แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมสวัสดีค่ะท่านผู้ชม ในรายการวรรณกรรมกับธรรมะครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราพบกัน เพราะฉะนั้น ดิฉันจะขออนุญาตที่จะอธิบายสักนิดหนึ่งนะคะเกี่ยวกับจุดประสงค์ของรายการ เมื่อเราใช้ชื่อว่าวรรณกรรม คําว่าวรรณกรรมก็หมายถึงงานเขียนทุกอย่างทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง สารคดี บันเทิงคดี นวนิยาย วารสาร นิตยสารต่าง ๆ ดิฉันเชื่อว่าท่านผู้ชมทุกท่านได้คุ้นเคยกับการอ่านวรรณกรรมมามากแล้ว อย่างน้อยที่สุดนะคะก็ได้อ่านหนังสือพิมพ์อยู่ทุกวันตั้งแต่เช้า บางคนก็อ่านกลางวัน บางคนก็อ่านตอนเย็น ในการอ่านวรรณกรรมใดก็ตามจะเป็นหนังสือพิมพ์จะเป็นนิตยสารวารสารหรือว่าจะเป็นงานเขียน เราก็มักจะมีจุดประสงค์ในการที่หยิบวรรณกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาอ่านเสมอเนื่องจากเวลาของเรามีไม่มากนัก ดิฉันก็อยากจะขอพูดโดยสรุปย่อที่สุดว่าเราอ่านวรรณกรรมเพื่ออะไร ในที่นี้ก็อยากจะเรียนว่า เราอ่านวรรณกรรมเพื่อประเทืองปัญญา คำว่าประเทืองปัญญาก็คือหมายความว่าเป็นการเพิ่มพูนปัญญาให้เพิ่มมากขึ้น ปัญญาที่พูดกันนี้เราอาจจะแยกได้สองอย่างคือเป็นปัญญาภายนอกกับปัญญาภายในเมื่อพูดถึงปัญญาภายนอก เชื่อว่าท่านผู้ชมย่อมจะทราบดีอยู่แล้วว่า เราหมายถึงการที่เราเรียนรู้เพื่อที่จะหาความรู้ในทางวิชาการบ้างในทางวิชาชีพบ้าง อย่างที่เราไปเข้าโรงเรียน เข้าวิทยาลัย เข้ามหาวิทยาลัย และเสร็จแล้วเมื่อเรามีวิชาชีพที่เราเชื่อแน่ว่าเราพร้อมทั้งความรู้ความสามารถ เราก็ออกไปหาประสบการณ์คือประสบการณ์ในการทำงานซึ่งในรายการวรรณกรรมกับธรรมะนี้ ดิฉันจะขออนุญาตที่จะไม่กล่าวรายละเอียดในเรื่องของปัญญาภายนอก อยากจะขอเชิญชวน ท่านพูดชม ให้ลองหันมาสนใจในเรื่องของการประเทืองปัญญาภายใน ในที่นี้ก็หมายถึงเรื่องของการที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของจิตใจของมนุษย์ อันที่จริงฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ๆ แล้วก็ไม่ยากเลยนะคะ แต่เพราะว่าถ้าเราจะมาลองคิดดูก็ไม่ทราบว่าจะมีสักกี่คนที่สนใจในการที่จะค้นคว้าหาความรู้เพื่อที่จะให้มีปัญญาเกิดขึ้นให้มาก ๆ
ในการที่จะศึกษาและก็รู้จักในเรื่องใจของเราเอง ทําไมเราจึงจะต้องมาศึกษาหาความรู้ในการที่จะประเทืองปัญญาภายใน กล่าวโดยสรุปก็อาจจะบอกได้ว่ามันเกี่ยวกับการที่เราประสงค์จะพัฒนาจิตหรือใจที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะร้อนและก็แผดเผาอยู่ด้วยความที่ไม่ได้อย่างใจ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือว่าอยากจะเอาให้ได้อย่างใจ พอไม่ได้อย่างใจก็ทำให้ใจเรานี้ร้อน เมื่อใจร้อนขึ้นมาแล้ว ก็เป็นปัญหาเป็นความทุกข์ในขณะที่ใจร้อนเร่าประกอบด้วยปัญหาและความทุกข์ในใจ ท่านผู้ชมก็คงนึกออกนะคะว่าใจขณะนั้นกลายเป็นใจที่มืดมนแม้จะเคยฉลาดหลักแหลมมาเพียงใดก็ตาม กลับกลายเป็นเหมือนประหนึ่งคนเขลาคิดอะไรก็ไม่ออก พูดอะไรก็ไม่ถูก ทำอะไรก็ไม่น่าดูอย่างที่หลาย ๆ ครั้งเมื่อเราพูดอะไรไปหรือทำอะไรไปแล้วเราก็มาบอกรําพึงรําพันกับตัวเองว่า ฉันไม่ควรพูดอย่างนั้นเลยนะ ฉันไม่ควรทำอย่างนั้นเลยนะ แล้วก็เสียใจ แต่เสียใจก็แก้ไขไม่ได้แล้ว ทําไมล่ะจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าในขณะที่เราได้พูดหรือทำไปในขณะที่ใจมันร้อนรุ่มเพราะไม่ได้อย่างใจ มันมีความทุกข์มันมีปัญหาเกิดขึ้นสติปัญญามันก็เลยหาย นี่ก็เรียกว่าสติปัญญาไม่มีทั้ง ๆ ที่มีอยู่แต่มันหายไปในขณะนั้น เราจึงจําเป็นที่ควรจะได้มาสนใจในเรื่องการประเทืองปัญญาภายในให้มากขึ้น จะได้ลองคิดดูสิว่าเราจะทำจิตใจของเราอย่างไรนะจึงจะเป็นจิตใจที่เยือกเย็นผ่องใสและก็เบิกบานสงบ เป็นจิตใจที่เราเรียกว่าเป็นจิตใจที่เป็นปกติคือ สามารถเย็นได้ในท่ามกลางความร้อน ความไม่เข้าใจว่าเดินในท่ามกลางความร้อนหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่าเย็นได้ในทุกกรณี ไม่ว่าจะรับประทานก๋วยเตี๋ยวเมื่ออร่อยก็เย็น หรือว่าไม่ว่าจะไปดูหนังดูละครไม่ถูกใจไม่ถูกรสนิยมก็เย็นได้อีกเหมือนกันจนกระทั่งจะไปเที่ยวในงานใด ๆ แล้วก็ไปประสบภาพที่ไม่ถูกใจก็เย็นได้อีกเหมือนกันอย่างนี้แหละเ ราเรียกว่าเย็นในทุกที่ทุกสถานการณ์ไม่ขึ้น ๆ ลง ๆ เชื่อว่าท่านผู้ชมคงจะได้เคยพบกับบุคคลที่เราเรียกว่าขึ้น ๆ ลง ๆ มามากแล้วนะคะ และใครที่ขึ้น ๆ ลง ๆ มากนี่คงยากที่ใครจะอยากเข้าใกล้ และตัวเราเองก็รู้สึกว่าถ้าเราขึ้น ๆ ลง ๆ มาก ๆ นี่แสนเหนื่อย อย่างถ้าเราต้องขึ้นลงบันไดวันหนึ่งสัก 3 ชั้น 4 ชั้น 5 ชั้น เหนื่อยเพียงใดนี้เป็นการเหนื่อยทางกาย แต่พอเราได้นั่งพักเราก็ยังหายง่ายๆ แต่ถ้าหากว่าใจขึ้นลงอยู่บ่อย ๆ แล้วล่ะก็เหนื่อยแล้วก็หายไม่ได้ง่ายเลยแม้จะได้นั่งพักอยู่ในห้องแอร์คอนดิชั่นก็ตาม ฉะนั้นการที่เราจะประเทืองปัญญานี้จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยสิ่ง ๆ หนึ่งที่เราเรียกกันว่าธรรมะ เพื่อที่จะมาฝึกอบรมจิตใจของเรา จนเราสามารถที่จะรักษาสภาวะของจิตนั้นให้เป็นปกติ เยือกเย็น ผ่องใส สงบ ว่าง แล้วก็จิตอย่างนี้แหละค่ะจึงจะเป็นจิตที่น่ารักเป็นจิตที่ใคร ๆ ก็อยากเข้าใกล้ ความหมายของธรรมะนั้นเราอาจจะพูดกันได้หลายอย่าง แต่ว่าในที่นี้ดิฉันจะขอพูดเพียงนิดเดียวว่าธรรมะคือสิ่งที่สามารถทรงตัวอยู่ได้เป็นปกติ นี่พูดตามศัพท์หรือพยัญชนะนะคะ เมื่อมาพูดอุปมาอุปไมยกับจิตหรือใจก็หมายถึงสภาวะของใจที่คงความเป็นปกติอยู่ได้ ทําไมจิตใจเราจึงจะสามารถคงความเป็นปกติอยู่ได้ก็ด้วยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับธรรมะ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับธรรมะด้วยลักษณะอย่างไหนก็คือด้วยการที่พยายามจะศึกษาให้เข้าถึงสิ่งที่เรียกว่าเป็นสัจธรรมของธรรมชาติ สิ่งที่เป็นสัจธรรมของธรรมชาตินั้นเริ่มต้นจากตัวของเราเอง จนกระทั่งสิ่งที่อยู่ล้อมรอบตัวภายนอก ต้น หมากลากไม้ธรรมชาติ ต้นไม้ หินดินอากาศอาคารอะไรทั้งหลายก็ตามถ้าเราจะดูให้จริง ๆ จะเห็นว่ามันมีความทรงตัวอยู่เป็นปกติเช่นนั้นเป็นนิจ ดิฉันเชื่อเพียงว่าเมื่อดิฉันพูดมาถึงตรงนี้ท่านผู้ชมจะต้องนึกโต้แย้งอยู่ในใจทรงตัวได้อย่างไรกันมันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาไม่เห็นหรือ ประเดี๋ยวฝนก็ตก ประเดี๋ยวแดดก็ออก ประเดี๋ยวถนนก็ถูกขุดตรงนั้นขุดตรงนี้ไม่เห็นไมีอะไรคงที่สักอย่าง นั่นแหละคือความทรงตัวเป็นปกติของธรรมชาติ คือความที่ดูเหมือนกับไม่ปกติก็ มีการเปลี่ยนแปลงในความรู้สึกของเรา แต่นี้แหละคือสภาวะความเป็นไปของธรรมชาติ เรามีฤดูร้อน เรามีฤดูหนาว เรามีฤดูฝน เรามีพระจันทร์ข้างแรม เรามีพระจันทร์ข้างขึ้น เชื่อว่าเราทุกคนอยากจะ ได้พบคืนเดือนเพ็ญกันบ่อย ๆ ยิ่งกําลังอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาว ยิ่งพร้อมที่จะรับคืนวันเพ็ญมากกว่าคืนข้างแรม แต่ใครล่ะจะสามารถเรียกร้องที่จะให้พระจันทร์นั้นคงส่องสว่าง แล้วก็ให้แจ่มใสให้เป็นคืนเดือนเพ็ญอยู่ได้ทุกคืนไม่มีใครสามารถทําได้ มันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะของธรรมชาติ วันนี้คืนนี้เป็นคืนเดือนเพ็ญและอีกประมาณไม่กี่วันก็จะกลับกลายเป็นคืนเดือนมืด แต่ก็ไม่ได้มืดอยู่เช่นนั้นความมืดนี้ก็จะค่อย ๆ หมุนเวียนไปจนกระทั่งกลายเป็นความสว่างแจ่มจ้า และเราก็พากันมีความรื่นเริงใจขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นอันนี้แหละคือสภาวะที่บอกได้ว่ามันทรงตัวเป็นปกติของธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่เป็นตรงกันข้ามกับความต้องการของคนหรือความอยากของคน แต่อย่างไรก็ตามถ้าเรา สามารถที่จะศึกษาถึงสิ่งที่เป็นสัจจะของธรรมชาติให้ได้มองเห็นได้ง่าย ๆ อย่างนี้คือศึกษาให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอันเป็นสภาวะของธรรมชาติอยู่เป็นปกติ จนกระทั่งเราสามารถเข้าใจชัดเจนยอมรับแล้วก็เห็นขึ้นข้างในอันนี้แหละ เรียกว่า เราสามารถเข้าถึงแล้วซึ่งธรรมะอันเป็นสิ่งที่ทรงความเป็นปกติอยู่ได้เป็นนิจ ถ้าเราเข้าถึงได้เมื่อไหร่ เราเห็นได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็คือหมายความว่าเราได้เป็นผู้ที่กําลังปลูกฝังและก็ฝึกฝนและก็อบรมจิตใจของเราเองให้เข้าสู่ความเป็นผู้มีธรรมะ การศึกษาธรรมะหรือสัจจะของธรรมะที่จะเรียกว่าเป็นสัจจะของธรรมชาตินี่นะคะ ถ้าเราสามารถศึกษาได้จากของจริงจากสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเรา รอบตัวเราหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาฉบับหนึ่ง อ่านในตอนเช้า ดิฉันเชื่อทีเดียวว่าท่านผู้ชมจะมีความรู้สึกว่าหรือว่าเชื่อว่า เราได้มองเห็นความเป็นปกติที่มันเกิดขึ้นของธรรมชาติอยู่เรื่อยทีเดียวนั่นก็คือความเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวมีรถชนกัน ฆ่ากัน เดี๋ยวก็คนนั้นได้รับเกียรติที่น่าชื่นชมยินดี พูดง่ายๆก็คือว่ามันมีทั้งสิ่งที่เราเรียกว่าโศกบ้าง ดีบ้าง ชั่วบ้าง สลับกันอยู่ตลอด ถ้าหากว่าเราศึกษาจากของจริงที่เรามองเห็นอยู่ก็จะเรียกว่าเป็นประสบการณ์ตรงสำหรับบางคน สามารถศึกษาได้จากสิ่งที่เรียกว่าเป็นประสบการณ์ตรงแล้วก็จะเห็นภาพได้ง่าย แต่บางครั้งเราไม่สามารถจะศึกษาได้จากประสบการณ์ตรงที่จะเกิดจากจิตใจด้วยเหตุการณ์ในชีวิตของเราเองได้เสมอ เราก็จําเป็นจะต้องศึกษาจากประสบการณ์รองประสบการณ์รองนั่นก็คือจากการอ่านวรรณกรรมต่าง ๆ เช่นสารคดีชีวิตจริง ชีวประวัติ ประวัติศาสตร์ นวนิยายเป็นต้น
ฉะนั้นในรายการวรรณกรรมธรรมะสนทนาจึงมีจุดหมายที่จะเสนอแง่คิดของการอ่าน ในประเด็นนี้คือการศึกษาธรรมะจากวรรณกรรมเพื่อประเทืองปัญญาภายใน ดิฉันไม่ได้ตั้งใจที่จะวิเคราะห์หรือวิจารณ์วรรณกรรมตามแนวทางของการวิเคราะห์วิจารณ์ เพราะการวิจารณ์ในลักษณะนั้นได้มีการกระทำกันอยู่บ่อย ๆ อยู่แล้ว หากดิฉันจะกล่าวถึงบ้างในรายการนี้ ก็เห็นจะเป็นแต่เพียงจุดหมายรอง ส่วนจุดหมายหลักของรายการนั้นก็คือจะมุ่งประเด็นที่ว่าเราจะศึกษาธรรมะจากวรรณกรรมกันอย่างไร ก็ขออนุญาตท่านผู้ชมต่อไปอีกนิดหนึ่งนะคะ เมื่อตอนเริ่มรายการเชื่อว่าท่านผู้ชมคงจะได้สังเกตด้วยการได้ยินเสียงเพลงที่เป็นเพลงกลางรายการของเราคือรายการวรรณกรรมกับธรรมะเพลงนี้ชื่อว่าเพลงอุทิศนานะคะ เหตุที่เลือกเพลงอุทิศนามาเป็นเพลงประจำรายการก็เพราะเหตุว่ารายการนี้ชื่อว่าวรรณกรรมกับธรรมะ เพลงที่เราจะนําเข้ามาเป็นเพลงประจำรายการก็น่าจะเป็นเพลงอะไรที่มีเนื้อความเกี่ยวกับเรื่องของธรรมะที่จะกระตุ้นเตือนใจท่านผู้ชม ให้ระลึกถึง ให้สนใจ ให้เข้าใจในธรรมะให้มากยิ่งขึ้น ท่านที่เป็นผู้ประพันธ์ร้อยกรองคือเป็นเนื้อความถ้อยคำ ของเพลงนี้นั้นคือเจ้าพระคุณท่านอาจารย์แห่งสวนโมกข์ท่านได้เขียนไว้ตั้งแต่พ.ศ. 2523 ในหนังสือที่เราเรียกกันว่าหนังสือชุดลอยกระทงนะคะ ตั้งแต่เราเรียกกันว่าหนังสือชุดลอยกระทงเช่นเล่มที่ดิฉันกําลังถืออยู่ในมือนี้ ท่านผู้ชมก็คงจะสังเกตเห็นแล้วว่ามีดอกบัวอยู่ที่หน้าปกของหนังสือนี้นะคะ เนื้อเพลงคือเนื้อความของร้อยกรองของเพลงอุทิศนาก็กล่าวว่า ลอยธรรมะมาลัยลงสู่โลกอันเบียฬบีฑ์ แผ่ธรรมะรังษี ตามพระพุทธทรงประสงค์ฯ มั่นหมายจะเสริมศาสน์ สถาปน์โลกให้อยู่ยง ปลอดภัยพินาศ คงเป็นโลกศุขสถาพรฯ หากแล้งพระธรรมญาณ อันธพาลกลีบร จะครองโลกเป็นอากร ให้เลวลู่สู่เดรัจฉานฯ จะทุกข์ทนทั้งคืนวัน พิฆาตกันบมีประมาณ ด้วยเหตุอหังการ เข้าครองโลกวิโยคธรรมฯ บรรษัทพระพุทธองค์ จึ่งประสงค์ประกอบกรรม ตามแนวพระธรรมนำ ให้โลกผองผ่องพ้นภัย เผยแผ่พระธรรมทาน ให้ไพศาลพิชิตชัย แปดหมื่นสี่พันนัย อุทิศทั่วทั้งปฐพีฯ นี่เป็นเนื้อความในร้อยกรองของบทเพลงอุทิศนานี้แล้วก็ได้มีท่านผู้ที่มองเห็นความมุ่งหมายอันมีค่าสำคัญอย่างยิ่งของร้อยกรองบทนี้ก็ได้นํามาประพันธ์ทํานองเข้าแล้วก็ได้ออกมาเป็นเพลงอย่างที่ท่านผู้ชมได้ฟังแล้วนะคะ ดิฉันก็รู้สึกว่าเป็น เนื้อความของร้อยกรองบทนี้เป็นประหนึ่งการประกาศและปฏิภาณอย่างเด็ดเดี่ยว แล้วก็อาจหาญของการกระทำของที่ท่านผู้กล่าวปฏิภาณเช่นนี้ นอกจากว่าท่านจะกระทำได้องค์ของท่านเองแล้ว ท่านก็ยังหวังที่จะเชิญชวนพวกเราทั้งหลายได้สมัครสมานน้ำใจกัน ในการกระทำอันอาจหาญนี้ร่วมกันอย่างเด็ดเดี่ยวอย่างมั่นคงแล้วก็ไม่ท้อถอย เรียกว่าเราจะไม่ยอมถอยหลังอย่างเด็ดขาด ตราบใดที่พระธรรมหรือว่าธรรมะมาลัยนี้ยังลอยแผ่ไพศาลไปไม่ทั่วโลก ความหมายของเนื้อความหรือร้อยกรอง ฉบับของร้อยกรองบทนี้นั้นก็เชื่อว่าท่านผู้ชมคงจะสังเกตได้หรือว่าเข้าใจได้ง่าย ๆ แล้วว่าขอเชิญชวนเราทั้งหลายมาช่วยกันลอยธรรมะมาลัย ลงสู่โลกอันเบียฬบีฑ์ก็หมายความว่าโลกของเราขณะนี้นั้น พอจะมองไปรอบ ๆ ตัวเราก็จะพบการเบียดเบียนซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา เบียดเบียนทางกายบ้างเบียดเบียนทางใจบ้างแม้แต่คนที่รักกันที่สุดอยู่ด้วยกันทุกวันทุกวันก็ยังเบียดเบียนกัน เบียดเบียนน้ำใจกันด้วยวาจาบ้าง ด้วยการกระทำบ้าง โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามแต่มีอยู่บ่อย ๆ นอกไปจากการเบียดเบียนอย่างละเอียดในเรื่องการเบียดเบียนน้ำใจนี้ ก็ยังมองเห็นการเบียดเบียนกันด้วยวัตถุสิ่งของแย่งชิงอำนาจชื่อเสียงเกียรติยศจนกระทั่งเกิดการประหัตประหารกันต่าง ๆ เพราะฉะนั้นพอเราช่วยกันลอยธรรมะมาลัยลงสู่โลกที่กําลังร้อนเร่าแผดเผาเพราะการเบียดเบียนนี้ ช่วยกันแผ่กระแสแสงแห่งพระธรรมลงสู่จิตใจของเพื่อนมนุษย์ตามพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา ก็เห็นจะเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะช่วยให้โลกที่กําลังร้อนเร่าแผดเผาไหม้ ทุกข์ระทมขมขื่นเพราะอำนาจของการเบียดเบียนนี้จะได้ลดลงแล้วก็เย็นลงติดตามลำดับนะคะ ฉะนั้นก็จึงหวังว่า บรรดาพวกเราทั้งหลายท่านผู้ชม ซึ่งเราเป็นเพื่อนมนุษย์ที่อยู่บนพื้นแผ่นเดียวกัน จะได้ช่วยกันสมัครสมานนำใจที่จะร่วมใจกันลอยธรรมะมาลัยออกสู่โลกให้แพร่กระจายแพร่หลายไพศาล ให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ สำหรับรายการนี้เราจะเริ่มต้นกันด้วยการศึกษาธรรมะจากวรรณกรรม เราจะพยายามทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า เมื่อเราอ่านวรรณกรรมแล้วเราจะศึกษาธรรมะจากวรรณกรรมนั้นได้ด้วยวิธีใด จนกระทั่งเรา สามารถนํามาฝึกฝนอบรมจิตหรือใจของเราจนเป็นผู้มีธรรมแล้วก็จะร่วมมือกันลอยธรรมะมาลัยนี้ออกสู่โลกได้ตามพระพุทธประสงค์ ท่านผู้ชมคงจะได้สังเกตอีกนิดนะคะว่าดิฉันเริ่มต้นรายการนี้ด้วยคําว่าธรรมสวัสดีเราพูดธรรมสวัสดีกันมาเป็นประจำนับไม่ถ้วนปีแต่ความสวัสดีแท้ๆก็ยังไม่ได้เกิดเป็นที่แน่นอนในใจของเราดิฉันจึงขออนุญาตเติมคําว่าธรรมะ ลงไปที่ข้างหน้าคําว่าสวัสดีเพื่อที่ว่าจะได้ให้ความสวัสดีคงทรงอยู่เป็นปกติในจิตใจของเราเป็นนิจนิรันดร์ ธรรมสวัสดีค่ะ