แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ รายการธรรมสนทนาในวันนี้นะคะ เราก็จะได้หยิบหัวข้อที่คิดว่าเป็นที่น่าสนใจแก่ท่านผู้ชมผู้ใฝ่ใจในธรรม เพื่อว่าเหมือนกับเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือว่าช่วยเสริมประสบการณ์ความเข้าใจซึ่งกันและกันนะคะ เราได้เคยพูดถึงสิ่งที่จะต้องรู้จักมาแล้วคือเรื่องของพระอนิจจัง ซึ่งถ้าหากว่าสามารถรู้จักได้จริง จิตของเราก็จะมีความนิ่งสงบเยือกเย็นผ่องใสมากยิ่งขึ้น วันนี้ก็อยากจะพูดในหัวข้อที่ว่าสิ่งที่จะต้องทำ คือจะต้องปฏิบัติ
ผู้ดำเนินรายการ: ไหว้พระ สวดมนต์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะก็เป็นสิ่งหนึ่ง คือหมายความเป็นอย่างหนึ่งนะคะ หรือเป็นหลายๆ อย่าง อันที่จริงสิ่งที่เราจะต้องทำจะต้องปฏิบัตินั้นมีเยอะเลย ถ้าเราจะมาจาระไนในวันนี้ก็เห็นจะไม่มีเวลาพอ แต่ก็จะหยิบยกขึ้นมาแต่สิ่งคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นนะคะ จำเป็นที่จะต้องกระทำมากกว่าอย่างอื่น และถ้ากระทำได้เราก็จะได้เข้าถึงธรรมได้เร็วขึ้นและก็ถึงได้จริงๆ ไม่นึกสงสัยบ้างหรือคะว่าอยากจะพูดเรื่องอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: จะมีอะไรบ้างที่ต้องทำก่อน จำเป็น ...จิตใจตนเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ใช่ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพูดเรื่องการฝึกใจนะคะ แต่ก็เป็นการฝึกใจด้วยวิธีต่างๆ ก็อยากจะพูดในเรื่องของการให้ที่ถูกต้อง ที่หยิบเรื่องสิ่งที่จะต้องทำและจะต้องปฏิบัตินี่คือในเรื่องของการให้ที่ถูกต้อง ทำไมถึงหยิบเอาเรื่องการให้ที่ถูกต้องมา ท่านผู้ชมก็อาจจะนึกสงสัยบ้างนะคะ ก็อยากจะขอชวนให้ย้อนคิดไปดูว่า ความทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจของเรานี่เพราะอะไร เพราะเรากระทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการให้ใช่ไหมคะ คือเราจะเอา พูดง่ายๆ ทุกข์มันอยู่ตรงจะเอานี่ใช่ไหมคะ พอใจนึกอยากจะเอาเข้ามาเท่านั้นน่ะ มันร้อนปั๊บขึ้นมาทันที มันร้อนเพราะมันเกิดความรู้สึกไม่แน่ใจว่า เราจะเอาให้ได้นี่แล้วเราจะได้อย่างนั้นจริงรึเปล่า เราจะเอาให้เป็นอย่างนี้แล้วเราจะได้เป็นอย่างนั้นจริงรึเปล่า พอรู้สึกจะเอาขึ้นมาเท่านั้นน่ะ ไม่ว่าสิ่งเล็กหรือสิ่งใหญ่ ใจมันร้อน มันสั่น มั่นประหวั่นพรั่นใจ อย่างที่บางคนเขาว่าสั่นระรัวขึ้นมาทีเดียว เพราะไม่แน่ใจว่าเราจะได้อย่างนั้นไหม
ผู้ดำเนินรายการ: ต้องหาทางเอาอีก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ค่ะต้องหาหนทางเอาอีก แล้วก็ครุ่นคิดไปว่าทำยังไงถึงจะเอาได้ แล้วก็วนเวียนกินไม่ได้นอนไม่หลับผุดลุกผุดนั่งอยู่นั่นเอง นี่มันก็เลยเกิดสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ทีนี้ถ้าหากว่าเรารู้แหละว่าเอา การจะเอาคือต้นเหตุของความทุกข์ แต่ยังไงๆ ก็ยังแก้ไขไม่ได้ เพราะใจมันคุ้นเคยแก่การเอามาเสียตั้งแต่เล็กแต่น้อยตั้งแต่รู้ความ นี่ เราก็ลองมานึกดูว่า เออแล้วจะทำอย่างไรถึงจะให้การเอามันเบาบางลง เพื่อที่จะให้ความทุกข์เบาบางลง ก็โดยสามัญสำนึกใช่ไหมคะ เราก็ลองมานึกดู วันไหน เวลาไหนที่เราหยิบยื่นอะไรให้ นี่พูดถึงยื่นให้ด้วยวัตถุแหมใจมันเบิกบาน อย่างน้อยอย่างโลกๆ นี่มันก็ออกจะภูมิใจในตัวเอง เออแหมวันนี้เราใจดีนะ เราเสียสละ เรารู้จักแบ่งปันให้คนอื่นเขาได้ นี่ใจมันก็พอง อย่างน้อยก็ชื่นชมตัวเองในขณะนั้น มันก็ยังดีกว่าดูถูกตัวเอง ใช่ไหมคะ ดูถูกตัวเอง รังเกียจตัวเอง เพราะแหมเรานี่มันมักมาก มันจะเอาอยู่อย่างเดียว อย่างน้อยพอเรายื่นอะไรให้ เออ ความรู้สึกทุกข์มันลดลง เพราะนี่แสดงว่าเราเอาน้อยลง แต่ถ้าเราสามารถจะให้ได้มากยิ่งขึ้นกว่านั้นอีก การเอามันก็ยิ่งเบาบางลงอย่างไม่น่าเชื่อเลย ฉะนั้น จึงได้อยากพูดถึงเรื่องของการให้ที่ถูกต้อง
ผู้ดำเนินรายการ : ให้ยังไงจึงจะถูกต้อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นั่นสิคะคงน่าสงสัยนะคะ การให้มันก็ดีอยู่แล้วใช่ไหมคะ ยังจะแถมว่าต้องให้ให้ถูกต้องอีกด้วย ค่ะให้อย่างเต็มใจให้
ผู้ดำเนินรายการ : ให้โดยที่เราไม่เดือดร้อน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่เดือดร้อน แล้วก็ให้เพราะรู้ว่ามันเกิดประโยชน์ การให้อันนี้มันจะนำประโยชน์มาสู่ เพราะฉะนั้นจึงให้ มาสู่นี้ไม่ใช่สู่ถึงตัวเราเอง แต่หมายถึงสู่ผู้ที่เราให้ สู่กลุ่มคนที่เราให้ หรือสู่สังคม ในการให้อันนั้นมันจึงจะเป็นการให้ที่ถูกต้อง ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่าบางคนให้ อย่างที่เขาเรียกว่าให้เอาหน้า แบบนี้มันก็ไม่ค่อยถูกต้องค่ะ มันไม่ถูกต้องเพราะอะไร เพราะในการให้นั้นมันมีความโลภซ้อนอยู่แล้วใช่ไหมคะ โลภะเกิดขึ้นแล้วในการให้นั้น เพราะในขณะที่ให้เราหวังที่จะได้อะไรมากกว่าที่เราให้ไป เหมือนอย่างบางคนเห็นเพื่อนบ้านเขากลับมาจากเมืองเหนือ แหมหน้านี้หน้าลำไย หน้านี้หน้าลิ้นจี่ ดูสิเขามีมาชะลอมโตๆ วันนี้เราทำอะไร เราทำปลาทูเค็ม ปลาทูต้มเค็ม เอาไปให้เขาสักถ้วย เราอาจจะได้ลิ้นจี่มาสักถาดหนึ่งก็ได้ นี่ถ้านึกอย่างนี้นี่เป็นการให้ที่หวังผลใช่ไหมคะ ฉะนั้นการให้อย่างนี้ ในทางธรรมะ บอกไม่ใช่การให้ที่ถูกต้อง เพราะมันเป็นการให้ที่แฝงความโลภอันแสดงถึงความเห็นแก่ตัวนั่นเองซ่อนอยู่ในนั้น เห็นไหมคะเรื่องของธรรมะนี่มันละเอียด ละเอียดจริงๆ เลยค่ะ ถ้าเราไม่นึกไม่ใคร่ครวญดูให้ถี่ถ้วน มันจะมองอย่างเข้าข้างตัวเอง ก็ดีไปหมด ทำอะไรมันก็ดีไปหมด มันถูกต้องไปหมดแต่แท้ที่จริงนี่มันแฝงเอาไว้อย่างไม่รู้ตัวเลยเราจึงควรจะดูให้ใคร่ครวญให้ละเอียดให้ถูกต้อง
ทีนี้พอพูดถึงเรื่องของการให้นี่ บางทีเราก็จะนึกถึงแต่คำว่าทานใช่ไหมคะ การให้ที่เป็นทานหรือทานัง เมื่อพูดถึงการให้ทานหรือการทำทานนี่ส่วนมากเรามักจะเพ่งเล็งไปที่เรื่องของการให้ด้วยวัตถุ ให้สิ่งของ ให้เงินทอง ให้เสื้อผ้าเครื่องใช้ ให้ที่ดิน ให้อะไรต่ออะไรอื่นๆ นี่ มันเป็นเรื่องของทางวัตถุที่เราทำบุญไป เรามีเราก็ให้ไป แล้วก็ส่วนมากชาวพุทธนี่มักจะใจกว้างมากในเรื่องของการทำทาน เราไม่ค่อยเสียดาย แล้วเราก็ทำอยู่เสมอๆ แต่ถ้าเราจะคิดดู ทั้งๆ ที่เป็นผู้ทำทานหรืออาจจะแถมว่าทำบุญเพราะว่าทำไปแล้วก็สบายใจว่าฉันได้ทำอย่างนี้นะคะ ใจมันก็ยังไม่สบายอยู่นะ ใจมันก็ยังมีความทุกข์
ผู้ดำเนินรายการ : ทำบุญมาทั้งชีวิตแล้วยังยากจนอยู่เลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ ก็เกิดมาเป็นความทุกข์นะคะ หรือบางทีทำทานก็มีความโลภอยู่ในนั้นทำทานเพราะหวังผล เหมือนอย่างเช่นเขาบอกว่านี่นะถ้าทำบุญสักแสนหนึ่งล่ะก็ รับรองเลยว่ามีปราสาทคอยอยู่บนสวรรค์ ขวนขวายไปหาเพราะเรามีเงินหมื่น พอมีที่ดินเรือกสวนไร่นาไปขาย ทั้งๆ ที่ก็มีลูกมีเต้าที่จะต้องเลี้ยงดูแต่ก็ไม่ใส่ใจอยากจะหวังสวรรค์ที่อยู่ข้างหน้า ฉะนั้นนี่ก็เป็นการทำทานหรือจะเรียกเป็นการทำบุญอย่างที่ว่าไม่ถูกต้อง มันเป็นบาปเพราะทำแล้วไม่สบายใจ คนเป็นหนี้เป็นสินเขาน่ะมันจะมีความเย็นได้ยังไง มันก็มีแต่ความร้อน เพราะฉะนั้นการทำทานหรือการให้ที่ถูกต้องก็ส่วนมากจะหมายถึงการให้ในทางวัตถุคือการทำทานมักจะมุ่งในเรื่องของการให้ด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง และการทำทานนั้นจะไม่เป็นทานที่บริสุทธิ์เลยถ้าหากว่ามีความหวัง มีความโลภ มีความอยากได้ มีความเห็นแก่ตัวแทรกอยู่ในนั้น ฉะนั้น ชาวพุทธนี่เมื่อจะทำทานจึงน่าจะต้องใคร่ครวญ ใคร่ครวญดูใจของเราก่อนทำได้แหละเป็นดี เพื่อที่ว่าถ้าหากว่ามันมีอะไรตะขิดตะขวงอยู่ในใจ จะได้ขจัดสิ่งที่เป็นเสี้ยนหนามในใจออกไปเสียก่อน แล้วก็เพื่อให้การทำทานนั้นเป็นการทำทานที่บริสุทธิ์ นี่มาพูดถึงเรื่องการให้ด้วยนึกถึงคำว่าทาน เรามักจะนึกถึงการให้ทางวัตถุและส่วนมากนี่เราก็จะนึกกันอยู่ตรงจุดนี้ เราไม่ค่อยนึกเลยไปกว่านี้ อันที่จริง การให้นี่ยังมีอีกคำหนึ่งคือคำว่า จาคะ เคยได้ยินไหมคะ คำว่า จาคะ ที่บอกว่าบริจาคนี่หรือการบริจาคก็คือให้นั่นเองใช่ไหมคะ การบริจาคก็คือการให้ การแจกให้ แต่ทว่าในความหมายของจาคะนี่มันมีความหมายที่แตกต่างจากทาน ถ้าทานนี่เราหยิบยื่นของภายนอกให้ส่วนมากนะคะเราจะหมายถึงอย่างนั้น แต่จาคะท่านหมายถึงว่า มันเป็นการบริจาคให้สิ่งที่หมักหมมอยู่ข้างใน ที่อยู่ข้างในที่จิตของเรานี่ที่มันทำให้จิตของเราเศร้าโศก หม่นหมอง ขัดเคือง อึดอัด หงุดหงิด รวมความว่าไม่สบายใจด้วยประการต่างๆ จนถึงความทุกข์นี่สิ่งที่เราเก็บเอาไว้ในใจและเป็นต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ขึ้นในจิต จงบริจาคสิ่งนั้นไป สิ่งนั้นคืออะไรคะ
ผู้ดำเนินรายการ: กิเลส
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นั่นแหละ รู้ทีเดียวนะคะ คือกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ที่อยู่ในใจนี่ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราเป็นผู้ที่หมั่นดูจิตของเราอย่างละเอียดเสมอๆ และเราก็เคยประกาศอวดตัว ฉันไม่มีแล้วความโลภ ไม่มีเลยความโลภ แต่ที่จริง มันออกมาในรายละเอียดด้านต่างๆ นี่ที่เรายกตัวอย่างมาแล้วนั่นก็มี หรือบางทีน่าขันมากเลยนะ อย่างในเวลาประชุมกัน เราจะเห็นเลยคนบางคนพอมาถึง มาถึงก็พูดๆๆๆๆ ในที่ประชุมหรืออภิปรายก็ตาม ไม่ต้องดูหรอกว่าเพื่อนฝูงเขาสนใจจะฟังไหมหรือว่าเรื่องที่พูดนี่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังไหม มันจะให้ประโยชน์อะไรแก่งานที่เรากำลังประชุมกันบ้าง ไม่สนใจเลยแต่ว่ามาเพราะว่าฉันอยากจะพูดๆๆ ที่เก็บเอาไว้ พอพูดเสร็จบางคนลุกออกไปเลย พูดเสร็จจบลุกไปเลย เซ็นต์ชื่อรับเงินแล้วกลับ คนอื่นจะเป็นยังไงก็ช่างหัวมัน จะเสียเวลาไปเท่าไหร่ก็ช่างหัวมัน นี่ ใครจะว่าอย่างไรก็ตามเถอะ แต่ดิฉันมีความรู้สึกว่านี่คือลักษณะของคนโลภอีกแบบหนึ่ง โลภอะไร โลภพูด มีโลภะในเรื่องพูด แย่งเขาพูดกลัวจะไม่ได้พูด แล้วก็พูดๆๆ ไม่รู้ว่ามันจะเกิดประโยชน์หรือไม่ จะเสียเวลาคนสักเท่าไหร่ก็พูดไป คนอย่างนี้ก็เป็นคนที่ตัวเองอาจจะมีความสุขในการได้พูดแต่ก็นำความทุกข์เบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนให้เขาต้องอดทนฟัง เบียดเบียนเวลาอันควรจะมีประโยชน์ เพราะฉะนั้น เรื่องของความโลภนั้นมีมาได้หลายลักษณะ หรือบางทีก็การแก่งแย่งแข่งดีกันนี่นะคะ มันเพราะอะไร ก็เพราะความโลภนี่แหละ โลภความรักซึ่งเราก็เคยเอ่ยถึงมาแล้วนะคะ โลภความดี โลภความเก่ง โลภความวิเศษต่างๆ กว่าคนอื่นเขา นี่แหละคือสิ่งที่เป็นโลภะทั้งนั้นเลย เป็นความโลภอย่างยิ่งเลย แล้วถ้าเราไม่รู้จักสละคือจาคะ บริจาคสิ่งเหล่านี้ออกไปเสีย ก็ไม่มีอะไร มันก็ประหารใจเราอยู่ตลอดเวลา แล้วถ้าหากว่าโลภะเมื่อเกิดขึ้น เราแก้ไขไม่ได้มันก็เปลี่ยนเป็นอะไร โทสะ มันก็ที่จะว่าไปเปลี่ยนมันก็ไม่เปลี่ยน มันยังอยู่ที่ แต่มันเพิ่ม ใช่ ถูกแล้วมันเพิ่ม มันเพิ่มโทสะเข้ามาอีกเป็นเพื่อนกัน ถ้ามันไม่ได้อย่างใจใช่ไหมคะ พอโลภะโลภอยากจะได้ ไม่ได้ดั่งใจ มันก็โกรธขึ้นมาเชียว ทำไมถึงไม่ได้อย่างใจ ที่อาละวาด เตะผู้เตะคนที่ขวางหน้านี่เพราะอะไร เพราะมันไม่ได้อย่างใจก็เกิดความโกรธขึ้นมาทีเดียว นี่มันก็มาจากโลภะ แล้วเสร็จแล้วโกรธก็ยังทำไม่ได้อีก คือหมายความว่ายังแสดงอารมณ์โกรธให้สาสมแก่ใจไม่ได้ ก็วนเวียนครุ่นคิดนั่นแหละ เหมือนกับคนอยู่ในอ่าง พายเรืออยู่ในอ่าง หาทางออกไม่ได้จนเวียนหัวเวียนหน้า นั่นแหละ อะไร หลง โมหะ เห็นไหมคะ พอมันมาเข้าตัวเท่านั้น โลภะมา โทสะตาม โมหะอยู่กับที่ เพราะโมหะนี่มันจึงทำให้คิดว่าเออ โลภะดี ฉลาดกว่าเขา โทสะดี แสดงถึงความเก่งกว่าเขา เพราะฉะนั้น โลภะ โทสะ โมหะที่มันอยู่ในใจอยู่ตลอดเวลานี่แหละคือสิ่งที่ควรจะจาคะเสียใช่ไหม
เคยมีบ้างไหมคะท่านผู้ชมได้นึกว่าสิ่งที่เราควรจาคะหรือบริจาคอย่างยิ่งคือกิเลส 3 ตัวนี้แหละ ถ้าสามารถบริจาคได้นะคะมันมีคุณค่ามหาศาลต่อชีวิตยิ่งเสียกว่าจะไปทำบุญสัก 10 ล้านเพื่อสร้างโบสถ์มหึมามโหฬาร จะมีปราสาทอยู่มีราชวังอยู่แต่ใจมันร้อนราวกับไฟเผา มีประโยชน์อะไร ตัวคนที่อยู่ในปราสาทมันเหมือนกับมีไฟเผา อยู่ในตึกรามบ้านช่องมโหฬารปราสาทที่สร้างคอยไว้บนสวรรค์ อย่างไรๆ มันก็เป็นสวรรค์ปลอมอยู่นั่นเองเพราะใจมันร้อน สิ่งเหล่านั้นเป็นแต่เพียงส่วนประกอบภายนอกใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น เราจึงควรที่จะได้คิดว่าทำไมหนอจึงจะฝึกที่จะบริจาคหรือจาคะ โลภะ โทสะ โมหะออกไปได้ ทีนี้ถ้าจะดูว่าทำไมล่ะจึงจาคะสิ่งเหล่านี้ออกไปไม่ได้ทั้งที่เชื่อว่าทุกคนมองเห็นโทษของมัน แต่จาคะไม่ได้เพราะอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: เพราะว่าเรายังติดอยู่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ ยึดติด ยึดมั่นถือมั่น ติด อยากได้ ใครอยากได้ล่ะ ฉันอยากได้ ฉันอยากได้ โกรธก็ฉันโกรธ หลงฉันหลง เพราะฉะนั้น ก็รวมความว่าที่สละโลภะ โทสะ โมหะไม่ได้เพราะอุปาทานใช่ไหมคะ ความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นในอะไร ในอัตตา อัตตานี้คือทั้งกายทั้งจิตนี้รวมกันเรียกฉัน เมื่อฉันประกาศิตออกมาว่าต้องอย่างนี้ ฉันก็ต้องการให้เป็นอย่างนี้เพราะฉันบอกว่ามันต้องเป็นอย่างนี้
ผู้ดำเนินรายการ: ฉันนี่ใหญ่เหลือเกินนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ฉันนี่ใหญ่เหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นฉันอยู่ในตำแหน่งฐานะอะไรก็ตาม แต่มันใหญ่ถึงที่ของมันทุกแห่งทุกหนเลย แล้วก็เพราะความใหญ่ที่จมไม่ลงนี่ อันเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นด้วยความหลงนี่ มันจึงนำความทุกข์ที่เผาไหม้มาสู่ใจตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก็คงจะยิ่งมองเห็นใช่ไหมคะว่า ถ้าเราไม่สามารถจะจาคะข้างในได้แล้วล่ะก็ ต่อให้ทำทานข้างนอกสักเท่าไหร่ ก็หาช่วยให้พ้นนรกได้ไม่ นรกในที่นี้คือนรกที่อยู่ในใจใช่ไหมคะ นรกที่มันเกิดขึ้นในใจอยู่ตลอดเวลานั่นเอง นี่ดูสิคะมันร้ายแรงเพียงใด เราถูกไฟไหม้อยู่ข้างในนี่มันร้อนเสียยิ่งกว่าไฟไหม้บ้านสักครั้งหนึ่ง ไฟไหม้บ้านจริงล่ะ หมดสิ้นเนื้อประดาตัวไปครั้งหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าเรายังมีทุกอย่างนี่พร้อมแข็งแรงมั่นคงมันก็ยังจะสู้กู้หน้าต่อไป แต่ถ้าสมมติเราปล่อยให้ไฟนรกเผาอยู่ในใจทุกขณะ แม้ว่าบ้านช่องจะเป็นเหมือนปราการที่มั่นคงแข็งแรงแต่ใจนี่ก็อ่อนเปลี้ย แม้แต่จะเดินให้รอบบ้านเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ก็ยังเดินไม่ไหวเลย ต้องนั่งรถเข็นก็มี ไม่ใช่ว่าทุพพลภาพนะคะ แต่เพราะใจมันทุพพลภาพ ไม่ใช่กายทุพพลภาพ ฉะนั้น ใจที่อ่อนเปลี้ยเพราะจาคะ สิ่งที่มันกัดกินกร่อนอยู่ในใจไม่ได้นี่แหละมันเป็นโทษทุกข์ที่น่ากลัวที่สุด ฉะนั้น จึงคิดว่าสิ่งที่ต้องทำอย่างแรกที่สุดของชาวพุทธ คือฝึกการจาคะหรือบริจาคโลภะ โทสะ โมหะ อันเกิดจากอุปาทานที่ยึดมั่นถือมั่นในอัตตาหรือในตัวตนนี้ออกไปเสีย ทีนี้จะทำได้อย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ: เริ่มตรงไหนครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็เริ่มจากที่เราพูดว่าต้องดูอนิจจังหรือยัง ดูพระอนิจจัง รู้จักพระอนิจจัง ถ้ารู้จักมากเท่าใดความอยากจะเอาอยากจะมีอยากจะเป็นก็ลดลงใช่ไหมคะ มันก็ลดลงมันก็น้อยลง
ผู้ดำเนินรายการ: มาดูใจเสียก่อน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ดูเพื่อให้เห็นสัจจะของธรรมชาติ ถึงจะเอามาเท่าไหร่เป็นเท่าไหร่มีเท่าไหร่ก็รักษาไว้ไม่ได้ แล้วจะดิ้นรนให้มันตกนรกอยู่ตลอดเวลาทำไม ทำไมจึงไม่มาเปลี่ยนเป็นการเอื้อเฟื้อแบ่งปันเจือจานกันแทนที่จะเห็นแต่แก่ตัวฝ่ายเดียว เมื่อได้ทำดีที่สุดเต็มฝีมือความสามารถแล้วก็จงมีความสันโดษ นี่มาหัดจาคะออกไปแล้วในขณะเดียวที่ทำจาคะนี่นะคะก็คือฝึกให้สันโดษที่ถูกต้อง สันโดษที่ถูกต้องนั้นหมายความว่าเรามีความพอใจในผลที่เกิดขึ้น หลังจากที่ได้กระทำสิ่งนั้นอย่างเต็มที่เต็มฝีมือความสามารถอย่างดีที่สุดแล้ว พร้อมด้วยสติปัญญาประสบการณ์ความรอบคอบไม่มีประมาท เมื่อมาใคร่ครวญดูก็ไม่สามารถจะทำให้ดีกว่านี้อีกแล้ว ก็จงสันโดษ พอใจ เพราะว่าสันโดษที่ทำด้วยความดีอย่างเต็มที่นั้นก็อย่างที่เคยพูดว่า มันต้องประกอบเป็นอิทธิบาท 4 ใช่ไหมคะ อิทธิบาท 4 นั้นคือบาทฐานของความเจริญของความสำเร็จ ผู้ใดที่ต้องการความสำเร็จไม่ว่าในทางโลกหรือทางธรรมจะขาดอิทธิบาท 4 ไม่ได้ คือต้องเริ่มต้นด้วยความรัก ฉันทะ ความพอใจ พอใจที่จะจาคะ พอใจที่จะสันโดษ และก็พอใจที่จะทำงานอันนั้น เสร็จแล้วก็วิริยะพากเพียรให้เต็มที่ จิตตะก็ใส่ใจที่จะทำจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นไม่คลาดครา วิมังสาก็คือใคร่ครวญปรับปรุงให้ดีขึ้น นี่เรียกว่าทำเต็มที่พร้อมด้วยอิทธิบาท 4 ก็ควรจะสันโดษได้ ควรจะพอใจ จะได้ไม่เป็นการลงโทษตัวเองต่อไป ทีนี้เราสันโดษแล้ว ก็ให้มีอุเบกขา คือความวางเฉย วางเฉยต่อสิ่งที่มากระทบ ต่อสิ่งที่มันเกิดขึ้น เช่น ใครเขาจะว่าอะไรอย่างไรซึ่งเรารู้ว่าไม่ถูกต้อง เป็นการว่าที่ไม่ใช่ปรารถนาดี ก็ทำใจให้วางเฉยสิ ไม่ประหวั่นพรั่นใจ แต่ถ้าเราดูอนิจจังอยู่ตลอดเวลา เราจะทำได้ เพราะอะไร ความว่าของเขานั้นเขาก็ไม่ได้ว่าอยู่ตลอดเวลาใช่ไหมคะ แต่ว่าเขาว่าจบแล้วแต่ใจเรายังยึด เห็นไหมอุปาทาน
ผู้ดำเนินรายการ: เรารับมาทันทีเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: รับมาทันที แล้วไม่ปล่อยด้วย เอาเป็นสัญญา ประเดี๋ยวประเดี๋ยวก็คิด คิดขึ้นมาก็แหมฮึดฮัดกัดฟันมาว่าเอาได้อย่างนั้นอย่างนี้ใช่ไหมคะ เเล้วก็เศร้าหมองขัดเคือง หาวิธีต่อไป เริ่มต้นวงจรของปฏิจจสมุปบาทใหม่อีกแล้วทั้งๆที่มันจบไปแล้ว เราก็มาเริ่มเองอีกเห็นไหมเป็นโทษทุกข์เท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเราจะต้องอุเบกขาให้ได้ และอุเบกขาคือความวางเฉยที่ถูกต้องนี่ก็คือพร้อมด้วยจิตที่มีทั้งสติ สมาธิ และปัญญา เรารู้เท่าทันอยู่เสมอ เราจึงไม่หลงกลของมายาของกิเลสอีกต่อไป ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือเราจะต้องพยายามรู้จักการบริจาคคือจาคะที่ถูกต้อง สันโดษ หลังจากที่ได้ทำดีพร้อมด้วยอิทธิบาทแล้ว แล้วก็อุเบกขาต่อสิ่งที่มากระทบซึ่งรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องคือการกระทบนั้นไม่ใช่กระทบด้วยธรรมหรือด้วยสติปัญญา เราก็ละวางเสียด้วยใจมั่นคงที่มองเห็นแล้วในกฎของพระอนิจจัง ฉะนั้น ถ้าหากว่าชาวพุทธผู้ใดสามารถทำได้อย่างนี้ ชีวิตนั้นย่อมจะมีแต่ความสุขเป็นแน่นอน และสังคมนี้ก็ต้องเป็นสังคมที่ผ่องใสเพราะอยู่กับพุทธธรรม ขอให้ธรรมสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ชมทุกท่านนะคะ ธรรมสวัสดีค่ะ