แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ร่วมสนทนา : สวัสดีครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีค่ะ คราวก่อนนี้เราก็พูดกันถึงเรื่องของการสร้างจิตสำนึกที่ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ และเราก็เชื่อว่าเราก็เห็นร่วมกันนะคะว่า สถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับของโรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัยมีความสำคัญมาก ในการที่จะช่วยสร้างจิตสำนึกให้เป็นสัมมาทิฏฐิ โดยเฉพาะก็คือตลอดระยะเวลาที่อยู่ในการศึกษาที่อยู่ในระบบ คืออยู่ในโรงเรียนหรือ หรืออยู่ในวิทยาลัย ถ้าหากว่าการให้การศึกษาในโรงเรียนเป็นการให้การศึกษาที่เป็นรากฐานที่ถูกต้องแล้วละก็ มันก็จะเป็นประโยชน์แก่เด็กๆ และเยาวชนจนตลอดชีวิตของเขา ฉะนั้นก็ขอย้ำว่าการให้การศึกษาในเรื่องที่จะให้มีวิชชานำหน้าวิชานั้น จำเป็นที่ต้องจัดให้มีทุกระดับของการศึกษา จะเว้นมิได้เลยนะคะ ทีนี้ปัญหาของเราก็เห็นจะอยู่ที่ว่า แม้ว่าการจัดการศึกษานั้นจะได้มีการจัดหลักสูตรให้ถูกต้อง เพื่อที่จะให้การศึกษาอย่างชนิดที่มีวิชาธรรมศาสตร์ นี่เป็นรากฐานของการศึกษาทั้งปวง เเต่ผู้ที่ให้การศึกษา ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จนั้น ก็คือตัวบุคคลที่เรียกว่า “ครู” ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญของความสำเร็จของการศึกษา หรือคุณภาพของการศึกษาจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นี่ ก็เห็นจะอยู่ที่คำว่า ครู หรือที่ตัวของผู้เป็นครูนั่นเอง ว่าจะสามารถทำให้สัมฤทธิ์ผลได้มากน้อยเพียงใด
พอพูดถึงครูที่เป็นปัจจัยสำคัญ มันก็จะมีคำถาม ถามขึ้นมาว่าครูที่จะสอน หรือจะอบรมในเรื่องจริยธรรม หรือคุณธรรมให้แก่เด็กนั้น เป็นผู้ที่มีจริยธรรมในตนเองเพียงพอเเล้วหรือยัง หรือพูดง่ายๆ ว่าถ้าจะอบรมลูกศิษย์ให้เป็นผู้ที่มีจิตเป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วครูเองละ มีจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิแล้วหรือยัง เพราะฉะนั้นข้อนี้ก็จึงเป็นข้อสังเกต ที่ผู้ที่เป็นครูควรจะได้สังวรให้มากๆ ว่า ก่อนอื่นก็เห็นจะต้องจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้ทราบว่า สิ่งที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐินี้คืออะไร และลักษณะของจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐินี้เป็นอย่างไร และเมื่อทราบแล้วก็จะต้องฝึกฝนอบรมจนกระทั่งความเป็นสัมมาทิฏฐินั้นเกิดขึ้นภายในจิตให้จงได้ ทีนี้ครูก็อาจจะบอกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลยที่เราจะทำอย่างนี้ แล้วก็เห็นด้วยนะคะว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ง่าย มันเป็นสิ่งที่ยากมากในการที่เราจะอบ อบรมจิตให้เป็นสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้น แต่ก็เชื่อว่าครูที่มีวิญญาณของความเป็นครูนะ จะสามารถทำได้ คำว่าวิญญาณของความเป็นครูก็คงจะเข้าใจนะคะว่า มันทุกสิ่งทุกอย่างในตัวตนนะ ในความเป็นตัวครูนั้น หรือจะพูดว่าทุกขุมขนของความเป็นครูพร้อมที่จะสละให้ สละให้แก่ลูกศิษย์ในการที่จะอบรมให้ ให้ลูกศิษย์นั้นเกิดเป็นเช่นนั้นให้จงได้
เพราะฉะนั้นคุณสมบัติข้อแรกของครูนี่ก็มีความรู้สึกขึ้นในใจว่า ครูจะต้องเป็นผู้ให้ ไม่ใช่ผู้เอา จะต้องเป็นผู้ให้แก่ศิษย์ในทุกอย่าง แต่ไม่ใช่เป็นผู้เอาจากศิษย์ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าครูผู้ใดเกิดความรู้สึกอยากจะเอาจากศิษย์ แทนที่จะให้ นั่นไม่ใช่ครูเสียแล้ว ครูคือต้องเป็นผู้ให้ นอกจากจะให้วิชาความรู้ ให้วิชชา คือสิ่งที่เป็นคุณธรรม และจริยธรรมแล้ว ก็ให้ความรัก ความเมตตา ความเอ็นดู ครูจะต้องเป็นผู้ที่ป้องกันศิษย์ในทุกทาง ไม่ใช่เป็นผู้ที่จะชี้ช่องโหว่ให้แก่ลูกศิษย์ จะต้องเป็นผู้ที่ป้องกันศิษย์ในทุกทาง ทีนี้ครูที่จะต้องมีคุณสมบัติอย่างนี้นี่จะต้องเป็นครูที่อุตสาหะอย่างยิ่งเลย เท่าที่ได้เคยผ่านมานะคะ ในสมัยที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ ก็พอจะตอบได้ว่า คือถ้ามีคำถามว่าสมัยที่ยังเป็นนักเรียนนี่ มีความรู้สึกผิดหวังในครูคนไหนบ้าง แล้วก็ได้ลองทบทวน เพราะมีผู้เคยมาสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องการศึกษา เรื่องคุณสมบัติของครู ก็ตอบได้ว่าไม่รู้สึกผิดหวัง ไม่รู้สึกผิดหวังในครูคนไหนที่ได้เคยเป็นลูกศิษย์มานะคะ ทำไมถึงไม่ผิดหวัง ก็เพราะว่าครูในสมัยที่ยังเป็นนักเรียนนั้นรู้สึกว่าท่านมีความรับผิดชอบ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ถึงเวลาก็เข้าสอนเต็มตามเวลา ไม่ออกก่อนเวลา แล้วก็ไม่มีงานพิเศษ และก็ยังไม่มีการสอนพิเศษลูกศิษย์ด้วย เรียกว่ามีความรู้เท่าไรนี่ครูก็จะทุ่มเทให้แก่ลูกศิษย์หมดในห้องเรียนนั่นแหละ เพราะฉะนั้นห้องเรียนนี้ ก็เป็นห้องที่เราเรียนจริงๆ และก็ทั้งเรียน และก็ทั้งสนุก และเราก็ทั้งได้ความรู้ แล้วครูก็ไม่ได้ปล่อยให้เราทำอะไรตามใจเรา เหมือนอย่างที่ เหมือนอย่างที่ว่าเราจะเป็นลูกศิษย์บังเกิดเกล้านี่ไม่เคยมี เรามีแต่ครูนี่เป็นผู้ที่เราจะต้องให้ความเคารพ และก็ยกย่อง เพราะเหตุว่าท่านมีพระคุณอย่างเหลือ อย่างเหลือล้น ก็ไม่มีความรู้สึกว่าผิดหวังในครูคนไหน
แต่ว่าเมื่อมาอ่านหนังสือ แล้วก็ยิ่งเมื่อได้มาอ่านหนังสือนะคะ ดูเหมือนครูจะเคยพูดให้ฟังแล้วนะ ที่เกี่ยวกับครูแอนนี่ ของ เฮเลน เคลเลอร์ เชื่อว่าคงนึกชื่อ เฮเลน เคลเลอร์ ออกนะคะ ที่เป็นผู้ที่เป็นทั้งหูหนวก แล้วก็ทั้งตาบอด แต่เสร็จแล้วก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้ทำงานอันมีประโยชน์แก่โลกอย่างยิ่งเลย ได้ช่วยให้คนหูหนวกตาบอดในโลกนี้มีโอกาสที่จะได้มีความรู้ แม้ไม่เห็นก็เหมือนได้เห็น แม้ได้ยินด้วยหูธรรมชาติไม่ได้ก็เหมือนได้ยิน ด้วยความเมตตา และก็ด้วยความสามารถของ เฮเลน เคลเลอร์ แล้วก็คนทั้งหลายนี่ก็จะรู้จักแต่ว่า เฮเลน เคลเลอร์ นี่เป็นผู้หญิงที่มีประโยชน์ต่อโลกเป็นอย่างมากเลย แต่จะมีน้อยคนเหลือเกิน แม้แต่ตัวครูเองนี่ก็พึ่งรู้ทีหลังว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วว่า การที่เฮเลน เคลเลอร์ เป็น เฮเลน เคลเลอร์อย่างนี้ เพราะครูคนหนึ่ง ครูตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่มีชื่อว่า แอนนี่ ซึ่งเป็นครูของเขาเองนะคะ แล้วก็แอนนี่ นี่ก็เป็นเด็กยากจน เป็นเด็กกำพร้า และก็ตลอดชีวิตของเขานี่ก็ผ่านแต่ความยากลำเข็ญทั้งหลาย แล้วร่างกายก็ไม่แข็งแรง เพราะเหตุว่า ความที่เป็นคนขาดแคลนนี่ อาหารการกินก็ไม่ค่อยจะดี สุขภาพก็ไม่ดี แล้วก็นัยน์ตานี่ก็เคยเป็นตาแดง และก็ไม่ได้รับการรักษา จนเกือบจะตาบอด รวมความสุขภาพของครูแอนนี่เองนี่ ก็ย่ำแย่เชียว แต่ว่าเขาก็มีความอดทน มีความสามารถที่จะเล่าเรียนศึกษา จนกระทั่งจบการศึกษา พอจบการศึกษาเขาก็ได้รับคำทาบทามบอกว่า อยากจะให้มาสอนเด็กคนหนึ่งนี่ เป็นเด็กที่ตาบอด แล้วก็หูหนวก และก็อยากจะให้มาสอนหนังสือ และแอนนี่ก็ได้เรียนวิธีการที่จะใช้หนังสือ หนังสือตัวอักษรสำหรับคนตาบอดนี่นะคะ แล้วก็ภาษามือสำหรับคนหูหนวกด้วย เขาก็รับจะมาทดลอง โดยเขานึกว่ามาถึงเขาคงจะได้ใช้ความรู้ความสามารถของเขานี่เพื่อสอนอย่างเต็มที่ แต่พอมาถึงเขาก็กลับพบเด็กอายุห้าขวบ หรือเจ็ดขวบจำไม่ได้แน่นะ แต่เป็นเด็กที่เต็มไปด้วยพยศ ร้าย เเผลงฤทธิ์ อาละวาดทุกอย่าง เพราะว่าพ่อแม่ร่ำรวย และพ่อแม่ก็ตามใจ และพ่อแม่ก็สงสารที่ลูกเป็นอย่างนี้ เพราะตอนที่เฮเลน เคลเลอร์ เกิดมาทีแรกนี่เขาก็ปกติอย่างเราๆ อย่างนี้
ผู้ร่วมสนทนา : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วก็พออายุสักสอง หรือสามขวบนี่เกิดเป็นไข้ ไม่ทราบเป็นไข้อะไร พอหายแล้วก็กลายเป็นตานี่ไม่ค่อยเห็นไปเฉยๆ วันหนึ่งแม่เขาแต่งตัวให้ และเขาก็เอามือทำอะไรอยู่แถวๆ หน้า แต่ตาเฮเลนไม่กระพริบเลย ไม่แสดงว่ามองเห็น แล้วก็เสียงระฆังโบสถ์ในเมืองนั้นนะ ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ นี่ พอที่โบสถ์ใหญ่นั้นลั่นระฆังนี่ ทุกคนจะได้ยินหมด ก้องกังวาน แล้วเฮเลนนี่มักจะวิ่งไปที่ตรงหน้าต่างที่เขาได้ยินเสียง แต่วันนั้นเฉย ก็แสดงว่าตาบอด และหูก็ยังหนวกอีกด้วย แต่ทีนี้เป็นเด็กฉลาด เพราะฉะนั้นความฉลาดนี่มันก็มีอะไรอยู่ในใจหลายอย่าง ทั้งในสมองทั้งจิตใจนี่ ก็อยากจะพูด อยากจะคิด อยากจะทำ อยากจะแสดง แต่ไม่มีโอกาส ก็เพราะว่าอะไรนี่ ขาดเครื่องมือธรรมชาติใช่ไหม เครื่องมือที่ธรรมชาติให้มา คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันขาดตา ขาดหู ซึ่งเป็นอวัยวะ หรือเป็นเครื่องมือที่สำคัญไป เฮเลนก็ไม่สามารถจะแสดงให้ใครรู้ได้ว่า ตนมีความคิดมีความรู้สึกอย่างไร มันก็เลยออกมาในทางปฏิกิริยาที่เป็นในทางลบ คืออาละวาด ทุบของ กัด เตะ ตี พ่อ แม่ พี่ น้อง ใครๆ อยู่ใกล้ๆ ทำร้ายหมดเลย ทีนี้แอนนี่นี่มาถึงก็หวังว่า เอาละ! เราจะแสดงความเป็นครู สอนลูกศิษย์ให้อ่านได้ เขียนได้ อะไรอย่างนี้เต็มที่ กลับมาพบลูกศิษย์พยศร้ายไม่ยอมเข้าใกล้เลย พอเข้าใกล้ก็เรียกว่าต้อง ต้องเตะ ต้องกัด ต้องทึ้ง อะไรกันนี่จนถึงที่ แอนนี่เขาก็นึกในใจว่าเขาจะทำอย่างไรนะ เขาถึงจะสามารถเอาชนะเด็กคนนี้ได้ และก็สอนได้ ถ้าสอนไม่ได้นี่ ก็เป็นอันว่าเขาก็ล้มเหลว แล้วก็อย่าลืมว่าแอนนี่ นี่เป็นครูสาวๆ ตัวเด็กๆ อายุแค่สิบเจ็ด สิบแปดปีเท่านั้นเอง เพราะตอนที่เขาเรียนจบนี่ แต่ว่าวิญญาณของความเป็นครูนี่เขามี เพราะฉะนั้นเขาก็นึกดูว่า ก่อนอื่นเลย ถ้าเราจะสอนเด็กคนนี้ได้นี่เราต้องบังคับเด็กคนนี้ได้ ถ้าเราบังคับเด็กคนนี้ไม่ได้ จะไม่มีวันที่เราจะสอนเฮเลน เคลเลอร์ได้ แต่พ่อแม่เขานี่ก็ระมัดระวังโดยเฉพาะพ่อ เขากลัวว่าครูแอนนี่จะมารังแกลูกเขา เขาไม่ยอมที่จะให้บังคับให้ทำอะไร แต่ว่าครูแอนนี่ก็คล้ายๆ กับยื่นข้อสัญญาเป็นเงื่อนไขที่มันจะต้องทำให้ได้ แล้วเขาก็ทดลองกัน คือเฮเลนนี่มีนิสัยชอบ ชอบแย่งคนอื่นกิน คือหมายความว่าถ้าหากว่าของที่ตัวชอบนี่ จานของตัวหมด ก็จะมองแล้วบนโต๊ะที่กินนี่ ยังมีของใครเหลือ สิ่งที่เขาชอบมากอย่างหนึ่ง คือไส้กรอก วันนั้นก็มองดูของตัวหมด ของพ่อก็หมด ของแม่ก็หมด ของพี่คนอื่นที่นั่งอยู่ก็หมด มันมีอยู่ในอีกจานเดียว คือของคนแปลกหน้าคนนี้ ซึ่งเขามองไม่เห็น แต่เขารู้ว่าคนนี้คนแปลกหน้า และก็หมายเอาไว้เสียว่าอย่างไรเราจะต้องเอา แล้วเฮเลนเขาก็ อ้อ! ครูแอนนี่เขาก็รู้ใช่ไหม ก็รู้ท่าเหมือนอยากจะต้องมาตะปบในจานของเขาแน่เลย เขาก็คอยระวังอยู่ แล้วก็จริงๆ เดินไปเดินมาหลายรอบ ก็ตะปบลงไปที่ ที่ไส้กรอก ที่ในจาน ใช้มือสกปรกของตัวด้วยนะ ตะปบลงไปเลย แอนนี่เขาก็จับมัด เขาก็จับมือ มือแน่นเชียว และเขาก็ไม่ยอมปล่อย พ่อก็ถาม พ่อของเฮเลนก็ถาม นั่นจะทำอะไรลูกเขานะ เขาบอกว่าเพราะว่า เฮเลนทำกิริยาไม่ถูกต้องที่มาตะปบอาหารอย่างนี้ แล้วก็สกปรกด้วย พ่อเขาก็บอกว่าเขาจะยอมให้ลูกเขาอด ในบ้านของเขาไม่ได้ คือใครจะไม่ให้ลูกเขากินอะไรไม่ได้ ต้องให้กิน แอนนี่เขาก็ไม่ยอมเพราะเขาเป็นครู เขาบอกว่าเขาต้องบังคับ แหม! ก็แสดงอาการจะไม่ยอมกัน เกือบว่าจะ จะไล่แอนนี่ออกแล้วก็ว่าอย่างนั้นเถอะ แต่แม่เขานี่มีสติหน่อย เขาก็ขอร้อง เขาก็บอกว่าอย่างน้อยให้แอนนี่ได้ลองทดลองดู แอนนี่เขาก็ขอร้องให้ทุกคนออกไปจากห้องอาหารให้เหลือเขากับเฮเลนสองคน พอเหลือกันสองคนนี้ก็เรียกว่าสู้กันเต็มที่ เฮเลนก็พยายามที่จะแย่งไส้กรอกนะ เอามากินให้ได้ ทั้งถีบ ทั้งกัด ทั้งเตะ พยศร้าย นี่ก็ไม่ยอมเพราะว่าเขาแข็งแรงกว่านะ เขาเป็นผู้ใหญ่ เขาก็จับจนกระทั่งเฮเลนหยุด หยุดก็เขาก็บอกให้กลับไปนั่งที่ ก็กลับไปนั่งที่ ก็หิว ก็จะกิน พอจะกินก็คว้าที่มือที่มีอยู่ในบนจานของตัวด้วยการใช้มือ ไม่ยอมใช้ช้อน ไม่ยอมใช้ส้อม ก็จะเอาใช้มือ แอนนี่เขาก็บังคับ ไม่ให้ใช้มือ ต้องใช้มีด ใช้ส้อม ก็บังคับจนกระทั่งสำเร็จ พอสำเร็จเสร็จแล้ว ทีนี้ก็ เขาก็เอาตัวของเฮเลนนี่ เข้าไปที่ห้องแล้วก็เริ่มสอนกันทีละน้อย โดยเฮเลนยอมรับแล้วว่าบัดนี้เขาสู้ครูไม่ได้ ครูคนนี้เก่งกว่าเขานะ และทีนี้ก็ค่อยเริ่มเรียนทีละน้อย ละน้อย ละน้อย จากการที่ใช้ภาษามือ เขาก็จะใช้ภาษามือว่า เช่นอย่างสมมติว่า นี่เป็นนาฬิกา เขาจะเอานาฬิกานี่เข้าใส่ในมือ และเสร็จแล้วเขาก็จะทำมือขยุกขยิก ขยุกขยิกเขียนลงไปในมือว่า สิ่งนี้เรียกว่าอย่างนี้ด้วยภาษามือ เหมือนอย่างที่เราเห็นเขาทำภาษามือกันนั่นแหละ ก็พยายามสอน ก็เฮเลนก็ฉลาดก็เรียนรู้เร็ว แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างนี่ที่เขายังเรียนไม่รู้นะ
จนกระทั่งวันหนึ่งนี่ เขาก็พาออกไปที่สนาม พอไปถึงที่สนาม แล้วเขาก็ มันมีก๊อกน้ำเก่าๆ แล้วน้ำก็กำลังไหล แอนนี่ก็นึกว่า แหม! อยากจะสอนให้เฮเลนนี่รู้จักธรรมชาติ เขาก็เอามือเฮเลนนี่ไปรอน้ำ แล้วก็ น้ำมันก็เย็น แล้วมันก็ไหลนี่ แล้วเขาก็เขียนคำว่า น้ำ ตอนแรกเขาก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ ว่านี่ อย่างนี้ที่เขาไปจับมา เหลวๆ เย็นๆ อย่างนี้ มันคือน้ำ ก็ยังไม่เข้าใจ เขาก็จับน้ำแล้วก็มาเขียน จับน้ำแล้วก็มาเขียน แล้วก็มาลูบมาอะไรอย่างนี้ จนกระทั่งผลที่สุดนี่ ท่าทางความรู้สึกในใบหน้าบอกว่านี่เขาซึมซาบแล้วสิ่งนี้ คือน้ำ นี่เข้าใจไหม เหมือนอย่างที่เราพยามยามจะซึมซาบ คำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่มันซึมซาบขึ้นมาในใจ นี่เขาก็ซึมซาบสิ่งนี้ คือ น้ำ พอเขาซึมซาบเท่านั้นแหละ ตอนนี้เฮเลนวิ่งในสนามนี่รอบ แล้วก็ลงมาตบที่ดิน ตรงนี้เรียกอะไร ตรงนั้นเรียกอะไร ต้นไม้ ตบหมดทุกอย่าง ผลที่สุดก็ตบตัวเอง แล้วนี่ละอะไร นี่ละอะไร เขาก็อยากจจะรู้ว่า นี่อะไร ทีแรกแอนนี่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า นี่อะไร พอพูดไปพูดมา เขาก็ อ๋อ! คงอยากจะรู้ว่าตัวเองนี่คือใคร เขาก็เลยสะกดชื่อ เฮเลน เอาไว้ นั่นละเฮเลนก็รู้ว่านี่ อ๋อ! นี่เราคือ เฮเลน และเฮเลนก็สะกดอย่างนี้ แล้วนี่ละใคร เขาก็จับที่ตัวแอนนี่ แล้วนี่ละ นี่ละ นี่ละ ใคร เขาก็เขียนว่าครู ก็เป็นอันว่าบัดนี้มีครูกับลูกศิษย์ นี่ก็เป็นการสื่อสารที่เริ่มสอน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไปนี่ แอนนี่ก็จะพาลูกศิษย์นี่ออกไปสู่ธรรมชาติ ไปศึกษาจากธรรมชาติ พร้อมกับให้เรียนรู้ไปด้วยทุกอย่างในวิชาธรรมชาติศึกษา แล้วก็เฮเลนก็ค่อยๆ มีความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น ฉลาดมากขึ้น และแอนนี่ก็รวมทั้งอ่านหนังสือให้ฟังด้วย
จนผลที่สุดเฮเลนก็จบ และก็ได้ไปเข้ามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยที่เขาไปเรียนก็คือ ที่แรดคลิฟฟ์ (Radcliffe) ที่เป็นมหาวิทยาลัยของผู้หญิง แล้วก็จบด้วยเกียรตินิยมด้วย แล้วจากนั้นมาเขาก็เป็นคนที่ทำประโยชน์ให้แก่โลกเป็นอันมากเชียว แล้วก็ขณะใดที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วเขาก็มีความเหนื่อย เขาก็รู้สึกว่าท้อถอย เพราะงานมันหนัก ปัญหามันเยอะ เขาก็อยากจะนั่งเฉยๆ ไม่อยากทำอะไร เขาจะได้ยินเสียงครูแอนนี่นี่เหมือนกับเสียงครูแอนนี่มากระซิบที่หูแล้วก็บอกว่า เฮเลน ครูไม่อยากให้เธอทำอย่างนี้นะ ครูไม่อยากให้เธอทำอย่างนี้นะ ผลต้องลุกกระฉับกระเฉงแล้วก็ทำงานต่อไป จนกระทั่งทำงานให้เกิดประโยชน์ให้แก่โลก แล้วแอนนี่ นี่ก็เรียกว่าอยู่ใกล้ คอยบอก คอยสอน คอยอบรม คอยตักเตือนสติ ให้แก่เฮเลน เรียกว่าตลอดชีวิต ตลอดชีวิตของครูแอนนี่ และในตอนท้ายนี่แอนนี่ก็ตาบอด และหมอก็บอกว่าไม่สามารถจะช่วย แม้แต่ผ่าตัดก็จะไม่ช่วยให้ตาแอนนี่ได้เห็นอีกเลย ที่เป็นอย่างนี้หมอเขาบอกว่า เพราะครูแอนนี่นี่ได้ใช้สายตาของเขา ในการอ่านหนังสือให้เฮเลนฟัง จะอ่านหนังสือต่างๆ เพื่อให้ลูกศิษย์มีความรู้ เพราะว่าเฮเลนอ่านเองไม่ได้ คือนอกจากหนังสือตัวเบรลล์แล้วนี่ เขาก็อ่านหนังสือธรรมดานี้ให้ฟัง ใช้สายตามาก จนกระทั่งสายตานั้นมันสุดวิสัยที่จะรับใช้ได้ ก็เรียกว่าชีวิตทั้งชีวิตนี่ ครูแอนนี่ยอมเสียสละเพื่อการศึกษาที่จะให้ลูกศิษย์รู้จนถึงที่สุด และก็รู้อย่างดีที่สุด และก็สมบูรณ์ที่สุด เท่าที่สามารถจะทำได้ ฉะนั้นครูอย่างนี้ก็บอกได้เลยว่า เป็นผู้ให้ เป็นผู้ให้ทั้งหัวใจทั้งชีวิตของเขาเพื่อการศึกษาแก่ลูกศิษย์ เพื่อทำให้ลูกศิษย์นี่จากการเป็นคนให้เป็นมนุษย์ขึ้นมาได้ แล้วก็สิ่งใดที่เป็นความถูกต้อง ที่เขารู้ว่าถ้าลูกศิษย์ควรจะรู้สิ่งนี้ และจะเป็นความถูกต้องเกิดประโยชน์แก่ชีวิต ก็จะทำอย่างเต็มที่
นี่ก็คือว่า คุณลักษณะของ “ครู” ที่มีวิญญาณครูนั้นจะต้องกล้าสอน และกล้าอบรมในสิ่งที่ถูกต้อง พร้อมทั้งทำประโยชน์ คือพร้อมทั้งทำตัวได้เป็นตัวอย่างให้ลูกศิษย์ได้เห็นด้วย แต่เดี๋ยวนี้เราก็จะเห็นว่าเราขาด เราขาดครูที่จะเป็น ที่จะเป็นตัวอย่างให้แก่ลูกศิษย์ และกล้าสอนกล้าอบรมในสิ่งที่ยังเห็นว่าถูกต้อง นี่ก็เป็นคุณสมบัติที่สำคัญ หรือถ้าจะยกตัวอย่างครูที่ ที่เรามองเห็นจากตัวบุคคล ก็อย่างเช่น ครูโคบายาชิ ของโตะโต๊ะจัง อย่างนี้เป็นต้นใช่ไหม
ผู้ร่วมสนทนา : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เราก็รู้ว่าโต๊ะโต๊ะจังนี่เป็นตัวโต๊ะโต๊ะจังขึ้นมาได้นี่ ถ้าไม่ได้ครูคนนี้คงไม่มาเป็นอย่างนี้ ที่เป็นคนมีชื่อเสียงทั่วโลกนะ ถึงกับเป็นทูตของยูนิเซฟ (UNICEF) เป็นผู้ที่มีรายการที่popular (เป็นที่นิยม, เป็นที่ชื่นชอบ) ที่สุดรายการหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นในทางโทรทัศน์ที่เป็นรายการเกี่ยวกับเด็ก เพราะว่าตอนเด็กๆ นี่ใครๆ ก็เห็นว่าโต๊ะโต๊ะจังเป็นเด็กใช้ไม่ได้ เป็นเด็กไม่เอาเรื่อง เป็นเด็กที่เป็นตัวปัญหาของห้องเรียน เพียงแค่อยู่ประถมหนึ่งเท่านั้นนะ ครูก็ถึงกับไล่ออกนี้ เชิญออกนี้ แต่เมื่อมาพบครูโคบายาชิ ที่พร้อมที่จะมีเวลารับฟัง รับฟังจากความความคิดจินตนาการของเด็กๆ อย่างเข้าใจธรรมชาติของเด็ก แล้วก็ช่วยกล่อมเกลาความล้น ความล้นต่างๆ ของโต๊ะโต๊ะจังนี่ จนกระทั่งเข้ามาอยู่ในความเป็นพอดี คือความพอเหมาะพอดีของชีวิตของเขา และเขาก็สามารถจะพัฒนาความถนัด หรือว่าส่วนดีตามธรรมชาติของเขานี่จนเกิดประโยชน์ถึงที่สุด
ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า อิทธิพลของครูต่อลูกศิษย์นี่มีมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นครูนี่จึงเป็นทั้งพ่อ และทั้งแม่ของลูกศิษย์ เหมือนอย่างสมัยที่ครูเป็นเด็ก อยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งนี่ เขาจะให้ลูกศิษย์เรียกครูว่า “แม่ครู”
ผู้ร่วมสนทนา : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แม่ครูนี่เป็นคำที่ เป็นคำที่น่าชื่นใจ และก็มันแสดงความหมายว่าครูนี่เป็นทั้งแม่ และก็เป็นทั้งครู นี่พูดถึงครูผู้หญิงนะคะ ถ้าหากว่าครูผู้ชายก็ต้องเป็นทั้งพ่อ และก็เป็นทั้งครู เดี๋ยวนี้เราหายากนะคะ ถ้าเรามีพ่อครู และเราก็มีแม่ครูอย่างที่ในสมัยก่อนนี้ยังมีอยู่นี่ เราก็เชื่อว่าเด็กของเรานี่ จะมีกำลังใจในการศึกษาในการเล่าเรียนขึ้นอีกมากทีเดียว เพราะฉะนั้นก็พูดได้สั้นๆ ว่าคุณภาพของครูนี่แหละ คือคุณภาพของการศึกษา ถ้าหากว่าครูนั้นไม่มีคุณภาพ การศึกษานั้นก็ไม่มีคุณภาพ แม้ว่าหลักสูตรจะดีเพียงใด ประมวลการสอนจะละเอียดเพียงใด หนังสือตำรานี่จะชัดเจนมีมากมายเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าตัวครูเองไม่ทำตัวครูให้มีคุณภาพ ความดีความวิเศษความมีคุณภาพทั้งหลายเหล่านั้น มันก็อยู่แต่ในกระดาษ มันไม่สามารถจะมีชีวิตจิตใจ แล้วก็มาปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยให้แก่คนอื่นได้เลย ได้อีกเลย
ผู้ร่วมสนทนา : แต่เดี๋ยวนี้ครูส่วนใหญ่เขาคิดว่าเขามีอาชีพ เป็นอาชีพหนึ่งนะ ครูไม่ใช่ปูชนียบุคคลเหมือนคนรุ่นก่อนแล้วละครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วจเลิศ เห็นว่าอย่างไรละคะ
ผู้ร่วมสนทนา : ผมคิดว่าครูยังคงจะเป็นปูชนียบุคคลเหมือนเดิมนะครับ แต่เท่าที่คุยกับเพื่อนครูหลายคนบอกมันเป็นอาชีพหนึ่ง ที่ก็เหมือนกับอาชีพรับจ้างสอนนะ ไม่ใช่เพื่อจะไปสอน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วรู้สึก
ผู้ร่วมสนทนา : พ่อแม่จะมาส่งภาระให้ครูทุกอย่างไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วรู้สึกอย่างไร เมื่อได้ยินอย่างนั้น รู้สึกอย่างไร
ผู้ร่วมสนทนา : ก็อยากให้เป็นครูแบบเดิมมากกว่า แต่ก็
อุบาสิกา คุณรัญจวน : รู้สึกใจหายไหม
ผู้ร่วมสนทนา : ครับ ใจหาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : รู้สึกใจหาย ถ้าหากว่าครูบอกว่าเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง เหมือนอาชีพรับจ้างเเล้ว มันก็ไม่มีความหมาย เพราะว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก่อนนี้ในชนบทนี่ คือในต่างจังหวัด พอได้ทราบว่าใครเป็นครูเท่านั้นนะ ความเคารพนับถือมาเองโดยอัตโนมัติ ได้รับการเชื่อฟังเลย นี่เเสดงว่าในสังคมไทย หรือวัฒนธรรมไทยก็ให้ความเคารพยกย่องผู้ที่เป็นครูอย่างยิ่งเลย แล้วทีนี้ถ้าหากว่าครูนี่ มาบอกว่าเราคือคนผู้มีอาชีพอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างเวลานี้ได้ยินว่าจะมีการให้ใบประกาศนียบัตรแก่ครูที่ทางองค์การครูเขาจะจัดขึ้นมา นี่ก็ไม่ทราบว่าเป็นการยกฐานะครู หรือเป็นการลดฐานะของครู รู้สึกอย่างไร
ผู้ร่วมสนทนา : มันวัดอะไรไม่ได้ ใบประกาศอย่างเดียว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ในความรู้สึกก็คือว่า นี่คือการลดฐานะของครู ไม่ใช่เป็นการส่งเสริมให้ครูเป็นครูที่ดี เพราะกระดาษแผ่นเดียวนี่ เราได้กันมาเยอะแยะเลย ใช่ไหมคะ กระดาษแผ่นเดียวเราได้มาแล้วตั้งแต่เรียนชั้นประถม มัธยม วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ได้กระดาษแผ่นนี้มาเยอะแยะ พอมาเป็นครูยังจะมาเอากระดาษอีกแผ่นหนึ่งนี่ เพื่อรับว่าเรานี่เป็นครู เเล้วเกียรติศักดิ์ของความเป็นครูมันอยู่ที่ไหน
ผู้ร่วมสนทนา : อยู่ที่การกระทำครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันน่าละอาย มันน่าใจหาย แล้วทำให้ครูนี่ขาดความเคารพในตัวของตัวเอง ขาดความเคารพในความเป็นครูด้วย นี่ไม่ใช่เป็นการเเก้ปัญหาคุณภาพของครู อย่างที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือองค์การคุรุสภาคิดว่าจะทำ มันไม่ได้ช่วยอันนี้ เพราะว่ามันทำให้ครูมองเห็นว่าอาชีพของครูนี้ไม่ใช่อาชีพการสร้างคน กลายเป็นอาชีพรับจ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คิดว่าเราจะต้องช่วยกันพัฒนา พัฒนาคุณภาพของครู เพื่อที่จะพัฒนาการศึกษา และถ้าหากว่าการศึกษานั้นสามารถพัฒนาได้ นั่นก็คือ การพัฒนาสังคม ที่ให้สังคมนั้นเป็นสังคมที่มีคุณประโยชน์ยิ่งขึ้น ฉะนั้นคนเป็นครูนี่ จึงต้องการคุณธรรมประจำตัวครูหลายอย่าง เช่นอย่างอิทธิบาทสี่ ทราบเเล้วใช่ไหมคะ อิทธิบาทสี่ เพราะอิทธิบาทสี่ นี่คือบาทฐานของความสำเร็จ จะต้องมีความรักในอาชีพครู แต่เดี๋ยวนี้ก็น่า น่า น่าสงสาร และก็น่าเสียดาย ที่ว่าอาชีพครูนี่บางทีเกือบจะเป็นอาชีพสุดท้ายที่เขาเข้ามาสอบ คนเป็นครูจะต้องไปสอนผู้อื่น เราต้องการคลีน ต้องการยอด ต้องการหัวกะทิว่าอย่างนั้นเถอะ เราไม่ต้องการหางกะทิ แต่นี่เรามักจะได้หางกะทิ หรือน้ำกลางๆ น้อยนักที่เราจะได้หัวกะทิมา เพราะเราจะต้องไปสอนคนอื่น ทีนี้ถ้าหากว่าครูเป็นกลางๆ กะทิ หรือหางกะทิ ลูกศิษย์มันก็ยิ่ง หาง หาง หางยิ่งขึ้นใช่ไหมคะ มันจะต้องต่ำลงไป ต่ำลงไปตามลำดับ นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรจะดูว่า เราจะต้องพัฒนาคุณภาพของครูด้วยการเลือกครู และผู้ที่จะมาเป็นครูนั้นนอกจากสมอง สติปัญญา แล้วก็ต้องศรัทธาในความเป็นครู มีชีวิตจิตใจที่พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น
ถึงแม้ครูจะบอกว่า ครูก็เป็นพ่อแม่เหมือนคนอื่น ซึ่งก็เห็นใจนะคะ อันนี้เป็นพ่อแม่เหมือนคนอื่น ก็มีปัญหาในฐานะเป็นพ่อเเม่ด้วย เเต่ในขณะเดียวกันนี่ เมื่ออาสามาเป็นครูมันต้องสร้างวิญญาณของความเป็นครูให้เกิดขึ้นให้ได้ แต่ในขณะเดียวกันสังคมก็ต้องเห็นใจครูด้วย เเล้วก็ต้องช่วยเหลือส่งเสริมให้ครูสามารถทำหน้าที่ของครูได้อย่างถูกต้อง อย่าเบียดเบียนครูให้ต้องไปทำงานอื่น ที่ไม่ใช่หน้าที่ของครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด ครูนี้ถูกเบียดเบียนมากเลย เพราะเห็นว่าครูเป็นคนเก่ง ทำงานดี เช่นนั้นพอจังหวัดมีอะไรก็ครู
ผู้ร่วมสนทนา : ครู
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เอาครูมาทำ แม้แต่เลือกผู้แทน ถึงเวลาเลือกผู้แทนกันก็ขอครูมาเป็นเจ้าหน้าที่ในการเลือกตั้งอย่างนี้เป็นต้น ครูก็เสียเวลาในการที่จะไปสอนหนังสือ และก็ไปอบรมลูกศิษย์ นี่เรียกว่าสังคมต้องช่วยครูด้วย เเล้วก็ต้องดูเเลให้ครูได้รับความปลอดภัย และก็มั่นคงในหน้าที่ และอาชีพของครูตามสมควร เรียกว่าเป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อว่าครูจะได้สามารถทำหน้าที่ของครูอย่างเต็มที่
พัฒนาสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นในจิตของครู และก็พัฒนาสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นในจิตของลูกศิษย์ เพื่อที่ว่าเราจะได้สังคมที่มีสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ และก็มีจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ฉะนั้นครูต้องมีอิทธิบาทสี่ มีความรัก แล้วก็มีความพากเพียร แล้วก็มีความจดจ่อ เอาใจจดจ่ออยู่ในหน้าที่ของการทำ เป็นครู แล้วก็มีความคิดใคร่ครวญที่จะปรับปรุงงานครูให้ยิ่งขึ้น มีพรหมวิหารสี่ รู้จักพรหมวิหารสี่ แล้วใช่ไหมคะ มีเมตตา กรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา อุเบกขานี่ เดี๋ยวนี้ครูบางคนอาจจะบอก โอ๊ย! ฉันอุเบกขาเเล้ว แต่ไม่ทราบว่า อุเบกขาในที่นี้นี่เป็นอุเบกขาแห่งธรรม หรือว่าเป็นอุเบกขาแห่งกิเลส ถ้าอุเบกขานั้นเป็นเพราะว่า ฉันรำคาญ ฉันเกลียด ฉันหมั่นไส้ ฉันทนไม่ได้ ฉันก็เลยไม่เอาและ ฉันตัดหางปล่อยวัด ก็อยากจะเรียนว่านี่ไม่ใช่อุเบกขาของพระพุทธเจ้า นี่เป็นอุเบกขาของกิเลส ถ้าเป็นอุเบกขาของพระพุทธเจ้านั้นก็คือว่า ได้พยายามทำหน้าที่ของครูอย่างดีที่สุดเต็มความสามารถเเล้ว เเต่เผอิญมันสุดวิสัย สุดวิสัยที่จะจัดการ อบรม ปรับปรุงให้เขาเป็นคนอย่างเราที่ต้องการได้ เราก็วางเอาไว้ก่อนตอนนี้ เพราะมันยังมีคนอื่นๆ อีกนะคะ แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ทิ้ง เราคงชำเลืองมองดูอยู่ ถ้าเผอิญมีจังหวะเหมาะที่เราจะไปช่วยเหลือได้ แก้ไขได้ เราจัดแจงทำทันที นี่คืออุเบกขาของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นก็ต้องการคุณสมบัติหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หิริโอตตัปปะ นึกออกไหมคะ หิริโอตตัปปะคืออะไร
ผู้ร่วมสนทนา : ทราบครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหากว่าครูปราศจากเสียซึ่งหิริโอตตัปปะ คือความละอาย ความเกรงกลัวต่อบาปแล้ว อาจจะทำอะไร อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่หน้าที่ของครู หรือว่าเกินหน้าที่ ไม่ใช่เกินหน้าที่หรอก ไม่ใช่หน้าที่ที่ครูที่ดีที่จะพึงกระทำ และยิ่งกว่านั้น ครูนั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในความเสื่อม และความเจริญของสังคมด้วย ฉะนั้นหน้าที่ของครูไม่ใช่น้อยนะคะ เเต่เมื่อทำได้ก็ถือว่าเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ และก็ควรแก่ความเป็นครู ที่ได้รับการเคารพยกย่อง จากทุก จากทุกที่ทุกสถาน
ธรรมสวัสดีค่ะ