แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ แด่ผู้ชมทุกท่าน รายการธรรมสนทนาในวันนี้จะเลือกหยิบหัวข้อที่คิดว่าจะอยู่ในความสนใจของท่านผู้ชมท่านผู้ใฝ่ใจในธรรมทุกท่าน จะให้ชื่อว่า “การเบียดเบียนที่น่ากลัว”
ผู้ดำเนินรายการ: การเบียดเบียนที่น่ากลัว อะไรครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันที่จริงถ้าพูดถึงเรื่องของการเบียดเบียนมันไม่ดีทั้งนั้น มันน่ากลัวทั้งนั้น แต่นี่เพราะมันทำให้เกิดความเดือดร้อน ทำให้เกิดความทุกข์ เกิดความระส่ำระสายวุ่นวายทุกหนทุกแห่ง การเบียดเบียนเกิดขึ้นที่ไหน ความสงบไม่มี ฉะนั้นมันก็ไม่ดี แต่ทีนี้การเบียดเบียนทั่วไป เช่น แย่งชิงทรัพย์สินเงินทอง หรือว่าทำร้ายชีวิตของผู้อื่น หรือทำให้เขาแตกแยกกัน อะไรต่างๆ เหล่านี้ เราก็พอจะมองเห็นกันอยู่ เราก็ว่ามันไม่ดี เราถือว่ามันเป็นของชั่ว แต่ทีนี้การเบียดเบียนที่น่ากลัวอันนี้มันเป็นการเบียดเบียนที่ค่อนข้างละเอียดและก็คนส่วนใหญ่มองข้ามไม่เห็นว่าเป็นการเบียดเบียน
ผู้ดำเนินรายการ: อย่างกับหนังผี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ฟังดูเหมือนอย่างนั้นหรือคะ คิดว่าอะไรละคะ
ผู้ร่วมสนทนา: คิดว่าเบียดเบียนตัวเอง เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ การเบียดเบียนตัวเองนี่แหละเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด และเราก็ไม่ค่อยเห็น เราไม่ค่อยรู้หรอก เราจะบอกว่าเราจะเบียดเบียนตัวเองได้อย่างไรกัน ใช่ไหมคะ แต่ว่าเราเบียดเบียนตัวเราเองอยู่ตลอดเวลา ท่านผู้ชมก็คงจะมองเห็น พอจะมองเห็นแล้วบ้างล่ะ ว่าการเบียดเบียนตัวเองนี้คืออะไร
ผู้ดำเนินรายการ: หาทุกข์ใส่ตัว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือเมื่อทำแล้วตัวยังเป็นทุกข์ การกระทำอะไรก็ตามที่ทำแล้วใจของตัวเองเป็นทุกข์เพราะการกระทำนั้น การกระทำนั้นเรียกว่าเบียดเบียนตัวเอง เป็นการเบียดเบียนที่น่ากลัวเพราะมันมองไม่เห็น น่ากลัวเพราะไม่เห็น เพราะไม่รู้สึก เมื่อพูดถึงการเบียดเบียน เรามักจะมองว่าคนนั้นเบียดเบียนฉัน คนนี้เบียดเบียนฉัน หรือว่ามีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แต่เมื่อการกระทำนั้นเกิดจากตัวเองกระทำตัวเองมองไม่เห็น แต่มักจะเอาโทษไปให้คนอื่น นี่มันก็เกิดเป็นเพราะว่าเรามีการมองข้างนอกอย่างที่เคยพูดมาแล้ว เราคุ้นแต่การมองข้างนอก เลยเห็นแต่การเบียดเบียนข้างนอก แต่การเบียดเบียนข้างในคือเบียดเบียนใจของตัวเองกลับไม่เห็นที่ทำให้ตนเป็นทุกข์ ฉะนั้นมันจึงเป็นการเบียดเบียนที่น่ากลัว
ผู้ดำเนินรายการ: น่ากลัวอย่างไร เบียดเบียนใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็การกระทำที่ทำให้ใจของตนเป็นทุกข์ ใจที่เป็นทุกข์ ใจที่ไม่สบายอันเกิดจากการกระทำนั้น นั่นแหละมันเป็นการเบียดเบียนแล้ว ที่จะเห็นได้ง่ายๆ หรือว่าชัดที่สุดก็คือ คนดี เห็นไหมคะ คนดีนี่แหละได้กระทำการเบียดเบียนที่น่ากลัวอยู่เสมอๆ ตลอดเวลาเลย
ผู้ดำเนินรายการ: คนดีทั้งหลายในสังคมนี่หรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ คนดีทั้งหลาย เหมือนอย่างคุณจเลิศ เหมือนอย่างคุณเจี๊ยบนี่ด้วย ที่ได้เบียดเบียนตัวเองอยู่ตลอดเวลา จริงไหมคะ ท่านผู้ชมได้นึกไหมคะ คนดีนี่แหละเป็นคนที่ได้กระทำการเบียดเบียนที่น่ากลัวอยู่ตลอดเวลา เพราะอะไร เพราะเหตุที่ได้ชื่อว่าเป็น “คนดี” เพราะอะไร ทำไมเขาจึงเรียกว่าเป็นคนดี
ผู้ดำเนินรายการ: เพราะทำดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หมายความว่าอะไร ไหนลองอธิบายหน่อยสิคะ ที่ว่าทำดี คือยังไง
ผู้ร่วมสนทนา: เราอาจเป็นคนที่มีน้ำใจต่อเพื่อนฝูง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจต่อเพื่อนฝูง หรือว่าเสียสละต่อเพื่อน ต่อสังคม ต่อการงาน จะทำอะไรก็ยอมเอาตัวเข้าเหน็ดเหนื่อย จะเสียเงินเสียทองทรัพย์สิน กำลังกายกำลังใจ ไม่เสียดาย เพราะฉะนั้นเขาก็เรียกว่าเป็นคนดีเพราะไม่เอาเปรียบคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะเห็นคนดีพวกนี้ร้องห่มร้องไห้ น้อยใจ มาพรรณนาถึงความไม่ยุติธรรมต่างๆ นานา สารพัด ใช่ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ที่มาพูดถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยใจเป็นสุข หรือใจเป็นทุกข์
ผู้ดำเนินรายการ: เป็นทุกข์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ด้วยใจเป็นทุกข์ แหม มันไม่สบายเลย มันหม่นหมองเพราะอะไร
ผู้ร่วมสนทนา : เราตั้งใจทำดี ผลที่เขามองไป กลับเป็นตรงกันข้าม
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ใช่อย่างที่เราคาดหวังด้วย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ หรือบางทีผลที่เราหวังจะกลับมาเป็นรูปธรรม หรือแม้จะเป็นนามธรรม เช่น คำเยินยอสรรเสริญ หรือการยอมรับศรัทธา หรือว่าเงินเดือน ๒ ขั้น หรือสวัสดิการดีขึ้น มันไม่เกิดขึ้นเลย ก็อดไม่ได้ นี่เห็นไหมคะ คนดีเป็นทุกข์เพราะอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: เพราะว่าทำความดี แล้วคิดว่าตัวเองไม่ได้ดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำไมคิดว่าตัวเองไม่ได้ดี เพราะ..
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ได้อย่างที่ตัวเองต้องการ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มัวแต่ประหารใจของตัวเองด้วยอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: ที่อาจารย์เคยบอก ด้วยความโลภ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ด้วยความหวัง ใช่ไหมคะ แม้จะเป็นคนดี ทำอะไรเสียสละทุกอย่าง ด้วยความเสียสละจริงๆ ใครๆ ก็ต้องยอมรับ แหมคนนี้ทำงานหามรุ่งหามค่ำ แกไม่เคยคิดหรอกว่าชั่วโมงของราชการกี่ชั่วโมงในวันหนึ่งๆ ๘ ชั่วโมงนี่ทำเป็น ๑๒ ๑๕ ทำได้สบายเลย และจะอดกินอดนอนแกก็ยอม แต่ในขณะเดียวกันตัวแกก็ผอมเอาๆๆ เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา เรียกว่าความทุกข์นี่มันกัดกร่อนจิตใจ เพราะแกไม่ได้รับคำเยินยอคำสรรเสริญ แกไม่ได้อะไรตามที่แกหวัง ทำความดีแล้วแกก็คิดว่ามันควรจะต้องมีผลตอบแทน หรือมีผลออกมาเป็นความดี ถึงจะไม่ตอบแทนแก่ตัวเองโดยตรง แต่ผลนั้นก็ควรจะออกมาแก่ส่วนรวม แก่งานนั้นอย่างที่คิดว่าจะเป็น แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น แล้วก็เพราะว่าความเป็นคนดี เลยไม่ค่อยกล้าจะอาละวาด จะไปอาละวาดตึงตังกับใครๆ ก็กลัวเขาจะว่ามันไม่ดี เดี๋ยวความดีมันจะเสียไปใช่ไหมคะ ก็รักษาความดีเอาไว้
เพราะฉะนั้นเห็นไหมเบียดเบียนตัวเองกี่ชั้นกี่เชิง เห็นไหมคะ มากมายเลย สลับซับซ้อน การเบียดเบียนอันนี้ ไหนจะเหน็ดเหนื่อย อดทนอดกลั้นที่จะเสียสละกระทำงานทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อครอบครัว เพื่อการงาน เพื่อสังคม หรือบางทีก็เพื่อชาติบ้านเมืองด้วย อะไรอย่างนี้ เหน็ดเหนื่อยทุกอย่างทั้งกายทั้งใจ เสร็จแล้วก็ยังต้องมาเหน็ดเหนื่อยที่จะอดกลั้น ไม่กล้ากระทำอะไรที่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่มันควรถูกต้อง มันควรที่จะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ที่จะให้คนอื่นเขาเห็น ไม่กล้าที่จะแสดงออกมาดังๆ เพราะกลัวเขาจะว่าไม่ดี ไม่สามารถจะรักษาความสุภาพ ความเรียบร้อยเอาไว้ได้ ก็แหม อด เก็บเอาไว้ เรียกว่าอะไร บังคับใจตัวเอง บังคับใจด้วยการข่ม ข่มเอาไว้ ไม่มีทางออก แล้วผลที่สุดวันหนึ่งเมื่อถึงที่สุดเข้าคนดีคนนั้นก็ระเบิด กลายเป็นคนบ้า ใช่ไหมคะ เปลี่ยนที่อยู่จากคนดีกลายเป็นคนบ้าอย่างน่าสงสารที่สุดเลย เราเคยพบตัวอย่างจริงๆ อย่างนี้ใช่ไหมคะท่านผู้ชม เราเคยพบมาหลายคน เพราะเราก็ต้องมองดูด้วยความสงสารด้วยความสลดใจอย่างที่สุด แต่ช่วยไม่ได้ ใครจะไปช่วยได้ เพราะเรื่องของใจเรื่องความทุกข์ที่อยู่ในใจ มันเป็นเรื่องของแต่ละคนจะต้องจัดการของเขาเองด้วยวิธีที่ถูกต้อง
ก่อนอื่นก็คือต้องรู้ว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการเบียดเบียนตัวเองที่สำคัญที่สุด ที่น่ากลัวที่สุด และเป็นการเบียดเบียนที่มันแก้ยากเพราะเหตุว่าถ้าคนอื่นเบียดเบียน เรายังรู้ว่าต้นตออยู่ตรงนั้น ก็อาจจะไปแก้ที่ตรงนั้น แต่พอตัวเองเบียดเบียนตัวเองแล้วมองไม่เห็น ก็เลยหาต้นเหตุไม่พบ ว่าใครเบียดเบียนกัน หาตัวเบียดเบียนไม่ได้ก็ทำการเบียดเบียนต่อไปเรื่อยๆ มันจึงเป็นการเบียดเบียนที่น่ากลัว แล้วในความรู้สึก ก็มีความรู้สึกว่าผู้ที่เบียดเบียนตนเองเช่นนี้เห็นจะยากที่จะสามารถสมาทานศีลห้าให้บริสุทธิ์ครบถ้วนได้ เพราะอะไร ทำการประหารใจตัวเองตลอดเวลา นี่ก็ไม่มีใครบอกนะคะ และไม่เคยไปเรียนถามท่านองค์ใดว่าใช่ไหม แต่มีความรู้สึกอย่างนี้ ถ้าเรานึกว่าปาณาติบาตคือการที่ไม่ทำร้ายชีวิตของผู้อื่นหรือไม่ทำร้ายให้เขาเจ็บปวด แต่นี่คนๆ นี้ทำร้ายตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทำร้ายใจของตัวเองตลอดเวลา ให้เจ็บปวด ให้ขมขื่น ให้ทนทุกข์ทรมาน ให้ตกนรกตลอด ตายๆ เป็นๆ อยู่เรื่อย นี่แหละ มันเป็นการผิดศีล ล่วงศีล ที่ตั้งใจจะสมาทานให้บริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นการเบียดเบียนที่น่ากลัวเหลือเกิน ถ้าเราไม่คิดให้ดี นี่มันเกิดขึ้นเพราะอะไร การเบียดเบียนอย่างนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร การเบียดเบียนตัวเองที่น่ากลัวมันเกิดขึ้นเพราะอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: ก็เพราะตัวเองหวัง แล้วก็ไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพราะอะไร ที่เราพูดกันอยู่เสมอ ต้นเหตุของความทุกข์ที่ควรจะจาคะออกไปเสีย คือตัวไหน
ผู้ดำเนินรายการ: โลภะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: โลภะ โทสะ โมหะ และตัวอะไร คนดีนี่ โลภะ โทสะ ถึงแม้จะมีก็เก็บเอาไว้ในใจ ออกมาน้อยที่สุด โมหะก็ต้องมีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอะไรที่คนดี
ผู้ดำเนินรายการ (ญ): อุปาทาน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวของตัว ใช่ไหมคะ ก็ฉันทำดี ฉันเป็นคนดี ทำไมเขาไม่เห็นใจ ทำไมเขาไม่เห็นใจในความดีของฉันบ้าง เหมือนอย่างผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านเสียสละเพื่อลูกเพื่อสามี เหน็ดเหนื่อยก็ไม่ว่า มีความรู้ มีปริญญา มีประสบการณ์ในการทำงานอุตส่าห์ลาออกเพื่อมาเป็นแม่บ้านให้แก่ลูกให้แก่สามีให้เต็มที่ เสร็จแล้วสามีก็ไปเที่ยวสนุกสนาน ลูกก็ไปเที่ยวกับเพื่อนฝูง แล้วก็ทิ้งให้แม่ แม่บ้าน อยู่บ้านคนเดียว ทำงานเหน็ดเหนื่อย เขาไม่เห็นความดีของฉันเลย ความที่ต้องหมกมุ่นอยู่กับการงานพร้อมๆ กับความน้อยเนื้อต่ำใจอันเนื่องมาจากความหวังว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ แล้วมันไม่ได้อย่างหวังก็เพราะอุปาทานยึดมั่นว่าฉันทำดี ฉันเป็นคนดี ฉันเสียสละ เห็นไหมคะ มัน“ฉัน” ออกมาทุกเหตุทุกกาลทุกเรื่องเลย เมื่อฉันออกมาเมื่อไหร่นี่ “ฉัน” มันก็ต้องเป็นทุกข์เท่านั้น แต่ถ้าเมื่อใดที่ไม่ต้องมีฉันในการกระทำ ฝึกแต่ว่าทำให้ถูกต้องตามหน้าที่ เป็นสามีก็เป็นสามีที่ถูกต้อง คือหมายความว่าทำหน้าที่ของสามีอย่างถูกต้อง สามีที่ดีของภรรยาควรจะเป็นอย่างไร หรือภรรยาที่ดีของสามีควรจะทำหน้าที่อย่างไรจึงจะถูกต้อง ก็ทำให้ถูกต้อง ถ้าฝึกไปอย่างนี้พร้อมๆ กับ จาคะโลภะ โทสะ โมหะออกไป อุปาทานความยึดมั่นถือมั่น “ฉันทำดี” “ฉันเสียสละ” “ฉันอุทิศตนเอง” เพื่ออะไรต่ออะไร มันก็จะลดลง แล้วความทุกข์มันก็จะน้อยลง
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ต้องไปคอยดูว่าใคร...
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ไม่ต้องไปคอยดู ถ้าหากว่าเรารู้แล้วว่ายิ่งคอยดูยิ่งทุกข์ ใช่ไหมคะ เพราะในความคอยดูนั้นคือความหวัง คอยดูทำไม คอยดูว่าเมื่อไหร่จะมีอะไรตอบแทนกลับมาบ้างใช่ไหมคะ ไม่ว่าการตอบแทนจะเป็นในรูปธรรมหรือนามธรรม เพราะฉะนั้นถ้ายิ่งคอยก็ยิ่งแห้ง คือแห้งเหี่ยว ในใจมันเหี่ยวแห้งเน่าเหม็นทุกวันๆ เพราะฉะนั้นมันมีแต่ความทุกข์
ผู้ดำเนินรายการ: ต่อไปนี้คนดี ก็ต้องลุกขึ้นมาอาละวาดเสียบ้าง แม่บ้านก็ไม่ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เปล่า เปล่า อย่าเข้าใจผิด นี่ไม่ได้ยุให้คนตีกัน (หัวเราะ) มาพูดเรื่องธรรมสนทนา เพื่อเกิดความเย็น เพื่อให้เกิดความสนุก เพื่อให้เราทุกคนหันกลับมาสนใจทำหน้าที่ให้ถูกต้อง แต่เพื่อจะบอกว่า “อาการของความทุกข์” ที่คนดีแบกเอาไว้ออกมาในลักษณะไหนบ้าง
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ต้องอาวะวาดไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ต้อง ไม่จำเป็น เพราะถ้าหากว่าเราฝึกจะทำเพื่อหน้าที่ให้ถูกต้อง เราก็ไม่รู้จะไปอาละวาดกับอะไร เพราะมันไม่มีอะไรจะอาละวาด เพราะเราไม่ได้ต้องการ เราไม่ได้หวัง เราก็ไม่ต้องอาละวาด แต่เราจะทำและแน่นอนที่สุด ถ้าทำด้วยความเต็มใจยิ้มแย้ม ชื่นบาน แม่บ้านก็ยิ้มแย้มชื่นบาน พ่อบ้านจะกลับมาสามทุ่มก็ไม่เป็นไร เห็นใจเขาว่าไปทำงานเหน็ดเหนื่อย พอเขากลับมาเหน็ดเหนื่อยมา เขาก็หายเหนื่อยเห็นหน้าตาที่ยิ้มแย้มของแม่บ้าน เช่นเดียวกับพ่อบ้าน เอ๊ะวันนี้เขาควรกลับมาก่อนเรา ทำอะไรต่ออะไรไว้ แล้วทำไมถึงไม่กลับมา อ้อ เขาก็เป็นคนทำงานเหมือนกัน ให้ความเห็นใจ เรามาก่อนอะไรทำได้เราก็ทำ นี่เห็นไหมคะ ต่างคนต่างทำหน้าที่ของกัลยาณมิตรที่อยู่ด้วยกัน เราอยู่ร่วมกันเราต่างเป็นกัลยาณมิตรต่อกันก็ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง แล้วความทุกข์จะเกิดขึ้นที่ไหน ไม่มีการเบียดเบียนเกิดขึ้น ไม่เบียดเบียนใคร และที่สำคัญก็คือไม่เบียดเบียนใจของตนเองให้เป็นทุกข์ เรียกว่าทุกข์ซ้ำทุกซ้อน ในทางธรรมท่านก็บอกว่า ถ้าหากว่าทำดีเสียสละทุกอย่างแล้ว ก็อย่าเอามาเป็นความทุกข์ เหมือนถูกลูกศร ๒ ดอก ดอกแรกยังไม่ยอมพอ รับเอาดอกที่ ๒ ด้วยความยึดมั่นถือมั่นซ้ำเข้ามาอีก เพราะฉะนั้นมันก็มีแต่ความทุกข์เหมือนถูกลูกศรที่อาบยาพิษ ทุกข์นั้นไม่สร่างไม่ซา พิษนั้นก็กระจายเข้าไปมากเข้าๆ ทุกข์อีก เพราะฉะนั้นอันนี้การเบียดเบียนที่น่ากลัวมันเกิดขึ้นตรงนี้ เพราะเรามองไม่เห็นเราก็เลยปล่อยให้เกิดการประหารใจของตนเองด้วยความหวัง ด้วยความอยาก ด้วยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น นี้เราจะแก้ยังไง ถ้าเราไม่ต้องการให้การเบียดเบียนที่น่ากลัวเกิดขึ้น ง่ายๆ ก็คือ แน่ล่ะ ก็เริ่มต้นด้วยการที่พอลืมตาขึ้นทำปฏิญาณกับใจเสีย หยุดหวัง วันนี้จะทำทุกอย่างดีที่สุดเต็มความสามารถ แล้วก็ไม่ต้องหวัง ให้มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน เราเชื่อในเหตุปัจจัย เมื่อประกอบเหตุปัจจัยถูกต้อง ผลมันก็ย่อมออกมาถูกต้อง แต่ทั้งนี้ก่อนที่จะต่อว่าเหตุปัจจัย ต้องสำรวจเหตุปัจจัยที่มันมาข้องเกี่ยวให้รอบคอบทุกสิ่งทุกอย่าง อย่ามาดูแต่เหตุปัจจัยเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะบางเรื่องเหตุปัจจัยมันแคบ แต่บางเรื่องเหตุปัจจัยมันกว้าง ยิ่งข้องเกี่ยวกับคนมายิ่งเท่าใดเหตุปัจจัยก็กว้างมากขึ้น ฉะนั้นก็ต้องดูเหตุปัจจัยให้ครบทุกตัวก่อนที่เราจะต่อว่า ว่าฉันประกอบเหตุปัจจัยถูกต้องแล้วทำไมผลไม่ถูกต้อง
ฉะนั้นตื่นเช้าพอลืมตาขึ้น ก่อนจะลุกจากที่นอนปฏิญาณใจเสีย หยุดหวัง บอกตัวเองหยุดหวังจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และข้อต่อไป หยุดเอา ไม่เอา วันนี้จะไม่เอาอะไร แม้แต่ความหวัง แต่จะทำให้ดีที่สุดที่จะทำได้ เท่านี้ก็อุปาทานที่มีอยู่ก็จะลดลง พร้อม ๆ กับวันนี้เราจะต้องทำจาคะ แม้เราจะไม่มีทรัพย์สินเงินทองข้าวของที่จะไปทำทานบริจาคกับผู้ใด เราก็จะทำทานอันสูงสุดคือด้วยการจาคะสิ่งที่มันมีอยู่ในใจ เหมือนจาคะสิ่งสกปรก ใจนี้เป็นกองขยะ มันเหม็น มันเต็มไปด้วยมูลที่ใครๆ ก็รังเกียจ เราจะกวาดเราจะโกยมันออกไป จะโกยด้วยอะไร ด้วยวิริยะ หรือจะบอกว่าด้วยอิทธิบาทสี่ก็ได้ ด้วยฉันทะคือความพอใจที่จะโกย ความพอใจที่จะจาคะที่จะบริจาคอันนี้ กองขยะของกิเลส อุปาทานนี้ออกไป แล้ววิริยะ กระทำด้วยความพากเพียรทุกขณะ พร้อมๆ กับจิตตะ ใจจดจ่อดูแต่ว่ากองขยะนี่หมดหรือยังๆ หรือเพิ่มโตขึ้น เป็นกองขยะพลาสติกยิ่งแล้วใหญ่เลย เพราะเหตุว่ามันไม่ค่อยเน่า มันไม่ค่อยละลายตัวมันเอง ถ้าเราปล่อยให้มันเกิดกลายเป็นกองขยะพลาสติกเดี๋ยวจะสิ้นหวัง คือสิ้นหวังในการโกย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องบอกตัวเราเองว่าทำอย่างนี้ พร้อมๆ กับวิมังสา ที่จะใคร่ครวญ ไตร่ตรอง หาอุบายที่จะแก้ไขทำให้ได้ นี่แหละเป็นการที่เราควรจะปฏิญาณใจของตนเอง แล้วก็ลุกขึ้นด้วยความมั่นคงในคำปฏิญาณนั้น พร้อมกับกำหนดไว้ในใจตลอดว่าเราจะต้องทำให้ได้ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ฝึกดูอนิจจังเหมือนอย่างที่เราเคยพูดแล้ว ฝึกดูอนิจจังไปด้วยตลอดเวลาเลย มองเห็นความไม่เที่ยงๆ อะไรที่จะมาทำให้จิตใจเกิดความประหวั่น เกิดความสั่นสะเทือน เกิดความวอกแวกแส่ส่ายไปมา ไม่เอา ไม่เอา ไม่เอา เพราะเราปฏิญาณแล้วว่า เราจะไม่เอา ที่เราเห็นอนิจจังไม่ได้ก็เพราะเราจะเอา เพราะฉะนั้นบัดนี้เราจะไม่เอา เราจะปล่อยมันออกไป แต่ในขณะเดียวกันจะทำให้ดีที่สุดด้วยความถูกต้อง อย่างเต็มฝีมือความสามารถอยู่เสมอ ความมั่นคงจะเกิดขึ้นแน่นอนใช่ไหมคะ ความมั่นคงในการกระทำจะเกิดขึ้น แล้วทีนี้เมื่อเราให้จิตใจของเราไปอยู่กับคำปฏิญาณ ไปอยู่กับการบริจาคจาคะสิ่งเหล่านี้ ไปอยู่กับการดูอนิจจังอยู่ตลอดเวลา ใจนี้จะมามีโอกาสไหมคะที่จะคิดถึงความหวังของคนดี ความอยากของคนดี เมื่อไหร่จะได้สมปรารถนา ไม่คิด ไม่มีเวลาที่จะคิด เพราะมันไปคิดถึงสิ่งที่ดี คือสิ่งที่ดีอย่างถูกต้อง สิ่งที่ดีจริงๆ มันก็ไม่มีโอกาสจะคิดสร้างความเศร้าหมองให้แก่จิต ไม่มีโอกาสมาเบียดเบียนใจของตนเอง แต่จะมีโอกาสประพฤติธรรมยิ่งขึ้นๆๆ ทำไมถึงว่าประพฤติธรรมยิ่งขึ้นๆ ก็เพราะเหตุว่าในขณะที่เราฝึกดูสิ่งเหล่านี้ นั่นคือการทำหน้าที่ของชาวพุทธ เราทำหน้าที่ของชาวพุทธที่ถูกต้องคือ เพื่อให้จิตนั้นผ่อนคลายความทุกข์ยิ่งขึ้นๆ เป็นจิตที่เบาสบายยิ่งขึ้นๆ นี่คือการทำหน้าที่ของชาวพุทธ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นคือการประพฤติธรรม
นี่ก็ คุณจเลิศ คุณเจี๊ยบก็คงเห็นได้ว่า การประพฤติธรรมหรือปฏิบัติธรรมจำเป็นไหมคะว่าจะต้องเข้าวัดเสมอไป ไม่จำเป็นเลย เมื่อเราไม่มีเวลา ผู้ที่อยู่บ้านทุกคนสามารถประพฤติธรรมที่บ้านได้ และถ้าทำได้ นี่แหละคือการสร้างสวรรค์ให้เกิดขึ้นในใจ
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเพราะสวรรค์อยู่ที่ใจ นรกก็อยู่ที่ใจ อย่างที่ทราบแล้ว ฉะนั้นการเบียดเบียนที่น่ากลัวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าหากว่าเราแต่ละคนจะฝึกดูใจ และทำคำปฏิญาณดังกล่าว พร้อมๆ กับฝึกอบรมจิตให้กระทำให้ได้ ให้เป็นชีวิตที่เป็นการประพฤติธรรม แล้วแน่นอนที่สุด ชีวิตนี้ก็จะมีแต่ความเย็น เป็นความเย็นที่ใสสะอาดซึ่งเราทุกคนปรารถนา ก็ขอให้ธรรมสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ชมทุกท่านนะคะ ธรรมสวัสดีค่ะ