แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีคะ รายการธรรมสนทนาในวันนี้ อยากจะถาม คุณเจี๊ยบ คุณจเลิศว่า เราควรจะสนทนากันเรื่องอะไรดีคะ
ผู้ดำเนินการการ : ทั้งนี้ฟังอาจารย์พูดมาหลายตอนแล้วนะครับ คือเห็นว่าอาจารย์ย้ำถึงเรื่องหน้าที่ของเรา ที่เราควรทำตัวของเราเองให้ถูกต้อง อย่างน้อยตัวเราเองก็มีความสุข ถ้ามองคนไกลออกไป สังคมก็มีความสุขด้วย เพราะเราเคยเริ่มเรื่องอย่างนั้นมา เลยอยากเรียนถามอาจารย์ว่า หน้าที่ของชาวพุทธที่ว่าถูกต้องจริงๆ นั้น เราควรจะต้องทำอะไรกันบ้าง 1, 2, 3, 4, 5 มีอะไรบ้าง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หน้าที่ของชาวพุทธควรจะทำอะไรบ้าง เมื่อเราเรียกตัวเราเองว่าชาวพุทธ ก็คือหมายความว่า เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าใช่ไหมคะ ถ้าเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ก็ต้องประพฤติปฏิบัติ เจริญรอยตามพระยุคลบาทของท่าน ก็ดูสิว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงกระทำตั้งแต่ยังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะอยู่นี่ ท่านทรงทำอะไรบ้าง ทั้งๆ ที่ท่านทรงมีพร้อมทุกอย่างในสิ่งที่ชาวโลกเรียกกันว่าความสุข แต่ถึงกระนั้น ภายใต้ความสุขที่มองอยู่ พื้นเผินข้างหน้านี้นะคะ อยู่เบื้องหน้า ท่านก็มองสิ่งที่อยู่ข้างล่างหรือเบื้องหลังที่ซ่อนอยู่นั้น คือสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ทั้งที่มองดูทุกอย่างแล้วนี่เป็นความสุขตามความหมายของคนโลกทั้งนั้น
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าหรือเจ้าชายสิทธัตถะ จนกระทั่งได้ทรงตรัสรู้แล้วนี่ ทรงทำอะไร ก็ทรงค้นพบสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นั้นคืออะไร และเมื่อทรงค้นพบว่าสิ่งที่เรียกความทุกข์คืออะไร ก็ทรงค้นต่อไปอีกว่า แล้วจะดับเสียซึ่งความทุกข์นั้นได้อย่างไร ฉะนั้น สิ่งที่พระองค์ทรงสอนมาโดยตลอดก็คือ เรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ และก็ได้ทรงปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า สิ่งที่สมควรจะต้องเป็นเป้าหมายชีวิตของคนทั้งหลาย นั่นก็คือการที่จะต้องทำชีวิต จิตใจของตน ให้เข้าสู่ความดับทุกข์ให้จงได้
เหมือนดังที่ท่านได้ประกาศไว้แล้วในอริยสัจ 4 รู้ให้ได้เรื่องทุกข์ และก็รู้ให้ได้ ถึงสมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์ พอรู้แล้วก็นิโรธ ดับมันเสีย ทำให้แจ้ง ในเรื่องของการดับทุกข์ให้จงได้ ด้วยมรรค คือหนทางที่เดินอย่างนี้ๆ เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่าหน้าที่ของชาวพุทธที่ถูกต้องคืออะไร หน้าที่ของชาวพุทธที่ถูกต้องก็คือ ต้องทำใจของตนไม่ให้เป็นทุกข์ให้จงได้ พูดง่ายๆ ก็คือว่า ต้องเรียนรู้เรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ จึงจะสมแก่การเป็นชาวพุทธที่แท้จริง
ผู้ดำเนินการการ : ต้องบวชไหมครับ อย่างผมเป็นผู้ชายนี่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ไม่จำเป็นต้องบวช เพราะว่าแม้แต่ในสมัยพุทธกาลใช่ไหมคะ ถ้าเราจะดูตามจำนวนของอริยสาวก หรือพระพุทธสาวก กับจำนวนชาวบ้านนี่ ก็แน่นอนว่าเทียบกันไม่ได้เลย คือแสดงว่า คนเหล่านั้นยังไม่ได้บวชกันหรอก แต่ทั้งๆ ที่บรรดาผู้ที่เป็นชาวบ้านนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทอดทิ้ง ทรงประทานโอวาทแสดงธรรมเทศนา ให้คนเหล่านั้น ได้ทราบว่า เพื่อจะได้รู้ว่า ถ้าจะเป็นฆราวาส เป็นชาวบ้าน อยู่บ้าน จะอยู่อย่างไร ถึงจะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ใช่อยู่ร้อนนอนทุกข์ จะอยู่เย็นเป็นสุข อยู่เย็นเป็นสุข ก็คือหมายความว่า อยู่อย่างชนิดที่รู้จักทำหน้าที่ให้ถูกต้อง เพื่อที่ใจของตนจะไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นไม่ต้องบวชเลย
แล้วก็คนทุกคนจะมาบวชกันหมดก็ไม่ได้ อันนี้เป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน ไม่มีใครมาบวชได้ แต่คนที่เขาไปบวชหรือไปอยู่วัดนั่น เพราะเหตุว่า จังหวะโอกาสให้ ภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรงอาจจะมีน้อย หรือไม่มีเลย แล้วก็เห็นว่า ชีวิตที่การอยู่วัดนี่ อาจจะเป็นชีวิตที่ให้โอกาสในการที่จะได้ปฏิบัติธรรมได้เต็มที่มากยิ่งขึ้น เขาก็ทำ แต่ว่าคนทั่วไปนั้นก็มีภาระที่ต้องรับผิดชอบ มีความเกี่ยวข้องผูกพันกันอยู่มาก ไม่จำเป็นจะต้องบวช แต่ควรเหลือเกินที่ทุกคนจะต้องระลึกไว้เสมอว่า ทำอย่างไร ถึงจะอยู่บ้านแล้วให้อยู่เย็นเป็นสุข จึงจะสมกับคำว่า Home สมกับคำว่าบ้าน ไม่ใช่เป็นแต่เพียง House คือเป็นเพียงที่อยู่อาศัย เพียงแค่อาศัยหลบแดดหลบฝน มันไม่ใช่เพียงแค่นั้น เราต้องการที่ว่า พอเข้าบ้าน นี่แหละคือบ้านของเรา บ้านแห่งความรัก บ้านแห่งความอบอุ่น บางคนก็อุตส่าห์มาตั้งให้เพราะว่าบ้านในฝัน ก็คือฝันเพื่อความสุขนั่นเอง ความสุขที่แท้จริง ทำอย่างไร นี่แหละคือหน้าที่ของชาวพุทธ
ผู้ดำเนินการการ : ถ้าอย่างนั้น ส่วนใหญ่ท่านอาจารย์บอกว่า อยู่บ้านให้มีความสุขใช่ไหมครับ คือถ้าได้เห็นทั่วๆ ไปส่วนใหญ่ก็ ชาวบ้านก็มักจะทะเลาะเบาะแว้งกันเยอะ เยอะกว่าชาววัดนะครับ ทำอย่างไรชาวบ้านจึงจะอยู่อย่างมีความสุข ให้เป็น Home อย่างที่ท่านอาจารย์ว่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ท่านผู้ชมก็คงไม่เบื่อนะคะ ถ้าเราต้องพูดย้อนไปเพราะเรื่องของธรรมะมันก็อยู่ในวงนี้นะคะ ก็คือต้องรู้ว่าความทุกข์คืออะไร อะไรคือสาเหตุของความทุกข์ คือต้นเหตุรากเหง้าของความทุกข์ แล้วก็จะดับความทุกข์นั้นได้ด้วยวิธีใด เหมือนอย่างที่เราเคยพูดๆ กันมาแล้วนะคะ เพราะฉะนั้นการที่จะทำอย่างไรถึงจะอยู่บ้าน อยู่เย็นเป็นสุข
แล้วขอแถมอีกนิดหนึ่งนะคะ ว่าแม้แต่ในที่ทำงาน ก็ให้ทำงานด้วยความเยือกเย็น ผ่องใส คือมีจิตใจที่ผ่องใสในการทำงาน เพราะการทำงานก็เป็นชีวิตของคน คนเราเกิดมาไม่ทำงานไม่ได้ ต้องทำงานด้วยกันทั้งนั้น ก็จะเห็นว่าทุกคนก็ใฝ่หางาน มีงานตำแหน่งว่างที่ไหนไปสมัครกันเป็นพันๆ ทั้งที่มีตำแหน่ง 40-50 ตำแหน่งอะไรอย่างนี้ นั่นก็เห็นแล้วว่า ชีวิตนี้จะอยู่โดยปราศจากงานไม่ได้ ค่าของคนอยู่ที่งาน ค่าของงานอยู่ที่คุณภาพ ที่นี้ทำอย่างไร งานนั้นถึงจะ มีทั้งคุณภาพ และทั้งปริมาณ พร้อมๆ กับคนที่ทำงานก็เป็นสุขด้วย รวมความว่า ไม่ว่าจะอยู่บ้านหรืออยู่ที่ทำงานก็ขอให้เป็นสุข ตอนนี้ต้องขอถามย้อนกลับไปแล้วว่า อะไรคือต้นเหตุที่ทำให้ไม่เป็นสุข ต้นเหตุของความทุกข์
ผู้ดำเนินการการ : ตัวฉัน ของฉัน หรือเปล่าครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวฉัน ของฉัน พอมีฉันขึ้นมา มันก็มีของฉัน อย่างที่ว่าแล้วนั่นแหละ เพราะฉะนั้นก็ต้องฝึกที่จะมองดูลงไป จนเห็นว่า อัตตานี่แหละมันคือตัวจำเลยตัวใหญ่ที่สุดในโลก จำเลยตัวสำคัญ ถ้าเราจะพิพากษาประหารชีวิตนะคะ ไม่ต้องไปประหารอื่น คนที่กินยาตาย ฆ่าตัวตาย จะด้วยอาวุธอะไรก็ตาม เข้าใจผิดอย่างยิ่งเลย ที่คิดว่าพอทำให้ตัวสังขารร่างกายนี้ดับไป มันหยุดหายใจแล้วความทุกข์จะสิ้น ไม่ใช่เลย แต่สิ่งที่ควรฆ่า ควรประหารมันนั่นแหละ คือความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ความรู้สึกที่ยึดมั่นถือมั่นในอัตตา แล้วก็จะใช้อาวุธอันใดประหารมันก็ไม่ได้ นอกจากธรรมะ อาวุธแห่งพระธรรม คือดูลงไป แล้วก็ประหารตรงที่ความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นอัตตาตัวฉัน อันนี้คะ ก็ต้องพยายามประหารอันนี้ออกไปเสีย ด้วยอะไร ก็ด้วยการรู้จักจาคะ
อย่างที่เราพูดแล้ว จาคะ กิเลส โลภะ โทสะ โมหะ จาคะอุปาทาน หรือจากการให้ที่ถูกต้อง ด้วยการสามารถทำหน้าที่ที่ถูกต้อง พร้อมๆ กับการฝึกดูอนิจจัง จนใจมันซึมซาบ ซึมซาบในความเป็นอนิจจัง จนไม่รู้จะเถียงอย่างไร พอเห็นอะไรเกิดขึ้น ไม่ต้องเขียน ไม่ต้องถาม ไม่ต้องไปนึกบอกตัวเอง มันผุดขึ้นมาในใจ โถ นี่มันอนิจจา นี่แหละอนิจจังๆ นี่ปากพูดนะคะ แต่จริงๆ มันรู้สึก รู้สึกปุ๊ปขึ้นมาทันที นี่ก็โผล่ปุ๊ปขึ้นมาทันที อนิจจัง นั่นแหละ ถ้าเราเป็นอย่างนี้เมื่อไร มันหยุดเอาเอง หยุดยึดมั่นถือมั่นเอง หรือยังมีอยู่ ก็ลดลงๆ ตามลำดับ
ถ้าหากว่าเราสามารถทำอย่างนี้ได้ ทีนี้ในขณะที่ยังทำไม่ได้ ก็ฝึกสติ ที่มันทำไม่ได้ เพราะมันขาดสติ พอสติมันหลงไป มันเผลอไผลไป มันก็ลืม คือลืมที่จะมีปัญญาอันถูกต้อง ที่จะเห็นสัจจะของธรรมชาติอันนี้ ว่าเป็นปกติธรรมดานี้ มันคือการเปลี่ยนแปลง เราอยากจะว่าเอาให้ได้อย่างใจเรา อย่างที่ว่าแล้วเราหยุดเอาไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะฝึก ที่เขาเรียกว่าฝึกสมาธิ แต่ว่าเมื่อไม่มีเวลาจะไปนั่งสมาธิเป็นชั่วโมง หรือครึ่งชั่วโมงด้วยการนั่งหลับตาเช่นนั้น ก็ฝึกสมาธิด้วยการที่เอาจิตอยู่กับลมหายใจทุกขณะ ที่แม้ตาจะยังลืมอยู่ ไม่ว่าจะ ยืน เดิน นั่ง นอน กินข้าว นั่งรถเมล์ หรือว่าทำงาน หรืออะไรอยู่ก็ตามทุกอิริยาบท ทำความรู้สึกให้ได้ว่า ขณะนี้กำลังหายใจเข้านะ ออกนะ อย่างที่เราเคยพูดมาแล้ว
ผู้ดำเนินการการ : หายใจเข้าตรงจมูกนี่นะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คะ เราหายใจอยู่ตลอดเวลา เราหายใจตลอด แต่เราไม่เคยรู้ว่า ขณะนี้กำลังเข้านะ รู้ไหม?
ผู้ดำเนินการการ : ไม่รู้ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : กำลังออกนะ ก็ไม่รู้ เราปล่อยให้มันเป็นไปตามอันโนมัติ ที่นี้เราจะรู้ เราทำใจของเรา เราจะรู้ให้ได้ ว่าขณะนี้หายใจเข้านะ ก็ลองหายใจยาว เรารู้เลย พอออก ลมหายใจพอเข้านี่ จะต้องแตะที่ช่องจมูก ตรงใดตรงหนึ่ง ใช่ไหมคะ ถ้าไม่รู้ หายใจให้ดัง ยาว แรงยิ่งขึ้น การแตะมันก็จะชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วก็จำจุดที่แตะนั้นให้ได้ ทำความรู้สึกตรงจุดนั้น พอเข้าก็รู้สึกตรงจุดนั้นว่า เข้านะ มันยังอยู่นะ พอออก ก็แตะตรงนี้ ยังอยู่ เข้านะ ออกนะ รู้สึกตัวทุกขณะ ที่นี้พอจิตอยู่ที่ลมหายใจ จิตไม่วิ่งวุ่นไปไหน มันก็รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา สัมปชัญญะเกิดขึ้น ความรู้ตัวทั่วพร้อมด้วยปัญญาเกิดขึ้น ฉะนั้นที่เคยดูอนิจจังมา ถึงแม้ว่าจะกระพร่องกระแพร่งไปบ้าง พอสติมี มันจะนำปัญญาอันถูกต้องเกิดขึ้น ก็จะเห็นอนิจจังชัดขึ้นๆๆๆ ได้เรื่อยๆ มาเป็นลำดับ
ผู้ดำเนินการการ : ไม่ต้องให้อาจารย์คอยนั่งกำกับหรือครับ ที่ให้คอยหายใจเข้าออก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ต้องเลยคะ ตราบใดที่เรายังรู้สึกตัวของเราได้เองอย่างถูกต้องอยู่เช่นนี้ ไม่ต้อง ที่จะต้องไปขอให้มีการกำกับนั้น อาจจะเป็นด้วยว่าในขณะที่นั่งสมาธิ ที่นั่งหลับตา อะไรอย่างนี้นะคะ แล้วเสร็จแล้ว มันก็อาจจะเกิดสิ่งที่เขาเรียกว่า นิมิตขึ้นมาในระหว่างของการนั่งสมาธิ เช่นเป็นต้นว่า ถ้าเห็นแสงสว่าง หรือว่าเห็นสีที่มันสวยงามอะไรอย่างนี้ก็ไม่เป็นไร ก็จะเกิดความเพลิดเพลินไป แต่ว่าบางคนอาจจะไปเห็นภาพอะไรที่น่าเกลียด น่ากลัว อย่างเช่น ภาพศพ หรือว่าอะไรที่มันมองดูน่าขยะแขยง แล้วขวัญอ่อนก็เกิดความตกใจ ตกใจแล้วก็พอขวัญอ่อนแล้วมันก็ประสาท เราก็เลยคิดว่า เดี๋ยวนั่งสมาธิแล้วจะเป็นบ้า
แต่ที่จริงแล้วการนั่งสมาธิด้วยสติ จะไม่มีวันเป็นบ้าเลย เรานั่งสมาธิเพื่อให้จิตเกิดความสงบ เมื่อจิตสงบแล้วจะมีแต่มีความเยือกเย็นผ่องใส แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเราใช้ลมหายใจนี่เป็นเครื่องมือในการนั่งสมาธิ หรือใช้ลมหายใจเป็นทุ่นให้จิตเกาะ ในขณะนั้นนี่ จิตมันก็จะว่องไว มันจะไม่คิดวุ่นวายไปต่างๆ นานา เพราะฉะนั้น เมื่ออะไรเกิดขึ้นในขณะนั้น มันจะมีปัญญาที่จะมองเห็นอนิจจังของสิ่งที่เกิดขึ้น พอเห็นอนิจจังเท่านั้นแหละ เราจะรู้สึกเลยว่าสิ่งที่เห็นเกิดขึ้นในนิมิตนั้น แม้มันจะเกิดขึ้น มันก็เป็นแต่เพียงอยู่ในอาการของมา มาแล้วก็ไป เกิดแล้วก็ดับ หาได้อยู่เที่ยงคงทนไม่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่น่ายินดี คือเป็นนิมิตที่น่ายินดี หรือเป็นนิมิตที่น่าเกลียด น่ากลัว ที่ไม่น่าพอใจเลยก็ตาม จิตก็จะไม่ไปยึด เมื่อเป็นนิมิตที่น่ายินดี พอใจ ก็จะไม่ตื่นเต้น ชื่นอก ชื่นใจ จนหลงใหล หรือถ้าเป็นนิมิตที่น่าเกลียด น่ากลัว ก็จะไม่ขวัญหนีดีฝ่อ เพราะเรารู้แล้วว่า นี่มันเป็นเพียงสิ่งสักว่าเท่านั้นหนอ เกิดขึ้นแล้วก็ดับ เกิดขึ้นแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรคงที่
เช่นนี้เรียกว่า นั่งสมาธิวิปัสสนาด้วยวิธีที่ถูกต้องอย่างนี้ พร้อมทั้งสติพร้อมทั้งปัญญา อาการของโรคประสาท โรคบ้าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ความเสียขวัญจนกระเจิดกระเจิงจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะอะไรเกิดขึ้นก็จะเห็นอนิจจังในสิ่งนั้นทันทีว่า เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ พอเห็นอนิจจังเท่านั้น มันก็จะเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็อาจจะหายไปเลยก็ได้ แล้วก็จะอยู่กับความสงบต่อไป พอมีสัญญาของการที่จะให้พิจารณาอะไรเกิดขึ้นมาอีก เราก็ดู พอดูก็เห็นอนิจจัง มันก็มีแต่จะเห็นในทางธรรมนั้นลุ่มลึกยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราได้เรียนรู้ วิธีการนั่งทำสมาธิ วิปัสสนาอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปรบกวนครูบาอาจารย์อยู่ตลอดเวลา เว้นแต่ว่าเกิดปัญหาขึ้น ที่ใคร่รู้ ใคร่ถาม แล้วก็เกินความสามารถ แล้วก็ใจร้อน คือใจร้อนอยากจะรู้เร็ว ไม่อยากจะฝึกด้วยตัวเอง เพราะถ้าฝึกไปวันหนึ่ง จะต้องได้คำตอบเสมอ คำตอบจะต้องเกิดขึ้นเสมอ แต่บางคนใจร้อน แล้วก็อยากจะให้คนอื่นบอก ก็รีบไปไต่ถาม ถ้าจำเป็น หยุดยั้งไม่ไหว ก็ค่อยไปกวน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องไปรบกวนท่านตลอดเวลา
ผู้ดำเนินการการ : วิธีนั่งสมาธิจะทำให้สติเราดีขึ้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันควรจะเป็นอย่างนั้นคะ เพราะว่าถ้าเราจะดูโดยสามัญสำนึกเราก็เห็นว่า ที่เราพูดผิด ทำผิดอะไรบ่อยๆ เพราะเราขาดสติใช่ไหมคะ ในขณะนั้น ที่ขาดสติใจมันวิ่งวุ่นไปกับเรื่องนั้น เรื่องนี้ คิดวุ่นวายไปต่างๆ นานา กับอดีต กับอนาคต กับสัญญาต่างๆ เพราะฉะนั้นสติมันไม่อยู่ ก็เลยเป็นทุกข์ ก็เลยทำให้เกิดความวิ่งวุ่นขึ้น แต่ถ้าสมมติว่าเรามีสติอยู่ตลอดเวลา ด้วยสมาธินี่ มีสติอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมันจะไม่มีวันผิดพลาด ความถูกต้องจะมีมากขึ้น
ผู้ดำเนินการการ : ระหว่างที่หายใจเข้า ผมมีความรู้สึกส่วนตัวว่าลมออกหายใจออกมันตีกลับออกมาทันที
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คงจะไม่ทันทีหรอกคะ เพราะว่าตามทางของลมหายใจนี่นะคะ พอเข้าแล้ว ก็จะผ่านมาสู่ช่วงอก แล้วก็ลงมาช่องท้อง ถ้าจะออก จะตั้งต้นจากช่องท้อง มาผ่านช่องอก แล้วก็ออกช่องจมูก เพราะฉะนั้นจะไม่ออกทันทีอย่างนี้แน่นอน อย่างนั้นมันผิดธรรมชาติใช่ไหมคะ ธรรมชาติของเรานี่ นึกดูนะคะ ตอนเราหายใจธรรมดา
ผู้ดำเนินการการ : เราจะรู้ได้อย่างไรไปถึงช่องท้องเมื่อไหร่ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นี่แหละคะ ถ้าจะฝึกกันจริงๆ ตามแบบวิธีที่เรียกว่าอานาปานสตินะคะ เราจะต้องเริ่มฝึกด้วยการตาม ตามลมหายใจ ตั้งแต่เข้าทีแรก ผ่านช่องอก มาสู่ช่องท้องช้าๆ ไม่รีบเร่ง ไม่รีบร้อนตัวเอง แล้วก็พอจะออก ก็ออกจากช่องท้อง ผ่านช่องอก แล้วก็สู่ช่องจมูกออกไป เราจะต้องเริ่มฝึกด้วยการตาม ตามลมหายใจ จนตามได้คล่องทั้งเข้าและทั้งออก แต่นี่เราพูดกันอย่างรวบรัดนะคะ เพื่อว่าจะได้ทดลองปฏิบัติได้ง่ายๆ สำหรับท่านที่ไม่มีเวลาจะมาฝึกหัดอย่างให้ครบตามกระบวนการนะคะ เพราะฉะนั้น เราก็เอาแต่เพียงว่า เฝ้าดู เฝ้าดูเพื่อรู้สึกตรงช่องจมูก ที่ลมเข้า แล้วก็ลมออก รู้สึกตัวทั่วพร้อมในทุกขณะ ว่านี่กำลังเข้านะ กำลังออกนะ และเมื่อเรารู้สึกแม้แต่ลมหายใจที่บางเบาได้ แล้วทำไมละ อย่างอื่นเราจะไม่รู้สึก เรียกว่าสตินี่จะพร้อมบริบูรณ์ทีเดียว
ผู้ดำเนินการการ : วิธีนี้จะเป็นการช่วยใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คะ ในขณะนี้เรายังดูอนิจจังก็ยังไม่ถึงที่ ทำจาคะก็ยังไม่ได้เต็มที่ใช่ไหมคะ เราก็ฝึกอันนี้ไปพร้อมๆ กัน พอสติมันมั่นคงขึ้น ปัญญามันก็แหลมคมขึ้น สัมปชัญญะ สมาธิก็พร้อมมูล ทีนี้การดูอนิจจังก็ดี การฝึกจาคะต่างๆ ก็ดี มันจะเป็นไปได้อย่างรวดเร็วชัดเจนยิ่งขึ้น เรื่องมันประกอบกัน เหล่านี้เป็นวิธี และในขณะเดียวกันจากการที่เราฝึกดูอนิจจังก็ดี หรือว่าเราฝึกดูจาคะต่างๆ ก็ดี เพื่ออะไร เมื่อใจมันคลายความยึดมั่นถือมั่นมากยิ่งขึ้นแล้ว ความที่ใจสงบอยู่ตรงกลางที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป ไม่สุดโต่งเกินไป ไม่เอียงซ้าย เอียงขวา แต่มันจะรู้สึกทำอะไรพอดีๆ พอเหมาะพอเจาะ งดงาม ถูกต้องอยู่นั้น
นี่คือหนทางของมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งก็อยู่ในเรื่องของการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด เมื่อปฏิบัติตามอริยมรรคได้อย่างเต็มที่ ก็คือความมีมัชฌิมาปฏิปทาเกิดขึ้น ก็อยู่ในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องหน้าที่ของชาวพุทธ ก็คือต้องดับทุกข์ ต้องรู้จักเรื่องของความทุกข์ และก็ดับทุกข์ให้ได้ตามอริยมรรคมีองค์แปด
ผู้ดำเนินการการ : ตอนนี้ก็เลยเวลา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็อาจจะถามคำถามที่อยู่ในใจอีกสักคำถามก็ได้
ผู้ดำเนินการการ : อย่างสมมตินะคะ มีเพื่อนเราอยู่คนหนึ่ง เขาทำงาน คือเรารู้ว่าเขาเป็นคนตั้งใจทำงาน เขาตั้งใจทำอย่างหนึ่ง ทีนี้คนมองว่าเป็นอีกอย่างหนึ่ง แล้วเขาก็มานั่งเสียใจว่า เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะทำอย่างนั้น เขามีเหตุผลอย่างนี้ แต่ทำไมคนมองเขาไปอีกอย่าง แล้วเราจะแก้อย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เราก็ต้องบอกให้เขารู้ว่า นี่เขากำลังทำการเบียดเบียนตัวเองอย่างน่ากลัว เขากำลังกระทำการเบียดเบียนที่น่ากลัว เขากำลังประหารใจของเขาเอง ไม่มีใครประหารเขา เหมือนอย่างที่เราพูดกันนั่นแหละ ก็แนะนำให้เขารู้ ถ้าเขาจะยอมรับ แต่คนโดยมากไม่ค่อยยอมรับ ไม่ค่อยยอมรับเพราะอะไร เพราะว่าหลงว่าฉันทำถูกนี่แหละ ฉันทำถูก ฉันทำดี แต่คนอื่นไม่รู้ คนอื่นไม่เข้าใจ แท้ที่จริง บางทีการที่เราว่า เราทำถูก เราทำดี เรายังเป็นปุถุชนอยู่ใช่ไหมคะ เมื่อเป็นปุถุชนนี่ มันก็มีโอกาสหลง มีโอกาสพลาดได้ ที่ว่าเราถูก เราดี มันอาจจะถูก ดี ตามมาตรฐาน ตามความเข้าใจของเรา แต่ว่าในสายตาของคนอื่นๆ อีกหลายๆ คน ก็อาจจะเห็นเป็นอย่างอื่นก็ได้
ที่นี้เราตัดความที่ว่า ฉันทำดี ฉันทำถูกออกเสียเท่านั้น ใจก็กว้างขึ้น ใจของเรานี่กว้างขึ้น พร้อมที่จะรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ คำวิเคราะห์ หรือว่าคำที่จะแนะนำ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อไป ทั้งทางโลกและทางธรรมนี่ ถ้าใจกว้างขึ้น ก็เพราะว่าลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง ความทุกข์จะลดลงก็เพราะเหตุว่า อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตานั้นจางลง แล้วเสร็จแล้วก็จะสามารถเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าที่แท้จริงได้ คือเป็นชีวิตชาวพุทธที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่ารู้เรื่องของความทุกข์ และก็สามารถดับความทุกข์เสียได้ ชีวิตนั้นก็จะมีแต่ความเป็นชีวิตเย็น มีชีวิตเย็นอยู่โดยตลอด
ขอธรรมสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ชมทุกท่านนะคะ ธรรมสวัสดีคะ