสนทนา: กตัญญูกตเวที
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ที่นี้พ่อแม่มีไม่น้อยเลยจะเห็นว่า ลูกเราไม่รู้จักกตัญญูกตเวที ไม่รู้คุณ พ่อแม่บางคนก็ว่าไปถึงว่าลูกนี้เนรคุณ ลูกพูดอย่างนั้นนี่ ไม่ทราบว่าคุณพ่อคุณแม่เคยคิดบ้างไหมว่าทำไมลูกเราถึงไม่มีความกตัญญูต่อตัวเอง เพราะอะไร จะเป็นไปได้ไหมว่าลูกนั้นอาจจะไม่เคยเห็นตัวอย่าง ความกตัญญูกตเวทีนั้นมันคืออะไร ความกตัญญูที่จะรู้คุณของพ่อแม่นั้นคืออะไร อาจจะเป็นเพราะว่าไม่เคยเห็นตัวอย่าง ในบ้านนั้นอาจจะมีคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายอยู่ในบ้านก็ได้ใช่ไหม คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายก็คือคุณพ่อคุณแม่ของเด็ก คือคุณพ่อคุณแม่ของพ่อคุณแม่ของเด็กนี่ ทีนี้ก็ไม่เห็นนี่ ไม่เห็นว่าคุณพ่อคุณแม่กตัญญูต่อคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายอย่างไร ลูกก็ไม่รู้ ไม่รู้วิธีที่จะกตัญญูต่อคุณพ่อคุณแม่ แต่คนเป็นพ่อแม่ก็อยากได้ อยากได้ความกตัญญูรู้คุณ อยากได้ความเอาใจ อยากได้ความเชื่อฟังจากลูก ถ้าหากว่าลูกทำอย่างนั้นพ่อแม่ก็มีความสบายใจ ถ้าลูกผู้ใดทำได้อย่างนั้นก็เรียกว่าทำหน้าที่ของลูกอย่างถูกต้อง เพราะสามารถจะนำความสบายใจมาสู่ลูกได้ ฉะนั้นอันนี้ ความกตัญญูกตเวที ท่านถือว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญ เป็นคุณสมบัติที่มีค่าของมนุษย์ จะทำให้มนุษย์มีคุณค่าของชีวิตได้ ที่เกิดมาเป็นคนรู้จักกตัญญูกตเวที
ที่นี้ถ้าเราพูดโดยอย่างแคบๆ ก็จะมองว่าความกตัญญูกตเวทีแก่บุคคลเป็นสิ่งสำคัญ ก็จริงนะคะไม่ใช่ไม่จริง แต่อันที่จริงแล้วท่านบอกว่า ความกตัญญูกตเวทีที่เกิดสุขนี้ไม่ใช่ว่าจะมาเกิดแต่เฉพาะกตัญญูกตเวทีกับคนเท่านั้น เกิดกับผู้ที่เป็นบุคคลเท่านั้น แต่ควรจะรู้จักกตัญญูกตเวทีต่อทุกสิ่งที่เราเกี่ยวข้อง ต่อทุกสิ่งที่เราเกี่ยวข้อง เหมือนอย่างเวลานี้ถ้าเราจะมองดู ไม่ต้องเวลานี้ทุกเวลาเลย เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยอะไรบ้าง ต้องการอากาศบริสุทธิ์ใช่ไหมคะ เราอยากได้อากาศบริสุทธิ์ เรารู้สึกกตัญญูต่อที่นั่งที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ เพราะว่าเราได้หายใจสบาย แต่เมื่อเราออกไปตามท้องถนน ยากเหลือ เกินที่เราจะได้หายใจสบายด้วยอากาศบริสุทธิ์ เรากตัญญูต่ออากาศบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นใครจะมาทำลายอากาศให้เสีย กลายเป็นอากาศที่เป็นพิษ คนนั้นแหละเป็นคนที่อกตัญญู อกตัญญูต่อธรรมชาติที่ได้ให้สิ่งที่บริสุทธิ์สะอาด เราต้องการอาการที่บริสุทธิ์เพื่อกินเข้าไปแล้วจะได้ทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่เราก็ไม่ค่อยจะได้ เวลานี้จะกินอะไรก็มักจะสะดุ้ง เราจะสะดุ้งนี่มันกินแล้วตายผ่อนส่งหรือเปล่าใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร อากาศไม่บริสุทธิ์ อาหารไม่บริสุทธิ์ น้ำไม่บริสุทธิ์ หรือแม้แต่ดินก็ไม่ใช่จะบริสุทธิ์ เพราะมันเต็มไปด้วยไสิ่งอะไรที่เป็นพิษลงไป ปนลงไป อย่างเช่น พลาสติก อย่างนี้เป็นต้น ที่ปนลงไปในดินในทราย ทำให้ดินเสีย มันเกิดจากอะไร ใครทำลาย นี่คือความอกตัญญูของคนที่ไม่เคยได้ศึกษาธรรม จึงมีแต่ความเห็นแก่ตัว ก็ต้องบอกได้ว่านี่เพราะเขาไม่เคยได้รับการอบรมสั่งสอน ไม่เคยได้รับคำแนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่เคยเห็นตัวอย่าง
ถ้าเราเพียงแต่กตัญญูต่อสิ่งแวดล้อม กตัญญูต่อทุกสิ่งที่เราเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะสักตัว เก้าอี้สักตัวหนึ่ง หรือว่าจานช้อนส้อม เสื้อผ้า ตลอดจนกระทั่งร่างกายที่ทำเราสามารถเดินเหิน ทำอะไรได้อย่างที่เราต้องการ จะเรียนหนังสือก็ไปเรียนได้ จะทำงานก็ทำได้ อยากจะไปเล่นสนุกก็อะไร ก็อาศัยร่างกาย ก็ควรจะมีความกตัญญูต่อร่างกายนี้ ด้วยการรักษาร่างกายนี้ให้ถูกต้อง คือด้วยความที่ถูกต้อง บริหารกายที่ถูกต้อง พักผ่อนนอนหลับให้ถูกต้อง อย่างนี้เป็นต้น
ถ้าหากว่าคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน รู้จักแนะนำลูกใส่ใจลูก คือกตัญญูกตเวทีต่อสิ่งที่เกี่ยวข้อง แค่นี้ลูกจะค่อยๆซึมซาบ แล้วก็รู้ว่า เหมือนอย่างเขาจะกวาดบ้าน พอจะกวาดบ้าน เขาจะไปหยิบไม้กวาด ไปเอาไม้กวาดมา กวาดๆๆ พอกวาดเสร็จก็โยนทิ้งไป กตัญญูไหมต่อไม้กวาด ขนาดกตัญญูต่อไม้กวาดยังทำไม่ได้ มิหนำซ้ำยังดูถูกว่ามันเพียงไม้กวาด แต่เมื่อไรที่เกิดความสกปรก มันเดินหาอะไร เดินหาไม้กวาด วิ่งหาผ้าขี้ริ้ว เพื่อจะมาเช็ดพื้น เพื่อจะมากวาดพื้น แต่พอใช้เสร็จไม่กตัญญูเลย เอาไปทิ้งขว้าง มันก็เสียเลย เสียหายเลย ทำลายเลย แล้วก็ต้องไปเสียเงินไปซื้อใหม่ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ ถ้าหากว่าเด็กๆได้รับการอบรมที่บ้าน ให้มีความกตัญญูรู้คุณต่อสิ่งเขาเกี่ยวข้อง ต่อสิ่งที่แวดล้อมทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว เชื่อไหมว่าเด็กจะได้รู้จักกตัญญูต่อคุณพ่อคุณแม่ หรือต่อพี่น้อง หรือต่อครูอาจารย์ หรือต่อสังคม หรือต่อทุกสิ่งทุกอย่างมีบุญคุณต่อชีวิตของเขา เพราะว่าคนเราไม่สามารถจะอยู่คนเดียวในโลกได้ เราจะต้องอยู่ร่วมกันเสมอ แม้ว่าเราจะชอบความวิเวก แม้ว่าเราจะชอบอยู่ลำพัง ผลที่สุดเราก็ต้องมีความเกี่ยวข้องกัน ไม่มากก็น้อย
เพราะฉะนั้นในการเกี่ยวข้องกันนั้น เราจะเกี่ยวข้องกันได้ด้วยความสุข แล้วก็ด้วยความกลมกลืนกัน ก็ต้องอาศัยความกตัญญูต่อกัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มีความสำคัญมาก อันที่จริงพ่อแม่นั้นก็ปรารถนาที่จะให้ลูกมีคุณธรรมอื่นๆ อีกมาก แต่ถ้าหากเริ่มต้นด้วยการมีกตัญญูกตเวทีเป็นพื้นฐานหรือเป็นคุณธรรมข้อแรก เท่านี้ก็เป็นการเริ่มต้น เรียกว่าให้ลูกเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งในชีวิตหรือว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งรอบชีวิตเขาได้แล้ว
เพราะถ้าหากเขามีความกตัญญูแล้ว เขาจะไปทำงาน เขาก็จะย่อมจะไม่เป็นตัวปัญหา ไม่ไปเป็นตัวปัญหาในที่ทำงาน เพราะอะไรเพราะเขาจะกตัญญูต่อที่ทำงาน ต่อผู้บังคับบัญชา ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อผู้ที่เป็นผู้น้อยกว่า เช่น ภารโรง คนงาน เป็นต้น เพราะเขาจะรู้ว่าถ้าขาดบุคคลเหล่านี้แล้ว งานไม่สามารถจะดำเนินไปได้ เห็นไหมคะความกตัญญูกตเวทีอย่างเดียวนี้ ท่านอาจารย์สวนโมกข์บอกว่าจะทำให้โลกเรานี้รอดอยู่ได้ โลกจะรอดด้วย แม้ด้วยความกตัญญูกตเวที เพราะฉะนั้นแค่เพียงแต่สร้างเสริมคุณธรรมข้อนี้ข้อเดียวเท่านี้ก็เรียกว่าเป็นการสร้างสมให้ลูกได้มีจิตที่มีสัมมาทิฏฐิเต็มที่แล้ว เพราะฉะนั้นคนที่เป็นพ่อแม่นั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเป็นคนที่เข้มแข็ง มั่นคง แล้วก็กล้าหาญด้วย กล้าหาญอะไร กล้าหาญที่จะอบรมลูก ฉะนั้นในการอบรมลูกนะมันจะต้องมีทั้งปลอบทั้งขู่ ต้องมีทั้งไม้แข็งมีทั้งไม้อ่อน จะเอาไม้อ่อนอย่างเดียวลูกก็เหลิง จะเอาไหมแข็งอย่างเดียวลูกก็อาจจะเตลิดกัน เพราะว่าลูกจะทนไม่ได้ ต้องมีหลายอย่าง จึงต้องอาศัยถึงความอดทน ต้องมีความเข้มแข็ง มีความอาจหาญ มีความกล้าหาญที่จะกระทำ และข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า คุณพ่อคุณแม่ท่านนั้นจะต้องมีจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่ในใจของท่านเสียก่อน หากว่าท่านไม่มี ท่านก็ไม่รู้ว่าจะอบรมอย่างไร เพราะว่าเราอยากจะทำบุญอยากจะทำทาน แต่เราไม่มีเงิน เราจะเอาอะไรไปให้เขา บางทีมันก็ต้องกระทำให้ถูกก่อน ถูกไหมคะ
เพราะฉะนั้นเมื่ออยากจะให้ลูกมีความกตัญญู อยากจะให้ลูกมีจิตที่มีสัมมาทิฏฐิ คุณพ่อคุณแม่ต้องมีก่อน แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็เคยเป็นเด็กมาก่อน ก็ต้องย้อนไปตามเหตุปัจจัยอีก กฎอิทัปปัจจยตา เพราะบางทีเคยได้รับการอบรมหรือส่งเสริมมาในเรื่องนี้ มันก็เลยตกทอดกันมาตามลำดับ ไล่กันไปตามลำดับ
แต่อย่างไรก็ตาม บัดนี้เราก็รู้แล้วว่า สิ่งที่ชีวิตเราต้องการและเห็นว่ามีคุณค่าที่สุดกับชีวิตนั้น คือจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้นเราก็ควรที่จะเริ่มต้นด้วยการสร้างฝึกสัมมาทิฏฐิให้มีให้เกิดขึ้นกับลูกๆ กับเด็กๆ ของเรา ที่บ้านคุณพ่อคุณแม่เป็นครูคนแรก ความกตัญญูกตเวทีของลูกจะมีต่อคุณพ่อคุณแม่แน่นอน ถ้าลูกได้เห็นตัวอย่าง
แล้วเราก็หวังว่า จิตสำนึกอันเป็นสัมมาทิฏฐิจะเป็นจิตสำนึกที่สร้างสรรค์ สร้างสรรค์ครอบครัว สร้างสรรค์สังคม แล้วก็สร้างสรรค์ประเทศชาติ ก็หวังว่าเราจะลองใคร่ครวญคิดในเรื่องนี้ดูนะคะ ท่านผู้ใดเป็นคุณพ่อคุณแม่ คงจะต้องคิดให้มากและคิดให้หนักว่าเราจะทำอย่างไร ที่จะสร้างลูกกตัญญูเกิดขึ้นมาให้ได้ เพื่อเป็นประโยชน์กับตัวเขาเอง แล้วก็เป็นประโยชน์กับสังคมอีกด้วย ธรรมสวัสดีนะคะ