แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมสวัสดีค่ะ รายการธรรมสนทนาในวันนี้นะคะคิดว่า เราน่าจะคุยกันในเรื่องที่เกือบจะเรียกว่าต่อเนื่อง หรือไม่เชิงเป็นเรื่องต่อเนื่อง แต่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เราได้เคยพูดกันบ่อยๆ ว่า พุทธธรรมกับสังคม หรือพุทธธรรมกับชีวิตนี้เป็นสิ่งแยกกันไม่ได้ จะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าหากว่าชีวิตนั้นต้องการความแจ่มใส เบิกบาน ชุมชื่นอยู่เสมอ จะขาดเสียไม่ได้ซึ่งธรรมะ และถ้าหากชีวิตในสังคมแต่ละชีวิตนั้น เป็นชีวิตที่แช่มชื่นเบิกบาน ก็นึกดูเถอะนะคะว่า สังคมเราจะเป็นอย่างไร สังคมเราก็ย่อมเป็นสังคมที่เบิกบาน ผ่องใส เรียกว่าจะไปทางไหนก็จะพบแต่ความยิ้มแย้ม ชื่นบาน มีแต่ความเป็นมิตรไมตรี ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยพุทธธรรมนั่นเอง ทีนี้เมื่อพูดถึงพุทธธรรมหรือพระพุทธศาสนา ก็อยากจะให้หัวข้อที่เราจะพูดในวันนี้ว่า สิ่งที่ต้องทำความรู้จัก
ผู้ดำเนินรายการ: สิ่งที่ต้องทำความรู้จัก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะใช่ค่ะ
ผู้ดำเนินรายการ: เป็นยังไง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือหมายความว่าเราก็เคยพูดว่าเราจะต้องปรับทัศนคติ หรือ ทิฏฐิเกี่ยวกับเรื่องธรรมะหรือพุทธศาสนา ถ้าเราจะสามารถอบรมตัวเราเองให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้องได้ เช่น ต้องมีศรัทธาที่เป็นพุทธศาสตร์ ต้องรู้จักความหมายของถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่นคำว่า กรรม บุญ บาป นรก สวรรค์ การเกิด การตาย หรือ สุข ทุกข์ ที่ถูกต้องให้ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า นั่นคือการทำความเข้าใจ ให้รู้จักให้ถูกต้องนะคะ เราจะได้ไม่เข้าใจเขว แล้วก็เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตัวได้โดยตรง
ทีนี้วันนี้นี่ เพื่อที่จะให้เรามีความมั่นคงในความเข้าใจที่ถูกต้องเหล่านั้น เราก็ควรจะได้รู้จัก คือทำความรู้จักกับเรื่องๆ หนึ่ง หรือสิ่งๆ หนึ่ง ซึ่งถ้าเรารู้จักเข้าใจชัดเจน ถ่องแท้จะทำให้ใจของเรามีความมั่นคงหนักแน่นในธรรมะ หรือในพุทธศาสนายิ่งขึ้น สิ่งนั้นถ้าพูดเข้าทั้งคุณเจี๊ยบทั้งคุณจเลิศก็จะต้องร้องอ๋อ หรือท่านผู้ชมก็เช่นเดียวกัน เพราะว่าเราพูดถึงมานานนักหนาแล้ว สิ่งนั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่า อนิจจัง
ผู้ดำเนินรายการ: อนิจจังนี่เอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ อนิจจังและบางคนก็เคยอุทาน อนิจจัง บ่อยๆ ใช่ไหมคะ ก็เป็นคนขวัญอ่อน พอเวลาอะไรพลาดเข้าไปก็อาจจะร้อง อนิจจัง หรือ ร้องอย่างอื่นก็ตาม แต่ถ้าร้องอนิจจัง รู้สึกจะดีกว่าอย่างอื่นนะคะ เราจะได้ซึมซาบในคำอนิจจังนี้ไปเรื่อยๆ แต่วันนี้นี่อยากจะเน้นด้วยการยกว่า สิ่งที่ต้องรู้จักนั้น ก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า พระอนิจจัง หมายความว่าเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่เราควร รู้จักและก็มีความเคารพนับถือในความเป็นสัจจะของสิ่งที่เรียกว่าเป็นพระอนิจจังนี้ด้วย พระอนิจจังก็คือ เราก็พูดกันไปเรื่อยอะไรนั้นเอง
ผู้ดำเนินรายการ: ความไม่เที่ยง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ความไม่เที่ยง เรากำลังจะพูดถึงเรื่องของความเปลี่ยนแปลงซึ่งจัดว่าเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติอย่างชนิดที่เห็นจะไม่มีใครเถียงได้ว่าไม่ใช่ เป็นกฎของธรรมชาติ เพราะธรรมชาตินี่ ได้แสดงตัวให้เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นี่เรามองไปรอบๆ ตัวที่เรานั่งอยู่นี้ เห็นความเป็นอนิจจังไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ใบไม้หล่น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ใบไม้หล่นลงมา ใบไม้บนต้นยังเขียวอยู่เลย แต่ก็ไม่เขียวทุกใบใช่ไหมคะ บางต้นก็มีทั้งเขียวทั้งน้ำตาล ตอนต้นเขียวตอนปลายก็เป็นสีน้ำตาล บางต้นก็บางใบก็กำลังล่วงหล่นลงมา พอล่วงหล่นนี่ก็เป็นใบไม้แห้งนี่กรอบแกรบเต็มไปหมดเลย แล้วก็รวมทั้งสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ยิ่งกว่านั้นอีก มันก็แสดงถึงความเป็นอนิจจัง นี่ธรรมชาติจะแสดงความเป็นอนิจจังให้เราเห็นอยู่ตลอดเวลา ปีหนึ่งประเดี๋ยวก็มีฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูที่อากาศเย็นๆ เราไม่ค่อยมีอากาศหนาวเหมือนอย่างปีนี้เราก็ไม่มี แต่นี่ก็เป็นความแปลกอีกอย่าง บางปีเมื่อก่อนโน้น สมัยที่เรายังอายุน้อยๆ กว่านี้ก็พบว่ามันหนาวมาก และความหนาวหายไปไหน ถ้าเราจะไปทวงกับธรรมชาติ ความหนาวหายไปไหน ธรรมชาติก็คงจะตอบว่า นี่แหละมันเป็นอนิจจัง เราจะไปหวังว่า ทุกปีจะต้องหนาวอย่างนี้ในเดือนนี้ และก็ระยะความยาวก็ต้องเท่ากัน เป็นไปไม่ได้ เราหวังอะไรไม่ได้เลยสักอย่างเดียว นี่เรียกว่าเป็นกฎของธรรมชาติที่เที่ยงแท้แน่นอน
ผู้ดำเนินรายการ: ร่างกายเราก็เหมือนกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ และก็เป็นกฎที่ยุติธรรม เป็นกฎที่เที่ยงธรรม ที่ว่าเป็นกฎที่เที่ยงธรรมเพราะอะไร ก็เพราะเหตุว่า ไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชังใช่ไหมคะ อย่างที่คุณจเลิศพูดถึงว่าอย่างร่างกายเรา เกิดมาและก็ต้องเติบโตไป ถึงไม่อยากโตเลยก็ต้องโต ไม่ช้าก็ค่อยๆ แก่ แก่แล้วก็ตาย นี่ก็เป็นกฎของธรรมชาติ ใครจะร้องบอกว่า อย่าเลย จะเอาอะไรจะให้หมดเลย เรียกว่า จะติดสินบนธรรมชาติ ไม่มีใครทำได้ เห็นไหมคะ นี่ธรรมชาติยุติธรรม เที่ยงธรรม และก็ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มีความเป็นธรรมเสมอหน้ากันหมดเลย ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าเป็นกฎของธรรมชาติมีความเที่ยงธรรม มีความแน่วแน่ มีความทรงตัวอยู่เป็นปกติในตัวของมันเอง นี่คือลักษณะของกฎของธรรมชาติ
ผู้ดำเนินรายการ: แต่เราสังเกตไม่ค่อยเห็นนะครับอาจารย์ครับ เรื่องการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ว่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็เราไม่สังเกตสิคะ ถ้าเราสังเกตเราก็ต้องเห็นแน่ใช่ไหมคะ ท่านผู้ชมก็คงจะเห็นอย่างที่ว่านี่ ถ้าเราสังเกต แต่ถ้าเราไม่สังเกตเราก็ไม่เห็นเหมือนอย่างคนที่เราอยู่ด้วยกันทุกวันทุกวันนี่นะคะเราไม่ค่อยเห็นความอ้วน ความผอม หรือความซูบซีด หรือความชุ่มชื่นอิ่มเอิบ เราไม่ค่อยเห็น แต่พอคนที่เขาจากไปนานๆ พอมาเขาก็มักจะทัก แหมทำไมผอมไป ทำไมอ้วนไป ทำไมถึงมองดูซีดเซียวอย่างนี้ นั่นก็เพราะเมื่อเขามาถึงเขาก็สังเกตเห็นชัด แต่ถ้าเราสังเกตกันอยู่ เราก็จะเห็นเหมือนกัน นี่เป็นสิ่งที่น่าเสียดายนะคะ
สิ่งที่เราจำเป็น หรือชาวพุทธทุกคนจะต้องรู้จัก ก็คือ สิ่งที่เราเรียกว่า พระอนิจจัง นี้แหละที่เราควรจะต้องรู้จัก แล้วเราจะรู้จักได้ด้วยการสังเกต และสังเกตในที่นี้ ไม่ใช่เพียงแต่สังเกตจากตาเนื้อ สองข้างนี่ เราสังเกตจากตาใน ตาในอยู่ที่ไหน
ผู้ดำเนินรายการ: ใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อยู่ที่ใจ ที่ความรู้สึกที่เราจะพัฒนาขึ้นมา คือใจก็ไม่ใช่ ตาใน แต่ว่า เราจะพัฒนาที่ใจนี่ ใจซึ่งเป็นคนไม่ค่อยสังเกตสังกา ไม่ค่อยเอาใจใส่ เอาแต่เฉลียวฉลาดข้างนอก ก็หันมาเฉลียวฉลาดในการที่จะสังเกต วิเคราะห์วิจารณ์ จากข้างในบ้าง และจากการที่เราฝึกอย่างนี้เรียกว่า เรากำลังพัฒนาตาใน ให้เกิดขึ้นทีละน้อยละน้อย ละน้อย และจนวันหนึ่งตาในจะแจ่มแจ๋ว เห็นชัด นั่นแหละคือเราได้พัฒนาปัญญาข้างในเกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้นในเรื่องของ กฎพระอนิจจังนี่ ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติที่มีลักษณะทรงตัวอยู่ตามปกติ คือไม่มีวันเปลี่ยนแปลง กฎพระอนิจจัง เป็นนิจจัง เป็นสิ่งเดียวในโลกนี้ที่เป็นนิจจัง ที่เที่ยงแท้แน่นอน ใช่ นั้นแหละค่ะเหมือนกับเล่นสำนวนแต่เป็นความจริง อนิจจังนี่แหละคือสิ่งที่เป็นนิจจัง ความไม่เที่ยงนี่แหละเป็นความเที่ยง ถ้าจะถามว่าในโลกนี้มีอะไรเที่ยงบ้าง ก็มีสิ่งเดียวอันนี้ที่เที่ยง คือความไม่เที่ยง เพราะเหตุว่าแสดงตัวให้เราเห็นอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยเปลี่ยนแปลง พูดได้ว่าตั้งแต่สร้างโลกมา เราก็ไม่รู้ใครเป็นผู้สร้าง ตั้งแต่มีโลกให้เราอยู่นี่แหละ มันก็มีความไม่เที่ยงเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน และความไม่เที่ยงอันนี้จะเกิดขึ้นกับทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บนพื้นพิภพ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเจริญกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น คน เช่น มนุษย์ ลงไปจนกระทั้งถึงสัตว์ จนกระทั่งถึงต้นหมากรากไม้ แล้วจนกระทั่งถึงก้อนหินดินทราย ภูเขา น้ำทะเล ทุกอย่าง เรามองเห็นใช่ไหมคะว่า แม่น้ำใหญ่ๆ เอาอย่างเช่น แม่น้ำเนรัญชรา ได้ยินใช่ไหมคะ ในอินเดียนี่ ชายฝั่งของแม่น้ำเนรัญชรา เป็นสถานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะไปประทับนั่ง แล้วก็ทรงใคร่ครวญธรรม พิจารณาธรรม ทำสมาธิวิปัสสนา จนกระทั่งตรัสรู้ และก็บอกว่า แม่น้ำนั้นก็แหม ที่ผู้บรรยายพรรณาถึงความงามของแม่น้ำเนรัญชรา ทั้งใส ทั้งงาม ทั้งไหลเอื่อย ทั้งเย็น ทั้งกว้าง และภูมิภาคนี่งดงามเหลือประมาณ ก็อย่างที่เราได้ยินเดี๋ยวนี้แม่น้ำเนรัญชราเป็นยังไง ตื้นเขิน เป็นทราย น้ำใสแจ๋วเหล่านั้นหายไปไหน เพียงชั่วก็ไม่นานสักเท่าไหร่ใช่ไหมคะ นี่แสดงถึงความไม่เที่ยงที่เป็นกฎของธรรมชาติที่ให้เราเห็นอย่างชัดเจน หรือเมื่อสมัยที่เราเป็นเด็กๆ กว่านี่ พอเรามองดูภูเขา เราจะรู้สึกแหมมันทะมึนสูงใหญ่ มันช่างใหญ่โตอะไรอย่างนั้น และภูเขาอย่างนี้คงจะอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ แต่บัดนี้เราก็เห็น เขาหลายเขาล้มทลายลงมาจนจะเป็นพื้นดินราบ ทั่วไปหมด แม้แต่ปากช่องนี่ซึ่งเป็นสถานที่ที่อาจจะพูดได้ว่าเป็น ดินแดนที่ชุ่มชื่นเหมาะสมแก่การเพาะปลูกอย่างยิ่ง แต่เขาที่ปากช่องก็กำลังถูกทำลายลงไปเหมือนกัน ซึ่งนอกจากจะทำลายความงามของทัศนียภาพต่างๆ แล้วนี่ เข้าใจว่าเศษหินอะไรที่มันโปรยออกมาจากการขุดทั้งหลายเหล่านั้นนี่ มันน่าที่จะทำให้พืชผลซึ่งเคยได้รับความชุ่มชื่นจากอากาศ จากน้ำ มันจะต้องอับเฉาไปบ้าง ไม่มากก็น้อย แล้วก็หากว่าถูกทำลายไปเรื่อยๆ ก็น่าเสียดายเหมือนกัน น่าเสียดายอย่างยิ่ง เป็นถิ่นที่ชุ่มชื่นที่สุดที่เราเห็น นี้คือความไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงนี้เกิดจากอะไร มันก็เกิดจากเหตุปัจจัย เมื่อสมัยสักห้าสิบหกสิบปีมาแล้ว ไม่เคยมีใครที่จะคิดว่า เราจะสามารถทำให้ภูเขาที่สูงใหญ่ตระหง่าน มันกลายเป็นภูเขาเตี้ยเล็กลงมาได้ ภูเขาที่เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวชะอุ่ม กลายเป็นภูเขาหัวโล้นสีน้ำตาลแห้งเกรียมไปได้ แต่บัดนี้มันก็เป็นไปได้ เพราะเหตุปัจจัยมันเปลี่ยนไป เหตุปัจจัยมันเปลี่ยนไปหลายอย่าง ความรู้สึกของผู้คน ความต้องการจากสิ่งแวดล้อมที่ว่าต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันก็เลยเกิดอย่างนี้ขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ: อาจารย์พูดคล้ายๆ กับว่า แหมเราปลงเสียเถอะ อย่าไปคิดอะไรมากเลย กับสอง ทุกอย่างมันก็พัฒนาไปเรื่อย จะให้อยู่กับที่ได้อย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือที่บอกว่าทุกสิ่งต้องพัฒนาไปเรื่อยอันนี้ก็ถูก คือมันไม่มีอะไรคงที่ใช่ไหมคะ มันก็อยู่ในกฎของอนิจจัง แต่การที่จะพัฒนาไปเรื่อยนี่ เราจะให้พัฒนาไปในลักษณะใด การพัฒนานั้นมันจึงจะไปสู่ความเจริญที่แท้จริง เราพูดถึง ความเจริญที่แท้จริงกันแล้วใช่ไหมคะ ความเจริญที่แท้จริงนั้นคือความเจริญที่จะนำความสุข สันติ สะอาด สว่าง สบาย เยือกเย็น ผ่องใส มาสู่ชีวิตที่อยู่ในสังคมนั้นทุกคน นั่นจึงจะเป็นความเจริญที่ทุกคนปรารถนา แต่ถ้าความเจริญ หรือการพัฒนาที่ว่านั้นนี่ มันนำไปสู่ความเจริญที่มันแห้งแล้ง และก็เกรียมลงยิ่งขึ้น อย่างนั้นท่านว่ายิ่งเจริญยิ่งบ้า เคยได้ยินท่านผู้รู้ท่านพูดอย่างนั้น ท่านบอกว่า ยิ่งเจริญยิ่งบ้า จะบ้ายังไง บ้าด้วยความระทมทุกข์ เพราะฉะนั้นการที่ว่าเราจะพัฒนานี่ก็ถูก ไม่มีสิ่งใดอยู่คงที่ภายใต้กฎพระอนิจจัง ตามกฎของธรรมาชาติ แต่เราผู้อยู่ในสังคมที่เราเรียกว่า เราเป็นปัญญาชน เป็นคนฉลาด เราก็ควรจะลองพิจารณาดูว่าจะพัฒนาอย่างไรล่ะ การพัฒนานั้นมันจึงจะนำไปสู่ความเจริญที่แท้จริง คือความสุขสงบที่เราทั้งหลายใฝ่แสวงหากันอยู่ทุกวันนี้นะคะ นั่นเป็นอันหนี่งนะคะ
ทีนี้อีกอันหนึ่งที่ว่า จะมาชวนให้ปลงเสียเถอะนะคะ มันก็ต้องคิดให้ลึกซึ้งหน่อย เพราะคำว่าปลงในที่นี้ ถ้าคุณจเลิศหมายความว่า ปลงเสียเถอะ อย่าไปเอาเรื่องกับมันเลย ไม่ถูก ไม่ถูกเพราะอะไร เพราะเหตุว่าถ้าเรามาชวนกันปลงเห็นอะไรไม่เที่ยง เออช่างหัวมัน มันไม่เที่ยง แล้วเราก็อย่าไปเอาเรื่องกับมันเลย อย่าไปเอาใจใส่กับมันเลย และก็มืออ่อนเท้าอ่อน วางมือกันหมด ไม่ทำอะไร อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ใครจะทำก็ทำไป เราไม่ทำ ช่างหัวมัน อย่างนี้ไม่ถูก อย่างนี้เป็นช่างหัวมันของทางโลก ถ้าช่างหัวมันของทางธรรมหมายความว่า เราปลงเสียเถอะ เราอย่าไปยึดมั่นถือมั่นเอาเรื่องนี้เข้ามาใส่ใจของเราแล้วกังวลครุ่นคิด จะกินก็ไม่ได้ จะนอนก็ไม่หลับ จนกระทั่งเกิดความทุกข์ ทำลายทั้งสุขภาพกายสุขภาพจิตอย่างนี้ไม่ถูกนะคะ แต่ถ้าหากว่าเราปลง เพราะเราเห็นแล้วว่า มันเป็นอย่างนี้เอง นี่เป็นกฎของธรรมชาติ เป็นอย่างนี้เอง เราอย่าไปยึดมั่นถือมั่นให้มันเกิดความทุกข์ คืออย่าให้ใจเป็นทุกข์อย่าไปแบกอันนั้นมา อย่าไปแบกความเปลี่ยนแปลงมาว่ามันมาทำให้ฉันนี่ขาดการได้ ทำให้ฉันนี่ต้องเสีย ถ้าเราไปคิดอย่างนั้นแล้วมันก็ไม่ถูก แต่ถ้าดูแล้วเพราะเห็นว่า เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น หลังจากที่เราได้แก้ไขอย่างเต็มที่แล้ว มันก็ต้องเป็นไปตามวิสัยของมัน ถ้าเป็นอย่างนี้ เราก็ยอมรับ ยอมรับสภาวะของความเปลี่ยนแปลง แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ทอดทิ้งหน้าที่ของเรา ตัวหน้าที่ต้องกำกับมา เพราะเราก็พูดแล้วว่า ธรรมะก็คือหน้าที่ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเราไม่ทอดทิ้งหน้าที่ทุกคนเลย ไม่ว่าใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งการงานใดหรือไม่ก็ตามที แต่รักษาหน้าที่ คือพยายามทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง อย่างดีที่สุดอยู่เสมอ เมื่อนั้นแหละเรียกว่า เป็นการปลงที่ถูกต้อง เป็นการปลงอย่างชาวพุทธ เป็นการปลงที่สมควร นี่ก็หมายถึงว่าเราสมควรที่จะต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่า พระอนิจจัง เพราะเราเคยพูดกันว่า ใจที่ถูกประหารกันอยู่ทุกวันทุกวันนี่นะคะ มันถูกประหารเพราะอะไร เพราะความยึดมั่นถือมั่นใช่ไหมคะ มันทำให้ใจเรานี่ หม่นหมอง ไม่เป็นสุขเพราะเรายอมรับพระอนิจจังไม่ได้ อะไรที่เราเคยได้ อะไรที่เราเคยมี อะไรที่เราเคยเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งเหล่านี้ เราไม่อยากจะหลุดไปจากสิ่งเหล่านั้นเลย เราไม่อยากเสีย เราอยากจะให้มันอยู่คงที่ เพราะฉะนั้นเมื่อมันไม่อยู่คงที่ มันเปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาติ ตามเหตุตามปัจจัย แต่เรายอมรับไม่ได้ ใจก็หม่นหมอง กัดกร่อน กินไปเรื่อย เหมือนกับสนิมที่มันกัดเนื้อเหล็กให้ผุไปทุกวันทุกวัน เพราะฉะนั้นอันนี้ เมื่อเรารู้แล้วว่าเพราะ อุปาทานยึดมั่นถือมั่นทำให้เราเป็นทุกข์ เราก็จะแก้ไขความยึดมั่นถือมั่นด้วยการหันมาศึกษา และก็ดูลงไปจนมองเห็นถึงเรื่องของอนิจจัง คือความไม่เที่ยงให้ชัดเจน แล้วเสร็จแล้วเราจะค่อยๆ คลายความยึดมั่นถือมั่นได้ นี่ที่เราพูดมานี่ ก็หมายความว่า เราทำความเข้าใจกันใช่ไหมคะว่า อนิจจัง คือความไม่เที่ยง คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มีใครสร้างไหม ไม่สร้างหรอก มันอยู่ในเนื้อในน้ำของธรรมชาติ แต่ธรรมชาติอันนี้นี่ไม่ได้หมายถึงเฉพาะสิ่งแวดล้อมข้างนอกเท่านั้น ตัวของมนุษย์ทุกคนของคนทุกคน รวมทั้งของเราด้วยก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
ฉะนั้นเมื่อเราได้ฝึกดูอนิจจังนี่ การฝึกดูอนิจจัง ซึ่งเราจะสามารถฝึกได้จากทุกสิ่งทุกอย่างนี่นะคะ จากการดูสิ่งแวดล้อมข้างนอก จากการดูการกระทำที่เป็นกิจวัตรภายในของเรา กิจวัตรที่เรากระทำอยู่ทุกวัน การกิน การนอน การปฏิบัติกิจวัตรอื่นๆ ทุกอย่างมันก็ไม่มีความเที่ยง มันมีแต่ความเปลี่ยนแปลง แม้มันจะมีการกระทำที่ซ้ำซาก ที่ดูเหมือนกับว่าเป็นการกระทำไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในความซ้ำชากมันก็ไม่มีความเหมือน มันไม่ได้เหมือนกันตลอดเวลา มันมีความเปลี่ยนแปลงในตัวมันเอง นี่เป็นวิธีการฝึกดูนะ ดูจากสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ดูจากกิจวัตรที่เรากระทำ ดูจากหน้าที่การงาน นี่เป็นการดูรอบนอก ผลที่สุดก็หัดมาฝึกดูอนิจจังจากสิ่งที่เป็นสิ่งที่เราจำเป็นและสมควรจะดูที่สุดคือที่ข้างใน ที่ตัวนี้มองดูให้เห็นความเป็นอนิจจัง เห็นได้ไหมคะ จะเห็นได้ ถ้าดู ถ้านี่ละแหมตัวใหญ่เลยนะ ถ้า IF (ถ้า) นี่ แหมมันเป็นอะไร เป็นปัจจัยที่ทำให้ชีวิตของคนนี้พลิกผันได้เยอะแยะเลย มัวถ้าอย่างเดียว ใช่ค่ะ ถ้ามัวแต่ถ้าอยู่อย่างเดียวนะ ไม่ลงมือทำสักที ไม่ลงมือดูสักที ผลในที่สุดจะไม่เกิดอะไรขึ้นเลย เพราะฉะนั้นอย่าให้เจ้าตัวถ้า หรือ IF นี่ มันมาเป็นอุปสรรคขวางหน้า มันจะเป็นภูเขาหิมาลัยที่กั้นเราไม่ให้เราสามารถเข้าถึงหัวใจของธรรมะหรือหัวใจของพุทธศาสนาเลย ฉะนั้นจึงต้องดูที่กายนี้ ความไม่เที่ยงของที่กายรูปกายข้างนอก พร้อมๆ กับดูความไม่เที่ยงของใจ ความไม่เที่ยงของใจดูยังไง
ผู้ดำเนินรายการ: ใจเราในเวลาห้าทีนี้มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ดูความรู้สึก ดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่ใจ เฝ้าดูความรู้สึกที่เกิดขึ้น นี่ตั้งแต่เรามานั่งอยู่ด้วยกันนะคะ กี่นาที ที่เรานั่งอยู่ด้วยกันนี่นะคะ 20 นาที ความรู้สึกของเราในใจ คือใจนี่มันอยู่ระดับนี้ตลอดเวลาหรือเปล่า ไม่เลย มันก็อย่างนี้ วอกแวกไปอย่างนั้นบ้างไปอย่างนี้บ้าง เสียงไก่ ก็หันไปมองดูไก่ เสียงใบไม้ เสียงลมพัดก็มอง เราก็อดไม่ได้ นี่มันก็มีความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้เรื่อยๆ ไม่มากก็น้อย เรื่อยๆ ไม่มากก็น้อย เราเฝ้าดูความรู้สึก เพราะฉะนั้นการที่จะฝึกใจของเราให้เข้าถึง เข้าใกล้ และก็เข้าถึงพระอนิจจัง คือการฝึกดูอยู่ทุกขณะ จากสิ่งแวดล้อมข้างนอก จากกิจวัตรประจำวัน และผลที่สุดก็จากข้างในแท้ๆ ของมัน เราก็จะค่อยๆ มองเห็น ว่าความไม่เที่ยง นี่แหละคือความเที่ยง เมื่อเกิดมาเป็นคนอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ เราจะหลีกเลี่ยงหนีได้อย่างไรพ้นเมื่อหลีกเลี่ยงหนีไม่ได้ไม่ต้องการเป็นทุกข์ ก็จงศึกษาให้รู้ เข้าเผชิญหน้า ยอมรับอย่างผู้ใช้ปัญญา และก็แก้ไขมันด้วยการทำหน้าที่ รักษาหน้าที่ให้ถูกต้องอยู่เสมอแล้วความสุขอันแท้จริงจะไปไหน ก็ต้องเกิดขึ้นในใจของเรานั้นเอง ขอให้ธรรมสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ชมทุกท่านนะคะ ธรรมสวัสดีค่ะ