แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ คราวที่แล้วๆ มาเราก็พูดกันถึงเรื่องการสร้างจิตสำนึก ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วเราก็คงจะยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ และแห่งแรกที่ควรจะให้การอบรม ในเรื่องการสร้างจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ก็คือที่บ้าน ทีนี้พอต่อจากที่บ้านก็แน่นอนที่สุดนะคะ จะต้องเป็นโรงเรียน โรงเรียนนี้เราก็ต้องมองไปถึงครู ซึ่งจะเป็นผู้ที่ช่วยให้การศึกษา การอบรมในเรื่องจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิให้แก่เด็ก ที่จริงเราคงจะยอมรับกันว่าในเรื่องการให้การศึกษาที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่การศึกษาที่ให้ในโรงเรียนทุกวันนี้ เด็กก็ไปโรงเรียนทุกวัน ถ้าจะว่าไปเดี๋ยวนี้เด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือน้อยกว่าสมัยก่อนมาก เพราะเรามีพระราชบัญญัติ ที่จะต้องให้เด็กไปเรียนหนังสือ แต่ก็ไม่ทราบว่าการศึกษาที่สูงขึ้น มีมหาวิทยาลัยมากขึ้น มีโรงเรียนมากขึ้น โรงเรียนประถมก็ทั่วประเทศ แต่ทำไม เด็กๆ ของเราและสังคมของ เราจึงมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่น่าคิดใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเห็นว่าทำไม ปัญหาจึงเพิ่มมาก ขึ้น การจัดการ ศึกษานี้เป็นการถูกต้องแล้วหรือยัง ที่ว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็คือว่า ถ้าจะไปถามว่าเด็ก รู้เรื่อง คณิตศาสตร์ไหม วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ภาษาอังกฤษภาษาไทย เด็กรู้ แต่ว่าสิ่งที่เด็กควรรู้มาก ที่สุด ที่จะเกิดประโยชน์กับชีวิตของเขา นั่นก็คือสิ่งที่จะทำให้คนเป็นมนุษย์ แต่รู้สึกว่าไปโรงเรียนจะไม่ได้ ให้การศึกษาอย่างนี้แก่เด็กเพียงพอ นี่เป็นสิ่งที่เด็กถาม หรือการจัดการศึกษา ในขณะนี้ไม่ได้จัดให้แก่เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังมีความรู้สึกว่า การให้การศึกษา ในเรื่องของจริยธรรม หรือคุณธรรมแก่เด็กนั้น ดูจะ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญน้อยกว่าการให้วิชาเขา หรือว่าทางเทคโนโลยีทางโลก นี้ก็เลยยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ เด็ก มีความรู้อย่างชนิดที่เรียกว่าไม่เป็นสัดส่วน ทำให้ชีวิตนั้นเป็นชีวิตที่ตะแครง ไม่ได้เป็นชีวิตที่เป็นสัดส่วน เพราะเหตุว่ามันหนักไปทางในเรื่องของวิชา คือวิชาความรู้ที่ เป็นศาสตร์ต่างๆ มากกว่าสิ่งที่จะเรียก เป็นวิชชา ช. สองตัว ที่เป็นแสงสว่างที่เป็นปัญญา ที่จะทำให้เด็ก รู้ว่าชีวิตนี้คืออะไรอย่างที่เราพูดกันมาแล้ว ความสำคัญของชีวิตหรือคุณค่าของชีวิตอยู่ที่ไหน เด็กไม่เคยทราบ คือไม่เคยทราบอย่างแท้จริง เด็กจะรู้แต่ เพียงว่าการที่มีประกาศนียบัตร การมีปริญญาบัตร นี้แหละคือคุณค่าของชีวิต และก็เรียกว่านี่แหละคือ ความสำเร็จของชีวิต เพราะฉะนั้นการตีความหมาย ของคำว่าความสำเร็จของชีวิตจึงเป็นสิ่งที่เราควรจะ นำมาใคร่ครวญให้มากว่าอะไรคือความสำเร็จ ที่เราอุตส่าห์ตะเกียกตะกายลำบากกัน อยู่ทุกวันตั้งแต่เล็ก จนโตเพื่อความสำเร็จของชีวิต แล้วความสำเร็จของชีวิตที่แท้จริงนี้คืออะไร ที่นั่งอยู่ในที่นี้ได้รับความสำเร็จ ของชีวิตกันทุกคนแล้วหรือยัง มีความสำเร็จอย่างชนิดที่ว่า ตะเกียกตะกายเพื่ออะไร
ผู้ร่วมสนทนา: ตะเกียกตะกายก็ต้องทำมากขึ้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่น่าตอบอย่างนี้เลย ตอบอย่างนี้ได้ยังไง ไม่เอา ต้องตอบใหม่ ตอบอย่างนี้ เป็นครูประจำชั้นแล้ว ต้องตอบใหม่ตอบอย่างนี้ไม่ได้ เราต้องรู้ใช่ไหมว่าตะเกียกตะกายนี้เพื่ออะไร ถ้าเราไม่รู้ว่าเราตะเกียกตะกายเพื่ออะไร เราก็เข้าดงพงหนามไปเรื่อยๆ ก็เพื่อชีวิตที่อยู่เย็นเป็นประโยชน์ นี่คือ สิ่งที่มนุษย์ตะเกียกตะกายเพื่อสิ่งนี้ หรือว่าดิ้นรนเหน็ดเหนื่อยก็เพื่อสิ่งนี้ ถ้าหากว่าเราไม่ตะเกียกตะกาย เพื่อสิ่งนี้ ชีวิตนี้มันก็ไม่มีความหมาย แล้วเราก็จะต้องดิ้นรนไปจนสิ้นลมหายใจ ซึ่งมันไม่คุ้มเลยกับการที่ทำอย่างนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่การให้การศึกษาแก่เด็กๆ ขาด หรือผู้รับผิดชอบทางการศึกษาขาดคือ ไม่ได้ให้สิ่งที่เป็น วิชชาก็คือ ช. สองตัว ที่จริงมันจำง่ายๆ นะคะ เพราะว่ามันคล้ายกัน วิชาหมายถึงความรู้ต่างๆ ตามศาสตร์ต่างๆ ที่เล่าเรียนในโรงเรียนในมหาวิทยาลัย ศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ อาจจะมีการขยายเพิ่มเติมสักเท่าไรก็ได้ ตราบใดที่มนุษย์ยังรู้จัก คิดค้นสิ่งนู้นสิ่งนี้เพิ่มเติม ใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างสมัยที่ครูยังเรียนหนังสือกับเดี๋ยวนี้ จะเห็นได้ว่าศาสตร์ต่างๆ มากมายเพิ่มเติมขึ้นเยอะเลย ที่เราไม่รู้จัก แต่ในเรื่องของวิชชา ช.สองตัว มันเป็นสิ่งที่เป็นสัจธรรมเกี่ยวข้องกับสัจธรรมต่อให้โลกจะหมุน ไปสักกี่ร้อยกี่ พันปี แล้วก็รวมทั้งไปสำรวจดูโลกที่ผ่านมาแล้วมันก็ไม่เปลี่ยนแปลงมันจะคงมีสิ่งนี้อยู่สิ่งเดียว ตลอดไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะเรียนเกี่ยวกับวิชชา ถ้าว่าไปแล้วมันไม่มากมายเลย นั่นคือเรียนเรื่องสิ่งที่ เกี่ยวกับ กฎธรรมชาติ
วิชชาคือสิ่งที่เราจะเรียนเกี่ยวกับกฎธรรมชาติ พอจะนึกออกไหมคะกฎธรรมชาตินี่ เราหมายถึงอะไร กฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจจยตา กฎธรรมชาติหมายถึง กฎที่กำหนดขึ้นหรือสร้างขึ้น โดยธรรมชาติ ธรรมชาติคืออะไร ธรรมชาติคือสภาวะธรรมที่เรามองเห็นอยู่ทั้งนอกตัวเราและทั้งในตัวเรา ที่มันแสดงถึงสิ่งๆ หนึ่งที่เป็นสัจธรรมของชีวิต ถ้าเราดูลงไปจริงๆ เราจะเห็นสิ่งที่เป็นสัจธรรมของชีวิตจาก ข้างนอกไปได้เลย จากข้างในไปได้เลย แต่ถ้าดูจากข้างใน ตัวนี้จะเห็นได้ง่ายและเห็นได้ชัด สัจธรรมของ ชีวิตที่เราเรียกว่าเป็นกฎไตรลักษณ์ ก็มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กฎไตรลักษณ์ก็คือ ลักษณะอันเป็นธรรมดา 3 ประการ ที่ว่าเป็นธรรมดาเพราะว่ามันต้องเป็นอย่างนี้อย่างนี้อย่างนี้ ไม่มีเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าโลกจะอยู่กันไป ถึงกี่พันปีก็เป็นอย่างนี้ และที่ผ่านมาแล้วก็เป็นอย่างนี้ ขณะนี้ก็ยังเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้จึงเป็นสัจธรรม เพราะไม่ มีวันเปลี่ยนแปลง นั่นคือความไม่เที่ยง ความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ความคงทนอยู่ไม่ได้ ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ที่เราพูดประเดี๋ยวเดียวจบแค่ไม่ถึง 1 นาทีพูดจบ แต่ว่าการที่เราจะฝึกปฏิบัติ ใคร่ครวญจนซาบซึ้ง เห็นชัดด้วยใจในลักษณะของสิ่งอันเป็นธรรมดา 3 ประการ มันยากและใช้เวลานาน ต้องใคร่ครวญอยู่ตลอด เวลา หรือกฎอิทัปปัจจยตา ที่แสดงถึงกฎของเหตุและผล พูดง่ายๆ คือเหตุอย่างใดผลอย่างนั้น ผลอย่างใด เหตุอย่างนั้น มันมาจากเหตุอย่างนั้น นี่เป็นกฎของธรรมชาติ เป็นวิชชาที่เป็นวิชาสัจธรรม มันมีเรียนเรื่อง กฎธรรมชาติไม่มากเลย ไม่ต้องไปหอบกระเป๋าจนกระทั่งตัวเอียง เอามาใคร่ครวญในใจ มันก็จะเกิดความรู้ เพิ่มเติมมากขึ้น แต่เรากลับไปเห่อฝรั่ง แล้วก็อยากจะขอบอกด้วยว่า ไปกวาดเอาขยะ ที่ฝรั่งทิ้งแล้ว มาเป็น เค้กชิ้นหรู ของเรา ทำไมถึงพูดอย่างนี้เพราะเราได้พบฝรั่ง มากมาย และเราก็สอนฝรั่งมาเยอะแยะด้วย นับไม่ถ้วนเลยว่าสักเท่าไร แล้วฝรั่งเหล่านั้นก็ล้วนแล้วฝรั่งเสพยา มีปริญญาเอก แล้วมีการอาชีพอย่างชนิด ที่เรียกว่าชั้นแนวหน้า แน่นอน ไม่เคยพบหรือจ๊ะ เวลาที่ไปสวนโมกข์ เขามาอบรมอยู่ตั้งเท่าไหร่ ตั้ง 7-8 ปี แล้วที่เราให้การอบรมแก่ฝรั่ง เดือนหนึ่งเป็นร้อยๆ ร้อยกว่าคน แล้วก็มาเองโดยไม่ต้องไปเชื้อเชิญด้วย เพื่อนคนไทยบางทีต้องเชิญ เชิญแล้วก็มาบ้างไม่มาบ้าง ก็ เพราะเขารู้แล้วว่า สิ่งที่เป็นวิชาเทคโนโลยีต่างๆ ที่เขาเล่าเรียนมากปริญญา ทั้งหลาย เงินทองทรัพย์สมบัติ เทคโนโลยี ตึกสูงๆ ทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้ช่วย ให้เขามีความสุขสงบเย็น เขาบอกถึงกับว่าแม้แต่ ศาสนาของเขายังไม่พอ เขาจึงมาลองสิว่าเกิดมาในโลกนี้ทั้งที ทำอย่างไรถึงจะได้มีชีวิตที่เย็นเป็นประโยชน์ ความรู้ต่างๆ ที่เล่าเรียนมาทรัพย์สินเงินทองที่ได้มา หรือ ความสำเร็จที่โลกยกย่อง รับรองไม่เห็นนำความสุขมาสู่เขาเลย เพราะฉะนั้นเขาจึงมาหา สิ่งที่คนไทย ไม่น้อยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ครึคระล้าสมัยมันไม่ทันสมัย มันต้องเป็นคนที่โบราณแล้ว หรือแก่แล้วจึงพาไป แต่ ฝรั่งที่มานี่ล้วนแล้วแต่เป็นพวกหนุ่มๆ สาวๆ หรือมิฉะนั้นก็อยู่ในวัยฉกรรจ์ สี่สิบห้าสิบเป็นวัยที่กำลังทำงาน แต่เขาก็ว่าเขาฉลาดพอ ฉลาดพอที่จะรู้ว่าสิ่งที่เขามีข้างนอก ทุกอย่างเหล่านี้ที่เราเห็นว่าเป็นความเจริญ เป็นอารยธรรมในทางโลก เหล่านี้ ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตเขาเกิดคุณค่า เกิดคุณค่าก็คือเกิดความสุขสงบในใจ แล้วก็สามารถ จะนำความสุขสงบ หรือว่าความเป็นประโยชน์ ของตัวเองให้เกิดแก่ผู้อื่น ไม่สามารถจะทำ อะไรได้ มีแต่การเบียดเบียนแย่งชิงกัน จนอย่างที่พระฝรั่งที่เล่าให้ฟังว่า ที่บอกว่ามาบวชเพราะ ว่าเบื่อ ปัญหาที่พบจากความทันสมัย และคำถามที่ผู้สื่อข่าวเขาถาม คำถามสุดท้ายว่า ถ้าท่านไม่บวช จะไป ถึงไหน ท่านตอบถ้าท่านไม่บวชท่านก็เข้าโรงพยาบาลบ้า เพราะฉะนั้นฝรั่งเขามองเห็นแล้วว่า ความเจริญ ต่างๆ เหล่านั้น ไม่มีประโยชน์นะ ต้องฟังให้เข้าใจ ไม่ใช่ว่าไม่มีประโยชน์ เช่นเทคโนโลยีทั้งหลาย ก็มีประโยชน์ ถ้าเราไม่มีความเจริญทางเทคโนโลยีแล้ว เราก็คงไม่มีโอกาสมานั่งพูดกันอย่างนี้ แล้วก็ไม่ได้มา เผยแผ่สิ่งที่เราอยากจะพูด หรืออยากจะบอกแก่ มนุษย์คนอื่น เรียกว่ามีประโยชน์ ถ้าเรารู้จักนำ เทคโนโลยี เหล่านั้นมาใช้ในทางที่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเราไปให้ความสำคัญอย่างอื่นไม่ต้องไปยกตัวอย่าง มันก็จะเป็น ไปในทางลบ เพราะฉะนั้นนี่ เรียกว่า ใช้เทคโนโลยี เพื่อทำลายไม่ใช่เพื่อสร้างสรรค์ แต่อย่างที่เราพูดกัน อย่างนี้เราไม่ได้เบียดเบียนใคร เราไม่ได้เสนอแนะ ให้ใครมาทำการทำลายล้างกัน แต่เราส่งเสริมบอกว่า ถ้าอยากจะเห็นชีวิตมีคุณค่าเรา มีหนทางจะทำอย่างนี้อย่างนี้ นี่ก็เรียกว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์ วิชา ความรู้ที่เรียนมีประโยชน์ ทำให้คนฉลาดขึ้น แต่บางคนพอฉลาดแล้วก็ไม่สามารถ จะควบคุมความฉลาด ของตนให้อยู่ ในร่องรอยของความถูกต้อง กลับยิ่งฉลาดก็ยิ่งใช้ความฉลาด เอาเปรียบคนอื่น โดยเฉพาะ คนที่โง่กว่า หรือมีโอกาสน้อยกว่านี้จึงเรียกว่า เราใช้วิชานั้นไม่ถูกต้อง ใช้วิชานั้นไม่ให้ เกิดประโยชน์ เพราะ อะไร เพราะขาดสติปัญญาข้างใน คือขาดวิชชา ช.สองตัวที่จะไปควบคุม ถ้าอย่างนั้นในบรรดาวิชาความรู้ หรือหลักสูตรวิชาที่ครูแต่ละคนมีบทบาทที่จะเอาวิชชาเข้าไปใส่สอนเยาวชน ถ้าครูมีวิชชาไม่มีปัญหาเลย มันสำคัญตรงนี้เผอิญครูไม่มีวิชชา ช.สองตัว ครูมีแต่วิชา ถ้ามีวิชามากๆ มันไม่แน่หรอก เพราะคนที่มีวิชา ช.ตัวเดียว จะมีจิตที่เป็นสัมมาทิฎฐิได้อย่างไร จิตอาจจะเป็นมิจฉาทิฏฐิได้ เลยถ้าต้องการจะใช้วิชาความรู้ ของตัวเพื่อเอาเปรียบคนอื่น เอาเปรียบ คนที่ด้อยกว่าที่มีโอกาสน้อยกว่า ที่ฉลาดน้อยกว่า อย่างนั้น เรียกว่า เขามีแต่วิชา ทำให้จิตใจนั้นเพิ่มเติมแต่เรื่องความร้อน ความไม่สงบสุข ให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตยิ่งขึ้น เพราะขาด วิชชา ช.สองตัวที่เป็นปัญญาภายในที่จะเข้ามาควบคุม ทีนี้วิชชาเราก็บอกแล้วว่าเรื่องของวิชชานั้นมีเรื่องเดียวก็คือเรื่องของกฎธรรมชาติ กฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจจยตา พูดแค่นี้จบแล้ว แต่การที่จะศึกษาเพื่อทำความเข้าใจจนกระทั่งซึมซาบ สัมผัสกับ กฎธรรมชาติจริงๆ อาจจะใช้ชีวิตทั้งชีวิต สำหรับคนที่ศึกษาบ้างไม่ศึกษาบ้าง ฝึกอบรมบ้างไม่ฝึกอบรมบ้าง เรียกว่าทำอย่างกระพร่องกระแพร่ง ถ้าทำตลอดเวลาก็รับรองว่า วันหนึ่งวิชชาก็จะเบิกบานขึ้นในใจ วิชชา ชสองตัว สามารถจะเบิกบานขึ้นมาในใจได้ เพราะฉะนั้นที่ว่าถ้าเราศึกษาวิชชา วิชชาจะช่วยควบคุม การใช้วิชา ช.ตัวเดียวให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร นั่นก็คือเมื่อจิตได้สัมผัสกับกฎของธรรมชาติ เพราะความ เป็นจริงของธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ เราพูดกันมาหลายครั้งแล้วนะคะ ท่านผู้ชมที่ติดตามรายการเกี่ยวกับ ธรรมะสนทนา อย่างนี้คงพอนึกได้ ถ้าเราสามารถ ฝึกฝนอบรมใจจนธรรมชาติ มันก็จะเห็นชัดได้เองว่าแท้ จริง แล้วชีวิตเป็นแต่เพียงขันธ์ 5 ขันธ์ 5 เท่านั้นเองมันไม่มีอะไรให้เรายึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนจริงๆ สักอย่าง แต่ที่ไม่ยอมกันเบียดเบียนกัน จะเอาชนะกันก็เพราะมีตัวมีตน มีฉันแล้วก็มีแก มีเขาแล้วก็มีเรา แล้วถ้ามีเขา มีเรามีฉันมีแก มันก็แบ่งเป็นพวก พอแบ่งเป็นพวกมันก็รวมกันไม่ได้ มันก็จะเห็นแก่กันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องพยายามที่จะเอาเปรียบกัน พยายามจะเบ่งทับกันจะข่มขู่กันเพื่อจะให้ฉันได้มีมากกว่า อันนี้เพราะไม่เห็น ไม่เห็นว่าแท้จริงแล้วทุกสิ่งนั้นมันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย อยากจะให้มัน เป็นอย่างไรก็ประกอบ เหตุปัจจัยให้ถูกต้องเท่านั้นเอง แล้วผลก็จะถูกต้อง เพราะฉะนั้น เขาก็จะสามารถใช้วิชา ความรู้ที่มีให้เกิด ประโยชน์อย่างเต็มที่ แม้แต่จะเป็นนักธุรกิจ นักธุรกิจเขาก็บอกเขามุ่งกำไร ถ้าไม่มุ่งกำไรเขาก็อยู่ไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรเขาทำกำไรเขามีแต่งาน เป็นความรับผิดชอบของผู้ที่เป็นนักธุรกิจต้องทำกำไร แต่เพราะวิชชา นี่เอง วิชชาช.สองตัว ก็จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกขึ้นมาในใจ ว่าการที่เราจะทำกำไรเราก็ทำ แต่ทำพอประมาณ ทำจนกระทั่งไม่ถึงกับเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น อย่างที่เขาบอกว่าราคาที่เป็นยุติธรรม เป็นการ โฆษณาราคายุติธรรม ก็ให้มันยุติธรรมจริงๆ ยุติธรรมเหมือน อย่างที่บอกไว้ว่า ยุติธรรมในใจเรารู้ว่า ยุติธรรม แต่ไม่ใช่ว่าเราแกล้งยุติธรรม ยุติธรรมของเราแต่ไม่ได้ ยุติธรรมแก่ลูกค้าอย่างนี้มันก็ใช้ไม่ได้ ค่าใช้จ่ายมันเยอะนะครับ ค่าโฆษณาก็เยอะ ก็นี่ล่ะสิถึงได้เรียกว่าเราไปเสียค่าโฆษณาอย่างชนิดไม่จำเป็น แล้วทำไมล่ะ ถ้าเราพูดถึงการโฆษณาก็น่าจะนึกสักนิดว่าทำไมคนเราถึงได้ตกเป็นเหยื่อของ โฆษณา ของการประชาสัมพันธ์เพราะอะไร เพราะว่าถ้าเราไม่โฆษณาเยอะส่วนแบ่งการตลาดมันก็จะน้อย เราต้องแทรกเข้าไปในส่วนแบ่งการตลาดให้เยอะในรูปโฆษณาเยอะๆ ถามว่าทำไมคนเราถึงได้ ตกเป็นเหยื่อ ของ การโฆษณาเพราะอะไร อยากใหม่สุด ดีที่สุดพิเศษสุดสำหรับคุณ คุณรู้สึกขึ้นมายังไงเชียว บาน รู้สึกบาน รู้สึกว่าเราวิเศษจริงๆ นะ นี่สำหรับเราจริงๆ นะ สมมติว่ามานั่งกินข้าว ไข่เจียวมาทีหลัง ไข่เจียวสำหรับ เธอคนเดียวนะ เท่านั้นแหละไข่เจียวเหม็นคาวก็ดูอร่อย เพราะว่ามันสำหรับฉันคนเดียว นี่เพราะอะไร เพรา ะอัตตาใช่ไหม การยึดมั่นถือมั่นในอัตตาความที่ไม่รู้ว่าชีวิตคือขันธ์ 5 มันเป็นกองๆๆ เท่านั้นเอง แต่พอมัน รวมกันเข้า ความที่ไม่มีวิชชา ช.สองตัวก็เห็นเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เพราะฉะนั้น อันนี้นี่คือสิ่งขาด ในการจัดการศึกษามีแต่ส่งเสริมให้เด็กแข่งขันกัน แล้วก็บอกว่าการแข่งขัน จะทำให้คนฉลาด ทำไมเราถึงไม่แข่งขันกันในการกระทำที่ถูกต้อง ถ้าเราจะส่งเสริม ถูกต้องนั่นแหละ ผลที่เกิดขึ้นมันเป็นรางวัลในตัวแล้ว ทำไมไม่ทำให้เด็กรู้สึกอย่างนั้น ถ้าเด็กรู้สึก อย่างนี้ นี่แหละเป็นการสร้างจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ
ผู้ร่วมสนทนา: เช่นยังไงครับ ทำโดยไม่ต้องแข่ง
อุบาสิกาคุณรัญจวน: เช่นสมมติว่าเราจะให้ทำงานอย่างไร สมมติว่าให้เด็กวาดเขียน เอาเด็ก มานั่งในสวนแล้วให้ต่างคนต่างวาดตามความถนัดตามความสามารถของเขา ถ้าหากว่า ใครวาดเขียน ออกมาแล้วดีมากเราจะให้รางวัลที่ 1 อย่างนี้อย่างนี้ใช่ไหม อย่างนี้แสดงว่าครูทำอะไร ครูเป็นครูหรือว่า ครูเป็นนักโฆษณา ครูเป็นนักโฆษณาไปแล้ว ครูไม่ใช่ครูแล้ว ถ้าครูเป็นครูก็จะอธิบายให้เข้าใจว่า การมาเรียนวาดเขียนนั้นมีคุณประโยชน์อย่างไร ให้อธิบายถึงคุณค่าของการวาดเขียน เราจะต้องใช้ความสามารถ ใช้คุณสมบัติมีอะไรเป็นเหตุปัจจัยบ้าง แล้วก็ชี้แนะวิธีการเขียน จุดมุมต่างๆ แล้วก็เขียนให้ดีที่สุดที่จะทำได้ แล้วเสร็จแล้ว เราก็หยิบเอางานของเด็กขึ้นมา แล้วก็มาพูดกันมาชี้แจงกัน ว่าตรงนี้มีดีอะไรตรงนี้มี คุณสมบัติสูงอย่างไร อันนี้มีคุณสมบัติพิเศษอย่างไร ชี้ให้เห็นถึงความถนัดของเด็กแต่ละคน แล้วชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เขาทำนี้มันดีขึ้น มาเพราะอะไร เขาก็จะรู้จักการกระทำของเขา เพราะฉะนั้นถ้าหากเราส่งเสริม ให้เด็ก รู้จักการกระทำที่ถูกต้อง แทนที่จะมาแข่งกันอย่างนั้นให้เกิดประโยชน์มากกว่า แต่สิ่งนี้ไม่มี เพราะฉะนั้น อันนี้ เราจึงบอกว่า การสร้างจิตสำนึกที่จะให้เป็นสัมมาทิฏฐินั้น โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกระดับ มีความสำคัญมากตั้งแต่ระดับอนุบาลประถมมัธยมจนกระทั่งไปถึงวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ข้อนี้ยาก อย่างที่ได้ยินอาจารย์ คนหนึ่งในมหาวิทยาลัยบอกว่า มหาวิทยาลัยเขาสอนแต่วิชาอาชีพ เขาไม่ได้มา สอนเรื่องศีลธรรมจริยธรรม นั่นเป็นเรื่องของโรงเรียน สัมมาหรือมิจฉา
ผู้ร่วมสนทนา: มิจฉาครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เห็นไหมนี่มันก็เห็นชัดอยู่แล้ว ใช่ไหมเพราะเหตุว่า เรื่องของการปลูก ฝังคุณธรรม ไม่ใช่ของง่าย ปลูกฝังทำยากเหลือเกินเพราะมันไม่ค่อยยอมออกราก ไม่ยอมหยั่ง แล้วก็ เพียงแต่โรงเรียนเท่านั้น พอถึงมหาวิทยาลัยหมดแล้วไม่พูดถึงเลย พอออกมาเป็นผู้ใหญ่ ก็ไม่เป็นผู้ใหญ่ ที่มั่นคงเพียงพอ เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงต้องครบทุกระดับที่จะต้องเน้นให้วิชชา ช. สองตัว นำหน้าแล้วก็มีวิชาตามหลัง อาจารย์จะยอมเอาวิชชาไปสอดแทรกได้อย่างไรโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย ก็ต้องมีวิชชานำหน้า อย่างถ้าวิชาต้องวิชาอะไร พูดในแง่ธรรมะหรือภาษาธรรมะหน่อย ก็อาจจะบอกว่า เราจะต้องมีวิชาธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์จะต้องเป็นรากฐาน ของศาสตร์ทุกศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ อะไรทั้งนั้นจะต้องมีธรรมศาสตร์เป็นรากฐาน ธรรมศาสตร์ก็คือศาสตร์แห่งธรรมะ ธรรมะทั้งหลายที่เราพูด ตั้งแต่แรก จะต้องมีธรรมศาสตร์เป็นรากฐาน ถ้าสถาบันการศึกษา ใดสอนแต่ศาสตร์ต่างๆ ทางโลก โดยที่ ไม่มีธรรมศาสตร์เป็นรากฐานก็จะออกมาอย่างนี้ ผลิตผลก็อย่างที่เป็นอยู่ที่เราพบกันอยู่ในสังคม คือจะใช้ ความรู้ความสามารถความถนัดเต็มที่เลย เพื่อที่จะให้ได้รับ ความสำเร็จมากกว่าคนอื่นโดยไม่ คำนึงว่า ความสำเร็จนั้นจะได้มาโดยวิธีใด เป็นการขัดแข้งขัดขาก้าวข้ามหัวใครอย่างไรก็แล้วแต่ขอแต่ให้ฉันได้มา นี้เพราะขาดธรรมศาสตร์ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าจะเข้ามาได้ยังไงก็เข้ามาในหลักสูตรสิคะ ก็ขอให้มีอยู่ใน หลักสูตรแทนที่จะไป แอบอิงอยู่ในวิชานู้นมั่งวิชานี้บ้าง จะต้องเรียนธรรมศาสตร์นี้อย่างชนิดเป็นรากฐาน เป็นวิชาที่สำคัญ แล้วก็จะต้องให้การสอนวิชาธรรมศาสตร์อย่างชนิดที่เรียกว่าเป็นลักษณะจริยศึกษา หรือจริยธรรมคือ ต้องมีการ ปฏิบัติด้วย ไม่ใช่เพียงแต่สอนทฤษฏีอย่างที่ทำกัน อยู่โดยมากคือการสอน ในลักษณะให้ความรู้มากกว่าการฝึกฝนอบรม ทำไมถึงไม่มีการฝึกฝนอบรม ก็ได้รับคำบอกเล่าจากบรรดานักการศึกษาหลายคน ครูบาอาจารย์ บอกว่ามันวัดผลยากไม่รู้จะวัดผลยังไง แต่มันก็มีวิธีวัดผล โดยไม่ต้องใช้วิธีวัดผลสมัยใหม่ วัดผลจากตัวเอง จากตัวผู้ปฏิบัติเอง จากเพื่อนของเขา จากครูอาจารย์ จากผู้ปกครองที่บ้านจากผู้ที่เกี่ยวข้อง คือการที่จะวัดผลทางพฤติกรรมมันจะต้องอาศัยหลายเหตุหลายปัจจัยเข้ามาประกอบกัน เมื่อทุกเหตุทุกปัจจัยนั้นมีผลออกมาอย่างเดียวกัน นี่จึงจะเป็นคะแนนที่เราเรียกได้ว่าสมควร แต่จะใช้วิธีวัดผลวิชาธรรมศาสตร์ด้วยการให้ครูนั่งอยู่กับโต๊ะแล้วขีดเอาติ๊กเอาเหมือนอย่าง Multiple Choices อะไรอย่างนั้นใช้ไม่ได้ พวก Objective Test ทั้งหลายใช้ไม่ได้กับวิชาธรรมศาสตร์ เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่นักการศึกษากลัว ไม่กล้าทำ ถ้าจะใช้คำว่าไม่มีสติปัญญาที่จะทำก็เห็นจะได้ เพราะไม่มีใจอยากจะทำ เนื่องจากพอใจที่จะอยู่กับเรื่องของการที่มีความรู้เพื่อที่จะใช้ทำมาหากิน หรือเพื่อที่จะให้เป็นคนฉลาดโดยลืมนึกถึงน้ำใจของผู้อื่น ฉะนั้นจุดประสงค์หรือเป้าหมาย ใหญ่ของการจัดการศึกษา ถ้าจะให้เอาธรรมศาสตร์มาเป็นรากฐาน นั่นก็คือว่า ต้องมีเป้าหมายสูงสุดที่การกำจัดความเห็นแก่ตัว ที่จะต้องเป็นเป้าหมายสูงสุดของการจัดการศึกษา คือการกำจัดความเห็นแก่ตัว ตราบใดไม่มีสิ่งนี้เป็นเป้าหมายของการศึกษา พูดได้ว่าการจัดการศึกษานี้ยังไม่สมบูรณ์ และเราก็ยังเป็นคนครึ่งคนยังไม่สมบูรณ์ และโลกนี้ก็ยังไม่สามารถจะบอกว่าเป็นโลกสวรรค์ ธรรมสวัสดีนะคะ