แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ เราก็จะคุยกันต่อไปนะคะ ถึงเรื่องของการสร้างจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฐิและเราก็จะต้องเริ่มที่บ้านเป็นแห่งแรก ทีนี้ที่บ้าน เราอยากจะพูดกันถึงคุณพ่อคุณแม่ ที่ควรจะเป็นบุคคลที่มีความเข้มแข็งและก็มีความเฉลียวฉลาดเพียงพอที่จะอบรมลูก ควรจะมีคุณลักษณะอย่างไร ทีนี้ก็ อยากจะยกตัวอย่างบุคคลที่มีคุณลักษณะดังกล่าว ก็อยากจะลองยกตัวอย่างจากหนังสือ ผู้ใดได้อ่านหนังสือเรื่องจางวางหร่ำ แล้วบ้าง
ผู้ร่วมสนทนา : จางวางหร่ำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: จางวางหร่ำของท่าน น.ม.ส.
ผู้ร่วมสนทนา : ตั้งแต่เด็ก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วถ้าโตขึ้นไม่ได้อ่านเหรอ ตอนโตไม่ควรอ่าน ตอนที่กำลังจะเป็นคุณพ่อคุณแม่นี่ควรจะอ่าน ทำไมถึงเอ่ยจางวางหร่ำ ของท่าน น.ม.ส. หรือ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่จริงหนังสือเรื่องนี้เป็นหนังสือที่ท่านเขียนมานานแล้ว กี่ปีแล้วล่ะ เมื่อก่อนหลายคนที่นั่งอยู่ที่นี่คงเคยอ่าน ท่านเขียนเรื่องนี้ขึ้น ท่านเขียนในลักษณะของจดหมาย แล้วก็พออ่านแล้วก็รู้สึกถูกใจหรือว่าประทับใจในตัวจางวางหร่ำที่เป็นคุณพ่อมากเลย ฟังชื่อจางวางหร่ำอาจจะรู้สึกเชยๆนะคะ มองดูน่าจะเป็นพ่อที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร เหมือนเป็นคนชนบทหรืออะไรอย่างนั้นนะ แต่ที่จริงพออ่านจดหมายที่จางวางหร่ำเขียนถึงนายสนที่เป็นลูกชาย รู้สึกว่าเป็นคนที่ฉลาดเชียว ในหนังสือนั้น ท่านผู้ประพันธ์ท่านก็ไม่ได้ทรงบอกว่า จางวางหร่ำเป็นนักเรียนชั้นไหน จบปริญญาอะไรมา มีการศึกษาอะไรไม่ได้บอก บอกแต่เพียงว่ามีความสามารถในการเป็นนักธุรกิจ สมัยนั้นยังไม่เรียกนักธุรกิจ แต่ว่าเรียกว่าทำการค้าขาย มีโรงสี แล้วก็จะทำการค้าเท่าที่จะเห็นประโยชน์ที่จะทำได้ แล้วจางวางหร่ำมีลูกชายอยู่คนหนึ่งชื่อนายสน ก็ส่งลูกชายไปเรียนเมืองนอก ลูกชายก็โอดครวญมาแหละ เรียนหนังสือมาก งานหนัก การเรียนนี่หนักมา ก็คงต้องขอเงินมากมากหน่อย ให้พ่อส่งเงินให้มากมากหน่อย จะได้ซื้อความสะดวกสบาย อะไรต่างๆเหล่านี้ แล้วก็จะไม่เหน็ดเหนื่อยในการงานมากเกินไป เพราะว่าเขาดูหนังสือมาก หนักเหลือเกิน แม่ก็เขียนจดหมายบอกไปว่า อย่าดูหนังสือมากนัก เดี๋ยวสายตาจะสั้น ทางพ่อจางวางหร่ำก็บอกว่าดูไปเถอะ หนังสือนะดูให้มากๆ สายตาจะสั้นก็มีเงินซื้อแว่นตาให้ใส่ ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก ให้ดูหนังสือให้มากๆ เพราะฉะนั้น เรื่องการเงินอะไรต่างๆที่จะขอมา พ่อก็ให้ ออกให้เท่าที่จำเป็น ถ้าสามารถจะบอกได้ว่า เงินที่ขอพิเศษ เอาไปทำอะไร พ่อถึงจะจ่ายให้ ไม่ใช่ว่าต้องการจะขออะไรเมื่อไหร่ก็ให้ พ่อจะไม่ทำอย่างนั้น พอเรียนไปสักพัก นายสนก็มาขอเรียนต่อ คือจะขอเรียนต่อให้สูงขึ้นอีก จากปริญญาตรี เป็นปริญญาโท อะไรทำนองอย่างนั้น ถ้าเปรียบกับสมัยนี้ พ่อก็บอกว่า ที่ต้องการจะเรียนนะ จะต้องมาเรียนที่นี่ เพราะต่อไปแกต้องมาทำงานที่โรงสีนี่ เพื่อจะเป็นผู้ใหญ่ ดูแลอะไรต่อไปแทนพ่อ ก็ต้องมาเรียนที่นี่ ไม่ใช่แกจะไปเรียนในมหาวิทยาลัยปริญญาโท ปริญญาเอก แล้วมันก็ไม่เกี่ยวกับงานที่แกจะทำเลย สักอย่างหนึ่ง แกจะเรียนทำไม แล้วแกก็กลับมา นายสนก็กลัวพ่อ ไม่ยอมดรอป ก็โอดครวญมาอีก แต่ในระหว่างกลับ ก็ขอเดินทางแวะดูงานต่างประเทศหน่อยได้ไหม เพื่อว่าจะได้เปิดหูตากว้างอะไรอย่างนี้
ผู้ร่วมสนทนา : ทันสมัย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ทันสมัยจัง
พ่อก็บอกว่า ที่จะแวะไปดูงานนะ มาดูที่โรงสีนี่ แล้วถ้าแกอยากจะดูงานก็รีบกลับมาเร็วๆ แกจะได้รู้ว่าในโรงสี ในห้างที่พ่อมีนี่ เขาดู เขาเรียนงานกันยังไง แล้วเขาทำงานกันยังไง แล้วแกจะต้องทำงาน อย่าคิดว่าแกเป็นลูกเจ้าของนะ เจ้าของห้าง เจ้าของโรงสี แล้วพอมาถึงจะมาเป็นผู้จัดการ ผู้จัดห้าง ผู้จัดการโรงสี จางวางหร่ำบอกว่า ที่ทำงานของเราที่นี่ ไม่มีหรอกนะ รอกที่ไว้สำหรับชักนะ ชักให้ขึ้นมา พอมาถึงปุ๊บก็ชักให้ไปนั่งแท่นเก้าอี้ผู้จัดการ ไม่มี ที่นี่ไม่มี ถ้าแกอยากจะมีตำแหน่งใหญ่ จะต้องไต่เต้าขึ้นมา ตั้งแต่ตำแหน่งเสมียนที่เล็กที่สุดในโรงสี หรือในห้างนี้ ขึ้นมาตามลำดับ จนกระทั่งแกถึงตำแหน่งใหญ่ เพื่ออะไร ถ้าแกจะเป็นผู้ใหญ่ต่อไป จะเป็นคนปกครองดูแลงานต่อไป แกต้องรู้จักงานทุกตำแหน่ง เชื่อว่าลูกน้องจะได้ไม่ตบตาแกได้ ต้องมาที่นี่ ต้องมาที่โรงสี กลับมาบ้าน รีบกลับมาเร็วที่สุด จางวางหร่ำมีความเข้มแข็งที่จะอบรมลูกอย่างนี้ แล้วนายสนก็กลับมา แล้วก็กลับมาทำงานตามที่พ่อบอก พอมาถึงก็มาโอดครวญอีก นายงานก็คือลูกจ้างของพ่อเหมือนกัน แต่ว่าเป็นนาย เพราะคือสมุห์บัญชีใหญ่ ทำงานไม่ดี ทำงานไม่ถูกใจ ทำงานจู้จี้ ทำงานอะไรต่างๆ โอดครวญพ่อ อยากให้พ่อไล่ออก หรือให้ไล่หัวหน้างานออก หรือไม่เช่นนั้นก็ลงโทษ เพราะว่าเขาไม่ชอบเลย แต่ว่าจางวางหร่ำไม่คิดถึงอย่างนั้น การที่จางวางหร่ำ จะรับใครมาทำงาน เขาก็ได้สืบสวนตรวจตราโดยดูละเอียดแล้วว่ามีคุณสมบัติอย่างไร เขาถึงจะรับมา จางวางหร่ำก็เลยอธิบายถึงลักษณะของสมุหบัญชี ที่เป็นสมุหบัญชี ที่เป็นหัวหน้าคนที่ถูกลูกร้องเรียน ว่ามีคุณสมบัติอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นพ่อถึงได้รับเข้ามา ให้มาอยู่ในตำแหน่งนี้ หน้าที่ของแกก็คือว่า ต้องเรียนงาน เรียนวิธีการทำงานของหัวหน้าของแกด้วย เพื่อที่จะได้รู้ว่า ที่เขาไต่เต้ามาถึงแค่นี้ เขามีอะไรดี เขามีความสามารถอย่างไร รวมความก็คือว่า เมื่ออ่านจางวางหร่ำแล้ว ก็รู้สึกว่า นายสนนี่ ถ้าจะเปรียบตามความของจางวางหร่ำก็บอกว่า เป็นแตงกวาที่สด แล้วก็เป็นแตงกวาที่ดี คือสดใหม่ ทำไมถึงเปรียบว่าเป็นแตงกวาใหม่สด เพราะว่าจางวางหร่ำเขาชอบเปรียบเทียบเหมือนกับแตงกวาดอง เขาบอกว่าถ้าเราจะดองแตงกวา แล้วแตงกวามันเน่าก่อน เราจะไม่สามารถดองให้มันกรอบ ถ้าดองถูกวิธี มันก็มีรสอร่อยได้ คนก็เหมือนกัน คนที่จะเป็นคนดีมีหลักชีวิตแต่ตัวต่อไป ทั้งในด้านครอบครัวและในด้านการงาน ก็ต้องอบรม บ่ม คนๆนั้นให้เหมือนกับแตงกวาที่สดอยู่เสมอ ที่สดแล้วก็ที่ใหม่ แล้วก็ที่ดีอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น เวลาที่ไปทำงาน เขาจะสามารถทำงานได้ดี เหมือนกับเราเอาแตงกวาที่สดที่ใหม่มาดอง แล้วมันก็กรอบ ถ้าเน่าซะก่อนก็จะใช้การไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากลูกคนใดไม่ได้รับการอบรมให้มีจิตที่เป็นสัมมาทิฐิแล้วละก็ ไม่ช้าหรอก ก็กลายเป็นแตงกวาเน่า พอดองก็ไม่อร่อย กินสดก็ไม่อร่อย ไม่อร่อยเลยสักกอย่างเดียว นี่คือวิธีการอบรมลูกของจางวางหร่ำ เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่เป็นคุณพ่อ ก็ลองนึกดูว่า เราสามารถจะเป็นพ่อที่เข้มแข็ง แล้วก็ไม่ตามใจลูกในสิ่งที่ไม่ควรตามใจ ถ้ารู้แล้วว่าถ้าตามใจลูกไปแล้วละก็ ลูกจะต้องเสียคนมากกว่า แล้วเราก็ได้พบว่า ปัญหาสังคมในขณะนี้มีมากมาย แล้วก็มีไม่น้อยที่เกิดจากการที่พ่อแม่ไม่มีความเข้มแข็งในการอบรมลูก ไม่เหมือนอย่างจางวางหร่ำ พอลูกมีปัญหา พ่อแม่เลี้ยงไม่ได้ ว่าไม่ได้ สอนไม่ได้ ก็ ปัดสวะ ให้พ้นตัว ด้วยการทำงาน
ผู้ร่วมสนทนา : ใช้เงินเลี้ยงลูก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ มีเงินมากเข้าก็ส่งไปเรียนเมืองนอก เพราะหวังว่าเมืองนอกนี่ มันจะชุบตัวลูก ให้กลายเป็นคนดี แล้วก็ปรากฎว่าหาเป็นเช่นนั้นไม่ เมืองนอก มีความเป็นเมืองนอกติดตัวมา แต่ก็ไปรับเอาไอแห่งความเน่า ความเสีย กลายเป็นมาสร้างมลพิษให้เกิดขึ้นภายในสังคมไทย แล้วใจมันเต็มไปด้วยมลพิษข้างใน ในใจมีแต่มลพิษ มลภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะคิด พ่นมลพิษออกไป จะพูดก็พ่นมลพิษออกไป ส่งเพื่อนมนุษย์ สู่เพื่อนมนุษย์ในสังคม จะมาทำการอะไรก็มีแต่เบียดเบียนเขา เพราะฉะนั้นการที่พ่อแม่คนใดก็ตาม คิด ปัดสวะ เฉพาะตัว คือเฉพาะหน้า ด้วยการส่งลูกไปอาศัยที่อื่น แล้วตัวเองไม่คิดที่จะอบรมลูก ขอถามหน่อยเถอะค่ะว่า มีลูกทำไม อยากมีลูกทำไม ถ้าหากว่ายังไม่พร้อมที่จะเป็นพ่อที่ถูกต้อง ยังไม่พร้อมที่เป็นแม่ที่ถูกต้อง อย่ามีลูก เพราะถ้ามีลูกขึ้นมาแล้ว นั่นคือการทำบาป บาปอย่างยิ่งเลย เป็นบาปแก่ตัวเอง บาปแก่ชีวิตหนึ่ง แล้วก็ยังเป็นการบาปแก่สังคมอีกด้วย และปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมนี่ก็คือเกิดจากคนที่ขาด ขาดรับ ขาดการอบรมที่ถูกต้อง ไม่สามารถจะมีจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฐิได้ ทีนี้ ถ้าลองพูดถึงคุณแม่ที่เข้มแข็ง และก็คุณแม่ที่ฉลาดในการอบรม ก็ต้องขอยกตัวอย่าง คุณหญิงแสหรือที่เรียกว่าคุณแสในเรื่องอะไรนึกออกไหม คิดกันใหญ่เชียวนะ มันเก่าเกินไปเสียแล้ว จากเรื่องผู้ดีของดอกไม้สด พอเอ่ยชื่อดอกไม้สด ใครๆก็บอกว่า เดี๋ยวนี้ไม่สดแล้ว เพราะว่าเธอเป็นนักเขียนที่ได้รับความนิยมมากเมื่อสักสามสี่สิบปีมาแล้ว บัดนี้เธอก็สิ้นชีวิตไปแล้ว แต่ก็กล่าวได้ว่า หนังสือที่เขียนโดยดอกไม้สดนั้น เป็นหนังสือที่ผู้เขียนได้กลั่นกรองออกมาด้วยความมุ่งหมายที่จะฝากอะไรไว้สักอย่างหนึ่ง มากบ้างน้อยบ้างแก่ผู้อ่าน ไม่ได้เคยคิดว่าจะให้เป็นหนังสือที่ไม่ได้ให้อะไรกับผู้อ่านเลยนอกจากเสียงหัวเราะอย่างเดียว ดอกไม้สด ไม่ใช่นักประพันธ์ที่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นคุณแสในเรื่องผู้ดีของดอกไม้สด จะแสดงภาพของความเป็นแม่ที่เชื่อว่า เด็กๆหลายคนโดยเฉพาะเด็กผู้หญิงอยากจะมีแม่เหมือนอย่างคุณแส เพราะว่า ใครที่เคยอ่านเรื่องผู้ดีของดอกไม้สดแล้วนะคะ ก็จะจำได้ว่า วิมลที่เป็นลูกของคุณแสนี้ หาใช่ลูกจริงไม่ แม่จริงก็ยังอยู่ ใช่ไหม แม่จริงก็ยังมีชีวิตอยู่ และก็อยู่ด้วยกันนี่แหละ ที่ชื่อว่าคุณวง แต่ว่าวิมลกลับรักคุณแสซึ่งเป็นแม่หรือเรียกว่าเป็นแม่เลี้ยงก็ได้ มากกว่าคุณวงที่เป็นแม่แท้ เราก็มาลองเปรียบเทียบดูว่า ทำไมล่ะ คนหนึ่งเป็นแม่ที่ให้กำเนิดมาทางเลือดเนื้อ อีกคนหนึ่งไม่ใช่เป็นผู้ให้กำเนิด แต่เป็นผู้ที่ได้ช่วยอบรม กล่อมเกลา จนทั่งวิมลเป็นวิมล ที่ใครๆเขายอมรับว่าเป็นผู้ดีได้คนหนึ่ง เพราะฉะนั้น ความเป็นแม่ของคุณแส ของคุณวง ก็เห็นจะต่างกันตรงนี้ ในขณะที่คุณวงอบรมลูก คืออบรมวิมล ด้วยการที่จะเอาแต่ใจของตัวเอง คุณวงก็ต้องอบรมวิมลให้เป็นเหมือนอย่างที่คุณวงต้องการ เช่น คุณวงเป็นคนชอบซุบซิบ ชอบพูด จะเรียกว่านินทาก็ได้ ตามแบบผู้หญิงธรรมดาไง ชอบพูดซุบซิบ ชอบพูดนินทา แล้วก็ชอบจับผิดเล็กๆน้อยๆของคนนั้นบ้าง ของคนนี้บ้าง แล้วก็เอาสิ่งเหล่านั้นมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยคุณวงไม่มีโอกาสเลย ที่จะดูว่าแล้วคุณวงเองเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า แล้วก็เมื่อเกิดอะไรขึ้น คุณวงก็อยากให้วิมลเข้าข้างแม่ พอคุณวงว่าอะไรดีก็อยากจะให้ลูกว่าดีด้วย พอคุณวงว่าใครไม่ดี ก็อยากให้ลูกว่าคนนั้นไม่ดีด้วย แต่วิมลได้รับการอบรมมาให้เป็นผู้ที่จะอยู่ในเหตุในผล และวิมลก็ไม่ค่อยจะเชื่อตามคุณแม่ที่เป็นแม่แท้ๆ เมื่อเวลาที่มีความทุกข์มีปัญหาเกิดขึ้น บุคคลแรกที่วิมลจะนึกถึงก็คือคุณแส เพราะเมื่อเวลาไปปรับทุกข์กับคุณวง วิธีแก้ปัญหาของคุณวง ก็จะมาจากความเห็นหรือความรู้สึกของคุณวงเป็นที่ตั้ง
ทีนี้คุณแสนี่มีการอบรมลูกยังไง วิมลเป็นเด็กฉลาด เพราะฉะนั้นการอบรมคนฉลาด ก็ต้องบอกว่ามันยากกว่า มันลำบากกว่าการอบรมคนโง่ เด็กโง่เราอาจจะอบรมได้ง่ายกว่า ถึงแม้ว่าบางครั้งจะสอนยากอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็อบรมได้ง่ายกว่า แต่อบรมเด็กฉลาด ถ้าหากว่าผู้เป็นพ่อแม่ไม่พยายามที่จะฉลาดให้เท่าทันลูก การอบรมนั้นก็จะยาก เพราะฉะนั้นคุณแสก็พยายามอบรมวิมล ในลักษณะที่ ดูลักษณะนิสัยใจคอ ดูความชอบ ดูสติปัญญา แล้วก็ดูพื้นนิสัยตามธรรมชาติของลูกที่มีอยู่ พอวิมลเริ่มมีคู่รักในตอนแรก ในสมัยโน้นการมีคู่รักยังไม่ฟู่ฟ่าเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ คู่รักก็ไม่ใช่คนอื่น เป็นเด็กผู้ชายที่เคยรู้จักกันมาก่อน และก็อยู่ในบ้านใกล้เคียงกัน แล้วก็ พอรักกันวิมลก็กำลังเป็นเด็กนักเรียนประจำ ก็คงจะเป็นเด็กนักเรียนมัธยมเท่านั้นแหละ แล้วคู่รักเขาก็ให้แหวน ให้แหวนไว้เป็นที่ระลึกกัน อันที่จริงตอนที่บอกรักกันตอนนั้นนะ วิมลก็ยังไม่รู้เลยว่าความรักคืออะไร มันรู้สึกโก้ เพราะอยู่โรงเรียนประจำ พวกเพื่อนๆ พี่ๆโตๆ เขาก็มีการมาคุยมาอวดกันถึงเรื่องของคู่รัก แล้วเขาก็มีของกำนัลที่คู่รักให้มาอวดกัน เพราะว่า รู้สึกโก้ ใครมีคู่รักนี่ ดูมันโก้ ดูเป็นคนมีค่า เพราะฉะนั้นพอวิมลมีอุดมเป็นคู่รัก และอุดมเขาก็ให้แหวนไว้วงหนึ่ง วิมลก็อยากจะใส่ อยากจะใส่แหวนนี้อวด แต่คุณแม่ห้ามเอาไว้ บอกว่าอย่าเพิ่งใส่นะแหวนนี้ เอาเก็บเอาไว้ก่อน เพราะว่ายังไม่เหมาะ วิมลก็เก็บ แต่พอไปถึงโรงเรียน โรงเรียนประจำที่เธออยู่ ก็เอาแหวนออกมาใส่เพื่อจะอวดเพื่อนว่านี่เขาก็มีคู่รักเหมือนกัน มันก็ไม่เสียหายอะไรมากมาย แต่ว่าในสมัยโน้น การที่จะอบรมลูกให้รู้จักความพอเหมาะพอควร ผสมกับความเป็นผู้หญิง ก็ค่อนข้างที่จะเคร่งครัดมากกว่าในสมัยนี้ วิมลก็คือว่าก็แอบๆ ซ่อนๆ ในการใส่แหวน แต่พอนานๆเข้าเอาไปใส่โรงเรียน ก็เลยเผลอมาใส่จนถึงบ้าน คุณแสก็เห็น พอเห็นวิมลใส่แหวนก็เอามือจับแหวนวิมลไว้ แล้วจับนิ้วไว้ แล้วก็ถามว่า นี่อะไร วิมลก็รู้แล้วว่า เราได้ผิดสัญญากับคุณแม่ เพราะฉะนั้น คุณแสก็ไม่ดุไม่ว่า พูดแต่เพียงว่า หนูผิดสัญญากับแม่ แม่ขอเถอะ แม่ขอเก็บแหวนนี้เอง และวิมลก็ยอมให้แหวนกับคุณแม่ไปดีๆ หรือเวลาที่วิมลโกรธ โกรธคุณแม่ ที่คุณแม่ไม่ยอมพาไปส่งคู่รัก คู่รักเขาจะไปเมืองนอก ก็เป็นหลานของคุณแสนี่แหละ แต่คุณแสเขาเห็นไม่เป็นการสมควรที่จะต้องไปส่งกัน แล้ววิมลก็เผอิญนอนหลับ ไม่มีใครปลุก พอตื่นขึ้นมารู้ว่าคู่รักเดินทางไปเมืองนอกแล้ว ก็อาละวาด โกรธ เสียใจ โดยที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้าอุดมอีกสักที อีกกี่ปีที่ต้องจากกัน ก็ร้องห่มร้องไห้ คุณแสก็ไม่ว่าอะไร ถ้าเป็นคุณวงก็อาจจะคว้าไม้มาตี นี่มันเรื่องอะไรไม่รู้จักอาย ตัวเป็นผู้หญิง มาร้องไห้ว่าไม่ได้ไปส่งคู่รัก ใช่ไหม มันเสียหน้าเสียตามาก อาจจะหวดไปก็ได้ แต่คุณแสก็ไม่ทำอย่างนั้น กลับทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ปล่อยให้วิมลร้องไห้ไปจนพอใจ แล้วก็พาไปห้องอาบน้ำแต่งตัว แล้วก็ชวนกินข้าว พอได้กินข้าว จิตใจมันก็ดี มันก็ดีขึ้น สดชื่นขึ้น แล้วก็ถามว่า วิมลเคยพูดไว้ว่า อยากจะไปซื้อผ้า อยากได้ผ้าตัดเสื้อใช่ไหม ไปสิวันนี้แม่ว่าง แม่จะพาไปหาซื้อผ้าตัดเสื้อ เท่านั้น เด็กๆ ซึ่งในตอนนั้นก็ยังเด็กวัยรุ่น ก็ยังไม่ได้จับจิตจับใจในเรื่องความรักอะไรจนเกินไป เพียงแต่มันไม่ได้อย่างใจเท่านั้นแหละ ก็เลยไม่ติดใจ แล้ววิมลก็เลยออกไปซื้อผ้าตัดเสื้อกับคุณแม่ ไปเลือกผ้าตามที่อยากจะได้ เลยลืมไปแล้วว่าวันนี้คู่รักไปเมืองนอก แล้วก็ไม่ได้ไปส่งคู่รัก ก็ลืมไป กลับมาจากซื้อผ้าตัดเสื้อ จะมาช่วยกันหาแบบ เลือกแบบ เราจะตัดแบบอะไรถึงจะเหมาะกับตัวลูกอะไรต่างๆ เหล่านี้ นี่เป็นวิธีที่คุณแสเลี้ยงลูกด้วยการใช้หลักจิตวิทยา ด้วยการที่ไม่เอาแต่ใจตัวเองมาเป็นที่ตั้ง แต่ดูว่าอะไรที่เหมาะกับกาลเทศะ แล้วก็บุคคลในขณะนั้น แล้วนอกจากนั้น การกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูของคุณแสก็จะใช้เหตุใช้ผลในการพูดจากันให้เข้าใจ พูดง่ายๆ ก็ตรงกับหลักของพระพุทธศาสนา อย่างเช่นในอริยมรรคมีองค์แปด ท่านก็เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิคือความคิดเห็นที่ถูกต้อง มันจะเกิดขึ้นได้ เพราะมันมีปัญญา เราพัฒนาปัญหาให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งถูกต้อง อะไรคือสิ่งไม่ถูกต้อง แล้วเราก็พูดคุยกันด้วยเหตุผล ด้วยคำพูดถ้อยคำที่เหมาะสมแก่วัยของลูกที่จะฟังให้เข้าใจได้ พร้อมจะยกตัวอย่างต่างๆ มาให้ฟัง เพราะฉะนั้นคุณแสก็ใช้หลักของพระพุทธศาสนา ใช้หลักจิตวิทยา ในการที่จะอบรมลูก ก็กล่าวได้ว่าวิมลก็เติบโตขึ้นมาเป็นผู้หญิงที่ พร้อมด้วยสติและปัญญา และเวลาที่มีปัญหาเกิดขึ้นกับชีวิต อย่างเปลี่ยนจากการที่เป็นลูกของคนมีเงิน ถ้าหากว่าใครจำเรื่องได้ พ่อเป็นเจ้าคุณ แล้วก็มียศศักดิ์ มีเกียรติยศ ได้รับความนับหน้าถือตาจากใครๆ ทั่วไป แล้ววันหนึ่ง มันก็ตามหลักของอนิจจังของกฎไตรลักษณ์ ก็เกิดล้มละลาย พอคุณพ่อล้มละลาย วิมลซึ่งเคยอยู่ตึกใหญ่ ไม่มีตึกจะอยู่ ไม่มีคนใช้ที่จะคอยช่วยดูแล วิมลต้องย้ายจากตึกใหญ่ลงมาอยู่เรือนเล็กซึ่งเป็นเรือนของคนใช้ แล้วก็ซ่อมแซมเรือนคนใช้นั้นนะให้มันพออยู่ได้ แล้วก็ทำงานบ้านเองทุกอย่าง เสื้อผ้าไม่เคยซักไม่เคยรีด วิมลทำเองได้ทุกอย่าง จนกระทั่งคนใช้เก่าที่เผอิญผ่านมาแวะเห็นเขาน้ำตาไหลด้วยความสงสาร ที่เห็นตั้งแต่เล็กจนโตวิมลไม่เคยทำอะไรอย่างนี้ ทำไมวิมลถึงทำได้ ทำไมถึงไม่ไปคิดหาเงินหาทองด้วยวิธีลัด เพราะวิมลเป็นคนสวย และก็มีผู้ชายหนุ่มที่มีดีกรีปริญญาเอกมาชอบมารักหลายคน เงินทองทรัพย์สินเขาก็มี เขาพร้อมที่จะรับวิมลไปให้อยู่อย่างมีความสุข แต่วิมลไม่รับ เพราะเขาถือว่ามีภาระรับผิดชอบจะต้องดูแลน้องๆ ซึ่งน้องๆ นั้นก็ไม่ใช่น้องตัว เป็นน้องเลี้ยง เป็นลูกของแม่เลี้ยง แม่เลี้ยงคนอื่นที่ไม่ใช่คุณแส เพราะคุณแสไม่มีลูก แต่วิมลก็รับภาระอันนั้น ทั้งๆ ที่อายุเพิ่งจะเริ่ม 20 ปี ก็ยังเป็นสาว เป็นสาวเด็กๆ แต่ยังสามารถรับผิดชอบ ทำหน้าที่ของแม่ แม่บ้าน แล้วก็ดูแลวงศ์ตระกูลของตัวเองไม่ให้เป็นที่เสียหาย หรือว่าดูถูก สบประมาทของคนทั้งหลาย อย่างถูกต้อง เพราะอะไร นี่คือเพราะการเลี้ยงดูหรือว่าอบรมกล่อมเกลาให้มีจิตที่เป็นสัมมาทิฐิ รู้จักว่าเมื่อใดควรจะคิดอย่างไรถึงจะถูกต้อง เมื่อใดควรจะทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง ให้เหมาะเจาะแก่กาลเทศะ วิมลจึงสามารถรักษาตัว จนผลที่สุด เมื่อประกอบเหตุปัจจัยมาอย่างถูกต้อง ก็ยังคงรักษาความงดงามของชีวิตอยู่ได้โดยตลอด และผลที่สุดวิมลก็ ได้รับความสุข สมกับการกระทำที่ถูกต้องของเขามาโดยตลอด ซึ่งเกิดได้เช่นนี้เพราะอะไร ก็เพราะการอบรม ซึ่งถ้าจะเทียบกับผู้หญิงอีกคนนึงในเรื่องนั้น ที่เรียกว่าเจริญเติบโตมาใกล้เคียงกันเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน คือผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่ชื่อว่าสุดใจ สุดใจมีแต่ความเคียดแค้นชิงชังในชีวิตของตัวเอง ด่าสารพัดเลย ทำไมเราถึงไม่สวยอย่างวิมล ทำไมเราถึงไม่รวยอย่างวิมล ทำไมเราถึงไม่มีผู้ชายมาติดมากๆ อย่างวิมล มีแต่มองข้างนอก แล้วก็วิพากษ์ วิจารณ์ข้างนอก แล้วก็เห็นแต่ความมีของคนอื่น แล้วก็หันมาดูความขาดแคลนของตัว แล้วก็โกรธเคียดแค้นชิงชังชีวิต แทนที่จะนึกว่า เราจะทำอย่างไรล่ะ ถึงจะทำให้ชีวิตของเรานี้มีความสุขมีความเจริญยิ่งขึ้น ถ้าหากว่าเราจะดูวิธีการที่สุดใจดำเนินชีวิตของเขา เขาก็ช่วยทำงานบ้านให้พ่อแม่ ให้น้องบ้าง แต่ในขณะที่ทำไป สุดใจก็แช่งไปด่าไปบ่นไป ตะบึงตะบอน กระแทกกระทั้นอยู่ตลอดเวลา พอถึงเวลาที่จะแต่งตัว จะต้องไปเที่ยว สุดใจก็กระหืดกระหอบ คว้าเสื้อตัว คว้ากระโปรง คว้ารองเท้า รองเท้ามันอยู่ในกล่อง ทั้งขี้ฝุ่นทั้งกรวดทรายที่ติดอยู่ในรองเท้าก็ยังอยู่เต็ม ก็หยิบมาโขกๆ หยิบผ้ามาเช็ดๆ แล้วเสร็จแล้วก็จับใส่แล้วก็วิ่งไป นี่คือลักษณะ ลักษณะที่แสดงถึงอะไรของชีวิต แสดงถึงความมักง่าย ผู้หญิงไม่ควรมีความมักง่ายอย่างยิ่ง ผู้ชายก็ไม่ควรมีความมักง่าย และความมักง่ายมันไม่ได้นำสิริมงคลมาสู่ใครเลยสักคน แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง ลักษณะที่แสดงให้เห็นอะไรถึงเกิดขึ้น ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ล่ะ วิมลกับสุดใจนั้นเป็นผู้หญิงที่อยู่ในอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นลูกพี่ลูกน้องกันด้วย แม้ฐานะจะต่างกัน ความยากจนไม่ใช่อุปสรรคของชีวิต แต่เพราะขาดการอบรม ขาดการหล่อหลอมจากพ่อแม่ที่มีจิตเป็นสัมมาทิฐิ แล้วก็มีความฉลาดพอที่จะอบรมลูก ผู้หญิงสองคนนี้จึงมีความแตกต่างกันถึงขนาดนี้ ฉะนั้นจึงอยากจะขอย้ำภายในเวลาอันจำกัดนะคะว่า การสร้างจิตสำนักที่เป็นสัมมาทิฐิให้แก่เด็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้แก่ลูกเล็กๆ ของเรา คือสิ่งจำเป็นและเป็นหน้าที่ของผู้ที่เป็นพ่อแม่ทุกคน จะปฏิเสธหน้าที่นี้ไม่ได้ หลักการอบรมที่จะให้ได้ผลอย่างศักดิ์สิทธิ์ที่สุดนั้น ก็คือด้วยการกระทำเป็นตัวอย่างให้ดู เหมือนดังที่ เขาบอกว่าลูกโชคดี อย่างวิมล อย่างนายสน ที่มีแม่ มีพ่อที่สามารถจะเข้าใจลูก ก็อบรมลูกด้วยความเป็นสัมมาทิฐิ ก็จึงหวังว่าต่อไปเด็กไทยของเรา คงจะมีโชคดียิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ในการที่จะสามารถพัฒนาจิตที่เป็นสัมมาทิฐิให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตนเอง และต่อคุณพ่อคุณแม่ แก่ครอบครัว และก็แก่สังคมไทยของเราด้วยนะคะ ธรรมสวัสดีค่ะ